Thursday, May 12, 2016

Global Child Forum: เวทีเด็ก ที่ไม่เด็ก

สัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 5 พ.ค.) ผมมีโอกาสได้เดินทางเข้าร่วมงาน Global Child Forum ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเจดับบลิว แมริออท กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มีผู้เข้าร่วมงานจาก 26 ประเทศ รวมกว่า 250 คน

Global Child Forum เป็นแพลตฟอร์มระดับนานาชาติที่ตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นเวทีในการปรึกษาหารือ ชี้นำความคิด และผลักดันเรื่องสิทธิเด็กในทางที่สนับสนุนอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งเป็นสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้รับความเห็นชอบมากที่สุดในโลก โดยทุกประเทศในโลกได้ให้สัตยาบัน ยกเว้นสหรัฐอเมริกา

เวที Global Child Forum ทรงริเริ่มโดยสมเด็จพระราชาธิบดี คาร์ลที่ 16 กุสตาฟ และสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน เมื่อปี พ.ศ.2552 มีเวทีฟอรั่มประจำปีซึ่งจัดขึ้น ณ พระราชวัง กรุงสตอกโฮล์ม มาแล้ว 5 ครั้ง รวมทั้งได้ทรงริเริ่มจัดเวทีในระดับภูมิภาคครั้งแรก ณ นครดูไบ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในปี พ.ศ.2557 ครั้งที่สอง ณ กรุงพริทอเรีย สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ในปี พ.ศ.2558 และล่าสุด ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งทั้งสองพระองค์ได้เสด็จและทรงประทับอยู่ร่วมงานตลอดกำหนดการ

งานครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้ธีม “Mobility & Connectivity: Children’s Rights and Sustainable Business” โดยแบ่งเป็นการอภิปรายหลัก (Plenary Panels) 2 ช่วง และการหารือเชิงปฏิบัติการ (ActionLabs) 4 ห้องย่อย


ช่วงการอภิปรายหลักในหัวข้อสิทธิเด็กและธุรกิจยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน ผมได้มีโอกาสนำเสนอความเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิเด็กกับภาคธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะความริเริ่มที่สถาบันไทยพัฒน์และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้ร่วมกับภาคธุรกิจกว่า 30 องค์กร สนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับเด็ก ภายใต้หลักการแห่งสิทธิเด็กและหลักปฏิบัติทางธุรกิจ (Children’s Rights and Business Principles: CRBP) ในโครงการ Child-Friendly Business (ดูข้อมูล 30 องค์กรธุรกิจที่ร่วมให้คำมั่นได้ที่ http://childfriendly.biz)

ตัวอย่างของภาคธุรกิจในไทย ที่ผมได้มีโอกาสนำเสนอบนเวที เป็นความริเริ่มของ บมจ.แสนสิริ ที่คำนึงถึงการจัดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กสำหรับลูกหลานแรงงานในสถานที่ก่อสร้าง เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในไซต์ก่อสร้าง และเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้และเล่นอย่างสร้างสรรค์ เป็นการพัฒนาความเป็นอยู่ของเด็กที่ขับเคลื่อนด้วยกระบวนงานหลักทางธุรกิจ (Core Business) ของกิจการ (ดาวน์โหลดคู่มือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กในสถานก่อสร้างได้ที่ http://bit.ly/ChildFriendlySpace)

อีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นความริเริ่มของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค ที่คำนึงถึงการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ปลอดจากการคุกคามผ่านสื่อออนไลน์ (Cyberbullying) ผ่านทางโครงการ Safe Internet ทั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเด็กไทย โดยโครงการดังกล่าว เป็นหนึ่งในนโยบายทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของเทเลนอร์กรุ๊ปที่ดำเนินงานอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/DtacSafeInternet)

ช่วงการหารือเชิงปฏิบัติการ ผมได้เข้าร่วมห้องย่อยที่มีการพูดคุยในหัวข้อ The Children’s Rights and Business Atlas: A tool for responsible business ซึ่งได้มีการนำเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นล่าสุดสำหรับภาคธุรกิจโดยความร่วมมือระหว่างองค์การยูนิเซฟ และ Global Child Forum เพื่อใช้ในการระบุ (Identify) จัดลำดับความสำคัญ (Prioritise) และบริหารจัดการ (Manage) ความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กจำแนกตามรายอุตสาหกรรม (ข้อมูลเพิ่มเติมของเครื่องมือนี้ ศึกษาได้ที่ http://www.childrensrightsatlas.org)

ที่น่าสนใจ คือ บริษัทประเมินอย่าง RobecoSAM ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำการประเมินดัชนีความยั่งยืนให้แก่ S&P Dow Jones ได้ใช้ข้อมูลนำเข้าจาก Global Child Forum Benchmark มาช่วยในการคัดเลือกและจัดอันดับบริษัทที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านการคุ้มครองสิทธิเด็ก จำนวน 40-80 บริษัท ไว้ในพอร์ตการลงทุนที่เรียกว่า Global Child Impact Equities สำหรับผู้ลงทุนที่ให้น้ำหนักความสำคัญในเรื่องสิทธิเด็กด้วย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://bit.ly/GCI-Equities)

ทั้งนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้นำเครื่องมือดังกล่าว มาแนะนำให้ภาคธุรกิจเป้าหมายจำนวน 60 องค์กร ได้ใช้ประโยชน์ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการประเมินผลการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับเด็ก รวมทั้งการค้นหาโอกาสในการสนับสนุนสิทธิเด็กตามหลักปฏิบัติทางธุรกิจ ตลอดจนขอบเขตการปฏิบัติงานที่บริษัทสามารถนำสิทธิเด็กไปผสมผสานเข้ากับนโยบายทางธุรกิจและกระบวนการบริหารจัดการองค์กร ในโครงการ Child-Friendly Business ที่กำลังดำเนินการอยู่ระหว่างนี้ด้วย

หนึ่งในข้อสรุปจากเวทีครั้งนี้ คือ การปลุกเร้าให้ภาคธุรกิจในประชาคมอาเซียนพัฒนารูปแบบความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ที่ให้ความสำคัญต่อเด็ก ซึ่งขับเคลื่อนโดยใช้กระบวนงานหลักทางธุรกิจ

ในงานนี้ ผมจบการนำเสนอในช่วงการอภิปรายหลัก ด้วยประโยคที่ว่า “สิทธิเด็กเป็นส่วนหนึ่งของทุกธุรกิจ” (Children Rights are one element of every business)

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, May 05, 2016

ลงทุนแบบ ESG ดูอะไรกัน

การลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารทุน โดยหลักแล้ว ผู้ลงทุนพึงต้องการผลตอบแทนที่น่าพอใจ ข้อมูลตัวเลขทางการเงินที่แสดงผลประกอบการ จึงเป็นข้อมูลในส่วนแรกที่ผู้ลงทุนประเภทซึ่งมิใช่นักเก็งกำไรรายวัน นำมาวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจลงทุน โดยมีข้อมูลในส่วนถัดไปที่เป็นการประเมินปัจจัยพื้นฐานของกิจการ สภาพแวดล้อมอุตสาหกรรม โอกาสในตลาด ขีดความสามารถในการแข่งขัน ฯลฯ ตามมาเป็นลำดับ

ปัจจุบัน ข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน อีกส่วนหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาวิเคราะห์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในวิถียั่งยืน (Sustainable Investing) ได้แก่ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล หรือ Environmental, Social, and Governance (ESG)

ข้อมูล ESG ที่นำมาวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจลงทุนในยุคแรกเริ่ม จะเป็นประเด็น (Issues) ที่ใช้ได้กับบรรดาบริษัทที่เป็นเป้าหมายการลงทุนโดยไม่ได้จำกัดกลุ่มอุตสาหกรรมหรือหมวดธุรกิจ

ตัวอย่างของประเด็น ESG ที่คณะทำงานด้านความยั่งยืนแห่งสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges: WFE) ได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางการในการใช้วิเคราะห์ประเมิน มีจำนวน 33 ตัวชี้วัด

ด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ยอดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม ค่าดัชนีการเกิดคาร์บอน ยอดการใช้พลังงานทั้งทางตรงและทางอ้อม ความเข้มข้นของการใช้พลังงาน การจัดการน้ำและของเสีย นโยบายและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ด้านสังคม ประกอบด้วย อัตราส่วนค่าตอบแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อัตราส่วนค่าตอบแทนในมิติหญิงชาย อัตราการออกจากงาน ความหลากหลายในมิติหญิงชาย อัตราการจ้างงานชั่วคราว การไม่เลือกปฏิบัติ อัตราการบาดเจ็บ สุขภาพในบริบทโลก แรงงานบังคับและแรงงานเด็ก นโยบายและการละเมิดด้านสิทธิมนุษยชน ความหลากหลายในโครงสร้างของคณะกรรมการบริษัท เป็นต้น

ด้านธรรมาภิบาล ประกอบด้วย การแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท การออกเสียงลงคะแนนลับ การจ่ายค่าตอบแทนแบบจูงใจ การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม จรรยาบรรณต่อคู่ค้า ประมวลจริยธรรม หลักปฏิบัติในการต่อต้านทุจริตและการติดสินบน ความโปร่งใสทางภาษี เป็นต้น (ข้อมูลเพิ่มเติม: www.world-exchanges.org)

แต่เนื่องจากธุรกิจแต่ละประเภท จะมีระดับความเกี่ยวข้องในประเด็น ESG ที่แตกต่างกัน ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูล ESG ในยุคต่อมา จำเป็นต้องระบุชุดประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ (Material Issues) สำหรับธุรกิจนั้นๆ ให้ได้ เพื่อให้การวิเคราะห์มีความแม่นยำและสะท้อนผลกระทบที่มีนัยสำคัญจากการดำเนินงานในประเด็น ESG รายสาขาเหล่านั้น

ตัวอย่างของการจัดทำประเด็นจำเพาะรายสาขาของคณะกรรมการว่าด้วยมาตรฐานทางบัญชีความยั่งยืน (Sustainability Accounting Standards Board: SASB) ได้มีการจำแนกออกเป็น 79 อุตสาหกรรมใน 10 สาขา

สาขาสุขภาพ มี 6 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน น้ำ และการจัดการของเสีย ความปลอดภัยในตัวผลิตภัณฑ์ การทุจริตและติดสินบน เป็นต้น

สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร มี 6 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย ฟุตพริ้นท์ทางสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล พฤติกรรมการแข่งขันและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

สาขาพลังงานทางเลือกและทรัพยากรหมุนเวียน มี 6 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย การจัดการด้านพลังงานและทรัพยากรน้ำ สิทธิของชนพื้นเมือง การสรรหาวัสดุ เป็นต้น

สาขาการขนส่ง มี 8 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย ฟุตพริ้นท์สิ่งแวดล้อมของการใช้เชื้อเพลิง ความปลอดภัยในตัวผลิตภัณฑ์ อุบัติเหตุและการจัดการด้านความปลอดภัย เป็นต้น

สาขาทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป มี 8 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ชุมชนสัมพันธ์และสิทธิของชนพื้นเมือง จริยธรรมทางธุรกิจและการรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจ่ายเงินของกิจการ เป็นต้น

สาขาโครงสร้างพื้นฐาน มี 8 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย การจัดการด้านพลังงาน ผลกระทบต่อชุมชน การให้ข้อมูลอย่างโปร่งใสรวมถึงการบริหารสภาพแวดล้อมทางกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

สาขาบริการ มี 10 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย การจัดการด้านพลังงาน การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล การจัดการโซ่อุปทาน เป็นต้น

สาขาการแปรรูปทรัพยากร มี 5 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย การจัดการด้านพลังงาน ความปลอดภัยในตัวผลิตภัณฑ์ การสรรหาวัสดุ เป็นต้น

สาขาการเงิน มี 7 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย สถานะความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม การให้ข้อมูลอย่างโปร่งใสและคำแนะนำที่เป็นธรรมแก่ลูกค้า การบริหารความเสี่ยงเชิงระบบ เป็นต้น

สาขาสินค้าอุปโภคบริโภค มี 15 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย การจัดการด้านพลังงาน การแสดงฉลากผลิตภัณฑ์และการสื่อสารการตลาด ผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของโซ่อุปทานส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ เป็นต้น (ข้อมูลเพิ่มเติม: www.sasb.org)

พัฒนาการล่าสุดในลำดับถัดมา เป็นการสกัดข้อมูล ESG รายสาขา ให้เหลือเฉพาะประเด็นที่มีนัยสำคัญทางการเงิน (Financially Material Issues) ต่อธุรกิจ นั่นหมายความว่า การดำเนินงาน ESG ในประเด็นดังกล่าว จะส่งผลโดยตรงต่อตัวเลขผลประกอบการของกิจการ ซึ่งจะสะท้อนมาสู่ผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับจากการลงทุนในที่สุด

ข้อมูล ESG ในส่วนนี้ เป็นที่หมายตาของผู้ลงทุน เพราะเป็นจิ๊กซอว์ที่มาเติมเต็มข้อมูลตัวเลขทางการเงินซึ่งสะท้อนผลประกอบการในอดีต ให้สามารถคาดการณ์ถึงผลประกอบการในอนาคต โดยคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมอย่างรอบด้าน ที่สมบูรณ์กว่าการพิจารณาเพียงปัจจัยพื้นฐานของกิจการ!

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]