Sunday, February 25, 2018

มณฑลแห่งความยั่งยืน

ความยั่งยืน (Sustainability) ถูกจัดให้เป็นวาระของการพัฒนาในทุกระดับ โดยในระดับโลก มีการกำหนดเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไว้ 17 ข้อ ในระดับประเทศ มีการกำหนดในวิสัยทัศน์ (มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน) สำหรับใช้เป็นทิศทางการพัฒนาประเทศ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2558 - 2563) และในระดับองค์กร มีการกำหนดเป็นนโยบายดำเนินงาน เพื่อมุ่งให้ได้มาซึ่งความยั่งยืนของกิจการ

ในระดับองค์กร ความยั่งยืนจัดเป็นสถานะของกิจการที่ทุกองค์กรคาดหวังให้เกิดขึ้น หรือเป็น “ผลลัพธ์” ที่อยากให้เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของกิจการ

ด้วยเหตุนี้ องค์กรที่ต้องการได้มาซึ่งความยั่งยืน จำเป็นต้องมี “วิธีการ” ที่จะดำเนินไป เพื่อให้ถึงซึ่งผลลัพธ์หรือสถานะดังกล่าว

การค้นหาวิธีการในการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งความยั่งยืน องค์กรจะต้องเข้าใจในสองเรื่องสำคัญ คือ กิจการของตนทำอะไร (What) และสิ่งที่ทำนั้น ส่งผลไปถึงใคร (Who) บ้าง

องค์กรที่มีการระบุเรื่องที่ทำ และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างครอบคลุม จะรับรู้ถึง มณฑลแห่งความยั่งยืน หรือ Sphere of Sustainability สำหรับกิจการของตน ที่สามารถใช้เป็นพิมพ์เขียวในการพัฒนาวิธีการที่จะดำเนินการได้

The Sphere of Sustainability

เริ่มจากการพิจารณาถึงการดำเนินงานที่ส่งผลถึงผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของกิจการ ความยั่งยืนในกรณีนี้ จะเกิดขึ้นจากองค์กรมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance: CG) มีการกำหนดทิศทางและสอดส่องดูแลการปฏิบัติงานของกิจการให้มีความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ เจริญรุดหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความเสียหายของกิจการ พร้อมกันกับความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมการเติบโตของกิจการอย่างมั่นคง

ถัดมาเป็นผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน ความยั่งยืนในกรณีนี้ จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานขององค์กรที่เป็นไปอย่างรับผิดชอบ สามารถเปิดเผยข้อมูลในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ให้แก่ผู้ลงทุน นอกเหนือจากปัจจัยด้านผลตอบแทนและความเสี่ยงของกิจการ

สำหรับผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียรอบกิจการ ความยั่งยืนในกรณีนี้ จะเกิดขึ้นจากการคำนึงถึงผลกระทบจากการดำเนินงานที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียในแต่ละกลุ่มที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรม ไม่จำกัดเพียงการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด เป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Corporate Social Responsibility: CSR) ที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม และหลักปฏิบัติที่เป็นบรรทัดฐานสากล

ส่วนผู้เกี่ยวข้องทั่วไปที่เป็นสังคมในวงกว้าง ความยั่งยืนในกรณีนี้ จะเกิดขึ้นจากการคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ในฐานะนิติพลเมือง ภายใต้การดำเนินงานที่ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development: SD) ในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งหมายที่จะบรรลุถึงสถานะแห่งความยั่งยืนของสังคมโดยรวม มิใช่เพื่อความยั่งยืนหรือความสามารถในการอยู่รอดขององค์กรเพียงลำพัง (หมายรวมถึง วิถีการบริโภคอย่างยั่งยืน และแหล่งทรัพยากรที่ยั่งยืน)

และสำหรับผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ภายในองค์กร โดยเฉพาะฝ่ายบริหาร ความยั่งยืนในกรณีนี้ จะเกิดขึ้นจากการวางกลยุทธ์การดำเนินงานที่สามารถส่งมอบประโยชน์ให้ทั้งกับผู้มีส่วนได้เสียภายในองค์กรและภายนอกองค์กร เป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวกหรือการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value: CSV) ระหว่างธุรกิจและสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ กิจการยังสามารถพิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบทางธุรกิจที่ดำเนินอยู่ หรือจัดตั้งธุรกิจใหม่ โดยมีโดยมีพันธกิจในการดำเนินงานที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง ในลักษณะวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) หรือในรูปแบบที่เรียกว่าธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business: SB) ความยั่งยืนในกรณีนี้ จะเกิดขึ้นจากการที่องค์กรมีความมุ่งประสงค์ที่จะแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อมโดยตรง มิใช่การหวังผลกำไรในทางธุรกิจเป็นหลัก แต่เป็นการดำเนินธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้

การพิจารณาถึงสิ่งที่องค์กรดำเนินการ และผลกระทบที่ส่งไปถึงผู้เกี่ยวข้องในช่องทางข้างต้นนี้ ก่อให้เกิดเป็นมณฑลแห่งความยั่งยืน (The Sphere of Sustainability) ที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ในเรื่อง CG, ESG, CSR, SD, CSV, SE, SB ซึ่งในแต่ละเรื่องมีเหตุผลของการดำรงอยู่ ตามบริบทที่เรื่องนั้นเข้าไปเกี่ยวข้อง มิใช่เรื่องที่นำมาใช้แทนกัน แต่เพื่อใช้ค้นหาวิธีการในการดำเนินการอย่างเป็นองค์รวมเพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะแห่งความยั่งยืน


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, February 11, 2018

เปลี่ยนจาก เก่งกว่า ให้เป็น เก่งแก่ผู้อื่น

โลกได้เข้าสู่ยุคที่มีการเชื่อมโยงติดต่อสื่อสารได้อย่างง่ายดายขึ้นมาก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในซีกโลกหนึ่ง สามารถรับรู้ได้อย่างฉับพลันทันทีในทุกมุมของโลก และสามารถมีอิทธิพลต่อจิตใจและพฤติกรรมของเราได้ ทั้งโดยที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

การเตรียมพร้อมรองรับวิถีการดำเนินชีวิตในโลกยุคใหม่ จำต้องมีการสร้างภูมิคุ้มกันใหม่ในหลายๆ เรื่องให้กับตัวเอง เพื่อรับมือกับอุบัติการณ์ทางสังคมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น เงินดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ชีวภาพ หรือเทคโนโลยีเสมือนซ้อนจริง (Augmented Reality) ฯลฯ

หลักคิดที่สามารถนำไปใช้ได้ง่ายๆ คือ “เปิดรับ-ปรับใช้-ไตร่ตรอง” เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีและวิทยาการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีประโยชน์และทำให้การดำเนินชีวิตสะดวกสบายขึ้น เราไม่สามารถปิดกั้นตัวเองจากสังคมภายนอกและโลกที่กำลังดำเนินเปลี่ยนแปลงไป การเปิดรับเป็นสิ่งที่ทำได้และควรทำ เพียงแต่ต้องมีการใช้วิจารณญาณหรือมีความแยบคายในการปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตน ขณะที่อุบัติการณ์บางอย่าง อาจก่อให้เกิดโทษ หากนำมาใช้ผิดวิธี เราจึงจำเป็นต้องมีขีดความสามารถในการไตร่ตรองหรือคัดกรองก่อนที่จะนำมาใช้ด้วย

สำหรับประเทศไทยที่พัฒนามาถึงจุดนี้ได้ เราอาศัยบุญเก่า ที่ได้เปรียบด้านภูมิประเทศทำเลที่ตั้ง อุดมด้วยวัฒนธรรม ประเพณี และมรดกทางสังคม ที่บรรพบุรุษเราสร้างและรักษาไว้ให้

แต่นับจากนี้ต่อไป คนไทยรุ่นปัจจุบันและในรุ่นใหม่ จำเป็นต้องคิด ออกแบบ และสร้างบุญใหม่ให้แก่ประเทศ โดยไม่ใช้บุญเก่าที่มีอยู่อย่างเดียว หากบุญเก่าเราไม่รักษา บุญใหม่เราไม่สร้างเพิ่ม ประเทศไทยวันข้างหน้า ก็คงจะตั้งอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีความเจริญรุ่งเรืองได้อย่างยากลำบาก

แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นสำหรับคนไทยที่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจเพื่อนำมาขับเคลื่อนประเทศไทย ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้พัฒนาควบคู่ไปด้วยกัน

ในระดับโลก องค์การสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ไว้จำนวน 17 ข้อ โดยมีระยะเวลาครอบคลุมการดำเนินงาน 15 ปี จวบจนปี พ.ศ.2573 ประเทศไทยในฐานะหนึ่งใน 193 ประเทศสมาชิก ได้รับเอาเป้าหมายดังกล่าว มาพิจารณาดำเนินการเพื่อพัฒนาประเทศของเราเองให้มีความยั่งยืน สอดคล้องกับบริบทโลก

จึงเป็นโจทย์ที่คนไทยทั้งในรุ่นปัจจุบันและในรุ่นใหม่ จะต้องรับมาเป็นวาระในการขับเคลื่อนประเทศไทยร่วมกัน ภายใต้บทบาทหน้าที่รับผิดชอบในงานของตนเอง

ด้วยเหตุที่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ถูกใช้เป็นวาระแห่งการพัฒนาในระดับโลก แบบแผนการศึกษาของประเทศ เพื่อรองรับสังคมในอนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงควรถูกวางให้เป็น “การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ให้สอดรับกัน เนื่องเพราะการศึกษาเป็นพื้นฐานของการพัฒนา หากขาดซึ่งการศึกษาที่มีคุณภาพ ประเทศก็จะไม่สามารถพัฒนาไปได้อย่างมีคุณภาพ อีกทั้งทิศทางของการจัดการศึกษา มีส่วนสำคัญในการชี้นำทิศทางการพัฒนาประเทศเช่นกัน

กรอบคิดในการออกแบบระบบการศึกษาที่ควรจะเป็น คือ การปรับเปลี่ยนจากการศึกษาเพื่อพัฒนา โดยการคำนึงถึงเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในลักษณะแยกส่วนหรือแบบเสาหลัก (pillars) มาเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนา ในลักษณะบูรณการหรือแบบมิติ (dimensions) ที่คำนึงถึงความเชื่อมโยงระหว่างมิติในทุกระดับของการพัฒนา

การกำหนดผลลัพธ์ของการจัดการศึกษา เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรมีการปรับเปลี่ยนชุดความคิด (mindset) หรือมีการปฏิรูปจากหลักการพัฒนาเพื่อให้เป็นเลิศในกลุ่ม (best in class) มาสู่การพัฒนาบ่มเพาะผู้เรียน บัณฑิต หรือผู้สำเร็จการศึกษา เพื่อให้เป็นเลิศแก่กลุ่ม (best for class) ซึ่งจะทำให้ผลผลิตทางการศึกษาของประเทศ ยกระดับไปสู่การมีบุคลากรที่เป็นเลิศแก่สังคม แทนการแข่งขันเพื่อเป็นเลิศในสังคม


(เรียบเรียงจาก “80 วิสัยทัศน์ ถอดรหัสอนาคต” เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา)


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link