เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่ง ได้รายงานการฆ่าตัวตายของนายจางชูฮง เจ้าของโรงงานในจีน ผู้ผลิตของเล่นป้อนให้แก่บริษัทแมตเทล ในสหรัฐอเมริกา ที่ได้เรียกคืนของเล่นนับล้านชิ้น อันเนื่องมาจากการพบสีที่ปนเปื้อนสารตะกั่วบนของเล่น ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อเด็ก
ผลจากการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ดังกล่าว นำไปสู่การถอนใบอนุญาตและสั่งปิดโรงงานที่เป็นคู่ค้ากับแมตเทลยาวนานถึง 15 ปี คนงานกว่า 5,000 คนถูกเลิกจ้าง ผู้บริหารเพิ่งประกาศขายเครื่องจักรและทรัพย์สินของโรงงาน แต่ก็ต้องมาจบชีวิตลงด้วยน้ำมือตนเองในที่สุด
การสืบสวนของแมตเทลได้เผยให้เห็นปัญหาในสายการผลิตและที่มาของสีที่ใช้ในกระบวนการผลิตจากผู้ค้าส่งหลายทอด จนนายจางอาจไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าสีที่ตนเองใช้มีปัญหา เนื่องจากผู้ป้อนวัตถุดิบให้แก่โรงงานของนายจาง ได้ใช้เอกสารรับรองการตรวจสอบคุณภาพปลอมในการอ้างอิงต่อกันมาเป็นทอดๆ
เหตุการณ์นี้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเรื่อง "คุณภาพ" ของการบริหารการผลิต และ "คุณธรรม" ของผู้ประกอบการ ที่ส่งผลให้เจ้าของโรงงานรายนี้ กลายเป็นเหยื่อที่ไร้ทางออกในโลกยุคโลกาภิวัตน์
การบีบคั้นเรื่องต้นทุนสินค้า เพื่อที่จะรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคา จากฝั่งของลูกค้าห้างอย่างวอลมาร์ท หรือทาร์เก็ต และแมตเทล ทำให้การบีบคั้นถูกส่งต่อไปเป็นทอดๆ จากโรงงานสู่ผู้ป้อนวัตถุดิบ บริษัทค้าวัตถุดิบ ไปจนถึงผู้ผลิตวัตถุดิบ จนเกิดการลดคุณภาพของวัตถุดิบ เพื่อให้ได้มาซึ่งราคาที่ถูกป้อนเข้าสู่สายการผลิตทั้งระบบ
ขณะที่การบีบคั้นซึ่งมีผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจของตนเอง ยังได้มีอิทธิพลมาถึงเรื่องคุณธรรม จริยธรรมในการประกอบการ ซึ่งเป็นเสมือนภูมิคุ้มกันด่านท้ายสุด เมื่อใดที่พังทลายลง ไม่เพียงแต่ธุรกิจที่อยู่ไม่ได้ในระยะยาว ชีวิตก็อาจจะต้องจบสิ้นไปด้วย การจบสิ้นนี้ ไม่ได้หมายถึงการจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายเหมือนกรณีของนายจาง แต่เป็นการมีชีวิตอยู่แบบไร้จิตวิญญาณ เป็นซากที่ไร้ซึ่งสิ่งยึดเหนี่ยวทางคุณงามความดี รอวันที่จะกลายเป็นเหยื่อแห่งด้านมืดของโลกาภิวัตน์ในลำดับต่อไป
อุทาหรณ์สำหรับคนไทยต่อเหตุการณ์นี้ มีอยู่หลายประการ ใน ประการแรก การแข่งขันที่ต่างคนต่างเอาตัวรอดในระบบเศรษฐกิจลักษณะนี้ หากมองเฉพาะตนเอง ทางออกก็คือ ต้องพัฒนาตนเองให้เหนือผู้อื่น ใฝ่หาความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มาเสริมสร้างขีดสมรรถนะทางการแข่งขันของตนเองอย่างต่อเนื่อง แต่หากมองทั้งระบบ การแข่งขันเช่นนี้ จะนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน ผู้แพ้ถูกคัดออก หรือกลายเป็นเหยื่อของระบบดังตัวอย่างข้างต้น ผู้เล่นที่เหลือก็จะแข่งขันกันต่อ จนมีผู้ที่ถูกคัดออกมากกว่าผู้เล่นที่เหลืออยู่ ในที่สุด ระบบก็คงอยู่ไม่ได้ เมื่อระบบเศรษฐกิจพังทลายลง ประเทศก็ได้รับผลกระทบเสียหายไปด้วย
การที่ระบบยังคงทำงานได้ แม้จะอยู่ท่ามกลางการแข่งขันอย่างที่เป็นอยู่ ก็เพราะส่วนหนึ่งของระบบ ยังมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีการประสานประโยชน์ซึ่งกันและกัน รู้จักที่จะเสียสละแบ่งปันให้แก่ผู้อื่น นอกจากการพิจารณาแต่ประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง การสร้างภูมิคุ้มกันในระบบที่ดี จึงมาจากเงื่อนไขด้านคุณธรรมของผู้เล่นในระบบ ฉะนั้น ไม่ว่าจะต้องแข่งขันกันขนาดไหน อย่าแลกชัยชนะด้วย "คุณธรรมในจิตใจ" เป็นเด็ดขาด
ประการต่อมา การแข่งขันที่นำไปสู่การลดคุณภาพ ไม่ใช่การพัฒนาที่นำไปสู่ความก้าวหน้า แต่เป็นการถอยหลังเข้าสู่มุมอับหรือด้านมืดของของโลกาภิวัตน์ ที่เสี่ยงต่อการเป็นเหยื่อในระบบ แม้จะยืดลมหายใจของกิจการด้วยวิธีการแข่งขันลักษณะนี้ ท้ายสุด กิจการก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในระยะยาว ฉะนั้น ไม่ว่าจะต้องแข่งขันกันขนาดไหน อย่าแลกเอาความอยู่รอดด้วย "คุณภาพของสินค้า" เป็นเด็ดขาด
อุทาหรณ์อีกประการหนึ่ง การพึ่งพาระบบมากเกินไป ก่อให้เกิดข้อจำกัดหรือภาวะจำยอมที่ต้องปฏิบัติตามกฎกติกาที่แฝงไว้ด้วยคำถามมากมายถึงความยุติธรรมและความเสมอภาคของระบบ ทางออกในปัจจุบัน ไม่สามารถถามหาได้จากผู้วางระบบ หรือรัฐในฐานะผู้ดูแลกฎกติกาต่างๆ เพราะรัฐเองได้กลายมาเป็นหนึ่งในผู้เล่นของระบบ หรือได้รับการสนับสนุนจากผู้เล่นรายใหญ่ในระบบ แน่นอนว่า กิจการไม่สามารถหลุดพ้นจากระบบได้อย่างเด็ดขาด แต่การทำตัวให้อยู่เหนือระบบบางส่วนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้
การอยู่เหนือการแข่งขันดิ้นรนทางธุรกิจ ก็คือ การค้นหาความพอประมาณในกิจการ ที่ตนเองอาจเป็นได้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค (Prosumer) ในตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาภายนอก เช่น การสร้างชุมชนหรือประเทศให้เข้มแข็ง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตลาดภายนอกทั้งหมด
ประการสุดท้าย การให้คุณค่าของระบบเศรษฐกิจมากเกินไป จนกลายเป็นสิ่งสำคัญของเรื่องทั้งหมดในชีวิต จะทำให้มองไม่เห็นโอกาสในการพัฒนาทางอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาภายในตนเอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของจิตใจมากกว่าเรื่องของวัตถุในระบบเศรษฐกิจ การสูญเสียกิจการ มิได้หมายถึง การที่เจ้าของกิจการต้องสูญเสียจิตวิญญาณไปด้วยการจบชีวิต การพัฒนาทางจิตใจ ยังคงดำเนินต่อไปได้ด้วยการให้ความสำคัญของระบบแต่พอประมาณและอย่างมีเหตุมีผล ไม่ตัดสินด้วยอารมณ์ที่บีบคั้นหรืออารมณ์ชั่ววูบ
การให้คุณค่าของระบบเศรษฐกิจแต่พอประมาณ คือ หลักการของเศรษฐกิจพอเพียง ที่แฝงไว้ด้วยการพัฒนาในระดับที่สูงขึ้นไปอีกด้วยเงื่อนไขของคุณธรรมและความรู้ มิใช่มุ่งหมายแต่เฉพาะเรื่องเศรษฐกิจดังเช่นที่โลกข้างมากกำลังดำเนินอยู่ จนต้องอยู่แบบซากไร้จิตวิญญาณในระบบ
ประโยชน์หรือคุณค่าของบทความชิ้นนี้ ไม่ว่าจะมีมากหรือน้อย ขออุทิศให้แก่นายจางชูฮง เจ้าของโรงงานลีเดอร์ อินดัสเตรียล อายุ 52 ปี ผู้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์)
Tuesday, August 28, 2007
Wednesday, August 22, 2007
ประชามติ พอเพียงหรือไม่
ผลการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศ (อย่างไม่เป็นทางการ) ปรากฏว่า มีผู้ลงคะแนนเสียงเห็นชอบ 57.81% และไม่เห็นชอบ 42.19% จากผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนทั้งสิ้น 57.61%
หากคิดแบบชาวบ้านที่เคยติดตามคำพิพากษาคดียุบพรรคการเมือง ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ สมมติว่าประชามตินี้กระทำผ่านคณะกรรมการที่เป็นเสมือนตัวแทนของปวงชนทั้งสิ้น 15 คน ปรากฏว่า มีผู้งดออกเสียง 6 คน และในบรรดาคณะกรรมการที่เหลือ 9 คน มีผู้ลงมติเห็นชอบ 5 คน และไม่เห็นชอบ 4 คน ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นมติที่ไม่เป็นเอกฉันท์
ทั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาล และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ คงต้องพิจารณาร่วมกันแล้วว่า 4 เสียงที่ไม่เห็นชอบนั้น ประกอบด้วย คำวินิจฉัยในการตัดสินออกเสียงประชามติอย่างไร เพื่อที่จะได้เป็นบทเรียนสำหรับการกำหนดทิศทาง และจังหวะก้าวต่อไปในการวางรากฐานการเมืองการปกครองประเทศ ให้มีความมั่นคงเข้มแข็งและความปรองดองของคนในชาติ
ในจำนวนผู้ที่ไม่เห็นชอบ 4 คน ผู้ที่ไม่เห็นชอบคนแรก ถ้าดูตามคะแนนเสียงประชามติ เป็นคนอีสาน ที่ต้องการเห็นประเทศมีเศรษฐกิจที่พัฒนาและเจริญเติบโตก้าวหน้า ประชาชนจะได้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสวัสดิการของรัฐที่กระจายไปสู่ชุมชนอย่างทั่วถึง การเมืองจะต้องตอบสนองความอยู่ดีมีสุขของคนในสังคม คำนึงถึงความผูกพันฉันญาติมิตรมากกว่าความสัมพันธ์ทางโครงสร้าง แม้จะเป็นหนึ่งในเสียงที่ไม่เห็นชอบการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ก็มิได้คัดค้านในส่วนเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม
ผู้ที่ไม่เห็นชอบคนที่สอง เป็นนักวิชาการ ที่ไม่สนับสนุนการยึดอำนาจและการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่มาจากการยึดอำนาจ แม้ว่าเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญจะมีข้อดีและเห็นชอบในหลายประเด็น แต่ก็ถูกลบล้างด้วยประเด็นที่มาของรัฐธรรมนูญและการลิดรอนสิทธิ์ในการตรวจสอบคณะปฏิรูปการปกครองที่เป็นผู้ฉีกรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ทิ้ง อย่างไรก็ดี ผู้ที่ไม่เห็นชอบคนดังกล่าวนี้ ก็เคยตำหนิการบริหารบ้านเมืองในยุคของรัฐบาลทักษิณ ที่เข้าไปก้าวก่ายและแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจตุลาการ และองค์กรอิสระ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมมาแล้ว
ผู้ที่ไม่เห็นชอบคนที่สาม เป็นนักกฎหมาย ที่เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 โดยรวมมีข้อด้อยมากกว่าข้อดี และมิได้สร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบการเมืองในวันข้างหน้า จนอาจต้องมีการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่อยู่ดี ผู้ที่ไม่เห็นชอบคนดังกล่าวนี้ เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีความพยายามที่จะใช้กลไกและระบบการตรวจสอบมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวบุคคลผู้ใช้อำนาจรัฐ ซึ่งแม้จะก่อให้เกิดผลตามความมุ่งหมายจริง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ก่อให้เกิดผลอื่นติดตามมา (Consequence) ซึ่งเป็นการเปิดช่องทางให้เกิดการบิดเบือนการใช้อำนาจรัฐในรูปแบบอื่นๆ ด้วย กระทั่งส่งผลมาถึงความเข้มแข็งของระบบการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผู้ที่ไม่เห็นชอบคนที่สี่ เป็นบุคคลธรรมดา ที่ต้องการเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้า แต่ไม่ต้องการให้ทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง แม้จะเห็นด้วยกับการปฏิรูปการปกครอง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ในการเข้ามาแก้ไขวิกฤติของบ้านเมือง แต่ก็ไม่สนับสนุนให้มีการสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามตินี้
กล่าวได้ว่า การออกเสียงประชามติในครั้งนี้ เพียงพอที่จะชี้ให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ต้องการเห็นประเทศก้าวไปข้างหน้าด้วยรัฐธรรมนูญ ปี 2550 แต่ไม่เพียงพอที่จะสรุปว่า คนส่วนใหญ่ต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้าด้วยวิธีการใดหรือมีรูปแบบใดอย่างชัดเจน
ฉะนั้น ผู้ที่จะลงสนามการเมืองในเวทีเลือกตั้งครั้งหน้า จะต้องทำการวิจัยและประมวลผลการออกเสียงประชามติครั้งนี้ โดยเฉพาะในฝั่งของผู้ที่ไม่เห็นชอบอย่างรอบคอบระมัดระวัง เพื่อการกำหนดยุทธศาสตร์ (Strategies) การรณรงค์ทางการเมืองให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย การค้นหาตัวเชื่อม (Connections) ที่เป็นพันธมิตรตามภูมิสังคม และกลวิธี (Tactics) ในการช่วงชิงคะแนนเสียง อย่างน้อยที่สุด ผลการออกเสียงประชามติครั้งนี้ ก็ชี้ให้เห็นว่า เงินมิใช่ปัจจัยสำคัญที่สุด หรือเป็นไปได้ว่า เงินไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่หรือแสดงบทบาทเหนือเจตนารมณ์และอุดมการณ์ของคนส่วนใหญ่ในประเทศ
ทั้งนี้ โปรดอย่าลืมว่า ยังมีอีก 6 เสียงเงียบ ที่พร้อมจะสนับสนุนหรือคัดค้านการดำเนินงานทางการเมืองในจังหวะก้าวต่อไปของรัฐบาลหน้าที่จะมาจากการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ คงต้องวิเคราะห์เจตนารมณ์ของผู้ที่งดออกเสียงทั้ง 6 เสียงนี้อย่างพินิจพิเคราะห์ ซึ่งจะมีความยากลำบากมากกว่าการวิเคราะห์เจตนารมณ์ของผู้ที่ไม่เห็นชอบ 4 เสียง แต่ต้องถือว่าเป็นพลังเงียบที่เป็นตัวแปรในการกำหนดหนทางแพ้ชนะในสนามเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างมีนัยสำคัญ... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์)
หากคิดแบบชาวบ้านที่เคยติดตามคำพิพากษาคดียุบพรรคการเมือง ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ สมมติว่าประชามตินี้กระทำผ่านคณะกรรมการที่เป็นเสมือนตัวแทนของปวงชนทั้งสิ้น 15 คน ปรากฏว่า มีผู้งดออกเสียง 6 คน และในบรรดาคณะกรรมการที่เหลือ 9 คน มีผู้ลงมติเห็นชอบ 5 คน และไม่เห็นชอบ 4 คน ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นมติที่ไม่เป็นเอกฉันท์
ทั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาล และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ คงต้องพิจารณาร่วมกันแล้วว่า 4 เสียงที่ไม่เห็นชอบนั้น ประกอบด้วย คำวินิจฉัยในการตัดสินออกเสียงประชามติอย่างไร เพื่อที่จะได้เป็นบทเรียนสำหรับการกำหนดทิศทาง และจังหวะก้าวต่อไปในการวางรากฐานการเมืองการปกครองประเทศ ให้มีความมั่นคงเข้มแข็งและความปรองดองของคนในชาติ
ในจำนวนผู้ที่ไม่เห็นชอบ 4 คน ผู้ที่ไม่เห็นชอบคนแรก ถ้าดูตามคะแนนเสียงประชามติ เป็นคนอีสาน ที่ต้องการเห็นประเทศมีเศรษฐกิจที่พัฒนาและเจริญเติบโตก้าวหน้า ประชาชนจะได้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสวัสดิการของรัฐที่กระจายไปสู่ชุมชนอย่างทั่วถึง การเมืองจะต้องตอบสนองความอยู่ดีมีสุขของคนในสังคม คำนึงถึงความผูกพันฉันญาติมิตรมากกว่าความสัมพันธ์ทางโครงสร้าง แม้จะเป็นหนึ่งในเสียงที่ไม่เห็นชอบการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ก็มิได้คัดค้านในส่วนเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม
ผู้ที่ไม่เห็นชอบคนที่สอง เป็นนักวิชาการ ที่ไม่สนับสนุนการยึดอำนาจและการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่มาจากการยึดอำนาจ แม้ว่าเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญจะมีข้อดีและเห็นชอบในหลายประเด็น แต่ก็ถูกลบล้างด้วยประเด็นที่มาของรัฐธรรมนูญและการลิดรอนสิทธิ์ในการตรวจสอบคณะปฏิรูปการปกครองที่เป็นผู้ฉีกรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ทิ้ง อย่างไรก็ดี ผู้ที่ไม่เห็นชอบคนดังกล่าวนี้ ก็เคยตำหนิการบริหารบ้านเมืองในยุคของรัฐบาลทักษิณ ที่เข้าไปก้าวก่ายและแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจตุลาการ และองค์กรอิสระ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมมาแล้ว
ผู้ที่ไม่เห็นชอบคนที่สาม เป็นนักกฎหมาย ที่เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 โดยรวมมีข้อด้อยมากกว่าข้อดี และมิได้สร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบการเมืองในวันข้างหน้า จนอาจต้องมีการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่อยู่ดี ผู้ที่ไม่เห็นชอบคนดังกล่าวนี้ เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีความพยายามที่จะใช้กลไกและระบบการตรวจสอบมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวบุคคลผู้ใช้อำนาจรัฐ ซึ่งแม้จะก่อให้เกิดผลตามความมุ่งหมายจริง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ก่อให้เกิดผลอื่นติดตามมา (Consequence) ซึ่งเป็นการเปิดช่องทางให้เกิดการบิดเบือนการใช้อำนาจรัฐในรูปแบบอื่นๆ ด้วย กระทั่งส่งผลมาถึงความเข้มแข็งของระบบการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผู้ที่ไม่เห็นชอบคนที่สี่ เป็นบุคคลธรรมดา ที่ต้องการเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้า แต่ไม่ต้องการให้ทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง แม้จะเห็นด้วยกับการปฏิรูปการปกครอง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ในการเข้ามาแก้ไขวิกฤติของบ้านเมือง แต่ก็ไม่สนับสนุนให้มีการสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามตินี้
กล่าวได้ว่า การออกเสียงประชามติในครั้งนี้ เพียงพอที่จะชี้ให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ต้องการเห็นประเทศก้าวไปข้างหน้าด้วยรัฐธรรมนูญ ปี 2550 แต่ไม่เพียงพอที่จะสรุปว่า คนส่วนใหญ่ต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้าด้วยวิธีการใดหรือมีรูปแบบใดอย่างชัดเจน
ฉะนั้น ผู้ที่จะลงสนามการเมืองในเวทีเลือกตั้งครั้งหน้า จะต้องทำการวิจัยและประมวลผลการออกเสียงประชามติครั้งนี้ โดยเฉพาะในฝั่งของผู้ที่ไม่เห็นชอบอย่างรอบคอบระมัดระวัง เพื่อการกำหนดยุทธศาสตร์ (Strategies) การรณรงค์ทางการเมืองให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย การค้นหาตัวเชื่อม (Connections) ที่เป็นพันธมิตรตามภูมิสังคม และกลวิธี (Tactics) ในการช่วงชิงคะแนนเสียง อย่างน้อยที่สุด ผลการออกเสียงประชามติครั้งนี้ ก็ชี้ให้เห็นว่า เงินมิใช่ปัจจัยสำคัญที่สุด หรือเป็นไปได้ว่า เงินไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่หรือแสดงบทบาทเหนือเจตนารมณ์และอุดมการณ์ของคนส่วนใหญ่ในประเทศ
ทั้งนี้ โปรดอย่าลืมว่า ยังมีอีก 6 เสียงเงียบ ที่พร้อมจะสนับสนุนหรือคัดค้านการดำเนินงานทางการเมืองในจังหวะก้าวต่อไปของรัฐบาลหน้าที่จะมาจากการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ คงต้องวิเคราะห์เจตนารมณ์ของผู้ที่งดออกเสียงทั้ง 6 เสียงนี้อย่างพินิจพิเคราะห์ ซึ่งจะมีความยากลำบากมากกว่าการวิเคราะห์เจตนารมณ์ของผู้ที่ไม่เห็นชอบ 4 เสียง แต่ต้องถือว่าเป็นพลังเงียบที่เป็นตัวแปรในการกำหนดหนทางแพ้ชนะในสนามเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างมีนัยสำคัญ... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์)
Wednesday, August 08, 2007
การกระจาย ผลผลิต-รายได้-ความสุข
การกระจายผลผลิต ถือว่าเป็นเป้าหมายขั้นกลางของวิชาเศรษฐศาสตร์ เพราะจุดมุ่งหมายของการผลิตก็เพื่อการบริโภค การกระจายผลผลิตเพื่อการบริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญ ปริมาณผลผลิตที่แต่ละบุคคลได้รับถือว่าเป็นสวัสดิการของแต่ละบุคคล และหากพิจารณาจากสวัสดิการของทุกๆ คนรวมกัน อาจเรียกว่าเป็นสวัสดิการสังคม
ในมุมมองของเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไป สังคมอยู่ดีมีสุข เป็นผลมาจากการที่สังคมมีการผลิตที่ให้ผลผลิตรวมเพียงพอสำหรับทุกคน โดยยึดหลักว่าแต่ละคนไม่ควรที่จะได้รับผลผลิตน้อยลงกว่าเดิม
แต่ในมุมมองของเศรษฐกิจพอเพียง การพิจารณาว่าสังคมจะอยู่ดีมีสุขหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับกระบวนการกระจายผลผลิตในสังคม นอกเหนือจากการให้ความสำคัญที่ปริมาณผลผลิต โดยยึดหลักว่าผู้ที่ยังมีความทุกข์จากการขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิต ควรต้องได้รับสิ่งเหล่านั้นโดยถ้วนหน้า
ในประเด็นของการกระจายรายได้ จะเกี่ยวข้องกับการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ การพัฒนาทักษะและขีดความสามารถที่จำเป็นต่อการประกอบการ โดยรายได้ที่เกิดขึ้นเป็นได้ทั้งรายได้จากการเป็นแรงงานในกระบวนการผลิตหรือลูกจ้าง และรายได้จากการเป็นเจ้าของกระบวนการผลิตหรือนายจ้าง โดยรัฐสามารถกำหนดนโยบายการลงทุนในโครงการต่างๆ ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ และให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงเป็นธรรม มิให้เกิดการกระจุกตัวของรายได้อยู่กับคนเพียงไม่กี่กลุ่ม
ในมุมมองของการประกอบการโดยทั่วไป มักจะมุ่งส่งเสริมที่การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) เพื่อให้กิจการสามารถพัฒนาจากการอยู่รอดสู่การเจริญเติบโต สามารถแข่งขันกับผู้อื่นได้
แต่ในมุมมองของเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากการพัฒนาตนเองเพื่อให้ยืนอยู่บนขาของตัวเองได้แล้ว ยังให้ความสำคัญกับการสร้างขีดความสามารถในการร่วมมือกัน (Collaborativeness) มีการแบ่งปัน ประสานงาน และประสานประโยชน์กัน เพื่อให้กิจการมี "ภูมิคุ้มกันที่ดี" และมีสภาพพร้อมรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ จากพันธมิตรรอบด้านที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) [Archived]
ในมุมมองของเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไป สังคมอยู่ดีมีสุข เป็นผลมาจากการที่สังคมมีการผลิตที่ให้ผลผลิตรวมเพียงพอสำหรับทุกคน โดยยึดหลักว่าแต่ละคนไม่ควรที่จะได้รับผลผลิตน้อยลงกว่าเดิม
แต่ในมุมมองของเศรษฐกิจพอเพียง การพิจารณาว่าสังคมจะอยู่ดีมีสุขหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับกระบวนการกระจายผลผลิตในสังคม นอกเหนือจากการให้ความสำคัญที่ปริมาณผลผลิต โดยยึดหลักว่าผู้ที่ยังมีความทุกข์จากการขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิต ควรต้องได้รับสิ่งเหล่านั้นโดยถ้วนหน้า
ในประเด็นของการกระจายรายได้ จะเกี่ยวข้องกับการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ การพัฒนาทักษะและขีดความสามารถที่จำเป็นต่อการประกอบการ โดยรายได้ที่เกิดขึ้นเป็นได้ทั้งรายได้จากการเป็นแรงงานในกระบวนการผลิตหรือลูกจ้าง และรายได้จากการเป็นเจ้าของกระบวนการผลิตหรือนายจ้าง โดยรัฐสามารถกำหนดนโยบายการลงทุนในโครงการต่างๆ ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ และให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงเป็นธรรม มิให้เกิดการกระจุกตัวของรายได้อยู่กับคนเพียงไม่กี่กลุ่ม
ในมุมมองของการประกอบการโดยทั่วไป มักจะมุ่งส่งเสริมที่การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) เพื่อให้กิจการสามารถพัฒนาจากการอยู่รอดสู่การเจริญเติบโต สามารถแข่งขันกับผู้อื่นได้
แต่ในมุมมองของเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากการพัฒนาตนเองเพื่อให้ยืนอยู่บนขาของตัวเองได้แล้ว ยังให้ความสำคัญกับการสร้างขีดความสามารถในการร่วมมือกัน (Collaborativeness) มีการแบ่งปัน ประสานงาน และประสานประโยชน์กัน เพื่อให้กิจการมี "ภูมิคุ้มกันที่ดี" และมีสภาพพร้อมรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ จากพันธมิตรรอบด้านที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) [Archived]
Subscribe to:
Posts (Atom)