Saturday, December 30, 2023

ธีม ESG ปี 2024 : Who cares earns

ทิศทาง ESG ในปี ค.ศ. 2024 จะเป็นการเดินหน้าดำเนินงานในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล สำหรับกิจการที่เห็นประโยชน์เป็นรูปธรรม โดยไม่ต้องรอให้มีกฎหมายบังคับ


นับตั้งแต่ที่คำว่า ESG ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.2004 โดยปรากฏอยู่ในเอกสารรายงานชื่อ “Who cares wins” (ผู้ใดใส่ใจ ผู้นั้นมีชัย) ที่สนับสนุนแนวคิดของการบูรณาการปัจจัยสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ในตลาดทุน ซึ่งเชื่อกันว่า ไม่เพียงนำไปสู่ผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ตัวตลาดทุนเอง ด้วยการทำให้ตลาดทุนมีความยั่งยืนมากขึ้น

รายงานฉบับนี้ เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากการที่ นายโคฟี อันนัน ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้น ได้เขียนจดหมายถึงบรรดาซีอีโอของสถาบันการเงินชั้นนำ 55 แห่ง เพื่อให้ช่วยหาวิธีในการผนวกเรื่อง ESG เข้ากับตลาดทุน ฉะนั้น ต้นเรื่องของแนวคิด ESG จึงมาจากผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นกลุ่มผู้ลงทุนสถาบัน

โดยหนึ่งในความเคลื่อนไหวที่สำคัญขณะนั้น คือ การผลักดันการผนวกเรื่อง ESG ผ่านบริษัทที่ลงทุน (Investees) ซึ่งคือ บรรดาบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนทั่วโลก โดยหากบริษัทที่ลงทุนไม่สนใจหรือไม่ขานรับเรื่อง ESG ไปดำเนินการ ผู้ลงทุนอาจจะมีมาตรการในระดับขั้นที่แตกต่างกัน ตั้งแต่การลดน้ำหนักการลงทุน การลดการถือครอง ไปจนถึงการขายหลักทรัพย์ออกจากพอร์ตการลงทุน

จึงเป็นเหตุให้บริษัทจดทะเบียน ขยับตัวรับเรื่อง ESG มาดำเนินการ และต่อมาได้นำเอา ESG มาเป็นคำที่ใช้สื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง นอกเหนือจากที่ใช้สื่อสารกับผู้ลงทุนที่เป็นต้นเรื่อง

พัฒนาการของ ESG ในห้วงเวลา 20 ปี ตั้งแต่การจัดทำหลักการลงทุนที่รับผิดชอบโดยการสนับสนุนของสหประชาชาติ (United Nations-supported Principles for Responsible Investment: PRI) ในปี ค.ศ. 2006 มาจนถึงมาตรฐานการรายงานความยั่งยืนฉบับล่าสุดที่ประกาศใช้โดยคณะกรรมาธิการยุโรป ที่มีชื่อว่า ESRS (European Sustainability Reporting Standards) ในปี ค.ศ. 2023 ที่ทำให้การเปิดเผยข้อมูล ESG ได้กลายเป็นข้อกำหนดสำหรับบริษัทที่มีถิ่นฐานในสหภาพยุโรป รวมทั้งสาขาของบริษัทนอกสหภาพยุโรปที่มีการดำเนินกิจการในสหภาพยุโรปซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ด้วย

นอกจากหลักการและมาตรฐานที่เป็นเรื่อง ESG โดยตรง ประเทศต่าง ๆ ยังมีการออกกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง ESG ในทางใดทางหนึ่ง อาทิ กลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป ซึ่งนำร่องกับสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน โดยต้องเริ่มแจ้งปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสินค้าที่นำเข้า นับจากปี ค.ศ. 2023 และจะต้องสำแดงใบรับรอง CBAM ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านั้น ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2026 หรือการออกข้อบังคับว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR) ซึ่งจะใช้กับโภคภัณฑ์ในกลุ่มปศุสัตว์ ไม้ โกโก้ ถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม กาแฟ ยางพารา และผลิตภัณฑ์สืบเนื่อง เช่น เครื่องหนัง ช็อกโกแลต ยางรถยนต์ หรือเครื่องเรือน โดยจะมีผลตั้งแต่สิ้นปี ค.ศ. 2024 เป็นต้น

ในประเทศไทย คณะกรรมการกำกับตลาดทุน ได้ออกประกาศให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ต้องเปิดเผยข้อมูล ESG ในแบบแสดงรายการข้อมูล 56-1 One Report จัดส่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2022 เป็นต้นมา

เนื่องจาก ESG ถูกริเริ่มขึ้นจากภาคตลาดทุน หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญในการดำเนินงาน ESG ของกิจการ จะต้องมีความเชื่อมโยงกับผลประกอบการ และสะท้อนอยู่ในผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับ

จากมุมมองเดิมต่อเรื่อง ESG ที่กิจการส่วนใหญ่ เห็นว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้จัดการความเสี่ยง มาสู่การใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจสำหรับรองรับโอกาสที่เกิดขึ้นจากปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยที่หลายกิจการเริ่มเห็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ทั้งการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และความสามารถในการทำกำไร (Profitability) จากการใช้ประโยชน์ในประเด็นด้าน ESG ที่สอดคล้องกับบริบทของกิจการ

ทิศทาง ESG ในปี ค.ศ. 2024 จะเป็นการเดินหน้าดำเนินงานในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล สำหรับกิจการที่เห็นประโยชน์เป็นรูปธรรม โดยไม่ต้องรอให้มีกฎหมายบังคับ ซึ่งเมื่อเห็นผลลัพธ์ที่ดี ก็จะเกิดความเชื่อมั่น และผลักดันการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นผลกระทบที่ดีทั้งกับกิจการและผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุนที่ให้น้ำหนักกับการลงทุนที่ยั่งยืน ในลักษณะ “Who cares earns” (ยิ่งใส่ใจ ยิ่งได้รับ)

นั่นหมายถึง กิจการที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ย่อมสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในหลายระดับ คือ ในระดับแรก สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม ‘ได้รับ’ ประโยชน์จากการที่ธุรกิจใส่ใจดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นหรือที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการประกอบการ ในระดับต่อมา กิจการจะมีโอกาส ‘ได้รับ’ รายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้น จากการใช้ประเด็น ESG สร้างการเติบโตและเพิ่มผลิตภาพ และในระดับท้ายสุด ผู้ลงทุนควรจะ ‘ได้รับ’ ผลตอบแทนทั้งกำไรจากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ (Capital Gain) และเงินปันผลที่สูงขึ้นจากการลงทุนในกิจการที่ ‘ใส่ใจ’ เรื่อง ESG

ต้องติดตามกันว่า ในปี ค.ศ. 2024 จะมีกิจการใดที่ใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง แล้วทำให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับประโยชน์จากกิจการ และผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนได้มากน้อยเพียงใด


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, December 16, 2023

เปิดผลสำรวจ ESG ธุรกิจไทย ปี 2566

กระแสเรื่อง ESG (Environmental, Social and Governance) ที่แต่เดิม ถูกขับเคลื่อนอยู่ภายในแวดวงตลาดทุน โดยเป็นเครื่องมือที่ผู้ลงทุนสถาบันใช้ผลักดันให้บริษัทที่ตนเข้าไปลงทุนมีการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม เอาจริงเอาจังกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มานับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 ได้ถูกหยิบมาใช้ในวงกว้าง ไม่เว้นในแวดวงการตลาดที่ ESG ถูกใช้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์และการสร้างภาพลักษณ์อย่างแพร่หลาย จนในปัจจุบัน ถูกตีความว่า ส่วนใหญ่เป็นการฟอกเขียว (Green Washing)

กระทั่ง หน่วยงานกำกับดูแลในหลายประเทศ ต้องออกนิยามศัพท์ (Terminology) และการจัดหมวดหมู่ (Taxonomy) ที่เกี่ยวกับเรื่อง ESG เพื่อป้องกันการสื่อสารที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และทำให้การฟอกเขียวเกิดได้ยากขึ้น

จากมาตรการดังกล่าว ทำให้สินทรัพย์ภายใต้การบริหารที่ติดป้าย ESG ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องมาในทุกปี มีมูลค่าลดลงเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2022

และด้วยภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในทุกภูมิภาค มีการเติบโตที่หดตัวลง ประกอบกับการขึ้นดอกเบี้ยจากแรงกดดันของปัจจัยเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ที่มีผลตอบแทนลดลง ทำให้ความแตกต่างในเชิงผลตอบแทนระหว่างหุ้นกลุ่ม ESG กับหุ้นโดยทั่วไป มิได้สร้างแรงจูงใจผู้ลงทุนได้เหมือนในช่วงตลาดขาขึ้น

จากการสำรวจของ GSIA สัดส่วนของมูลค่าการลงทุนที่ยั่งยืน มีตัวเลขคิดเป็นร้อยละ 24.4 ของสินทรัพย์ภายใต้การบริหารทั้งหมด ที่จำนวน 124.49 ล้านล้านเหรียญ หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของเม็ดเงินลงทุนทั้งหมด (ณ สิ้นปี 2565) ลดลงจากร้อยละ 35.9 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของเม็ดเงินลงทุนทั้งหมด (ณ สิ้นปี 2563)

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้บุกเบิกการพัฒนาฐานข้อมูลความยั่งยืนของธุรกิจ ได้ทำการสำรวจข้อมูลสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ เพื่อนำเสนอทิศทางและกระแสนิยมของการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนขององค์กร ทั้งในมุมมอง GRI, ESG และ SDG โดยริเริ่มสำรวจเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2561 ครอบคลุมกิจการจำนวน 100 แห่ง และได้ดำเนินการเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน

ผลสำรวจปี 66 ครอบคลุม 904 องค์กร
ในปี 2566 สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการสำรวจข้อมูลความยั่งยืนจากบริษัทจดทะเบียน 805 แห่ง กองทุนและองค์กรอื่นๆ อีก 99 ราย รวมทั้งสิ้น 904 ราย (เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่ทำการสำรวจ 854 ราย) พบว่า การเปิดเผยข้อมูลซึ่งมีสัดส่วนมากสุดอยู่ที่ด้านสิ่งแวดล้อม 52.25% ด้านเศรษฐกิจ 24.33% และด้านสังคม 23.41% ตามลำดับ

หากวิเคราะห์ข้อมูลกิจการที่สำรวจ จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า กิจการที่ได้คะแนนการดำเนินงาน ESG รวมสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ กิจการในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (4.91 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10) รองลงมาเป็นกิจการในกลุ่มเทคโนโลยี (4.60 คะแนน) และกิจการในกลุ่มบริการ (4.05 คะแนน) ตามลำดับ

ESG Performance by Industry Group

สำหรับประเด็นความยั่งยืนที่มีการเปิดเผยสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ ผลเชิงเศรษฐกิจ 96.46% การฝึกอบรมและการให้ความรู้ 48.12% ความหลากหลายและโอกาสแห่งความเท่าเทียม 48.01% ส่วนการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ภาคธุรกิจมีการเปิดเผยสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ เป้าหมายที่ 8 เศรษฐกิจและการจ้างงาน และเป้าหมายที่ 16 สังคมและความยุติธรรม ตามลำดับ

ไฮไลต์ผลสำรวจ ESG ที่น่าสนใจ
ในการประเมินสถานภาพการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของกิจการที่ทำการสำรวจทั้งหมด 904 ราย พบว่า ในปี 2566 มีคะแนนรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 3.53 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วและปีก่อนหน้าที่มีคะแนนรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.46 คะแนน (ปี 2565 จากการสำรวจ 854 ราย) และ 2.2 คะแนน (ปี 2564 จากการสำรวจ 826 ราย)

เมื่อพิจารณาผลสำรวจโดยใช้ประเด็นความยั่งยืนที่อ้างอิงจากมาตรฐาน GRI (Global Reporting Initiative) พบว่ามีเพียง 2.32% ที่มีการรายงานเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) และมากถึง 66.37% ที่ไม่มีการเปิดเผยประเด็นมลอากาศ (Emissions) นอกจากนี้ ยังพบว่ามีไม่ถึง 9% ที่เปิดเผยเรื่องการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของผู้ส่งมอบ (Supplier Environmental / Social Assessment)

ขณะที่การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยปัจจัย ESG ที่อ้างอิงตามแนวทางและชุดตัวชี้วัดของ WFE (World Federation of Exchanges) จากผลสำรวจพบว่า มีประเด็นที่เข้าใหม่ในสิบอันดับแรกที่กิจการเปิดเผย ได้แก่ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (50%) และการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม (49.23%) ส่วนประเด็นที่เคยอยู่ในสิบอันดับเมื่อปีที่แล้ว แต่ไม่อยู่ในปีนี้ ได้แก่ ประเด็นด้านแรงงานบังคับและแรงงานเด็ก

และเมื่อสำรวจข้อมูลการดำเนินงานที่มีการตอบสนองต่อ SDGs ตามแนวทาง GCI (Guidance on Core Indicators) ที่จัดทำโดย ISAR (International Standards of Accounting and Reporting) พบว่า มีประเด็นที่เข้าใหม่ในสิบอันดับแรกที่กิจการเปิดเผย ได้แก่ สัดส่วนหญิงในตำแหน่งจัดการ (91.15%) และประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (53.32%) ส่วนประเด็นที่เคยอยู่ในสิบอันดับเมื่อปีที่แล้ว แต่ไม่อยู่ในปีนี้ ได้แก่ ประสิทธิภาพการใช้น้ำ และชั่วโมงเฉลี่ยการฝึกอบรมต่อปีต่อคน

ข้อมูลผลสำรวจข้างต้น สถาบันไทยพัฒน์จะจัดงานแถลง “ผลสำรวจข้อมูลความยั่งยืนของบริษัทไทย ปี 2566” และการเสวนา “Double Materiality: The Financial + Impact Disclosure” โดยจะมีการเผยแพร่เนื้อหาการสำรวจทางเว็บไซต์ของสถาบันไทยพัฒน์ต่อไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, December 02, 2023

การลงทุนที่ยั่งยืน เริ่มมีขนาดสินทรัพย์ลดลง

Global Sustainable Investment Alliance (GSIA) ได้ทำการเผยแพร่รายงาน 2022 Global Sustainable Investment Review ที่จัดทำขึ้นทุกสองปี โดยจากงานสำรวจชิ้นล่าสุด พบว่า ในปี พ.ศ.2565 ตัวเลขการลงทุนที่ยั่งยืนทั่วโลก มีมูลค่าอยู่ที่ 30.3 ล้านล้านเหรียญ ลดลงจากตัวเลข 35.3 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2563 หรือลดลงร้อยละ 14.1 ในช่วงเวลาสองปี

โดยสัดส่วนการลงทุนที่ยั่งยืนเมื่อเทียบกับขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ทั้งหมด ในปี พ.ศ.2565 มีตัวเลขคิดเป็นร้อยละ 24.4 ของมูลค่าจำนวน 124.49 ล้านล้านเหรียญ ลดลงจากสัดส่วน ในปี พ.ศ.2563 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 35.9 แสดงให้เห็นถึงสัดส่วนการลงทุนที่ยั่งยืนโดยรวม มีตัวเลขลดลงเป็นครั้งแรก

ปัจจัยหลักมาจากตัวเลขการลงทุนที่ยั่งยืนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งลดลงจาก 17.1 ล้านล้านเหรียญ มาอยู่ที่ 8.4 ล้านล้านเหรียญ หรือลดลงกว่าร้อยละ 50 ในช่วงเวลาสองปี สาเหตุมาจากการเปลี่ยนระเบียบวิธีการเก็บตัวเลขสินทรัพย์ที่ยั่งยืนในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลจากการปรับนิยามของกองทุนยั่งยืนที่เข้มงวดขึ้น จากความกังวลเรื่องการฟอกเขียวที่ขยายวงเพิ่มขึ้น รวมทั้งการนำเรื่อง ESG มาใช้เป็นประเด็นการเมืองท้องถิ่นในสหรัฐฯ

ซึ่งหากไม่นับรวมตัวเลขสินทรัพย์ที่ยั่งยืนในสหรัฐอเมริกา สัดส่วนการลงทุนที่ยั่งยืน (ยกเว้นสหรัฐ) ในปี พ.ศ.2565 จะมีตัวเลขคิดเป็นร้อยละ 37.9 เทียบกับ AUM ทั้งหมด ซึ่งยังเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2563 ขณะที่มูลค่าการลงทุนที่ยั่งยืนรวม (ยกเว้นสหรัฐ) ยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในช่วงเวลาสองปี

ทั้งนี้ สัดส่วนเม็ดเงินลงทุนตามกลยุทธ์การลงทุนที่ยั่งยืน 7 รูปแบบตามการจำแนกของ GSIA พบว่า การลงทุนเพื่อใช้สิทธิผู้ถือหุ้นออกเสียงในกิจการ (Corporate engagement and shareholder action) มีมูลค่ามากสุด อยู่ที่ 8.05 ล้านล้านเหรียญ รองลงมาเป็นการลงทุนโดยผนวกเกณฑ์ด้าน ESG ในกระบวนการตัดสินใจลงทุน (ESG integration) อยู่ที่ 5.59 ล้านล้านเหรียญ การลงทุนโดยใช้เกณฑ์คัดกรองด้านลบ / ตัดออกจากกลุ่ม (Negative/exclusionary screening) อยู่ที่ 3.84 ล้านล้านเหรียญ การลงทุนโดยใช้เกณฑ์คัดกรองที่เป็นบรรทัดฐานนิยม (Norms-based screening) อยู่ที่ 1.81 ล้านล้านเหรียญ การลงทุนตามประเด็นความยั่งยืนที่สนใจ (Sustainability themed investing) อยู่ที่ 5.98 แสนล้านเหรียญ การลงทุนโดยใช้เกณฑ์คัดกรองด้านบวก / เลือกที่ดีสุดในกลุ่ม (Positive/best-in-class screening) อยู่ที่ 5.74 แสนล้านเหรียญ และการลงทุนเพื่อชุมชน / เป็นผลดีต่อโลก (Impact/community investing) อยู่ที่ 5.5 หมื่นล้านเหรียญ ตามลำดับ

ขณะที่ข้อมูลกองทุนยั่งยืนจากการเปิดเผยของมอร์นิ่งสตาร์ ระบุว่า กองทุนยั่งยืนในสหรัฐฯ มีเงินไหลออกสี่ไตรมาสติดต่อกัน โดยมีเงินไหลออกสุทธิจำนวน 1.42 หมื่นล้านเหรียญในรอบปีที่ผ่านมา

สินทรัพย์ในกองทุนยั่งยืนลดลงกลับไปแตะระดับ 2.99 แสนล้านเหรียญ ณ สิ้นสุดไตรมาสที่สาม และลดลงสูงถึงร้อยละ 17 จากระดับสูงสุดที่ 3.58 แสนล้านเหรียญ ณ สิ้นสุดปี ค.ศ.2021

และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่การปิดกองทุนยั่งยืนมีมากกว่าการเปิดกองใหม่ โดยในไตรมาสสามของปีนี้ มีการเปิดตัวกองทุนยั่งยืนเพียง 3 กองทุน แต่มีการปิดกองทุนยั่งยืน 13 กองทุน และมีอีก 4 กองทุนได้ยกเลิกการลงทุนแบบ ESG ทำให้มีจำนวนกองทุนยั่งยืนในสหรัฐฯ ปัจจุบันอยู่ที่ 661 กองทุน

โดยจาก 13 กองทุนยั่งยืนที่ปิดลงในไตรมาสที่สาม กองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด (ตามมูลค่าสินทรัพย์) ได้แก่ กองทุนจากบริษัท Columbia Threadneedle, Hartford และ BlackRock โดย Columbia Threadneedle ปิด Columbia U.S. Social Bond Fund เมื่อเดือนสิงหาคม มีทรัพย์สินรวม 35.8 ล้านเหรียญ และอยู่ในตลาดถึง 8 ปี ตามด้วย Hartford Schroders ESG US Equity ETF ที่มีมูลค่า 9.8 ล้านเหรียญในเดือนกรกฎาคม หลังจากอยู่ในตลาดประมาณ 2 ปี ส่วน BlackRock ได้ปิดกองทุน BlackRock U.S. Impact Fund และ BlackRock International Impact Fund ซึ่งมีทรัพย์สินรวม 5.4 ล้านเหรียญ และ 4.2 ล้านเหรียญ ตามลำดับ

จะเห็นว่า ภาพรวมของการลงทุนที่ยั่งยืนได้มาถึงจุดอิ่มตัว และในบางภูมิภาค เริ่มมีขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหารที่ลดลง จากที่เคยกล่าวไว้เมื่อสองปีที่แล้วว่า ในจำนวนเงินลงทุน 3 เหรียญ จะมีอยู่ราว 1 เหรียญ ที่เป็นการลงทุนที่ยั่งยืน ปัจจุบัน ขนาดการลงทุนที่ยั่งยืน ได้ลดลงมาเป็น 1 ใน 4 เมื่อเทียบกับเม็ดเงินลงทุนทั้งหมด


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]