Saturday, September 23, 2023

ครึ่งทาง SDG : โลกทำได้ตามเป้า 12%

องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG) เมื่อปี ค.ศ.2015 อันประกอบด้วย 17 เป้าประสงค์ (Goals) 169 เป้าหมาย (Targets) และ 231 ตัวชี้วัด (Indicators) โดยมีอายุการใช้งาน 15 ปี จวบจนถึงปี ค.ศ.2030

ในเอกสาร Sustainable Development Report 2023 ฉบับพิเศษ ได้เปิดเผยตัวเลขความคืบหน้าครึ่งทางการใช้ SDG จากการประมวลข้อมูลราว 140 เป้าหมาย พบว่า สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายเพียง 12% โดยเป้าหมายกว่าครึ่งมีความคืบหน้าเล็กน้อยหรือหลุดเป้า ขณะที่เป้าหมายอีกเกือบหนึ่งในสาม ไม่มีความเคลื่อนไหวหรือถดถอยลงต่ำกว่าเส้นฐานในปี ค.ศ.2015

สาเหตุมาจากผลพวงของความไม่ยุติธรรมในระดับโลกที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ประกอบกับผลกระทบจากสภาพภูมิกาศ โรคโควิด-19 และความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจที่ไปจำกัดประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกให้เหลือทางเลือกน้อยลง หรือทำให้ไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอต่อการทำให้เป้าหมายเป็นจริงขึ้นได้

ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ได้มีการคำนวณต้นทุนที่จะต้องใส่เพิ่มเพื่อเร่งการบรรลุเป้าหมาย SDG สำหรับเป็นแนวทางการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลในแต่ละประเทศทั่วโลก ไว้ที่จำนวน 2.35 ล้านล้านเหรียญ ใน 7 วิถี (Pathway) ได้แก่ การแปลงเป็นดิจิทัล ความเสมอภาคทางเพศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบบอาหาร การคุ้มครองทางสังคม การเปลี่ยนผ่านพลังงาน และการปฏิรูปการศึกษา ตามลำดับ

สำหรับความคืบหน้าการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของกิจการในประเทศไทย สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการสำรวจข้อมูลสถานภาพความยั่งยืนของกิจการทุกปี โดยเริ่มดำเนินการในปี ค.ศ.2018 เป็นปีแรก และเผยแพร่เป็นเอกสาร รายงานสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ เป็นประจำทุก ๆ 2 ปี

การสำรวจข้อมูลในปี ค.ศ.2022 ครอบคลุมทุกบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และกิจการที่อยู่นอกตลาดฯ รวมทั้งสิ้น 854 กิจการ โดยทำการประมวลข้อมูลการดำเนินงานของกิจการที่มีการตอบสนองต่อ SDG ตามแนวทาง GCI (Guidance on Core Indicators) ที่จัดทำโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (ISAR) พบว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่กิจการมีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ เป้าหมายที่ 8 เศรษฐกิจและการจ้างงาน และเป้าหมายที่ 16 สังคมและความยุติธรรม ตามลำดับ

โดย 10 ตัวชี้วัดหลัก GCI ซึ่งใช้ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีการเปิดเผยสูงสุด ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ยอดรายได้ และภาษีและเงินอื่นที่จ่ายแก่รัฐ ด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ประสิทธิภาพการใช้น้ำ ด้านสังคม ได้แก่ ชั่วโมงเฉลี่ยการฝึกอบรมต่อปีต่อคน และสัดส่วนค่าจ้างและสวัสดิการพนักงานต่อรายได้จำแนกตามชนิดการจ้างและมิติหญิงชาย และด้านสถาบัน ได้แก่ จำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการและอัตราการเข้าร่วมประชุม จำนวนและร้อยละของกรรมการหญิง ช่วงอายุของกรรมการ จำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบและอัตราการเข้าร่วมประชุม และค่าตอบแทนรวมต่อกรรมการ

ภาพรวมการตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของกิจการไทยที่ทำการสำรวจ 854 ราย พบว่า มีความคืบหน้าในการดำเนินงานอยู่ที่ 28.2% อ้างอิงจากการเปิดเผยข้อมูลตามรายการและตัวชี้วัดหลัก GCI โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ดำเนินการได้สูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ กลุ่มทรัพยากร (33.7%) กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (33%) และกลุ่มธุรกิจการเงิน (30%) ตามลำดับ

ทั้งนี้ ชุดตัวชี้วัดหลัก GCI ที่ ISAR จัดทำขึ้นภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) ซึ่งมีอังค์ถัดทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นจุดตั้งต้นหรือจุดนำเข้าในการรายงานผลการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อ SDG และถือเป็นการเปิดเผยข้อมูลขั้นต่ำ (Minimum Disclosures) ของกิจการ ที่แสดงถึงการมีส่วนในการตอบสนองต่อ SDG และเป็นตัวชี้วัดที่กิจการจำเป็นต้องใช้ในการประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล ซึ่งหาพบได้ในรายงานของกิจการ และในกรอบการรายงานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

การอ้างอิงชุดตัวชี้วัด GCI จะช่วยให้ภาคธุรกิจแสดงความเชื่อมโยงของการดำเนินงานในการตอบสนองต่อ SDG ในระดับตัวชี้วัด (Indicator-level) ตามแนวทางที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา และสามารถใช้เป็นข้อมูลแสดงความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามตัวชี้วัด SDG ที่ 12.6.1 ในส่วนของกิจการได้อีกด้วย

องค์กรธุรกิจที่สนใจเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานที่มีการตอบสนองต่อ SDG ตามแนวทาง GCI สามารถศึกษารายละเอียดได้จากเอกสาร Guidance on Core Indicators for Sustainability and SDG Impact Reporting ฉบับปรับปรุงใหม่ ปี ค.ศ.2022 โดยดาวน์โหลดได้ที่ https://unctad.org/isar


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, September 09, 2023

นโยบายรัฐบาลในมุมมอง ESG

ในวันจันทร์นี้ (11 ก.ย.) นายกรัฐมนตรีจะมีการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ซึ่งมีเนื้อหารายละเอียดเป็นเอกสารที่เผยแพร่ออกมา 43 หน้า (ฉบับไม่เป็นทางการ) ที่ประกอบด้วย กรอบระยะสั้น กรอบระยะกลางและระยะยาว รวมถึงการแสดงตารางความสอดคล้องระหว่างนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีกับหน้าที่ของรัฐและแนวนโยบายแห่งรัฐของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และยุทธศาสตร์ชาติ


จึงถือโอกาสนี้ ทำการสรุปคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี โดยจำแนกออกเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และด้านธรรมาภิบาล รวมทั้งสิ้น 23 นโยบาย ในมุมมองของ ESG (Environmental, Social and Governance) ดังนี้

10 นโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยในกรอบระยะสั้น รัฐบาลจะกระตุ้นการใช้จ่าย ด้วยการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายรอบ รัฐบาลก็จะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี และการดำเนินนโยบายนี้ จะใช้เป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใสให้กับกลไกการชำระเงินของระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน โดยจะลดภาระพี่น้องเกษตรกรด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคประชาชนที่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน โดยจะสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในทันที พร้อมกันกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ โดยวางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ด้วยการอำนวยความสะดวก ปรับปรุงขั้นตอนการขอวีซ่า และการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเป้าหมาย ผลักดันการพัฒนาการบริหารจัดการทุกขั้นตอนการบริการที่เป็นประตูสู่ประเทศไทย และเพิ่มปริมาณเที่ยวบินให้สามารถนำนักท่องเที่ยวมาได้มากขึ้น

ในกรอบระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลจะเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชน ผ่านการสร้างรายได้ด้วยการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก เพื่อเปิดประตูการค้าสู่ตลาดใหม่ ๆ โดยการออกไปพบผู้นำประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มสหภาพยุโรป กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง อินเดีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ รวมทั้งการเร่งการเจรจากรอบความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ (FTA) การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ด้วยการจัดทำ Matching Fund ระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพื่อลงทุนพัฒนา Start-up ที่มีศักยภาพให้เติบโตและแข่งขันได้ในระดับโลก รวมทั้งการพัฒนาต่อยอดเขตเศรษฐกิจพิเศษและระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาค ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่และเมืองให้เกิดการกระจายความเจริญและกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาค การพัฒนาเศรษฐกิจการค้าที่ถูกกฎหมายตามแนวชายแดน เพื่อสร้างเงิน สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชน และเป็นการบริหารสถานการณ์ภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ สนับสนุนให้เกิดเสถียรภาพและผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเหมาะสม การสร้างรายได้ในภาคการเกษตร โดยใช้หลักการ ตลาดนำ-นวัตกรรมเสริม-เพิ่มรายได้ ใช้การบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยนวัตกรรมเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) การวิจัยพัฒนาพันธุ์ เพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มมูลค่าผลตอบแทนต่อไร่ให้สูงขึ้น ตลอดจนการหาตลาดให้สินค้าเกษตรได้ขายในราคาที่เหมาะสม การฟื้นชีวิตอุตสาหกรรมประมง ให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประชาชน ด้วยการแก้ไขข้อกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสม อันเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลให้อยู่กับประเทศอย่างยั่งยืน การเปิดรับแรงงานต่างด้าวและกลุ่มผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการทรัพยากรบุคคลและแรงงานทั้งภาคการผลิต ภาคการบริการ ภาคการพัฒนาเทคโนโลยี ที่แรงงานกลุ่มดังกล่าวยังมีความจำเป็นในการสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

7 นโยบายด้านสังคม ประกอบด้วย การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ ทั้งทางถนน ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ เพื่อเปิดประตูค้าขายและเปิดโอกาสของประเทศไทยให้เพิ่มขึ้น และเป็นการสร้างประโยชน์จากสินทรัพย์ของประเทศและของประชาชน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ของโลก การให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ เพื่อสร้างโอกาสในการมีอาชีพ รายได้ และความมั่นคงในชีวิต โดยจะเร่งดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดิน มีชีวิตที่มั่นคง พิจารณาเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ให้เป็นโฉนด เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ นำมาพัฒนาที่ดินเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว การสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ของประเทศ ให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้ ผ่านการส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ทักษะ Soft Power รวมทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาต่อยอดศิลปวัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนการส่งเสริมและพัฒนาด้านกีฬาอย่างเป็นระบบ การปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาทั้งในด้านสังคม ด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และการวิจัยขั้นแนวหน้า ให้ความสำคัญต่อความมีคุณภาพของครูทั้งประเทศ รวมไปถึงการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของนักเรียน และเน้นดำเนินการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การสร้างความมั่นคงปลอดภัยทั้งภายในและภายนอกที่สอดคล้องกับสภาวะของโลก โดยสนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้างของหน่วยงานความมั่นคงให้มีความทันสมัยและสามารถตอบสนองต่อการคุกคามและภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ และการพัฒนากองทัพให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของประเทศพร้อมกับประชาชน การสร้างและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งสร้างความมั่นคงทางวัคซีนของประเทศในระยะยาว ตลอดจนการเข้าถึงบริการสาธารณสุขผ่านบัตรประชาชนใบเดียว สามารถเข้ารับบริการได้ทุกที่ทั่วประเทศไทย การสร้างความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มเปราะบาง คนพิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วย ‘สวัสดิการโดยรัฐ’ โดยการผลักดันให้มีกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ การสนับสนุนให้มีความร่วมมือระหว่างประชาชนที่มีความแตกต่างทางความคิด ศาสนา และอุดมการณ์ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข

3 นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย การส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นให้เหมาะสมกับประเภทและลักษณะของพื้นที่ และส่งเสริมให้เจ้าของที่ดินหรือชุมชนโดยรอบได้รับประโยชน์จากการเพิ่มพูนของระบบนิเวศ การขายคาร์บอนเครดิตอย่างยุติธรรม และได้รับการยอมรับจากระดับสากล การส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดสำหรับทุกคน โดยการส่งเสริมและเร่งฟื้นฟูความสมบูรณ์ของดินและน้ำ การรักษาความสมดุลของระบบนิเวศและอนุรักษ์ความหลากหลายพันธุ์สัตว์ป่า การแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมและมลภาวะ โดยเฉพาะเรื่องฝุ่นควัน PM2.5 รวมทั้งวางแผนรับมือและป้องกันวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality ที่เป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ และใช้การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเปิดประตูบานใหญ่สู่การค้าโลก ภายใต้กฎกติกาใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

3 นโยบายด้านธรรมาภิบาล ประกอบด้วย นโยบายเร่งด่วนในการแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ โดยจะหารือแนวทางในการทำประชามติที่ให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงการหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา เพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง การเปลี่ยนบทบาทของรัฐจากผู้กำกับดูแลเป็นผู้สนับสนุน จากเดิมที่เต็มไปด้วยกฎ ระเบียบ และข้อบังคับ มาเป็นการปลดล็อกข้อจำกัด เช่น การปลดล็อกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสุราพื้นบ้าน เพื่อสร้างโอกาสในการสร้างรายได้และเจริญเติบโตให้กับประชาชน การบริหารในรูปแบบของการกระจายอำนาจ (ผู้ว่า CEO) เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการบริหารงานในแต่ละจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการให้บริการมาเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใส ขจัดช่องโหว่ในการทุจริต ลดค่าใช้จ่าย และปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น

เมื่อพอจัดหมวดหมู่นโยบายในลักษณะนี้ได้ ไว้อีก 6 เดือนหลังจากการทำงานไประยะหนึ่งแล้ว จะถือโอกาสติดตามการดำเนินงาน โดยนำการประเมินตามเกณฑ์ ESG หรือ ESG Rating มาใช้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนไม่มากก็น้อย


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]