Saturday, May 18, 2024

ก.ล.ต. ยุโรป ออกกฎตีตรากองทุน ESG

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ความต้องการของผู้ลงทุนที่มีต่อกองทุนซึ่งนำปัจจัยด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) มาผนวกในการตัดสินใจลงทุน ได้มีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดและมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่องในอนาคต ความต้องการนี้ได้สร้างแรงจูงใจให้ผู้จัดการสินทรัพย์และบริษัทจัดการลงทุนเพิ่มเติมชื่อกองทุนให้เกี่ยวข้องกับ ESG หรือความยั่งยืน เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุน จนเข้าข่ายเป็นการฟอกเขียว (Greenwashing) เนื่องจากคุณสมบัติของหลักทรัพย์ที่อยู่ในกองทุนมิได้เป็นไปตามข้อกำหนดและมาตรฐานด้านความยั่งยืนอย่างเพียงพอ


สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของยุโรป (ESMA) ได้แสดงความกังวลต่อเรื่องดังกล่าว และได้นำไปสู่การหารือ (Consultation Paper) ถึงแนวทางสำหรับกองทุนที่ใช้ชื่อที่เกี่ยวข้องกับ ESG หรือความยั่งยืน เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2022 และได้มีถ้อยแถลง (Public Statement) ต่อเรื่องนี้เมื่อเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2023 จนนำมาสู่การออกเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) ในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 2024

โดยเนื้อหาสำคัญในแนวทางสำหรับกองทุนที่ใช้ชื่อที่เกี่ยวข้องกับ ESG หรือความยั่งยืน ที่กำลังจะประกาศใช้ ประกอบด้วย

เกณฑ์ขีดแบ่ง (Threshold) ขั้นต่ำ
ในเอกสารแนวทางการใช้ชื่อกองทุนที่เกี่ยวข้องกับ ESG หรือความยั่งยืน กำหนดให้ผู้จัดการสินทรัพย์และบริษัทจัดการลงทุน ที่ออกกองทุนที่เกี่ยวข้องกับ ESG หรือความยั่งยืน ต้องมีการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีคุณลักษณะเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมและ/หรือสังคม หรือเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการลงทุนที่ยั่งยืนตามข้อบังคับว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลการเงินที่ยั่งยืน (SFDR) ไม่น้อยกว่า 80% ในกองทุนดังกล่าว

เกณฑ์ปกป้อง (Safeguard) ขั้นต่ำ
กองทุนสามารถเพิ่มคำว่า Transition หรือ Social และ Governance ในชื่อกองทุน โดยต้องไม่มีการลงทุนในหลักทรัพย์ที่เข้าเกณฑ์คัดออกของดัชนี Climate Transition Benchmarks (CTB) โดยเกณฑ์ในการคัดหลักทรัพย์ออกที่ระบุใน CTB ประกอบด้วย 1) บริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าอาวุธต้องห้าม (Controversial Weapons) ตามที่ระบุในอนุสัญญาออสโล 2) บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกและผลิตยาสูบ 3) บริษัทซึ่งผู้ดูแลดัชนีที่ใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark Administrators) พบว่ามีการละเมิดหลักการในข้อตกลงสากลแห่งสหประชาชาติ (UNGC) หรือแนวทางขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) สำหรับบรรษัทข้ามชาติ

ประเภท (Category) กองทุนที่ใช้คำที่เกี่ยวข้องกับ Transition
กองทุนประเภทนี้ สามารถใช้คำที่แสดงถึงการลงทุนเพื่อการปรับเปลี่ยน (Transition) เช่น คำว่า improving, progress/ion, evolution, transformation ในชื่อกองทุน เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถลงทุนในบริษัทที่มีส่วนของรายได้มาจากเชื้อเพลงฟอสซิล และมีกลยุทธ์ที่ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว โดยกองทุนยังคงต้องดำรงสัดส่วน 80% ตามเกณฑ์ขีดแบ่ง และเกณฑ์ปกป้องขั้นต่ำตาม CTB

เกณฑ์สำหรับจำแนกกองทุน “E” ออกจาก “S” และ “G”
กองทุนที่ใช้คำที่เกี่ยวข้องกับ Social (S) และ Governance (G) ถือว่าอยู่ในประเภทกองทุนเดียวกันกับกองทุน Transition ที่สอดคล้องกับเกณฑ์ปกป้องขั้นต่ำตาม CTB แต่สำหรับกองทุนที่ใช้คำที่เกี่ยวข้องกับ Environmental (E) รวมทั้งคำว่า ESG และ SRI จะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ของดัชนี Paris-aligned Benchmarks (PAB) ที่กำหนดให้ระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมของดัชนีเป็นไปตามความตกลงปารีส (มีเป้าหมายที่จะรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ให้ต่ำกว่า 2°C เหนืออุณหภูมิในช่วงก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเกิน 1.5°C)

เนื่องจากกองทุนที่ใช้คำที่เกี่ยวข้องกับ Social หรือ Governance ในชื่อกองทุน เพื่อส่งเสริมคุณลักษณะเฉพาะด้านหรือมีวัตถุประสงค์ทางสังคม (หรือมุ่งเน้นเรื่องธรรมาภิบาล) อาจมีตัวเลือกที่จำกัดเกินไป หากคัดหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิลออกจากกรอบการลงทุน (Investment Universe) ขณะที่กองทุนที่ใช้คำที่เกี่ยวข้องกับ Environment ในชื่อกองทุน สมควรที่จะใช้ PAB เป็นเกณฑ์ในการคัดหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิลออก เนื่องจากผู้ลงทุนคาดหวังที่จะมิให้กองทุนมีการลงทุนในกลุ่มดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ

ในกรณีที่กองทุนมีการใช้คำที่เกี่ยวข้องกับ Environment ร่วมกับคำที่เกี่ยวข้องกับ Transition เพื่อส่งเสริมกลยุทธ์การปรับเปลี่ยน กองทุนสามารถใช้ CTB เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกหลักทรัพย์ แต่หากกองทุนมีการใช้คำที่เกี่ยวข้องกับ Sustainable ที่บ่งชี้ถึงความยั่งยืน กองทุนจะต้องใช้ PAB เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกหลักทรัพย์

การวัดผลได้ (Measurability) ของกองทุนที่สื่อถึง Impact และ Transition
กรณีที่กองทุนมีการใช้คำที่เกี่ยวข้องกับ Impact ผู้จัดการกองทุนควรให้แน่ใจว่าภายใต้สัดส่วนการลงทุนตามเกณฑ์ขีดแบ่งขั้นต่ำมีความประสงค์ที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่วัดผลได้ ควบคู่กับผลตอบแทนทางการเงิน ส่วนกองทุนที่มีการใช้คำที่เกี่ยวข้องกับ Transition ผู้จัดการกองทุนควรแสดงให้เห็นว่าการลงทุนเป็นไปตามแนวทางการปรับเปลี่ยนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจนและวัดผลได้

ระยะเวลาก่อนมีผลบังคับ
สำหรับกองทุนที่ดำเนินการอยู่แล้ว จะมีระยะเวลาในการเตรียมการ 6 เดือน โดยจะเริ่มบังคับใช้ในอีก 3 เดือน หลังจากการประกาศแนวทางฉบับแปลสำหรับแต่ละประเทศในสหภาพยุโรป ทำให้มีระยะเวลาสำหรับผู้จัดการกองทุนที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามแนวทางฉบับที่จะประกาศใช้ ไม่น้อยกว่า 9 เดือน ส่วนกองทุนที่ตั้งใหม่ ให้มีผลบังคับใช้ทันทีหลังวันประกาศใช้


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, May 04, 2024

Double Materiality: หลักการชี้แนะสำหรับการรายงานความยั่งยืน

ความคาดหวังของสังคมต่อประเด็นความยั่งยืนในรอบทศวรรษที่ผ่านมาได้เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนเป็นผลให้เกิดแรงผลักอย่างกว้างขวางไปยังบริษัทให้ต้องพิจารณาและเปิดเผยผลกระทบที่มีต่อผู้คนและผืนโลก ไม่น้อยไปกว่าผลกระทบจากประเด็นความยั่งยืนที่มีต่อธุรกิจหรือผลกำไรที่เป็นบรรทัดสุดท้ายของกิจการ

สหภาพยุโรปได้ขานรับแนวคิดเรื่อง Double Materiality (ทวิสารัตถภาพ) ที่เป็นการพิจารณาประเด็นสาระสำคัญด้านความยั่งยืนซึ่งส่งผลกระทบต่อตัวกิจการเอง และผลกระทบจากกิจกรรมขององค์กรที่มีต่อโลกภายนอก โดยกำหนดให้กิจการต้องจัดทำรายงานที่มีการเปิดเผยข้อมูลผลกระทบทั้งสองด้าน

ประกอบด้วย ด้านการรายงานผลกระทบจากการดำเนินงานของกิจการที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน และด้านการรายงานผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนซึ่งมีนัยต่อผลประกอบการทางการเงิน

จากผลสำรวจ 2023 Annual Global Benchmark Policy Survey โดย Institutional Shareholder Services (ISS) พบว่า เมื่อถามถึงวิธีการกำหนดสารัตถภาพ ร้อยละ 75 ของผู้ลงทุนเห็นว่า การประเมินสารัตถภาพควรครอบคลุมถึงผลกระทบภายนอกที่เกิดจากกิจการ และมีเพียงร้อยละ 6 ของผู้ลงทุนที่ระบุว่า การประเมินสารัตถภาพควรจำกัดเฉพาะปัจจัยที่ส่งผลกระทบทางการเงินโดยตรงต่อตัวกิจการ

ทั้งนี้ การรายงานผลกระทบมีความเกี่ยวเนื่องอย่างใกล้ชิดกับผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่ายในแง่ที่เป็นกิจกรรมซึ่งสาธารณชนให้ความสนใจ และเป็นเหตุให้มีความสำคัญกับกิจการต่อการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว แม้กิจการหรือผู้ลงทุนในตัวกิจการจะมิได้พิจารณาว่ามีนัยสำคัญทางการเงินในปัจจุบันหรือในอนาคตก็ตาม

และด้วยเหตุที่กิจการไม่สามารถได้รับการยอมรับว่าการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนบรรลุผลสำเร็จ ด้วยการ “คิดเอง เออเอง” โดยปราศจากการมีส่วนร่วมกับภาคีภายนอก การแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนขององค์กร จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ทั้งในกระบวนการวางแผน การดำเนินการ การเก็บรวบรวมและการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงาน

ผู้มีส่วนได้เสีย ในที่นี้ จำแนกออกได้เป็นสองกลุ่มตามบริบทของทวิสารัตถภาพ ได้แก่ ผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบ (สำหรับการประเมินสารัตถภาพเชิงผลกระทบ) และผู้ใช้รายงานแห่งความยั่งยืน (สำหรับการประเมินสารัตถภาพเชิงการเงิน)

ในการสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบ เป็นไปเพื่อการแสวงหาข้อมูลนำเข้าและเสียงสะท้อนเพื่อทำความเข้าใจในข้อกังวล ตามมาด้วยหลักฐานแสดงผลกระทบที่เกิดขึ้นหรือที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับผู้คนและสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวโยงกับกิจการที่ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียเหล่านั้นเป็นผู้ได้รับผลกระทบ

การปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบ และนำเอามุมมองเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการประเมินสารัตถภาพจะช่วยยืนยันถึงการกำหนดประเด็นความยั่งยืนว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบ อาทิ ประเด็นด้านสุขภาพและความปลอดภัยที่มาจากการสานสัมพันธ์กับพนักงานหรือตัวแทนพนักงาน รวมทั้งการรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนได้เสียในการสานสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอตามธรรมเนียมปฏิบัติทางธุรกิจ

การเก็บรวบรวมและการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสารัตถภาพเชิงผลกระทบ ควรมุ่งเน้นที่การสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบในขั้นตอนที่เป็นการระบุผลกระทบที่เกี่ยวกับประเด็นความยั่งยืนที่เกิดขึ้นและที่คาดว่าจะเกิดขึ้น หรือในขั้นตอนที่เป็นการประเมินและกำหนดผลกระทบที่เกี่ยวกับประเด็นความยั่งยืนที่เป็นสาระสำคัญ

ขณะที่การเก็บรวบรวมและการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสารัตถภาพเชิงการเงินของประเด็นความยั่งยืน ผู้ใช้รายงานแห่งความยั่งยืนจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการช่วยกิจการประเมินสารัตถภาพเชิงการเงินตามหลักฐานที่นำมาสนับสนุน อาทิ ความเห็นและความสนใจของผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับวิธีปฏิบัติในกระบวนการพิจารณาสาระสำคัญในรายงานทางการเงินที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยที่มีการปรับปรุงหมายเหตุประกอบงบการเงินและเอกสารนำเสนอนักลงทุนอย่างสม่ำเสมอเพื่อสะท้อนประเด็นเกิดใหม่และประเด็นอื่น ๆ ที่นักลงทุนสนใจ ซึ่งในกรณีนี้ กิจการสามารถใช้ประโยชน์จากกลไกการสานเสวนาที่มีอยู่กับผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุนอื่น และเจ้าหนี้ สำหรับสนับสนุนกระบวนการประเมินสารัตถภาพเชิงการเงิน

สำหรับแนวการสานเสวนากับผู้มีส่วนได้เสียที่อาจมีความสนใจต่อข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวกับความยั่งยืนโดยทั่วไป ที่มิได้จำกัดหรือจำเพาะเจาะจงเหมือนกลุ่มผู้ลงทุน บริษัทสามารถใช้ประโยชน์ในข้อมูลดังกล่าวสำหรับการประเมินวิธีจัดการกับผลกระทบที่เป็นสาระสำคัญ เช่น ชุมชนที่ได้รับผลกระทบอาจสนใจว่าบริษัทมีข้อกำหนดในการฟื้นฟูแหล่งดำเนินงานที่ปล่อยมลภาวะอย่างเพียงพอที่จะครอบคลุมกิจกรรมฟื้นฟูที่จำเป็น หรือพนักงานปัจจุบันและที่รอการบรรจุอาจต้องการรับทราบเกี่ยวกับผลทางการเงินที่คาดหมายที่สามารถกระทบต่อโอกาสที่มีในองค์กร (เช่น บำนาญ หรือการฝึกอบรม)

ในสถานการณ์ที่การปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสียทำได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้ (เช่น ทำแล้วเกิดความเสี่ยง) กิจการอาจพิจารณาทางเลือกอื่นที่เหมาะสม อาทิ การปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญอิสระที่เชื่อถือได้ องค์กรภาคประชาสังคม (NGO) ซึ่งเป็นตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบที่สามารถให้เสียงสะท้อนที่มีคุณค่า หรือการใช้รายงานและบทความทางวิทยาศาสตร์อ้างอิงสำหรับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม

ที่สำคัญ ในกระบวนการเก็บและเปิดเผยข้อมูลเพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนขององค์กร กิจการต้องดำเนินการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบอย่างโปร่งใส ด้วยการเปิดเผยวิธีการสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียทั้งในขั้นตอนการระบุและประเมินผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นและที่คาดว่าจะเกิดขึ้น


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]