Tuesday, April 24, 2007

"แก้มลิง" ทางการเงิน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชกระแสอธิบายว่า ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือ เต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำพฤติกรรมของลิงที่นำกล้วยมาสะสมไว้ที่กระพุ้งแก้มก่อนกลืนกินเป็นตัวอย่างในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขัง โดยมีพระราชดำริให้กรมชลประทานก่อสร้างบ่อพักน้ำขนาดใหญ่บริเวณใกล้ชายทะเล เพื่อรองรับน้ำท่วมที่ไหลมาตามลำคลองธรรมชาติและคลองขุดใหม่ และก่อสร้างประตูระบายน้ำ เพื่อระบายน้ำลงทะเลในช่วงที่น้ำทะเลลดลง ปิดประตูระบายน้ำเมื่อน้ำทะเลขึ้น เพื่อป้องกันมิให้น้ำทะเลไหลเข้ามาท่วมพื้นที่

จากแนวคิดแก้มลิงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ โดยการพักน้ำในลักษณะ “แก้มลิง” ที่ช่วยเสริมให้การแก้ไขและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ได้เปิดโอกาสให้พสกนิกรเห็นแนวทางในการนำเอาแนวคิดแก้มลิงมาประยุกต์ใช้กับการแก้ไขปัญหาในเรื่องอื่นๆ ได้อีก อาทิ การแก้ไขและป้องกันปัญหาหนี้สิน โดยเปรียบเทียบการไหลออกของเงินในกระเป๋า คล้ายกับการไหลบ่าของน้ำที่สร้างปัญหา หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี

หลักการ "แก้มลิง" ทางการเงิน
ในการบริหารจัดการเงินรายได้ของบุคคลหนึ่งๆ มีหลักทั่วไปอยู่ว่า รายได้ที่หามาได้จะถูกนำมาใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีวิต ที่เหลือจากการใช้จ่ายจึงเก็บเป็นเงินออม ภายใต้สมการง่ายๆ ว่า “รายได้ – รายจ่าย = เงินออม” แต่สิ่งที่ปรากฏจริงในวิถีชีวิตของผู้คนภายใต้กระแสวัตถุนิยมในปัจจุบันที่มุ่งแต่กระตุ้นให้บริโภคใช้จ่ายอย่างเกินตัว ทำให้ไม่สามารถเหลือเงินจากการใช้จ่ายมาเก็บออมได้ สมการที่ว่าจึงกลายเป็น “รายได้ – รายจ่าย = หนี้สิน”

การแก้ไขปัญหาในเบื้องแรกนั้น จำต้องปลูกฝังทัศนคติของการออมเงินก่อนการใช้จ่ายหรือสร้างค่านิยมให้เกิดการออมเงินส่วนหนึ่งขึ้นมาก่อนใช้จ่าย โดยดัดแปลงสมการเป็น “รายได้ – เงินออม = ค่าใช้จ่าย” ทั้งนี้ เพื่อสร้างวินัยทางการเงินให้เกิดเป็นภูมิคุ้มกันต่อกระแสบริโภคนิยมขึ้นในระดับหนึ่ง เสมือนกับการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉินหรือเมื่อประสบภัยแล้ง ในขั้นแรกนี้ จึงเป็นเรื่องของการบริหารจัดการในส่วนที่เป็นเงินออม

ขั้นต่อมาเป็นเรื่องของการบริหารจัดการในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่าย โดยมีหลักอยู่ว่า ท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมที่ประชาชนถูกกระตุ้นให้จับจ่ายใช้สอยในหลากหลายรูปแบบ อีกทั้งมีการสร้างบริการทางการเงินที่เอื้อต่อการใช้จ่ายสารพัดวิธี อาทิ บัตรเครดิตที่ส่งเสริมให้ใช้จ่ายเงินล่วงหน้า บริการผ่อนชำระค่าสินค้าในอัตราดอกเบี้ย 0% ที่ส่งเสริมการเป็นหนี้โดยอัตโนมัติ ซึ่งเปรียบเสมือนการกระตุ้นกิเลสหรือความต้องการบริโภค สำทับด้วยการขยายกำลังการซื้อ โดยการนำรายได้ในอนาคตมาเป็นหลักประกัน

ด้วยเหตุนี้ วิธีในการป้องกันและบรรเทาปัญหาหนี้สินจากการใช้จ่ายเกินตัว จึงจำต้องลดทอนกำลังของกิเลสหรือความต้องการบริโภคในแบบทันทีทันใด ด้วยการชะลอหรือยืดการใช้จ่ายออกไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่า ธรรมชาติของความต้องการหรือกิเลส ณ เวลาที่เกิดขึ้นหรือได้รับการกระตุ้นในขณะนั้น จะลดถอยลงเมื่อเวลาผ่านไป เปรียบเสมือนกับการพักน้ำ (ค่าใช้จ่ายที่พร้อมจะจ่ายออกไปในขณะนั้น) ไว้ชั่วคราว ก่อนที่จะพิจารณาระบายน้ำ (ค่าใช้จ่ายที่ถูกบริหารจัดการแล้ว) ออกในภาวะที่เป็นปกติ (ปัญญานำ) เป็น “แก้มลิง” ที่ใช้ในการบริหารจัดการเรื่องค่าใช้จ่าย นอกเหนือจาก “เขื่อน” ที่ใช้ในการบริหารจัดการเรื่องเงินออม

สู่การปฏิบัติด้วย "บัญชีแก้มลิง"
การนำแนวคิด “แก้มลิง” ไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม อาจเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการชะลอการใช้จ่ายในส่วนที่ไม่ใช่ของกินของใช้ประจำวัน เช่น การช็อปปิ้ง ดูหนังฟังเพลง หรือกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ ออกไปอยู่ในช่วงครึ่งเดือนหลังของทุกเดือน ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้เห็นเงินคงเหลือในแต่ละเดือนว่าเพียงพอต่อการจับจ่ายใช้สอยในกิจกรรมหรือรายการดังกล่าวหรือไม่ เป็นการลดปริมาณหรือจำนวนครั้งของการใช้จ่ายในแต่ละเดือนลง ซึ่งในหลายกรณี กิจกรรมหรือรายการดังกล่าวนั้น สามารถที่จะละเว้นหรือยกเลิกได้เมื่อเวลาผ่านไป

ในกรณีของการจับจ่ายใช้สอยสำหรับรายการของชิ้นใหญ่ โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีมูลค่าเกินกว่าร้อยละ 50 ของเงินเดือน ให้ใช้วิธีชะลอการตัดสินใจออกไปอีก 1 เดือน เพื่อให้โอกาสตัวเองในการพิจารณาทบทวนการตัดสินใจอีกครั้งว่ามีความจำเป็นต้องซื้อจริงหรือไม่เมื่อผ่านไปแล้ว 1 เดือน

“บัญชีแก้มลิง” สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทั้งในระดับบุคคลและในระดับองค์กร โดยสามารถจัดทำเป็นสมุดบันทึกบัญชีแก้มลิงประจำตัว หรือใช้บัญชีออมทรัพย์ทั่วไปของธนาคารดัดแปลงเป็นบัญชีแก้มลิงเพื่อแสดงความเคลื่อนไหวของค่าใช้จ่ายที่ได้รับการบริหารจัดการตามหลักการข้างต้น

ยอดเงินที่ปรากฏในบัญชีแก้มลิงอาจมีการระบุชื่อรายการสินค้าหรือบริการที่ต้องการกำกับไว้ด้วยก็ได้ เพื่อเป็นการเตือนความจำว่ายอดเงินจำนวนดังกล่าวนี้มาจากการบริหารจัดการมูลค่าใช้จ่ายของรายการสินค้าฟุ่มเฟือยใด ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป 1 เดือน หากยังมีความจำเป็นต้องใช้สินค้าหรือบริการนั้นอยู่ จะได้ถอนเงินออกจากบัญชีแก้มลิงดังกล่าวมาจับจ่ายใช้สอย โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับเงินออมในบัญชีออมทรัพย์เดิม ทั้งยังเป็นการช่วยยับยั้งการนำเงินรายได้ในอนาคตมาใช้จ่ายกับสินค้าฟุ่มเฟือยที่อาจสร้างปัญหาภาระหนี้สินขึ้นภายหลัง... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Tuesday, April 17, 2007

การสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจที่ชั้นฐานราก

โจทย์ใหญ่ของการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน หนีไม่พ้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นฐานราก การกล่าวถึงระบบเศรษฐกิจในระดับนี้อาจมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป อาทิ เศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจท้องถิ่น เศรษฐกิจชนบท

จุดมุ่งหมายสำคัญประการหนึ่งของการจัดการบริหารเศรษฐกิจส่วนรวม คือ การสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจในระดับฐานรากเอง และการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจระหว่างระดับฐานรากกับระดับอื่นๆ

ปัจจัยที่ทำให้สมดุลทางเศรษฐกิจในระดับฐานรากเสียไป เกี่ยวข้องกับ สัดส่วนการบริโภคกับการผลิต หรือสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ มีปริมาณที่ไม่พอดีกัน จนสะท้อนออกมาในรูปของหนี้สิน

การอัดฉีดเงินเข้าสู่กระเป๋าของคนในระดับฐานรากทั้งแบบตรงและแบบอ้อม ด้วยหลักการเพิ่มตัวคูณ (Multiplier) เพื่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยการหมุนเวียนหลายๆ รอบ อาจมิได้แก้ปัญหาหนี้สินและสร้างให้เกิดสมดุลทางเศรษฐกิจขึ้นใหม่ ตราบใดที่เงินซึ่งได้รับมานั้น มิได้ถูกนำไปใช้ในการสร้างอาชีพ สร้างทักษะในการพึ่งตนเองให้ได้ แต่กลับนำไปจับจ่ายใช้สอยกับสิ่งไม่จำเป็น รวมถึงอบายมุขต่างๆ

ทางทฤษฎี การแก้ปัญหาของกลุ่มฐานราก ซึ่งส่วนใหญ่ยังยึดอาชีพเกษตรกรรม รัฐต้องเข้าไปส่งเสริมความเข้มแข็งและการพึ่งตนเองจากภายใน มิใช่คอยให้ความช่วยเหลือโดยอาศัยทรัพยากรจากภายนอกแต่สถานเดียว จนกระทั่งทำให้คนในชุมชนอ่อนแอจนพึ่งตนเองไม่ได้ แต่วิธีนี้จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาและค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งมักไม่สอดคล้องกับความใจร้อนหรือความต้องการผลงานแบบปัจจุบันทันด่วนของผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับต่างๆ

ทางปฏิบัติ มาตรการในระยะสั้นแนวทางหนึ่ง คือ รัฐสามารถใช้กลไกสถาบันการเงินของรัฐ ในการแปลงหนี้สินของเกษตรกรให้เป็นการร่วมทุนกับเกษตรกร หรือแปลงหนี้สินของครัวเรือนที่กู้ไปเพื่อการประกอบอาชีพให้เป็นการลงทุนของรัฐ เพื่อระงับการเดินของดอกเบี้ยกู้ยืม แล้วพัฒนาโครงการลงทุนในท้องถิ่น ทำให้แต่ละครัวเรือนมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และมีรายได้ส่วนเกินที่สามารถนำมาคืนให้รัฐในรูปของเงินปันผลแทนการใช้คืนในรูปดอกเบี้ยแบบเดิม โดยใช้เงื่อนไขของการมีส่วนร่วมในโครงการให้สัมพันธ์กับเงินร่วมลงทุน ซึ่งก็คือ ยอดมูลหนี้ของแต่ละเกษตรกรหรือแต่ละครัวเรือนเป็นสำคัญ

ตัวอย่างของโครงการที่มีเจตนารมณ์คล้ายคลึงกันและสามารถนำมาปรับใช้ ได้แก่ โครงการอบรมหลักสูตรสัจธรรมชีวิต ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของเกษตรกรให้ดำเนินชีวิตภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูจิตใจให้ ลด ละ เลิกอบายมุข ภายใต้คำขวัญ “ล้างใจก่อนล้างหนี้” พร้อมกับการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จนสามารถชำระหนี้คืนได้ในที่สุด (การดำเนินงานภายใต้โครงการนี้ มีเกษตรกรที่ได้รับการฟื้นฟูอาชีพประมาณ 70,000 ราย ในช่วงเวลา 3 ปี)

สำหรับในส่วนที่เป็นการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจระหว่างระดับฐานรากกับระดับอื่นๆ นั้น นโยบายของรัฐหรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายกรณีที่ผ่านมา อาทิ การพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่หลายโครงการ กลับทำให้สมดุลทางเศรษฐกิจระหว่างระดับฐานรากกับระดับอื่นๆ สูญเสียไป หรืออีกนัยหนึ่งคือ ทำให้ช่องว่างของการกระจายรายได้เพิ่มมากขึ้น

เกษตรทฤษฎีใหม่ถือเป็นตัวอย่างของการประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ชัดเจน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงคิดค้นขึ้นด้วยพระองค์เอง จากแนวคิดในการแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งและการขาดน้ำเพื่อการเกษตรกรรม โดยใช้วิธีเลียนแบบหลักธรรมชาติในการสร้างความสมดุลระหว่างสภาพตามธรรมชาติและวิถีชีวิตของมนุษย์ และได้ใช้พื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนาทดลองจนแน่พระทัยว่าประสบผลสำเร็จ ทำให้มีสถานภาพเป็น “ทฤษฎี” ที่ได้รับการพิสูจน์และทดสอบแล้ว

แม้เกษตรทฤษฎีใหม่ได้กลายเป็นต้นแบบในการประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างกว้างขวาง แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ในทุกพื้นที่ เพราะต้องมีปัจจัยสำคัญ คือ “น้ำ” ด้วยเหตุนี้ รัฐอาจใช้วิธีการแปลงการลงทุนโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ให้เป็นการลงทุนโครงการขนาดใหญ่สำหรับกลุ่มฐานราก ตัวอย่างโครงการประเภทนี้ ได้แก่ การสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่เพื่อโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ทั่วประเทศ หรือจะเรียกว่าเป็นเมกะโปรเจคด้านโลจิสติกส์ที่เกี่ยวกับน้ำก็ได้

อีกตัวอย่างหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ คือ โครงการด้านโลจิสติกส์สำหรับระบบการค้าแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ชุมชนระหว่างท้องถิ่น โดยการนำแนวคิดขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) มาปรับให้เป็น ร.ส.พ. สำหรับชุมชน ภายใต้หลักการ “ขาดทุนคือกำไร” โดยคำนึงถึงผลที่ได้จากการลงทุนเพื่อประโยชน์แก่ชุมชน มากกว่าความคุ้มค่าในการลงทุนในเชิงเศรษฐศาสตร์

ตัวอย่างของเครือข่ายชุมชนที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการในลักษณะนี้ ได้แก่ เครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อน-เสี่ยว-เกลอ ที่มีการดำเนินงานในลักษณะของการเชื่อมต่อสัมพันธ์กัน การเล่าถึงเรื่องความทุกข์ยาก ความเดือดร้อน ชีวิตความเป็นอยู่ การทำมาหากิน จนพัฒนามาสู่การแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน ปัจจุบัน เครือข่ายเพื่อน-เสี่ยว-เกลอ มีสมาชิกจากภูมิภาคต่าง ๆ เข้าร่วมจำนวน 19 กลุ่มจาก 16 จังหวัด กิจกรรมที่สำคัญในเครือข่าย คือการแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกัน ทั้งการซื้อขายกันด้วยเงินบาท และการแลกเปลี่ยนระหว่างสินค้าชนิดหนึ่งกับสินค้าอีกชนิดหนึ่ง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Tuesday, April 03, 2007

กระตุ้นเศรษฐกิจแบบ 3 ชั้น

เมื่อไรก็ตามที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ นั่นหมายถึง รายได้ในกระเป๋าของประชาชนส่วนใหญ่มีน้อยลง ความเป็นอยู่ก็จะลำบากมากขึ้น ครัวเรือนใดที่พอมีเงินออมก็อาจจะไม่เดือดร้อนมากนัก แต่ครัวเรือนใดที่ต้องหาเช้ากินค่ำ เงินในกระเป๋าไม่พอจ่าย เรื่องการกู้หนี้ยืมสินก็จะตามมา ที่ร้ายกว่านั้นคือ บางคนหาทางออกไม่ได้ ก็จะต้องไปฝากความหวังไว้กับหวย การพนัน แก้ความเครียดด้วยเหล้ายาปลาปิ้ง อบายมุขต่างๆ ขาดสติปัญญา จนอาจนำไปสู่การคดโกง การลักทรัพย์ การฉกชิงวิ่งราว เกิดเป็นปัญหาทางสังคมตามมา นอกเหนือจากปัญหาทางเศรษฐกิจในตอนเริ่มต้น

การป้องกันไม่ให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จึงมีความจำเป็นในเบื้องต้น แต่การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยพิจารณาที่เงื่อนไขทางเศรษฐกิจเพียงมิติเดียว โดยละเลยความสัมพันธ์กับมิติทางสังคม อาจไม่ช่วยให้มาตรการที่ออกมาสัมฤทธิ์ผล

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ไหนแต่ไรมา มักจะออกมาในรูปแบบของการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ การพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ และการส่งเสริมการลงทุนในภาคเอกชน ตัวอย่างของรูปแบบที่กล่าวมานี้ เป็นเรื่องที่ยอมรับในทางทฤษฎีว่าเป็นมาตรการที่พึงกระทำ ถือได้ว่ามาถูกทางแล้วครึ่งหนึ่ง แต่อีกครึ่งที่เหลือก็คือ บริบทของสังคมประเทศในขณะนั้นๆ เอื้อต่อการทำให้มาตรการเหล่านี้เกิดผลในทางปฏิบัติได้จริงหรือไม่

มาตรการที่เกี่ยวกับการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ กับสภาวการณ์ของบ้านเมืองที่บรรดาข้าราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบใส่เกียร์ว่างหรือมีความระมัดระวังตัวเป็นพิเศษต่อความสุ่มเสี่ยงในการถูกตรวจสอบ ยิ่งต้องเพิ่มความรอบคอบรัดกุมในการปฏิบัติงาน คิดแบบง่ายๆ ก็คือ ไม่ทำอะไรดีกว่า หรือถ้าจำเป็นต้องทำ ก็ต้องแน่ใจเต็มร้อยว่าจะไม่ถูกเล่นงานในภายหลัง (ทั้งในรัฐบาลนี้และรัฐบาลหน้า) ได้

มาตรการที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ต้องใช้ระยะเวลาในการก่อให้เกิดผลลัพธ์ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทอดเวลาไป 6 เดือนถึง 1 ปี จนเลยอายุของรัฐบาลชุดนี้ แม้ในระยะสั้น จะส่งผลทางจิตวิทยาต่อความเชื่อมั่นที่มีกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พูดง่ายๆ ก็คือ มาตรการนี้ เกิดขึ้นเพราะเอกชนไม่ลงทุน ประชาชนไม่บริโภคใช้สอยตามปกติ ภาครัฐเลยต้องลงทุนใช้จ่ายเอง โดยคาดหวังว่าจะเป็นแรงส่งให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนและการใช้จ่ายของประชาชนตามมา ข้อเสียอีกประการหนึ่งของมาตรการนี้ ที่ไม่ค่อยมีใครอยากพูดถึงกันสักเท่าใด ก็คือ เป็นเครื่องมือที่ทำให้ช่องว่างของการกระจายรายได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผลประโยชน์จากมาตรการนี้ อาจตกอยู่กับคนไม่กี่กลุ่ม รวมกระทั่งถึงผู้ออกมาตรการที่ขาดธรรมาภิบาล

มาตรการที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนในภาคเอกชน เป็นเรื่องของไก่กับไข่ ซึ่งมีทั้งได้ผลและไม่ได้ผล เพราะเอกชนคงไม่จำเป็นต้องรอการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐมากนัก หากเขาเห็นโอกาสในการได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดที่มีการเจริญเติบโต หรือมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในทางตรงข้าม ไม่ว่าจะมีมาตรการส่งเสริมอย่างไรก็ไม่เป็นผล หากเขาไม่เห็นโอกาสหรือไม่มีความเชื่อมั่นเกิดขึ้น ซึ่งการสร้างความเชื่อมั่นนี้ จะไปเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับเรื่องของการเมือง (อีกนัยหนึ่ง คือเรื่องของสังคม เป็นการดูแลปกครองให้สังคมมีความสงบเรียบร้อย) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มาตรการที่กล่าวมาเป็นมุมมองของวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วไป ที่มิได้ผนวกเอาบริบทของสังคมในประเทศที่กำลังเป็นอยู่มาพิจารณาอย่างจริงจัง ซึ่งหากรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ และรองนายกฯ ฝ่ายสังคมได้มีโอกาสพูดคุยกันมากกว่านี้ อาจจะทำให้มีมาตรการเฉพาะกิจที่ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติได้มากกว่าก็เป็นได้

ตัวอย่างที่เป็นไปได้ทางหนึ่ง ได้แก่ การจัดชั้นของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก (Grass Root) กลุ่มเศรษฐกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และกลุ่มบรรษัทขนาดใหญ่ (Corporation) โดยคำนึงถึงบริบทของสังคมที่มีความแตกต่างกันในแต่ละระดับชั้น

ในกลุ่มฐานราก ปัญหาใหญ่ที่สะสมและไม่ได้รับการแก้ไข คือ “หนี้สิน” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนภาคเกษตรในชนบท และได้ลุกลามเข้ามายังครัวเรือนที่เป็นแรงงานในภาคเมือง จากนโยบายกระตุ้นและส่งเสริมการบริโภคในสมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว หนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในชั้นที่หนึ่งนี้ ได้แก่ การแปลงการลงทุนโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของรัฐ ให้เป็นการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในกลุ่มฐานรากแทน

ในกลุ่มเอสเอ็มอี ปัญหาที่พบบ่อย คือ การขาด “โอกาส” ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ตลาดและแหล่งทุน ซึ่งในบางกรณี แม้จะมีโอกาสตามที่ต้องการ แต่ก็ต้องแลกด้วยต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูง จนไม่สามารถแข่งขันได้ หนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในชั้นที่สองนี้ ได้แก่ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจขนาดกลางและขนาดย่อมโดยใช้ตลาดภาครัฐและหน่วยราชการ

ในกลุ่มบรรษัทขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยธุรกิจในประเทศหรือบรรษัทข้ามชาติ สิ่งที่ได้รับการเรียกร้องมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ก็คือ การสร้างให้เกิดความโปร่งใส หรือ “ธรรมาภิบาล” ในการดำเนินงาน การให้สิทธิประโยชน์อย่างเป็นธรรม การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจะไปหนุนเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นในทางเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ หนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในชั้นที่สามนี้ ได้แก่ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม (ซึ่งรวมเรื่องการเมือง) เชิงคุณธรรม... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]