Thursday, October 27, 2011

อะไรควร-ไม่ควร ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

จนถึงขณะนี้ วิกฤติการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะทุเลาเบาบางลง พื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบขยายวงกว้างเพิ่มขึ้น ผู้ได้รับผลกระทบมีจำนวนมากขึ้น ขณะเดียวกัน น้ำใจและความช่วยเหลือจากผู้ที่มีจิตอาสาและองค์กรในภาคต่างๆ ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย

การเข้าช่วยเหลือจากอาสาสมัครมีอย่างท่วมท้น ไม่แพ้ปริมาณน้ำที่เอ่อท่วมแม้แต่น้อย ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า คนไทยจะสามารถฝ่าวิกฤตการณ์ที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงครั้งนี้ให้ผ่านพ้นไปได้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี ด้วยปริมาณความช่วยเหลือที่มาจากทั่วสารทิศ และไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้เช่นนี้ หากองค์กรที่เป็นแกนในการให้ความช่วยเหลือหลัก ขาดความสามารถในการบริหารจัดการด้วยการวางกลไกและระบบรองรับให้มีประสิทธิภาพอย่างทันท่วงที ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาในอีกมิติหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในเอกสาร “Integrated Flood Risk Management in Asia” ที่จัดทำขึ้นโดย ADPC (Asian Disaster Preparedness Center) และ UNDP ได้ให้ข้อแนะนำในการเข้าให้ความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินแก่องค์กรหรือภาคีต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจ และคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งแก่องค์กรที่เป็นแกนในการให้ความช่วยเหลือหลัก และองค์กรเข้าร่วมให้ความช่วยเหลือในระดับต่างๆ ไม่มากก็น้อย จึงนำมาเรียบเรียงเผยแพร่ไว้ ณ ที่นี้

DoDon't
พิจารณาบริจาคตามคำร้องขอถึงสิ่งที่ต้องการ และหลีกเลี่ยงการบริจาคสิ่งที่ไม่ต้องการอย่าสันนิษฐานถึงสิ่งที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือเอาเอง
คิดให้ถ้วนถี่ถึงความสามารถที่จะตอบสนองต่อความต้องการของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอย่างมีประสิทธิผล ตามคำขอความช่วยเหลือที่เป็นไปตามการประเมินความต้องการขั้นต้นอย่าตอบสนองเพื่อหวังโฆษณาออกสื่อ
กรณีที่ประสงค์จะช่วยเหลือ จัดเตรียมการตอบสนองให้ทันต่อเวลาอย่าไปถึงล่าช้า โดยเฉพาะการค้นหาผู้ประสบภัยและให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ เป็นกรณีที่ต้องรีบดำเนินการในช่วงแรกของภาวะฉุกเฉิน
จดบันทึกการให้ความช่วยเหลือต่างๆ พร้อมสำหรับการชี้แจงถึงการตัดสินใจและการดำเนินการอย่าใช้ภาวะฉุกเฉินเป็นช่องทางในการโฆษณาหรือส่งเสริมการดำเนินการขององค์กร เช่น การจำลองเหตุการณ์ช่วยเหลือเพื่อการประชาสัมพันธ์
ทำการประเมินและวิจัยที่นำไปสู่โครงการซึ่งตอบความต้องการและอยู่ในวิสัยที่องค์กรสามารถดำเนินการอย่าจัดให้มีกิจกรรมความช่วยเหลือตามสิ่งจูงใจที่เป็นตัวเงินจากองค์กรผู้บริจาค และองค์กรที่บริจาคไม่ควรแข่งขันกันเพียงเพื่อสนองความต้องการที่เห็นเด่นชัดสุดในพื้นที่
สร้างโครงข่ายและสื่อกลางสำหรับการติดต่อสื่อสารและสนทนาสองทางอย่ากันผู้ประสบภัยออกจากการวางแผนกิจกรรมให้ความช่วยเหลือและการฟื้นฟู
พิจารณาผลกระทบโครงการที่มีต่อสิ่งแวดล้อม จัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)อย่าทำลายสิ่งแวดล้อม
คำนึงถึงความสัมพันธ์และโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่ในชุมชนอย่าสร้างมูลเหตุแห่งความตึงเครียดในชุมชน ด้วยการละเลยโครงสร้างเชิงสังคม
ให้แน่ใจว่าโครงการ ตอบสนองความต้องการของผู้รับ มิใช่ความต้องการของผู้บริจาคอย่าเร่งรัดให้ดำเนินโครงการ โดยปราศจากการประเมินอย่างเข้มงวด
เข้าร่วมรับฟังหารือระดับองค์กรกับภาคีต่างๆ ขึ้นทะเบียนกับองค์กรช่วยเหลือหลักเมื่อมีคำขอ แลกเปลี่ยนข่าวสาร รวมทั้งการให้ความร่วมมือ การทำงานร่วมกัน และการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนดำเนินงานในส่วนที่เป็นไปได้อย่าเพิกเฉยคำขอของภาครัฐ และองค์กรช่วยเหลือหลักในพื้นที่ประสบภัย
เคารพในวิถีแห่งวัฒนธรรม และพิจารณาถึงข้อกระทบที่มีกับโครงการ อาทิ การออกแบบศูนย์อพยพ รูปแบบที่พักพิงอย่าละเลยบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม อาทิ เครื่องแต่งกายที่เหมาะสม จารีตทางศาสนา และวิถีชีวิตตามประเพณี
คำนึงถึงความเป็นอยู่ของบุคลากรผู้ให้ความช่วยเหลือ ในด้านการพักผ่อน สุขภาพจิต อาหาร น้ำอย่าให้บุคลากรผู้ให้ความช่วยเหลือ ตรากตรำทำงานจนเกินขีดจำกัด
ตระเตรียมปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินงานจำเพาะหน้าให้ลุล่วง เช่น การนำอุปกรณ์ที่ถูกต้องและบุคลากรที่มีทักษะเหมาะสม เข้าให้ความช่วยเหลืออย่าหลงลืมว่าการจัดหาหรือให้ความช่วยเหลือนั้น เป็นจุดมุ่งหมายหลักที่มีต่อผู้ประสบภัย

...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, October 13, 2011

ธุรกิจทำอะไรได้บ้าง นอกจากการบริจาค

ประเทศไทยกำลังประสบกับพิบัติภัยทางน้ำที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ขณะนี้พื้นที่กว่า 60 จังหวัดได้รับผลกระทบ และประชาชนมากกว่า 2 ล้านคนได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ในครั้งนี้

การรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติจากการประมวลของ World Economic Forum (A Vision for Managing Natural Disaster Risk, April 2011) ได้จำแนกระยะของการดำเนินการออกเป็น 4 ขั้น คือ การลดหรือการบรรเทาความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Reduction/Mitigation) การตระเตรียมความพร้อม (Readiness/ Preparedness) การตอบสนอง (Response) และการฟื้นฟูจากภัยพิบัติ (Recovery)

บทบาทของภาคีผู้มีส่วนได้เสียต่อการรับมือกับภัยพิบัติ

แน่นอนว่า บทบาทในการรับมือกับภัยพิบัติ มิได้จำกัดอยู่เพียงแค่ภาครัฐ แต่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนในสังคม ที่รวมถึงภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ตลอดจนประชาคมนานาชาติ เพียงแต่ระดับของการมีส่วนร่วมในแต่ละระยะจะมีความแตกต่างกันออกไป

อุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ณ ขณะนี้ กำลังเข้าระยะของการตอบสนอง (Response) ที่ซึ่งบทบาทของภาครัฐและภาคประชาสังคม (หน่วยกู้ภัยและอาสาสมัครในด้านต่างๆ) มีความสำคัญที่สุด และที่เราได้รับข้อมูลเข้ามาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คือ การยื่นมือเข้าร่วมช่วยเหลือจากประชาคมนานาชาติ ซึ่งก็เป็นไปตามแนวทางการรับมือกับภัยพิบัติที่เป็นสากลนั่นเอง

สำหรับภาคธุรกิจ ความช่วยเหลือในระยะนี้ จะอยู่ในรูปของการบริจาคเงิน สิ่งของเครื่องใช้ โดยเฉพาะที่เป็นปัจจัยสี่ จะมีความสำคัญ ทั้งนี้ บทบาทของภาคธุรกิจจะทวีความสำคัญมากขึ้นในช่วงของการฟื้นฟู (Recovery) ที่ซึ่งความช่วยเหลือจะแปรสภาพจากการบริจาคไปเป็นความช่วยเหลือในรูปแบบอื่น เช่น การซ่อมแปลงหรือสร้างใหม่ (Rebuild) ในบริเวณที่ได้รับความเสียหาย การถอนย้ายหรือการหลบหลีก (Retreat) มายังพื้นที่ใหม่

โปรดระลึกว่า “ธุรกิจไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ในสังคมที่ล้มเหลว” (Business cannot succeed in a society that fails...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, October 06, 2011

มาเพิ่มอุปนิสัยสีเขียวกันเถอะ

เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันไทยพัฒน์ ร่วมกับเอ็นบีซี และดีแทค จัดเสวนาฉีกกรอบคิดกับคนรุ่นใหม่ หัวข้อ "7 Green Habits" เรียนรู้แนวคิดแนวปฏิบัติของ 4 องค์กรต้นแบบ: เอสซีจี บางจาก กสิกรไทย และพฤกษาเรียลเอสเตท พร้อมร่วมส่งเสริม 7 อุปนิสัยสีเขียวในกลุ่มคนรุ่นใหม่

อุปนิสัยสีเขียว (Green Habits) เป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคที่แสดงออกถึงความห่วงใยในความปลอดภัย สุขอนามัย และคุณภาพชีวิต ภายใต้วิถีแห่งการบริโภคที่ยั่งยืนซึ่งเป็นกระแสหลักของโลก จนเป็นเหตุให้องค์กรธุรกิจจำต้องปรับปรุงและพัฒนากระบวนการดำเนินงาน สายผลิตภัณฑ์ รวมทั้งบริการต่างๆ ที่อิงกับ Green Habits เพิ่มขึ้น

อุปนิสัยแห่งการลด (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เป็นพฤติกรรมที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากร การบริโภคผลิตภัณฑ์ และการจัดการของเสีย ที่มีการรณรงค์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง

สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดทำหนังสือ 7 อุปนิสัยสีเขียว หรือ 7 Green Habits โดยได้เพิ่มเติมอุปนิสัยแห่งการคิดใหม่ (Rethink) การปฏิเสธ (Refuse) การปรับสภาพ (Recondition) และการคืนกลับ (Return) ที่เป็นการทบทวนและปรับเปลี่ยนกิจกรรมทั้งในกระบวนการทำงานและในการดำเนินชีวิตในทิศทางที่ก่อให้เกิดผลดีกับโลก

Rethink
ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อเรามีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง กระแสการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมจะไม่เกิดผลสำเร็จใดๆ หากทุกคนที่ได้รับฟังข้อมูลไม่ตระหนักว่าตนเองต้องเปลี่ยนแปลง การคิดใหม่ ไม่จำเป็นต้องสร้างหรือนำเสนอสิ่งใหม่ (Reinvent) ที่ต้องเริ่มจากศูนย์เสมอไป การต่อยอดขยายผลหรือปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่เดิมด้วยความคิดใหม่ อาจดีกว่า ประหยัดกว่า และทุ่นเวลากว่าการต้องเริ่มใหม่ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ เมื่อคิดได้แล้ว ต้องลงมือทำ

Refuse
การปฏิเสธเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดไม่ให้ถูกนำมาใช้หรือถูกทำลายเร็วขึ้น และเพื่อให้เวลาธรรมชาติในการฟื้นสภาพตัวเองตามระบบนิเวศ เริ่มจากสิ่งนอกตัว เช่น สินค้าฟุ่มเฟือย สิ่งที่เราต้องเติมใส่ร่างกาย เช่น อาหารนำเข้า จนถึงสิ่งที่อยู่ข้างในกาย คือ จิตใจ เพราะเมื่อจิตร้อน กายก็ร้อน สิ่งรอบข้างก็ได้รับกระแสร้อน สุดท้ายทั้งโลกก็ร้อนขึ้น

Recondition
ของหลายอย่างสามารถปรับแต่งซ่อมแซม (Repair) แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ดังเดิม จงพยายามใช้ของให้ถูกวิธีเพื่อหลีกเลี่ยงการชำรุดเสียหายก่อนเวลาอันควร และหากสิ่งของใดมีกำหนดเวลาที่ต้องบำรุงรักษา ให้หมั่นตรวจสอบและปฏิบัติตามตารางการบำรุงรักษา เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น ขณะที่อุปกรณ์บางจำพวกอาจต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนหรือทดแทน (Replace) ด้วยอุปกรณ์รุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่า เช่น เครื่องปรับอากาศ เพื่อลดการสิ้นเปลืองค่าไฟฟ้า และประหยัดพลังงาน

Return
หน้าที่หนึ่งของมนุษย์ในฐานะผู้อาศัยโลกเป็นที่พักพิง คือ การตอบแทนคืนแก่โลก ใครใช้ทรัพยากรใดจากธรรมชาติเยอะ ก็ต้องคืนทรัพยากรนั้นกลับให้มากๆ ผลกระทบใดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการดำเนินงาน ก็ต้องพยายามฟื้นฟู ทำให้คืนสภาพ หรือทำให้สมบูรณ์ (Replenish) ดังเดิม เมื่อใดที่ริเริ่มเป็นผู้ให้ได้โดยมิต้องบังคับหรือร้องขอ เมื่อนั้นเราก็จะได้รับกลับคืนอย่างไม่ต้องสงสัยเช่นกัน

นอกจากการประมวลเนื้อหา 7 อุปนิสัยการดำเนินชีวิตและการทำงานที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมแล้ว หนังสือเล่มนี้ ยังได้รวบรวมแบบทดสอบอุปนิสัยที่จะช่วยในการสำรวจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นด้วย

หน่วยงานที่สนใจสามารถติดต่อขอรับได้ที่สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในวันและเวลาทำการ ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]