Thursday, January 28, 2016

การเปิดเผยข้อมูล CSR ตามแบบ 56-1

ช่วงต้นปีทุกปี จะเป็นเวลาที่บริษัทจดทะเบียนต้องมีการจัดทำข้อมูลเพื่อเปิดเผยในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) หรือรายงานประจำปี (แบบ 56-2) โดยมีระยะเวลา 3 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี หมายความว่า บริษัทจดทะเบียนที่มีรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดในเดือนธันวาคม มีหน้าที่ดำเนินการรายงานข้อมูลตามแบบแสดงรายการดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม

นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ถูกระบุไว้เป็นหัวข้อหนึ่งที่บริษัทจดทะเบียน จะต้องดำเนินการรายงานข้อมูล โดยที่บริษัทจดทะเบียนมีทางเลือกในการเปิดเผย 3 แนวทางด้วยกัน คือ

แนวทางแรก เปิดเผยข้อมูลภายใต้หัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคมในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) หรือรายงานประจำปี (แบบ 56-2) ตามแต่กรณี

แนวทางที่สอง อ้างอิงไปยังรายงานที่จัดทำแยกเล่มที่เปิดเผยในเว็บไซต์ของบริษัท

แนวทางที่สาม เปิดเผยสาระสำคัญโดยรวมอยู่กับข้อมูลการดำเนินงานอื่น ๆ ของบริษัท โดยอธิบายกระบวนการจัดทำรายงานไว้ในหัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคม

สำหรับเนื้อหาสาระของข้อมูล CSR ที่ควรดำเนินการเปิดเผย ประกอบด้วยข้อมูลใน 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่

(1)นโยบายภาพรวม รวมถึงวิสัยทัศน์ ภารกิจ และกลยุทธ์ที่นำไปสู่ความยั่งยืน (CSR-in-process)
(2)ข้อมูลการดำเนินงาน ประกอบด้วย กระบวนการจัดทำรายงาน มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่ใช้ และการดำเนินงานซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่บริษัทได้เปิดเผยไว้
(3)การดำเนินธุรกิจที่มีผลกระทบต่อความรับผิดชอบต่อสังคม (ถ้ามี) ในกรณีที่บริษัทหรือบริษัทย่อย ถูกตรวจสอบ ถูกกล่าวหา หรือถูกฟ้องร้องในเรื่องเกี่ยวกับหลักการ CSR 8 ข้อ (ประกอบด้วย การประกอบกิจการด้วยความเป็นธรรม การต่อต้านการทุจริต การเคารพสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การร่วมพัฒนาชุมชนหรือสังคม และการมีนวัตกรรมและเผยแพร่นวัตกรรมซึ่งได้จากการดำเนินงานที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้เสีย) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจ ชื่อเสียง หรือความน่าเชื่อถือของบริษัทหรือบริษัทย่อยอย่างมีนัยสำคัญ
(4)กิจกรรมเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR-after-process) ตามที่ประสงค์จะเปิดเผย

ในส่วนที่ (1) บริษัทควรอธิบายให้เห็นว่าคณะกรรมการบริษัทมีนโยบายให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทและบริษัทย่อยเป็นไปด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ตามหลักการ 8 ข้อ อย่างไร

ในส่วนที่ (2) บริษัทควรอธิบายใน 2 เรื่องสำคัญ คือ เรื่องกระบวนการจัดทำรายงาน เช่น อธิบายถึงการกำหนดหลักการ และกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ที่บริษัทให้ความสำคัญในการดำเนินการ มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่ใช้ เป็นต้น ทั้งนี้ ในกรณีที่บริษัทเลือกดำเนินการและการจัดทำรายงานตามมาตรฐานสากล ให้ระบุชื่อองค์กร หรือมาตรฐานสากลที่ใช้ดำเนินการและการจัดทำรายงานดังกล่าวไว้ด้วย และเรื่องการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายที่บริษัทได้เปิดเผยไว้ เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ การจัดหาวัตถุดิบ การออกแบบกระบวนการผลิต การปฏิบัติต่อพนักงานลูกจ้าง นโยบายการแข่งขัน ฯลฯ เป็นไปด้วยความเป็นธรรม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การป้องกันการมีส่วนร่วมกับการคอร์รัปชั่น การเคารพสิทธิของผู้มีส่วนได้เสีย อย่างไร หรือบริษัทได้ดำเนินการอย่างไร ให้เป็นไปตามหลักการดังกล่าว ตั้งแต่การประเมินความเสี่ยง การกำหนดแนวปฏิบัติ การสื่อสารกับพนักงานและลูกจ้าง การตรวจสอบการปฏิบัติ เป็นต้น ทั้งนี้ ในกรณีที่บริษัทมีข้อมูลตัวชี้วัดการดำเนินการดังกล่าว บริษัทควรระบุข้อมูลไว้ด้วย

ในส่วนที่ (3) หากมีกรณีที่บริษัทและบริษัทย่อยถูกตรวจสอบหรืออยู่ระหว่างถูกตรวจสอบโดยหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ว่าการดำเนินงานของบริษัทหรือบริษัทย่อยมีการฝ่าฝืนกฎหมายในเรื่องเกี่ยวกับหลักการ 8 ข้อ อย่างมีนัยสำคัญ หรือเป็นกรณีที่การดำเนินธุรกิจของบริษัทและบริษัทย่อยมีส่วนหรือถูกกล่าวหาว่า มีผลกระทบด้านลบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม หรือไม่เป็นไปตามหลักการ 8 ข้อ โดยเฉพาะกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณชน และเป็นกรณีที่อาจกระทบต่อการประกอบธุรกิจ ชื่อเสียง หรือความน่าเชื่อถือ ของบริษัทหรือบริษัทย่อยอย่างมีนัยสำคัญ เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทควรเปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีนั้น พร้อมทั้งอธิบายเหตุผล ผลกระทบต่อบริษัทหรือบริษัทย่อย การแก้ไข และแนวทางตรวจสอบป้องกันในอนาคต ทั้งนี้ หากเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล บริษัทหรือบริษัทย่อยตกเป็นคู่ความหรือคู่กรณี บริษัทอาจเปิดเผยโดยอ้างอิงไปยังหัวข้อข้อพิพาททางกฎหมายก็ได้

ในส่วนที่ (4) บริษัทอาจเปิดเผยกิจกรรมเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR-after-process) ของบริษัทหรือบริษัทย่อยในรอบปีที่ผ่านมาไว้ด้วยได้ โดยให้แยกจากเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมที่เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจปกติของบริษัทหรือบริษัทย่อย

บริษัทจดทะเบียนสามารถศึกษาประกาศหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลตามแบบ 56-1 Checklist สำหรับสอบทานการเปิดเผยข้อมูล CSR ในแบบ 56-1 รวมทั้งข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/Form56-1

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, January 21, 2016

ธุรกิจของคุณ เพื่อสังคมขนาดไหน

ในบทความตอนที่แล้ว ได้พาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับประเภทของธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Business ตามแนวคิดของ ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส และการนำธุรกิจเพื่อสังคมมาตอบโจทย์ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) คือ ยุติความยากจน (Zero Poverty) ขจัดการว่างงาน (Zero Unemployment) บริหารการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ สุทธิให้เป็นศูนย์ (Zero Net Carbon Emissions)

สำหรับบทความตอนนี้ จะพาท่านผู้อ่านไปเข้าถึงหลักการของธุรกิจเพื่อสังคม ที่มูฮัมหมัด ยูนุส ได้บัญญัติขึ้น ด้วยความช่วยเหลือของ ฮานส์ ไรทซ์ ผู้อำนวยการ กรามีน ครีเอทีฟ แลป เมืองวีสบาเดิน ประเทศเยอรมนี อันประกอบด้วย 7 หลักการ (Type I social business) ได้แก่

1.เป็นธุรกิจที่มุ่งแก้จน หรือมุ่งแก้ปัญหาอื่น (เช่น การศึกษา สุขภาพ การเข้าถึงเทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม) ที่คุกคามผู้คนและสังคม, ไม่ใช่เพื่อแสวงหากำไรสูงสุด
2.มีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและการเงิน
3.คนลงขันให้ทำได้ทุนคืน ไม่มีปันผลใดๆ ให้ นอกเหนือจากเงินต้นที่ได้คืน
4.เมื่อคืนทุนให้คนลงเงินไปแล้ว กำไรจากธุรกิจ จะเก็บไว้กับกิจการ เพื่อใช้ขยายงานและปรับปรุงพัฒนาต่อ
5.ห่วงใยสิ่งแวดล้อม
6.คนงานได้ค่าแรงตามอัตราท้องตลาด บวกสภาพการทำงานที่ดีขึ้น
7....ทำด้วยความเบิกบาน

ยูนุส เน้นว่า ธุรกิจเพื่อสังคม เป็นระบอบธุรกิจแห่งความเบิกบาน ทำด้วยความเบิกบาน และเป็นไปเพื่อความเบิกบาน (แบบไร้ขีดจำกัด !)

ทีนี้ มาดูกันต่อว่า จะมีเช็คลิสต์อะไรบ้าง ที่ใช้ตรวจสอบสถานะธุรกิจของเรา ว่าเป็นไปเพื่อสังคมมากน้อยขนาดไหน (How social is your business?)

เริ่มจาก คำถามข้อแรก คือ “มีความมุ่งประสงค์ทางสังคมหรือไม่

ถ้าไม่มี แสดงว่ากิจการของเราเป็นกิจการพาณิชย์ (Commercial Enterprise)

ถ้ามี คำถามข้อต่อไป คือ “มุ่งกำไรหรือไม่

ถ้าไม่ แสดงว่ากิจการของเราเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่แสวงหากำไร (Non-profit Social Enterprise)

ถ้าใช่ คำถามข้อต่อไป คือ “มีการปันผลกำไรหรือไม่

ถ้าไม่มี แสดงว่ากิจการของเราเป็น ธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 1 (Type I social business)

ถ้ามี คำถามข้อต่อไป คือ “ผู้ถือหุ้นที่รับปันผลเป็นคนยากจนหรือผู้ด้อยโอกาสหรือไม่

ถ้าไม่ใช่ แสดงว่ากิจการของเราเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่แสวงหากำไร (For-profit Social Enterprise)

ถ้าใช่ แสดงว่ากิจการของเราเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 2 (Type II social business)

คำถามเช็คลิสต์ข้างต้น สามารถบรรยายเป็นแผนภาพเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ดังนี้


คำตอบที่ได้ จากรายการคำถามนี้ จะช่วยให้ทราบว่า ธุรกิจของคุณ เพื่อสังคมขนาดไหน!

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, January 14, 2016

รู้จัก Social Business

หนึ่งในแนวทางที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) จำนวน 17 ข้อ ตามที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป็นเป้าหมายโลก นับจากปี 2559 เป็นต้นไป ทอดยาวไปอีก 15 ปีข้างหน้า คือ การผลักดันให้เกิด ‘ธุรกิจเพื่อสังคม’ หรือ Social Business สู่ขีดระดับที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส ผู้ที่เป็นต้นตำรับแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม ระบุว่าวาระการพัฒนาหลังปี ค.ศ.2030 จะสำเร็จตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้นั้น ต้องนำธุรกิจเพื่อสังคมมาตอบโจทย์ 3 ศูนย์ โดยศูนย์แรก คือ สิ้นความยากจน (Zero Poverty) ศูนย์ที่สอง คือ ไร้การว่างงาน (Zero Unemployment) และศูนย์ที่สาม คือ การปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ สุทธิเป็นศูนย์ (Zero Net Carbon Emissions)

ถ้าหากเรื่องธุรกิจเพื่อสังคม สามารถใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ก็น่าสนใจไม่น้อย ที่จะมาทำความรู้จักกับ ธุรกิจเพื่อสังคม ตามแนวคิดของมูฮัมหมัด ยูนุส เพื่อนำมาใช้เป็นกลไกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนกันนะครับ

ในหนังสือชื่อ ‘Building Social Business’ ที่มูฮัมหมัด ยูนุส เขียนไว้เมื่อปี ค.ศ.2010 บอกว่า ธุรกิจเพื่อสังคม เป็นธุรกิจพรรค์ใหม่ ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และไม่ใช่องค์กรที่ไม่แสวงหากำไรซึ่งอยู่ได้ด้วยเงินบริจาคหรือเป็นองค์กรการกุศล อีกทั้งยังไม่เหมือนกับกิจการประเภท ‘วิสาหกิจเพื่อสังคม’ ที่สามารถแสวงหากำไรและยอมให้มีการปันผลกำไรแก่ผู้ถือหุ้น

ธุรกิจเพื่อสังคม อยู่นอกอาณาเขตของการมุ่งแสวงหากำไร เป้าหมายของธุรกิจพรรค์นี้ คือการแก้ไขปัญหาสังคมด้วยวิธีการทางธุรกิจ ที่ครอบคลุมถึงการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์และบริการ ดังตัวอย่างของ กรามีน-ดาน่อน ที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาทุพโภชนาการ ด้วยการผลิตโยเกิร์ตที่เติมธาตุอาหารเสริมจำหน่ายแก่ผู้มีรายได้น้อย หรือ กรามีน-วีโอเลีย ที่ช่วยแก้ปัญหาของผู้อยู่อาศัยในแหล่งที่มีการปนเปื้อนของสารหนูในน้ำดื่ม ด้วยการจำหน่ายน้ำดื่มบริสุทธิ์ในราคาถูกตามกำลังซื้อของคนในระดับฐานราก หรือ บีเอเอสเอฟ-กรามีน ที่ต้องการควบคุมโรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ ด้วยการผลิตและจำหน่ายมุ้งเคลือบสารกันยุงในแหล่งที่เกิดการแพร่ระบาดของโรค เป็นต้น

ธุรกิจเพื่อสังคม ตามนิยามของมูฮัมหมัด ยูนุส แบ่งออกเป็น 2 ประเภท โดยประเภทแรก เป็นธุรกิจที่ไม่สูญเงินต้น-ไม่ปันผลกำไร (non-loss, non-dividend) โดยมุ่งที่จะแก้ปัญหาสังคมเป็นสำคัญ มีการถือหุ้นโดยผู้ลงทุนหรือบุคคลทั่วไป และนำกำไรทั้งหมดที่ได้ กลับมาพัฒนาและขยายธุรกิจต่อ ดังในตัวอย่างข้างต้น ซึ่งยูนุสเรียกว่า ธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 1 หรือ Type I social business

เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 1 นี้ สามารถได้รับเงินลงทุนคืน เฉพาะเงินต้นเท่านั้น ไม่มีการให้ดอกเบี้ย หรือชดเชยค่าเงินเฟ้อใดๆ คือ non-loss และจะไม่ได้รับปันผลใดๆ จากกำไรที่เกิดขึ้นจากธุรกิจ โดยกำไรทั้งหมดจะคงไว้ในกิจการเพื่อใช้แก้ปัญหาสังคม คือ non-dividend

ธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 2 หรือ Type II social business เป็นธุรกิจที่แสวงหากำไรและสามารถปันผลได้ แต่อยู่บนเงื่อนไขว่าเจ้าของธุรกิจหรือผู้ถือหุ้นของกิจการจะต้องเป็นผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาส เพราะการปันผลกำไรนั้น ถือเป็นการขจัดความยากจน เป็นการแก้ไขปัญหาสังคม สมตามจุดมุ่งหมายของธุรกิจเพื่อสังคมในตัวเอง

ตัวอย่างของธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 2 ได้แก่ ธนาคารกรามีน ซึ่งถือหุ้นโดยคนยากจน ที่เป็นทั้งผู้ฝากเงินและลูกค้าสินเชื่อ โดยนำสินเชื่อไปใช้ในการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้หลุดพ้นจากความยากไร้ จนกลายมาเป็นการบุกเบิกแนวคิดสินเชื่อรายย่อย หรือ Microfinance ที่ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินแก่กลุ่มคนฐานรากในหลายประเทศทั่วโลก

รูปแบบของธุรกิจเพื่อสังคม ยังถูกนำไปเทียบกับรูปแบบของสหกรณ์ที่มีสมาชิกเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น ซึ่งมีการปันผลกำไรที่ได้ให้แก่สมาชิกตามส่วน ในกรณีนี้ ยูนุสได้ขยายความว่า สหกรณ์ จัดอยู่ในข่ายที่เรียกว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคมได้ ก็ต่อเมื่อ สมาชิกที่เป็นเจ้าของสหกรณ์เป็นคนยากจนเท่านั้น เนื่องจากการปันผลกำไรจะต้องเป็นไปเพื่อช่วยเหลือคนยากไร้ให้หลุดพ้นจากความยากจน ตามนิยามของ Type II social business

แต่เมื่อใดก็ตาม ที่สหกรณ์ถูกจัดตั้งขึ้นโดยคณะบุคคลทั่วไปหรือองค์กรที่รวมตัวกันเพื่อวัตถุประสงค์ในการปกป้องหรือรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มสมาชิก แม้เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นจะจัดอยู่ในข่ายธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 1 แต่สหกรณ์มีการดำเนินงานเพื่อแสวงหากำไรและปันผลกำไรกันระหว่างสมาชิกที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น ซึ่งมิใช่เป็นผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสที่แท้จริง สหกรณ์ประเภทดังกล่าวนี้ ไม่จัดว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคม

ด้วยหลักเกณฑ์เดียวกันนี้ วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ที่ก่อตั้งขึ้นโดยมีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลทั้งหมดหรือบางส่วนที่มิใช่ผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาส และมีการปันผลกำไรที่เกิดขึ้นจากกิจการแก่บุคคลหรือนิติบุคคลนั้น วิสาหกิจเพื่อสังคม ในกรณีนี้ ไม่จัดว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคมด้วยเช่นกัน

นั่นหมายความว่า วิสาหกิจเพื่อสังคม ที่จะจัดว่าเป็น Social Business มี 2 กรณี คือ กรณีแรก ไม่มีการปันผลกำไรระหว่างผู้ถือหุ้น (เป็นบุคคลหรือนิติบุคคลทั่วไป) กำไรทั้งหมดต้องเก็บไว้กับตัวกิจการเพื่อนำไปแก้ไขปัญหาสังคม (เป็นธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 1) หรือกรณีที่สอง มีการปันผลกำไรระหว่างผู้ถือหุ้น (เป็นคนยากจนหรือผู้ด้อยโอกาสเท่านั้น) ถือเป็นการแก้ไขปัญหาสังคมด้วยตัวกิจการเอง (เป็นธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 2)

รู้จัก Social Business กันอย่างนี้แล้ว ใครอยากทำธุรกิจเพื่อสังคม ยกมือขึ้น!

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, January 07, 2016

มาเป็นองค์กรปลอดสินบนกันเถอะ

สวัสดีปีใหม่ ท่านผู้อ่านทุกท่านครับ ปกติในช่วงเริ่มต้นของปี หลายท่านมักจะมีการตั้งปณิธาน (Resolution) ว่าปีใหม่นี้จะทำอะไรบ้าง ที่เป็นเรื่องดีๆ เรื่องใหม่ๆ หรือเรื่องที่ตั้งใจจะทำอย่างแน่วแน่

ผมขออนุญาตใช้เนื้อที่บทความนี้ เสนอเรื่องให้ท่านพิจารณาเป็นปณิธานซักหนึ่งเรื่องนะครับ

ในปี 2559 นี้ องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) จะมีการประกาศมาตรฐานว่าด้วยระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบน หรือ Anti-bribery management systems ในรหัสมาตรฐาน ISO 37001 ที่สามารถขอรับการรับรองจากหน่วยรับรอง (Certification Body) ได้

เนื่องจากการติดสินบน เป็นหนึ่งในรูปแบบของการทุจริต ที่ได้กลายเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติ สร้างทั้งความสูญเสียในระบบเศรษฐกิจ ความเสียหายทางสังคมทั้งในเชิงกายภาพที่กระทบกับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์ หรืออันตรายจากการบริโภคสินค้าที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน

ในเชิงนามธรรม ที่ส่งผลกระทบกับค่านิยมและทัศนคติของคนในสังคม โดยเฉพาะกับคนรุ่นหลังที่เป็นอนาคตของชาติ ที่จากผลการสำรวจในระยะหลัง เห็นว่าการทุจริตเป็นเรื่องปกติและรับได้หากได้ประโยชน์ด้วย

รวมกระทั่งถึงความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทุจริตในโครงการที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า เป็นต้น

ข้อมูลจากธนาคารโลก ระบุว่า ในแต่ละปี มีการจ่ายเงินเพื่อการติดสินบนสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของจีดีพีโลก และประเมินว่ามีองค์กรธุรกิจกว่าร้อยละ 50 ที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินติดสินบน ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรและความเป็นธรรมในธุรกิจ สร้างให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมในสังคม จนกลายเป็นอุปสรรคบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ในประเทศไทย มีการประเมินกันว่า มูลค่าความสูญเสียที่เกิดจากการทุจริต อาจมีจำนวนสูงถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี เงินจำนวนนี้ หากสามารถนำกลับมาพัฒนาสังคมส่วนรวม จะทำให้ประชาชน ได้รับประโยชน์ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การคมนาคมขนส่ง การจ้างงาน ในด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการมลภาวะและของเสีย ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ จากผลสำรวจอาชญากรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย ประจำปี 2557 โดยไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PwC) ต่อประเภทของการทุจริต ระบุว่า ร้อยละ 39 เป็นการรับสินบนและคอร์รัปชัน ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าตัวเลขในระดับเอเชียแปซิฟิกที่ร้อยละ 30 และระดับโลกที่ร้อยละ 27

ยิ่งตัวเลขดังกล่าวสูงเท่าใด ต้นทุนการทุจริตที่ถูกผลักเป็นภาระแฝงในค่าสินค้าและบริการก็สูงขึ้นในจำนวนที่เท่ากัน ทั้งเจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร และพนักงานในภาคเอกชน ซึ่งต่างเป็นผู้บริโภคในระบบ ก็ต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดจากการทุจริตกันอย่างถ้วนหน้า

ถึงแม้ไทยจะมีกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และมีบทบัญญัติที่ไม่ได้ด้อยไปกว่ากฎหมายในประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ อย่างไรก็ตาม การพึ่งกฎหมายและมาตรการลงโทษเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องอาศัยการป้องกันที่เหมาะสมด้วย

องค์กรจึงควรวางมาตรการป้องกันการติดสินบนให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการธุรกิจ เช่นเดียวกับระบบการจัดการคุณภาพ และสิ่งแวดล้อม

มาตรฐาน ISO 37001 เป็นระบบการจัดการป้องกันการติดสินบน ที่ช่วยให้ผู้บริหาร ตลอดจนผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียขององค์กร เกิดความมั่นใจว่า องค์กรมีการดำเนินงานที่ดี และเหมาะสม เพื่อป้องกันการทุจริตติดสินบน โดยองค์กรสามารถใช้มาตรฐานนี้เป็นเงื่อนไขในการดำเนินโครงการ หรือทำธุรกิจกับคู่ค้าทางธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

การดำเนินการตามมาตรฐาน ISO 37001 มีความยืดหยุ่นในการปรับใช้ได้กับองค์กรในทุกขนาด และทุกประเภท เป็นข้อกำหนดที่ให้แนวทางในการจัดทำ ดำเนินการ การรักษาไว้ ตลอดจนการปรับปรุงระบบการจัดการป้องกันการติดสินบน เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดการลดความเสี่ยงด้านการทุจริตติดสินบนจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน หรือองค์กรไม่แสวงหากำไร โดยความเสี่ยงนั้นอาจเกิดขึ้นจากการกระทำขององค์กรเอง หรือบุคลากรในองค์กรไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

อย่าลืมนะครับ การต่อต้านการทุจริต ไม่ได้เกิดจากการบอกให้ผู้อื่นเลิกทุจริต หรือรอให้ผู้อื่นทำ แต่เกิดจากการลงมือปฏิบัติด้วยตัวของเราเอง ด้วยองค์กรของเราเอง และด้วยความหวังที่จะสร้างให้เกิดเป็นวัฒนธรรมของการไม่ทุจริตไปสู่คนทุกคน ไปสู่องค์กรทุกองค์กร

หากองค์กรของท่าน คิดว่าจะมีปณิธานในการต่อต้านการติดสินบนในปีใหม่นี้ ผมขอเชียร์ให้ท่านเตรียมความพร้อมด้วยการนำมาตรฐาน ISO 37001 ไปดำเนินการ ในช่วงระหว่างที่ไอเอสโอกำลังจะประกาศใช้มาตรฐานนี้อย่างเป็นทางการภายในปี 2559 นี้

เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมองค์กรของท่านในการเข้าสู่กระบวนการรับรองระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบน ด้วยมาตรฐานที่สากลยอมรับ และให้ได้ชื่อว่าเป็น “องค์กรปลอดสินบน” (Bribery-free Organization) ตามมาตรฐานสากลเป็นองค์กรแรกๆ ในประเทศไทย

ขอให้ปณิธานที่ท่านตั้งไว้ เป็นจริงครับ!

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]