Friday, June 13, 2008

CSR CAMP ที่เขาใหญ่


เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม (CSR) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดการประชุมผู้นำเครือข่ายความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Corporate Social Responsibility : CSR) และเจ้าหน้าที่บริหารความรับผิดชอบประจำองค์กร (Corporate Responsibility Officer: CRO) หรือ "CSR CAMP" ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันจัดทำกรอบนโยบาย CSR เชิงบูรณาการ สำหรับการขับเคลื่อนงาน CSR ในภาคส่วนต่างๆ ให้เกิดการประสานเพื่อสร้างพลังของการพัฒนาสังคมร่วมกัน

การประชุมครั้งนี้มีผู้แทนองค์กรทั้งในภาคธุรกิจเอกชน หน่วยงานส่งเสริมภาครัฐ สถาบันวิชาการ และภาคประชาสังคม เข้าร่วมจำนวน 51 คน จาก 40 องค์กร อยู่ร่วมกันเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน เพื่อระดมสมองในรูปแบบของค่ายความคิดที่มีกิจกรรมทั้งการให้ข้อมูล การบรรยาย การสนทนา การประชุมเชิงปฏิบัติการ และสันทนาการรอบกองไฟผูกเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างกัน

ในงานได้มีการนำผลจากการประชุมโต๊ะกลมว่าด้วย การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR Roundtable Series) จำนวน 4 ครั้งที่ได้จัดขึ้นในระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน 2551 ซึ่งได้ประมวลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกภาคส่วนราว 200 คน มารายงานต่อที่ประชุม CSR CAMP และได้มีการหารือถึงบทบาทของภาครัฐในการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ที่สามารถใช้กลไกการอำนวยการ (facilitating) การเป็นหุ้นส่วน (partnering) และการสนับสนุน (endorsing) ภาคธุรกิจให้สามารถดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสม นอกเหนือจากการใช้อำนาจบังคับในทางกฎหมายเท่านั้น

เวิร์คชอปในด้านชุมชนและสังคม มีผู้แทนจากเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (The NETWORK) เป็นผู้นำการประชุม ได้ประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญในกรอบของการอำนวยการ เช่น มีมาตรการปรับระดับความรู้ความเข้าใจในเรื่อง CSR ของเจ้าหน้าที่รัฐ มีนโยบายการจัดการศึกษาเรื่อง CSR ให้เป็นหลักสูตรตั้งแต่ระดับโรงเรียน สร้างให้เกิดกระบวนการยกระดับ CSR ของคนในสังคมจากจริต (ความประพฤติ) ไปสู่จารีต (วัฒนธรรม) และพัฒนาแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับวิถีของสังคมไทย (เศรษฐกิจพอเพียง) ส่วนในกรอบของการเป็นหุ้นส่วน รัฐจะต้องมีนโยบายการบริหารจัดการที่เอื้อให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างธุรกิจและสังคม และในกรอบของการสนับสนุน รัฐควรส่งเสริมให้มีการจัดการด้านการบริโภคอย่างยั่งยืน เป็นต้น

เวิร์คชอปในด้านธุรกิจ มีผู้แทนจาก บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เป็นผู้นำการประชุม ได้ประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญในกรอบของการอำนวยการ เช่น การสร้างเครื่องมือจูงใจทางการเงิน การส่งเสริมให้มีการนำหลัก CSR สากลมาใช้เป็นแนวปฏิบัติสำหรับกิจการ เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้าน CSR ในเอเชีย รวมถึงการสร้างสิ่งจูงใจแก่องค์กรที่ดำเนินเรื่อง CSR อย่างมีนวัตกรรม ส่วนในกรอบของการเป็นหุ้นส่วน รัฐจะต้องสร้างกลไกการเชื่อมโยงระหว่างเอกชนและท้องถิ่น มีการพัฒนาฐานข้อมูล CSR อย่างบูรณาการ และในกรอบของการสนับสนุน รัฐควรส่งเสริมให้มีการผนวก CSR เข้ากับกระบวนการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น

เวิร์คชอปในด้านสิ่งแวดล้อม มีผู้แทนจากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นผู้นำการประชุม ได้ประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญในกรอบของการอำนวยการ เช่น รัฐควรกำหนดนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานรัฐอย่างทั่วถึง การส่งเสริมให้มีหลักสูตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการปลุกจิตสำนึก CSR ในภาคอุตสาหกรรม ส่วนในกรอบของการเป็นหุ้นส่วน รัฐจะต้องมีกระบวนวิธีที่ทำให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติงานให้เกิดความสอดคล้องและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ส่วนในกรอบของการสนับสนุน รัฐควรให้การสนับสนุนในเรื่องของการอนุรักษ์เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และการกำหนดให้ CSR เป็นวาระแห่งชาติ เป็นต้น

สำหรับเวิร์คชอปในภาครัฐ มีการนำเสนอประเด็น CSR เชิงนโยบาย โดยผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ และจากสำนักส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา ในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมีผู้แทนจากศูนย์วิจัยแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้นำการประชุม ได้ร่วมกันหารือถึงกรอบนโยบายในแต่ละประเด็นตามมิติความสำคัญ ความเร่งด่วน และโอกาสสำเร็จ พร้อมกับการระบุถึงหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาเป็นกรอบนโยบาย CSR เชิงบูรณาการที่จะนำไปเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศต่อไป

นอกจากการประชุมเชิงปฏิบัติการที่กล่าวถึงงาน CSR CAMP ครั้งนี้ยังได้มีเวที Dinner Talk สำหรับร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้นำเครือข่าย CSR และ CRO ภาคเอกชน โดยมีผู้แทนจากหลายองค์กรร่วมเป็นผู้นำการสนทนา อาทิเช่น กสท โทรคมนาคม, เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN), โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, ไปรษณีย์ไทย, องค์การ PLAN ประเทศไทย ทำให้ได้ข้อมูลการทำงานด้าน CSR ของหน่วยงานต่างๆ

รวมทั้งเรื่องราวเบื้องหลังความประทับใจ ความยากลำบากในการฝ่าฟันเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลอย่างไม่ย่อท้อ จนกลายมาเป็นความอิ่มใจที่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวด้วยคำพูดใดๆ รวมทั้ง CSR CAMP คราวนี้ ยังได้มีฉันทามติแต่งตั้ง CSR AMBASSADOR คนแรกของเมืองไทย ขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้เผยแพร่ความดีสู่สังคมในโอกาสต่อไป...(จากคอลัมน์ 20CEOs20IDEAs) External Link