Thursday, December 24, 2009

CSR ไทย ไต่ระดับ

เมื่อพูดถึงความเคลื่อนไหว CSR ในประเทศไทย ก็มักจะมีข้อคำถามว่า สถานะของการพัฒนา CSR ของไทยไปถึงขั้นไหนแล้ว และจะยกระดับการพัฒนาให้เข้มข้นขึ้นกว่านี้ได้อย่างไร

ในคำถามแรก สถาบันไทยพัฒน์ได้เคยทำการสำรวจระดับของพัฒนาการ CSR โดยแยกเป็นภาคธุรกิจในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล กับในส่วนภูมิภาค เมื่อต้นปี 2552 ผลการสำรวจ พบว่า ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 27 เพิ่งเรียนรู้และทำความเข้าใจ ร้อยละ 53 ปฏิบัติได้ดีระดับหนึ่ง และร้อยละ 16 มีความก้าวหน้าดีมาก ขณะที่ในส่วนภูมิภาค ร้อยละ 45 เพิ่งเรียนรู้และทำความเข้าใจ ร้อยละ 40 ปฏิบัติได้ดีระดับหนึ่ง และร้อยละ 12 มีความก้าวหน้าดีมาก ที่เหลือตอบว่าไม่แน่ใจ

ส่วนในคำถามที่สอง สถาบันไทยพัฒน์ได้ประมวลข้อแนะนำ 4 ประการ สำหรับการขับเคลื่อน CSR ในประเทศไทย ไว้ในรายงานการศึกษาวิจัยเรื่อง “การดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบในประเทศไทย” (Responsible Business Conduct in Thailand) ที่เสนอต่อองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ CSR ที่ถูกต้องและทั่วถึง ด้านการบูรณาการเรื่อง CSR ให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร ด้านการสื่อสารเรื่อง CSR ที่สอดคล้องตรงตามความเป็นจริงและทันเวลา และด้านการส่งเสริมความริเริ่มรายสาขา (sectoral initiatives) ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีรายละเอียดของสิ่งที่ควรดำเนินการ ทั้งที่เป็นบทบาทของภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคการศึกษา และสื่อมวลชน แสดงไว้ในตาราง

1. การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ CSR ที่ถูกต้องและทั่วถึง
 สิ่งที่ควรดำเนินการ:
รัฐควรส่งเสริมให้มีการเผยแพร่องค์ความรู้เรื่อง CSR ทางสื่อต่างๆ เพื่อให้เกิดการรับรู้อย่างทั่วถึง รวมทั้งสนับสนุนการจัดอบรมให้แก่ผู้ประกอบการโดนเฉพาะ SMEs
เอกชนควรจะมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้าน CSR โดยมีองค์กรอย่างเช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย เป็น facilitator เนื่องจากมีเครือข่ายสมาชิกกระจายอยู่ทั่วประเทศ
ส่งเสริมให้ภาคการศึกษาโดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาผลิตตำราและสื่อการเรียนรู้ด้าน CSR อย่างเป็นระบบ และสร้างให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ รวมทั้งการผลิตงานวิจัยด้าน CSR ร่วมกับนักวิชาการต่างประเทศ

2. การบูรณาการเรื่อง CSR ให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร
 สิ่งที่ควรดำเนินการ:
รัฐควรสร้างให้เกิดบรรยากาศการดำเนินงาน CSR ด้วยการสร้างสิ่งจูงใจหรือมาตรการทางการเงินการคลังที่สนับสนุนให้องค์กรธุรกิจผนวกเรื่อง CSR ไว้ในกระบวนการทางธุรกิจ ทั้งนี้ เพื่อยกระดับให้เกิดเป็นขบวนการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบอย่างกว้างขวาง
กิจการควรมีการกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานด้าน CSR ที่เหมาะสมกับองค์กร รวมทั้งการเสริมสร้างสมรรถภาพการดำเนินงาน CSR อย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับศักยภาพที่มีอยู่ขององค์กร
ควรมีการพัฒนาระบบจัดการและมาตรการทั้งในระดับองค์กร ระดับสายงาน และระดับบุคคลเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดการดำเนินงานด้าน CSR ให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร

3. การสื่อสารเรื่อง CSR ที่สอดคล้องตรงตามความเป็นจริงและทันเวลา
 สิ่งที่ควรดำเนินการ:
รัฐควรสร้างเครื่องมือในการเฝ้าสังเกต (monitor) และควบคุมสื่อที่เข้าข่ายการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่เกินจริง การนำเสนอกิจกรรมเพื่อสังคมที่สร้างให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยเฉพาะกิจการที่ดำเนินธุรกิจอบายมุข และที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อสังคมอย่างร้ายแรง
ธุรกิจควรมีการประเมินผลการสื่อสารเรื่อง CSR ที่ไม่ก่อให้เกิดผลในทางลดทอนคุณค่าการดำเนินงาน CSR ที่แท้จริงลง และคำนึงถึงการสื่อสารที่ตอบสนองและครอบคลุมถึงความสนใจของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง
สื่อมวลชนควรทำหน้าที่เป็นหน้าด่านในการเป็นผู้นำเสนอตัวอย่างที่ดีแก่สังคม และคัดกรองเนื้อหาที่ไม่ถูกต้อง โดยไม่วางเฉย รวมทั้งต้องไม่ให้อิทธิพลของธุรกิจอยู่เหนือสำนึกรับผิดชอบในทางที่รับใช้หรือให้บริการโดยคำนึงถึงเพียงเม็ดเงินโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่จะได้รับ

4. การส่งเสริมความริเริ่มรายสาขาในกลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญ
 สิ่งที่ควรดำเนินการ:
รัฐควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจส่งออก โดยเฉพาะเครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า และยานยนต์ ได้ศึกษาเตรียมความพร้อมหรือเข้าร่วมในความริเริ่มในรายสาขาดังกล่าว
SMEs ในกลุ่มธุรกิจส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการด้าน CSR ของคู่ค้าในต่างประเทศ ควรจะให้ความสำคัญกับมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มอัญมณี พลาสติก และยาง
หน่วยงานอย่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือหอการค้าไทย ควรทำงานเชิงรุกในการสร้างความรู้ความเข้าใจในบริบทการค้าโลกยุคใหม่ที่มีการนำเรื่อง CSR มาเป็นเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่สมาชิกอย่างทั่วถึง

(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Monday, December 14, 2009

เมื่อพบว่า การให้ ≠ การได้รับ

องค์กรธุรกิจต้องยอมรับสภาพความเป็นจริงที่ว่า ปัญหาทางสังคมหรือความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับองค์กรนั้น มีการเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา ฉะนั้นโอกาสที่ทิศทางการดำเนินงาน CSR ตลอดจนแผนงานและกิจกรรมที่องค์กรได้กำหนดขึ้น จะไม่ตรงกับความต้องการหรือปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเช่นกัน

อุปสรรคในการดำเนินงาน CSR ที่ไม่เข้าตาของสังคมอีกประการหนึ่งก็คือ การมุ่งเน้น “ผลผลิต” (output) จากการดำเนินงาน CSR หรือผลที่องค์กรจะให้แก่สังคม มากกว่า “ผลลัพธ์” (outcome) จากการดำเนินงาน หรือผลที่สังคมจะได้รับจากองค์กร จึงทำให้การออกแบบกระบวนการดำเนินงานมิได้ตอบโจทย์ในสิ่งที่ควรจะเป็นอย่างแท้จริง

ตัวอย่างเช่น การไปให้ความรู้แก่ชาวบ้านในชุมชน บ่อยครั้งที่ เราได้ไปให้ความรู้แก่ชาวบ้านจริง แต่ชาวบ้านเข้าใจหรือนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้จริงหรือไม่ การตั้งคำถามลักษณะนี้ จะทำให้เกิดการพัฒนาตัววิทยากรและกระบวนการ (โดยไม่อ้างว่า ชาวบ้านไม่รู้หนังสือจึงไม่เข้าใจ แต่จะหันกลับมาทบทวนตัวเองว่า เหตุใดเราจึงถ่ายทอดให้ชาวบ้านเข้าใจไม่ได้) หรือการออกคลีนิกหรือหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หากวัดที่ผลผลิตก็คือ ได้ไปตรวจรักษาให้ชาวบ้านครบตามจำนวน ตามเวลา แต่ชาวบ้านจะหายหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งสิ่งนี้ก็คือ ผลลัพธ์ที่พึงจะได้ตามที่เรามุ่งหมายให้มีโครงการนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นนั่นเอง

การออกแบบการประเมินการดำเนินงาน CSR จึงควรสนับสนุนให้มีตัวชี้วัดการดำเนินงาน ที่มุ่งผลลัพธ์มากกว่าผลผลิต และพิจารณาใช้เครื่องมือในการจัดการและวัดผลการดำเนินงานเพื่อยกระดับการดำเนินงาน CSR โดยมีการตรวจสอบเกณฑ์ดำเนินงานให้สอดคล้องกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่อง

การวัดผลเรื่อง CSR อย่างมีสัมฤทธิภาพ ซึ่งมุ่งวัดผลการดำเนินงานที่เป็นผลลัพธ์ มากกว่าผลผลิต อาจใช้วิธีตั้งคำถามง่ายๆ ว่า ในการดำเนินงาน CSR ขององค์กรนั้น สังคมที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย “เขาได้รับอะไรจากเรา” มากกว่าที่จะวัดว่า “เราได้ให้อะไรกับเขา” เนื่องจากในระหว่างทาง จะมีทั้งสิ่งรบกวน (noise) และการรั่วไหล (leak) ต่างๆ นอกเหนือจากคุณภาพของผู้ให้และผู้รับ ที่เป็นปัจจัยซึ่งต้องได้รับการควบคุมและจัดการอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ หากองค์กรได้เข้าใจถึงความแตกต่างของคำถามทั้งสองนี้อย่างลึกซึ้ง จะทำให้กระบวนการในการดำเนินงาน CSR ที่จะเกิดขึ้น มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง....(จากคอลัมน์ บริหารธุรกิจ-บริบาลสังคม) External Link [Archived]

 ฟังบทสัมภาษณ์เรื่องเดียวกันในรายการลับคมธุรกิจ (14 ธ.ค. 52)

Thursday, December 10, 2009

คันฉ่องส่อง CSR ไทย

สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่อง CSR ในเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง ได้นำเสนอรายงานการศึกษาวิจัยเบื้องต้นในหัวข้อ "การดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบในประเทศไทย" (Responsible Business Conduct in Thailand)บนเวทีการประชุมระดับภูมิภาคเรื่องความรับผิดชอบของกิจการ (Corporate Responsibility) ในหัวข้อ "Why Responsible Business Conduct Matters" ในโอกาสที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (UN ESCAP) ร่วมกับ ILO, UN Global Compact และ GRI ได้เข้ามาจัดงานสัปดาห์การค้าและการลงทุนภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งมีสาระสำคัญๆ ที่สรุปได้ดังนี้

ในผลการศึกษาส่วนแรกได้ชี้ให้เห็นถึงสัดส่วนของวิสาหกิจขนาดใหญ่ (LEs) เทียบกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่เป็นปัจจัยเบื้องต้นในการวางทิศทางการขับเคลื่อน RBC ในประเทศไทย เนื่องจากในทางปฏิบัติระดับของการทำ CSR ระหว่าง LEs และ SMEs จะมีความแตกต่างกันตัวเลขของวิสาหกิจทั้งหมดในประเทศไทยในปี 2551 มีจำนวน 2,836,377 แห่ง เป็น LEs 4,586 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 0.2 และ SMEs 2,827,633 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 99.7 (ที่เหลือร้อยละ 0.1 ไม่ได้ระบุ)

การกระจายตัวของวิสาหกิจตามภูมิศาสตร์ พบว่าร้อยละ 70 ของ LEs อยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ที่เหลือร้อยละ 30 อยู่ในภูมิภาค ขณะที่ร้อยละ 30 ของ SMEs อยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ที่เหลือร้อยละ 70 อยู่ในภูมิภาค

หากพิจารณาบทบาทของวิสาหกิจตามขนาดกิจการที่มีต่อมูลค่า GDP ในปี 2551 พบว่า LEs มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 46.3 หรือ 4.21 ล้านล้านบาท ขณะที่ SMEs มีสัดส่วนอยู่ร้อยละ 37.9 หรือ 3.45 ล้านล้านบาท

เมื่อพิจารณาในส่วนของการจ้างงาน ในปี 2550 มีการจ้างงานในกิจการทุกขนาดรวมทั้งสิ้น 11.71 ล้านคน โดยเป็นการจ้างงานใน LEs จำนวน 2.81 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 24 และเป็นการจ้างงานในSMEs จำนวน 8.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 76 ของการจ้างงานรวมทั้งหมด

เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลสถิติในเชิงภูมิศาสตร์ มูลค่า GDP และสัดส่วนการจ้างงานของวิสาหกิจขนาดใหญ่ เทียบกับ SMEs เพื่อใช้ในการขับเคลื่อน CSR พบว่า
ทั้ง LEs และ SMEs มีบทบาทสำคัญในมูลค่า GDP ของประเทศ
SMEs ก่อให้เกิดการสร้างงานและนำไปสู่การกระจายรายได้ในสัดส่วนที่มากกว่า LEs 3 เท่า
ทิศทางการขับเคลื่อน CSR ใน LEs ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70) จะเกิดขึ้นในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ขณะที่สำหรับ SMEs ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70) จะเกิดขึ้นในภูมิภาค

ในการสำรวจการรับรู้ในเรื่อง CSR ขององค์กรธุรกิจใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รู้จัก CSR ในสัดส่วนร้อยละ 69.54 และไม่รู้จัก CSR มาก่อน ร้อยละ 30.46 ขณะที่ในส่วนภูมิภาค รู้จัก CSR ในสัดส่วนร้อยละ 38.32 และไม่รู้จัก CSR มาก่อน ร้อยละ 61.68 ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 4,350 คน

การที่ผู้ประกอบการตอบว่าไม่รู้จัก CSR มาก่อนนั้น มิได้หมายความว่า ในองค์กรมิได้มีการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม เพียงแต่ไม่ทราบว่าสิ่งที่ตนเองหรือหน่วยงานดำเนินอยู่นั้นเรียกว่า CSR ซึ่งคำเรียกที่องค์กรเหล่านี้คุ้นเคยกว่า ได้แก่ ธรรมาภิบาล, จริยธรรมทางธุรกิจ, การดำเนินงานที่เป็นธรรม, ความรับผิดชอบในตัวผลิตภัณฑ์, การช่วยเหลือสังคม, การบริจาค, การอาสาสมัคร ซึ่งกิจกรรมหรือการดำเนินงานเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งของ CSR ทั้งสิ้น

คำกล่าวนี้ยืนยันได้ด้วยข้อพิสูจน์ จากการสำรวจความเข้าใจของผู้ประกอบการ หลังจากที่ได้อธิบายชี้แจงว่า สิ่งที่องค์กรได้ปฏิบัติอยู่นั้น จัดเป็นเรื่องของ CSR โดยผลสำรวจปรากฏว่า ร้อยละ 96 ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 3,853 คนจากทั่วประเทศ มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น

ข้อพิจารณาในการขับเคลื่อน CSR ของแต่ละภูมิภาคและในรายจังหวัด ควรจะมีจุดเน้นและกิจกรรมที่มีความแตกต่างกัน เนื่องจากระดับของการรับรู้และการพัฒนา CSR ที่ไม่เท่ากัน รวมทั้งการคำนึงถึงบริบทสังคมและวิถีของท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบหลัก

ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ความเกี่ยวเนื่องกับลักษณะและประเภทของธุรกิจในแต่ละถิ่นที่ตั้ง รวมทั้งความเกี่ยวโยงกับสายอุปทาน (Supply Chain) ของกิจการนั้นๆ เพราะ CSR สำหรับกิจการที่ประกอบธุรกิจต่างสาขาหรือต่างอุตสาหกรรม จะส่งผลกระทบต่อสังคมหรือเกิดเป็นประเด็นทางสังคมที่แตกต่างกัน

สำหรับข้อแนะนำในการขับเคลื่อน CSR ประเทศไทย จะเสนอในโอกาสต่อไปทางหน้าต่าง CSR บานนี้ที่จะเริ่มเปิดให้บริการพยับแดดและสายลมแห่งความรับผิดชอบต่อสังคมจากนี้ไปครับ!....(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]