Sunday, December 22, 2019

84 องค์กรร่วมขับเคลื่อน SDGs เป้าที่ 12.6

จากฐานข้อมูล GRI Sustainability Disclosure Database (SDD) ซึ่งเป็นแหล่งรวมข้อมูลรายงานแห่งความยั่งยืนของกิจการทั่วโลก ในข้อมูลหมวดที่เป็นการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) Target 12.6 – Country Tracker ในรอบการรายงานปี 2558 ประเทศไทยมีรายงานที่เปิดเผยจำนวน 41 เล่ม

ในปี พ.ศ.2559 สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งเน้นงานส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการร่วมกับภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง ได้เข้าเป็น GRI Data Partner เพื่อร่วมจัดทำฐานข้อมูล SDD ของ GRI ในอันที่จะตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าที่ 12.6 ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลนานาประเทศ ผลักดันให้กิจการ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับข้อปฏิบัติที่ยั่งยืนไปดำเนินการ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนเข้าไว้ในรอบการรายงานประจำปีของบริษัท

ทำให้ ในรอบการรายงานปี 2559 ประเทศไทยมีรายงานที่เปิดเผยเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 108 เล่ม (เพิ่มขึ้น 1.6 เท่า) และในรอบการรายงานปี 2560 เพิ่มจำนวนเป็น 120 เล่ม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 11)

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีตัวเลขการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่อ้างอิงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในฐานข้อมูล SDD ของ GRI มากเป็นอันดับ 5 ของโลก


เครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการส่งเสริมให้กิจการมีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ได้แก่ การประกาศรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (Sustainability Disclosure Community: SDC) ที่สถาบันไทยพัฒน์จัดตั้งขึ้น เพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจที่เป็นสมาชิกของ SDC ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงาน ซึ่งครอบคลุมทั้งการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หรือประเด็นด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) นอกเหนือจากข้อมูลทางการเงิน ในรูปแบบของการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน หรือรูปแบบอื่นๆ ซึ่งแสดงถึงความยั่งยืนของธุรกิจ อันจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ และการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 12.6 ร่วมกัน


รางวัลเกียรติคุณ: Sustainability Disclosure Award

ในการมอบรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ปี 2562 แบ่งออกเป็น 3 ประเภทรางวัล ได้แก่ Sustainability Disclosure Award (รางวัลเกียรติคุณ) มีองค์กรที่ได้รับรางวัล จำนวน 27 แห่ง Sustainability Disclosure Recognition (ประกาศเกียรติคุณ) มีองค์กรที่ได้รับประกาศเกียรติคุณ จำนวน 21 แห่ง และ Sustainability Disclosure Acknowledgement (กิตติกรรมประกาศ) มีองค์กรที่ได้รับกิตติกรรมประกาศ จำนวน 36 แห่ง ตามลำดับ


ประกาศเกียรติคุณ: Sustainability Disclosure Recognition

สำหรับการพิจารณาตัดสินรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ใช้เกณฑ์ 3 ด้าน ที่อ้างอิงจาก Ceres-ACCA* ประกอบด้วย ด้านความสมบูรณ์ (Completeness) ของเนื้อหา น้ำหนักคะแนน 45% ด้านความเชื่อถือได้ (Credibility) ของเนื้อหา น้ำหนักคะแนน 35% ด้านการสื่อสารและนำเสนอ (Communication) เนื้อหา น้ำหนักคะแนน 20% ตามลำดับ


กิตติกรรมประกาศ: Sustainability Disclosure Acknowledgement

ทั้งนี้ การคัดเลือกบริษัทที่ได้รับรางวัล พิจารณาจากข้อมูลความยั่งยืนที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ อาทิ รายงานแห่งความยั่งยืน หรือรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมบูรณาการในรายงานประจำปี หรือรายงานในรูปแบบอื่น ทั้งที่เป็นรูปเล่มรายงาน ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์ อินโฟกราฟิก ฯลฯ โดยไม่ใช้แบบสำรวจข้อมูลหรือแบบสอบถามใดๆ เพิ่มเติม

สำหรับกิจกรรมการมอบรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ประจำปี 2562 ภายใต้ประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (SDC) ซึ่งในปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 104 องค์กร นอกจากจะเป็นการส่งเสริมและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่องค์กรที่ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนต่อสาธารณะแล้ว ยังต้องการเชิดชูองค์กรธุรกิจที่ได้รับรางวัลทั้ง 84 แห่ง ที่ได้ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่ 12.6 ร่วมกันด้วย

ขอแสดงความยินดีกับองค์กรที่ได้รับรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนในปีนี้ ทั้ง 84 ราย และหวังว่าจะสามารถรักษาระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ให้เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ รวมทั้งการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องต่อไป


--------------------------------------
* CERES ย่อมาจาก Coalition for Environmentally Responsible Economies หรือแนวร่วมกลุ่มเศรษฐกิจที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และ ACCA ย่อมาจาก the Association of Chartered Certified Accountants หรือสมาคมผู้สอบบัญชีรับอนุญาต



จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, December 08, 2019

Social Business ธุรกิจในทศวรรษ 2020

ศ.มูฮัมมัด ยูนุส ผู้บุกเบิกแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม ได้นิยาม Social Business ไว้ว่า เป็นการดำเนินธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม ด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และที่น่าสนใจ คือ โมเดล Social Business สามารถใช้เงินทุนให้เกิดประโยชน์แก่สังคม แตกต่างจากธุรกิจปกติ โดยเงินต้นที่เป็นทุนยังอยู่ครบ


ด้วยเหตุที่การประกอบธุรกิจเพื่อสังคม ไม่มีนโยบายปันผลกำไร ทำให้โครงสร้างหรือรูปแบบการถือครองหุ้นเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนบุคคล จึงไม่มีนัยสำคัญ ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคมในภาคส่วนนี้ ยูนุสใช้คำเรียกว่าเป็น Citizen Sector อันหมายถึงกลุ่มของปัจเจกชนซึ่งทำงานอยู่ในภาคเอกชน ที่นำความเชี่ยวชาญหลัก (Core Expertise) ในธุรกิจ มาใช้แก้ไขปัญหาสังคมส่วนรวม แทนการใช้แสวงหาประโยชน์ส่วนตน

ทั้งนี้ เงินลงทุนในธุรกิจเพื่อสังคม เมื่อใดที่เจ้าของเงินลงทุนต้องการเอาเงินต้นกลับคืน ก็สามารถทำได้ภายใต้ระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ส่วนกำไรที่ทำมาหาได้ทั้งหมดระหว่างดำเนินงาน ต้องคงไว้ในกิจการ

Social Business ไม่มีการปันผลกำไร (Non-dividend) เนื่องจากไม่ได้มีเป้าหมายในการสร้างมูลค่าหรือความมั่งคั่งให้แก่เจ้าของกิจการ ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคม จึงมีอิสระที่จะเลือกเข้าถึงตลาดในส่วนที่ไม่ได้รับการตอบสนองจากธุรกิจปกติ เช่น การพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการตามกำลังซื้อของคนในระดับฐานราก เพื่อแก้ปัญหาด้านสุขภาวะหรือยกระดับคุณภาพชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องพะวงเรื่องการทำกำไรสูงสุด

ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคม ต้องแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารจัดการเงินลงทุนที่ได้รับโดยไม่ให้ขาดทุน (Non-loss) สร้างเป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิดรายได้เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงกิจการ โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินบริจาคหรือเงินอุดหนุนจากภายนอก เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่มุ่งสร้างคุณค่าสูงสุด (Maximize Value) ให้แก่สังคม ตรงกันข้ามกับธุรกิจปกติที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น

ทั้งนี้ การมีรายได้พอเลี้ยงตัวเอง มิได้เป็นเงื่อนไขในการจำกัดขนาดของ Social Business แต่อย่างใด ธุรกิจเพื่อสังคมบางแห่ง เป็นกิจการขนาดใหญ่ เช่น ธุรกิจจัดหาพลังงานสะอาดให้แก่ครัวเรือนในชนบท ที่ชื่อ กรามีน ศักติ (แปลว่า กำลัง) ซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ.1996 ในรูปองค์กรไม่แสวงหากำไร และได้แปลงสภาพเป็นธุรกิจเพื่อสังคมในปี ค.ศ.2010 ปัจจุบันมีรายได้อยู่ที่ 2,834 ล้านบาท และมีพนักงานทำงานอยู่กว่า 12,000 คน

Social Business ตามแนวคิดของยูนุส ก่อประโยชน์ทั้งในเชิงธุรกิจและในเชิงสังคม โดยประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ ได้แก่ การแก้ปัญหาสังคมด้วยนวัตกรรมที่ไม่ผูกติดกับเงื่อนไขเชิงพาณิชย์ การสร้างทางเลือกให้แก่กลุ่มเป้าหมายจากการเป็นผู้ที่รอรับความช่วยเหลือ เป็นผู้ที่มีกำลังซื้อในระดับราคาที่จับจ่ายได้ การใช้ประโยชน์จากโมเดลธุรกิจในการส่งมอบผลลัพธ์ที่สืบเนื่องไม่สิ้นสุด การเสริมสร้างกรอบคิดทางธุรกิจในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน การเพิ่มความเป็นรูปธรรมในการตรวจสอบและประเมินความคุ้มค่าที่สังคมได้รับด้วยตัวเลขทางบัญชี เป็นต้น

ส่วนประโยชน์สำหรับธุรกิจที่นำโมเดล Social Business มาใช้ ได้แก่ ความคุ้มค่าของเม็ดเงินช่วยเหลือสังคมที่ให้ผลยั่งยืนกว่าการทำ CSR ในรูปการบริจาค โอกาสในการเรียนรู้และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ซึ่งอาจนำไปสู่การค้นพบตลาดหรือลูกค้ากลุ่มใหม่ ความภาคภูมิใจของพนักงานและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องซึ่งนำไปสู่ความผูกพันกับองค์กร และการรับรู้ที่น้อมไปในทางซึ่งส่งผลเชิงบวกต่อตราสินค้า เป็นต้น

ด้วยโมเดล Social Business นี้เอง เปิดโอกาสเจ้าของทุนมีทางเลือกในการแปรเงินทุนดำเนินงาน จากการทำธุรกิจที่มุ่งกำไรสูงสุด มาสู่การทำธุรกิจที่สร้างคุณค่าสูงสุด เป็นทางเลือกของธุรกิจในทศวรรษ 2020 ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และทำประโยชน์แก่สังคมควบคู่ไปพร้อมกัน


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, November 24, 2019

ธรรมาภิบาลในทศวรรษ 2020

เรื่องธรรมาภิบาลในประเทศไทย ได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นวาระสำคัญระดับชาติ ในสมัยที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ที่ธุรกิจขนาดใหญ่และสถาบันการเงินกู้เงินระยะสั้นดอกเบี้ยถูกจากต่างประเทศ มาแสวงหาผลตอบแทน เก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ และปั่นราคาอสังหาริมทรัพย์เกิดเป็นฟองสบู่ จนกระทั่งถูกต่างชาติโจมตีค่าเงิน เพื่อหวังทำกำไร จากความจำเป็นในการลอยตัวค่าเงินบาท

จากปัจจัยในเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ความไม่โปร่งใสในการบันทึกบัญชีและการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ที่เป็นประเด็นของการขาดการกำกับดูแลกิจการที่ดีในยุคฟองสบู่แตก ในปี 2545 รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นปีแห่งการเริ่มต้นรณรงค์การกำกับดูแลกิจการที่ดี ทำให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีการตื่นตัวในการพัฒนาและปรับปรุงการบริหารจัดการ ให้สอดคล้องตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ หรือ National CG Committee ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน


ในห้วงเวลา 17 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของไทย ปรับตัวพัฒนาดีขึ้นมาเป็นลำดับ มีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ หรือคณะกรรมการธรรมาภิบาลขึ้นในหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชน มีการกำหนดนโยบายกำกับดูแลกิจการที่ดีขององค์กร มีประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณสำหรับบุคลากรในทุกระดับ

ในประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้รณรงค์และส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนตระหนักถึงความสำคัญ และประโยชน์ของการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยเสนอหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี จำนวน 15 ข้อ ในปี 2545 ให้แก่บริษัทจดทะเบียน เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในขั้นเริ่มแรก

ในปี 2549 ได้ปรับปรุงหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน โดยแบ่งออกเป็น 5 หมวด ได้แก่ 1) สิทธิของผู้ถือหุ้น 2) การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน 3) บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย 4) การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส และ 5) ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ โดยเทียบเคียงกับหลักการกำกับดูแลกิจการของ OECD และข้อเสนอแนะของธนาคารโลก

ต่อมาในปี 2555 ได้ปรับปรุงหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน โดยเป็นการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของแนวปฏิบัติที่ดีของทั้ง 5 หมวด ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ ASEAN CG Scorecard ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้วัดระดับการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียน

และในปี 2560 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี สำหรับบริษัทจดทะเบียน (CG Code) ฉบับใหม่ โดยมีการปรับปรุงและเพิ่มเติมประเด็น เพื่อให้ครอบคลุมถึงแนวคิดและปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป

แม้การดำเนินการที่ผ่านมาของไทยจะประสบความสำเร็จด้วยดี แต่การพัฒนา CG ต่อไป มีความท้าทาย คือ ปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมของโลก ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรม ระบบทุนนิยม และการขยายตัวของภาคธุรกิจ จึงทำให้องค์กรต่าง ๆ ทั้งในระดับสากล ในประเทศ และผู้ลงทุนต่างๆ ได้เรียกร้องให้กิจการมีความรับผิดชอบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการมี CG ที่ดี

การกำกับดูแลกิจการที่ดี จำเป็นต้องบูรณาการประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไปอยู่ในกระบวนการทางธุรกิจ ตั้งแต่การกำหนดทิศทาง กลยุทธ์ กระบวนการดำเนินงาน การติดตามและการรายงาน เพื่อให้คณะกรรมการสามารถใช้เป็นกรอบในการกำกับดูแล ให้กิจการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเป็นไปเพื่อการสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน

สถานการณ์ด้านธรรมาภิบาลในทศวรรษหน้า จึงไม่อาจจำกัดอยู่เพียงการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ Governance (ตัว “G”) ในมิติที่เพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของกิจการฝ่ายเดียวอีกต่อไป แต่ยังต้องครอบคลุมไปถึงธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อม หรือ Environment (ตัว “E”) อาทิ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดปริมาณขยะพลาสติกที่ก่อให้เกิดผลกระทบสะสมต่อระบบนิเวศ และครอบคลุมไปถึงธรรมาภิบาลด้านสังคม หรือ Social (ตัว “S”) อาทิ นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ความหลากหลายในมิติหญิงชาย การไม่เลือกปฏิบัติ

ทำให้บทบาทของการกำกับดูแลกิจการในทศวรรษ 2020 ที่จะมาถึง ต้องขยายกรอบการทำงานจากคำว่า “CG” มาสู่คำว่า “ESG” ที่ครอบคลุมทั้งประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ Environmental, Social and Governance อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, November 10, 2019

Big (Sustainability) Data

เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี หนึ่งในกิจกรรมที่องค์กร โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ ทำในช่วงเวลานี้ คือ การประมวลการดำเนินการด้านความยั่งยืน เพื่อจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) เผยแพร่ให้กับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

ฉะนั้น ใครที่จะติดต่อกับฝ่ายความยั่งยืนขององค์กรในช่วงนี้ โปรดทำใจล่วงหน้า เพราะท่านอาจจะได้รับข้อความว่า ไม่สามารถติดต่อได้ในขณะนี้ หรือโปรดฝากข้อความไว้ แล้วจะติดต่อกลับหลังปีใหม่ (ฮา)

เพื่อช่วยให้องค์กรผู้รายงานมีวัตถุดิบในแง่สถานการณ์และแนวโน้มของการรายงาน และเพื่อช่วยให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพรวมของเนื้อหาที่ท่านจะได้รับในฐานะของผู้มีส่วนได้เสีย ผมได้ไปรวบรวมข้อมูลและสถิติของการรายงานที่เผยแพร่โดยองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล หรือ Global Reporting Initiative (GRI) ผู้ที่กำหนดมาตรฐานการรายงานแห่งความยั่งยืนที่ได้รับการอ้างอิงมากที่สุดในโลก โดยสามในสี่ของกิจการที่มีรายได้สูงสุดของโลก 250 แห่ง มีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ใช้ GRI Standards เป็นมาตรฐานอ้างอิง

จากตัวเลขในฐานข้อมูล GRI Sustainability Disclosure Database (SDD) ซึ่งเป็นแหล่งรวมข้อมูลรายงานแห่งความยั่งยืนของกิจการทั่วโลก มีองค์กรที่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนจำนวน 14,264 แห่ง ผ่านรายงานรวมทั้งสิ้น 57,079 ฉบับ ในจำนวนนี้ เป็นรายงานที่จัดทำตามแนวทาง GRI จำนวน 33,857 ฉบับ หรือคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 60 ของรายงานทั้งหมด

ข้อมูลความยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยมากสุด สามอันดับแรก จากรายงานที่จัดทำตามแนวทาง GRI ได้แก่ การสร้างและการกระจายมูลค่าเศรษฐกิจทางตรง (82%) การสื่อสารและฝึกอบรมเกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านทุจริต (58%) และการรายงานกรณีทุจริตและการดำเนินการ (49%)

ข้อมูลความยั่งยืนในด้านสังคมที่มีการเปิดเผยมากสุด สามอันดับแรก จากรายงานที่จัดทำตามแนวทาง GRI ได้แก่ อัตราการเข้าออกพนักงานและการพนักงานเข้าใหม่ (72.38%) จำนวนชั่วโมงเฉลี่ยของการฝึกอบรมต่อพนักงานต่อปี (69.96%) ความหลากหลายในคณะกรรมการกำกับดูแลและในหมู่พนักงาน (64.23%)

ข้อมูลความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมที่มีการเปิดเผยมากสุด สามอันดับแรก จากรายงานที่จัดทำตามแนวทาง GRI ได้แก่ ปริมาณการใช้พลังงานในองค์กร (78.1%) ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (70.9% ทางตรง และ 67.3% ทางอ้อม) และของเสียจำแนกตามประเภทและวิธีการกำจัดทิ้ง (64.3%)

การเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนตามแนวทาง GRI นับเป็นฐานรากสำคัญของการขับเคลื่อน เนื่องจากเจตนารมณ์ของ GRI ต่อการกำหนดมาตรฐานการรายงานแห่งความยั่งยืน ก็เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนากระบวนการรายงานขึ้นในองค์กร โดยยึดหลักการ 4 ประการ ได้แก่ บริบทความยั่งยืน ความครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสีย สารัตถภาพ และความครบถ้วนสมบูรณ์ สำหรับใช้ในการระบุประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ ประเด็นที่มีสาระสำคัญต่อการดำเนินการและขอบเขตในการดำเนินการ รวมทั้งแนวการบริหารจัดการกับประเด็นที่นำมาดำเนินการ ตลอดจนคุณภาพของข้อสนเทศที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง


พูดอย่างง่าย ก็คือ GRI ต้องการมุ่งเน้นให้กิจการสามารถพัฒนากระบวนการรายงานขึ้นในองค์กร มิใช่การจัดทำเนื้อหารายงานเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งเล่มรายงาน เพราะหลักการสำคัญของ GRI คือ การบูรณาการความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์องค์กร เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการจากกระบวนการรายงานอย่างแท้จริง

นั่นหมายความว่า กิจการที่ต้องการระบุประเด็นความยั่งยืนที่เป็นสาระสำคัญ (Material Topics) เพื่อยกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กร สามารถใช้ข้อแนะนำในมาตรฐาน GRI ในการพัฒนาองค์กรเพื่อตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียด้วยสี่หลักการข้างต้น

และหากการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนซึ่งจำแนกตามมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของภาคเอกชนในประเทศไทยมีความหลากหลายและมากเพียงพอที่เรียกว่าเป็น ข้อมูล(ความยั่งยืน)ขนาดใหญ่ หรือ Big (Sustainability) Data จะทำให้เราสามารถวิเคราะห์และจัดกลุ่มกิจการ ที่นำไปสู่การวางทิศทางและนโยบายการส่งเสริมและการพัฒนาสังคมโดยภาคเอกชนได้อย่างมีประสิทธิผล เชื่อมโยงความเชี่ยวชาญและทรัพยากรที่แต่ละองค์กรมีอยู่ และตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาหรือเข้าร่วมแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ในอนาคต สังคมจะชูป้าย (Label) ว่าองค์กรของท่าน เป็นองค์กรที่มีขีดความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือเป็นองค์กรที่ตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก มิติหญิงชาย หรือผู้สูงอายุ ฯลฯ ก็ขึ้นอยู่กับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน และข้อมูลความยั่งยืนที่องค์กรของท่านเปิดเผยนั่นเอง


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, October 27, 2019

การสร้างตัวแบบธุรกิจเพื่อสังคม

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมต้องไปบรรยายที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ในวิชาการสื่อสารทางธุรกิจ หัวข้อเรื่อง “แนวคิดและการทำแผนธุรกิจเพื่อสังคม” ซึ่งก็ต้องบอกว่า ผมมิได้มีคอนเทนต์เรื่องการจัดทำแผนธุรกิจแบบที่เป็นเรื่องเป็นราวจะมาถ่ายทอดได้ จะเกี่ยวบ้างก็ตรงที่เป็นเรื่องธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งพอจะบรรยายได้ เพราะมีงานที่ขับเคลื่อนแนวคิด Social Business ของ ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส กับภาคเอกชนในประเทศไทย

ไปลงมือค้นในอินเทอร์เน็ตเรื่องการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อสังคม เผื่อจะสามารถหาวัตถุดิบมาประกอบร่างได้ ก็ไม่มีอันไหนที่พอจะอ้างอิงได้ เลยนึกถึงเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่ชื่อว่า Business Model Canvas (BMC) ด้วยความที่เคยได้ยินมาบ้าง แต่ไม่เคยศึกษาจริงจัง มาผ่านหูอีกครั้งเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า ตอนที่ไปให้ความเห็นงานกลุ่มในหลักสูตร LFC (Leadership for Change) ของมูลนิธิสัมมาชีพ จึงได้ถือโอกาสเข้าไปค้นคว้าแนวคิดของเครื่องมือ BMC นี้ เผื่อจะนำมาใช้ในการบรรยายได้

ท้ายสุด มาลงเอยตรงที่ต้องคิดเครื่องมือขึ้นใหม่ โดยใช้เลย์เอาต์ของ BMC เป็นกรอบ เพราะตัว BMC มีฐานคิดที่มุ่งเน้นเรื่องลูกค้าเป็นโจทย์หลัก แต่ขาดองค์ประกอบที่เป็นมิติทางสังคม ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เนื่องจากตัวเครื่องมือถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้พัฒนาตัวแบบทางธุรกิจที่เป็นไปเพื่อธุรกิจ

หน้าตาของเครื่องมือที่คิดขึ้นใหม่ในชื่อว่า Social Business Model Canvas ขอเรียกเป็นภาษาไทยว่า “แผ่นขึงตัวแบบธุรกิจเพื่อสังคม” แบ่งออกเป็น 7 กล่อง ประกอบด้วย ความมุ่งประสงค์ (Purpose) กระบวนการ (Processes) ผลิตภัณฑ์ (Products) กำไร (Profit) ผู้คนและโลก (People and Planet) เครื่องจับฉวยตลาด (Market Handles) และเครื่องกีดขวางตลาด (Market Hurdles)


ในกล่องที่เป็นความมุ่งประสงค์ หรือ Purpose กิจการต้องตอบคำถามให้ได้ว่า เหตุใดเราจึงยังคงอยู่ (Why do we exist?) หรือธุรกิจเราอยู่เพื่อทำสิ่งใดที่เป็นความมุ่งประสงค์หลัก ใช่การแสวงหากำไรสูงสุดหรือไม่ หรือเป็นการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับการสร้างคุณค่าร่วมให้แก่สังคม และคุณค่าที่กิจการจะส่งมอบมีความสอดคล้องกับสินทรัพย์และความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ในองค์กรมากน้อยเพียงใด โดยปัจจัยสนับสนุนในส่วนนี้ ได้แก่ ทรัพยากรและทุน (Resources/Capital) 6 ด้าน คือ ด้านการเงิน ด้านการผลิต ด้าน(ทรัพย์สินทาง)ปัญญา ด้าน(ทรัพยากร)มนุษย์ ด้านสังคมและความสัมพันธ์ และด้าน(ทรัพยากร)ธรรมชาติ

ในกล่องที่เป็นกระบวนการ หรือ Processes กิจการใช้เพื่อพิจารณาวิธีในการดำเนินงานระหว่างทางเลือก 3 แบบหลัก ได้แก่ แบบ OEM (Original Equipment Manufacturer) เป็นการผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ให้บริษัทอื่นประกอบเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย แบบ ODM (Original Design Manufacturer) เป็นการออกแบบ ผลิตและประกอบผลิตภัณฑ์ให้บริษัทผู้เป็นเจ้าของตราสินค้าเพื่อจำหน่าย โดยอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรการออกแบบของตน และแบบ OBM (Original Brand Manufacturer) เป็นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ (ที่อาจจ้างบริษัทอื่นผลิตหรือออกแบบ) ภายใต้ตราสินค้าของตนเอง โดยปัจจัยสนับสนุนในส่วนนี้ ได้แก่ ผู้ส่งมอบ (Suppliers) คู่ค้าหรือหุ้นส่วนการค้า (Partners) ในห่วงโซ่ธุรกิจที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับลักษณะธุรกิจ

ในกล่องที่เป็นผลิตภัณฑ์ หรือ Products กิจการใช้เพื่อค้นหาสินค้าและบริการหลักในธุรกิจ สินค้าและบริการเสริม สายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งผลผลิตพลอยได้ (By-product) โดยปัจจัยสนับสนุนในส่วนนี้ ได้แก่ ปัจจัยด้านช่องทางการจำหน่าย (Channels) ตั้งแต่ ช่องทางเดี่ยว (Single-channel) ที่มีจุดสัมผัส (Touch Point) ของการบริการแหล่งเดียว ช่องทางประสม (Multi-channel) ที่มีหลายจุดสัมผัสให้ลูกค้าได้เข้าถึงบริการ แต่ยังไม่เชื่อมโยงระหว่างกัน ช่องทางไขว้ (Cross-channel) ที่เชื่อมโยงข้อมูลลูกค้าข้ามช่องทางได้ แต่บริการยังมีลักษณะเป็นเอกเทศในแต่ละช่องทาง และช่องทางสารพัน (Omni-channel) ที่ทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลลูกค้าและบริการในแต่ละช่องทางสอดประสานกันอย่างมีกลยุทธ์ รวมถึงปัจจัยด้านแพลตฟอร์ม (Platforms) โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์ม (อาทิ เฟซบุ๊ก ไลน์ ไอจี ยูทูบ ฯลฯ)

ในกล่องที่เป็นกำไร หรือ Profit กิจการต้องตอบคำถามให้ได้ว่า รายได้มาจากแหล่งไหน (Where does revenue come from?) เพราะกิจการจะมีกำไร ก็ต่อเมื่อมีรายได้สูงกว่ารายจ่าย การระบุแหล่งที่มาของรายได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ตัวอย่างของแหล่งรายได้ อาทิ ค่าขายสินค้า ค่าใช้บริการ ค่าสมาชิก ค่าเช่า ค่าสิทธิ ค่าตอบแทนการให้ใช้สิทธิ ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าโฆษณา ฯลฯ รวมถึงการกำหนดราคาที่เป็นได้ทั้งแบบตายตัว (Fixed Pricing) หรือแบบที่เปลี่ยนแปลงตามสภาวการณ์ (Dynamic Pricing) โดยปัจจัยสนับสนุนในส่วนนี้ ได้แก่ ความประทับใจและประสบการณ์ (Impressions/Experiences) ของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย

ในกล่องที่เป็นผู้คนและโลก หรือ People and Planet กิจการต้องระบุให้ได้ว่า การดำเนินธุรกิจมีส่วนในการสร้างผลกระทบ (ทางบวกและทางลบ) ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไร และสอดรับกับความมุ่งประสงค์ (Purpose) ในกล่องแรกมากน้อยเพียงใด โดยปัจจัยสนับสนุนในส่วนนี้ ได้แก่ รูปแบบของการมีส่วนช่วยเหลือและความเสี่ยง (Contributions/Risks) ที่มีต่อผู้คนและโลก

ในกล่องที่เป็นเครื่องจับฉวยตลาด (Market Handles) จะเป็นการวิเคราะห์ปัจจัยภายใน คือ ความสามารถของกิจการต่อโอกาสตลาดใน 4 รูปแบบ ได้แก่ การใช้คุณลักษณะของความ “ถูกกว่า-คุ้มกว่า-ดีกว่า-เหนือกว่า” ในการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด ส่วนในกล่องที่เป็นเครื่องกีดขวางตลาด (Market Hurdles) จะเป็นการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก คือ อุปสรรคในการเข้าถึงตลาดจาก 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ คู่แข่ง (Competitors) สินค้าทดแทน (Substitutes) ผู้เล่นหน้าใหม่ (New Entrants) และความเพิกเฉยของผู้ซื้อ (Negligence of Buyers)

เลยขออนุญาตนำเอาเครื่องมือ Social Business Model Canvas มาแชร์ให้กับผู้ประกอบการสังคม หรือองค์กรธุรกิจทั่วไป ที่กำลังจะผันตัวเองไปในบทบาทที่เป็นการสร้างธุรกิจเพื่อสังคม ภายในเครือ ให้ได้ประโยชน์กันอย่างถ้วนหน้า ไม่มากก็น้อยครับ


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, October 13, 2019

คนบนฟ้า

วันนี้เป็นวันครบรอบปีที่ 3 เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขอน้อมรำลึกถึงพระองค์ที่ทรงสถิตอยู่บนฟากฟ้า นำสิ่งที่ข้าพระพุทธเจ้าได้ดำเนินการและอานิสงส์จากการทำงานตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มารายงานถ่ายทอดไว้ ณ ที่นี้


เริ่มจากการเป็นตัวแทนจากประเทศไทย นำเสนอบทความในหัวข้อ “การดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในประเทศไทย” ในการประชุม New Asian Leaders’ Retreat ให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม 54 คนจาก 12 ประเทศ ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี พ.ศ.2546 จัดโดย World Economic Forum (WEF)

งานแรกที่รับหน้าที่เป็นหัวหน้าโครงการ เป็นการศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลกลุ่ม องค์กร พื้นที่ ที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต (พ.ศ. 2547 – 2550) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ก่อให้เกิดเป็นแหล่งข้อมูลแรกที่ได้พยายามรวบรวมข้อมูลกลุ่ม องค์กร พื้นที่ ที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต เพื่อประโยชน์ในการศึกษา วิจัย ค้นคว้า และการเรียนรู้ ขยายผลให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้าง ตกผลึกเป็นเกณฑ์ความเกี่ยวเนื่องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงใน 3 ระดับ ได้แก่ เข้าข่าย-เข้าใจ-เข้าถึง คือ จากระดับที่มีวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยธรรมชาติ (เข้าข่าย) สู่ระดับที่มีการศึกษาและทำความเข้าใจปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (เข้าใจ) และปฏิบัติตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างสมบูรณ์แบบ จนสามารถนำมาเป็นกรณีศึกษาตัวอย่างได้ (เข้าถึง)

ต่อมาเป็นการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือและเครือข่ายสนับสนุนการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในภาคเมือง โดยมีเครื่องมือและเครือข่ายการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น 2 ส่วน ได้แก่ บัญชีแก้มลิง เพื่อช่วยชะลอการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและแปลงกลับมาเป็นเงินออม โดยเน้นการบันทึกและบริหารเงินในฝั่งรายจ่าย เพราะปัญหาหนี้สินส่วนใหญ่ เกิดจากการขาดวินัยในการใช้จ่าย (แตกต่างจากบัญชีครัวเรือน ที่มีการบันทึกและบริหารเงินทั้งฝั่งรายรับและรายจ่าย) และโมโซไซตี้ หรือสังคมพอประมาณ (MOderation SOciety) ที่ย่อสั้นๆ ว่า “โมโซ” สำหรับผู้ที่ต้องการปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยคติพจน์ "เน้นสติ เหนือสตางค์"

ในปี พ.ศ. 2550 ได้มีการผลักดันให้เกิดเครือข่ายความเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศเป็นครั้งแรก ภายใต้โครงการจัดทำแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียง (Road map) โดยใช้วิธีศึกษาและแลกเปลี่ยนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงกับแนวคิดที่คล้ายกันในต่างประเทศ เช่น ธนาคารประชาชน (Grameen Bank) ของบังกลาเทศ ขบวนการสรรโวทัยของศรีลังกา ระบบเศรษฐกิจแบบคานธี (Gandhian Economics) เศรษฐกิจที่ว่าด้วยความสุข (Economics of Happiness) ของภูฏาน เศรษฐกิจอิสลาม (Islamic Economics) ของมาเลเซียและอินโดนีเซีย เศรษฐกิจสมานฉันท์ (Solidarity Economy) ของประเทศในแถบละตินอเมริกา เศรษฐศาสตร์สีเขียว (Green Economics) ในยุโรป และเศรษฐศาสตร์มนุษย์นิยม (Humanistic Economics) ตามแนวคิดของ Schumacher ฯลฯ

จากนั้นเป็นการศึกษาวิจัยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะเครื่องมือสำหรับการวางแผนในภาคธุรกิจเอกชน เพื่อให้ได้มาซึ่งกรอบแนวคิดในการจัดทำเครื่องมือทางธุรกิจที่สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อาทิ แผนที่กลยุทธ์ความพอเพียง (Sufficiency Strategy Map) และผังการปรับวางระดับความพอเพียง (Sufficiency Alignment Map) ซึ่งได้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยประกอบการจัดทำรายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาคน (Sufficiency Economy and Human Development) ของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เมื่อปี พ.ศ.2550

ตามมาด้วยการวิจัยเพื่อการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2551) และระยะที่ 2 (พ.ศ.2554-2555) ซึ่งเป็นการศึกษาหลักการและรูปแบบการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจที่กำลังดำเนินกิจการ เพื่อแสวงหาความสำเร็จอย่างยั่งยืนในกรอบของความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี และคุณธรรมในการประกอบการ มีเครื่องมือที่เกิดขึ้นจากโครงการ 2 ชิ้น ได้แก่ วุฒิระดับความพอเพียง (Sufficiency Maturity Level) 5 ระดับ สำหรับใช้ประเมินระดับการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงขององค์กรธุรกิจ เพื่อใช้ยกระดับจาก “วิธี” การปฏิบัติดำเนินงาน ให้กลายเป็น “วิถี” แห่งการดำเนินธุรกิจตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และ กรอบการจัดทำรายงานความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Reporting Framework) สำหรับองค์กรธุรกิจใน 3 ระดับ จำแนกตามเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐานที่เน้นถึงการดำรงอยู่ของกิจการหรือความอยู่รอดในธุรกิจ (Competence) เศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้าที่เน้นถึงการรวมกลุ่มในรูปแบบต่างๆ (Cooperation) และเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้าที่เน้นการทำงานร่วมกันในลักษณะของเครือข่าย (Collaboration)

ผลจากการศึกษาและเครื่องมือที่ได้จากการวิจัยส่วนใหญ่ ได้ถูกบรรจุไว้ในหนังสือ 3 เล่ม ได้แก่ เศรษฐกิจพอเพียงหมายถึงอะไร เศรษฐกิจพอเพียงกับการดำเนินธุรกิจ และเศรษฐกิจพอเพียงในทัศนะโลก ซึ่งสามารถขอรับได้ที่สถาบันไทยพัฒน์ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://sufficiencyeconomy.com

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณฯ ข้าพระพุทธเจ้า จะขอตั้งมั่นในเจตจำนงอันประกอบด้วยธรรม ยึดมั่นในการปฏิบัติดี และสร้างสรรค์คุณประโยชน์ให้แก่สังคมและส่วนรวม สานพระราชปณิธานของคนบนฟ้าสืบไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, September 29, 2019

SDC: ประชาคมธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

จากผลการประเมินด้านความยั่งยืนของ RobecoSAM หน่วยงานสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ผู้รับหน้าที่ประเมินเพื่อคัดเลือกบริษัทที่โดดเด่นด้านความยั่งยืนให้เข้าอยู่ในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) ได้คัดเลือก 20 บริษัทจดทะเบียนไทย เข้าอยู่ในดัชนี DJSI ประจำปี 2562 ได้แก่ ADVANC, AOT, BANPU, BTS, CPALL, CPF, CPN, HMPRO, IRPC, IVL, KBANK, MINT, PTT, PTTEP, PTTGC, SCB, SCC, TOP, TRUE และ TU

ในปีนี้ มีบริษัทไทยที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประเมินจำนวน 36 แห่ง มีบริษัทที่ตอบรับเข้าร่วมการประเมิน จำนวน 28 แห่ง และมีบริษัทที่ไม่ได้ตอบรับเข้าร่วมการประเมินอยู่ 8 แห่ง หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22

ทั้งนี้ การได้เข้าเป็นสมาชิกในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ จะพิจารณาจากข้อมูลที่บริษัทตอบแบบสอบถามในด้านความยั่งยืนที่บริษัทดำเนินการ ซึ่งหมายความว่า ปัจจัยสำคัญ 2 ส่วนที่มีผลต่อการประเมิน คือ ผลงานด้านความยั่งยืนที่โดดเด่นตามที่ได้ดำเนินการ กับการจัดทำข้อมูลที่ตอบแบบสอบถามได้อย่างตรงจุดตามเกณฑ์ที่ผู้ประเมินตั้งไว้ โดยทั้งสองปัจจัย อาจจะมีสหสัมพันธ์ (Correlation) ที่มากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับความเที่ยงตรงในการนำเสนอข้อมูลของบริษัทที่เข้าร่วมรับการประเมิน และเกณฑ์การประเมินที่เหมาะสมต่อการวัดผลด้านความยั่งยืนของหน่วยงานผู้ประเมิน ที่ครอบคลุมประเด็นความยั่งยืนที่เป็นสาระสำคัญ (Material Topics) และสอดคล้องกับลักษณะของธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรม

สำหรับบริษัทส่วนใหญ่ ที่มิได้รับเชิญให้เข้าร่วมรับการประเมิน อันเนื่องมาจากเกณฑ์เชิงปริมาณ คือ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ยังสามารถที่จะพัฒนายกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนด้วยตนเอง โดยนำเอาเกณฑ์เชิงคุณภาพ คือ ประเด็นความยั่งยืนที่เป็นสาระสำคัญของกิจการและสอดคล้องกับบริบทของอุตสาหกรรมที่ตนสังกัด มาใช้วัดผลและเปรียบเทียบสมรรถนะการดำเนินงาน (Benchmarking) กับองค์กรข้างเคียง หรือกับบรรทัดฐาน (Norm) ในอุตสาหกรรม

องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล หรือ Global Reporting Initiative (GRI) เป็นผู้กำหนดมาตรฐานการรายงานแห่งความยั่งยืนที่ได้รับการอ้างอิงมากที่สุดในโลก เนื่องจากมีตัวชี้วัดการรายงานที่เข้าใจง่าย ชัดเจน และไม่ซับซ้อน เหมาะกับองค์กรทุกประเภท ทุกขนาด และทุกอุตสาหกรรม โดยสามในสี่ของกิจการที่มีรายได้สูงสุดของโลก 250 แห่ง ซึ่งมีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ใช้ GRI Standards เป็นมาตรฐานอ้างอิง

และจากตัวเลขในฐานข้อมูล GRI Sustainability Disclosure Database (SDD) ซึ่งเป็นแหล่งรวมข้อมูลรายงานแห่งความยั่งยืนของกิจการทั่วโลก มีองค์กรที่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนจำนวน 14,010 แห่ง ผ่านรายงานรวมทั้งสิ้น 56,180 ฉบับ ในจำนวนนี้ เป็นรายงานที่จัดทำตามแนวทาง GRI จำนวน 33,306 ฉบับ และมี 237 องค์กรในประเทศไทย ที่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ผ่านรายงานรวมทั้งสิ้น 651 ฉบับ (ข้อมูล ณ วันที่ 19 กันยายน 2562)

เจตนารมณ์ของ GRI ในการพัฒนามาตรฐานดังกล่าวขึ้น เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนากระบวนการรายงานแห่งความยั่งยืนขึ้นในองค์กร โดยยึดหลักการของบริบทความยั่งยืน (Sustainability Context) หลักความครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Inclusiveness) หลักการสารัตถภาพ (Materiality) และหลักความครบถ้วนสมบูรณ์ (Completeness) สำหรับใช้ในการระบุประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ ประเด็นที่มีสาระสำคัญต่อการดำเนินการและขอบเขตในการดำเนินการ รวมทั้งแนวการบริหารจัดการกับประเด็นที่นำมาดำเนินการ ตลอดจนคุณภาพของข้อสนเทศที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

พูดอย่างง่าย ก็คือ GRI ต้องการมุ่งเน้นให้กิจการสามารถพัฒนากระบวนการรายงาน (Reporting) ขึ้นในองค์กร มิใช่การจัดทำเนื้อหารายงานเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งเล่มรายงาน (Report) เพราะหลักการสำคัญของ GRI คือ การบูรณาการความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์องค์กร เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการจากกระบวนการรายงานอย่างแท้จริง

นั่นหมายความว่า กิจการที่ต้องการระบุประเด็นความยั่งยืนที่เป็นสาระสำคัญ (Material Topics) เพื่อยกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กร หรือนำไปสู่การได้รับการพิจารณาประเมินว่า เป็นบริษัทที่มีความโดดเด่นด้านความยั่งยืนและสามารถเข้าอยู่ในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ในอนาคต (โดยผ่านเกณฑ์มูลค่าตลาด) สามารถใช้ข้อแนะนำในมาตรฐาน GRI ในการพัฒนากระบวนการรายงานแห่งความยั่งยืนขึ้นในองค์กร ด้วย 4 หลักการข้างต้น

ในประเทศไทย สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะ GRI Training & Data Partner ได้จัดตั้งประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน หรือ Sustainability Disclosure Community (SDC) ขึ้น เพื่อช่วยองค์กรในการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ด้วยการบูรณาการความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์องค์กร พัฒนากิจการสู่ความยั่งยืนจากคุณค่าที่เกิดจากการใช้กระบวนการรายงานเป็นเครื่องมือดำเนินการ

องค์กรที่สนใจ สามารถเข้าร่วมมีบทบาทในการขับเคลื่อนการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ภายใต้ Sustainability Disclosure Community ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งนี้ SDC มีกิจการชั้นนำจำนวน 102 แห่ง ที่เข้าร่วมเป็นองค์กรสมาชิกในปัจจุบัน


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, September 15, 2019

สานสัมพันธ์อย่างไร ให้เวิร์ก

มีหลายบริษัทที่ดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) อย่างมากมาย แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมหรือผู้มีส่วนได้เสียของกิจการเท่าที่ควร อีกทั้งผู้บริหารในองค์กรยังวินิจฉัยผิดไปอีกว่า คงเป็นเพราะทำอย่างเดียว ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ สังคมจึงไม่ได้รับทราบ ฉะนั้นจะต้องเน้นประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น

อันที่จริง เรื่องที่บริษัทควรต้องสืบค้นก่อนด่วนสรุปว่าเป็นเพราะอ่อนประชาสัมพันธ์ คือ การวิเคราะห์ว่า สิ่งที่ทำนั้นได้ตอบโจทย์ของสังคมหรือผู้มีส่วนได้เสียจริงหรือไม่ หรือโจทย์ส่วนใหญ่องค์กรคิดเอาเองว่า เรื่องนี้ดี เรื่องนั้นน่าทำ หรือว่ากระบวนการในการสานสัมพันธ์ (Engagement) ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะได้มาซึ่งข้อมูลที่แท้จริงหรือข้อมูลที่มีคุณภาพจากผู้มีส่วนได้เสีย

จุดมุ่งหมายของการสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียในบริบทของ CSR-in-process เพื่อต้องการทราบความสนใจหรือความคาดหวังของแต่ละกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ที่มีต่อการดำเนินงานและผลกระทบจากการดำเนินงานของบริษัท

การได้มาซึ่งเรื่องที่องค์กรควรดำเนินการไม่สามารถได้มาจากการเปิดคำถามในเชิงว่า “ผู้มีส่วนได้เสียอยากได้อะไร” (มากที่สุด) แต่ควรจะเป็นคำถามในเชิงว่า “ผู้มีส่วนได้เสียอยากเห็นบริษัททำเรื่องอะไร” (มากที่สุด) ซึ่งข้อแตกต่างของการสานสัมพันธ์ด้วยแนวคำถามในแบบแรก มักนำไปสู่เรื่อง CSR-after-process ในรูปของการให้ความช่วยเหลือหรือการบริจาค ขณะที่การสานสัมพันธ์ด้วยแนวคำถามในแบบหลัง จะนำไปสู่เรื่อง CSR-in-process ที่ผนวกอยู่ในการดำเนินงานทางธุรกิจได้มากกว่า

การสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย มีจุดหมายเพื่อให้องค์กรสามารถจัดวางกระบวนการ พัฒนากลยุทธ์ และการบริหารงานที่สนองตอบได้อย่างสมดุลรอบด้านต่อประเด็น ผลกระทบ และโอกาสที่ผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ เห็นว่ามีความสำคัญ องค์กรควรถือเอางานสานสัมพันธ์เป็นหนึ่งในข้อยึดมั่นที่พึงดำเนินการ และรวมเป็นส่วนหนึ่งในข้อปฏิบัติทั้งในระดับของการกำกับดูแล การวางกลยุทธ์ และการดำเนินงาน

การสานสัมพันธ์ที่ประสบผล องค์กรควรต้องทราบถึงความมุ่งหมายของการสานสัมพันธ์ (Why) ขอบเขตของสิ่งที่ต้องการสานสัมพันธ์ (What) และผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มเป้าหมาย (Who) ก่อนการสานสัมพันธ์ ทั้งนี้ การสานสัมพันธ์ที่ดี ควรถูกออกแบบให้เป็นกระบวนการ ที่ประกอบด้วย

การวางแผน (Plan) ที่ทำให้ทราบข้อมูลลักษณะผู้มีส่วนได้เสีย คุณลักษณะร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ระดับและวิธีการสานสัมพันธ์ กรอบในการเปิดเผยข้อมูล แผนในการสานสัมพันธ์ และตัวบ่งชี้ความก้าวหน้า

การเตรียมการ (Prepare) ที่ทำให้ได้มาซึ่งทรัพยากรและความสามารถที่ต้องใช้ในการดำเนินการสานสัมพันธ์ รวมทั้งความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและต้องเตรียมรับมือในระหว่างการสานสัมพันธ์

การดำเนินการ (Implement) ที่เริ่มตั้งแต่การเชื้อเชิญให้ได้ผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย การให้ข้อมูลเบื้องต้นแก่ผู้มีส่วนได้เสีย การรับฟังผู้มีส่วนได้เสีย การบันทึกข้อมูล การจัดทำและสื่อสารผลลัพธ์และแผนดำเนินการที่จะนำไปปฏิบัติหลังการสานสัมพันธ์

การปฏิบัติ ทบทวน และปรับปรุง (Act, Review, and Improve) ที่เป็นการทบทวนประเมินผลการสานสัมพันธ์ การถอดบทเรียนเพื่อการปรับปรุงการสานสัมพันธ์ในครั้งถัดไป และที่สำคัญคือ การติดตามและรายงานผลจากการนำแผนดำเนินการไปปฏิบัติแก่ผู้มีส่วนได้เสีย

องค์กรอาจต้องมีการสื่อสารและสานสัมพันธ์เป็นระยะๆ เพื่อให้แน่ใจว่า ประเด็นที่ผู้มีส่วนได้เสียให้ความสำคัญยังคงสอดคล้องกับแผนดำเนินการที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้แปรเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขหรือปัจจัยใหม่ตามช่วงเวลา

หลังจากที่ได้ทดลองดำเนินการตามขั้นตอนข้างต้นแล้ว จึงค่อยมาตอบคำถามว่า องค์กรอ่อนประชาสัมพันธ์จริงหรือไม่ อีกครั้ง


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, September 01, 2019

การลงทุนด้วยปัจจัย ESG

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (Environmental, Social and Governance) ได้ทวีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนที่มีหลักทรัพย์ซื้อขายอยู่ในตลาดทุน ในต่างประเทศ กระแสเรื่อง ESG ถูกหยิบยกมาเป็นวาระสำคัญทั้งจากผู้ลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ บริษัทจัดการลงทุน บริษัทจัดอันดับ หน่วยงานกำกับดูแล องค์กรภาคประชาสังคม ฯลฯ เพื่อผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนเหล่านั้น นำเรื่อง ESG ไปผนวกอยู่ในกระบวนการตัดสินใจและดำเนินงานทางธุรกิจ

ด้วยเหตุนี้ บุคลากรในองค์กร ไล่เรียงตั้งแต่คณะกรรมการบริษัท ฝ่ายบริหาร และเจ้าหน้าที่ในแต่ละสายงาน จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจบทบาทของเรื่อง ESG ที่มีต่องานที่ตนรับผิดชอบและที่เข้าไปเกี่ยวข้อง รวมทั้งผลกระทบต่อองค์กร ทั้งในแง่ของการตัดสินใจที่จะดำเนินการ หรือไม่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

แง่มุมของเรื่อง ESG ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ ประกอบด้วย มุมมองต่อการใช้ ESG ในการลงทุน (ESG Investing) และมุมมองต่อการประเมิน ESG ในการจัดอันดับ (ESG Ratings) ซึ่งผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ในไทย ได้เริ่มหยิบยกมาเป็นวาระในการพิจารณาเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนแล้ว

ในแง่ของการใช้ ESG ในการลงทุน หรือ ESG Investing มีข้อมูลตัวเลขขนาดของสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) จากรายงานการลงทุนที่เน้น ESG ในปัจจุบัน ว่ามีอยู่ราว 20 ล้านล้านเหรียญ การเปิดกองทุนรวม ESG และกองทุนเปิด ESG ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (ETF) โดยเฉพาะในตลาดทุนฝั่งยุโรปและอเมริกา กลายเป็นเรื่องปกติและเพิ่มจำนวนถี่ขึ้น ตอบรับกับผลการศึกษาที่ว่า ผู้ลงทุนกลุ่ม Millennials (มีอายุระหว่าง 18-34 ปี) ให้ความสำคัญกับการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม (และสิ่งแวดล้อม) ทำให้บริษัทจดทะเบียนที่เป็นเป้าหมายการลงทุน จำเป็นต้องมีการดำเนินงานที่ผ่านเกณฑ์หรือมีความโดดเด่นด้าน ESG ควบคู่กับการสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป

ในแง่ของการประเมิน ESG ในการจัดอันดับ หรือ ESG Ratings ปัจจุบัน ความต้องการข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียน กลายเป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนสถาบัน บริษัทจัดการลงทุน รวมทั้งผู้จัดทำและให้บริการดัชนีสำหรับการลงทุน จำเป็นต้องมีไว้ใช้ในการวิเคราะห์และประเมินเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน เพื่อออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และจัดทำดัชนีอ้างอิงด้าน ESG ตามลำดับ

ในปี 2560 Morningstar บริษัทวิจัยและจัดการลงทุน เข้าซื้อหุ้นจำนวน 40% ของ Sustainalytics บริษัทวิจัยข้อมูล ESG ชั้นนำ เพื่อต้องการเข้าถึงข้อมูล ESG สำหรับการขยายบริการในด้านดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้ ISS ผู้ให้บริการลงทุน ได้ซื้อ IW Financial บริษัทวิจัย ให้คำปรึกษา และให้บริการดูแลพอร์ตการลงทุน ESG เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มผลตอบแทนให้แก่ลูกค้า

ขณะที่ S&P Dow Jones ได้เข้าครอบครองกิจการของ Trucost บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการประเมินข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนมากว่า 15 ปี ส่วน MSCI ได้เข้าซื้อ RiskMetrics Group บริษัทจัดการความเสี่ยงและผู้ให้บริการงานด้านบรรษัทภิบาลชั้นนำ เพื่อยกระดับเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจลงทุนให้แก่สถาบันการเงินทั่วโลก และอีกดีลหนึ่งเป็นกรณีที่ Thomson Reuters เข้าซื้อกิจการ Asset4 ผู้ให้บริการข้อมูลด้านบรรษัทภิบาลและข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาฐานข้อมูล ESG เพิ่มเติมให้แก่ลูกค้า

สำหรับในประเทศไทย พัฒนาการเรื่อง ESG ได้ดำเนินรอยตามความเคลื่อนไหวในต่างประเทศ สถาบันการเงินและบริษัทจัดการลงทุนของไทย มีการออกตราสารหนี้และกองทุน ESG เพื่อการลงทุนในวงกว้าง มีหน่วยงานที่จัดทำข้อมูลและการประเมิน ESG ในการจัดอันดับ รวมทั้งการจัดทำดัชนี ESG เพื่อใช้อ้างอิงสำหรับการลงทุนและใช้เปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแล (ก.ล.ต.) มีการออกหลักธรรมาภิบาลการลงทุน (I Code) เพื่อส่งเสริมเรื่อง ESG (หลักปฏิบัติ 3.3) และมาตรการดำเนินการเพิ่มเติม (หลักปฏิบัติ 4.4) เพื่อสนับสนุนเรื่อง Corporate Engagement and Shareholder Action อย่างเป็นขั้นเป็นตอน

แน่นอนว่า บริษัทที่ตอบรับในเรื่องดังกล่าว จะสามารถได้ประโยชน์จากความเคลื่อนไหวในเรื่อง ESG ที่มีทั้งต่อตัวองค์กรเอง และต่อผู้ถือหุ้นของกิจการ รวมทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, August 18, 2019

ตลาดทุน 4.0

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการส่งเสริมความยั่งยืนในตลาดทุนและภาคการเงิน 3 งานไล่เลี่ยกัน เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวในเรื่องการลงทุน-การเงินที่ยั่งยืนในบ้านเรา ที่องค์กรในภาคดังกล่าว ทั้งธนาคาร สถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน และบรรดาผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ต้องพิจารณาปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นกระแสใหญ่ของภาคการเงินและตลาดทุนโลกไม่มากก็น้อย

เริ่มจากงาน “Bangkok Sustainable Banking Forum 2019” (13 ส.ค.) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องการสื่อสารไปยังสถาบันการเงินต่างๆ ในฐานะผู้จัดสรรทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ต่อบทบาทในการเสริมสร้างความยั่งยืนทั้งต่อเศรษฐกิจและสังคม และการร่วมจัดการกับความท้าทายและปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ในมิติของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG)


ในงานนี้ 15 ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของไทย ตกลงร่วมกันที่จะกำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในด้านการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ 4 ข้อ คือ การแสดงเจตนารมณ์ในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Leadership and Responsible Lending Commitment) การคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Engagement) การกำหนดนโยบายและกระบวนการทำงานภายใน (Internal Implementation Mechanisms) และมีความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล (Transparency)

ธนาคารพาณิชย์ 15 ราย ที่ร่วมแสดงเจตนารมณ์ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารทิสโก้ ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารธนชาต ธนาคารยูโอบี ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ธนาคารไอซีบีซี (ไทย)

ถัดมาเป็นงานเปิด “โครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติ” (14 ส.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องการเชิญชวนให้องค์กรในตลาดทุน ประกอบธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม บูรณาการเข้าไปอยู่ในการประกอบธุรกิจ (in-process) และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ให้เป็นที่ยอมรับในระดับประชาคมโลก


ในงานนี้ 13 องค์กรในตลาดทุน ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ที่จะมุ่งสู่การเป็นองค์กรธรรมาภิบาล ด้วยการที่องค์กรแต่ละแห่ง จะเลือกเรื่องที่ต้องการดำเนินการตามบทบาทของแต่ละหน่วยงาน กำหนดเป้าหมายที่ต้องการบรรลุ และรายงานความคืบหน้าในแต่ละปี โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี

องค์กรในตลาดทุน 13 แห่ง ที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย

งานที่สาม เป็น “การประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือด้านการลงทุนอย่างรับผิดชอบ (ESG Collaborative Engagement) ของนักลงทุนสถาบัน” (15 ส.ค.) ที่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ต้องการริเริ่มผลักดันแนวปฏิบัติการระงับลงทุน (Negative List Guideline) ในบริษัทจดทะเบียนที่มีประเด็นปัญหา ESG ด้วยหลักการกำหนดรายชื่อบริษัทที่นักลงทุนสถาบันจะไม่เข้าลงทุนเพิ่ม ภายหลังการเข้ามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาและฟื้นมูลค่าการลงทุนในบริษัทที่ลงทุน ไม่สำเร็จ (เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน ข้อที่ 4: Escalating Investee Companies)


ในงานนี้ ผู้ลงทุนสถาบัน 32 ราย ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) รวมกันกว่า 10.8 ล้านล้านบาท ได้ร่วมกันลงนามรับแนวปฏิบัติการระงับลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่มีประเด็นปัญหา ESG ดังกล่าว ไปดำเนินการ โดยตกลงร่วมกันที่จะไม่เข้าลงทุนเพิ่มเติมในบริษัทที่มีปัญหานั้นเป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือจนกว่าจะแก้ไขปัญหาสำเร็จ เพื่อผลักดันให้บริษัทกลับมาดำเนินธุรกิจที่มีความยั่งยืนและสอดคล้องกับหลักการ ESG ต่อไป

ผู้ลงทุนสถาบันที่ร่วมลงนาม 32 ราย ประกอบด้วย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) สำนักงานประกันสังคม (สปส) บลจ. กรุงไทย บลจ. กรุงศรี บลจ. กสิกรไทย บลจ. ทหารไทย บลจ. ทาลิส บลจ. ไทยพาณิชย์ บลจ. ธนชาต บลจ. บัวหลวง บลจ. บางกอกแคปปิตอล บลจ. พรินซิเพิล บลจ. ฟิลลิป บลจ. ภัทร บลจ. แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) บลจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ บลจ. วรรณ บลจ. วี บลจ. สยาม ไนท์ ฟันด์ แมเนจเม้นท์ บลจ. อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด (ประเทศไทย) บลจ. อินโนเทค บลจ. เอ็มเอฟซี บลจ. แอสเซท พลัส บมจ. กรุงเทพประกันชีวิต บมจ. พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) บมจ. เมืองไทยประกันชีวิต บมจ. ไทยประกันชีวิต บมจ. ไทยรีประกันชีวิต บมจ. ไทยสมุทรประกันชีวิต บมจ. เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต บจก. เอไอเอ


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, August 04, 2019

ธนาคาร ยุค ESG เริ่มแล้ว

การขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนของภาคเอกชน ในอันที่จะตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ให้ได้ผลเต็มที่ ยากที่จะสำเร็จได้ด้วยการทำงานแบบเป็นเอกเทศโดยองค์กรเพียงลำพัง แต่จำเป็นต้องมีภาคีร่วมดำเนินงานจากภายนอก

รูปแบบของหุ้นส่วนร่วมดำเนินงานที่ปรากฎในปัจจุบัน จำแนกได้เป็นสามจำพวกหลัก ได้แก่ หุ้นส่วนในห่วงโซ่คุณค่า (Value chain partnerships) ด้วยความร่วมมือระหว่างกิจการภายในห่วงโซ่คุณค่า จะเป็นการสานทักษะ เทคโนโลยี และทรัพยากร และนำไปสู่วิธีการแก้ปัญหาใหม่ๆ สู่ตลาด ความริเริ่มในสาขาอุตสาหกรรม (Sector initiatives) ที่ใช้เป็นแหล่งรวมผู้นำในอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับมาตรฐานและข้อปฏิบัติทั่วทั้งอุตสาหกรรม และฟันฝ่าอุปสรรคความท้าทายที่มีร่วมกัน หุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย (Multi-stakeholder partnerships) ที่ซึ่งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม จะมาเสริมแรงในการจัดการกับปัญหาความท้าทายที่ซับซ้อน

ในแวดวงธนาคารของไทย ได้มีความตื่นตัวในการนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มาผนวกเข้ากับกระบวนการทางธุรกิจที่เป็นสายงานหลัก โดยเฉพาะสายงานการลงทุน และการให้สินเชื่อ โดยใช้แนวปฏิบัติที่เป็นภายในของแต่ละธนาคารเอง รวมทั้งแนวทางที่พึงปฏิบัติอันเกิดจากการผลักดันของหน่วยงานกำกับดูแล

ในเดือนหน้า (22-23 ก.ย.) จะมีการประกาศ “หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ” หรือ “Principles for Responsible Banking” โดยหน่วยงานภายใต้สำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน (UNEP Finance Initiative) ซึ่งจัดว่าเป็นความริเริ่มในสาขาอุตสาหกรรม (Sector initiatives) ที่สำคัญในแวดวงธนาคาร และได้มีธนาคารชั้นนำทั่วโลกจำนวน 30 แห่ง เข้าชื่อเป็นธนาคารร่วมก่อการ (Founding Banks) ที่พร้อมสนับสนุนหลักการดังกล่าว

The 30 Founding Banks

100+ Additional banks that have committed to becoming Signatories of the Principles

หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ ประกอบด้วยหลักการที่เป็นการปรับแนวทาง (Alignment) ผลกระทบและการกำหนดเป้าหมาย (Impact & Target Setting) ลูกค้าประจำและผู้ใช้บริการ (Clients & Customers) ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ธรรมาภิบาลและการปลูกฝังวัฒนธรรม (Governance & Culture) ความโปร่งใสและการตรวจสอบได้ (Transparency & Accountability) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

หลักการที่ 1 ธนาคารจะปรับกลยุทธทางธุรกิจให้สอดคล้องและเอื้อต่อความจำเป็นพื้นฐานของบุคคลและเป้าประสงค์ของสังคม ตามที่ระบุในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Climate Agreement) และกรอบอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับภูมิภาคและระดับชาติ

หลักการที่ 2 ธนาคารจะเพิ่มระดับของผลกระทบเชิงบวก พร้อมกันกับลดระดับของผลกระทบเชิงลบอย่างต่อเนื่อง และจัดการกับความเสี่ยงที่มีต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม อันเป็นผลมาจากผลิตภัณฑ์ บริการ และการดำเนินงานของธนาคาร เพื่อการนี้ ธนาคารจะมีการกำหนดและเผยแพร่เป้าหมายที่ธนาคารสามารถสร้างผลกระทบที่มีนัยสำคัญสูงสุด

หลักการที่ 3 ธนาคารจะให้บริการลูกค้าที่เป็นคู่สัญญาของธนาคารและลูกค้าที่เป็นผู้ใช้บริการทั่วไปอย่างรับผิดชอบ เพื่อผลักดันให้เกิดแนวปฏิบัติที่ยั่งยืน และเปิดทางให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ทั้งแก่คนรุ่นปัจจุบันและในรุ่นต่อไป

หลักการที่ 4 ธนาคารจะปรึกษาหารือ สานสัมพันธ์ และเป็นหุ้นส่วนร่วมดำเนินงานกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ในเชิงรุกและอย่างรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดการบรรลุเป้าประสงค์ทางสังคม

หลักการที่ 5 ธนาคารจะแปลงข้อผูกพันที่ได้เห็นพ้องตามหลักการ ไปดำเนินการให้เกิดผล ผ่านการกำกับดูแลที่มีประสิทธิผลและการปลูกฝังให้เป็นวัฒนธรรมแห่งธนาคารที่รับผิดชอบ

หลักการที่ 6 ธนาคารจะมีการทบทวนแนวทางการปฏิบัติตามหลักการ ทั้งในระดับปัจเจกและในระดับกลุ่มอย่างสม่ำเสมอ มีความโปร่งใสที่สามารถตรวจสอบได้ต่อผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน รวมทั้งการมีส่วนร่วมในตอบสนองเป้าประสงค์ทางสังคม

ธนาคารของไทย ที่อยากจะเข้าร่วมลงนามรับหลักการธนาคารที่รับผิดชอบ ฉบับที่เป็นสากลนี้ และแสดงความจำนงภายใน 22 สิงหาคมนี้ จะได้มีโอกาสเข้าร่วมในการเปิดตัว Principles for Responsible Banking ในเวทีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ (United Nations General Assembly) ณ นครนิวยอร์ก ในช่วงระหว่างวันที่ 22-23 กันยายนนี้


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, July 21, 2019

ESG กับการลงทุนในกองทุนรวม

ปัจจุบัน การประเมินปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน กำลังเดินเข้าสู่โหมดที่ผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ถือเป็นเกณฑ์ปฏิบัติสามัญที่จะต้องคำนึงถึงกันอย่างถ้วนหน้า

นอกจากการพิจารณาปัจจัยด้าน ESG กับการลงทุนในตราสารทุน ประเภทหุ้น ที่มีความแพร่หลายระดับหนึ่งในบ้านเรา หน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) จัดเป็นหลักทรัพย์อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความสนใจลงทุน และเริ่มมีการใช้ปัจจัยด้าน ESG ในการประเมินเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนบ้างแล้ว

ทั้งการเติบโตในแง่ของ Supply คือ มีจำนวนกองทุนที่ออกเพิ่มขึ้นในตลาด และในแง่ของ Demand ที่ผู้ลงทุนต้องการทางเลือกของการลงทุนที่มีความผันผวนต่ำ และยังคงสามารถให้ผลตอบแทนที่ไม่ด้อยกว่าการลงทุนในตราสารทุนประเภทหุ้น กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้กองทุนในกลุ่มนี้ เป็นตัวเลือกของการลงทุนที่เหมาะสมกับสภาวะตลาดในปัจจุบัน


จากข้อมูลกองทุนที่จดทะเบียนกับสำนักงาน ก.ล.ต. ในกลุ่มนี้ พบว่า มีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 7 กองทุน มีมูลค่าตลาดรวม 358,103.89 ล้านบาท มีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 60 กองทุน มีมูลค่าตลาดรวม 426,501.27 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2562)

ทั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์ 67 กองรวมกัน มีมูลค่าตลาดคิดเป็นร้อยละ 4.64 เมื่อเทียบกับมาร์เกตแคปรวมของตลาด (SET) ที่ 16.89 ล้านล้านบาท

จากข้อมูลการประเมิน ESG กับกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์ โดยหน่วยงาน ESG Rating ของสถาบันไทยพัฒน์ ได้มีการคัดเลือกกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์ เข้าอยู่ในกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ประจำปี 2562 เป็นปีแรก จำนวนรวม 9 กองทุน

โดยเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGATIF) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF)

และเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 7 กองทุน ได้แก่ กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN คอมเมอร์เชียล โกรท (CPNCG) กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ไพร์มออฟฟิศ (POPF) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์บัวหลวง ออฟฟิศ (B-WORK) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (FTREIT) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์โกลเด้นเวนเจอร์ (GVREIT) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ แอล เอช ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ (LHSC) และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท (WHART)

สำหรับเกณฑ์ในการประเมิน ESG กับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์ นอกจากการใช้ Screening Criteria และ Rating Criteria เหมือนกับการประเมินบริษัทจดทะเบียนแล้ว ยังใช้เกณฑ์พิจารณาที่อ้างอิงจาก GRI, SASB ในส่วนที่เป็นประเด็น ESG รายสาขา ได้แก่ การบริหารการใช้น้ำและพลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การดูแลฟื้นฟูที่ดินและทรัพย์สินในความครอบครอง ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ ผลกระทบต่อผู้ใช้และผู้เช่าทรัพย์สิน การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการรับรองด้านความยั่งยืนในโครงการจากหน่วยงานภายนอก

นอกจากนี้ ยังมีตัววัดที่อ้างอิงจาก GRESB ในส่วนที่เป็นการประเมินกองทุน 3 หมวด ได้แก่ นโยบายและความเป็นผู้นำ การเฝ้าติดตามและประเมินความเสี่ยง การสื่อสารและการสานสัมพันธ์ และในส่วนที่เป็นการประเมินทรัพย์สิน 8 หมวด ได้แก่ การจัดการ นโยบายและการเปิดเผยข้อมูล โอกาสและความเสี่ยง การนำไปปฏิบัติ ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมและการเฝ้าติดตาม การสานสัมพันธ์ผู้มีส่วนได้เสีย ผลการดำเนินงาน ประกาศนียบัตรและรางวัลที่ได้รับ

ทั้ง 9 กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่ในกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 มีมูลค่าตลาดรวมกัน 193,640.61 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.68 เมื่อเทียบกับมาร์เกตแคปรวมของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์ 784,605.16 ล้านบาท

น่าจะเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนโดยมีความผันผวนต่ำ ได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอในระดับที่น่าพอใจ นอกเหนือจากการลงทุนในหุ้น

แต่เหนือสิ่งอื่นใด การลงทุนในหน่วยลงทุนมิใช่การฝากเงิน และมีความเสี่ยงของการลงทุน ผู้ลงทุนควรลงทุนในกองทุนรวมที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุนของตน และผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, July 07, 2019

ไทยติดอันดับโลกด้านความยั่งยืน

จากความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียในข้อมูลกิจการที่ต้องการมากกว่าตัวเลขผลประกอบการ ครอบคลุมถึงการดำเนินงานที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้การเปิดเผยข้อมูลในรูปของรายงานด้านความยั่งยืนที่จัดทำตามความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา (ค.ศ.1999-2016) เพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

จากตัวเลขในฐานข้อมูล GRI Sustainability Disclosure Database (SDD) ซึ่งเป็นแหล่งรวมข้อมูลรายงานแห่งความยั่งยืนของกิจการทั่วโลก มีองค์กรที่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนจำนวน 13,893 แห่ง ผ่านรายงานรวมทั้งสิ้น 54,776 ฉบับ ในจำนวนนี้ เป็นรายงานที่จัดทำตามแนวทาง GRI จำนวน 32,700 ฉบับ หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของรายงานที่เปิดเผยผ่านฐานข้อมูล SDD ทั้งหมด และมี 237 องค์กรในประเทศไทย ที่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ผ่านรายงานรวมทั้งสิ้น 635 ฉบับ (ข้อมูล ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2562)

โดยข้อมูลในหมวดที่เป็นการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG Target 12.6 – Country Tracker จากเดิมประเทศไทยมีรายงานที่เปิดเผยเพียง 41 เล่ม ในรอบการรายงานปี 2558 เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 108 เล่ม ในรอบการรายงานปี 2559 (หรือเพิ่มขึ้น 1.6 เท่า) และมาเป็นจำนวน 120 เล่ม ในรอบการรายงานปี 2560 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 11) ทำให้ปัจจุบัน ประเทศไทยมีตัวเลขการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่อ้างอิงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มากเป็นอันดับ 5 ของโลก


ขณะเดียวกัน การเปิดเผยข้อมูลในรูปของรายงานด้านความยั่งยืนที่จัดทำตามแนวทาง GRI ในประเทศไทย มีตัวเลขอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก

เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยมีจำนวนองค์กรที่มีการเปิดเผยข้อมูลมากสุด อยู่ที่ 237 แห่ง ขณะที่มาเลเซียมี 156 แห่ง อินโดนีเซีย 155 แห่ง สิงคโปร์ 151 แห่ง ตามมาด้วย เวียดนาม 98 แห่ง ฟิลิปปินส์ 65 แห่ง กัมพูชา 16 แห่ง และเมียนมา 3 แห่ง ตามลำดับ

สิ่งที่ท้าทายจากนี้ไป คือ การรักษาระดับความเป็นผู้นำ โดยเฉพาะในประเทศสมาชิกอาเซียน ที่ประเทศไทยมีจำนวนองค์กรที่มีการเปิดเผยข้อมูลมากสุดเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาค การรวบรวมและเพิ่มจำนวนองค์กรที่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนในฐานข้อมูล GRI Sustainability Disclosure Database จึงถือเป็นความเคลื่อนไหวทางกลยุทธ์ที่สำคัญ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในระดับส่วนรวมในนามของประเทศไทยที่มีชื่อติดอันดับในเวทีโลก และในระดับองค์กรที่สามารถยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ตามกรอบการรายงานที่สากลยอมรับควบคู่ไปพร้อมกัน


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, June 23, 2019

งาน Social Business Day ที่ไม่ควรพลาด

ไม่บ่อยนัก สำหรับแวดวงการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย ที่จะได้มีโอกาสเป็นเจ้าบ้านต้อนรับงานใหญ่ระดับนานาชาติ ที่มีผู้คนทั้งในภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคการศึกษาทั่วโลก มารวมตัวกันอยู่ในงานเดียว


งานที่พูดถึงนี้ คือ งาน Social Business Day ครั้งที่ 9 ที่กรุงเทพฯ ในสัปดาห์นี้ (28-29 มิถุนายน) โดยมีผู้จัดหลัก คือ Yunus Centre ศูนย์ที่ก่อตั้งโดย ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ผู้ที่เป็นต้นตำรับแนวคิด Social Business

Social Business เป็นธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งมีความแตกต่างจากธุรกิจปกติที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุด และไม่ใช่องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ที่อยู่ได้ด้วยเงินบริจาคหรือเป็นองค์กรการกุศล แต่เป็นการประกอบธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้

ยูนุสได้บุกเบิกการทำงานตามแนวทางดังกล่าวด้วยตัวเอง มาเป็นเวลากว่า 30 ปี เกิดเป็นตัวอย่างกว่า 40 ธุรกิจ เฉพาะในบังกลาเทศที่เป็นบ้านเกิดของยูนุส และในจำนวนนั้น มีธุรกิจที่พัฒนาเติบโตจนติดอยู่ในกลุ่มกิจการขนาดใหญ่สุดของประเทศ จนสหประชาชาติ สหภาพยุโรป และองค์การระหว่างประเทศทั้งในสังกัดภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ต่างให้การยอมรับแนวคิด Social Business นี้อย่างกว้างขวาง

เป้าหมายของธุรกิจเพื่อสังคม คือ การแก้ไขปัญหาสังคมด้วยวิธีการทางธุรกิจ ที่ครอบคลุมถึงการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์และบริการ ดังตัวอย่างของ กรามีน-ดาน่อน ที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาทุพโภชนาการ ด้วยการผลิตโยเกิร์ตที่เติมธาตุอาหารเสริมจำหน่ายแก่ผู้มีรายได้น้อย หรือ กรามีน-วีโอเลีย ที่ช่วยแก้ปัญหาของผู้อยู่อาศัยในแหล่งที่มีการปนเปื้อนของสารหนูในน้ำดื่ม ด้วยการจำหน่ายน้ำดื่มบริสุทธิ์ในราคาถูกตามกำลังซื้อของคนในระดับฐานราก หรือ บีเอเอสเอฟ-กรามีน ที่ต้องการควบคุมโรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ ด้วยการผลิตและจำหน่ายมุ้งเคลือบสารกันยุงในแหล่งที่เกิดการแพร่ระบาดของโรค เป็นต้น

เท่าที่ผมได้รับข้อมูลจากผู้จัดงาน จนถึงวันที่เขียนบทความชิ้นนี้ งาน Social Business Day ครั้งที่ 9 นี้ มียอดผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 1,300 คน จาก 41 ประเทศ 7 ทวีป (มีมาจาก ทวีปแอนตาร์กติกา ด้วย!)

ผู้จัดยังบอกด้วยว่า งาน #SBD2019 ในครั้งนี้ เป็น Social Business Day ที่จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย และเป็นอีเวนท์ Social Business ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ที่เคยจัดมา

ในงาน 2 วัน มีการประชุมกลุ่มย่อย (Breakout Session) 9 กลุ่ม การประชุมกลุ่มประเทศ (Country Forum) 7 กลุ่ม การประชุมกลุ่มเยาวชน (Youth Workshop) 6 กลุ่ม และการประชุมคู่ขนานสำหรับภาคการศึกษา (Academia Conference) ในช่วงบ่ายของงานวันที่สอง

โดยงานในปีนี้ ใช้ธีมว่า “Making Money is Happiness, Making Other People Happy is Super Happiness” (การทำเงินเป็นความสุข แต่การทำให้ผู้อื่นมีความสุข เป็นความสุขยิ่ง)

หัวข้อที่จะมีการพูดคุยในงาน ครอบคลุมทั้งเรื่องการศึกษา เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร สุขภาวะ การเงิน สิ่งแวดล้อม พลังงานสีเขียว ศิลปวัฒนธรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ธุรกิจเพื่อสังคมกับการกีฬา กิจการขนาดใหญ่กับธุรกิจเพื่อสังคม เทคโนโลยีกับธุรกิจเพื่อสังคม ภาวะผู้นำเยาวชนกับธุรกิจเพื่อสังคม สินเชื่อไมโครไฟแนนซ์กับธุรกิจเพื่อสังคม ฯลฯ ซึ่งจะนำการสนทนาโดยวิทยากรจากทั่วโลกกว่า 100 คน

ในงานครั้งนี้ Yunus Centre ยังถือโอกาสใช้เป็นเวทีในการเปิดตัว Corporate Action Tank Thailand แพลตฟอร์มการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการขับเคลื่อนความริเริ่มด้านธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยด้วย

Corporate Action Tank ที่กำลังจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่สี่ นับจากที่ Yunus Centre ได้ก่อตั้งมาแล้วที่ประเทศฝรั่งเศส อินเดีย และบราซิล

องค์กรธุรกิจที่จะเข้าร่วมใน Corporate Action Tank จะมีการนำหลักการของ Social Business มาใช้แก้ปัญหาสังคมในประเด็นที่อยู่ในความสนใจขององค์กร เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมาย ด้วยการนำธุรกิจแกนหลัก (Core Business) ของตน มาดำเนินการ

เท่าที่ทราบอย่างไม่เป็นทางการ มีกิจการที่ตอบรับเข้าร่วมใน Corporate Action Tank แล้ว ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่มบริษัท บางจาก (โปรดติดตามประกาศจากผู้จัดในวันงานอีกครั้งหนึ่ง)

งานใหญ่ระดับโลกนี้ ได้มาจัดอยู่ในบ้านเราเอง (ที่เซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์) ผู้ที่อยู่ในแวดวงการทำงานธุรกิจเพื่อสังคม ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Monday, June 10, 2019

ทางเลือกนักลงทุน

ESG กับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์

นับจากที่ สถาบันไทยพัฒน์ โดยหน่วยงาน ESG Rating ได้ริเริ่มจัดทำและประกาศรายชื่อ 100 หลักทรัพย์ที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (ESG) หรือที่เรียกว่ากลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 เป็นต้นมา

นับเป็นปีที่ห้าของการประเมิน ด้วยการคัดเลือกจาก 704 บริษัทจดทะเบียน (ไม่รวมหลักทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟู) และในปีนี้ ได้ทำการคัดเลือกกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) เป็นปีแรกด้วย


เนื่องจากการเติบโตในแง่ของ Supply คือ มีจำนวนกองทุนมากพอในระดับที่สามารถนำมาเป็นตัวเลือกของการลงทุนได้ และหลายกองทุนเริ่มให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูล ESG ของกองทุนให้แก่ผู้ลงทุน ยิ่งไปกว่านั้น ในแง่ของ Demand ตามสภาวะตลาดทุนปัจจุบัน ผู้ลงทุนต้องการทางเลือกของการลงทุนที่มีความผันผวนต่ำ และยังสามารถให้ผลตอบแทนที่ไม่ด้อยกว่าการลงทุนในตราสารทุน ประเภทหุ้น

ปัจจุบัน มีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่จดทะเบียนกับสำนักงาน ก.ล.ต. จำนวน 7 กองทุน มีมูลค่าตลาดรวม 358,103.89 ล้านบาท มีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 60 กองทุน มีมูลค่าตลาดรวม 426,501.27 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2562)

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์ ทั้ง 67 กองรวมกัน มีมูลค่าตลาดคิดเป็นร้อยละ 4.64 เมื่อเทียบกับมาร์เกตแคปรวมของตลาด (SET) ที่ 16.89 ล้านล้านบาท

การประเมิน ESG กับกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์ โดยหน่วยงาน ESG Rating ของสถาบันไทยพัฒน์ ในปีแรกนี้ ได้คัดเลือกกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเข้าอยู่ในกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 จำนวน 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGATIF) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF)

และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 7 กองทุน ได้แก่ กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN คอมเมอร์เชียล โกรท (CPNCG) กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ไพร์มออฟฟิศ (POPF) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์บัวหลวง ออฟฟิศ (B-WORK) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (FTREIT) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์โกลเด้นเวนเจอร์ (GVREIT) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ แอล เอช ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ (LHSC) และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท (WHART)

สำหรับเกณฑ์ในการประเมิน ESG กับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์ นอกจากการใช้ Screening Criteria และ Rating Criteria เหมือนกับการประเมินบริษัทจดทะเบียนแล้ว ยังใช้เกณฑ์พิจารณาที่อ้างอิงจาก GRI, SASB ในส่วนที่เป็นประเด็น ESG รายสาขา ได้แก่ การบริหารการใช้น้ำและพลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การดูแลฟื้นฟูที่ดินและทรัพย์สินในความครอบครอง ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ ผลกระทบต่อผู้ใช้และผู้เช่าทรัพย์สิน การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการรับรองด้านความยั่งยืนในโครงการจากหน่วยงานภายนอก

นอกจากนี้ ยังมีตัววัดที่อ้างอิงจาก GRESB ในส่วนที่เป็นการประเมินกองทุน 3 หมวด ได้แก่ นโยบายและความเป็นผู้นำ การเฝ้าติดตามและประเมินความเสี่ยง การสื่อสารและการสานสัมพันธ์ และในส่วนที่เป็นการประเมินทรัพย์สิน 8 หมวด ได้แก่ การจัดการ นโยบายและการเปิดเผยข้อมูล โอกาสและความเสี่ยง การนำไปปฏิบัติ ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมและการเฝ้าติดตาม การสานสัมพันธ์ผู้มีส่วนได้เสีย ผลการดำเนินงาน ประกาศนียบัตรและรางวัลที่ได้รับ

ทั้ง 9 กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่ในกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 มีมูลค่าตลาดรวมกัน 193,640.61 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.68 เมื่อเทียบกับมาร์เกตแคปรวมของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน/รีทส์/อสังหาริมทรัพย์ 784,605.16 ล้านบาท

น่าจะเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนโดยมีความผันผวนต่ำ ได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอในระดับที่น่าพอใจ นอกเหนือจากการลงทุนในหุ้น

แต่เหนือสิ่งอื่นใด การลงทุนในหน่วยลงทุนมิใช่การฝากเงิน และมีความเสี่ยงของการลงทุน ผู้ลงทุนควรลงทุนในกองทุนรวมที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุนของตน และผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


จากบทความ 'CSR Talk' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, June 09, 2019

หุ้น ESG100 ปี 62

สถาบันไทยพัฒน์ โดยหน่วยงาน ESG Rating ได้ประกาศรายชื่อบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance) ติดอันดับ ESG100 ประจำปี 2562 ด้วยการคัดเลือกจาก 704 บริษัทจดทะเบียน (ไม่รวมหลักทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟู) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) 60 กองทุน และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน 7 กองทุน รวมทั้งสิ้น 771 หลักทรัพย์


การจัดอันดับหลักทรัพย์กลุ่ม ESG100 รอบนี้ ถือเป็นปีที่ 5 ของการประเมิน โดยใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ ESG จาก 6 แหล่ง จำนวนกว่า 14,278 จุดข้อมูล ตามที่หน่วยงานผู้ออกหลักทรัพย์เปิดเผยต่อสาธารณะ ผ่านรายงานแห่งความยั่งยืน รายงานประจำปี หรือในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) โดยไม่ใช้แบบสำรวจข้อมูลหรือแบบสอบถามใดๆ เพิ่มเติม

การประเมินในปีนี้ ได้มีการพิจารณาข้อมูลด้าน ESG และผลประกอบการควบคู่ไปพร้อมกัน โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูล ESG แบบบูรณาการ ผนวกเข้ากับข้อมูลทางการเงิน ที่เรียกว่า Integrated ESG Assessment ทำให้หลักทรัพย์กลุ่ม ESG100 สามารถตอบโจทย์ทั้งผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุน

การประเมินหลักทรัพย์ ESG100 ประกอบด้วยเกณฑ์เบื้องต้นสำหรับการคัดกรอง (Screening Criteria) และเกณฑ์หลักสำหรับการประเมิน (Rating Criteria) โดยเกณฑ์เบื้องต้นสำหรับการคัดกรอง ประกอบด้วย ผลการดำเนินงานของบริษัทต้องมีผลประกอบการที่เป็นกำไรติดต่อกันสองรอบปีบัญชีล่าสุด การปลอดจากการกระทำความผิดโดยที่บริษัทหรือคณะกรรมการหรือผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ต้องไม่ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษหรือเปรียบเทียบปรับในรอบปีประเมิน และการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ของบริษัทเป็นไปตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด

ส่วนเกณฑ์หลักสำหรับการประเมิน ประกอบด้วย การพิจารณาประเด็นด้าน ESG ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรม การพิจารณาวิธีการที่บริษัทใช้ระบุและจัดการกับโอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน ESG และการพิจารณาประเด็นด้าน ESG ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการขององค์กร เพื่อให้สะท้อนผลตอบแทนการลงทุนหรือตัวเลขผลประกอบการที่สัมพันธ์กับการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัท และสามารถตอบโจทย์ผู้ลงทุนในมิติของการลงทุนที่ยั่งยืนว่า บริษัทที่มี ESG ดี จะสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีด้วย

โดยในปีนี้ ยังได้เพิ่มการประเมินหลักทรัพย์ในส่วนที่เป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ รวม 67 กองทุน โดยใช้เกณฑ์ ESG เป็นครั้งแรก เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนโดยมีความผันผวนต่ำ และได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอในระดับที่น่าพอใจ นอกเหนือจากการลงทุนในหุ้น

ผลการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่เข้าอยู่ในยูนิเวิร์สของ ESG100 ปีนี้ มีหลักทรัพย์ที่ติดอันดับ จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 8 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร 11 หลักทรัพย์ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 4 หลักทรัพย์ กลุ่มธุรกิจการเงิน 12 หลักทรัพย์ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม 15 หลักทรัพย์ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 21 หลักทรัพย์ กลุ่มทรัพยากร 10 หลักทรัพย์ กลุ่มบริการ 21 หลักทรัพย์ และกลุ่มเทคโนโลยี 6 หลักทรัพย์

โดยในจำนวนนี้ มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาด mai เข้าอยู่ใน ESG100 อยู่ด้วยจำนวน 9 หลักทรัพย์ เป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้รับคัดเลือก จำนวน 7 กอง และเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน 2 กอง

ทั้งนี้ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) รวมกันของหลักทรัพย์ ESG100 มีมูลค่าราว 10.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 62.6 เมื่อเทียบกับมาร์เกตแคปรวมของตลาด (SET) ที่ 16.6 ล้านล้านบาท

รายชื่อหลักทรัพย์ ESG100 ชุดใหม่นี้ มีการเปลี่ยนแปลงจากปีที่แล้ว ในสัดส่วนร้อยละ 27 และจะถูกนำไปใช้ทบทวนรายการหลักทรัพย์ที่ใช้ในการคำนวณดัชนี อีเอสจี ไทยพัฒน์ หรือ Thaipat ESG Index ในเดือนกรกฎาคมนี้

ผู้ลงทุนที่สนใจข้อมูลหลักทรัพย์จดทะเบียนในกลุ่ม ESG100 สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.esgrating.com


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, May 26, 2019

CSR ระหว่างได้ภาพ กับได้ผล

ภาพความเข้าใจในเรื่อง CSR (Corporate Social Responsibility) ส่วนใหญ่ แม้ในปัจจุบัน ก็ยังมักนึกไปถึง การดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ปลูกป่า สร้างฝาย แจกผ้าห่ม ฯลฯ

มีเป็นส่วนน้อย ที่เข้าใจว่า CSR สามารถผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์องค์กร ที่นำพาธุรกิจให้เติบโต และมีความยั่งยืนในการดำเนินงาน

องค์กรที่มุ่งทำ CSR ในเชิงกิจกรรม มักมีความมุ่งประสงค์ที่เป็นไปเพื่อสร้างการยอมรับและภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่กิจการ ทั้งจากผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่รายรอบกิจการ และสังคมโดยรวม ให้เกิดเป็นการรับรู้ (Perception) ว่าเป็นองค์กรที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ส่วนองค์กรที่มีการผนวก CSR เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์องค์กร มักมีความมุ่งหมายที่เป็นไปเพื่อการตอบโจทย์ทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเติบโต การเพิ่มผลิตภาพ และการจัดการความเสี่ยง เป็นเรื่องของสมรรถนะ (Performance) การดำเนินกิจการในทางที่เอื้อให้เกิดการสร้างคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน


   Photo Credit: Compfight

ในประเทศไทย การนำเรื่อง CSR มาผนวกเข้ากับกระบวนการทางธุรกิจของกิจการ ได้ดำเนินในแนวทางเดียวกับพัฒนาการ CSR ในระดับสากล โดยอาจจำแนกออกได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ CSR อยู่ในสายงาน เป็นช่วงเวลาที่มีการตั้งแผนกหรือส่วนงาน CSR ขึ้นมารับผิดชอบภายในองค์กร มีความพยายามในการรวบรวมแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม CSR ที่มีลักษณะกระจัดกระจาย ให้มาอยู่ภายใต้ผู้รับผิดชอบเดียว เพื่อให้มีทิศทางหรือธีมในการทำ CSR ไปในแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายขององค์กร ไม่สะเปะสะปะเหมือนกับการบริจาคเพื่อการกุศล (Philanthropy) เช่นในอดีต ก่อนที่คำว่า CSR จะเป็นที่นิยมใช้ในหมู่ธุรกิจ

ระยะที่ CSR อยู่ข้ามสายงาน เป็นช่วงเวลาที่มีการสานความร่วมมือระหว่างฝ่าย CSR กับสายงานต่างๆ ในองค์กร มีการตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงานจากสายงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมขับเคลื่อนตามบทบาทที่แต่ละสายงานเข้าไปเกี่ยวข้อง CSR ที่เป็นประเด็นด้านผู้บริโภค จะมอบให้สายงานลูกค้ารับผิดชอบ หรือ CSR ที่เป็นการปฏิบัติด้านแรงงาน จะมอบให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลเป็นหลัก หรือ CSR ที่เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม จะมอบหมายให้ฝ่ายสิ่งแวดล้อมหรือส่วนงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยดูแล เป็นต้น ในระยะนี้ บางกิจการนำคำว่า SD (Sustainable Development) มาใช้สื่อถึงการดำเนินงาน เพื่อให้แตกต่างจาก CSR ระยะแรก

ระยะที่ CSR ถูกบูรณาการทั่วทั้งองค์กร เป็นช่วงเวลาที่มีการผนวกเรื่อง CSR ให้เป็นวาระงานของคณะกรรมการบริษัท ตั้งแต่ระดับบนสุด ลงมายังฝ่ายบริหาร และถ่ายทอดไปสู่สายงานระดับต่างๆ ผ่านทางกลยุทธ์องค์กร อีกนัยหนึ่ง คือ เป็นการฝังความรับผิดชอบต่อสังคมเข้ากับกระบวนงานต่างๆ ทางธุรกิจให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้การวัดผล CSR จะถูกผนวกเข้ากับตัวชี้วัดทางธุรกิจ เนื่องจาก CSR ได้ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจแล้วนั่นเอง ในระยะนี้ มีหลายกิจการนำคำว่า CSV (Creating Shared Value) มาใช้อธิบายถึง CSR ในระดับที่เป็นกลยุทธ์ขององค์กร

การทำ CSR ในระยะบูรณาการนี้ จะทอดเวลายาวจวบจนกระทั่งเรื่อง CSR ได้ถูกผนวกเข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน เกิดเป็นผลลัพธ์ที่สร้างความยั่งยืน (Sustainability) ให้แก่กิจการและสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน

ทุกองค์กรที่มุ่งหวังเรื่องความยั่งยืน จำเป็นต้องเดินผ่านเส้นทางที่ CSR พัฒนาจากระดับกิจกรรมไปสู่ระดับกลยุทธ์ จนกระทั่งมีผลได้ที่ยกระดับจากการรับรู้ หรือ ‘Perception’ (ที่ได้ภาพ) ไปสู่สมรรถนะ หรือ ‘Performance’ ในการดำเนินงาน CSR (ที่ได้ผล) ในท้ายที่สุด


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, May 12, 2019

การวัดผลตอบแทนจากความยั่งยืน

ทุกองค์กรธุรกิจจะต้องมีความเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนไม่มากก็น้อย ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวว่าดำเนินการอยู่ก็ตามที

ถ้าเป็นกิจการที่ไม่ได้หวังมาฟันกำไร ประเภทตีหัวเข้าบ้าน แล้วปิดกิจการหนี แต่ต้องการอยู่ยาวๆ มีลูกค้าต่อเนื่อง อยากให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับ ตราสินค้าเป็นที่จดจำ ฯลฯ คุณลักษณะดังว่านี้ คือ การเข้าไปข้องเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนเข้าแล้วนั่นเอง

ที่ผ่านมา แรงจูงใจหรือการโน้มน้าวเพื่อให้ดำเนินการเรื่องความยั่งยืน มักจะสื่อถึงผลลัพธ์ในระยะยาวที่กิจการจะได้รับ คือ ต้องทำไปก่อน ลงทุนไปก่อน ส่วนผลที่จะได้กลับมา ให้ไปคาดหวังเอาในวันข้างหน้า ทำให้คณะกรรมการบริษัทซึ่งมีระยะเวลาในตำแหน่ง มักไม่ค่อยอินกับเรื่องความยั่งยืน เพราะกว่าจะเห็นผล ตนเองก็พ้นวาระไปแล้ว

แต่ปัจจุบัน ได้มีความพยายามในการพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน ให้มีขีดความสามารถในการแปลงการรับรู้ประโยชน์ (Recognized Benefit) ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า เป็นการรับประโยชน์ (Realized Benefit) จากการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน ให้เกิดขึ้นภายในรอบการดำเนินงานที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น

ด้วยแนวคิดดังกล่าว จึงไปเพิ่มความน่าสนใจให้กับคณะกรรมการและผู้บริหารมืออาชีพที่ถูกจ้างเข้ามาดูแลกิจการ เพราะตนเองสามารถได้รับค่าตอบแทนที่ผูกอยู่กับผลงาน อันเกิดจากการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนได้อีกทางหนึ่งด้วย

การวัดผลตอบแทนจากความยั่งยืน หรือ Return on Sustainability ในที่นี้ มีฐานมาจากเครื่องมือที่เรียกว่า Value Driver Model ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยหน่วยงาน UN Global Compact และ UN-supported Principles for Responsible Investment (PRI) สำหรับสะท้อนคุณค่าแห่งความยั่งยืนสู่ตัววัดทางการเงินของกิจการ จากการดำเนินงานเรื่องความยั่งยืนใน 3 มิติ ได้แก่ การเติบโต (Growth) ผลิตภาพ (Productivity) และการจัดการความเสี่ยง (Risk Management)


มิติการเติบโต (Growth) ในรูปของรายได้ที่เกิดจากการใช้ประเด็นความยั่งยืนให้เป็นประโยชน์ หรือ Sustainability-Growth (S/G) มีองค์ประกอบที่ควรพิจารณาใน 4 ด้าน ได้แก่

การขยายส่วนแบ่งตลาด จากอุปสงค์ต่อตัวผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงความยั่งยืนเพิ่มขึ้น
การได้มาซึ่งยอดขายของลูกค้ากลุ่มใหม่หรือต่างภูมิภาค โดยอาศัยตราสินค้าและชื่อเสียงจากการเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงความยั่งยืน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่นำเรื่องความยั่งยืนมาใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างมีนวัตกรรม ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ลดผลเชิงลบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ไม่พึงปรารถนา และ/หรือ เพิ่มผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่พึงปรารถนา
การนำแผนและยุทธศาสตร์ระยะยาวไปปฏิบัติให้เกิดผล ในแนวทางที่ผู้ลงทุนต้องการ เกิดเป็นการเติบโตจากการนำเรื่องความยั่งยืนมาใช้ให้เป็นประโยชน์

มิติผลิตภาพ (Productivity) ที่เกิดจากการขับเคลื่อนด้วยประเด็นความยั่งยืน ผ่านทางตัวบ่งชี้การดำเนินงานหลักซึ่งกิจการใช้วัดผลลัพธ์ทางการเงิน หรือ Sustainability-Productivity (S/P) มีองค์ประกอบที่ควรพิจารณาใน 3 ด้าน ได้แก่

ประสิทธิภาพการดำเนินงาน ที่ก่อให้เกิดการประหยัดต้นทุน และ/หรือค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงได้ จากการปรับปรุงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้ดีขึ้นจากเดิม การลดของเสีย และ/หรือการหาทางเลือกในการใช้วัสดุให้ดีขึ้น เพื่อต้นทุนและผลกระทบที่เกิดขึ้น
การบริหารทุนมนุษย์ ที่ก่อให้เกิดการลดค่าจ่ายในการเฟ้นหาและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถโดดเด่นให้กับกิจการ จากการมีข้อยึดมั่นต่อความยั่งยืนและคุณค่าอันเป็นที่รับรู้ในหมู่พนักงาน เช่นเดียวกับการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน ด้วยการฝึกอบรมทั้งด้านทักษะและความปลอดภัย รวมถึงสภาพแวดล้อมการทำงานที่เท่าเทียมระหว่างหญิงและชาย
การปรับปรุงส่วนต่างระหว่างราคาขายกับต้นทุน ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งระดับราคาและปริมาณยอดขาย ในกลุ่มลูกค้าที่ให้น้ำหนักในเรื่องคุณค่าจากผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงความยั่งยืน

มิติการจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ที่เกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืน ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อผลประกอบการขององค์กรอย่างมีนัยสำคัญ หรือ Sustainability-Risk (S/R) มีปัจจัยความเสี่ยงที่ควรพิจารณาดำเนินการและติดตาม ประกอบด้วย

ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและการดำเนินงาน เป็นการจำกัดความเสี่ยงและความชะงักงันในธุรกิจ ที่อาจเกิดจากการระงับ/ยกเลิกใบอนุญาต หรือการเพิกถอนฉันทานุมัติจากสังคมหรือชุมชนที่อยู่รายรอบสถานประกอบการ (License to Operate) ด้วยการลดระดับการก่อผลกระทบที่ก่อวิกฤตทางสิ่งแวดล้อม และ/หรือการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด การลดการปล่อยมลอากาศและสารพิษที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและระบบนิเวศ รวมถึงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการละเมิดกฎระเบียบ การลงโทษและบทปรับทางกฎหมาย ตลอดจนการเพิ่มระดับและการเข้าร่วมเป็นภาคีในการดำเนินงานตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน การผ่านการสอบทาน และการได้รับการรับรองที่เกี่ยวข้อง
ความเสี่ยงในสายอุปทาน เป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นด้วยการประเมิน การสอบทาน และ/หรือการได้รับการรับรองว่าผู้ส่งมอบ (Suppliers) มีความน่าเชื่อถือ มีผลิตภัณฑ์และบริการที่ผลิตและส่งมอบอย่างรับผิดชอบ ที่สอดคล้องกับนโยบายของกิจการ เป็นไปตามประมวลอุตสาหกรรม และมาตรฐานระหว่างประเทศ
ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง เป็นการลดโอกาสเสี่ยงที่มีต่อชื่อเสียง ซึ่งมาจากบทปรับ คำตัดสินทางกฎหมายที่ไม่เป็นคุณ การคว่ำบาตร การประท้วงจากสาธารณชน และ/หรือการติดตามตรวจสอบจากสื่อมวลชน ด้วยการปฏิบัติตามนโยบายและวิธีดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อจำกัดความเสี่ยงภัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

องค์ประกอบหรือปัจจัยความยั่งยืนในมิติการเติบโต S/G มิติผลิตภาพ S/P และมิติการจัดการความเสี่ยง S/R เมื่อพิจารณาร่วมกัน จะสามารถคำนวณเพื่อหาผลตอบแทนจากความยั่งยืน หรือ Return on Sustainability ในรูปของตัวเลขและตัวบ่งชี้การดำเนินงาน ซึ่งกิจการใช้วัดผลลัพธ์ทางการเงินได้


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, April 28, 2019

การลงทุนเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก

จากข้อมูลการสำรวจ 2018 Global Sustainable Investment Review ของ Global Sustainable Investment Alliance (GSIA) ภาคีระดับโลก ที่ประกอบด้วย หน่วยงานสกุล SIF (Sustainable Investment Forum) และสมาคมของบรรดาผู้ลงทุนสถาบัน องค์กรธุรกิจ และนักวิชาชีพ ที่เน้นการลงทุนที่ยั่งยืน มีความรับผิดชอบ และมุ่งผลกระทบ ในประเทศต่างๆ ได้แก่ Eurosif (ยุโรป), JSIF (ญี่ปุ่น), RIAA (ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์), RIA Canada (แคนาดา), UKSIF (สหราชอาณาจักร), USSIF (สหรัฐอเมริกา) และ VBDO (เนเธอร์แลนด์) ระบุว่า ตัวเลขการลงทุนที่ยั่งยืนทั่วโลก มีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นจาก 22.89 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2559 มาอยู่ที่ 30.68 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2561 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 ในช่วงเวลา 2 ปี

โดยการลงทุนในหมวดนี้ คิดเป็นร้อยละ 33 ของขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ทั้งหมด หรือเทียบอย่างง่าย คือ ในจำนวนเงินลงทุน 3 เหรียญ จะมีอยู่ราว 1 เหรียญ ที่เป็นการลงทุนที่ยั่งยืน แสดงให้เห็นถึงสัญญาณของเรื่องการลงทุนที่ยั่งยืนว่าได้เข้าสู่โหมดการลงทุนกระแสหลัก (Mainstream) โดยกลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ประเภทสถาบัน อย่างมีนัยสำคัญ

เฉพาะตัวเลขการเติบโตของกลยุทธ์การลงทุนที่ใช้ข้อมูล ESG (Environmental, Social and Governance) ผนวกในการวิเคราะห์ ในปี พ.ศ.2561 มีเม็ดเงินสูงถึง 17.54 ล้านล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 69 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2559

แลร์รี่ ฟิงก์ ซีอีโอ แบล็กร็อก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนใหญ่อันดับหนึ่งของโลก กล่าวไว้ว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า ผู้ลงทุนทุกราย จะประเมินมูลค่าบริษัท ด้วยการวัดผลกระทบของกิจการในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

การใช้ปัจจัย ESG ในการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจลงทุน ร่วมกับการพิจารณา Risk-Return Profile ในแบบทั่วไป นอกจากจะทำให้ผู้ลงทุนสามารถคาดการณ์ผลประกอบการในอนาคตของบริษัทได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนเอง ในแง่ที่จะช่วยสร้างผลตอบแทน (Alpha) ที่เพิ่มขึ้น และช่วยลดความผันผวนของราคา (Beta) ของหลักทรัพย์ในพอร์ตการลงทุนแล้ว ยังทำให้การลงทุนนั้น ช่วยเสริมสร้างผลกระทบเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก (Real World Impact) ในทางที่ดีขึ้นด้วย


ในหลักการลงทุนที่รับผิดชอบ (Principle for Responsible Investment: PRI) ที่พัฒนาขึ้น โดยหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน ภายใต้สำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP Finance Initiative) และข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) ได้คาดการณ์ว่า กลยุทธ์การลงทุนในศตวรรษที่ 21 จะมีมิติเรื่อง Real World Impact เพิ่มเติมจากการพิจารณา Risk-Return Profile โดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนจะต้องเผชิญกับคำถามเหล่านี้มากขึ้น

มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจ (Fiduciary Duty) ที่ไม่จำกัดเฉพาะการรักษาผลประโยชน์ทางการเงินแก่ผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่
มีการกำหนดวัตถุประสงค์หลักที่จะสร้างผลกระทบเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกในทางที่ดีขึ้น ให้เป็นส่วนหนึ่งของผลการลงทุนที่ได้รับด้วยหรือไม่
มีการพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ว่าเป็นโอกาสและ/หรือความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญหรือไม่
มีการผนวกปัจจัยด้าน ESG ในการวิเคราะห์ตัดสินใจลงทุนหรือไม่
มีการสานสัมพันธ์ในเชิงรุกกับบริษัทที่เข้าลงทุนหรือไม่

ทั้งนี้ ผู้ลงทุนในกลุ่มดังกล่าว จะพิจารณาให้น้ำหนักความสำคัญต่อผลกระทบที่เปลี่ยนแปลงโลกไว้ในทางเลือกกลยุทธ์และในการตัดสินใจลงทุน โดยมีแรงขับดันมาจากผลประโยชน์ที่จะได้รับในระยะยาว และสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 17 ข้อ ที่ประกาศใช้โดยองค์การสหประชาชาติ

เป็นที่คาดหมายว่า ผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ในประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้าน ESG จะเพิ่มการพิจารณาผลกระทบเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก (Real World Impact) เป็นมุมมองของการลงทุนในมิติที่สาม เพิ่มเติมจากการพิจารณาคุณลักษณะความสัมพันธ์ด้านความเสี่ยงและผลตอบแทน (Risk-Return Profile) ในแบบทั่วไป นับจากนี้ไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]