Sunday, November 24, 2019

ธรรมาภิบาลในทศวรรษ 2020

เรื่องธรรมาภิบาลในประเทศไทย ได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นวาระสำคัญระดับชาติ ในสมัยที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ที่ธุรกิจขนาดใหญ่และสถาบันการเงินกู้เงินระยะสั้นดอกเบี้ยถูกจากต่างประเทศ มาแสวงหาผลตอบแทน เก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ และปั่นราคาอสังหาริมทรัพย์เกิดเป็นฟองสบู่ จนกระทั่งถูกต่างชาติโจมตีค่าเงิน เพื่อหวังทำกำไร จากความจำเป็นในการลอยตัวค่าเงินบาท

จากปัจจัยในเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ความไม่โปร่งใสในการบันทึกบัญชีและการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ที่เป็นประเด็นของการขาดการกำกับดูแลกิจการที่ดีในยุคฟองสบู่แตก ในปี 2545 รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นปีแห่งการเริ่มต้นรณรงค์การกำกับดูแลกิจการที่ดี ทำให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีการตื่นตัวในการพัฒนาและปรับปรุงการบริหารจัดการ ให้สอดคล้องตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ หรือ National CG Committee ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน


ในห้วงเวลา 17 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของไทย ปรับตัวพัฒนาดีขึ้นมาเป็นลำดับ มีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ หรือคณะกรรมการธรรมาภิบาลขึ้นในหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชน มีการกำหนดนโยบายกำกับดูแลกิจการที่ดีขององค์กร มีประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณสำหรับบุคลากรในทุกระดับ

ในประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้รณรงค์และส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนตระหนักถึงความสำคัญ และประโยชน์ของการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยเสนอหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี จำนวน 15 ข้อ ในปี 2545 ให้แก่บริษัทจดทะเบียน เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในขั้นเริ่มแรก

ในปี 2549 ได้ปรับปรุงหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน โดยแบ่งออกเป็น 5 หมวด ได้แก่ 1) สิทธิของผู้ถือหุ้น 2) การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน 3) บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย 4) การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส และ 5) ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ โดยเทียบเคียงกับหลักการกำกับดูแลกิจการของ OECD และข้อเสนอแนะของธนาคารโลก

ต่อมาในปี 2555 ได้ปรับปรุงหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน โดยเป็นการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของแนวปฏิบัติที่ดีของทั้ง 5 หมวด ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ ASEAN CG Scorecard ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้วัดระดับการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียน

และในปี 2560 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี สำหรับบริษัทจดทะเบียน (CG Code) ฉบับใหม่ โดยมีการปรับปรุงและเพิ่มเติมประเด็น เพื่อให้ครอบคลุมถึงแนวคิดและปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป

แม้การดำเนินการที่ผ่านมาของไทยจะประสบความสำเร็จด้วยดี แต่การพัฒนา CG ต่อไป มีความท้าทาย คือ ปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมของโลก ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรม ระบบทุนนิยม และการขยายตัวของภาคธุรกิจ จึงทำให้องค์กรต่าง ๆ ทั้งในระดับสากล ในประเทศ และผู้ลงทุนต่างๆ ได้เรียกร้องให้กิจการมีความรับผิดชอบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการมี CG ที่ดี

การกำกับดูแลกิจการที่ดี จำเป็นต้องบูรณาการประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไปอยู่ในกระบวนการทางธุรกิจ ตั้งแต่การกำหนดทิศทาง กลยุทธ์ กระบวนการดำเนินงาน การติดตามและการรายงาน เพื่อให้คณะกรรมการสามารถใช้เป็นกรอบในการกำกับดูแล ให้กิจการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเป็นไปเพื่อการสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน

สถานการณ์ด้านธรรมาภิบาลในทศวรรษหน้า จึงไม่อาจจำกัดอยู่เพียงการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ Governance (ตัว “G”) ในมิติที่เพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของกิจการฝ่ายเดียวอีกต่อไป แต่ยังต้องครอบคลุมไปถึงธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อม หรือ Environment (ตัว “E”) อาทิ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดปริมาณขยะพลาสติกที่ก่อให้เกิดผลกระทบสะสมต่อระบบนิเวศ และครอบคลุมไปถึงธรรมาภิบาลด้านสังคม หรือ Social (ตัว “S”) อาทิ นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ความหลากหลายในมิติหญิงชาย การไม่เลือกปฏิบัติ

ทำให้บทบาทของการกำกับดูแลกิจการในทศวรรษ 2020 ที่จะมาถึง ต้องขยายกรอบการทำงานจากคำว่า “CG” มาสู่คำว่า “ESG” ที่ครอบคลุมทั้งประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ Environmental, Social and Governance อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, November 10, 2019

Big (Sustainability) Data

เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี หนึ่งในกิจกรรมที่องค์กร โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ ทำในช่วงเวลานี้ คือ การประมวลการดำเนินการด้านความยั่งยืน เพื่อจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) เผยแพร่ให้กับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

ฉะนั้น ใครที่จะติดต่อกับฝ่ายความยั่งยืนขององค์กรในช่วงนี้ โปรดทำใจล่วงหน้า เพราะท่านอาจจะได้รับข้อความว่า ไม่สามารถติดต่อได้ในขณะนี้ หรือโปรดฝากข้อความไว้ แล้วจะติดต่อกลับหลังปีใหม่ (ฮา)

เพื่อช่วยให้องค์กรผู้รายงานมีวัตถุดิบในแง่สถานการณ์และแนวโน้มของการรายงาน และเพื่อช่วยให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพรวมของเนื้อหาที่ท่านจะได้รับในฐานะของผู้มีส่วนได้เสีย ผมได้ไปรวบรวมข้อมูลและสถิติของการรายงานที่เผยแพร่โดยองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล หรือ Global Reporting Initiative (GRI) ผู้ที่กำหนดมาตรฐานการรายงานแห่งความยั่งยืนที่ได้รับการอ้างอิงมากที่สุดในโลก โดยสามในสี่ของกิจการที่มีรายได้สูงสุดของโลก 250 แห่ง มีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ใช้ GRI Standards เป็นมาตรฐานอ้างอิง

จากตัวเลขในฐานข้อมูล GRI Sustainability Disclosure Database (SDD) ซึ่งเป็นแหล่งรวมข้อมูลรายงานแห่งความยั่งยืนของกิจการทั่วโลก มีองค์กรที่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนจำนวน 14,264 แห่ง ผ่านรายงานรวมทั้งสิ้น 57,079 ฉบับ ในจำนวนนี้ เป็นรายงานที่จัดทำตามแนวทาง GRI จำนวน 33,857 ฉบับ หรือคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 60 ของรายงานทั้งหมด

ข้อมูลความยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยมากสุด สามอันดับแรก จากรายงานที่จัดทำตามแนวทาง GRI ได้แก่ การสร้างและการกระจายมูลค่าเศรษฐกิจทางตรง (82%) การสื่อสารและฝึกอบรมเกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านทุจริต (58%) และการรายงานกรณีทุจริตและการดำเนินการ (49%)

ข้อมูลความยั่งยืนในด้านสังคมที่มีการเปิดเผยมากสุด สามอันดับแรก จากรายงานที่จัดทำตามแนวทาง GRI ได้แก่ อัตราการเข้าออกพนักงานและการพนักงานเข้าใหม่ (72.38%) จำนวนชั่วโมงเฉลี่ยของการฝึกอบรมต่อพนักงานต่อปี (69.96%) ความหลากหลายในคณะกรรมการกำกับดูแลและในหมู่พนักงาน (64.23%)

ข้อมูลความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมที่มีการเปิดเผยมากสุด สามอันดับแรก จากรายงานที่จัดทำตามแนวทาง GRI ได้แก่ ปริมาณการใช้พลังงานในองค์กร (78.1%) ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (70.9% ทางตรง และ 67.3% ทางอ้อม) และของเสียจำแนกตามประเภทและวิธีการกำจัดทิ้ง (64.3%)

การเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนตามแนวทาง GRI นับเป็นฐานรากสำคัญของการขับเคลื่อน เนื่องจากเจตนารมณ์ของ GRI ต่อการกำหนดมาตรฐานการรายงานแห่งความยั่งยืน ก็เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนากระบวนการรายงานขึ้นในองค์กร โดยยึดหลักการ 4 ประการ ได้แก่ บริบทความยั่งยืน ความครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสีย สารัตถภาพ และความครบถ้วนสมบูรณ์ สำหรับใช้ในการระบุประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ ประเด็นที่มีสาระสำคัญต่อการดำเนินการและขอบเขตในการดำเนินการ รวมทั้งแนวการบริหารจัดการกับประเด็นที่นำมาดำเนินการ ตลอดจนคุณภาพของข้อสนเทศที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง


พูดอย่างง่าย ก็คือ GRI ต้องการมุ่งเน้นให้กิจการสามารถพัฒนากระบวนการรายงานขึ้นในองค์กร มิใช่การจัดทำเนื้อหารายงานเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งเล่มรายงาน เพราะหลักการสำคัญของ GRI คือ การบูรณาการความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์องค์กร เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการจากกระบวนการรายงานอย่างแท้จริง

นั่นหมายความว่า กิจการที่ต้องการระบุประเด็นความยั่งยืนที่เป็นสาระสำคัญ (Material Topics) เพื่อยกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กร สามารถใช้ข้อแนะนำในมาตรฐาน GRI ในการพัฒนาองค์กรเพื่อตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียด้วยสี่หลักการข้างต้น

และหากการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนซึ่งจำแนกตามมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของภาคเอกชนในประเทศไทยมีความหลากหลายและมากเพียงพอที่เรียกว่าเป็น ข้อมูล(ความยั่งยืน)ขนาดใหญ่ หรือ Big (Sustainability) Data จะทำให้เราสามารถวิเคราะห์และจัดกลุ่มกิจการ ที่นำไปสู่การวางทิศทางและนโยบายการส่งเสริมและการพัฒนาสังคมโดยภาคเอกชนได้อย่างมีประสิทธิผล เชื่อมโยงความเชี่ยวชาญและทรัพยากรที่แต่ละองค์กรมีอยู่ และตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาหรือเข้าร่วมแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ในอนาคต สังคมจะชูป้าย (Label) ว่าองค์กรของท่าน เป็นองค์กรที่มีขีดความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือเป็นองค์กรที่ตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก มิติหญิงชาย หรือผู้สูงอายุ ฯลฯ ก็ขึ้นอยู่กับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน และข้อมูลความยั่งยืนที่องค์กรของท่านเปิดเผยนั่นเอง


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]