Thursday, August 20, 2015

ธุรกิจที่เป็นมิตรกับเด็ก

องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) องค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) และข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) ได้ร่วมกันจัดทำและประกาศหลักการ “สิทธิเด็กและหลักปฏิบัติทางธุรกิจ” (Children’s Rights and Business Principles - CRBP) เมื่อปี พ.ศ.2555 เป็นเวลาสองปีนับจากความริเริ่มนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2553


ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้มีความร่วมมือกับองค์การยูนิเซฟ เพื่อรณรงค์ ให้บริษัทที่มีถิ่นฐานการดำเนินงานในประเทศไทย ตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับเด็ก ทั้งในสถานประกอบการ (Workplace) บทบาทในตลาด (Marketplace) และบทบาทในชุมชนและสิ่งแวดล้อม (Community and Environment) โดยอ้างอิงหลักการ CRBP ซึ่งประกอบด้วย 10 หลักการสำคัญ ได้แก่

หลักการที่ 1เคารพสิทธิเด็กและให้คำมั่นที่จะสนับสนุนสิทธิเด็ก
หลักการที่ 2สนับสนุนการขจัดปัญหาแรงงานเด็กในการดำเนินงานและการติดต่อทางธุรกิจ
หลักการที่ 3จัดหางานที่มีคุณค่าให้แก่คนงานที่เป็นเยาวชน ตลอดจนพ่อแม่ และผู้ดูแลเด็ก
หลักการที่ 4คำนึงถึงความคุ้มครองและความปลอดภัยของเด็กในสถานประกอบการและการดำเนินธุรกิจ
หลักการที่ 5ทำให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์และบริการมีความปลอดภัยและมีการส่งเสริมความตระหนักเกี่ยวกับสิทธิเด็กผ่านผลิตภัณฑ์และบริการ
หลักการที่ 6ใช้สื่อโฆษณาและการตลาดในทางที่เคารพและส่งเสริมสิทธิเด็ก
หลักการที่ 7เคารพและส่งเสริมสิทธิเด็ก เมื่อดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม การถือครองและการใช้ประโยชน์จากที่ดิน
หลักการที่ 8คำนึงถึงสิทธิเด็ก ในการสร้างระบบรักษาความปลอดภัยต่างๆ
หลักการที่ 9ช่วยคุ้มครองเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฉุกเฉินหรือภัยพิบัติต่างๆ
หลักการที่ 10หนุนเสริมบทบาทของรัฐและชุมชนในการคุ้มครองและเติมเต็มสิทธิเด็ก

เป้าประสงค์ของสถาบันไทยพัฒน์และองค์การยูนิเซฟภายใต้ความริเริ่มนี้ เพื่อต้องการยกระดับกิจกรรมความช่วยเหลือที่องค์กรธุรกิจดำเนินการแก่เด็กและเยาวชน จากแนวคิดบนฐานของการทำการกุศล (Charity-based) สู่การทำงานโดยใช้แนวคิดฐานสิทธิ (Rights-based) ที่ขับเคลื่อนด้วยกระบวนงานหลักทางธุรกิจ (Core Business) แทนการจัดกิจกรรมเฉพาะกิจเป็นรายครั้ง (Event) โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่หนึ่ง: กิจกรรมสำหรับผู้บริหาร ในรูปแบบ Sharing and Discussion เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิเด็กและหลักปฏิบัติทางธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วย 10 หลักการสำคัญข้างต้น การหารือเพื่อพิจารณาแนวทางในการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับเด็ก และวิธีการที่องค์กรธุรกิจจะสามารถนำสิทธิเด็กไปกำหนดไว้ในนโยบายและจรรยาบรรณทางธุรกิจ

ระยะที่สอง: กิจกรรมสำหรับผู้ดูแลงานด้าน CSR และผู้ปฏิบัติงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็ก ในรูปแบบ Training and Workshop เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการประเมินผลการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับเด็ก รวมทั้งการค้นหาโอกาสในการสนับสนุนสิทธิเด็กตามหลักปฏิบัติทางธุรกิจ ตลอดจนขอบเขตการปฏิบัติงานที่บริษัทสามารถนำสิทธิเด็กไปผสมผสานเข้ากับนโยบายทางธุรกิจและกระบวนการบริหารจัดการองค์กร

ระยะที่สาม: กิจกรรมสำหรับผู้จัดทำข้อมูลและการรายงาน ในรูปแบบ Coaching and Exercise เพื่อชี้แนะแนวทางในการรวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลการดำเนินงานที่เกี่ยวกับเด็ก บูรณาการเข้าไว้ในการรายงานแห่งความยั่งยืน ตามกรอบสากลของ GRI โดยครอบคลุมมากกว่าการใช้แรงงานเด็กและการให้ความช่วยเหลือในชุมชน

โดยวิสาหกิจที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับหนังสือ “เด็กเป็นเรื่องของทุกคน” Workbook ฉบับ 2.0 การอบรมให้ความรู้ (Training) เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับเด็ก และการอบรมแนะนำ (Coaching) เกี่ยวกับกระบวนการเขียนรายงานตามกรอบมาตรฐาน GRI (Global Reporting Initiative) ในส่วนของรายละเอียดข้อมูลการดำเนินงานที่เกี่ยวกับเด็ก ณ สถานประกอบการ

ทั้งนี้ วิสาหกิจที่ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 3 ระยะ จะได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบันไทยพัฒน์ โดยการสนับสนุนขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ด้วย

องค์กรธุรกิจที่สนใจ สามารถติดต่อเพื่อเข้าร่วมโครงการ หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ http://www.thaipat.org ได้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, August 06, 2015

รู้จักรูปแบบการลงทุนที่ยั่งยืน

ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว หุ้นตก ทองลง ราคาน้ำมันลด สินค้าที่เป็นเป้าหมายการลงทุนเดิมทั้งหลาย ดูจะมีแนวโน้มราคาที่ต่ำเตี้ยลงเป็นลำดับ บทความในตอนนี้ จึงขอนำเสนอทางเลือกสำหรับการลงทุนในรูปแบบใหม่ ที่กำลังเป็นเทรนด์ดาวรุ่งในแวดวงของตลาดทุนตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ครับ

การลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Investment) เป็นวิถีการลงทุนที่คำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ในการคัดเลือกและบริหารพอร์ตการลงทุน

รูปแบบการลงทุนที่ยั่งยืนในปัจจุบัน สามารถจำแนกตามนโยบายหรือกลยุทธ์การลงทุน ออกได้เป็น 7 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ Negative/exclusionary screening, Positive/best-in-class screening, Norms-based screening, Integration of ESG factors, Sustainability-themed investing, Impact/community investing, Philanthropic investing

การลงทุนที่ยั่งยืนในรูปแบบแรก คือ การไม่เข้าลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารของกิจการที่ตัวสินค้าและบริการก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมหรือขัดกับหลักศีลธรรมจรรยา (Negative/exclusionary screening) เช่น กิจการที่เป็นอบายมุขต่างๆ การค้าอาวุธ ยาพิษ การค้ามนุษย์ การค้าสัตว์เพื่อฆ่า ฯลฯ

การลงทุนที่ยั่งยืนในรูปแบบที่สอง เป็นการใช้เกณฑ์คัดเลือกลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารของกิจการที่ตัวสินค้าและบริการสร้างให้เกิดผลดีต่อสังคม ส่งเสริมหลักศีลธรรมจรรยา หรือมีความโดดเด่นในการดำเนินงานเรื่องดังกล่าว ท่ามกลางหลักทรัพย์หรือตราสารในกลุ่มหรือประเภทของกิจการนั้น (Positive/best-in-class screening) เช่น กิจการที่มีธรรมาภิบาลที่ดี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กิจการพลังงานทดแทน เกษตรอินทรีย์ ฯลฯ

การลงทุนที่ยั่งยืนในรูปแบบที่สาม เป็นการเลือกลงทุนโดยพิจารณาหลักทรัพย์หรือตราสารของกิจการที่ดำเนินงานเป็นไปตามมาตรฐานและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ (Norms-based screening) เช่น OECD, ILO, UN, UNICEF ฯลฯ โดยหลีกเลี่ยงที่จะไม่ลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารของกิจการที่ไม่ได้ปฏิบัติตามบรรทัดฐานหรือมาตรฐานเหล่านั้น หรือใช้เกณฑ์ดังกล่าวในการพิจารณาให้น้ำหนักการลงทุน

การลงทุนที่ยั่งยืนในรูปแบบที่สี่ เป็นการผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เข้ากับการวิเคราะห์ทางการเงิน (Integration of ESG factors) อย่างชัดแจ้งและเป็นระบบ ในกระบวนการตัดสินใจลงทุน โดยผู้จัดการลงทุน เช่น การพิจารณาปัจจัย ESG ที่มีความเกี่ยวเนื่องและมีนัยสำคัญในรายอุตสาหกรรมและในรายกิจการ รวมทั้งมีความสัมพันธ์กับการเติบโตและผลประกอบการของกิจการนั้นๆ โดยตรง

อนึ่ง การใช้เกณฑ์ ESG ที่เป็นของผู้จัดทำหรือผู้ให้บริการดัชนีภายนอก เช่น DJSI หรือ FTSE4Good ซึ่งมีการพัฒนาเกณฑ์ที่ใช้แตกต่างกัน จะไม่สามารถใช้วัดหรือเปรียบเทียบผลการดำเนินงานระหว่างกิจการแต่ละแห่งซึ่งมีสารัตถภาพ (Materiality) ของปัจจัยด้าน ESG ที่แตกต่างกันได้

การลงทุนที่ยั่งยืนในรูปแบบที่ห้า ซึ่งกำลังได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คือ การเข้าลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารของกิจการที่มีการดำเนินงานสอดคล้องกับประเด็นหรือแบบแผนด้านความยั่งยืน (Sustainability-themed investing) ที่ผู้ลงทุนต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนเป็นการเฉพาะ เช่น พลังงานสะอาด เทคโนโลยีสีเขียว หรือ เกษตรกรรมที่ยั่งยืน ฯลฯ

การลงทุนที่ยั่งยืนในรูปแบบที่หก คือ การเข้าลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารที่ก่อให้เกิดผลกระทบสูงทางสังคม (หรือสิ่งแวดล้อม) รวมถึงการลงทุนในระดับชุมชน (Impact/community investing) โดยมากจะเป็นการลงทุนนอกตลาดกับกิจการที่มีความยากลำบากต่อการเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งหมายรวมถึงการให้สินเชื่อหรือหลักประกันแก่กิจการที่ประกอบการโดยมีความมุ่งประสงค์ (Purpose) ทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน เช่น กิจการประเภทวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise โดยการลงทุนในรูปแบบดังกล่าวนี้ ผู้ลงทุนมีความคาดหวังหรือยอมรับในผลตอบแทน ที่อาจมีอัตราต่ำกว่าผลตอบแทนจากการลงทุนที่ได้รับเมื่อเทียบกับการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ

สำหรับการลงทุนที่ยั่งยืนในรูปแบบที่เจ็ด เรียกว่า การลงทุนสุนทาน (Philanthropic investing) เป็นการลงทุนระยะยาวในหลักทรัพย์หรือตราสารของกิจการที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้าน ESG เพื่อนำดอกผลที่ได้รับจากการลงทุน มาจัดสรรให้ความช่วยเหลือแก่สังคมในด้านต่างๆ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข การพัฒนาอาชีพ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยที่ทุนหรือเงินต้นยังคงอยู่ เป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุน สามารถวางแผนการจัดสรรทุนหรือทรัพยากรสำหรับการให้ความช่วยเหลือทางสังคม (หรือทางสิ่งแวดล้อม) ได้อย่างต่อเนื่อง จนเห็นผลสัมฤทธิ์หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

มีทางเลือกถึง 7 รูปแบบการลงทุนที่ยั่งยืนขนาดนี้แล้ว หวังว่าคงจะช่วยดันพอร์ตการลงทุนของท่านให้เพิ่มมูลค่าได้ไม่มากก็น้อย แถมยังดีกับสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยนะครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]