Saturday, December 31, 2022

3 ธีม ขับเคลื่อน ESG ประเทศไทย ปี 2566 (2)

สังคมไทย กำลังเผชิญกับความเสื่อมถอยทางจริยธรรมในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน การรับสินบนและการทุจริตเกิดขึ้นในทุกภาคส่วนทุกระดับ โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย อีกทั้งหน่วยงานป้องกันและปราบปรามต้องเผชิญกับการขาดความเป็นอิสระและได้รับอิทธิพลแทรกแซงจากภายนอก รวมทั้งการสมรู้ระหว่างฝั่งผู้ที่ถูกกล่าวหากับฝั่งผู้ที่มีอำนาจเหนือหน่วยงาน เพื่อร่วมกันปกปิดข้อเท็จจริง และขัดขวางกระบวนการยุติธรรมอย่างโจ่งแจ้ง

ตัวอย่างในภาคธุรกิจ มีกรณีกลุ่มทุนจีนสีเทา การฉ้อโกงกรณีแชร์ลูกโซ่และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การปั่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในภาคการเมือง มีกรณีการจ้างหรือซื้อตัว ส.ส. ในการลงมติ ในภาคราชการ มีกรณีเรียกเงินวิ่งเต้นตำแหน่งโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับอธิบดี ซึ่งล้วนเป็นเหตุการณ์เชิงประจักษ์ที่วิญญูชนสามารถรับรู้ได้


CLEAN เพื่อสังคมที่มีสุขภาวะ
ในการสำรวจสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ประจำปี 2565 โดยสถาบันไทยพัฒน์ พบว่า คะแนนด้านธรรมาภิบาลของกิจการที่ทำการสำรวจ 854 แห่ง อยู่ที่ 3.92 คะแนน จาก 10 คะแนน โดยประเด็นที่มีการเปิดเผยข้อมูลน้อยสุด ได้แก่ สภาพการจ้าง (Collective Bargaining) การให้ความเชื่อมั่นต่อการเปิดเผยข้อมูลจากหน่วยงานหรือบุคคลภายนอก (External Assurance) และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) ตามลำดับ

และจากข้อมูลดัชนีการปริวรรตเบอร์เทลสแมนน์ (Bertelsmann Transformation Index: BTI) ที่บ่งชี้ถึงสถานะการพัฒนาและธรรมาภิบาลของประเทศกำลังพัฒนาต่อกระบวนการปริวรรตเศรษฐกิจและการเมืองใน 137 ประเทศ ซึ่งจัดทำมาตั้งแต่ปี 2546 เผยแพร่ประจำทุกสองปี พบว่า ในปี 2565 ประเทศไทยมีคะแนนด้านธรรมาภิบาลอยู่ที่ 4.02 จาก 10 คะแนน ซึ่งพิจารณาจาก 5 เกณฑ์ ได้แก่ ระดับความยากลำบาก สมรรถนะการอำนวยการ ประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร การสร้างฉันทามติ และความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยดัชนีธรรมาภิบาลของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 92 จาก 137 ประเทศ

ขณะที่ ข้อมูลขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International ได้จัดอันดับประเทศไทยอยู่ที่ 110 จากการจัดอันดับทั้งหมด 180 ประเทศในดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index: CPI) ปีล่าสุด (พ.ศ.2564) ได้ 35 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยทั้งระดับคะแนนและอันดับของประเทศไทยลดต่ำลงเรื่อยมาตลอดระยะ 5 ปี และยังเป็นคะแนนและอันดับในระดับที่ตกต่ำสุดของประเทศในรอบ 10 ปี

ในส่วนของภาคเอกชน มูลค่าการทุจริตที่เกิดระหว่างองค์กรธุรกิจด้วยกันเอง อาจสูงกว่ายอดทุจริตที่ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐหลายเท่า และมีความยากต่อการตรวจสอบเช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานของรัฐ ทำให้ไม่สามารถเก็บตัวเลขได้แน่ชัด ยิ่งตัวเลขดังกล่าวสูงเท่าใด ต้นทุนการทุจริตจะถูกผลักเป็นภาระแฝงในค่าสินค้าและบริการ ที่ทั้งเจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร และพนักงาน ซึ่งต่างเป็นผู้บริโภคในระบบ ต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดจากการทุจริตกันอย่างถ้วนหน้า และยังไปบั่นทอนขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจด้วย

ในการต้านทุจริตให้เกิดผล องค์กรธุรกิจต้องเข้าใจถึงช่องทางที่ตัวธุรกิจและวิธีดำเนินการของธุรกิจในจุดที่อาจเกิดการทุจริตขึ้น ซึ่งการประเมินความเสี่ยง จะช่วยให้องค์กรสามารถกำหนดระดับของนโยบายที่ใช้ดำเนินการต่อต้านการทุจริตที่เหมาะสมกับกิจการ

การประเมินความเสี่ยงเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับการจัดทำแผนงานต่อต้านการทุจริตขององค์กร โดยใช้หลักที่ว่า “เสี่ยง” ที่ใด “ต้าน” ที่นั่น ซึ่งเริ่มจากการพิจารณาความเสี่ยงต่อการเกิดทุจริตจากลักษณะกิจกรรมทางธุรกิจ แหล่งดำเนินงาน สภาพอุตสาหกรรม เงื่อนไขทางธุรกิจและธรรมเนียมปฏิบัติในท้องถิ่น จากนั้นดำเนินการระบุโอกาสหรือความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น ขนาดของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับองค์กร และที่สำคัญ คือ แนวทางในการลดความเสี่ยงและมาตรการในการป้องกันหรือต่อต้านการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งข้อมูลชุดหลังนี้ คือ ข้อมูลสำหรับใช้จัดทำนโยบายเพื่อระบุการดำเนินงานของกิจการ

สำหรับแนวทางการต้านทุจริตสำหรับองค์กรธุรกิจ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กระบวนงานหลัก ได้แก่ การให้คำมั่น (Commit) ประกอบด้วย การเปิดเผยคำมั่นที่จะดำเนินการต่อต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ การจัดทำแนวนโยบายให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การสื่อสารและการดำเนินการให้เป็นแบบอย่างโดยผู้นำองค์กร

การลงมือทำ (Establish) ประกอบด้วย การกำหนดนโยบายการต่อต้านทุจริตที่ระบุระดับการดำเนินการของบริษัท การประเมินความเสี่ยงของธุรกิจ เพื่อระบุการดำเนินงานของบริษัทหรือบริษัทย่อยที่มีความเสี่ยงว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต การจัดทำนโยบายละเอียดสำหรับส่วนงานที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดทุจริต การกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อควบคุมป้องกันและติดตามความเสี่ยงจากการเกิดทุจริต การสื่อสารและฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตแก่พนักงานในทุกระดับ การสร้างช่องทางในการแจ้งเบาะแส และกลไกการติดตามสำหรับการรายงานข้อกังวลหรือขอรับคำแนะนำ การวางกระบวนการดูแลติดตามและประเมินผลการต่อต้านการทุจริต การทบทวนผลการดำเนินการและการปรับปรุงนโยบายให้มีความเหมาะสมตามสถานการณ์

การขยายวง (Extend) ประกอบด้วย การจัดทำนโยบายที่ครอบคลุมถึงหุ้นส่วนทางธุรกิจ การผลักดันให้คู่ค้าดำเนินการตามคำมั่น การเข้าเป็นแนวร่วมต้านทุจริตในสาขาอุตสาหกรรมที่ธุรกิจสังกัดอยู่หรือเรื่องที่ธุรกิจเข้าไปเกี่ยวข้อง การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานแก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการตรวจสอบเพื่อให้ความเชื่อมั่นอย่างเป็นอิสระจากหน่วยงานภายนอก

การทุจริตเปรียบเหมือนโรคระบาดที่ติดต่อกันง่าย สามารถเกิดขึ้นได้แม้กระทั่งในองค์กรที่มีการป้องกันอย่างรัดกุม เนื่องจากผู้ก่อเหตุจะมีการพัฒนาเทคนิคการทุจริตใหม่ๆ ตลอดเวลา องค์กรจึงจำเป็นต้องมีกระบวนการป้องกัน เฝ้าระวัง ตรวจสอบ ควบคุม และติดตามกรณีทุจริตอย่างรอบด้าน มีความทันสมัยและทันต่อเหตุทุจริตที่อาจเกิดขึ้น

นอกจากความสูญเสียในระบบเศรษฐกิจ ความเสียหายทางสังคมทั้งในเชิงกายภาพที่กระทบกับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่จากโครงสร้างพื้นฐานหรือสาธารณูปโภคหรือบริการที่ไม่ได้รับอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและไม่ทั่วถึงแล้ว การทุจริตยังส่งผลถึงความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมที่มีสาเหตุจากการยักยอกและเบียดบังรายได้และงบประมาณแผ่นดินในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ที่เกิดขึ้นจากการเรียกเงินวิ่งเต้นตำแหน่งโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานด้านอนุรักษ์ การคุ้มครอง และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดังกรณีที่เป็นข่าวเมื่อไม่นานนี้

ในปี 2566 ภาคเอกชนที่มีกรอบการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน จำต้องเป็นผู้ริเริ่มลงมือดำเนินการอย่างเอาจริงเอาจังด้วย “ตนเอง” มากกว่าการบอกให้ “ผู้อื่น” ดำเนินการ จวบจนสามารถเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อื่นได้ลงมือปฏิบัติตามในที่สุด

ในบทความตอนหน้า จะพูดถึงแนวโน้มการขับเคลื่อน ESG ของภาคธุรกิจไทย ในธีม GREEN ที่มากกว่าคำมั่นสัญญา โดยสามารถติดตามได้ทางคอลัมน์ Sustainpreneur แห่งนี้


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, December 17, 2022

3 ธีม ขับเคลื่อน ESG ประเทศไทย ปี 2566 (1)

ธุรกิจทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกที่มารุมเร้าทั้งความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การแบ่งแยกสายอุปทานโลก ปัญหาเงินเฟ้อและการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งจากปัจจัยภายในที่เป็นความสามารถในการปรับตัวของธุรกิจจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทักษะความเข้าใจและความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การบริหารแรงงานและความหลากหลาย รวมทั้งช่องว่างระหว่างวัยในที่ทำงาน เป็นต้น

ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ได้ถูกยกระดับความสำคัญขึ้นอย่างมาก จนเป็นเงื่อนไขหลักสำหรับการดำเนินธุรกิจ และได้กลายมาเป็นคำที่ใช้กันสามัญในปัจจุบัน


บทความในซีรีส์นี้ แบ่งเป็น 3 ตอน เพื่อนำเสนอแนวโน้มการขับเคลื่อน ESG ของภาคธุรกิจไทย ปี 2566 ใน 3 ธีม ได้แก่ LEAN รับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย CLEAN เพื่อสังคมที่มีสุขภาวะ และ GREEN ที่มากกว่าคำมั่นสัญญา

LEAN รับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย
ในรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ฉบับเดือนธันวาคม 2565 ที่เผยแพร่โดยธนาคารโลก ระบุว่าแม้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.5 ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวและการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก โดยประมาณการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ในปี 2566 ขณะที่การขยายตัวของบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะอยู่ในระดับปานกลางที่ร้อยละ 4 เนื่องจากแรงกระตุ้นจากการกลับมาเปิดประเทศเริ่มแผ่วลง และการชะลอตัวในการเติบโตของการส่งออกสินค้ายังเป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย

สภาพัฒน์ ได้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีหน้าว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. โดยรวมในปี 2566 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เทียบกับร้อยละ 7.5 ในปี 2565 โดยปริมาณการส่งออกสินค้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ชะลอลงจากร้อยละ 3.2 ในปี 2565 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ส่วนการส่งออกบริการมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นตามจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.6 เทียบกับร้อยละ 3.9 ในปี 2565 สอดคล้องกับแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกและภาคการส่งออก

ในปี 2566 ภาคเอกชนที่มีกรอบการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน จำต้องมองหาความ “คุ้มค่า” มากกว่า “มูลค่า” จากการดำเนินงาน ทั้งนี้ การตั้งเป้าหมายรายรับจากการเน้นตัวเลขมูลค่างานที่สูง ท่ามกลางการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ อาจจะไม่สำคัญเท่ากับ การตั้งเป้าหมายหรือทำให้มีตัวเลขสุทธิในบรรทัดสุดท้ายเป็นบวก ด้วยการดูแลควบคุมรายจ่ายหรือต้นทุนของกิจการ ให้คุ้มกับมูลค่างานที่ได้รับ

หนึ่งในแนวทางการพัฒนาสมรรถนะทางธุรกิจที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ ได้แก่ การบริหารการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการจัดการของเสีย หรืออีกนัยหนึ่ง คือ การรีดไขมันส่วนเกินจากการใช้ทรัพยากรนำเข้าที่ด้อยประสิทธิภาพ อันเป็นบ่อเกิดของการสูญเปล่า อาทิ การผลิตเกิน การขนส่ง การรอคอย สินค้าคงคลัง การชำรุด การมีกระบวนการมากเกินไป และการเคลื่อนย้ายที่ไม่จำเป็น ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้กิจการพัฒนาปรับปรุงไปสู่การเป็น Lean Enterprise สำหรับรองรับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นสูงในปีหน้า

อีกแนวทางหนึ่งเป็นการลงทุนสร้างสมรรถนะให้แก่ธุรกิจในระยะยาว ด้วยการปรับให้ธุรกิจสามารถดำเนินอยู่ได้โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ การเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าในช่องทางดิจิทัลเพิ่มเติมจากช่องทางแบบเดิม การฝึกฝนแรงงานให้สามารถปรับตัวเข้ากับทุกอุปสงค์ได้อย่างคล่องแคล่ว สามารถทำงานผสานเวลาทั้งในสำนักงานและจากระยะไกลได้ การปรับขนาดสถานประกอบการหรือเปลี่ยนแนวการดำเนินงานที่สามารถทำได้ในหลายสถานที่ตั้ง ทั้งในระยะไกล หรือโดยให้หุ้นส่วนดำเนินการแทน การลงทุนในเทคโนโลยีที่ถอดประกอบได้ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุนของกิจการ แต่ยังคงไว้ซึ่งความปราดเปรียว (Agility) ในการตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงเร็ว หรือรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ได้ รวมถึงการเติบโตที่เหมาะกับขอบเขตงานหรือสอดคล้องกับกฎระเบียบที่เกิดขึ้นใหม่ ทั้งในแบบค่อยเป็นค่อยไปและในแบบพลิกผันได้อย่างทันท่วงที

จากการสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์ ต่อกลยุทธ์การปรับตัวหลังโควิด องค์กรกว่าสองในสาม ระบุว่า การมีแผนการปรับตัว (Resilience) จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อองค์กรในการปรับตัวสู่การดำเนินธุรกิจในวิถีปกติใหม่ ขณะที่ หนึ่งในสามขององค์กรที่สำรวจ ระบุว่าเป็นประโยชน์ และไม่มีองค์กรใดจากการสำรวจที่ไม่เห็นประโยชน์จากการมีแผนในเรื่องดังกล่าว โดยในบรรดาองค์กรที่มีแผนการปรับตัว ได้มุ่งเน้นความสำคัญไปยังด้านพนักงานมากสุด อยู่ที่ร้อยละ 90.7 รองลงมาคือ ด้านลูกค้า ร้อยละ 58.1 และด้านสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 53.5 ตามลำดับ

ในบทความตอนหน้า จะพูดถึงแนวโน้มการขับเคลื่อน ESG ของภาคธุรกิจไทย ในธีม CLEAN เพื่อสังคมที่มีสุขภาวะ โดยสามารถติดตามได้ทางคอลัมน์ Sustainpreneur แห่งนี้


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, December 03, 2022

10 ข้อควรรู้ เกี่ยวกับที่มาและตลาดคาร์บอนเครดิต

คาร์บอนเครดิต เป็นเรื่องที่กำลังได้รับความสนใจในวงกว้าง โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่เห็นว่า ในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศได้กำหนดให้มีการใช้กลไกทางตลาดในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเปิดโอกาสให้เกิดการซื้อขาย และการใช้คาร์บอนเครดิตในการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกขององค์กรและการตอบสนองต่อการบรรลุการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC)


การทำความเข้าใจถึงที่มาและกลไกทางตลาดในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงรูปแบบของตลาดคาร์บอนเครดิต จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และในที่นี้ จะเป็น 10 ข้อควรรู้เบื้องต้น เกี่ยวกับที่มาและตลาดคาร์บอนเครดิต

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ถูกริเริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1992 เพื่อวางเป้าหมายการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในภาพรวม โดยกำหนดให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นผู้นำร่องในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมให้มีการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา

พิธีสารเกียวโต ภายใต้กรอบ UNFCCC ถูกจัดทำขึ้นในปี ค.ศ.1997 เพื่อกำหนดกลไกการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายอันเป็นข้อผูกพันตามกฎหมายสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีพันธกรณีช่วงแรก ในระหว่างปี ค.ศ.2008-2012 และขยายเป็นพันธกรณีช่วงที่สอง ในระหว่างปี ค.ศ.2013-2020 โดยการแก้ไขเพิ่มเติมโดฮา

ความตกลงปารีส ภายใต้กรอบ UNFCCC ถูกจัดทำขึ้นในปี ค.ศ.2015 ให้มีผลบังคับแทนที่กลไกพิธีสารเกียวโต เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในการกำหนดพันธกรณี จากเดิมที่ผูกพันเฉพาะสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว มาเป็นการกำหนดเป้าหมายร่วมกันของรัฐภาคีทั้งหมด ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา

● ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้ง UNFCCC (ในปี ค.ศ.1994) พิธีสารเกียวโต (ในปี ค.ศ.2002) การแก้ไขเพิ่มเติมโดฮา (ในปี ค.ศ.2015) และความตกลงปารีส (ในปี ค.ศ.2016)

● โดยที่ประเทศไทยไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในภาคผนวก 1 ของ UNFCCC อันเป็นผลให้ไม่เป็นประเทศที่มีข้อผูกพันในภาคผนวก B ตามพิธีสารเกียวโต จึงไม่มีเป้าหมายในการดำเนินการที่เป็นข้อผูกพันตามกฎหมาย

● จนกระทั่งการบังคับใช้ความตกลงปารีส ซึ่งกำหนดให้ทุกประเทศต้องเสนอแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ประเทศไทยจึงได้แถลงว่า จะมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ.2030 (หากได้รับการสนับสนุนระหว่างประเทศ) และวางเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 รวมทั้งการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2065

● ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตเพื่อวัตถุประสงค์ระหว่างประเทศ ภายใต้ความตกลงปารีส โดยยังมิได้มีการนำระบบตลาดคาร์บอนในรูปแบบ “ภาคบังคับ” มาใช้สำหรับการบรรลุการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดหรือใช้เพื่อถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ

● ตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยปัจจุบัน ยังเป็นรูปแบบ “ภาคสมัครใจ” ที่เป็นการซื้อขาย และการใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อวัตถุประสงค์ภายในประเทศ

● แนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต ที่กำหนดโดยคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติเพื่อวัตถุประสงค์ระหว่างประเทศ ต้องเป็นคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากประเภทโครงการพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานที่ใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าและการผลิตความร้อน การใช้ระบบขนส่งสาธารณะ การใช้ยานพาหนะไฟฟ้า การเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องยนต์ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารและโรงงาน และในครัวเรือน การปรับเปลี่ยนสารทำความเย็นธรรมชาติ การใช้วัสดุทดแทนปูนเม็ด การจัดการขยะมูลฝอย การจัดการน้ำเสียชุมชน การนำก๊าซมีเทนกลับมาใช้ประโยชน์ การจัดการน้ำเสียอุตสาหกรรม การลด ดูดซับ และกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตร การดักจับ กักเก็บ และ/หรือใช้ประโยชน์จากก๊าซเรือนกระจก หรือโครงการอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด

● โครงการที่พัฒนาขึ้นสำหรับใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อวัตถุประสงค์ระหว่างประเทศ ต้องเป็นโครงการที่ส่งผลให้เกิดการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งกำเนิดหรือเพิ่มแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ในส่วนเพิ่มเติมจากการดำเนินงานตามแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และมีกำหนดระยะเวลาการรับรองคาร์บอนเครดิต ไม่เกินระยะเวลาการดำเนินงานตามเป้าหมายของการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งต้องเป็นโครงการที่มีการส่งเสริมการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมขั้นสูงและใช้เงินลงทุนสูง และการเข้าถึงทรัพยากรทางการเงินเพื่อการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการลดก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งกำเนิดหรือเป็นการเพิ่มแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก

ข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่เป็นกลไกทางตลาด ตามความตกลงปารีส (และการเปลี่ยนผ่านจากพิธีสารเกียวโต) สามารถศึกษาได้จาก A Guide to UN Market-based Mechanisms


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]