Sunday, July 22, 2018

คุยอะไรกันในฟอรั่ม SDG ที่นิวยอร์ก

เมื่อวันอังคาร (17 ก.ค.) ที่ผ่านมา สภาหอการค้านานาชาติ (ICC) สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่ง สหประชาชาติ (UN DESA) และ องค์การว่าด้วยข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) ได้ร่วมกันจัดงาน SDG Business Forum ประจำปี ค.ศ.2018 ขึ้น ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา


การประชุมนี้ ถูกจัดขึ้นเป็นปีที่สาม นับจากที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้ประกาศใช้เมื่อปี ค.ศ. 2015 โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (HLPF) และมีกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่ายจากหลายภาคส่วน เข้าร่วมเกือบ 600 คน

สามปีหลังจาก SDGs พบว่า ภาคธุรกิจกว่าร้อยละ 60 ทั่วโลก ยังมิได้เข้าร่วมขบวนของการขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ เราจะไม่สามารถบรรลุ SDGs ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้

ในที่ประชุม ได้มีการหารือถึงหนทางที่เน้นการลงมือปฏิบัติ (Action-oriented) ในระดับท้องถิ่น ที่ไม่จำกัดเฉพาะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ต้องสานความร่วมมือให้ถึงระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และมีการเน้นคุณค่าของการสร้างหุ้นส่วนดำเนินงาน เพื่อเป็นตัวเร่งความก้าวหน้าของการดำเนินงานให้ได้ตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี ค.ศ.2030

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอเครื่องมือ แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ อย่างกว้างขวาง เพื่อเป็นแนวทางให้ประชาคมธุรกิจทั่วโลก ได้นำไปปรับใช้ โดยไม่จำกัดขนาด สาขา และภูมิภาคอันเป็นถิ่นที่ตั้งของธุรกิจ

ในการประชุม HLPF สมัยนี้ มี 47 ประเทศ ที่ได้นำเสนอผลการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ในระดับชาติ โดยสมัครใจ (Voluntary National Review – VNR) เพื่อรายงานความคืบหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศตน

เกือบร้อยละ 40 ของประเทศที่นำเสนอรายงาน VNR ระบุว่า ภาคเอกชนในประเทศของตน ได้มีส่วนในการสนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศ ขณะที่เกือบทุกประเทศที่นำเสนอรายงาน ได้มีภาคเอกชนเข้าร่วมในกระบวนการทบทวนผลการดำเนินงาน และได้มีการหารือกับผู้แทนของภาคธุรกิจในการจัดเตรียมรายงานระดับชาติฉบับดังกล่าว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐบาลของประเทศที่นำเสนอรายงาน ได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม รวมถึงภาคธุรกิจ และถือเป็นเรื่องปกติสำหรับการประเมินความก้าวหน้าตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยในรายงานของประเทศเอกวาดอร์ กรีซ เลบานอน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอุรุกวัย ได้บรรจุเนื้อหาที่เป็นการดำเนินงานของภาคเอกชนไว้เป็นการเฉพาะ มีตัวอย่างของการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน และแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืน ที่มีส่วนสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ขณะที่ รายงานของบางประเทศ ได้ตระหนักถึงบทบาทของ SMEs ที่ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยราวร้อยละ 40 ของประเทศที่รายงาน ได้มีการระบุถึงมาตรการในการเพิ่มบทบาทของ SMEs ต่อการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ในรายงานของประเทศโคลอมเบีย ได้เริ่มมีการวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ ที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในผลกระทบโดยรวม และการสนับสนุนช่วยเหลือของภาคเอกชนในประเทศ ที่มีต่อการขับเคลื่อน SDGs โดยภาครัฐได้ดำรงบทบาทอำนวยการในการเก็บรวบรวมข้อมูลทางธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ SDGs เผยแพร่ตามมาตรฐานขององค์กรแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (GRI) และบรรจุไว้ในรายงานระดับชาติ

นอกจากนี้ มี 13 ประเทศที่รายงาน ได้ระบุถึงความก้าวหน้าในเป้าหมายย่อยที่ 12.6 ซึ่งเกี่ยวกับความยั่งยืนและการรายงาน ที่มีความมุ่งประสงค์ในการผลักดันให้กิจการ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับข้อปฏิบัติที่ยั่งยืนไปดำเนินการ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนเข้าไว้ในรอบการรายงานประจำปีของบริษัท

ในบทสรุปของการประชุม HLPF ได้เรียกร้องให้มีการสะท้อนถึงวิธีการในการผนวกบทบาทของธุรกิจในทุกขนาดและทุกที่ในโลก เพื่อเร่งให้เกิดการแปรเปลี่ยนไปสู่สังคมที่ยั่งยืนและพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง ตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในอีก 12 ปีข้างหน้าให้ได้ตามกำหนด


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Monday, July 16, 2018

ดัชนี SDGs ประเทศไทย ปี 2018

สัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง มูลนิธิเบอร์เทลสแมนน์ (Bertelsmann Stiftung) ร่วมกับเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network : SDSN) ได้เผยแพร่รายงานที่มีชื่อว่า SDG Index and Dashboards Report 2018 เพื่อประมวลการดำเนินงานในรอบปีของประเทศต่าง ๆ ที่มีต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 ข้อ

รายงานฉบับนี้เป็นฉบับที่ 3 นับจากรายงานฉบับแรกที่เผยแพร่ในปี ค.ศ. 2016 โดยในปีนี้ รายงานฉบับปัจจุบันได้เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงาน SDGs ที่ครอบคลุมชาติสมาชิกขององค์การสหประชาชาติทั้งหมด 193 ประเทศ เป็นครั้งแรก

ข้อค้นพบหนึ่งในรายงานชี้ให้เห็นว่า ยังไม่มีประเทศใดที่มีการดำเนินการอยู่ในสถานะที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ทั้ง 17 ข้อ โดยการขจัดความยากจนในหลายประเทศยังเผชิญกับอุปสรรคและความท้าทายหลายด้าน ขณะที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่ในอัตราที่สูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 13 ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ ข้อที่ 14 เรื่องทรัพยากรทางทะเล และข้อที่ 15 เรื่องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ จำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้สามารถบรรลุตามเป้าหมายในปี ค.ศ. 2030

รายงานฉบับที่ 3 นี้ได้มีการปรับปรุงและเพิ่มเติมจากฉบับก่อนหน้าในหลายเรื่อง อาทิ การเพิ่มข้อมูลเชิงแนวโน้ม (trend) ที่แสดงให้เห็นถึงทิศทางการดำเนินงานของแต่ละประเทศ ในแต่ละเป้าหมาย ใน 5 ระดับ ได้แก่ ระดับก้าวหน้า (⇒), ระดับพัฒนา (⇑), ระดับพอใช้ (⇗), ระดับต่ำเกณฑ์ (⇒) และระดับถดถอย (⇓)

นอกจากนี้ยังได้มีการเพิ่มตัวบ่งชี้การดำเนินงานใหม่ที่ครอบคลุมเป้าหมาย (targets) ที่เกี่ยวข้องในแต่ละเป้าประสงค์ของ SDGs ให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุที่มีการเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้ผลสำรวจการดำเนินงาน SDGs ในรอบปี 2018 ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับผลสำรวจในรอบปี 2017 ได้ การเปลี่ยนแปลงในอันดับ หรือคะแนนของแต่ละประเทศ จึงมิได้สะท้อนถึงความก้าวหน้าหรือความถดถอยของการดำเนินงานจากปีก่อนหน้า

ในรายงานฉบับปี 2018 ประเทศไทยมีการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในอันดับที่ 59 ของโลก จากการสำรวจทั้งหมด 156 ประเทศ ด้วยระดับคะแนนที่ 69.2 เมื่อเทียบกับคะแนนเฉลี่ยของภูมิภาคที่ 64.1

โดยแนวโน้มการดำเนินงาน SDGs ของประเทศไทยที่อยู่ในระดับก้าวหน้า ได้แก่ เป้าหมายที่ 1 เรื่องการขจัดความยากจน ส่วนที่อยู่ในระดับพัฒนา ได้แก่ เป้าหมายที่ 6 เรื่องน้ำและการสุขาภิบาล และเป้าหมายที่ 8 เรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน

ขณะที่การดำเนินงาน SDGs ที่อยู่ในระดับพอใช้ มีจำนวน 7 เป้าหมาย ได้แก่ เรื่องการขจัดความหิวโหย เรื่องสุขภาวะ เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เรื่องพลังงาน เรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการปรับให้เป็นอุตสาหกรรม เรื่องเมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ และเรื่องทรัพยากรทางทะเล

ส่วนการดำเนินงาน SDGs ที่อยู่ในระดับต่ำเกณฑ์ มีจำนวน 4 เป้าหมาย ได้แก่ เรื่องการศึกษา เรื่องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่องสังคมและความยุติธรรม และเรื่องหุ้นส่วนความร่วมมือและการปฏิบัติให้เกิดผล

สำหรับ SDGs ที่ประเทศไทยมีการดำเนินงานอยู่ในระดับถดถอย ได้แก่ เป้าหมายที่ 13 คือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ ที่ในรายงานใช้ตัวเลขอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงาน (ที่มาจากปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน รวมทั้งก๊าซธรรมชาติที่ถูกเผาทิ้ง) ต่อหัว หรือ Energy-related CO2 emissions per capita (tCO2/capita) เป็นตัวชี้วัดการดำเนินงาน

ผู้ที่สนใจรายงานฉบับดังกล่าวสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.sdgindex.org


จากบทความ 'CSR Talk' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

Sunday, July 08, 2018

เราจะรับมือ “อุบัติภัย” ได้อย่างไร

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีอุบัติภัยหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ ทั้งทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง เรือล่มที่ภูเก็ต ที่มีผู้เสียชีวิต และมีผู้สูญหายหลายราย รวมทั้งกรณีเครื่องบิน ทบ. ตก ที่แม่ฮ่องสอน และมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต

อุบัติภัย เป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมมิให้เกิดได้ และไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญ คือ การรับมือกับสถานการณ์ ทั้งการเผชิญเหตุ (Response) การช่วยเหลือ (Rescue) การบรรเทาทุกข์ (Relief) และการฟื้นฟู (Recovery) อย่างทันท่วงที และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

หน่วยงานที่เข้าร่วมให้ความช่วยเหลือ จำเป็นต้องวางแนวทางที่จะดำเนินการ พิจารณาถึงปัจจัยและตัวแปรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องต้องตามเหตุการณ์ รวมทั้งสามารถคาดการณ์ถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า

ในสถานการณ์หลังอุบัติภัย ไม่ว่าผู้ที่เข้าให้ความช่วยเหลือจะมีเจตนาที่ดีเพียงใดก็ตาม สภาพการณ์จะมีความซับซ้อนและทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ดีดังที่ตั้งใจ เช่น การตัดสินใจที่ต้องทำทันทีโดยขาดข้อมูลที่ครบถ้วน การได้รับข้อมูลรายงานที่ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ หรือมีสภาพความกดดันจากเหตุการณ์ที่ต้องดำเนินการอย่างปัจจุบันทันด่วน

ผู้รับผิดชอบสถานการณ์ จำต้องสำรวจและซักซ้อมกับหน่วยร่วมดำเนินงานเพื่อให้แน่ใจว่า ภาคีได้มีการตระเตรียมความพร้อมและมีความสามารถในการรับมือกับอุบัติภัยได้อย่างมีประสิทธิผล ด้วยข้อคำถามหลักๆ ดังนี้

เราได้เตรียมพร้อมหรือยัง ผู้นำและผู้ที่เกี่ยวข้องจำต้องดำเนินการคะเนถึงความต้องการและแรงกดดัน รวมทั้งการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิผลและฉับไว

เรามีข้อมูลพอที่จะรับมือหรือไม่ การตัดสินใจจำต้องอาศัยข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ทั้งจากผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่คลุกคลีอยู่ในภาคสนาม เพื่อที่จะสามารถประเมินสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉินให้มีความแม่นยำ

เราจะเข้าช่วยเหลือให้ดีที่สุดได้อย่างไร การเข้าดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถทำโดยตรงในพื้นที่หรือใช้วิธีให้การสนับสนุนช่วยเหลือในระยะไกล โดยอาจมีการผสมผสานรูปแบบการช่วยเหลือให้มีประสิทธิผลสูงสุด ระหว่างเงินช่วยเหลือ สิ่งของที่คำนวณเป็นมูลค่าเทียบเคียง โลจิสติกส์ หรือความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ

เรามีหุ้นส่วนที่มีประสิทธิผลหรือไม่ หน่วยร่วมดำเนินงาน หรือหน่วยสนับสนุน ควรมีความรู้ความจัดเจนพื้นที่และมีสมรรถภาพในการทำงานภาคสนาม สมกับเป็นหุ้นส่วนที่มีประสิทธิผลในการบรรเทาทุกข์และการฟื้นฟู

เราได้จัดลำดับความสำคัญอย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ หน่วยร่วมดำเนินงานต้องแน่ใจว่า การให้ความช่วยเหลือและสิ่งที่ดำเนินการ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อการดำเนินงานตามลำดับความสำคัญอื่นๆ และคงไว้ซึ่งความยืดหยุ่นต่อการดำเนินงานในพื้นที่ประสบเหตุ

เรามีวิธีในการจัดการให้ความช่วยเหลืออย่างไร ผู้นำสถานการณ์ จำต้องรู้จักผู้ประสานงาน ผู้เฝ้าสังเกตการณ์ ช่องทางการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร หรือหน่วยงานในพื้นที่ การดูแลความช่วยเหลือให้เป็นไปตามแผน และการคาดการณ์ล่วงหน้า หากสิ่งที่นำไปช่วยเหลือไม่สามารถนำไปใช้ได้

เรามีแนวทางในการดูแลเผยแพร่ข้อมูลที่สาธารณชนสนใจอย่างไร ผู้รับผิดชอบสถานการณ์จำต้องดำเนินการบริหารการให้ข้อมูลและการสื่อสาร รวมทั้งแง่มุมด้านสื่อตั้งแต่เริ่มต้น ตลอดจนการกำกับทิศทางของข่าวสารที่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ในห้วงเวลาซึ่งเป็นที่สนใจติดตามของสาธารณชน

เราสามารถรับประกันให้มีความพร้อมรับการตรวจสอบหรือไม่ ผู้เป็นหุ้นส่วนร่วมดำเนินงาน ควรจัดทำบัญชีและรายงานรายการให้ความช่วยเหลืออุดหนุนที่ได้รับ รวมทั้งวิธีการและงวดเวลาที่เบิกจ่าย รองรับในกรณีที่หากเกิดข้อสงสัยหรือการซักถามจากสังคม ก็สามารถพร้อมให้ตรวจสอบได้ทั้งระหว่างและหลังสถานการณ์

ทั้งนี้ สำหรับหน่วยงานที่เป็นแกนในการให้ความช่วยเหลือหลัก จำต้องพิจารณาถึงขีดความสามารถในการบริหารจัดการ ด้วยการวางกลไกและระบบรองรับให้มีประสิทธิภาพอย่างทันท่วงที มิฉะนั้นแล้ว ก็อาจก่อให้เกิดความสูญเสียที่คาดไม่ถึง หรือปัญหาในอีกมิติหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link