Tuesday, December 26, 2006

สร้างภูมิคุ้มกันท้องถิ่นด้วยระบบแลกเปลี่ยนชุมชน

ภายใต้สถานการณ์ความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์และเงินบาท การไม่มีเงินบาทเป็นอุปสรรคในการผลิตและความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น และส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นผ่านราคาสินค้าที่ชุมชนต้องซื้อหาจากภายนอก ทั้งๆ ที่ในแต่ละชุมชนยังคงมีปัจจัยในการดำรงชีพและการผลิต เช่น วัตถุดิบตามธรรมชาติและแรงงาน สมาชิกในชุมชนแต่ละคนได้รับข้อมูลความต้องการสินค้าจากสัญญาณราคาตลาดเหมือนกัน ทำให้เกิดแรงจูงใจในการผลิตสินค้าเหมือนๆ กัน และมักเป็นการผลิตเชิงเดี่ยวที่มีความเสี่ยง ในปัจจุบัน แม้มีเงินทุนไหลเข้าสู่ชุมชนมากขึ้น แต่สมาชิกในชุมชนก็มีรายจ่ายสูง เกิดเป็นปัญหาภาระหนี้สินเพิ่มพูน

การสร้างระบบแลกเปลี่ยนย่อยๆ ขึ้นมาในท้องถิ่นจะทำให้เกิดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนในท้องถิ่น เป็นการให้ข้อมูลความต้องการสินค้าในท้องถิ่น กระตุ้นการผลิตเพื่อการพึ่งตนเองในชุมชนและช่วยสมาชิกออมเงินบาท ภายใต้ระบบแลกเปลี่ยนชุมชน สมาชิกสามารถกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนได้ตามความสมัครใจของผู้ซื้อผู้ขาย การได้พบปะเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้ากันในชุมชนช่วยรื้อฟื้นความสัมพันธ์ในชุมชนทำให้เกิดความอาทรเกื้อกูลกัน เป็นพลังสู่ความร่วมมือในการทำกิจกรรมอื่นๆ ของชุมชน... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Tuesday, December 19, 2006

ปฏิรูปการศึกษาตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

หลายต่อหลายครั้งที่มักได้ยินข้อวิจารณ์ต่อการพัฒนาและปฏิรูประบบการศึกษาไทยว่าประสบกับความล้มเหลว มีการพัฒนาอย่างไม่ถูกจุด หรือขาดความจริงใจในการปฏิรูป จะด้วยเหตุใดก็ตาม คงต้องยอมรับว่า ระบบการศึกษาที่เป็นรากฐานในการพัฒนาคน อันเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุดของประเทศ กำลังอยู่ในภาวะที่เรียกว่า “เดินไปข้างหน้าแบบเสื่อมถอย” หรือ “เติบโตแต่ไม่เจริญก้าวหน้า” มาตรวัดที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ก็คือ คุณภาพของสังคม และคุณธรรมของคนในสังคมที่ลดลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง

หากจะนำเรื่องเศรษฐกิจมาเป็นโจทย์ตั้งต้นในการพัฒนาการศึกษา ก็ยังถือว่ายอมรับได้ เพราะเศรษฐกิจ ก็คือเรื่องของปากท้องและความเป็นอยู่ ที่ถือเป็นขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ เศรษฐกิจพอเพียงได้กลายมาเป็นกระแสแห่งการพัฒนาในแทบทุกเรื่อง (ด้วยหวังว่า “กระแส” จะพัฒนามาเป็น “วิถี” ในวันข้างหน้า)... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Monday, December 18, 2006

"The World is Flat" - โลการะนาบ (ตอน 2)

ตอนนี้ได้พูดถึง พลังที่ทำให้เกิดโลการะนาบต่อจากครั้งที่แล้ว โดยเน้นที่พลัง Insourcing ดังตัวอย่างของบริษัทขนส่งพัสดุภัณฑ์อย่าง UPS (United Parcel Service) ที่เสนอบริการไม่เฉพาะเพียงเรื่องพัสดุภัณฑ์ แต่ยังรวมถึงการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทางธุรกิจของลูกค้าทั้งในฝั่ง Upstream (เช่น จัดหาวัตถุดิบให้) และ Downstream (เช่น หาตลาดใหม่ให้) ทั้งนี้ UPS ได้มองเห็นโอกาสที่ตนเองมีเครือข่ายอยู่ทั่วโลกและรู้ว่าลูกค้าแต่ละคนทำธุรกิจอะไรบ้าง จึงสามารถแปลง "สารสนเทศ" ที่มีอยู่ให้กลายเป็น "บริการ" ใหม่ๆ ได้ วิธีคิดแบบนี้ เปรียบเหมือนกับการพัฒนาจากยุค HTML (รู้ Data แต่ไม่รู้วิธีใช้) มาเป็น XML (รู้ Context ของ Data แล้วนำไปใช้ประโยชน์ได้)

ภาคพิเศษที่ไม่มีในหนังสือ ก็คือ การวิเคราะห์แนวโน้มของพลังโลการะนาบที่จะเกิดขึ้นกับเมืองไทยในปี 2007 ที่สร้างให้เกิดทั้งโอกาสและภัยคุกคามต่อหลายธุรกิจ รวมทั้งกระแสของธุรกิจและบริการใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากพลังโลการะนาบในตลาดเมืองไทย

สำหรับหนังสือโลการะนาบในภาค Updated and Expanded Edition นี้ Friedman ได้เพิ่มเนื้อหาที่เกี่ยวกับ สาเหตุที่เราจะได้เห็นผลกระทบของพลังโลการะนาบอย่างถนัดตาในช่วงอายุขัยนี้ เช่นเดียวกับการปฏิวัติทางอุตสาหกรรม, การกำเนิดของพ่อค้าคนกลางในรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ที่ล้มล้างความเชื่อเดิมว่าพลังแห่งโลการะนาบจะทำให้พ่อค้าคนกลางหายไป, หนทางในการปรับตัวของพ่อแม่และครูในการบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ให้สามารถใช้ชีวิตในโลกระนาบนี้ รวมทั้ง "โลกาภิวัตน์แห่งท้องถิ่น" (globalization of the local) ที่พลังแห่งโลการะนาบจะขับเน้นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นและภูมิภาคให้โดดเด่นยิ่งขึ้นกว่าเดิม แทนความเชื่อที่ผิดๆ ว่าจะทำให้วัฒนธรรมต่างๆ หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว

Tuesday, December 12, 2006

Beyond Schumacher

เข้าร่วมการประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติ เรื่อง "Beyond Schumacher: Alternatives Approaches to Economics and Sustainability Perspectives for the 21st Century" ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ Global Standards ณ โรงแรมลายทอง จังหวัดอุบลราชธานี งานเขียนของ Schumacher ที่ได้รับการกล่าวขานอย่างมากชิ้นหนึ่ง คือ "Small is Beautiful" ที่เขียนไว้เมื่อปี 1973 ในการประชุมได้มีการนำเสนอวิวัฒนาการของเศรษฐศาสตร์หลังจากงานเขียนชิ้นนี้ อาทิ Gandhian Economics, Ecological Economics, Steady-State Economics, พุทธเศรษฐศาสตร์, เศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจหลายเรื่อง

- เอกสารประกอบการประชุม สามารถดาวน์โหลดได้แล้ว โดยเลือกที่เมนู Paper External Link

ฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยด้วย “ทฤษฎีใหม่”

ในช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยที่กินบริเวณกว้างถึง 47 จังหวัด ทำให้พื้นที่เกษตรเสียหายประมาณ 5.38 ล้านไร่ รัฐบาลเองก็กำลังเร่งออกมาตรการให้ความช่วยเหลือและจัดเตรียมแผนฟื้นฟูพื้นที่ที่เสียหายหลังน้ำลด โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการถึง 13 คณะ เพื่อทำหน้าที่อำนวยการกำกับติดตามการป้องกันและช่วยเหลือในทุกด้าน และคาดว่าต้องใช้งบประมาณอย่างไม่เป็นทางการในการนี้ถึง 28,000 ล้านบาท

พระราชดำรัสเนื่องในวโกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ในปี 2538 หรือเมื่อ 11 ปีมาแล้วในเรื่อง “ทฤษฎีใหม่” น่าจะเป็นหนทางในการฟื้นฟูพื้นที่ทางการเกษตรที่เสียหายจากปัญหาอุทกภัยในเวลานี้ได้เป็นอย่างดี

“ทฤษฎีใหม่นี้ มีไว้สำหรับป้องกันความขาดแคลน ในยามปกติ ก็จะทำให้มีรายได้มากขึ้น ในยามที่มีอุทกภัย ก็สามารถที่จะฟื้นตัวได้เร็ว โดยไม่ต้องให้ทางราชการไปช่วยมากเกินไป ทำให้ประชาชนมีโอกาสพึ่งตนเองได้อย่างดี ฉะนั้น จึงได้สนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามทฤษฎีใหม่”

ตัวอย่างของการประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ชัดเจน คือ เกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงคิดค้นขึ้นด้วยพระองค์เอง... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Saturday, December 09, 2006

สู่หนึ่งทศวรรษหลังวิกฤตเศรษฐกิจ : ได้เรียนรู้และปรับปรุงอะไรบ้าง

เป็นวิทยากรร่วมอภิปรายในหัวข้อ "ฐานข้อมูลชุมชนที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต" (Slide Presentation, เอกสารประกอบการสัมมนา) External Link ภายใต้กลุ่มการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและท้องถิ่น ในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2549 "สู่หนึ่งทศวรรษหลังวิกฤตเศรษฐกิจ : ได้เรียนรู้และปรับปรุงอะไรบ้าง?" (Toward a Decade after the Economic Crisis: Lessons and Reforms) จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี ในวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2549

Tuesday, December 05, 2006

หลักการทรงงาน 9 ประการ

ตลอดระยะเวลา 6 ทศวรรษ นับตั้งแต่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงริเริ่มการทรงงานเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนเป็นต้นมา เป้าหมายสำคัญพื้นฐานที่ไม่เคยแปรเปลี่ยนคือ การขจัดความทุกข์ยากและอำนวยความสุขแก่ประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในชนบทห่างไกลทุรกันดาร ให้สามารถช่วยเหลือตนเอง ยืนอยู่บนขาของตนเองได้ มีชีวิตที่พอเพียงเรียบง่าย มีความมั่นคงพอควรในชีวิต เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาตนเอง ชุมชน และประเทศชาติ

การดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีอยู่กว่า 3,000 โครงการ ได้สะท้อนให้เห็นถึงหลักการทรงงาน 9 ประการที่เป็นแบบอย่างและเป็นรากฐานสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่พสกนิกรควรจะได้น้อมมาเป็นหลักการในการปฏิบัติตน เป็นกรอบความคิดสำหรับใช้ในการบริหารจัดการองค์การ และเป็นหลักในการพัฒนาประเทศ เพื่อความอยู่ดีมีสุขโดยถ้วนหน้า ได้แก่... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Monday, December 04, 2006

ซีเอสอาร์ : คือ "การลงทุน" หรือ "การทำบุญ"

การดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility – CSR) นับเป็นการลงทุน หรือเป็นการทำบุญ เป็นอีกคำถามหนึ่งที่วนเวียนอยู่ในใจของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องซีเอสอาร์อยู่ไม่น้อย บ้างก็เห็นว่าซีเอสอาร์เป็นเรื่องของการลงทุน บ้างก็เห็นต่างว่าซีเอสอาร์นั้นเป็นเรื่องของการทำบุญ ในบทความนี้ จะได้พยายามชี้ให้เห็นข้อแตกต่างระหว่างซีเอสอาร์ที่เป็นการลงทุนกับซีเอสอาร์ที่เป็นการทำบุญ... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ CSR Knowledge) External Link [Archived]

Tuesday, November 28, 2006

การจัดการความรู้ในเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างไร

การจัดการความรู้ หรือ Knowledge Management เป็นคำที่ได้รับความสนใจไม่น้อยในยุคปัจจุบัน เนื่องจากองค์กรธุรกิจต่างตระหนักถึงคุณค่าของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Asset) ในองค์กรเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และได้พยายามศึกษาถึงวิธีการในการสร้างและรักษาสินทรัพย์ประเภทดังกล่าวไว้ในกิจการ จนกลายเป็นศาสตร์แขนงที่มีการค้นคว้าและมีการสร้างทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวอย่างมากมาย

คำที่เกี่ยวข้องในศาสตร์ของการจัดการความรู้ มักจะประกอบไปด้วยคำว่า ข้อมูล สารสนเทศ ความรู้ และปัญญา ซึ่งมีความหมายที่แตกต่างกันออกไป ข้อมูล (Data) คือ ข้อเท็จจริง หรือสิ่งที่ถือหรือยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริง ที่ยังไม่ผ่านการวิเคราะห์ สำหรับใช้เป็นหลักอนุมานหาความจริงหรือการคำนวณ สารสนเทศ (Information) คือ ข่าวสาร หรือข้อมูลที่ถูกจัดรูปเพื่อการแสดงหรือการชี้แจง สำหรับนำไปใช้วิเคราะห์และการคำนวณ ความรู้ (Knowledge) คือ เนื้อความ หรือสารสนเทศที่ผ่านการถอดความ ผ่านกระบวนการคิดและเข้าใจ เป็นข้อมูลที่ถูกจดจำในรูปของประสบการณ์ ปัญญา (Wisdom) คือ ความรู้ที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ปราศจากอคติและความคิดเห็น มีความเที่ยงตรง ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Monday, November 27, 2006

เก็บตกจากงานเศรษฐกิจพอเพียง: ร่วมเรียนรู้ สานข่าย ขยายผล

เมื่อวันที่ 23-27 พฤศจิกายน 2549 มีการประชุมวิชาการและนิทรรศการ "เศรษฐกิจพอเพียง: ร่วมเรียนรู้ สานข่าย ขยายผล" จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับอีก 12 องค์กร ณ สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจอยู่หลายส่วน จึงพยายามรวบรวมเป็นเนื้อหา "เก็บตก" จากงานไว้เท่าที่พอจะสืบค้นได้ดังนี้

- พระราชดำรัส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเปิดประชุมวิชาการและนิทรรศการฯ External Link
- สมเด็จพระเทพฯ แนะใช้ “สติ-เรียนรู้”แก้ทุกข์คนไทย External Link
- เศรษฐกิจพอเพียง จุดเปลี่ยนประเทศไทย External Link
- การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง External Link
- อภิชัย พันธเสน “เศรษฐศาสตร์พอเพียงอิงศาสนา เป็นยิ่งกว่าวิทยาศาสตร์” External Link

Tuesday, November 21, 2006

EVA ใช้เป็นเครื่องมือจัดการธุรกิจแบบพอเพียงได้หรือไม่

ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งของความพยายามที่จะนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจ คือ ความยากลำบากในการแปลงปรัชญาที่เป็นนามธรรม ให้ได้มาซึ่งวิธีการอย่างเป็นขั้นตอน และเครื่องมือสนับสนุนการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นรูปธรรม มีความเหมาะสมกับองค์กรธุรกิจที่คุ้นเคยกับการบริหารจัดการโดยมีผลลัพธ์ที่วัดได้ในเชิงตัวเลข สามารถวิเคราะห์ เปรียบเทียบ ประเมินผล สำหรับการนำไปสู่การปรับปรุงการดำเนินงาน หรือการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

ในการดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงนั้น จะคำนึงถึงกำไรทางเศรษฐศาสตร์มากกว่าการแสวงหากำไรสูงสุดในทางบัญชี โดยพิจารณาถึงหลักความพอประมาณในธุรกิจที่ก่อให้เกิดกำไรทางเศรษฐศาสตร์ เพราะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการบริหารกำไรทางเศรษฐศาสตร์นี้ ก็คือ ความเหมาะสมของการดำเนินกิจกรรมการผลิตที่ไม่น้อยเกินไป จนต่ำกว่ากำไรปกติ กระทั่งกิจการไม่สามารถอยู่รอดได้ และไม่มากเกินไปจนสูงกว่ากำไรปกติ กระทั่งกิจการต้องประสบภาวะเสี่ยงหรือขาดภูมิคุ้มกันในธุรกิจ เครื่องมือทางธุรกิจที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้บริหารจัดการกำไรทางเศรษฐศาสตร์เครื่องมือหนึ่ง คือ มูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ (Economic Value Added - EVA)... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Monday, November 20, 2006

"The World is Flat" - โลการะนาบ

Thomas Friedman ได้แรงบันดาลใจในการแต่งหนังสือเล่มนี้ ระหว่างการเดินทางไป Bangalore ประเทศอินเดีย เมื่อปี 2547 ในขณะที่ผมได้มีโอกาสซื้อหนังสือฉบับ Updated and Expanded เล่มนี้ ระหว่างการเดินทางกลับจาก Calcutta ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2549 เลยนำเนื้อหามาย่อยในรายการ MCOT.NET ประจำเดือนพฤศจิกายน (สำหรับผู้ที่ไม่อยากซื้อหนังสือมาอ่านเอง สามารถติดตามการย่อยหนังสือธุรกิจที่น่าสนใจ ได้ในทุกวันจันทร์ของสัปดาห์กลางเดือน ในรายการ MCOT.NET ทางสถานีวิทยุ FM 100.5 MHz เวลา 21.00-22.00 น.) Thomas ได้พูดถึง โลกาภิวัตน์ในสามยุค เริ่มจากยุค 1.0 เป็นยุคที่ระดับประเทศ (Country) ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง ยุค 2.0 เป็นยุคที่ระดับบรรษัท (Corporation) ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง และยุค 3.0 เป็นยุคที่ระดับปัจเจก (Individual) ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง

ในทัศนะของผมเห็นว่า ในความเป็นจริง อิทธิพลของรัฐในฐานะผู้ปกครองประเทศ และบรรษัทในฐานะผู้ดำรงบทบาททางเศรษฐกิจที่สำคัญ มิได้ด้อยลงแม้จะเปลี่ยนผ่านมายังยุค 3.0 แล้วก็ตาม ตรงกันข้าม รัฐและบรรษัทกลับสามารถยืมมือปัจเจกในการขยายอิทธิพลของตัวเองให้กว้างขวางออกไปได้อีกต่างหาก ตัวอย่างเช่น การใช้ปัจเจกปลุกกระแสความคิดเห็นร่วมทางการเมืองโดยอาศัยสื่อเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเผยแพร่ (เช่น ทางเว็บบอร์ด) การจ้างวานปัจเจกให้เขียน Blog ส่วนบุคคล ที่แฝงด้วยการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของบรรษัท การสร้างข้อมูลอ้างอิงที่บิดเบือนในสารานุกรมสาธารณะ (เช่น ในวิกิพีเดีย) ฯลฯ

Audio File ฟังการย่อยเนื้อหาในหนังสือ "The World is Flat" ตอน 1 External Link

Wednesday, November 15, 2006

เศรษฐกิจพอเพียงคือการพึ่งตนเอง ใช่หรือไม่

จนถึงวันนี้ ความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง ก็ยังเข้าใจว่า พอเพียง คือ การพึ่งตนเอง ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Self-sufficiency แต่คำว่า พอเพียง ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งตรงกับคำว่า Sufficiency Economy นั้น มีความหมายกว้างกว่าแค่การพึ่งตนเองได้

เศรษฐกิจพอเพียงในระดับที่เลี้ยงตัวเองได้บนพื้นฐานของความประหยัดและการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เรียกว่า เศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน ส่วนเศรษฐกิจพอเพียงในระดับที่มีการรวมตัวกัน เพื่อร่วมกันดำเนินงานในเรื่องต่างๆ มีการสร้างเครือข่ายและการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ โดยประสานความร่วมมือกับภายนอก เรียกว่า เศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ดังนั้น เศรษฐกิจพอเพียงจึงมิใช่แค่เพียงเรื่องของการพึ่งตนเองโดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับใคร และมิใช่แค่เรื่องของการประหยัด แต่ยังครอบคลุมถึงการข้องเกี่ยวกับผู้อื่น การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Tuesday, November 07, 2006

พอเพียง วัดกันที่ตรงไหน

พูดถึงคำว่าพอเพียงกับการดำเนินชีวิต หรือความเป็นอยู่อย่างพอเพียง หลายท่านคงจะเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า แล้วอย่างไรล่ะถึงจะเรียกว่าอยู่อย่างพอเพียง หรือแค่ไหนถึงจะเรียกว่าพอประมาณ เอาเกณฑ์อะไรมาวัด พอเพียงของฉันกับพอเพียงของเธอต้องเท่ากันหรือไม่

เทคนิคอย่างหนึ่งในการตอบคำถามลักษณะว่าใช่หรือไม่ใช่ เป็นหรือไม่เป็นนี้ ก็คือดูว่า อะไรที่ไม่ใช่บ้าง อะไรที่ไม่เป็นบ้าง การเห็นสิ่งที่ไม่ใช่หรือสิ่งที่ไม่เป็นชัดเจนมากเท่าใด ก็จะสามารถรู้และเข้าใจสิ่งที่ใช่ หรือสิ่งที่เป็นชัดเจนมากยิ่งขึ้นเท่านั้น... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Monday, November 06, 2006

CSR ต่างกับ CG อย่างไร

คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance – CG) กับเรื่องการดำเนินกิจการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility – CSR) ว่าสองเรื่องนี้มีความเหมือนกันหรือความแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร โดยคนกลุ่มหนึ่งมีความเห็นว่า CSR นั้นเป็นส่วนหนึ่งของ CG ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งกลับเห็นว่า CG นั้นเป็นส่วนหนึ่งของ CSR ต่างหาก ในบทความนี้ จะได้พยายามชี้ให้เห็นข้อแตกต่างระหว่างเรื่องของ CG กับเรื่องของ CSR... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ CSR Knowledge) External Link [Archived]

Tuesday, October 31, 2006

ดัชนีความสุขแบบไหนถึงจะดี

การหยิบยกประเด็นเรื่องดัชนีความสุขมาเป็นเครื่องชี้วัดสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมนั้น กำลังเป็นที่สนใจต่อประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์บ้านเมืองและอยากจะเห็นประเทศพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้องดีงาม

สาเหตุที่มีการพูดถึงดัชนีวัดความสุข ซึ่งขณะนี้มีอยู่ด้วยกันหลายคำ อาทิ ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness: GNH) ความสุขมวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Happiness: GDH) ดัชนีความสุขมวลรวม (Gross Happiness Index: GHI) และล่าสุดกำลังมีการพัฒนาเป็น ความสุขมวลรวมนานาชาติ (Gross International Happiness: GHI) ก็เนื่องจากดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ซึ่งเป็นเครื่องชี้สภาวะทางเศรษฐกิจหลักในเศรษฐศาสตร์มหภาค ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการสำหรับใช้วัดระดับของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Tuesday, October 24, 2006

สร้างทุนนิยมให้พอเพียงได้อย่างไร

มีหลายท่านถามว่า การใช้นโยบายเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาและบริหารประเทศจะทำให้ประเทศไทยต้องอยู่โดดเดี่ยวจากประชาคมโลกที่ใช้ระบบการค้าเสรีตามวิถีของทุนนิยมหรือไม่ ก่อนอื่นต้องขอเรียนว่า การนำนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ไม่ได้หมายความว่า เราต้องยกเลิกนโยบายการค้าเสรี หรือระบบเศรษฐกิจในแบบทุนนิยมแต่ประการใด

เศรษฐกิจพอเพียง มิได้ปฏิเสธการค้า มิได้ปฏิเสธทุนในฐานะที่เป็นปัจจัยหลักในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน เราสามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงท่ามกลางกระแสของทุนนิยมได้อย่างไม่แปลกแยก โดยไม่จำเป็นต้องเลือกทางใดทางหนึ่งระหว่างสองแนวทางนี้... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Tuesday, October 17, 2006

เมกะโปรเจคเป็นเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่

การที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ หรือ เมกะโปรเจค ทั้งโครงการขนส่งมวลชน โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟฟ้าที่เชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ กับชานเมือง โครงการเพิ่มการขนส่งสินค้าทางรถไฟ และโครงการจัดการระบบน้ำตั้งแต่ต้นน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในช่วงหน้าฝนและการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง นับเป็นรูปธรรมของการดำเนินงานที่แสดงให้เห็นว่า การดำเนินนโยบายการพัฒนาและบริหารประเทศตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มิได้ปฏิเสธการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ตามที่นักธุรกิจหลายคนเข้าใจว่าการลงทุนต่างๆ จะหยุดชะงักหรือชะลอตัวลง

สิ่งหนึ่งที่มีความแตกต่างกันระหว่างการใช้นโยบายประชานิยมตามวิถีของทุนนิยม กับการใช้นโยบายเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ คือ การพิจารณาประโยชน์ในการลงทุนตามนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง จะเน้นที่ประโยชน์ของคนส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ของคนส่วนน้อย มิใช่การสร้างโครงการโดยเริ่มพิจารณาที่ตนเองหรือพวกพ้องว่าจะได้อะไรก่อนเป็นอันดับแรก แล้วจึงค่อยพิจารณาประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นอันดับรอง และประการสำคัญการลงทุนตามนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงจะยึดหลักของความ “คุ้มค่า” มากกว่าความ “คุ้มทุน” ซึ่งหากพิจารณาตามหลักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป อาจะถือว่าเป็นการลงทุนที่ขาดทุนหรือไม่คุ้มทุนของรัฐ แต่ได้ผลเป็นความอยู่ดีมีสุขของประชาชนส่วนใหญ่ที่ตีเป็นมูลค่าไม่ได้... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Monday, October 16, 2006

Red Herring Asia 100 Hottest Startups

ทุกปี นิตยสาร Red Herring จะมีการสำรวจ 100 บริษัทใหม่ที่น่าลงทุนในเอเชีย โดยในปีนี้ มีบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกจากทั้งหมด 10 ประเทศ ประกอบด้วย จีน 33 แห่ง อินเดีย 24 แห่ง และเกาหลีใต้ 20 แห่ง ส่วนที่เหลืออีก 23 แห่งมาจาก ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ออสเตรเลีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และแม้แต่ประเทศศรีลังกา ซึ่งก่อนหน้ามิได้อยู่ในแผนที่ของนักลงทุน ก็ติดโผอยู่กับเขาด้วย (แต่ไม่มีประเทศไทย!) หลายบริษัทมีไอเดียธุรกิจที่น่าสนใจ และสามารถนำมาต่อยอดเข้ากับธุรกิจคนไทยได้ดี (เช่น บริการ Voice SMS ของบริษัท BubbleTALK) ใครที่อยากสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ จากแนวคิดของบริษัทเหล่านี้ ก็เชิญได้ตามอัธยาศัยครับ

Audio File ฟังการย่อยเนื้อหาในนิตยสารฉบับ "Red Herring Asia 100" External Link


แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม : "Red Herring Asia 100 By Sector" External Link

Tuesday, October 10, 2006

เศรษฐกิจพอเพียงกับกระแสโลกาภิวัตน์ : ไปด้วยกันได้หรือไม่

การประกาศนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับใช้เป็นแนวทางในการบริหารประเทศภายใต้คณะรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้สร้างความกังขาให้แก่นักธุรกิจ ข้าราชการ และประชาชนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อยด้วย ความกังขานี้ มิได้หมายถึงความกังขาว่ารัฐบาลชุดนี้จะดำเนินนโยบายตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงได้จริงหรือไม่ แต่เป็นความกังขาที่เกิดจากความไม่เข้าใจในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของคนกลุ่มนี้เอง ที่คาดไปในทำนองว่า ประเทศไทยจะหยุดการเจริญเติบโตแล้วหรือไร การลงทุนต่างๆ จะหยุดชะงักหรือชะลอตัวลงหรือไม่ คนไทยจะต้องไปประกอบอาชีพการเกษตรเช่นนั้นหรือ

ความไม่เข้าใจประกอบกับการละเลยไม่พยายามที่จะศึกษาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกันอย่างถ่องแท้ ก่อให้เกิดการตีความโดยอาศัยความรู้เท่าที่มีของตัวเองเป็นบรรทัดฐาน ล้วนแต่ทำให้เกิดการสื่อความที่คลาดเคลื่อนไปจากความจริง ความจริงที่ว่านี้ ก็คือ เศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวในการพัฒนาและบริหารประเทศที่ส่งเสริมให้โลกาภิวัตน์มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Monday, October 09, 2006

ซีเอสอาร์ : คือ "หน้าที่" หรือ "การอาสา"

การดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility – CSR) ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ หรือเกิดจากการอาสาที่จะปฏิบัติ เป็นคำถามที่วนเวียนอยู่ในใจของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องซีเอสอาร์อยู่ไม่น้อย บ้างก็ยืนยันว่าซีเอสอาร์เป็นเรื่องที่ต้องมีกรอบกฎหมายบังคับ บ้างก็เห็นต่างว่าซีเอสอาร์นั้นเป็นเรื่องที่ต้องเกิดจากจิตสำนึกโดยไม่มีการบังคับ ในบทความนี้ จะได้พยายามชี้ให้เห็นข้อแตกต่างระหว่างซีเอสอาร์ที่เกิดจากการบังคับกับซีเอสอาร์ที่เกิดจากการอาสา... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ CSR Knowledge) External Link [Archived]

Friday, September 29, 2006

การสร้างมูลค่าเพิ่มกับการบริหารจัดการซอฟต์แวร์

ได้มีโอกาสไปบรรยายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง "การสร้างมูลค่าเพิ่มกับการบริหารจัดการซอฟต์แวร์" ภายใต้หัวข้อ "ลิขสิทธิ์ พัฒนาเศรษฐกิจไทย" ในการสัมมนางานตลาดนัดทรัพย์สินทางปัญญา 2549 : TIPF 2006 ณ ห้องฟินิกซ์ 5-6 อาคาร Impact Exhibition Hall เมืองทองธานี มีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ จำนวนประมาณ 150 คน

เอกสารอ่านประกอบ :
- เอกสาร PowerPoint ที่นำเสนอประกอบการบรรยาย PDF Format
- บทความ "What is your software worth?" โดย Gio Wiederhold External Link
- หนังสือ "The Business of Software" โดย Michael A. Cusumano External Link

Thursday, September 28, 2006

ข้อเสนอแนวทางใหม่ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ขอมีส่วนร่วมในทางการเมือง ด้วยการเสนอแนวความคิดในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งในแบบแบ่งเขตและในแบบบัญชีรายชื่อ โดยอาศัยกระบวนการออกเสียงประชามติในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน เพื่อเพิ่มบทบาทและกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง

ข้อดีของรูปแบบที่นำเสนอสำหรับ ส.ส. แบบแบ่งเขต คือ ผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้ง จะต้องได้รับประชามติรับรองจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่นอกเขตเลือกตั้งนั้นๆ จึงสามารถเป็นผู้แทนได้ ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต้องมีคุณสมบัติอันเป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศด้วย ส่วนข้อดีของรูปแบบที่นำเสนอสำหรับ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ คือ บุคคลผู้มีความรู้ความสามารถที่ประสงค์จะทำงานเพื่อประเทศชาติ จะมีความเป็นอิสระจากพรรคการเมือง และอาสาเข้ามาทำงานการเมืองได้ง่ายขึ้น รวมทั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ จะมาจากการเลือกตั้งในระดับรายบุคคล แทนการเลือกแบบทั้งบัญชี ซึ่งจะสะท้อนความต้องการของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ดีกว่าแบบเดิม

เอกสารข้อเสนอแนวทางใหม่ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร PDF Format

Friday, September 22, 2006

แนวคิดการจัดการความรู้ : แบบจำลองปลาทู

ได้เข้าร่วมสัมมนางานวิจัย "การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน" ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยหน่วยจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน แนวคิดการจัดการความรู้ที่นำมาใช้ในโครงการวิจัยนี้ คือ แนวคิดที่เปรียบเทียบการจัดการความรู้เหมือนกับปลาทู (Plato Model)

ส่วนหัวปลา หมายถึง ส่วนที่เป็นวิสัยทัศน์ หรือเป็นทิศทางของการจัดการความรู้ เป็นการตอบคำถามว่า เราทำการจัดการความรู้ไปเพื่ออะไร (Knowledge Vision) ส่วนกลางลำตัวปลา เป็นส่วนของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นส่วนสำคัญและยากที่สุด เนื่องจากกระบวนการต้องอาศัยคนที่พร้อมจะเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ เป็นการจัดการที่จะทำให้เกิดเหตุปัจจัยและสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้คนพร้อมที่จะแบ่งปันและเรียนรู้ร่วมกัน (Knowledge Sharing) ส่วนหางปลา หมายถึง เนื้อหาความรู้ที่เก็บสะสมไว้ที่คลังความรู้ (Knowledge Assets)

ในส่วนของกระแสน้ำนั้น เป็นสิ่งที่ชุดโครงการวิจัยได้เพิ่มเติมเข้ามา เนื่องจากในการดำเนินการเพื่อให้องค์กรการเงินชุมชนเข้มแข็งนั้น ปลาทู (ซึ่งเปรียบเสมือนกับ องค์กรการเงินชุมชน) มิได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่จะต้องว่ายฝ่ากระแสน้ำ ซึ่งในที่นี้หมายถึง กระแสการพัฒนา นโยบาย/กฎหมาย กลไกสนับสนุน รวมทั้งสภาพชุมชนด้วย

คณะวิจัยได้นำแบบจำลองปลาทูมาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินกิจกรรมจัดการความรู้ โดยเริ่มต้นจากการให้คณะกรรมการร่วมกันสร้างวิสัยทัศน์ ตั้งเป้าหมายที่ต้องการจะไปให้ถึง (หัวปลา) ใช้หลักการของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันสำหรับการพัฒนาเครือข่าย กลุ่ม และสมาชิก (ลำตัวปลา) และดำเนินการจัดทำคลังความรู้ของเครือข่าย กลุ่ม และสมาชิก ในรูปของเอกสารที่เป็นองค์ความรู้ของกลุ่ม (หางปลา)

ผมขอเพิ่มเติม "น้ำพริก" เข้าไปในแบบจำลองนี้ กลายเป็น "น้ำพริก ปลาทู โมเดล" โดยนัยของน้ำพริกในกรณีนี้ หมายถึง การนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติ (Knowledge Appreciation) หลังจากที่ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จนเกิดเป็นองค์ความรู้ขึ้น เครือข่าย กลุ่ม และสมาชิก สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในแต่ละสภาพชุมชนที่อาจมีความแตกต่างกันทางภูมิสังคม เปรียบเสมือนกับมีน้ำพริกได้หลายชนิด การบริโภคปลาทู ในที่นี้จึงหมายถึง การแปรสภาพความรู้ให้เกิดประโยชน์ นอกเหนือจากการเก็บไว้เป็นคลังความรู้

แหล่งศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม :
- เว็บ : หน่วยจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน External Link
- บล็อก : สถาบันจัดการความรู้เพื่อชุมชน External Link

Monday, September 18, 2006

"The Rules of Business" ตอน 2

ได้ย่อยหนังสือ "The Rules of Business" ในรายการ MCOT.NET ต่อเป็นตอนที่ 2 กฎทางธุรกิจที่น่าสนใจในรายการตอนนี้ จะเกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดการเทคโนโลยี ในกรอบคิดเดิม คือ องค์กรมีการรวมศูนย์ทรัพยากรทางเทคโนโลยีไว้ด้วยกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและการประหยัดจากขนาด ในขณะที่กรอบคิดใหม่ มีความท้าทายที่สำคัญ คือ ในเมื่อเทคโนโลยีไม่ใช่หัวใจของธุรกิจ แต่เป็นเพียงเครื่องมือ การตัดสินใจระหว่างการนำเครื่องมือมาไว้รวมกันในโรงเก็บเครื่องมือที่ยากแก่การเข้าถึง กับการแบ่งเครื่องมือไว้กระจัดกระจายในแต่ละแผนกขององค์กร เพื่อให้เกิดการใช้งานให้มาก อย่างไหนจะก่อให้เกิดความคุ้มค่ามากกว่ากัน ฤาจะถึงเวลาแล้วที่จะพิจารณายุบแผนกเทคโนโลยีสารสนเทศ พิจารณาปรับลดผู้เชี่ยวชาญบริสุทธิ์ (Pure Expert) แต่หันมามุ่งเน้นการพัฒนาเจ้าหน้าที่ในแผนกต่างๆ ให้มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีในแบบผู้ชำนาญการประยุกต์ (Applied Practitioner)

Audio File ฟังการย่อยเนื้อหาในหนังสือ "The Rules of Business" ตอน 2 External Link

Sunday, January 08, 2006

อย่าไว้ใจความคิดตัวเอง

เราพบกับ พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้ที่นอกจากจะมีความสนใจในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว CEO หนุ่มวัยย่างเข้าเลขสี่คนนี้ยังสนใจการปฏิบัติธรรม และมุ่งมั่นศึกษาธรรมะอย่างเอาจริงเอาจังอีกด้วย

"ผมไม่ได้เพิ่งมาสนใจตอนเรียนปริญญาเอก สาขาพุทธศาสนาที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) แต่โดยส่วนตัวแล้ว อ่านหนังสือธรรมะมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น ตั้งแต่อายุประมาณ 15 ปี"

นั่นไง เริ่มต้นมาตั้งแต่วัยรุ่น สำหรับช่วงแรกที่พิพัฒน์สนใจ คือหนังสือของหลวงพ่อพุทธทาส

"ผมประทับใจ เพราะท่านเขียนหนังสือธรรมะด้วยภาษาธรรมดา ไม่อิงบาลีมากมาย ก็อ่านมาเรื่อย"

การอ่านแต่ละครั้ง สำหรับหนังสือเล่มเดียวกัน ได้ให้ความเข้าใจที่แตกต่างกันในช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป

"ผมอ่านหนังสือของท่านแทบทุกเล่ม ตอนหลังซื้อเก็บไว้ เล่มแรกที่อ่านคือ "เกิดมาทำไม" ชีวิตผมตอนเรียนมัธยมปลายที่เตรียมอุดมศึกษา เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากการตั้งคำถามแก่ตัวเองที่ว่า คนเราเกิดมาเพื่ออะไร ผมขบปัญหานี้อย่างจริงๆ จังๆ แล้วก็รู้สึกดีใจเล็กๆ ที่ได้ตอบคำถามนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะถ้าไปตอบคำถามตอนอายุมากหรือใกล้เข้าฝั่งแล้ว และพบว่า ที่เราทำมาทั้งชีวิตนั้นไม่ใช่เลย ก็จะรู้สึกเสียดายมากว่า สิ่งที่เราดำเนินมาทั้งหมดไม่ใช่คำตอบของชีวิต"

พอพิพัฒน์ตั้งคำถามนี้ตั้งแต่วัยรุ่น และได้คำตอบว่า คนเราเกิดมาเพื่อเรียนรู้ จากนั้นเขาก็ตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วเรียนรู้อะไรล่ะ

"วันนี้ ผมคิดว่ามีการเรียนรู้บนสองเส้นทาง ทางหนึ่ง คือเรียนรู้เพื่อที่จะดำรงชีวิต จะต้องเรียนรู้โดยการเข้าสู่ระบบการศึกษา วิชาชีพ มีความรู้เชิงลึกในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อทำมาหากิน เพื่อประกอบอาชีพ ส่วนอีกทางหนึ่ง คือเรียนรู้เรื่องชีวิต ต้องเป็น วิชาชีวิต ไม่ใช่วิชาชีพ เพื่อค้นหาคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมคนเราถึงเกิดมา แล้วเราจะไปถึงจุดยอดสุดที่มนุษย์พึงจะได้รับได้อย่างไร"

"ทำไมผมจึงเรียนวิศวะ ทำไมจึงศึกษาเรื่องไอที เพราะนี่คือเรื่องของอาชีพที่ผมใช้ในการดำเนินชีวิต กับการศึกษาปฏิบัติธรรม หรือไปเรียนปริญญาเอกที่ มจร. ก็เพราะอยากเรียนรู้เรื่องขีวิต เพื่อที่จะนำพาตัวเองให้เข้าไปสู่เส้นทางของการพ้นทุกข์นั่นเอง"

เนื่องจากหลักสูตรปริญญาเอกของมจร. กำหนดไว้ว่าต้องเรียนทั้งภาคปริยัติและภาคปฏิบัติ โดยมีข้อกำหนดให้ผู้เรียนต้องเข้าคอร์สกรรมฐานเป็นเวลา 45 วัน การปฏิบัติในหลักสูตรนี้ เป็นสิ่งที่พิพัฒน์ปรารถนาอยู่ลึกๆ จึงได้ตัดสินใจเข้าเรียนและได้ผ่านคอร์สกรรมฐานนี้มาแล้วที่วัดภัททันตะอาสภาราม จ.ชลบุรี

"วัดนี้เป็นวัดสอนวิปัสสนากรรมฐานตามแนวมหาสติปัฏฐาน 4 ไม่เน้นพิธีกรรม ก่อตั้งขึ้นตามชื่อของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระภัททันตะ อาสภมหาเถระ ธัมมาจริยะ อัคคมหากัมมัฏฐานาจริยะ พระวิปัสสนาจารย์ผู้สืบสายวิปัสสนาวงศ์นับแต่พระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ สาวกองค์สำคัญหลังจากที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว 235 ปี โดยมีพระอธิการสมศักดิ์ โสรโท เป็นเจ้าอาวาสและพระวิปัสสนาจารย์ผู้ให้การอบรมวิปัสสนากรรมฐานตามแนวมหาสติปัฏฐาน 4 ซึ่งถือเป็นทางสายเอกที่พระพุทธเจ้าทรงบอกไว้ว่า นี่คือหนทางพ้นทุกข์ที่ตรงที่สุด โดยการกำหนดรู้กาย เวทนา จิต และธรรม จนกว่าจะเห็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของสังขารที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป"

เมื่อไปถึง พระอาจารย์ท่านจะให้ผู้ปฏิบัติขอสมาทานศีล 8 และขึ้นพระกรรมฐานก่อนการปฏิบัติ เริ่มต้นจากการนั่งกำหนดและเดินจงกรมสลับกัน อิริยาบทละ 30 นาที เพื่อเอาจิตเข้าไปจดจ่อเฝ้าดูสภาวธรรมอันปรากฏขึ้นตามความเป็นจริง โดยปราศจากการคิดนึกพิจารณาปรุงแต่ง หรือเพิ่มเติมสิ่งใดๆ ลงไปในทุกๆ ขณะที่มีการกำหนด

"สำหรับคนที่ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน ช่วง 3 วันแรกจะบีบคั้นพอสมควร จนอาจทำให้หลายคนเลิกปฏิบัติกลางครัน แต่ถ้าผ่าน 3 วันแรกมาได้ โอกาสที่จะเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง ก็จะเกิดขึ้นได้"

นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่พระวิปัสสนาจารย์ส่วนใหญ่บอกว่า ถ้าจะเข้ากรรมฐานอย่างน้อยต้อง 7 วัน ถ้าเข้า 3 วันอาจจะไม่ได้อะไร เพราะพอจิตเริ่มมีกำลังตั้งมั่นเป็นสมาธิ ที่เอื้อต่อการเกิดปัญญาเห็นแจ้ง ก็กลับซะแล้ว แต่สำหรับพิพัฒน์เขาอยู่ตลอด 45 วัน

พอปฏิบัติไประยะหนึ่ง พระอาจารย์จะให้เพิ่มระยะเวลาการนั่งกำหนดและการเดินจงกรม เป็นคราวละ 45 นาที หรือ 1 ชั่วโมง ที่ต้องมีการสลับอิริยาบถระหว่างการเดิน และการนั่ง รวมไปถึงการยืนกำหนด การนอนกำหนด และการกำหนดอิริยาบถย่อยด้วยนั้น ก็เพื่อการปรับแต่งอิริยาบถและอินทรีย์ 5 อันได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ให้มีความสม่ำเสมอกัน เป็นการกำหนดให้มีความต่อเนื่องไม่ขาดสาย

"พอนั่งแล้ว ก็ดูกาย มีสติระลึกรู้อาการนั่ง หรืออาการเคลื่อนไหวของท้องพอง-ยุบ เมื่อเวทนาหรือความรู้สึกที่เกิดกับการนั่งปรากฏ บางทีก็ปวด เป็นเหน็บ ชา ก็ให้กำหนดรู้อาการนั้นๆ อย่าไปอยากให้หาย อย่าไปอยากเอาชนะ อย่าไปอยากรู้ว่ามันจะดับหรือไม่ดับอย่างไร ให้ทำหน้าที่เพียงแค่เฝ้าดูอย่างมีสติเท่านั้น จนเมื่ออาการปวด หรืออาการเหน็บชารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จิตจะปรุงแต่ง เกิดความคิดว่า อยากจะลุก ไม่อยากนั่งต่อบ้าง กลัวเป็นอันตรายบ้าง ซึ่งเป็นธรรมชาติของจิตที่มีหน้าที่คิดและรับรู้อารมณ์ตามสภาพของเหตุปัจจัย ขอให้กำหนดรู้อย่างเดียว คิดอะไรก็ให้กำหนดรู้ไปตามนั้น เมื่อการกำหนดถึงขั้นดีมาก จะทำให้เราเห็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ความไม่เที่ยง มองเห็นการเกิดดับของอารมณ์ที่กำลังเกิดดับอย่างรวดเร็ว ทุกขัง ความทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เพราะมีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นทุกข์ และอนัตตา ความไม่สามารถบังคับไม่ให้เป็นทุกข์ได้ เป็นสภาวธรรมที่ไม่สามารถบังคับเพื่อไม่ให้เกิด หรือเพื่อไม่ให้ดับตามอำนาจของตน ซึ่งหากเกิดการพิจารณาธรรมอย่างนี้ ก็ให้กำหนดอาการพิจารณานี้ด้วย ให้ตระหนักรู้อยู่ในสภาวะปัจจุบันเท่านั้น"

สำหรับประสบการณ์ของพิพัฒน์ เขาเล่าว่า...

"วิปัสสนาสามารถนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ในการทำงาน ทุกขณะสามารถปฏิบัติได้ ตราบใดที่เรามีตัวสติกำหนดรู้ในอิริยาบท เราก็กำลังปฏิบัติอยู่ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมที่ง่ายที่สุด คือ การระลึกรู้ในปัจจุบันขณะ โดยปราศจากความคิดปรุงแต่งเท่านั้นเอง"

อย่างไรก็ตาม เขาระลึกอยู่เสมอว่า การปฏิบัติที่ตนเพียรอยู่ เป็นเพียงการเริ่มต้นออกศึกกับกิเลสตัวเองเท่านั้น

"ผมมีคีย์เวิร์ดเตือนตัวเองเสมอว่า อย่าไว้ใจความคิดตัวเอง เพราะความคิดของเรามักเจือปนไปด้วยกิเลสเสมอ เราจะเห็นกิเลสแปดเปื้อนอยู่เสมอเวลาเราคิด เวลาที่เราภาคภูมิใจกับเรื่องอะไรๆ ในชีวิต ผมยังรู้สึกอายๆ เลยว่า บางทีการเสนอความคิดเห็นทางวิชาการอะไรไป ผมต้องกลับมาทบทวนว่า แน่ใจแล้วหรือว่าความคิดที่เราเสนอไปเป็นความจริงแท้ ผมจึงได้เตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า คนเราทุกคนมักจะคิดเข้าข้างตัวเองเสมอ

"พระอาจารย์ท่านบอกว่า ปัญญาญาณที่บริสุทธิ์จะเกิดขึ้นได้ต้องปราศจากความคิด และอยู่กับปัจจุบันขณะ ขอให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ เถอะ พระพุทธเจ้าบอกว่าไม่เกิน 7 ปี ทุกคนมีโอกาสบรรลุธรรมเท่ากันหมด ถ้าคนๆ นั้นตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง มรรคผลย่อมปรากฎ"

"สำหรับผม ตราบใดที่ยังไม่เข้ากระแส ยังปฏิบัติไม่เต็มที่ ความรู้สึกจะขึ้นๆ ลงๆ อย่างขณะปฏิบัติอยู่ที่วัด ก็มีความคิดปรุงแต่งเรื่องงาน ห้ามไม่ให้คิดไม่ได้ มันจะเข้าๆ ออกๆ อันนี้คือสภาวะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่เป็นไปตามอำนาจของตน ขณะเวลาทำงานอยู่ออฟฟิศ อยากไปปฏิบัติ ก็เกิดทุกข์ ไม่ได้ดั่งใจ แต่พอมาอยู่ที่วัด อยากมาทำงาน ก็เป็นทุกข์อีก นี่แสดงกฎไตรลักษณ์เห็นๆ เลย ทั้งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะฉะนั้น ถ้าเราระลึกรู้อยู่เสมอว่า นี่คือสภาวธรรมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ เราก็จะรู้สึกผ่อนคลายลง ความทุกข์ก็จะน้อยลง"

พอมาถึงวันนี้ พิพัฒน์เล่าว่าสามารถปรับวิธีการทำงานและการปฏิบัติธรรมให้มีความลงตัวได้มากขึ้น

"เมื่อก่อนรู้สึกว่า แปลกแยก เพราะการทำงานต้องเจรจาต่อรอง ต้องไปคุยกับคนนั้นคนนี้ อาจมีข้อมูลบางอย่างที่เราบอกไม่หมด เราก็รู้สึกว่ามันขัดกับการทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ในที่สุด วิถีการทำงานกับการปฏิบัติธรรมก็เริ่มปรับเข้าหากันเอง เข้าข่ายธรรมะจัดสรร ทำให้มีโอกาสได้มาทำงานเรื่อง CSR ที่อำนวยประโยชน์ให้แก่สังคมมากขึ้น ในขณะที่ประโยชน์ขององค์กรก็ไม่เสีย สอดคล้องกับหลักธรรมะที่ว่า ไม่เบียดเบียนทั้งประโยชน์ตนเองและประโยชน์ผู้อื่น"

CSR ย่อมาจาก Corporate Social Responsibility เป็นความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อสังคม ในขณะนี้ เมืองไทยมีเครือข่ายธุรกิจร่วมรับผิดชอบต่อสังคมไทย (Thai CSR) เกิดขึ้นแล้ว จากการริเริ่มโดยสถาบันไทยพัฒน์ สังกัดภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่ง ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้นำในการก่อตั้งร่วมกับบุคคลในวงราชการและธุรกิจเอกชนจำนวนหนึ่งเมื่อปี 2510 ซึ่งตอนนี้พิพัฒน์มารับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์อยู่ด้วย

"เราพูดกันว่า ทำไมธุรกิจบางแห่งไม่มีความยั่งยืน เพราะรากฐานของธุรกิจนั้นไม่คำนึงถึงสังคม CSR คือ การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม นอกเหนือจากผลประโยชน์ส่วนตน เป็นการช่วยเหลือแบ่งปันให้กับผู้อื่น หรือให้กับสังคมนั่นเอง CSR ของธุรกิจเกิดได้ทั้งจากแรงขับดันภายในและภายนอก CSR ที่แท้จะต้องเกิดขึ้นจากการอาสาหรือสมัครใจยินดีในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วยตนเอง ในขณะที่ CSR อีกแบบหนึ่ง ผู้ทำธุรกิจจำต้องทำตามเงื่อนไขของสังคม ระบบนี้คล้ายเป็นตัวแทนของสังคม เป็นผู้กดดันให้องค์กรดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าการดำเนินกิจกรรมที่ทำให้สังคมได้รับความเสียหาย"

ธุรกิจจะอาศัยอยู่ร่วมกันในสังคมได้ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและจารีตหรือบรรทัดฐานของสังคมที่เป็นตัวกำกับอย่างหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกัน เราก็อยู่ภายใต้กฎอีกอันหนึ่ง คือ กฎธรรมชาติ ถ้าพูดทางธรรมะก็คือ กฎแห่งกรรม ฉะนั้นหากธุรกิจใดเอารัดเอาเปรียบสังคมที่ตนเองอาศัยอยู่ เขาย่อมได้รับผลกรรมทางสังคมนั้นไม่ช้าก็เร็ว

"อย่างที่ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) กล่าวไว้ว่า การศึกษาทุกวันนี้มุ่งไปที่ทำให้คนประกอบอาชีพได้ แต่ลืมเรื่องการศึกษาชีวิตไป เพราะต้องเอาปากท้องไว้ก่อน มุ่งแต่เรื่องปากท้อง เรื่องทรัพย์ทางวัตถุจนเกินพอดี ในทางพระพุทธศาสนาบอกไว้ว่า จุดสูงสุดที่มนุษย์พึงจะได้รับ ไม่ใช่เรื่องความมั่งคั่งทางวัตถุ เมื่อใดก็ตามที่เรายังไม่สามารถละเรื่องนี้ได้ ก็ยังจะก้าวไปสู่ความพ้นทุกข์ที่แท้จริงไม่ได้"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ก็ได้ทรงเน้นย้ำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง คือทำให้พอเพียง ถ้าไม่พอเพียงไปไม่ได้ เศรษฐกิจพอเพียงเป็นบาทฐานที่นำไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุข ถ้าทุกคนเลื่อมใสต้องพอเพียงก็ปฏิบัติเถิด เพราะถ้าปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียง มันใช้ได้จริงๆ ไปได้จริงๆ แต่ว่าอาจจะไม่ค่อยสบาย นี่เป็นพระราชดำรัสที่พระองค์ท่านได้ทรงพระราชทานไว้

พิพัฒน์บอกว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นสอดคล้องกับหลักพุทธธรรม คือ ทางสายกลาง หรือ มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติอันพอดีที่จะนำไปสู่จุดหมายสูงสุดที่มนุษย์พึงจะได้รับ

"ธุรกิจพึ่งตนเองได้ ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน นั่นเรื่องหนึ่ง หากมีกำลังเหลือ ก็จะทุ่มกับงานของสถาบันไทยพัฒน์ สองอย่างนี้ทำให้ผมมีความสุขแล้วครับ"

พระพรหมคุณาภรณ์สอนว่า คนเราจะพัฒนาให้เป็นคนเต็มคนได้ ต้องประกอบด้วยสามอย่างคือ เก่ง ดี และมีความสุข ถ้าเป็นคนเก่งแต่ไม่ดี ก็ทำให้โลกนี้ปั่นป่วนได้มหาศาล แต่ถ้าคนดีเป็นคนเก่งด้วย ก็จะเป็นผู้นำที่มีคุณูปการกับโลกมากมาย เพราะว่าเขามีความดีเป็นรากฐานอยู่แล้ว และที่สำคัญคนเราต้องมีความสุขให้เป็น อย่ามัวแต่เป็นคนที่คอยแสวงหาความสุขไปชั่วชีวิต เหมือนที่เห็นในโลกปัจจุบัน คนจำนวนมากมีความสามารถในการแสวงหาสิ่งที่มาสนองความต้องการของตนเพื่อให้เกิดความสุข แต่กลับสูญเสียความสามารถในการมีความสุข เขาก็จะมีความสุขยากขึ้น ทำให้ต้องยิ่งแสวงหามากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

ทุกวันนี้ พิพัฒน์บอกว่า มีความสุขที่ได้ทำงานซึ่งมีประโยชน์ต่อสังคม ขณะเดียวกัน ก็มีค่าตอบแทนและรายได้พอประมาณ สามารถหล่อเลี้ยงสถาบันและจ่ายค่าตอบแทนให้แก่พนักงานได้ในระดับที่สมเหตุสมผล

จากธุรกิจแรกเริ่มที่ทำเรื่อง IT เมื่อตอนปี 2543 เป็นเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาระบบงาน ระบบฐานข้อมูลให้แก่องค์กรต่างๆ จนระยะหลัง ก็เริ่มมาพัฒนาระบบงานในโครงการที่มิได้เป็นประโยชน์กับบริษัทใดบริษัทเดียว แต่เป็นโครงการที่สังคมส่วนรวมได้ประโยชน์ เช่น โครงการวิจัยและพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง และโครงการศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลกลุ่ม องค์กร พื้นที่ ที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ซึ่งโครงการหลังนี้ ผมและทีมงานได้ช่วยกันทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลของหน่วยงานหรือบุคคลที่ทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง มาพัฒนาเป็นฐานข้อมูล และระบบสืบค้นฐานข้อมูลที่สามารถเรียกใช้งานผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลได้โดยง่าย

ฐานข้อมูลนี้ พิพัฒน์บอกว่าเป็นจุดเริ่มต้น เป็นแหล่งข้อมูลแรกที่ได้พยายามรวบรวมข้อมูลกลุ่ม องค์กร พื้นที่ ที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิตไว้ในที่เดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการศึกษา วิจัย ค้นคว้า และการเรียนรู้ ขยายผลให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้าง

"เช่น ในภาคธุรกิจที่ยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มักนึกว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องเกษตรกรรม เป็นเรื่องของคนชนบท และเป็นเรื่องไกลตัว จึงไม่สนใจศึกษาหรือนำมาประยุกต์ใช้ หรือกรณีที่ธุรกิจมีความสนใจและเริ่มเข้าใจในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแล้วอยากนำมาปฏิบัติ แต่ไม่รู้จะนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างไร การศึกษาจากฐานข้อมูลนี้ ก็จะทำให้เกิดการขยายผลเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไปในวงกว้างมากขึ้น"

สำหรับคนในวงกว้างจะทราบได้อย่างไรว่า มีกลุ่ม องค์กร พื้นที่ ที่สามารถศึกษาเป็นแนวทางตัวอย่าง หรือว่ามีเครื่องมือใดบ้างที่สามารถใช้ประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงในองค์กรและภาคธุรกิจเอกชน

"เราได้รวบรวมผลงานวิจัย และองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงในองค์กรและภาคธุรกิจไว้ในเว็บไซต์ โดยใช้ที่อยู่ทางอินเทอร์เน็ตว่า www.sufficiencyeconomy.com"

ทุกอย่างที่ทำ พิพัฒน์บอกว่า ทำให้เรื่องของทางโลกกับทางธรรมสอดคล้องกันมากขึ้น เลยทำให้ไม่รู้สึกแปลกแยกเหมือนเมื่อก่อน

"ทุกวันนี้ เราไม่ถึงกับต้องวิ่งหาลูกค้าอย่างเอาเป็นเอาตาย จากการที่เรามีรายจ่ายอย่างพอประมาณ ทำให้เราไม่ต้องไปขวนขวายหางานเพื่อที่จะมาชดเชยกับค่าใช้จ่ายจำนวนมากๆ หรือรายจ่ายที่เกินตัว เมื่อรายจ่ายมันพอดีหรือพอประมาณ เวลาเราหางาน เราก็สามารถเลือกพิจารณารับงานที่เป็นประโยชน์ได้มากกว่า ส่วนการคิดค่าตอบแทนจากการทำงาน ก็ไม่ต้องมุ่งกำไรอย่างสูงสุด แต่พอประมาณกับต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เป็นจริง"

นั่นคือ หัวใจของการนำธรรมะมาใช้ในธุรกิจได้อย่างพอเพียง และเป็นตัวอย่างที่พิสูจน์ว่าทำได้จริงๆ

(เรียบเรียงจากหนังสือรหัสชีวิต โดยนงนาถ ห่านวิไล และ มนสิกุล โอวาทเภสัชช์, 2549.)