Thursday, May 28, 2015

จับตาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

สัปดาห์ที่แล้ว (พุธ 20 พ.ค. 2558) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP), องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD), องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (GRI) และ สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอสแคป (EBAC) ได้ร่วมกันจัดงาน Regional Conference on Aligning Corporate Sustainability with Sustainable Development Goals ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ โดยมุ่งเป้าผู้เข้าร่วมประชุมไปที่ภาคเอกชน เพื่อรวบรวมสถานภาพการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สำหรับเป็นข้อมูลนำเข้าสู่การประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล

สืบเนื่องจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Rio+20 ณ เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี พ.ศ.2555 ที่ชาติสมาชิก 193 ประเทศ ได้ให้ความเห็นชอบในเอกสารผลลัพธ์การประชุม ที่มีชื่อว่า “The Future We Want” และการเปลี่ยนผ่านเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) ซึ่งสิ้นสุดลงในปีนี้ ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งจะเริ่มต้นใช้ในปีนี้จวบจนปี พ.ศ.2573 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี โดยระบุให้เป็นวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 (Post-2015 Development Agenda)

สาระของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เสนอโดยคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Open Working Group on SDGs) โดยประเทศไทยได้อยู่ในคณะทำงานด้วย ประกอบด้วยเป้าประสงค์ (Goal) จำนวน 17 ข้อ และเป้าหมาย (Target) จำนวน 169 ข้อ ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การรับรองในการประชุมสุดยอดสหประชาชาติ ระหว่างวันที่ 25-27 กันยายน ปีนี้

กองกิจการเพื่อการพัฒนา กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดทำประเด็นที่ไทยควรให้ความสำคัญต่อวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 ใน 4 ประเด็นไว้ ดังนี้

1) Ensuring sustainability วิกฤตเศรษฐกิจทำให้ประชาชนที่พ้นจากสภาวะยากจนแล้วต้องกลับไปเผชิญสถานะเดิม เนื่องจากไม่มีงานทำ ดังนั้น การเจริญเติบโตที่ยั่งยืน ผ่านการสร้างงาน โดยเฉพาะการสร้างงานที่มีคุณค่าจึงมีความสำคัญ รวมถึงการส่งเสริมการศึกษาที่เน้นคุณภาพ และตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน

ความยั่งยืนในเชิงสิ่งแวดล้อม โดยหัวใจหลักคือการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่จะต้องคำนึงถึงทรัพยากรที่จะเหลือไปถึงคนรุ่นหลัง นอกจากนั้น ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ความมั่นคงทางด้านน้ำ อาหาร และพลังงาน

2) Building resilience เป้าหมายด้านสุขภาพ เป็น MDGs ที่ยังคงไม่บรรลุและสำคัญต่อศักยภาพของมนุษย์ในการตอบสนองต่อสิ่งท้าท้ายใหม่ ๆ ดังนั้น ในวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 ควรมีประเด็นเรื่อง Universal Health Coverage ที่ไทยมีบทบาทนำและสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีต่อประเทศอื่น

ประเด็นด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงและบรรเทาภัยจากเหตุภัยพิบัติ เนื่องจากได้เกิดขึ้นถี่และรุนแรงขึ้น ทำให้การบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องชะงักหรือถดถอยลง ทั้งนี้ ไทยสามารถก้าวผ่านวิกฤตมหาอุทกภัยและสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารจัดการน้ำกับประเทศต่างๆ

3) Reducing inequality and promoting human rights การเข้าถึงคนจากทุกภาคส่วนในสังคมสำคัญต่อนโยบายที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง ดังนั้น ควรให้ความสำคัญกับการลดความไม่เท่าเทียมกัน ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

รัฐจะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่ vulnerable groups โดยเฉพาะเด็ก สตรี ผู้พิการ และผู้สูงอายุ ซึ่งยังคงถูกละเลยอยู่มากและเพื่อบรรลุการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนและลดความไม่เสมอภาค

4) Means of implementation การเสริมสร้างหลักธรรมาภิบาล (good governance) และหลักนิติธรรม (rule of law) เป็นวิธีการนำไปสู่การพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน นอกจากนี้ จะไม่สามารถบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนได้หากประเทศไม่มีความสงบสุขและสันติภาพ

การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศโดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้ง ภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ

ภาคเอกชนไทย ควรติดตามผลการประชุมและบทสรุปของวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดทำกรอบการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในอีก 4 เดือนข้างหน้านี้ครับ!...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, May 14, 2015

เลียบเลาะเวที Shared Value Summit

สัปดาห์นี้ (12-13 พ.ค.) ผมเดินทางมาร่วมงานประชุมสุดยอด “Shared Value Leadership Summit 2015” ร่วมกับคณะคนไทยอีก 3 ท่าน ประกอบด้วยคุณเชาวภาค ศรีเกษม Chief Marketing Officer บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) คุณสุธิชา เจริญงาม รองผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ และคุณปาจารีย์ คุณชัยมัง หุ้นส่วน บริษัท เอ็กซ์เพิร์ท แอสเปค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ณ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้ธีม “Business as its best” กับผู้ร่วมประชุมกว่า 350 คน จากทั่วโลก


งานประชุม Shared Value Leadership Summit ครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 5 นับจากครั้งแรกที่มีขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2011 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่บทความ “Creating Shared Value” ของ ศ.ไมเคิล อี พอร์เตอร์ และมาร์ค เครเมอร์ ได้ตีพิมพ์ในนิตยสาร ฮาร์วาร์ด บิสิเนส รีวิว เช่นกัน

ไฮไลต์ของงานประชุมปีนี้ อยู่ที่ Keynote Address ของพอร์เตอร์ ในหัวเรื่อง “Shared Value as Core Corporate Strategy” ที่ได้ตอกย้ำความเป็น “กลยุทธ์” ระดับองค์กรของคุณค่าร่วม

พอร์เตอร์ ชี้ให้เห็นว่าการสร้างคุณค่าร่วมมิได้ใช้เพียงเพื่อให้การดำเนินงานขององค์กรดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ แต่เป็นการตราคุณค่าทางกลยุทธ์ เช่นเดียวกับที่การสร้างคุณค่าร่วมมิได้ใช้เพียงเพื่อให้องค์กรอยู่เหนือคู่แข่งขัน แต่เป็นการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งขัน

สารที่พอร์เตอร์ต้องการสื่อกับผู้เข้าร่วมประชุมปีนี้ เน้นว่า การสร้างคุณค่าร่วมเป็นกลยุทธ์ที่ไม่สามารถพัฒนาขึ้นจากการลอกแบบ Best Practices ให้ทัดเทียมหรือดีกว่าที่องค์กรอื่นมีอยู่ได้

สำหรับท่านผู้อ่านที่ยังไม่คุ้นกับการสร้างคุณค่าร่วม หรือ CSV ตามที่พอร์เตอร์ และเครเมอร์ นิยามขึ้น ขอขยายความให้เห็นภาพว่า ลักษณะของ CSV มิใช่การแบ่งปันหรือส่งมอบคุณค่าที่ได้เกิดขึ้นแล้วในรูปของการบริจาคหรือ Philanthropy เช่น การคืนกำไรสู่สังคมผ่านกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร แต่จะต้องมี ภาวะคู่กัน (Duality) ของคุณค่าที่เกิดขึ้นทั้งต่อองค์กรและสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน

ในการสร้างคุณค่าร่วม องค์กรจะต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ปัจจัยแรก คือ ความท้าทายหรือโอกาสทางธุรกิจ ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางธุรกิจในรูปของรายได้ ผลกำไร ส่วนแบ่งตลาด การสร้างตลาดใหม่ การลดค่าใช้จ่ายหรือลดความสูญเสียในด้านต่างๆ

ปัจจัยที่สอง คือ โจทย์หรือประเด็นปัญหาทางสังคมที่รอการแก้ไข ซึ่งนำไปสู่การสร้างผลลัพธ์ทางสังคมในรูปของการพัฒนา การแก้ไขเยียวยา การยกระดับคุณภาพชีวิต การรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม การลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างโอกาสหรือความเป็นธรรมทางสังคมในด้านต่างๆ

และปัจจัยที่สาม คือ การใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญและสินทรัพย์ที่องค์กรมีอยู่ อันนำมาซึ่งผลิตภาพที่ทำให้การส่งมอบผลลัพธ์ทั้งทางธุรกิจและทางสังคมมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลเต็มคุณค่า

ด้วยปัจจัยข้อหลังนี้ ทำให้การสร้างคุณค่าร่วม กลายเป็นกลยุทธ์ที่สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ขององค์กร ยิ่งเมื่อได้ผสมผสานเข้ากับปัจจัยที่หนึ่งและปัจจัยที่สองด้วยแล้ว คงไม่มี Best Practices ไหนที่องค์กรจะสามารถใช้อ้างอิงได้

พอร์เตอร์ยังได้ทำหน้าที่นำการเสวนาในช่วงถัดมา ในหัวข้อ “Supporting the Conditions to Create Business at its Best” ด้วยการเน้นย้ำว่าการสร้างคุณค่าร่วม เป็นกลยุทธ์ที่องค์กรใช้สร้างผลกำไรทางธุรกิจ ไปพร้อมกับการแก้ไขปัญหาทางสังคม ไม่ใช่การทำเพื่อการกุศลหรือตั้งข้อรังเกียจการทำเพื่อกำไรแต่อย่างใด พร้อมด้วยคู่หู มาร์ค เครเมอร์ ขึ้นกล่าวรับลูกปิดช่วงเสวนาของพอร์เตอร์ กับวลีที่ว่า การสร้างคุณค่าร่วม เป็นแกนของกลยุทธ์ธุรกิจ มิใช่เพียงการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม!

สำหรับท่านที่สนใจวีดีทัศน์บันทึกงานประชุมสุดยอด Shared Value Leadership Summit 2015 สามารถติดตามย้อนหลังได้ที่ http://sharedvalue.org/2015summit...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]