Saturday, March 27, 2021

Regenerative Business : ธุรกิจเกื้อโลก

ในรอบปี 2563 เครือข่ายรอยเท้านิเวศโลก (Global Footprint Network) ได้บันทึกให้วันที่ 22 สิงหาคม 2563 เป็นวันที่มนุษย์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินขีดจำกัดที่โลกสามารถฟื้นฟูหรือสร้างขึ้นใหม่ (Regenerate) หรือที่เรียกว่า วันเกินกำลังโลก (Earth Overshoot Day: EOD) ในมุมมองทางเศรษฐกิจ ถือว่า วันถัดจาก EOD สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์ใช้สอยจะมีมูลค่าติดลบหรือขาดดุลไปจนสิ้นสุดปี

ในปี 2564 หากประชากรโลกใช้ชีวิตในแบบที่ไทยเป็นอยู่ วันเกินกำลังโลก จะขยับขึ้นมาเป็นวันที่ 15 สิงหาคม 2564 หมายความว่า คนไทยมีการใช้ทรัพยากรเกินกำลังที่โลกจะรองรับได้ ในอัตราเร่งที่สูงกว่าประชากรโลก

ภาคธุรกิจที่ประกาศว่า จะดำเนินธุรกิจโดยนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ หรือการลดขยะและของเสียให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ หรือมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) นั้น ไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะจากข้อมูลชี้ชัดว่า รอยเท้านิเวศของโลก (World Ecological Footprint) ที่แสดงถึงปริมาณความต้องการใช้ทรัพยากรของมนุษย์ในแต่ละปีนั้น ได้เกินขีดความสามารถรองรับเชิงนิเวศของโลก (World Biocapacity) ในทุกปีการคำนวณนับตั้งแต่ปี 2513 และมีแนวโน้มที่จะร่นวันขึ้นมาเรื่อยๆ

แนวทางการดำเนินธุรกิจจากนี้ไป มิใช่เพียงความพยายามในการลดรอยเท้านิเวศ แต่จะต้องช่วยเพิ่มขีดความสามารถรองรับเชิงนิเวศของโลก ภายใต้แนวคิด Carbon Negative หรือทำให้การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นลบ (ไม่มีการซื้อชดเชย) โดยธุรกิจที่ดำเนินตามแนวทางดังกล่าว เรียกว่า Regenerative Business

ตัวอย่างของธุรกิจที่นำแนวคิด Carbon Negative มาใช้ ได้แก่ อินเตอร์เฟซ ผู้นำระดับโลกด้านการออกแบบ ผลิต และจำหน่ายพรมแผ่น มีการปรับสายการผลิตแผ่นรองพรมที่สามารถกักเก็บคาร์บอนจนทำให้ได้พรมแผ่นชนิดแรกในโลกที่เป็น Carbon Negative เมื่อวัดค่าการปลดปล่อยในขอบเขต Cradle-to-Gate (เป็นการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบจนกระทั่งได้ผลิตภัณฑ์ ไม่รวมขั้นตอนการใช้งานและการกําจัดซากหลังจากการใช้งาน เหมาะสําหรับใช้ในการออกเอกสารรับรองผลิตภัณฑ์)

อิเกีย ผู้นำระดับโลกด้านเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ประกาศจะมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนเป็นลบในปี ค.ศ.2030 ด้วยการปริวรรตอุปทานตลอดสาย เปลี่ยนมาใช้แหล่งพลังงานทดแทน 100% เพิ่มสัดส่วนวัสดุที่สามารถแปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ในตัวผลิตภัณฑ์ และเปลี่ยนกลุ่มยานพาหนะจัดส่งให้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในปี ค.ศ.2025

ไมโครซอฟท์ เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ตั้งเป้าสู่สถานะการปล่อยคาร์บอนเป็นลบภายในปี ค.ศ.2030 และประกาศจะมุ่งกำจัดคาร์บอนในปริมาณที่เทียบเท่ากับคาร์บอนทั้งหมดที่บริษัทได้เคยปล่อยออกสู่สภาพแวดล้อมนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท เมื่อปี ค.ศ.1975 ทั้งในทางตรงและทางอ้อม ผ่านการใช้พลังงานไฟฟ้า ให้ได้ภายในปี ค.ศ.2050

เชื่อแน่ว่า กิจการที่มีการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนอย่างเข้มข้น จะผันองค์กรให้มีการดำเนินธุรกิจที่เกื้อกูลโลก (Regenerative Business) โดยจะทยอยประกาศเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นลบ (Carbon Negative) หรือแนวทางของกิจการในการเสริมสร้างให้มีสภาพภูมิอากาศเป็นบวก (Climate Positive) นับจากนี้ไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, March 13, 2021

4C : ส่วนประสมการแข่งขันข้ามสนาม

สถานการณ์โควิด เป็นตัวเร่งเร้าให้ภูมิทัศน์การแข่งขันเกิดการเปลี่ยนแปลง ผู้ประกอบการทั้งที่ได้รับผลกระทบและมิได้รับผลกระทบ นับจากนี้ไป จะเผชิญกับคู่แข่งขันหน้าใหม่ จากการที่ธุรกิจของตน ต้องดิ้นรนหาธุรกิจใหม่ เพื่อความอยู่รอดและเติบโตในวันข้างหน้า และจากการที่ธุรกิจอื่น ก็ต้องดิ้นรน และเข้ามาแข่งขันในสนามธุรกิจที่เราอยู่เดิม

ในแง่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ จำต้องผันตัวมาทำธุรกิจใหม่ ซึ่งอยู่นอกธุรกิจแกนหลักเดิม เพื่อสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ทดแทนรายได้จากธุรกิจเดิมที่หดหาย และอาจไม่ฟื้นกลับมาดีดังเดิม

ในแง่บุคลากรที่ทำงานอยู่ในธุรกิจการบินและการท่องเที่ยว รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โรงแรม ที่พัก นำเที่ยว รถเช่า ของฝาก สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สถานบันเทิง ตลอดจนธุรกิจรับจัดงานและนิทรรศการต่างๆ จำต้องหันมาประกอบอาชีพใหม่ ซึ่งอยู่นอกวิชาชีพเดิม ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจในสนามเดิม จะพบกับคู่แข่งขันหน้าใหม่ที่ข้ามสายมาจากนอกวงการ

ขณะเดียวกัน ธุรกิจซึ่งได้รับผลกระทบในแง่ของโอกาส ได้แก่ ธุรกิจผลิตวัคซีน โรงพยาบาล ประกันสุขภาพ ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อและบริการทำความสะอาดสถานที่ให้ปลอดเชื้อ รวมทั้งธุรกิจที่ใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์และผู้ให้บริการเครื่องมือสำหรับการทำธุรกรรมออนไลน์ ฯลฯ จะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในสนามแข่งขันเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มสูงที่จะอยู่ถาวรหลังสถานการณ์

ทำให้ธุรกิจที่แม้ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โดยตรง แต่ก็ต้องได้รับผลกระทบจากคู่แข่งขันรายใหม่ที่เป็นผลิตผลจากส่วนประสมการแข่งขัน (Competition Mix) ที่สำคัญใน 4 ส่วน ได้แก่ 1) การแข่งขันข้ามสาขา 2) การแข่งขันข้ามเทคโนโลยี 3) การแข่งขันข้ามกฎกติกา 4) การแข่งขันข้ามสายพันธุ์

การแข่งขันข้ามสาขา (Cross-sector) คือ การที่ผู้เล่นรายเดิมในสาขา ถูกผู้เล่นรายใหม่นอกสาขา เข้ามาแข่งทำธุรกิจในประเภทเดียวกัน

การแข่งขันข้ามเทคโนโลยี (Cross-technology) คือ การที่คู่แข่งขันในธุรกิจเดียวกันใช้เทคโนโลยีใหม่หรือแตกต่างจากเดิมและก่อให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ

การแข่งขันข้ามกฎกติกา (Cross-disciplinary) คือ การที่ผู้เล่นรายเดิมหรือรายใหม่ลงสนามแข่งขันโดยใช้วิธีควบรวมหรือเข้าครอบงำกิจการของคู่แข่งหรือคู่ค้าในฝั่งต้นน้ำหรือปลายน้ำที่ส่งผลต่อห่วงโซ่ธุรกิจ

การแข่งขันข้ามสายพันธุ์ (Cross-breed) คือ การที่ธุรกิจปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยธุรกิจที่ใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และทำให้การแข่งขันแบบเดิมหมดความหมาย

ตัวอย่างของ Competition Mix ที่เกิดขึ้นจากผลพวงของโควิด ได้แก่ เครือปตท.เดินเครื่องลุยธุรกิจใหม่ 'ยาและเครื่องมือแพทย์' เต็มรูปแบบ ขุมทรัพย์ใหม่รับช่วงต่อ 'พลังงาน-ปิโตรเคมี' บริษัทเครือซีพีกรุ๊ป เข้าถือหุ้น 15% 'ซิโนแวค' บ.ผลิตวัคซีนโควิด-19 ของจีน

ในปี 2564 กิจการที่อยู่ในธุรกิจซึ่งได้รับโอกาสจากสถานการณ์โควิด จำต้องตื่นตัวและเตรียมพร้อมรับมือคู่แข่งขันรายใหม่ที่เป็นผลิตผลจากส่วนประสมการแข่งขัน (Competition Mix) แสวงหาพันธมิตรร่วมดำเนินการที่สามารถเพิ่มแต้มต่อในการแข่งขัน รวมทั้งเสริมสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจเพื่อรักษาฐานตลาด ตลอดจนการวางแผนและบริหารสายอุปทานให้มีความยืดหยุ่นสูงรองรับการแข่งขันข้ามสายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]