Sunday, December 23, 2018

เหลียวหลัง แลหน้า ความยั่งยืนของกิจการ

เหลืออีกไม่กี่วันก็จะสิ้นปี 2561 และก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ที่จะได้มาทบทวนสิ่งที่ดำเนินการไปในรอบปีที่กำลังจะผ่านพ้นไป และเตรียมตัวทำสิ่งที่คิดว่า ยังทำได้ไม่ดีและสามารถปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นในรอบปีการดำเนินงานถัดไป

สถาบันไทยพัฒน์ ได้ประมวลประเด็นความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 84 กิจการ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ 9 กิจการ บริษัททั่วไปที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และองค์กรอื่นๆ อีก 7 กิจการ รวมจำนวน 100 กิจการ

โดยการวิเคราะห์จากข้อมูลผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่ปรากฎในรายงานแห่งความยั่งยืน รายงานประจำปี และข้อมูลด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) ขององค์กร ที่เปิดเผยแก่สาธารณะ

ผลการประมวลข้อมูล แบ่งออกเป็นส่วนที่เป็นประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด และประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม โดยจำแนกตามการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม


ประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม

ในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด ได้แก่ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย การต้านทุจริต และพลังงาน ส่วนประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่ เรื่องความปลอดภัยทางอาหาร โภชนาการ และสุขภาพ เรื่องผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของห่วงโซ่อุปทานส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ และเรื่องการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์และการสื่อสารการตลาด

ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด ได้แก่ การฝึกอบรมและการให้ความรู้ การต้านทุจริต และพลังงาน ส่วนประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่ เรื่องความปลอดภัยในตัวผลิตภัณฑ์ เรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ และเรื่องผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของห่วงโซ่อุปทานส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์

ในกลุ่มธุรกิจการเงิน ประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด ได้แก่ การฝึกอบรมและการให้ความรู้ การต้านทุจริต ผลเชิงเศรษฐกิจ และผลกระทบทางอ้อมเชิงเศรษฐกิจ ส่วนประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่ เรื่องการผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เรื่องการให้ขัอมูลอย่างโปร่งใสและคำแนะนำที่เป็นธรรมแก่ลูกค้า และเรื่องจริยธรรมทางธุรกิจ

ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด ได้แก่ ผลเชิงเศรษฐกิจ พลังงาน การจ้างงาน การฝึกอบรมและการให้ความรู้ ส่วนประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่ เรื่องการจัดการมลอากาศ น้ำทิ้ง และของเสียอันตราย เรื่องปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเรื่องการสรรหาวัสดุ

ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด ได้แก่ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย การฝึกอบรมและการให้ความรู้ พลังงาน น้ำทิ้งและของเสีย ส่วนประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่ เรื่องผลกระทบชุมชนจากการพัฒนาโครงการ เรื่องปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเรื่องผลกระทบทางนิเวศ

ในกลุ่มทรัพยากร ประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด ได้แก่ พลังงาน อาชีวอนามัยและความปลอดภัย การฝึกอบรมและการให้ความรู้ ส่วนประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่ เรื่องปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เรื่องการจัดการผลกระทบทางนิเวศ และชุมชน และเรื่องการจัดการมลอากาศ น้ำทิ้ง และของเสียอันตราย

ในกลุ่มบริการ ประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด ได้แก่ การฝึกอบรมและการให้ความรู้ การต้านทุจริต และการจ้างงาน ส่วนประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่ เรื่องการจัดการด้านความปลอดภัยและอุบัติภัย เรื่องประสิทธิภาพการใช้พลังงาน น้ำ และการจัดการของเสีย และเรื่องการบริหารคุณภาพในห่วงโซ่อุปทาน

ในกลุ่มเทคโนโลยี ประเด็นความยั่งยืนที่เปิดเผยมากสุด ได้แก่ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย การฝึกอบรมและการให้ความรู้ พลังงาน น้ำทิ้งและของเสีย ส่วนประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่ เรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล เรื่องพฤติกรรมการแข่งขันและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และเรื่องการสรรหาวัสดุ การจัดการห่วงโซ่อุปทาน และซากผลิตภัณฑ์


ประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการเพิ่มเติม จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม

หวังว่า ข้อมูลผลการประมวลชุดนี้ คงจะเป็นประโยชน์ต่อกิจการที่มีการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน ให้ได้เห็นภาพสะท้อนของความเคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าว และสิ่งที่สามารถปรับปรุงพัฒนา และยกระดับการทำงานให้ดียิ่งขึ้นในปี 2562 ที่กำลังจะมาถึงกันครับ


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Monday, December 17, 2018

รัฐบาล กับ SDGs

เมื่อเร็ว ๆ นี้ หน่วยงานริเริ่มธุรกิจเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย (Thailand Social Business Initiative : TSBI) ประกอบด้วย Yunus Center AIT สถาบันไทยพัฒน์ และบริษัท อิมเมจ พลัส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ร่วมกันจัดการอภิปราย (Panel Session) ในหัวข้อ “Strategic CSR through SDGs : The Opportunities & Competitiveness to 2020

“Strategic CSR” หรือ “ความรับผิดชอบต่อสังคมเชิงกลยุทธ์” ตามหลักการนั้น มิได้เกิดจากการลอกแบบ best practices ที่องค์กรอื่นดำเนินการ และพยายามทำให้เทียบเท่าหรือดีกว่า แต่เป็นการค้นหาสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ หรือทุนที่สั่งสมในองค์กรของตน นำมาสร้างให้เกิดความแตกต่างในการดำเนินการ ในทางที่เสริมสร้างขีดการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

การทำ “Strategic CSR” จะดำเนินการผ่านความริเริ่ม หรือโครงการที่เกี่ยวข้องจำนวนไม่มาก แต่คุณค่าร่วม (shared value) ระหว่างธุรกิจกับสังคมที่เกิดขึ้น จะมีนัยสำคัญ และเห็นผลเด่นชัด

ตัวอย่างที่ได้นำมาอภิปรายกัน คือ เรื่องการต่อต้านทุจริต ที่องค์กรสามารถยกระดับจากการปฏิบัติตามข้อกำหนด (compliance) ซึ่งเป็นการทำงาน (ตามเช็กลิสต์) ในเชิงรับ และจำกัดเฉพาะองค์กรของตน มาเป็น Strategic CSR ที่อาศัยบทบาทขององค์กร ผลักดันให้เกิดการต่อต้านทุจริตในห่วงโซ่ธุรกิจ ไปยังคู่ค้าและลูกค้า โดยเฉพาะการมุ่งไปยังส่วนงานที่มีผลกระทบสูง อาทิ ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายขาย จะสามารถสร้างผลลัพธ์ที่เกิดจากการประหยัดงบประมาณ และค่าใช้จ่ายที่รั่วไหลไปกับการทุจริตได้อย่างเป็นรูปธรรม

“Strategic CSR” สามารถเชื่อมโยงเข้ากับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ด้วยการนำห่วงโซ่ธุรกิจ ที่แสดงให้เห็นสายคุณค่า (value chain) มาใช้เป็นเครื่องมือในการระบุจุดที่องค์กรสามารถลดผลกระทบเชิงลบ (minimizing negative impact) และเพิ่มผลกระทบเชิงบวก (increasing positive impact) ที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)


อาทิ ธุรกิจเครื่องนุ่งห่ม ที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงาน และวัตถุดิบจากภาคเกษตร สามารถตอบสนองต่อ SDGs เป้าที่ 3 เรื่องสุขภาวะ ที่เป็นการจัดสถานประกอบการและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย SDGs เป้าที่ 6 เรื่องน้ำ และการสุขาภิบาล ที่เป็นการลดน้ำเสียจากการประกอบการ และ SDGs เป้าที่ 15 เรื่องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เป็นการลดความเสื่อมโทรมของดิน (เป็นเรื่องของการลดผลกระทบเชิงลบ)

ขณะที่ธุรกิจเครื่องนุ่งห่ม ยังสามารถตอบสนองต่อ SDGs เป้าที่ 8 เรื่องเศรษฐกิจ และการจ้างงาน ที่เป็นการดูแลเรื่องค่าครองชีพของพนักงานในทุกระดับ และ SDGs เป้าที่ 12 เรื่องแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ที่เป็นการเพิ่มช่องทางแก่ผู้บริโภคในการนำเครื่องนุ่งห่มใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เป็นต้น (เป็นเรื่องของการเพิ่มผลกระทบเชิงบวก)

ดังจะเห็นว่าบทบาทของธุรกิจ หรือภาคเอกชน สามารถใช้ Strategic CSR ในการตอบสนองต่อ SDGs ได้ โดยการวิเคราะห์สายคุณค่าที่องค์กรดำเนินงานอยู่ว่ามีส่วนใดที่ส่งผลกระทบ (ทั้งทางบวกและทางลบ) ต่อ SDGs และดำเนินการตอบสนองต่อ SDGs ที่เกี่ยวข้องนั้น ๆ

หากใช้ตรรกะข้างต้นในการพิจารณาบทบาทของภาครัฐ ที่เป็นหน่วยงานราชการ กระทรวง ทบวง กรม ต่างมีภารกิจของหน่วยงาน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนการบรรลุ SDGs อยู่แล้วไม่มากก็น้อย (โดยอาจไม่จำเป็นต้องริเริ่มโครงการใหม่เพิ่มเติมจากที่ดำเนินการอยู่) แต่จำเป็นต้องมีการประเมินและปรับกระบวนการให้เกิดความสอดคล้องกับ SDGs ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน

ข้อแนะนำสำหรับหน่วยงานราชการในการขับเคลื่อน SDGs ได้แก่

การเลิกสร้างโครงการใหม่ (new projects) ด้วยงบประมาณก้อนใหม่ เป็นการเริ่มปรับกระบวนงานปัจจุบัน (existing processes) ให้สอดรับกับการตอบสนอง SDGs
การลดความริเริ่มที่เป็นการทำงานแบบบนลงล่าง (top-down) เป็นการเพิ่มความริเริ่มที่เป็นการทำงานแบบล่างขึ้นบน (bottom-up)
การขจัดบรรยากาศการทำงานในแบบที่มีพิธีรีตองมากเกินไป (bureaucratic) เป็นการเพิ่มบรรยากาศการทำงานในแบบสานความร่วมไม้ร่วมมือจากทุกฝ่าย (collaborative)
การเน้นส่งเสริมการพัฒนาแบบกลุ่มความร่วมมือ (cluster) แทนการพัฒนาในแบบทีละส่วน ทีละอย่าง (piecemeal)

ส่วนรัฐบาล ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดินในระดับสูงสุด จำต้องตระหนักถึงบทบาทที่เอื้อให้เกิดความสำเร็จต่อการบรรลุ SDGs ทั้งในแง่ของการกำหนดนโยบาย กลไก และกระบวนการขับเคลื่อน จากการทำงานในรูปแบบเดิม (old model) ที่รัฐบาลเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนโยบายจากบนลงล่าง เป็นผู้ตัดสินใจ เป็นผู้ให้ทุนและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จะต้องปรับเปลี่ยนมาสู่รูปแบบใหม่ (new model) โดยตระหนักว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นกระบวนการทำงานร่วมกัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับทั้งรัฐบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในทุกระดับ ภาคธุรกิจทั้งบริษัทสัญชาติไทยและต่างสัญชาติ สมาคมการค้า ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา สถาบันวิจัย รวมทั้งชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนภาคพลเมือง


ที่สำคัญ การมีนโยบายที่ดีโดยลำพัง ไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อน แต่ปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จเกิดจากความแน่วแน่ในการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ (translating policy into action) ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะเข้าใจ และจริงจังกับเรื่อง SDGs มากน้อยเพียงใด

เพราะหากรัฐบาลไม่ดำเนินงานกับประเด็นต่าง ๆ ในเวลานี้ ในปี ค.ศ. 2020 รัฐบาลจะกลายเป็นประเด็นเสียเอง (If government is not on the issues now, in 2020, government will be an issue)


จากบทความ 'CSR Talk' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, December 09, 2018

51 รายงานความยั่งยืนที่น่าศึกษา

เมื่อวันศุกร์ (7 ธ.ค.) ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืน ปี 2561 ซึ่งจัดขึ้นร่วมกันโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย โดย CSR Club และสถาบันไทยพัฒน์


รายงานความยั่งยืน หรือ Sustainability Report เป็นรายงานรายปีที่องค์กรจัดทำขึ้นสำหรับให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์การดำเนินงาน การกำกับดูแล แนวการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่สะท้อนทั้งในทางบวกและทางลบ เพื่อให้บรรลุซึ่งความยั่งยืนทั้งขององค์กรและสังคมโดยรวม

จากข้อมูลของ Corporate Register มีองค์กรกว่า 16,000 แห่งทั่วโลกในปัจจุบัน ได้จัดทำรายงานประเภทดังกล่าวเผยแพร่ อยู่ราว 98,000 ฉบับ และจากการสำรวจของ KPMG ในปี พ.ศ.2560 ระบุว่า การรายงานความยั่งยืน ถือเป็นวัตรปฏิบัติปกติ (standard practice) ของบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคต่างๆ

โครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืนที่จัดขึ้น มุ่งเน้นให้เกิดการยกระดับการจัดทำรายงานความยั่งยืนและส่งเสริมให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ ได้มีการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) อันจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ลงทุนในตลาดทุนที่ต้องการข้อมูลด้าน ESG เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน และต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการที่เปิดเผยข้อมูล เพื่อใช้ติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อความคาดหวังของสังคมโดยรวม

สำหรับโครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืนปีนี้ มีองค์กรที่ส่งรายงานเข้ารับการพิจารณารางวัลจำนวน 100 ราย แบ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 84 ราย บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ 9 ราย บริษัททั่วไปที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และองค์กรอื่นๆ อีก 7 ราย


องค์กรที่ได้รับรางวัลรายงานความยั่งยืนมีจำนวนทั้งสิ้น 51 ราย เป็นรางวัล Award Of Sustainable Excellence จำนวน 1 ราย รางวัลระดับยอดเยี่ยม (Excellence) จำนวน 7 ราย ระดับดีเยี่ยม (Best) จำนวน 12 ราย ระดับดีเด่น (Outstanding) จำนวน 11 ราย และรางวัลเกียรติคุณ (Recognition) จำนวน 20 ราย รวมทั้งรางวัลพิเศษเพิ่มเติมอีก 4 รางวัล คือ รางวัล First Time Sustainability Report รางวัล Most Improved รางวัล Best SDGs Reporting และรางวัล Best Report Design ( ดูผลการประกาศรางวัล ได้ที่ http://bit.ly/SRaward2018 )

รายงานความยั่งยืนที่องค์กรส่งเข้ารับการพิจารณารางวัลในปีนี้ ได้มีพัฒนาการในการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนและมีความครบถ้วนมากขึ้น โดยกว่าหนึ่งในสี่ขององค์กรที่ส่งรายงานเข้ารับการพิจารณารางวัล ได้มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนโดยอ้างอิง GRI Standards ซึ่งเป็นมาตรฐานการรายงานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล จัดทำขึ้นโดยองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI)

ในระดับโลก ได้มีการจัดทำรายงานอ้างอิง GRI ที่เผยแพร่แล้วรวมกว่า 30,000 ฉบับ จากองค์กรเกือบ 9,000 แห่ง ในกว่า 90 ประเทศ โดยประเทศไทยมีจำนวนองค์กรที่มีการจัดทำรายงานอ้างอิง GRI เป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน (GRI Sustainability Disclosure Database, 2018)

ภาพรวมของการจัดทำรายงานความยั่งยืนขององค์กรที่เข้าร่วมโครงการ พบว่า มีการยกระดับการเปิดเผยข้อมูล ทั้งในด้านความสมบูรณ์ของรายงาน ความเชื่อถือได้ของรายงาน การสื่อสารและการนำเสนอของรายงานได้ชัดเจนและมีความครบถ้วนเพิ่มขึ้น และยังพบอีกว่า มีจำนวนองค์กรที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในระดับองค์กร กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในระดับสากล ทั้งในระดับเป้าหมาย กลยุทธ์ และตัวชี้วัด (KPIs) เพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง ความเข้าใจและการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาการจัดทำรายงานความยั่งยืน ให้สอดคล้องและเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานสากล รวมถึงการผนวกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เข้ากับองค์กรได้เป็นอย่างดี

ก็ต้องขอแสดงความยินดีกับองค์กรที่ได้รับรางวัลรายงานความยั่งยืนในปีนี้ ทั้ง 51 ราย และคาดหวังว่าจะสามารถรักษาระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ให้เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ รวมทั้งการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องต่อไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]