Saturday, October 24, 2020

ทำไมต้องใช้ข้อมูล ESG ในการลงทุน

ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนทั่วโลก ได้มีการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ให้แก่ผู้ลงทุน สำหรับใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุน

หนึ่งในรูปแบบการเปิดเผยข้อมูล ESG ซึ่งเป็นที่นิยม ได้แก่ การจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) ซี่งเป็นการให้ข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน เพื่อสนองความต้องการในปัจจุบันที่ลำพังรายงานทางการเงินเพียงอย่างเดียวไม่สามารถสะท้อนข้อมูลผลประกอบการโดยรวมให้แก่ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียอื่นได้อย่างครบถ้วน

เหตุที่ข้อมูล ESG มีความสำคัญต่อการพิจารณาตัดสินใจลงทุนในเวลานี้ ทั้งที่ในอดีตก็ไม่เคยมีคำนี้อยู่ในแวดวงการลงทุนมาก่อน

คำตอบข้อแรกอยู่ที่ ขนาดของสินทรัพย์ที่มีตัวตน (Tangible Asset) และสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน (Intangible Asset) ซึ่งรวมกันเข้าเป็นมูลค่าของกิจการและสะท้อนออกมาเป็นราคาตลาดยุติธรรม (Fair Market Value) นั้น มีสัดส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

ปัจจุบัน ขนาดของสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน อันได้แก่ ชื่อเสียง ทรัพย์สินทางปัญญา ธรรมาภิบาล ฯลฯ ได้กลายมาเป็นสินทรัพย์ประเภทหลักที่เป็นตัวกำหนดราคาตลาดยุติธรรมของกิจการ

จากการศึกษาราคาตลาดของหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี S&P 500 ชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนของสินทรัพย์ที่มีตัวตน เช่น อสังหาริมทรัพย์และเครื่องจักรอุปกรณ์ ในปี ค.ศ.1975 มีตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 83 ส่วนสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน มีสัดส่วนอยู่เพียงร้อยละ 17

ขณะที่ ในปี ค.ศ.2015 สัดส่วนของสินทรัพย์ที่มีตัวตน มีตัวเลขเหลืออยู่ที่ร้อยละ 16 ส่วนสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน มีสัดส่วนพุ่งสูงถึงร้อยละ 84 หรือคิดเป็น 5 เท่าของสินทรัพย์ที่มีตัวตน

จึงเป็นเหตุผลว่า ลำพังการวิเคราะห์บริษัท โดยอ้างอิงสินทรัพย์ที่มีตัวตน ซึ่งมีการบันทึกมูลค่าอยู่ในรายงานทางการเงิน ไม่เพียงพอต่อการพิจารณาตัดสินใจลงทุนอีกต่อไป หากไม่นำข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน ที่อ้างอิงสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน ซึ่งก็คือ ข้อมูล ESG ที่ปรากฏในรายงานแห่งความยั่งยืน มาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจลงทุน

คำตอบข้อที่สอง ของการใช้ข้อมูล ESG ในการตัดสินใจลงทุน คือ การขยายบทบาทการดำเนินงานของกิจการ จากเดิมที่ตอบสนองต่อผู้ถือหุ้น (Shareholder) ในรูปของผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเป็นหลัก มาสู่การคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) อย่างรอบด้าน ทำให้บริษัทต้องมีการวางกลยุทธ์การดำเนินงาน การวัดและการรายงานผลการดำเนินงานต่อผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งก็คือ การเพิ่มเติมการดำเนินงานในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม (E) และสังคม (S) นอกเหนือจากประเด็นด้านธรรมาภิบาล (G) ที่คำนึงถึงเฉพาะผู้ถือหุ้นเป็นหลัก

สำหรับนักวิเคราะห์ที่ยังมิได้เข้าใจเรื่อง ESG อาจเหมารวมว่า ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ต้องวิเคราะห์นี้ อยู่ในการวิเคราะห์เศรษฐกิจและการวิเคราะห์อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานแบบเดิมอยู่แล้ว ก็ต้องชี้แจงว่า การวิเคราะห์เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอันเดิม เป็นการวิเคราะห์ผลกระทบภายนอกที่มีต่อตัวบริษัท (Outside-in) ขณะที่การวิเคราะห์ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในเรื่อง ESG เป็นการวิเคราะห์การดำเนินงานของบริษัทที่มีผลกระทบสู่ภายนอก (Inside-out) ซึ่งจัดอยู่ในการวิเคราะห์บริษัท เพิ่มเติมจากการวิเคราะห์เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณในแบบเดิม

จะเห็นว่า นอกจากรายงานประจำปี ที่ผู้ลงทุนใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจลงทุน บทบาทของรายงานแห่งความยั่งยืน จะกลายเป็นเอกสารสำคัญที่เป็นแหล่งข้อมูล ESG สำหรับผู้ลงทุน ซึ่งนับวันจะทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในเดือนหน้า (12-13 พ.ย.) สถาบันไทยพัฒน์ จะจัดอบรมการพัฒนากระบวนการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามมาตรฐาน GRI สำหรับบริษัทจดทะเบียน ในหลักสูตร GRI Standards Certified Training Course องค์กรที่สนใจ สามารถติดตามข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ www.thaipat.org


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, October 10, 2020

การเติบโตของตลาดข้อมูล ESG

จากข้อมูลการสำรวจของมอร์นิ่งสตาร์ บ่งชี้ว่ามูลค่าของกองทุนที่เน้นการลงทุนที่ยั่งยืน ได้ทะลุตัวเลข 1 ล้านล้านเหรียญเป็นครั้งแรก หลังจากที่เกิดสถานการณ์โควิดขึ้นในไตรมาสแรกของปี ค.ศ.2020

และตัวเลขการสำรวจของออพิมัส ที่ปรึกษาด้านการจัดการลงทุนในตลาดทุนทั่วโลก ระบุว่า มูลค่าสินทรัพย์ที่ลงทุนโดยใช้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) มีตัวเลขคาดการณ์อยู่ที่ 40.5 ล้านล้านเหรียญ ในปี ค.ศ.2020

ขณะที่ขนาดของตลาดข้อมูล ESG มีมูลค่าอยู่ที่ 617 ล้านเหรียญ ในปี ค.ศ.2019 โดยอัตราเติบโตที่คาดการณ์ของข้อมูล ESG อยู่ที่ร้อยละ 20 ต่อปี และดัชนี ESG อยู่ที่ร้อยละ 35 ต่อปี ซึ่งจะทำให้ขนาดของตลาดข้อมูล ESG พุ่งถึงระดับ 1 พันล้านเหรียญ ได้ในปี ค.ศ.2021 (http://www.opimas.com/research/547/detail/)

เป็นที่แน่นอนว่า ธุรกิจที่เปิดให้บริการข้อมูล ESG ในไทย จะเติบโตขึ้น ตามแนวโน้มการเติบโตของตลาดข้อมูล ESG ในระดับโลก

หากย้อนไปสำรวจดูข้อมูล ESG ของหลักทรัพย์จดทะเบียนในไทย ที่สถาบันไทยพัฒน์ได้ทำการประเมินกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ซึ่งถือเป็นการจัดอันดับหลักทรัพย์โดยใช้เกณฑ์ ESG เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2558 จำนวน 567 หลักทรัพย์ มีชุดข้อมูล ESG ที่ถูกใช้ในการประเมินอยู่ 10,500 จุดข้อมูล เทียบกับชุดข้อมูล ESG ที่ใช้ในการประเมินในปี พ.ศ.2563 จำนวน 803 หลักทรัพย์ 14,870 จุดข้อมูล คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.6

ผู้ลงทุนที่ยึดแบบแผนการลงทุนที่ยั่งยืน โดยอาศัยเกณฑ์ ESG เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุน เชื่อว่า ยิ่งมีข้อมูล ESG ที่เพียงพอมากเท่าใด การวิเคราะห์การดำเนินงานของบริษัท เพื่อที่จะคาดการณ์ถึงผลประกอบการในอนาคตของบริษัท จากการพิจารณาปัจจัย ESG ก็จะมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

และที่สำคัญ ผู้ลงทุนจะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นในระยะยาว และมิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป นั่นก็เป็นเพราะผลประกอบการในอนาคตของบริษัท มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัท

การส่งเสริมและกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียน มีการเปิดเผยข้อมูล ESG ที่เพียงพอสำหรับการใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุน จึงเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในตลาดทุนทั่วโลก ขนาดของตลาดข้อมูล ESG จึงมีตัวเลขที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในห้วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

แลร์รี่ ฟิงก์ ซีอีโอ แบล็กร็อก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนใหญ่อันดับหนึ่งของโลก ด้วยขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) กว่า 7 ล้านล้านเหรียญ กล่าวว่า บริษัทที่มีความมุ่งประสงค์ไม่จำกัดเพียงแค่การให้ผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ถือหุ้น จะกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของการลงทุน

หลังจากสถานการณ์โควิด ยิ่งมีความชัดเจนว่า ทุนนิยมที่เอื้อต่อผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Capitalism) จะทวีความสำคัญ โดยบริษัทที่เน้นประโยชน์ให้เกิดแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ทั้งลูกค้า พนักงาน และสังคมรายรอบกิจการ จะกลายเป็นผู้ชนะแห่งอนาคต


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]