Thursday, November 19, 2015

UN เปิดตัว SDG ในไทย

เมื่อวันอังคาร (17 พ.ย.) ที่ผ่านมา ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศ (UNRC) และทีมสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNCT) ได้จัดงานแนะนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในประเทศไทย พร้อมกับการฉลองครบรอบ 70 ปีของสหประชาชาติ โดยมีองค์กรภาคีความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้าร่วมงาน ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ประเทศไทย ถือเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคสำหรับระบบสหประชาชาติในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วยหน่วยงานหรือโครงการและองค์การที่เกี่ยวข้องของสหประชาชาติที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 28 แห่งซึ่งล้วนมีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ

ทีมสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN Country Team - UNCT) ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานของสหประชาชาติที่ดำเนินโครงการสำคัญที่มุ่งเน้นในประเทศไทยโดยเฉพาะ มีพันธกรณีในการเสริมสร้างความร่วมมือฉันท์มิตรที่เข้มแข็งและสร้างสรรค์ระหว่างรัฐบาลไทยและผู้มีส่วนได้เสียในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยงานของ UNCT ทั้งหมด อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศ (UN Resident Coordinator - UNRC)

UNRC ได้รับการแต่งตั้ง โดยเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ มีหน้าที่รับผิดชอบเพื่อให้แน่ใจว่ามีการประสานการทำงานและความร่วมมือในระบบสหประชาชาติและผู้บริจาครายอื่น ภาคเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ในแต่ละประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้กิจกรรมของสหประชาชาติมีการผสานกันอย่างกลมกลืน และสนับสนุนวาระโลกของสหประชาชาติ

อันที่จริง ทีมสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้มีความร่วมมือกับรัฐบาลไทย ผ่านทางกรอบภาคีความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Partnership Framework - UNPAF) ที่เน้นความสำคัญใน “การเข้าร่วมเป็นภาคี” เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่ในวาระของรัฐบาลและองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีหน่วยงานต่างๆ ในองค์การสหประชาชาติให้ความช่วยเหลือ

โดยในกรอบภาคีความร่วมมือ UNPAF ฉบับปี พ.ศ. 2555-2559 ได้ให้ความสำคัญใน 6 กลุ่มงาน ประกอบด้วย (1) การคุ้มครองทางสังคม (2) สิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม (3) ข้อมูลสารสนเทศเชิงยุทธศาสตร์ (4) การเปลี่ยงแปลงสภาพภูมิอากาศ (5) ความร่วมมือระหว่างประเทศ (6) เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (ปัจจุบัน UNCT กำลังทำงานเพื่อเตรียมการจัดทำกรอบภาคีความร่วมมือ UNPAF ฉบับปี พ.ศ.2560-2564)

นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติ ยังได้มีการริเริ่มความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในประเด็นด้านอื่นๆ เช่น เอชไอวีและโรคเอดส์ การโยกย้านถื่นฐาน เพศสภาพ และการศึกษา รวมทั้งการสัมมนาความร่วมมือเพื่อการพัฒนา เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนหารือระหว่างผู้เกี่ยวข้องต่อประเด็นการพัฒนาที่สำคัญในประเทศไทยด้วย

(ในภาพจากซ้าย คุณสุกิจ อุทินทุ รองประธานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ กลุ่มบริษัทไมเนอร์ และกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน
คุณลุค สตีเว่นส์ ผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย และผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ และเลขานุการคณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน)

สำหรับงานแนะนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทยครั้งนี้ ถูกจัดขึ้นพร้อมกับงานนิทรรศการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปีของสหประชาชาติ และการรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ โดยชาติสมาชิก 193 ประเทศ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ผู้ที่สนใจงานนิทรรศการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน UNRC และ UNCT เปิดให้สาธารณชนสามารถเข้าชมฟรี ในระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2558 นี้ ที่ชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน หัวมุม ถ.พระราม 1 และ ถ.พญาไท ตรงข้ามห้างมาบุญครอง และสยามดิสคัฟเวอรี่ มีทางเดินเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า BTS สนามกีฬาแห่งชาติ...(หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, November 12, 2015

เปิดเวทีขับเคลื่อนสังคม 2020

สังคม 2020” เป็นวาระที่ถูกริเริ่มขึ้นในจังหวะเวลาที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) ซึ่งใช้อ้างอิงมาแล้ว 15 ปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 สู่การพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งนานาประเทศรวมทั้งไทยจะใช้อ้างอิงนับจากนี้ไป จวบจนปี ค.ศ.2030 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปีข้างหน้า

สังคม 2020 ถูกออกแบบให้เป็นความเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) ที่มุ่งให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในสังคมในลักษณะเครือข่าย บูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่มีความหลากหลายและแตกต่างกัน ให้สามารถเชื่อมโยงกับการตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยการขับเคลื่อนวาระสังคม 2020 มีกรอบเวลา 5 ปีในระยะแรก (สิ้นสุดปี ค.ศ.2020) และจะมีการประเมินการดำเนินงาน เพื่อพิจารณาสู่การขับเคลื่อนในกรอบเวลา 10 ปี (สิ้นสุดปี ค.ศ.2030) ในระยะต่อไป

วาระสังคม 2020 ได้ถือโอกาสนำเอาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อที่เพิ่งประกาศในปีนี้ มาใช้เป็นกรอบการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในสังคมไทย เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีเป้าหมายร่วมแห่งการพัฒนาที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ด้วยการอ้างอิงหลักการ และเป้าหมาย พร้อมตัวบ่งชี้การดำเนินงาน จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งได้รับการเห็นพ้องทั้งในระดับระหว่างองค์กรและระหว่างประเทศ จะช่วยขจัดและลดการสูญเสียเวลาและทรัพยากรที่แต่เดิม หน่วยงานที่เข้าเป็นหุ้นส่วนการดำเนินงานในภารกิจต่างๆ ร่วมกัน ต้องใช้ในการรวบรวม กลั่นกรอง และเห็นพ้องในหลักการ เป้าหมาย และตัวชี้วัดดังกล่าว ก่อนการดำเนินงาน และบ่อยครั้ง ก็ไม่สามารถได้ข้อสรุปร่วมกัน เป็นเหตุให้การดำเนินงานในลักษณะหุ้นส่วนความร่วมมือในหลายเวที ไม่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์

นอกจากนี้ ในการออกแบบการร่วมดำเนินงาน ยังได้คำนึงถึงการนำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญหลักของหน่วยงานที่เข้าเป็นหุ้นส่วนการดำเนินงานมาใช้ในการขับเคลื่อนวาระสังคม 2020 เพราะเชื่อว่า ในทุกหน่วยงานจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะตน ที่มีความโดดเด่นและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา และที่สำคัญ คือ การทำงานตามวาระสังคม 2020 จะเน้นที่การต่อยอดการทำงานของแต่ละหน่วยงาน โดยไม่เริ่มจากศูนย์ แต่ต้องเปิดกว้างและสามารถเปิดรับการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น เพื่อขยายผลการดำเนินงานของหน่วยงานในเชิงปัจเจก มาสู่ผลลัพธ์ในเชิงท้องถิ่น ภูมิภาค และโลกโดยรวม

ด้วยการวางแนวทางการขับเคลื่อนตามวิถีทางนี้ จะทำให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพ จากการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และประสิทธิผล จากการส่งมอบผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ตามความมุ่งหวังของหน่วยงานและของสังคมโดยรวม

ทั้งนี้ การร่วมขับเคลื่อนวาระสังคม 2020 สามารถดำเนินการได้ใน 2 ระดับ คือ ระดับที่เป็น “องค์กรริเริ่ม” และระดับที่เป็น “องค์กรเข้าร่วม” ดำเนินงาน

“องค์กรริเริ่ม” หมายถึง หน่วยงานที่มีความประสงค์จะเป็นผู้ริเริ่มและนำการดำเนินงานโดยองค์กรริเริ่ม ซึ่งได้มีการเสนอแผนงานหรือโครงการที่มีระยะเวลาการดำเนินงานอย่างน้อยจนถึงปี ค.ศ.2020 ในอันที่จะตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อพร้อมกัน

“องค์กรเข้าร่วม” หมายถึง หน่วยงานที่มีความประสงค์จะเป็นผู้เข้าร่วมดำเนินงานที่หน่วยงานอื่นเป็นผู้ริเริ่ม เพื่อดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่องค์กรเข้าร่วมมีความสนใจและสามารถให้การสนับสนุนทุน ทรัพยากร หรือความเชี่ยวชาญที่องค์กรมีอยู่

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนวาระสังคม 2020 จะมีการจัดกลุ่มการพัฒนาในแต่ละด้าน ในรูปของคณะกรรมการหรือคณะทำงานผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย เพื่อดำเนินเงินตามแผนงานหรือความริเริ่มที่องค์กรริเริ่มเป็นผู้เสนอ

หน่วยงานที่สนใจ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่มีความประสงค์จะทำงานเชื่อมโยงกับวาระสังคม 2020 เข้าร่วมดำเนินงานในรูปแบบของหุ้นส่วนความร่วมมือ สามารถดาวน์โหลดเอกสาร Society 2020 Partnership Submission Form เพื่อให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลหน่วยงาน ประเด็นที่องค์กรสนใจ เป้าหมายที่ต้องการผลักดัน รูปแบบความร่วมมือ ทุน/ปัจจัยที่ให้การสนับสนุน และโครงการ/ความริเริ่มที่ต้องการขับเคลื่อน ฯลฯ ได้ที่ sdnb.org ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป...(หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, November 05, 2015

ย้อนรอยการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในปีนี้ สหประชาชาติ ได้ประกาศใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ซึ่งจะเป็นข้อผูกพันสำหรับชาติสมาชิกที่ได้ให้การรับรอง รวมทั้งประเทศไทย ในการนำไปใช้ บทความนี้ จะพาท่านย้อนรอยดูที่มาและความเคลื่อนไหวแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งสำคัญๆ ของโลก

เส้นทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน ในเวทีนานาชาติ มีจุดเริ่มต้นที่การก่อตั้งคณะกรรมาธิการบรันท์แลนด์ หรือคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ในปี ค.ศ.1984 จากข้อมติของสมัชชาสหประชาชาติที่มีต่อกระบวนการเตรียมตัวด้านสภาวะแวดล้อม นับจากปี ค.ศ.2000 เป็นต้นไป อันเป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ (UNCHE) ที่จัดขึ้น ณ กรุงสตอกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน เมื่อปี ค.ศ.1972 ซึ่ง 113 ประเทศที่เข้าร่วม ได้ให้ความตระหนักถึงวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยและเกินขีดจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติโดยมนุษย์

คณะกรรมาธิการบรันท์แลนด์ จึงได้จัดทำข้อเสนอแนะการพัฒนารูปแบบใหม่ที่มุ่งลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้ในเอกสารรายงานชื่อว่า อนาคตของเรา (Our Common Future) ซึ่งเสนอต่อสหประชาชาติในปี ค.ศ.1987 อันเป็นที่มาของแนวคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)” โดยได้ให้นิยามไว้ในรายงานฉบับดังกล่าวว่า “เป็นการพัฒนาที่สามารถสนองความต้องการที่จำเป็นของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการสนองความต้องการที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไป

ถัดจากนั้น ได้มีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Earth Summit) หรือที่เรียกว่า การประชุม Rio เกิดขึ้นที่ กรุงรีโอเดจาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ในปี ค.ศ.1992 โดยได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา สำหรับใช้เป็นแนวทางปฏิบัติของประชาคมโลก ที่เรียกว่า ปฏิญญารีโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา และแผนปฏิบัติการ 21 ซึ่งถือเป็นแผนแม่บทสำหรับการดำเนินงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก

ต่อมาได้มีการประชุมสุดยอดแห่งสหัสวรรษ (Millennium Summit) ในปี ค.ศ.2000 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้มีการรับรองและยืนยันถึงพันธกรณีร่วมกันที่จะดำเนินการเรื่องสำคัญของมนุษยชาติ ตามปฏิญญาแห่งสหัสวรรษ และกำหนดให้มีเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals - MDGs) เป็นวาระการพัฒนาของโลกในกรอบระยะเวลา 15 ปี อันประกอบด้วย เป้าหมายหลัก 8 ข้อ ได้แก่ (1) ขจัดความยากจนและความหิวโหย (2) ให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษา (3) ส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศและบทบาทสตรี (4) ลดอัตราการตายของเด็ก (5) พัฒนาสุขภาพของสตรีมีครรภ์ (6) ต่อสู้กับโรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคสำคัญอื่น ๆ (7) รักษาและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (8) ส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในประชาคมโลก

และในปี ค.ศ.2002 การประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (Earth Summit) หรือที่เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า การประชุม Rio+10 ได้ถูกจัดขึ้นที่ นครโจฮันเนสเบอร์ก สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ โดยได้มีการรับรองเอกสารพันธกรณี 2 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาโจฮันเนสเบอร์กว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน และแผนการดำเนินงานโจฮันเนสเบอร์ก ซึ่งกำหนดมาตรการในการช่วยเร่งรัดการอนุวัตตามแผนปฏิบัติการ 21 รวมถึงพันธกรณีของข้อตกลงและอนุสัญญาต่างๆ ที่เป็นผลจากการประชุม Earth Summit ในปี ค.ศ.1992

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (Earth Summit) หรือที่เรียกว่า การประชุม Rio+20 ได้เวียนมาจัดขึ้นที่ กรุงรีโอเดจาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล อีกครั้งหนึ่ง ในปี ค.ศ.2012 โดยได้มีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ที่มีชื่อว่า อนาคตที่เราต้องการ (The Future We Want) ซึ่งนับเป็นจุดตั้งต้นของกระบวนการหารือเพื่อกำหนดวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 และการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เพื่อใช้แทน MDGs ซึ่งสิ้นสุดลงในปี ค.ศ.2015

และในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ชาติสมาชิก 193 ประเทศ ได้ใช้เวทีการประชุมสุดยอดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Summit) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา รับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 (The 2030 Agenda for Sustainable Development) ซึ่งรวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs จำนวน 17 ข้อ

SDGs 17 ข้อ ประกอบด้วย (1) ความยากจน (2) ความหิวโหย (3) สุขภาวะ (4) การศึกษา (5) ความเท่าเทียมทางเพศ (6) น้ำและการสุขาภิบาล (7) พลังงาน (8) เศรษฐกิจและการจ้างงาน (9) โครงสร้างพื้นฐานและการปรับให้เป็นอุตสาหกรรม (10) ความเหลื่อมล้ำ (11) เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ (12) แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (13) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (14) ทรัพยากรทางทะเล (15) ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ (16) สังคมและความยุติธรรม (17) หุ้นส่วนความร่วมมือและการปฏิบัติให้เกิดผล

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าว จะถูกใช้เป็นเครื่องกำหนดทิศทางการพัฒนาทั้งของไทยและของโลกนับจากนี้ จวบจนปี ค.ศ.2030 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี...(หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]