Sunday, August 27, 2017

SME ที่ยั่งยืน เกิดจากลูก 3 คน

ผมเขียนบทความหลายตอนก่อนหน้า เป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักการและเครื่องมือทางธุรกิจ ที่ค่อนข้างจะเหมาะกับองค์กรขนาดใหญ่ เลยจะขอสลับฉาก มาพูดถึงหลักการและเครื่องมือที่เหมาะกับธุรกิจขนาดเล็ก หรือที่บรรดาเอสเอ็มอีสามารถจะทำความเข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ซับซ้อนบ้างนะครับ

คำถามที่ผมมักได้รับจากเอสเอ็มอีอยู่เนืองๆ จะมีอยู่สองข้อใหญ่ๆ คือ มีหลักการอะไรในการทำธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จ และมีหลักการอะไรในการทำธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จนั้นให้ยั่งยืน

ในข้อแรกนั้น ไอ้กระผมก็มิใช่นักธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จ หรือเป็นวิทยากรในแวดวงนี้โดยตรง เลยต้องยกข้อธรรมที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ขึ้นมาอ้าง เพื่อจะได้ไม่พาเอสเอ็มอีออกทะเลหรือลงเหว เป็นบาปกรรมต่อกันเสียเปล่าๆ

ข้อธรรมที่จะขอยกมาใช้กับการตอบคำถามข้อแรกนี้ ก็คือ ปาปณิกธรรม 3 ที่ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่านพระเดชพระคุณ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้สาธยายไว้ว่า ปาปณิกังคะ หรือ หลักพ่อค้า, องค์คุณของพ่อค้า (qualities of a successful shopkeeper or businessman) ประกอบด้วย จักขุมา - ตาดี (รู้จักสินค้า ดูของเป็น สามารถคำนวณราคา กะทุนเก็งกำไร แม่นยำ) วิธูโร - จัดเจนธุรกิจ (รู้แหล่งซื้อแหล่งขาย รู้ความเคลื่อนไหวความต้องการของตลาด สามารถในการจัดซื้อจัดจำหน่าย รู้ใจและรู้จักเอาใจลูกค้า) นิสสยสัมปันโน - พร้อมด้วยแหล่งทุนเป็นที่อาศัย (เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจในหมู่แหล่งทุนใหญ่ๆ หาเงินมาลงทุนหรือดำเนินกิจการโดยง่าย)

ในองค์ประกอบแรก น่าจะตรงกับคำว่า ขีดความสามารถ หรือความสามารถที่จะทำงานนั้นได้สำเร็จลุล่วง เป็นเรื่องของ Competency ส่วนองค์ประกอบที่สอง น่าจะตรงกับคำว่า สมรรถภาพ เป็นเรื่องของการดูแลดำเนินงานหรือจัดการธุรกิจและปัจจัยแวดล้อมให้เรียบร้อยลงตัว เทียบได้กับคำว่า Capability และในองค์ประกอบที่สาม เป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจ ที่เอื้อให้เกิดขีดความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งก็คือคำว่า Credit นั่นเอง

ส่วนคำถามในข้อหลังนั้น อาจจะเกี่ยวข้องกับงานที่ผมทำอยู่ในเรื่องการให้คำปรึกษาองค์กรธุรกิจด้านความรับผิดชอบของกิจการในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเวลาที่พูดถึงความยั่งยืนขององค์กรขนาดใหญ่ มักจะต้องระบุการดำเนินงานที่เกี่ยวเนื่องกับผู้มีส่วนได้เสียในทุกกลุ่ม ครอบคลุมในสามด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

แต่สำหรับเอสเอ็มอี ความครอบคลุมและผลกระทบของแต่ละกิจการ จะไม่มากเท่ากับองค์กรขนาดใหญ่ ทำให้โจทย์ในการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอีให้ยั่งยืน จะมีความเกี่ยวเนื่องกับผู้มีส่วนได้เสียในสามกลุ่มสำคัญ ซึ่งจะขอใช้คำสามคำ เพื่อให้จดจำง่าย ได้แก่ ลูกจ้าง ลูกค้า และลูกช่วง

ลูกจ้าง ในที่นี้ คือ ผู้มีส่วนได้เสียภายในองค์กรที่เป็นพนักงาน ตัวอย่างของการดูแลลูกจ้าง (ให้คิดเสมือนว่าเป็นลูก...ที่เราให้มาช่วยงาน) ได้แก่ การจ่ายเงินเดือนให้ตรงเวลา การดูแลสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน การหมั่นไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบของผู้ใต้บังคับบัญชา การพัฒนาและฝึกอบรมให้มีทักษะความก้าวหน้าในงานที่ทำ เป็นต้น อย่าลืมว่า ลูกจ้าง คือ ผู้ที่ทำให้กิจการ มี “ของ” ขาย ถ้าลูกจ้างใส่ใจและมีความสุขกับงานที่ทำ ของที่ทำ ก็จะออกมาดี มีคุณภาพตามไปด้วย

ลูกค้า ในที่นี้ คือ ผู้มีส่วนได้เสียภายนอกองค์กรที่เป็นผู้ให้รายได้แก่กิจการ ตัวอย่างของการดูแลลูกค้า (ให้คิดเสียว่าเป็นลูก....ที่เราค้าขายด้วย) ได้แก่ การเสนอสินค้าและบริการที่ดีมีคุณภาพสมราคา รับผิดชอบต่อพันธสัญญาที่ให้ไว้ คอยแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่ลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ หรือกรณีที่มีปัญหาหรือข้อบกพร่อง ก็รีบขวนขวายเป็นธุระจัดการแก้ไขให้เรียบร้อย เป็นต้น อย่าลืมว่า ลูกค้า คือ ผู้ที่เป็น “ตลาด” ให้กิจการ เมื่อลูกค้าได้รับความพึงพอใจ ผลดีที่สะท้อนกลับมายังองค์กร คือ ลูกค้าก็ยินดีที่จะควักเงินในกระเป๋าอุดหนุนกิจการของเราเรื่อยไป

ลูกช่วง ในที่นี้ คือ ผู้มีส่วนได้เสียภายนอกองค์กรที่เป็นผู้รับไปดำเนินงานอีกทอดหนึ่ง อาทิ คู่ค้า ผู้แทนจำหน่าย ตัวแทนขาย ผู้รับสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจ (แฟรนไชส์ซี) ตัวอย่างของการดูแลลูกช่วง (ให้คิดว่าเป็นลูก...ที่เราต้องพึ่งพาอาศัย) ได้แก่ การปฏิบัติดำเนินงานอย่างเป็นธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบ ความโปร่งใสในการทำธุรกรรมสัญญา การเคารพในทรัพย์สินและผลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้อง เป็นต้น อย่าลืมว่า ลูกช่วง คือ ผู้ที่ช่วยขยาย “ขนาด” ของธุรกิจ เพราะแม้กิจการจะมีของดีขายได้ในตลาด แต่ถ้าไม่มีลูกช่วง หรือมีลูกช่วงที่ไม่ดี กิจการก็ไม่สามารถที่จะ Scale Up ได้ แบรนด์แฟรนไชส์ระดับโลก ที่ขยายไปทั่วโลกได้ เพราะมีระบบการบริหารลูกช่วงที่มีประสิทธิผลสูง

ถ้ากิจการเอสเอ็มอี ดูแลลูก 3 คนนี้ ได้ดีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ผมเชื่อเลยว่า กิจการของท่าน จะประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน จริงแท้แน่นอนครับ


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, August 13, 2017

SVOI เครื่องมือค้นหา “คุณค่าร่วม”

การให้ความช่วยเหลือที่เป็นกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ CSR-after-process ในรูปของการบริจาคเพื่อการกุศลการให้เงินหรือวัตถุสิ่งของ หรือการอาสาสมัคร ถือเป็นจุดนำเข้าในกระบวนการทำงานร่วมกับชุมชนหรือผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มเป้าหมาย แต่ผลที่เกิดขึ้นจากการทำงานโดยอาศัยการให้เงินหรือวัตถุสิ่งของโดยลำพัง อาจเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภายนอกตลอดเวลา หรือทำได้ชั่วครั้งชั่วคราว เนื่องจากเป็นงานอาสา โดยผลสะท้อนกลับอาจเกิดขึ้นในทางลบ หากการให้หรือความช่วยเหลือนั้นจำต้องยุติลงในวันหนึ่งวันใดข้างหน้า

การหาแนวทางการให้ความช่วยเหลือเชิงกลยุทธ์ จึงเป็นทางเลือกที่ถูกพัฒนาขึ้น สำหรับองค์กรธุรกิจที่ต้องการผลสัมฤทธิ์ที่เป็นความยั่งยืนจากการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม โดยคำนึงถึงการประยุกต์ใช้ความถนัดความเชี่ยวชาญของหน่วยงาน และการใช้โครงข่ายธุรกิจสนับสนุนการทำงานของชุมชนหรือผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มเป้าหมาย ในลักษณะที่ก่อให้เกิดการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจและสังคมไปพร้อมกัน

สำหรับหน่วยงานรัฐ มูลนิธิ หรือองค์กรสาธารณประโยชน์ ที่มีการดำเนินงานเพื่อสังคมตามภารกิจของหน่วยงานอยู่แล้ว ควรคำนึงถึงการใช้ทุนหรือทรัพยากรในการส่งมอบผลประโยชน์ให้ได้อย่างคุ้มค่า เพราะหากต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงกว่าประโยชน์ที่ส่งมอบ คุณค่าสุทธิที่สังคมได้รับจะติดลบ และสะท้อนให้เห็นถึงการขาดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ชุมชนหรือผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มเป้าหมายจะมีค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ในการได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นที่มีประสิทธิภาพกว่า

การระบุโอกาสในการสร้างคุณค่าร่วม หรือ Shared Value Opportunity Identification (SVOI) มีจุดมุ่งหมายในการค้นหาประเด็นสำคัญที่สามารถนำมาดำเนินการตามแนวทางการสร้างคุณค่าร่วม และริเริ่มกิจกรรมซึ่งมีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อยอดตามแนวทางการสร้างคุณค่าร่วม

วิธีการระบุโอกาสในการสร้างคุณค่าร่วม (SVOI) ประกอบด้วยกระบวนการใน 4 ขั้นตอน ได้แก่ (1) ทบทวนรูปแบบการให้ความช่วยเหลือที่ดำเนินอยู่ หรือ Review Existing Investments (2) พัฒนาภูมิภาพของประเด็น หรือ Develop a Landscape of Issues (3) คัดกรองประเด็นที่มีศักยภาพต่อการสร้างคุณค่าร่วม หรือ Screen Issues for Shared Value Potential และ (4) จัดลำดับความสำคัญของโอกาสในการสร้างคุณค่าร่วม หรือ Prioritize Shared Value Opportunities

กิจกรรมในขั้นตอนการทบทวนรูปแบบการให้ความช่วยเหลือที่ดำเนินอยู่ ประกอบด้วย การสัมภาษณ์ผู้ที่ริเริ่มแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมการให้ความช่วยเหลือในแต่ละความริเริ่ม (Initiatives) ที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน การประเมินการดำเนินความริเริ่มที่สามารถรวบรวมข้อมูลได้ โดยพิจารณาจากคุณค่าทางธุรกิจและทางสังคมที่ได้รับ การประมวลและหารือถึงข้อค้นพบจากการประเมิน ร่วมกับคณะทำงานขององค์กร

กิจกรรมในขั้นตอนการพัฒนาภูมิภาพของประเด็น ประกอบด้วย การหารือกับผู้บริหารระดับสูงในประเด็นที่เป็นความสำคัญยิ่งยวดทางธุรกิจและเชื่อมโยงกับประเด็นทางสังคม การวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างประเด็นทางธุรกิจและประเด็นทางสังคมตามที่ได้รับข้อมูลจากการหารือกับผู้บริหารระดับสูง และการจัดทำรายการประเด็นที่มีศักยภาพต่อการสร้างคุณค่าร่วม

กิจกรรมในขั้นตอนการคัดกรองประเด็นที่มีศักยภาพต่อการสร้างคุณค่าร่วม ประกอบด้วย การนำรายการประเด็นที่ถูกระบุว่ามีศักยภาพต่อการสร้างคุณค่าร่วม มาพิจารณาโดยใช้เกณฑ์คัดกรองหลัก และการใช้เกณฑ์คัดกรองเสริมในการกลั่นกรองประเด็นเพิ่มเติม (ถ้าจำเป็น)

กิจกรรมในขั้นตอนการจัดลำดับความสำคัญของโอกาสในการสร้างคุณค่าร่วม ประกอบด้วย การจัดทำเค้าโครงกิจกรรมซึ่งมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ พร้อมผลลัพธ์ทางธุรกิจและทางสังคมที่คาดว่าจะได้รับ และการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อร่วมกันกำหนดโอกาสในการสร้างคุณค่าร่วม 2-3 กิจกรรม

โดยสิ่งที่เป็นผลลัพธ์จากกระบวนการระบุโอกาสในการสร้างคุณค่าร่วม คือ ประเด็นสำคัญที่สามารถนำมาดำเนินการตามแนวทางการสร้างคุณค่าร่วม และกิจกรรมซึ่งมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ตามแนวทางการสร้างคุณค่าร่วม ซึ่งจะถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นสำหรับการออกแบบความริเริ่มแห่งคุณค่าร่วม (Shared Value Initiatives) ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์การดำเนินงานทั้งในทางธุรกิจและในทางสังคมไปพร้อมกันในระยะถัดไป

ทั้งนี้ ผลพลอยได้สำคัญ จากการใช้เครื่องมือ SVOI คือ การชี้ให้องค์กรเห็นว่า มีหลายโครงการ/กิจกรรม CSR ที่มีผลกระทบต่อสังคมน้อย ซึ่งสามารถยุบ/ควบ/รวม และทำให้ประหยัดงบประมาณ CSR ได้จำนวนมาก

เครื่องมือนี้ ได้ถูกนำไปใช้ในรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งเผยให้เห็นว่ามีโครงการ/กิจกรรมที่สามารถยุบ/ควบ/รวมกันได้มูลค่ากว่า 260 ล้านบาท และมีบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่อีกหนึ่งแห่ง ที่ใช้เครื่องมือนี้ ในการพิจารณาทบทวนโครงการ/กิจกรรม CSR ที่มีผลกระทบน้อย ซึ่งสามารถช่วยประหยัดงบประมาณลงได้อีกกว่า 300 ล้านบาท


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]