Saturday, September 26, 2020

ข้อมูล ESG สำคัญไฉน

ผู้ลงทุน ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือรายย่อย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในระยะยาวหรือในระยะสั้น ต่างมีเป้าหมายร่วมเดียวกัน คือ ผลตอบแทนที่น่าพอใจ ตามเงื่อนเวลาหรือข้อมูลที่มีต่อการตัดสินใจลงทุน

ข้อมูลที่มีความสำคัญต่อการพิจารณาลงทุน นอกเหนือจากข้อมูลพื้นฐานของกิจการ เป็น “ข้อมูลทางการเงิน” ที่สะท้อนให้เห็นความสามารถของกิจการในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากเม็ดเงินลงทุนที่ได้รับ ในรูปของรายได้และผลกำไร แต่ข้อจำกัดของข้อมูลทางการเงิน คือ เป็นข้อมูลที่สะท้อนการดำเนินงานในอดีตที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งมิได้เป็นเครื่องรับประกันว่า ผลการดำเนินงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะเป็นเช่นเดียวกัน เพียงแต่ให้แนวโน้มที่คาดว่าจะเป็นไปได้เช่นนั้น บนสมมุติฐานหรือปัจจัยแวดล้อมเดียวกัน

ทำให้นักลงทุนจำเป็นที่ต้องค้นหาข้อมูลอื่น ประกอบการพิจารณาลงทุน สำหรับคาดการณ์ถึงผลประกอบการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้มีความแม่นยำที่สุด และข้อมูลอื่นที่ว่า คือ “ข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน” เพราะข้อมูลดังกล่าว สามารถบ่งชี้ถึงโอกาสและความเสี่ยง รวมทั้งขีดความสามารถขององค์กรที่มีต่อผลประกอบการในอนาคตของบริษัท

ชุดข้อมูล ESG ซึ่งย่อมาจาก Environmental, Social, and Governance จึงเกิดขึ้นในแวดวงตลาดทุน เพื่ออธิบายถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทและการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุน

ESG เป็นคำที่ถูกบัญญัติขึ้นใช้ในตลาดทุน โดยผู้ลงทุน เพื่อใช้ประเมินการดำเนินงานของบริษัท และทำให้ล่วงรู้ถึงผลประกอบการในอนาคตของบริษัท

ปัจจุบัน ตลาดทุนไทย ได้เริ่มให้ความสำคัญกับชุดข้อมูล ESG เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งฝั่งผู้กำกับดูแลหลักทรัพย์ ที่มีการออกประกาศให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูล ESG ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี และฝั่งตัวกลางซื้อขายหลักทรัพย์ ที่เริ่มมีบริการด้าน ESG แก่บริษัทจดทะเบียน รวมทั้งฝั่งผู้ให้บริการอิสระและที่ปรึกษาธุรกิจ ที่มีการนำเสนอบริการที่เกี่ยวเนื่องกับ ESG สำหรับบริษัทจดทะเบียนและบริษัททั่วไป

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้บุกเบิกการพัฒนาฐานข้อมูลความยั่งยืนของธุรกิจ และเป็นผู้ริเริ่มการประเมินข้อมูลด้าน ESG ได้จัดทำรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG จำนวน 100 บริษัท หรือที่เรียกว่า กลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ถือเป็นการจัดอันดับหลักทรัพย์โดยใช้เกณฑ์ ESG เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และได้ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นปีที่หกในปีนี้

และจากกระแสเรื่อง ESG ที่ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนในวงกว้าง และมีการเสนอขายกองทุนที่ลงในหุ้น ESG เพิ่มขึ้นมาก จึงมีแนวโน้มที่การเลือกหุ้น ESG จะกระจุกตัวในกลุ่มบริษัทที่มีความโดดเด่นเรื่อง ESG อยู่แล้ว ซึ่งมักเป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมในการเปิดเผยข้อมูล สถาบันไทยพัฒน์ จึงได้ริเริ่มจัดทำรายชื่อ กลุ่มหลักทรัพย์ ESG Emerging หรือบริษัทที่มีแนวโน้มการดำเนินงานด้าน ESG ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมจากทำเนียบหุ้น ESG100 สำหรับรองรับการลงทุนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในระยะยาวให้แก่ผู้ลงทุน กระจายไปยังบริษัทใหม่ๆ ที่มีศักยภาพจากการพิจารณาปัจจัย ESG ร่วมกับผลประกอบการของบริษัท

ทั้งนี้ หลังจากที่สถาบันไทยพัฒน์ได้รวบรวมข้อมูลการประเมินมาสามปี ในปี พ.ศ.2561 ได้ขยายผลมาสู่การจัดทำดัชนีอีเอสจี ไทยพัฒน์ หรือ Thaipat ESG Index สำหรับใช้เป็นดัชนีเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน และใช้เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับการลงทุน โดยมี S&P Dow Jones เป็นผู้คำนวณและเผยแพร่ข้อมูลดัชนี ผ่านหน้าจอ Bloomberg และ Reuters ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วโลก

ปัจจุบัน มีกองทุนรวมอยู่ 6 กอง และกองทุนส่วนบุคคล 1 กอง ที่มีการใช้ดัชนี Thaipat ESG เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับการลงทุน โดยมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารอยู่ราว 838 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 18 กันยายน 2563)

โฉมหน้าของการลงทุนโดยใช้ข้อมูล ESG เพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนไทยในมิติของการลงทุนที่ยั่งยืน และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป กำลังจะกลายเป็นเส้นทางสายหลัก (Mainstream) ตามรอยตลาดทุนโลก เพื่อยืนยันคำกล่าวที่ว่า “บริษัทที่มี ESG ดี จะสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีด้วย


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, September 12, 2020

ทำธุรกิจให้รอดในภาวะปกติใหม่

เป็นเวลากว่า 6 เดือน ที่สถานการณ์โควิดได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาค และต่อธุรกิจในระดับจุลภาค โดยยังไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงในเร็ววัน จนกว่าจะมีการพัฒนาวัคซีนที่สามารถระงับการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้

หลายธุรกิจที่อดทนกัดฟันรอว่าสถานการณ์จะดีขึ้น จากการที่สามารถควบคุมการระบาดในประเทศได้ แต่ในหลายประเทศ พบว่า มีการระบาดรอบใหม่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเหตุทำให้การเดินทางระหว่างประเทศ ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ มาตรการกักกัน จึงยังคงต้องดำเนินต่อไป โดยกลุ่มที่กระทบมากสุด ได้แก่ ธุรกิจการบินและการท่องเที่ยว รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โรงแรม ที่พัก นำเที่ยว รถเช่า ของฝาก เป็นต้น


ในเมื่อจุดที่สถานการณ์สิ้นสุดไม่สามารถคาดการณ์ได้ ธุรกิจจำเป็นต้องมีการปรับองคาพยพ เพื่อความอยู่รอด และรักษาธุรกิจให้สามารถผ่านพ้นสถานการณ์ไปได้ โดยสิ่งที่ธุรกิจพึงพิจารณาดำเนินการ ประกอบด้วย

การลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ในช่วงต้นสถานการณ์ ธุรกิจยังมีเงินสดหรือสภาพคล่องในกิจการที่พอจะรับมือได้ ครั้นเวลาผ่านไป ธุรกิจมีการดึงเงินออมหรือเงินเก็บมาใช้ประคับประคองตัว แต่เมื่อรายรับไม่เข้าเพียงพอกับรายจ่ายที่ออก ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่ลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง ระดับของมาตรการอย่างอ่อน เช่น การลดค่าใช้จ่ายเดินทาง งบประมาณเลี้ยงรับรอง ค่าทำงานล่วงเวลา ฯลฯ ไปจนถึงอย่างเข้ม เช่น การลดพนักงาน การปิดสาขาบางแห่ง ฯลฯ

การปรับแพลตฟอร์มธุรกิจให้ตอบสนองต่อพฤติกรรมของลูกค้าหรือผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สถานการณ์โควิดได้สร้างแบบแผนการใช้ชีวิต หรือกิจวัตรประจำวันในรูปแบบใหม่ ทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม (Physical Distancing) การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment) พฤติกรรมดังกล่าว เป็นตัวเร่งให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติอย่างขนานใหญ่ ทั้งการทำธุรกรรมออนไลน์ การจัดส่งพัสดุจากหน้าประตูถึงหน้าประตู เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางและการสัมผัส ธุรกิจจำต้องปรับแพลตฟอร์มเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและทรัพยากรภายใต้ห่วงโซ่คุณค่าใหม่บนฐานดิจิทัล เพราะมีแนวโน้มว่า พฤติกรรมดังกล่าว จะยังคงดำเนินสืบเนื่องต่อไปจนกลายเป็นภาวะปกติใหม่ (New Normal)

การเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้มีความยืดหยุ่นและมีความยั่งยืนในระยะยาว ธุรกิจในหลายสาขาได้ประสบกับภาวะความชะงักงันในสายอุปทาน ทั้งวัตถุดิบที่ขาดแคลน แผนการส่งมอบที่ถูกเลื่อน/ยกเลิก ช่องทางการจัดส่ง/จำหน่ายถูกปิดในช่วงที่เกิดสถานการณ์ เป็นบทเรียนให้ธุรกิจ จำต้องพิจารณาดำเนินการป้องกัน/กระจายความเสี่ยง หรือเสริมสร้างกลไกที่ลดการพึ่งพิงผู้ส่งมอบหลักที่อยู่ในประเทศอื่น (Offshore) มีการย้ายฐานการผลิตกลับมาอยู่ในอาณาเขต หรือใช้ผู้ส่งมอบที่อยู่ใกล้แหล่งดำเนินงานแทน รวมไปถึงการดูแลปกป้องสุขภาพของบุคลากรในองค์กรและในห่วงโซ่ธุรกิจ มิให้ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ (Pandemic) เช่นในครั้งนี้ ทำให้เรื่องวัฒนธรรมสุขภาพ จะกลายเป็นประเด็นสาระสำคัญเพื่อการพัฒนาสู่ความยั่งยืนขององค์กรในระยะยาว

ข้อพิจารณาในการ “ลด-ปรับ-เปลี่ยน” ข้างต้น จะช่วยให้ธุรกิจเห็นแนวทางการดำเนินงาน โดยไม่ต้องรอด้วยความหวังในภาวการณ์ซึ่งยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสถานการณ์จะสิ้นสุดลงเมื่อใด


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]