Wednesday, October 14, 2009

รางวัลโนเบลว่าด้วยธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจ

เศรษฐศาสตร์ควรได้รับการพิจารณาในมุมมองที่เป็นสหวิทยาการทางสังคมศาสตร์มากกว่าเป็นเพียงศาสตร์ที่ถูกกำกับด้วยตัวเลขทางคณิตศาสตร์โดยลำพัง

เรามักถูกครอบงำด้วยความคิดที่เป็นเศรษฐศาสตร์ในกรอบทฤษฎีของตลาด ที่เปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพและสามารถดูแลตัวเองได้ งานของออสตรอมและวิลเลียมสัน ผู้ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2009 ได้ขยายความคิดจากทฤษฎีตลาด (Market theory) ไปสู่พฤติกรรมที่เป็นจริง (Actual behavior)

ที่ผ่านมา แนวคิดในการสงวนรักษาทรัพย์สินสาธารณะให้คงสภาพดี มีประสิทธิภาพ มี 2 แนวทางหลักคือ การออกกฎหมายควบคุมโดยรัฐ (Regulation) เช่น การกำหนดบทลงโทษ มาตรการทางภาษี หรือการให้สัมปทาน ฯลฯ กับการโอนกรรมสิทธิ์ให้เป็นของเอกชน (Privatization) ด้วยสมมติฐานว่า ผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์จะมีแนวโน้มในการดูแลรักษาทรัพย์สินนั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากตนเองเป็นเจ้าของ แต่ในความเป็นจริง กลับส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการดำรงชีพของผู้คนจำนวนมาก

งานของออสตรอมเกี่ยวข้องกับแนวคิด "ของสาธารณะ" (Commons) ที่มีเจ้าของร่วม ใช้ประโยชน์ร่วมกัน จึงต้องมีการร่วมกันรักษา เช่น กรณีของป่าชุมชน ที่ไม่มีใครได้รับเอกสิทธิ์ แต่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของชุมชน เมื่อชุมชนตระหนักถึงความอยู่รอดร่วมกันในระยะยาว ชุมชนจะมีการใช้สอยประโยชน์จากป่าร่วมกัน มีการพัฒนากฎเกณฑ์สำหรับกำกับพฤติกรรมกันเอง (Self-organization) และเป็นส่วนที่ทฤษฎีตลาดมาตรฐานเข้าไปไม่ถึง สิ่งที่ออสตรอมได้แสดงให้เห็นในงานของเธอ คือการใช้กลไกควบคุมทางสังคมที่กำกับการใช้ประโยชน์สิ่งสาธารณะโดยปราศจากการแปลงสิทธิในทรัพย์สินสาธารณะนั้น

งานของวิลเลียมสันเกี่ยวข้องกับการศึกษา "แนวเขตของกิจการ" (Boundaries of the firm) ที่พบว่า การที่กิจการขนาดใหญ่ดำรงอยู่ก็เพราะมันเป็นเครื่องมือประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจบนเงื่อนไขที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี กิจการเหล่านี้อาจมีการใช้พลังอำนาจไปในทางที่ผิด เช่น การวิ่งเต้นทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ รวมถึงพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการแข่งขัน

หากกิจการโรงผลิตไฟฟ้าใช้เชื้อเพลิงถ่านหินตั้งอยู่ใกล้กับกิจการเหมืองถ่านหินซึ่งมีแหล่งเดียวในพื้นที่ การผนวกกิจการทั้งสองย่อมมีความสมเหตุสมผล แต่หากมีเหมืองถ่านหินหลายแห่งในละแวกนั้น การผนวกกับหนึ่งในกิจการเหมืองถ่านหินสามารถกัดกร่อนความได้เปรียบจากการปล่อยให้กิจการเหล่านั้นแข่งขันกันป้อนวัตถุดิบให้แก่ธุรกิจโรงไฟฟ้า นั่นแสดงว่า หากเราเลือกที่จะรวมกิจกรรมซึ่งตอบสนองโดยตลาดได้ดีอยู่แล้ว เราอาจกำลังสูญเสียความได้เปรียบบางอย่างไป

สาเหตุของการรวมกิจกรรมต่างๆ ไว้ภายในองค์การ ก็เพราะการทำธุรกรรมในตลาดเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรที่ต้องการนั้น มีต้นทุนหรือภาระภาษี ซึ่งหลีกเลี่ยงได้ด้วยการย้ายธุรกรรมนั้นๆ เข้ามาไว้ในกิจการ เป็นเรื่องของการตัดสินใจที่จะ "ทำเองหรือซื้อ" (make-or-buy)

ที่ผ่านมา องค์กรที่มีลำดับชั้นบังคับบัญชา (Hierarchical organization) ถูกเลือกเพื่อแก้ข้อขัดแย้ง เพราะในองค์การ เมื่อพนักงานเกิดเห็นไม่ลงรอยกันในการใช้ทรัพยากรของกิจการ ผู้บังคับบัญชาจะเป็นผู้ตัดสินว่าควรจะใช้ไปในทางใด แต่ในตลาด คู่กรณีจะต้องเจรจาต่อรองกันจนกว่าจะได้ข้อยุติ ซึ่งเป็นการสูญเสียทั้งเวลาและเม็ดเงิน แต่หากตลาดมีทางเลือกของสัญญาที่ใช้บังคับได้ระหว่างกันเอง หรือเกิดมีคู่ค้ารายใหม่ๆ กิจการแบบมีลำดับชั้นที่ซับซ้อนก็มีความจำเป็นน้อยลง

ทั้งนี้ กฎที่มาจากภายนอกหรือกำหนดลงมาจากผู้มีอำนาจทางเดียวจะขาดความชอบ และมีความเป็นไปได้สูงต่อการถูกละเมิด เช่นเดียวกับการสังเกตติดตามและการบังคับการปฏิบัติงานที่ควรจะดำเนินโดยคนในองค์กรมากกว่าบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นหลักการที่สวนทางกับสามัญสำนึกว่าการเฝ้าสังเกต และการแทรกแซงต้องเป็นบทบาทของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ไม่ใช่ว่าออสตรอมหรือวิลเลียมสันจะต่อต้านเรื่องกฎระเบียบ ตรงกันข้าม งานของทั้งสอง ชี้ให้เห็นว่าคนในองค์กรได้มีการนำเอากติกาและกฎเกณฑ์หลากหลายรูปแบบมาใช้ในการกำกับพฤติกรรม เพียงแต่เป็นไปโดยอิสระจากข้อกำหนดกฎหมายของรัฐหรือจากผู้บังคับบัญชาในองค์กรนั่นเอง....(จากคอลัมน์ บริหารธุรกิจ-บริบาลสังคม) External Link