Tuesday, January 30, 2007

การปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปไหนไกลเกินกว่าหัวใจตนเอง

ได้ไปร่วมเสวนาธรรมกับ ดร.สรยุทธ พจนารถ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล คุณอริยาภรณ์ สิทธิธรรมพิชัย และคุณนงค์นาถ ห่านวิไล ผู้เขียนหนังสือรหัสชีวิต ในหัวข้อเรื่อง “การปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปไหนไกลเกินกว่าหัวใจตนเอง” จัดโดยชมรมคนรู้ใจ เนื่องในงานเปิดตัวหนังสือ "รหัสชีวิต" ที่เป็นการเล่าประสบการณ์ชีวิตของบุคคล 10 คนในหลายแวดวง ทั้งนักเขียน นักวิชาการ และนักธุรกิจ อาทิ คุณศรันย์ ไมตรีเวช เจ้าของนามปากกา 'ดังตฤน' ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ คุณฐิตินาถ ณ พัทลุง คุณภัทริน ซอโสตถิกุล คุณอนุรุธ ว่องวานิช หนังสือเล่มนี้มุ่งเน้นที่จะสื่อสารให้เห็นว่าการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องที่สามารถปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวันควบคู่ไปกับการทำงาน ไม่จำกัดวัย เพศ และสาขาอาชีพ

ช่วงท้ายของหนังสือเล่มนี้ ยังได้แนะนำ 'ค่ายพักใจ ท่องเที่ยวข้างใน ไม่ไปไม่รู้' ข้อมูลสถานที่พักใจอันเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการฝึกฝน การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน และศึกษาพระธรรมในวาระต่างๆ จำนวนถึง 26 แห่ง อาทิ สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี วัดภัททันตะอาสภาราม จ.ชลบุรี วัดมเหยงคณ์ จ.อยุธยา วัดสนามใน จ.นนทบุรี วัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร (วัดสระปทุม) จ.กรุงเทพฯ

บริโภคอย่างไรให้ชีวิตสมดุล

การบริโภคถือเป็นเป้าหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์นั้นมีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่การบริโภค การบริโภคเป็นการบำบัดหรือสนองความต้องการซึ่งถือเป็นจุดต้นกำเนิดของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ หากพิจารณาความหมายตามวิธีการของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก การบริโภค คือการใช้สินค้าและบริการบำบัดความต้องการเพื่อให้เกิดความพึงพอใจหรือความสุข

ในระบบเศรษฐกิจโดยทั่วไป กิจกรรมทางการผลิตและการบริโภคมักจะถูกแยกออกจากกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้ผลิตและผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลคนเดียวกัน ทำให้แต่ละคนต่างมีบทบาทหน้าที่แยกจากกันอย่างเด็ดขาด ในหลายกรณี ผู้ผลิตจะสร้างผลผลิตในส่วนที่ตัวเองไม่ได้บริโภค แต่ต้องการนำไปจำหน่ายเพื่อแลกเป็นเงินรายได้ ในขณะที่ผู้บริโภคเองก็บริโภคในสิ่งที่ตัวเองผลิตไม่ได้ และบ่อยครั้งก็มักจะบริโภคเกินกำลังใช้จ่ายของตัวเอง เรียกว่ารายได้จากกิจกรรมทางการผลิตไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค จนกลายเป็นการก่อหนี้สินเพื่อการบริโภคตามค่านิยมโดยขาดความพอดี

พฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์นั้น มี 2 ประเภท ได้แก่ การบริโภคเพื่อสนองความต้องการเสพสิ่งปรนเปรอตน ซึ่งเป็นการบริโภคแบบเสพรสให้เกิดความพึงพอใจเรื่อยไปไม่รู้จบไม่รู้อิ่ม กับการบริโภคเพื่อสนองการมีชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นการบริโภคที่มีจุดหมายของการมีชีวิตที่ดี และเป็นฐานของการฝึกฝนศักยภาพของตนเองต่อไป... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Tuesday, January 23, 2007

ผลิตแบบพอเพียงยังมีประสิทธิภาพสูงสุดอยู่หรือไม่

การผลิต เป็นกระบวนการหนึ่งในบรรดากิจกรรมเพื่อการดำรงชีพของมนุษย์ที่จะต้องดำเนินไปให้สอดคล้องธรรมชาติ มนุษย์จะต้องทำงาน จะต้องมีอาชีพ และจะต้องมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เพื่อจะได้ไม่ต้องอยู่อย่างฝืนธรรมชาติและเกิดเป็นความทุกข์ การพิจารณาเรื่องการผลิตนี้ มิใช่เป็นเพียงการเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ แต่เป็นการพิจารณาธรรมชาติทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์

ในทางเศรษฐศาสตร์ การผลิต หมายถึง การสร้างสรรค์สิ่งหนึ่งสิ่งใดออกมาหรือทำให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้น ซึ่งเป็นคำนิยามที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงแห่งธรรมชาติ แท้ที่จริงแล้ว การผลิต หมายถึง การแปรสภาพสิ่งหนึ่งให้เป็นอีกสิ่งหนึ่ง จากวัตถุอย่างหนึ่งไปเป็นวัตถุอีกอย่างหนึ่ง จากแรงงานอย่างหนึ่งไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่ถูกแปรสภาพคือ ปัจจัยการผลิต เมื่อผ่านกระบวนการแปรสภาพแล้วเรียกว่า ผลผลิต ซึ่งเป็นได้ทั้ง สินค้าและบริการ การแปรสภาพนี้เป็นการทำให้เกิดสภาพใหม่โดยทำลายสภาพเก่า ดังนั้น ในกระบวนการผลิตมักจะมีการทำลายอยู่ด้วยเสมอ

ความพอประมาณในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มิได้หมายความว่า ให้มีประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลในกระบวนการผลิตที่อยู่ในระดับพอประมาณ ที่อาจนำไปสู่ข้อสรุปผิดๆ ว่า ธุรกิจหรือหน่วยการผลิตอื่นใดที่มีประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลสูง จำต้องลดศักยภาพหรือออมความสามารถในการผลิตให้อยู่ในระดับพอประมาณ ตรงกันข้าม ความพอประมาณในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ยังคงมุ่งหมายให้ได้มาซึ่ง... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Thursday, January 18, 2007

เศรษฐกิจพอเพียงในมุมมองของ UNDP

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้เปิดตัวรายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย (Thailand Human Development Report) ประจำปี 2550 ที่มีชื่อรายงานว่า “เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาคน” โดยมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผู้กล่าวเปิดงานแนะนำรายงานฉบับดังกล่าว ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

ในทัศนะของ UNDP ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อโลกในยุคปัจจุบัน ที่มีความผันผวนทางเศรษฐกิจสูง มีปัญหาเกี่ยวกับความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและภาวะโลกร้อนซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเสนอแนวทางสำหรับการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่โลกกำลังมองหาเพื่อทดแทนแนวทางการพัฒนาแบบไม่ยั่งยืนอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

เศรษฐกิจพอเพียงให้ความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพและมั่นคงมากกว่าการเติบโตแบบรวดเร็วที่ปราศจากการควบคุม สิ่งสำคัญคือการบริหารเศรษฐกิจด้วยความรอบคอบและการเข้าสู่การค้าแบบตลาดเสรีอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะเดียวกัน ต้องสร้างความเข้มแข็งในสังคมเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบด้านลบจากโลกาภิวัตน์
... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Monday, January 15, 2007

วิถีธุรกิจในยุคโลการะนาบ

หลังจากที่ได้สรุปเนื้อหาในหนังสือโลการะนาบ (The World is Flat) ไป 2 ตอน ในตอนนี้ เป็นภาคต่อขยายในมุมมองอื่น โดยนำเนื้อหาจากบทความที่ชื่อว่า "Will a New Theory Help Firms to Manage in a 'Flat' World?" จาก Knowledge@Wharton มาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งคำหลัก (Keyword) ที่น่าสนใจในบทสนทนาระหว่าง Colin Crook, Jerry Wind และ Paul R. Kleindorfer ได้แก่ sustained innovation ที่ธุรกิจจะต้องสร้างให้เกิดขึ้นในองค์กรของตนเองเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ (sustain ในบริบทนี้ สามารถวัดจากเกณฑ์ 2 ประการ คือ ความสามารถในการทอดเวลาทิ้งห่างจากคู่แข่ง และอรรถประโยชน์อันเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคซึ่งคู่แข่งไม่สามารถเลียนแบบได้ง่าย) ในขณะเดียวกัน ธุรกิจต้องมีการพัฒนา service delivery ที่สามารถตอบสนองถึงตัวผู้บริโภคได้ในเวลาและสถานที่ที่ต้องการ และคงไว้ซึ่งคุณลักษณะของ security และ confidentiality (คือ เงื่อนไขของคุณธรรม ที่ประกอบด้วย ความซื่อสัตย์สุจริต และความรอบคอบระมัดระวัง ในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง) ที่สามารถส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ (Credit) ขององค์กรอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ในส่วนที่เป็นทรัพยากรบุคคลขององค์กร จะต้องมีการพัฒนา professional skills ทั้งในแนวลึกและแนวกว้าง (ตรงกับเงื่อนไขของความรอบรู้ในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง) โดย Kleindorfer ใชคำแทนว่า "node" vs. "nexus" นอกจากนี้ ธุรกิจในยุคโลการะนาบ จะให้คุณค่ากับเครื่องมือที่เรียกว่า scenario planning อย่างมาก เนื่องจากองค์กรจำเป็นต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายนอกและภายในให้ได้อย่างทันท่วงที (คือ การสร้างระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง)

Audio File ฟังเนื้อหาในรายละเอียด External Link


แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม : "Will a New Theory Help Firms to Manage in a 'Flat' World?" External Link

Tuesday, January 09, 2007

ซีเอสอาร์:รูปธรรมของความพอเพียงในธุรกิจ

ที่ผ่านมา แนวคิดและทฤษฎีทางธุรกิจที่ได้รับการปลูกฝังและถ่ายทอดสู่องค์กรโดยส่วนใหญ่ ต้องการสร้างให้องค์กรมีความ "เก่ง" ที่ก่อให้เกิดการเจริญเติบโต (Growth) ของกิจการ ตัวอย่างทฤษฎีที่รู้จักกันดี ได้แก่ SWOT Analysis (Ansoff 1965) สำหรับการกำหนดตำแหน่งและการสร้างความสำเร็จขององค์กร หรือ Boston Matrix (BCG 1970) สำหรับการกำหนดความสำคัญและการสร้างความสำเร็จในผลิตภัณฑ์ หรือ Five Forces (Porter 1980) และ Diamond Model (Porter 1990) สำหรับการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ส่วนแนวคิดในเรื่องซีเอสอาร์ จะมุ่งไปที่การสร้างให้องค์กรมีความ "ดี" ที่ก่อให้เกิดความยั่งยืน (Sustainability) ของกิจการ เป็นแนวคิดที่มีรากฐานมาจากหลักคุณธรรมทางศาสนา ซีเอสอาร์จึงมิใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่เพิ่งได้มีการบัญญัติคำนี้ขึ้นใช้ในวงการธุรกิจ เมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้เอง

ซีเอสอาร์ ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จัดอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า องค์กรธุรกิจที่ดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ แสดงให้เห็นว่า นโยบายของกิจการมิได้จำกัดอยู่เพียงกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับผู้มีส่วนได้เสียในองค์กรเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียนอกองค์กรด้วย หลักการซีเอสอาร์ที่แท้ คือ การเน้นให้องค์กรธุรกิจรู้จักคิดแบ่งปัน และดำเนินกิจการโดยไม่เบียดเบียนสังคมส่วนรวม การรู้จักให้ รู้จักแบ่งปัน และเอาใจใส่ในการดูแลสังคม สามารถเทียบเคียงได้กับทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3 ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Tuesday, January 02, 2007

ศักราชแห่งความพอเพียงในชนทุกระดับชั้น

ขอสวัสดีปีใหม่ 2550 แก่ท่านผู้อ่านทุกท่าน ให้ได้รับแต่สิ่งดีๆ เป็นสิริมงคลในชีวิต และมีสุขภาพกายสุขภาพใจสมบูรณ์แข็งแรงปลอดโปร่งตลอดทั้งปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ด้วยการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติบูชากันอย่างถ้วนหน้า

ใครที่ผ่านหน้าปากซอยประชาสงเคราะห์ 24 มักจะได้กลิ่นหอมของกล้วยแขกทอดที่ทอดจนเหลืองสวยและกรอบน่ากิน หลายคนคงอดใจไม่ไหวต้องซื้อกลับบ้านสัก 10-20 บาท ร้านกล้วยแขก หรือจะเรียกให้ถูกคือ รถเข็นกล้วยแขกของแม่ค้าที่ชื่อ “ไข่เจียว” ซึ่งยึดอาชีพขายกล้วยแขกหน้าปากซอยนี้มานานถึง 15 ปี จึงได้ลูกค้าขาประจำมากมาย ทั้งที่เป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนที่อยู่ในแฟลตหรือสาวออฟฟิศ เนื่องจากความอร่อย สะอาดและราคาไม่แพงแล้ว แม่ค้ายังมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยม

อาชีพ “หาบเร่แผงลอย” เป็นอาชีพหลักของคนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร เป็นกลุ่มคนที่ด้อยโอกาส แต่สามารถประกอบอาชีพที่สามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้ อาชีพหาบเร่แผงลอยถือเป็นอาชีพในเศรษฐกิจนอกภาคทางการแต่กลับเป็นกลไกที่โอบอุ้มให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถอยู่ได้ในเมืองใหญ่... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Monday, January 01, 2007

เหลียวหลังแลหน้า "ซีเอสอาร์" ปี 2550

ชัดเจนอย่างยิ่งถึงกระแสความตื่นตัวเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ หรือ CSR : Corporate Social Responsibility องค์กรจำนวนมากต่างหันมาให้ความสำคัญกับการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านกิจกรรมซีเอสอาร์เป็นจำนวนมาก ทั้งที่ปรากฏผ่านสื่อและที่ไม่ปรากฏ

ไม่เพียงองค์กรธุรกิจ หากนับย้อนกลับไปตลอดปี 2549 ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็เป็นอีกแรงหนึ่งในการขับเคลื่อน ซีเอสอาร์ ด้วยการประกาศรางวัล CSR Award เป็นครั้งแรก รวมถึงมีการเขียนถึงกฎบัตรที่ว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ ในเวลาเดียวกันสถาบันการศึกษาต่างก็บรรจุวิชา CSR ลงในหลักสูตร MBA ฯลฯ ไม่นับรวมเวทีสัมมนาในหัวข้อเกี่ยวกับซีเอสอาร์ที่มีมากเกินกว่า 10 ครั้ง ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ที่สำคัญแต่ละเวทีได้รับความสนใจจากผู้ฟังแน่นขนัด

ย่างก้าวสู่ปี 2550 "ประชาชาติธุรกิจ" จึงเห็นควรประมวลความคิดเห็นของผู้ที่อยู่ในแวดวงและติดตามการขับเคลื่อนและการพัฒนา "ซีเอสอาร์" ทั้งในสังคมไทยและต่างประเทศในระดับใกล้ชิด เพื่อสะท้อนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในปีที่ผ่านมา รวมถึงมองทิศทางซีเอสอาร์ในปี 2550... (อ่านรายละเอียดใน Section "Knowledge Society : CSR" ประชาชาติธุรกิจ) External Link [Archived]