Monday, December 26, 2016

ความแตกต่างระหว่าง CSR กับ Sustainability

วันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักเรื่อง CSR หรือ ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ และจะทันยุคยิ่งขึ้น ถ้ารู้จักเรื่อง Sustainability หรือ ความยั่งยืน สองเรื่องนี้มักจะถูกหยิบยกมาพูดพร้อมๆกัน ในบริบทที่ใกล้เคียงกัน เมื่อมีการพูดถึงองค์กรที่ประพฤติตัวดีหรือเป็นที่ยอมรับของสังคม

เวลาที่ได้ยินว่า องค์กรนั้นองค์กรนี้มี CSR ที่โดดเด่น ก็จะมีองค์กรแบบข้ามาทีหลังต้องดังกว่าบอกว่า สิ่งที่องค์กรของตนทำนั้น ได้ beyond CSR ไปแล้ว หรือได้ยกระดับเป็นเรื่อง Sustainability เรียบร้อยแล้ว เลยทำให้หลายคนกังขาไม่น้อยว่า ตกลงแล้ว เรื่อง CSR กับ Sustainability มีความแตกต่างกันอย่างไร

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ทั้ง CSR และ Sustainability นั้น ภาษาไทยแปลนำหน้าด้วยคำว่า “ความ” (รับผิดชอบต่อสังคม) และ “ความ” (ยั่งยืน) ทั้งคู่ ไม่ใช่ การรับผิดชอบต่อสังคม หรือ การยั่งยืน จึงต้องจัดว่าเป็น “สภาพ” ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ดำเนินไปด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมหรือด้วยความยั่งยืน ไม่ใช่ สิ่ง (object) หรือเรื่อง (subject) ที่จะดำเนินไปเองได้

บทความตอนนี้ จะถือโอกาสอธิบายความต่างของ CSR กับ Sustainability โดยใช้การเทียบเคียงรูปประโยคในภาษาอังกฤษเป็นตัวดำเนินเรื่อง เพื่อให้เข้าใจอย่างง่ายๆ

ในประโยคบอกเล่า ที่มี ประธาน (subject) กริยา (verb) กรรม (object) ยังมีคำขยายสองชนิดที่ใช้บ่อยก็คือ คำคุณศัพท์ (adjective) กับคำกริยาวิเศษณ์ (adverb)

Ad ที่เติมหน้า -jective กับ -verb นั้น แปลว่า “ขยาย” หรือ “ชี้สภาพ” ของสิ่งนั้น ทำให้ adjective จึงเป็นคำขยายนาม คือ เป็นเครื่องชี้สภาพของสิ่งนั้นหรือเรื่องนั้น ส่วน adverb คือ คำขยายกริยา จึงใช้เป็นเครื่องชี้สภาพของการกระทำ (โดยประธาน) หรือ การถูกกระทำ (ของกรรม) ในประโยค

เมื่อ CSR และ Sustainability มิได้ถูกจัดว่าเป็นประธานหรือกรรมของประโยค แต่เป็นสภาพของสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น CSR กับ Sustainability จึงน่าจะเทียบเคียงได้กับ adjective หรือ adverb ในประโยคบอกเล่า

ปัญหาที่ต้องไขคำตอบต่อไป คือ แล้ว CSR ควรเป็น adjective หรือ adverb ดี

หากพิจารณาน้ำหนักของคำที่ CSR จะต้องไปขยายระหว่าง ผู้ทำ (หรือสิ่งที่ถูกกระทำ) กับ การกระทำแล้ว ก็น่าจะเห็นพ้องได้ว่า CSR ควรเป็นคำขยายกริยา หรือ adverb ที่แสดงให้เห็นถึงการกระทำหรือการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคม มากกว่าที่จะไปขยายตัวองค์กรหรือสิ่งที่องค์กรทำโดยตรง

ตัวอย่างเช่น องค์กรไม่ได้ต้องการผลิตสินค้าให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ต้องการที่จะผลิต (สินค้า) อย่างรับผิดชอบ เพื่อให้ได้สินค้าซึ่งเป็นที่ยอมรับจากสังคม และส่งผลให้องค์กรได้รับการยอมรับจากสังคมตามไปด้วย

ขณะที่คำว่า Sustainability ควรเป็นคำขยายนาม หรือ adjective ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ทำหรือสิ่งที่ถูกกระทำมีความยั่งยืนจากผลแห่งการกระทำหรือการดำเนินงานนั้นมากน้อยเพียงใด มากกว่าที่จะไปขยายอากัปกิริยาหรือการกระทำนั้นโดยตรง

ตัวอย่างเช่น องค์กรไม่ได้ต้องการดูแลรักษาอย่างยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม แต่ต้องการที่จะดูแลรักษา (สิ่งแวดล้อม) อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จนทำให้สิ่งแวดล้อมมีความยั่งยืน หรือเกิดเป็นอานิสงส์ให้องค์กรมีความยั่งยืนไปด้วย

เมื่อเป็นดังนี้แล้ว CSR จึงเป็นเสมือนกลไกหรือเครื่องมือ (mean) ในการดำเนินการที่จะนำพาองค์กร (ในฐานะผู้ดำเนินการ) และสังคม (ในฐานะเป้าหมายของการดำเนินการ) ไปสู่จุดหมาย (end) แห่งความยั่งยืนจากการดำเนินการนั้นๆ

เราไม่สามารถบรรลุจุดหมาย โดยปราศจากการคำนึงถึงวิธีการที่ใช้ฉันใด องค์กรก็ไม่สามารถได้ความยั่งยืนมาโดยปราศจากความรับผิดชอบต่อสังคมฉันนั้น ฉะนั้น หากองค์กรมัวแต่มุ่งเรื่องความยั่งยืน โดยไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นพื้นฐานแล้ว ก็ยากที่จะประสบผลสำเร็จ เพราะการได้มาซึ่ง Sustainability อย่างไรเสีย ก็ข้ามเรื่อง CSR ไปไม่ได้

--------------------------------------
หมายเหตุ: การอธิบายเทียบเคียงข้างต้นนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า CSR กับ Sustainability นั้น มีบทบาทที่แตกต่างกัน ตามหน้าที่ของคำในประโยค มิได้หมายความว่า CSR เป็น adverb และ Sustainability เป็น adjective จริงๆ ตามหลักไวยากรณ์ในภาษาอังกฤษ (ในความเป็นจริง adverb นอกจากขยายคำกริยาแล้ว ก็ยังทำหน้าที่ขยายคำคุณศัพท์หรือขยายคำกริยาวิเศษณ์เองด้วย)


จากบทความ 'CSR Talk' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ External Link [Archived]

Monday, November 14, 2016

มาตรฐานการขจัดสินบนในองค์กร

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) ได้ประกาศใช้มาตรฐานระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบน ISO 37001-Antibribery Management Systems ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ให้แนวทางในการจัดทำ ดำเนินการ การรักษาไว้ ตลอดจนการปรับปรุงระบบการจัดการป้องกันการติดสินบน และเป็นมาตรฐานที่สามารถขอการรับรองจากหน่วยรับรอง (Certification Body) เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดการลดความเสี่ยงด้านการทุจริตติดสินบนจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน หรือองค์กรไม่แสวงหากำไร

มาตรฐาน ISO 37001 ดังกล่าว เป็นระบบการจัดการป้องกันการติดสินบน ที่ช่วยให้ผู้บริหาร ตลอดจนผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรมีความมั่นใจว่า องค์กรมีการดำเนินงานที่ดี และเหมาะสม เพื่อป้องกันการทุจริตติดสินบน องค์กรสามารถนำมาตรฐานนี้เป็นเงื่อนไขในการดำเนินโครงการ หรือทำธุรกิจกับคู่ค้าทางธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบันกฎหมายป้องกันการติดสินบนข้าราชการต่างประเทศ หรือ US Foreign Corrupt Practices Act (FCPA) ของสหรัฐอเมริกา และ UK Antibribery Act ของสหราชอาณาจักร ที่มีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ยิ่งทำให้บริษัทไทยต้องมีมาตรการในการต่อต้าน และปราบปรามการติดสินบนอย่างเข้มงวด และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล บริษัทไม่สามารถปัดความรับผิด หรือผลักภาระรับผิดชอบไปยังพนักงาน หรือคู่ค้าภายนอกได้ แต่ต้องมีระบบการจัดการในเรื่องนี้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมทั่วทั้งองค์กร

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อเกิดเหตุทุจริตขึ้น ย่อมส่งผลลบต่อกำไรสุทธิของบริษัท และกระทบกับขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากกรณีทุจริตที่ละเมิดต่อกฎหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนการเสื่อมเสียชื่อเสียงที่องค์กรอุตส่าห์สั่งสมมาอย่างยาวนานในชั่วข้ามคืน จึงถือเป็นความเสี่ยงที่องค์กรไม่อาจเพิกเฉยได้

ลำพังการพึ่งมาตรการทางกฎหมายหรือการลงโทษ เมื่อเกิดเหตุทุจริตนั้นคงไม่เพียงพอ แต่ยังต้องอาศัยมาตรการป้องกันที่เหมาะสมด้วย องค์กรควรพิจารณาดำเนินการวางระบบป้องกันการติดสินบนให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการธุรกิจ เช่นเดียวกับระบบการจัดการคุณภาพ และสิ่งแวดล้อม

มาตรฐาน ISO 37001 ช่วยให้องค์กรสามารถนำนโยบายการต่อต้านการติดสินบน ไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม การมอบหมายให้มีผู้ดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบาย การฝึกอบรม การประเมินความเสี่ยง รวมถึงการตรวจสอบสถานะโครงการและคู่ค้า การนำมาตรการควบคุมดูแลด้านการเงินและธุรกรรมมาใช้ ตลอดจนการวางระบบการรายงานและขั้นตอนการตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

การขจัดสินบนในองค์กร ตามแนวทางของมาตรฐาน ISO 37001 ถือเป็นคำตอบที่องค์กรในทุกขนาด และในทุกห่วงโซ่ธุรกิจ สามารถใช้เป็นมาตรฐานการดำเนินงานและการสื่อสารถึงการต่อต้านการติดสินบนได้ในภาษาเดียวกัน โดยได้รับการยอมรับใน 59 ประเทศทั่วโลก

บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไปที่สนใจการวางระบบและการรับรองระบบการจัดการการต่อต้านการติดสินบนตามมาตรฐาน ISO 37001 สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pact.network


จากบทความ 'CSR Talk' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ External Link [Archived]

Monday, October 10, 2016

Shared Value Enterprise: องค์กรเปลี่ยนโลก

ปัจจุบัน องค์กรชั้นนำที่ใช้แนวคิดของการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value: CSV) ในทางที่ผนวกประเด็นทางสังคมเข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจ และเชื่อมโยงพันธกิจขององค์กรในทางที่สร้างผลกระทบเชิงบวกแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด และกำลังก่อตัวกลายเป็นกระแสหลักในแวดวงของธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม นอกเหนือจากการช่วยเหลือสังคมในรูปของการบริจาค และการดูแลผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากการประกอบธุรกิจ

มาร์ค เครเมอร์ (ซ้าย) และไมเคิล พอร์เตอร์
จุดเด่นของการสร้างคุณค่าร่วม หรือ CSV คือ การเพิ่มความเป็นรูปธรรมในสร้างผลกระทบทางสังคมที่วัดได้ด้วยผลการดำเนินงานทางธุรกิจ ซึ่งก่อให้เกิดผลที่ติดตามมาหลายประการ

ประการแรก ทำให้องค์กรธุรกิจ เคลื่อนย้ายจุดสนใจที่มีต่อการสร้างผลกระทบทางสังคม จากระดับโครงการนำร่องเพียงเพื่อให้ได้ภาพการดำเนินงานทางสังคม มาสู่ระดับกลยุทธ์การดำเนินงานทางธุรกิจ และจากส่วนตลาดที่ด้อยความสำคัญในสายตาของธุรกิจ กลายมาเป็นส่วนตลาดที่มีนัยสำคัญในวิถีของธุรกิจได้

ตัวอย่างของ เนสท์เล่ ที่ริเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเวชภัณฑ์ ที่ตอบโจทย์โภชนาการเฉพาะทางในการป้องกันโรค โดยใช้การวิจัยทางคลินิก ซึ่งทำให้บริษัท ก้าวทิ้งห่างจากคู่แข่ง และทำให้บริษัทเห็นโอกาสในการสร้างการเติบโต และสามารถสร้างเป็นแหล่งรายได้ใหม่ๆ

ประการที่สอง ทำให้องค์กรธุรกิจ รื้อและสร้างความมุ่งประสงค์ (Purpose) ของกิจการขึ้นใหม่ จากเดิมที่มุ่งผลิตสินค้าและบริการเพียงเพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจ มาสู่การปรับสายผลิตเพื่อให้สินค้าและบริการของตนสามารถสนองตอบต่อโจทย์ทางสังคมด้วย โดยท่ามกลางองค์กรที่คิดทำ เพียงเพื่อให้ได้ภาพพีอาร์ มากกว่าเรื่องเนื้อหา จะมีหลายองค์กรที่เริ่มหยั่งถึงความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับสังคม ได้รับผลบวกที่เป็นความผูกพันและแรงจูงใจให้กับบุคลากรที่ทำงานอยู่ รวมทั้งดึงดูดบุคลากรใหม่ที่มีฝีมือและศักยภาพ ให้เข้าร่วมงานกับองค์กร ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมที่เอื้อต่อการขยายขอบข่ายของธุรกิจ

ตัวอย่างของ ชไนเดอร์ อีเล็คทริค ที่มุ่งมั่นพัฒนาพลังงานที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้บริษัทมีอัตราการเติบโตจากการเป็นเจ้าของสิ่งประดิษฐ์ที่พัฒนามาเป็นสินค้าและบริการ ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานและคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของลูกค้า

ประการที่สาม ทำให้องค์กรธุรกิจ รื้อฟื้นและสร้างความสัมพันธ์ใหม่กับองค์กรไม่แสวงหากำไร หรือบรรดาเอ็นจีโอต่างๆ จากเดิมที่มองเพียงว่าเอ็นจีโอมีสถานะที่เล่นบทเป็นคู่กรณีหรือคู่ปรับกับธุรกิจ มาสู่การปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ที่เอ็นจีโอสามารถเป็นหุ้นส่วนหรือคู่หูร่วมดำเนินงาน

ตัวอย่างของ แกล็กโซสมิทไคล์น ที่ทำงานกับองค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) ร่วมมือกันพัฒนาเจลฆ่าเชื้อชนิดคลอร์เฮกซิดีนในราคาต่ำ สำหรับใช้ป้องกันการติดเชื้อทางสายสะดือ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในทารกแรกเกิดในกลุ่มประชากรที่มีรายได้ต่ำและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ขณะที่กองทุนปกป้องสิ่งแวดล้อม ได้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนดำเนินงานกับ วอลมาร์ต เพื่อระบุแนวทางในการลดต้นทุนด้านพลังงานและการใช้พลังงาน ส่วนองค์การระหว่างประเทศ อย่างสหประชาชาติ และธนาคารโลก ได้ร่วมกับองค์กรการกุศลชั้นนำ อย่างมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ มูลนิธิร็อกเกอะเฟลเลอร์ และมูลนิธิโรเบิร์ต วู้ด จอห์นสัน ในการออกแบบกลยุทธ์การดำเนินชุดโครงการที่เป็นมากกว่าหุ้นส่วนภาครัฐ-ประชาสังคมดังที่เคยมีมา แต่ยังผนวกเอาความร่วมมือจากภาคเอกชนในมิติของการสร้างคุณค่าร่วม ที่เปิดโอกาสให้มีการนำสมรรถภาพอันเป็นที่ต้องการจากภาคเอกชน มาใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เป็นความท้าทายระดับโลก หรือตัวอย่างของการริเริ่มโครงการ YieldWise ด้วยวงเงินดำเนินงานจำนวน 130 ล้านเหรียญ โดยมูลนิธิร็อกเกอะเฟลเลอร์ เพื่อทำงานร่วมกับภาคเอกชน อาทิ โคคา-โคลา คาร์กิลล์ และดังโกเต กรุ๊ป กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไนจีเรีย ตลอดห่วงโซ่อาหาร เพื่อที่จะลดการสูญเสียอาหาร และยกระดับสภาพความเป็นอยู่ของประชากรในชนบททั่วโลก ด้วยการส่งเสริมนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ประการที่สี่ ทำให้แวดวงตลาดทุนตื่นตัวหันมาให้ความสนใจลงทุนกับกิจการที่ใช้กลยุทธ์คุณค่าร่วม จากเดิมที่ผู้ลงทุนมีความกังขากับการพิจารณาจัดสรรเม็ดเงินลงทุนโดยใช้ปัจจัยทางสังคม ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องน้อยมากในการวิเคราะห์หลักทรัพย์ มาสู่การให้ความสำคัญในกิจการที่ยึดมั่นในความมุ่งประสงค์ใหม่ ที่แตกต่างจากการประชาสัมพันธ์หรือการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วไป และสามารถสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นได้โดยไม่มีสัดส่วนที่ตายตัว

ตัวอย่างของ ซีวีเอส เฮลท์ ที่ผันความมุ่งประสงค์จากการเป็นร้านค้าปลีกสะดวกซื้อ มาเป็นร้านเพื่อสุขภาพ ทำให้ราคาหุ้นวิ่งเหนือ วอลกรีนส์ คู่แข่งในสนามเดียวกัน กว่าร้อยละ 50 ในรอบระยะเวลาห้าปี แม้จะต้องสูญเสียยอดขายมูลค่า 2 พันล้านเหรียญ จากการเลิกขายบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบ แต่ถูกชดเชยด้วยรายได้ที่มาจากโอกาสใหม่ทางธุรกิจและจากแรงจูงใจพนักงานที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากความมุ่งประสงค์ใหม่ของกิจการ หรือตัวอย่างของ บริษัทจัดการลงทุน เจเนอเรชัน ที่สามารถสร้างผลตอบแทน ชนะดัชนีเอ็มเอสซีไอ เฉลี่ย 500 จุดต่อปี ในรอบระยะเวลาสิบปี ด้วยการลงทุนในบริษัทที่ใช้กลยุทธ์คุณค่าร่วม

นอกจากนี้ ตัวเลขการลงทุนที่มุ่งผลกระทบ รวมทั้งการลงทุนที่มุ่งผลได้ทางสังคมพร้อมกับผลตอบแทนทางการเงิน ที่ถูกจับตามอง มาตั้งแต่ปี ค.ศ.2011 พบว่า ปัจจุบัน มีขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหารเกิน 6 หมื่นล้านเหรียญ

จึงไม่เป็นที่แปลกใจว่า พัฒนาการของแนวคิดและเครื่องมือสำหรับการสร้างคุณค่าร่วม ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดการบริหารกระแสหลัก มหาวิทยาลัยทั่วโลกจำนวนเกือบ 500 แห่ง ได้บรรจุเอาแนวคิดคุณค่าร่วมไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนของตน ขณะที่ ฮาร์วาร์ด บิสิเนส สคูล กำลังจะเปิดหลักสูตรเอ็มบีเอ ที่ประกอบด้วยวิชาการสร้างคุณค่าร่วม ในภาคเรียนฤดูใบไม้ร่วงนี้ หลังจากที่ได้เปิดหลักสูตรภาคพิเศษสำหรับผู้บริหาร ซึ่งได้รับความนิยม มาหลายปี

การผนวกผลกระทบทางสังคมเข้ากับกลยุทธ์องค์กร ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของแบบแผนความคิดรุ่นต่อไป ในการบรรลุถึงความได้เปรียบทางการแข่งขัน และภาพความเปลี่ยนแปลงนี้กำลังปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ


--------------------------------------
(เรียบเรียงจากบทความ The Lesson Behind Fortune's 'Change the World' List โดย Michael E. Porter, Mark R. Kramer, August 2016.)



จากบทความ 'CSR Talk' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ External Link [Archived]

Monday, August 08, 2016

ดัชนียั่งยืนองค์กร

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDG) 17 ข้อ ที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ 193 ประเทศ ได้มีฉันทามติร่วมกัน ภายใต้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ได้ถูกนำมาใช้เป็นเป้าหมายอ้างอิงต่อการพัฒนาทั้งในภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ที่สามารถยอมรับร่วมกัน โดยได้รับการเห็นพ้องทั้งในระดับระหว่างองค์กรและระหว่างประเทศ

แต่เดิมหน่วยงานที่เข้าเป็นภาคีหรือหุ้นส่วนการพัฒนาในมิติต่างๆ ต้องใช้เวลาและทรัพยากรไปกับการรวบรวม กลั่นกรอง และเห็นพ้องในเป้าหมายร่วมกันก่อนการดำเนินงาน และบ่อยครั้ง ก็ไม่สามารถได้ข้อสรุปร่วม เป็นเหตุให้การดำเนินงานในลักษณะหุ้นส่วนความร่วมมือในหลายเวที ไม่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์

การอ้างอิงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นธงในการพัฒนาของแต่ละภาคส่วน จะช่วยขจัดและลดการสูญเสียเวลาและทรัพยากรที่ใช้ไปกับการได้มาซึ่งข้อตกลงก่อนการดำเนินงาน ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทย ได้อย่างกว้างขวางนับจากนี้ไป

จากรายงานการศึกษา “SDG Index and Dashboards - Country Profiles” ที่จัดทำโดยมูลนิธิเบอร์เทลสแมนน์ (Bertelsmann Stiftung) ร่วมกับเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network: SDSN) เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า ประเทศไทย มีการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในอันดับที่ 61 ของโลก จากการสำรวจทั้งหมด 149 ประเทศ โดยเป้าหมาย SDG หลัก 3 ลำดับแรก ที่ประเทศไทยควรให้ความสำคัญในการปรับปรุงพัฒนา ได้แก่ เป้าหมายที่ 9 หมวดอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน เป้าหมายที่ 12 แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ 16 หมวดสันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง

เป้าหมาย SDG 3 ลำดับแรก ที่ไทยควรให้ความสำคัญในการปรับปรุงพัฒนา

สำหรับภาคเอกชน ขั้นตอนในการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถเริ่มจากการพิจารณาสิ่งที่องค์กรตนเองได้ดำเนินการอยู่แล้ว โดยการประมวลและเพิ่มเติมการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานขององค์กร ให้มีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

จากนั้น องค์กรธุรกิจจึงค่อยพิจารณาเพิ่มเติมการดำเนินงานให้มีความสอดคล้องหรือตอบสนองต่อ SDG ในข้อที่มีการดำเนินการบ้างแล้ว แต่ยังทำไม่ได้เต็มที่ และในข้อที่ยังมิได้มีการดำเนินการ ตามลำดับ

ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า องค์กรธุรกิจทุกแห่ง จะต้องดำเนินการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนครบทั้ง 17 ข้อ แต่กิจการต้องสามารถเลือกเรื่องที่มีความเกี่ยวเนื่องต่อการสร้างคุณค่า เป็นเรื่องซึ่งมีนัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเป็นเรื่องที่ถูกให้ลำดับความสำคัญโดยองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

และเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีกรอบในการใช้ปรับแนวการดำเนินธุรกิจ ในทิศทางที่สอดคล้องกับ SDG สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่ทำงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกับภาคธุรกิจเอกชนในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2548 ได้ริเริ่มโครงการจัดทำ ดัชนีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับองค์กร (Corporate SDG Index) สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการแปลงเป้าหมายโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน มาเป็นโจทย์ในการดำเนินงานในระดับองค์กร ซึ่งจะช่วยเปิดมุมมองให้ภาคเอกชนได้เห็นภูมิทัศน์ใหม่ทางธุรกิจ และเอื้อให้เกิดการสร้างโอกาสทางธุรกิจไปพร้อมๆ กัน

องค์กรธุรกิจที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ http://www.sdgindex.com ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

จากบทความ 'CSR Talk' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ External Link [Archived]

Monday, August 01, 2016

เริ่มต้น CSV ให้ถูกทาง

ทุกวันนี้ มีการพูดกันอย่างกว้างขวางถึงการยกระดับ CSR มาเป็นเครื่องมือช่วยสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันตามโมเดลของไมเคิล อี พอร์เตอร์ ที่ฉายภาพให้เห็นว่า องค์กรสามารถพัฒนา Responsive CSR ในเชิงของการดูแลผลกระทบจากการประกอบธุรกิจ มาสู่ Strategic CSR ที่นำไปสู่การสร้างคุณค่าร่วม หรือ Creating Shared Value (CSV) ระหว่างธุรกิจกับสังคมไปพร้อมกัน

คำว่า Responsive ถ้าจะอธิบายอย่างง่ายในบริบทของ CSR คือ ความที่องค์กร Respond ในเรื่องที่เป็นผลกระทบอันมีสาเหตุจากการประกอบกิจการ หากมองในเชิงอุดมคติ ถ้าองค์กรไม่ได้ไปทำให้ใครเดือดร้อน ก็อาจจะไม่ต้องทำ CSR ก็ได้ แต่ในความเป็นจริง กระบวนการในทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การส่งมอบ การจำหน่าย การบริการ ฯลฯ ย่อมต้องเกิดผลภายนอก (Externalities) ไม่มากก็น้อย ฉะนั้น การที่ชาวบ้านเดินมาหาโรงงาน บอกว่าเขาได้รับผลกระทบจากจากน้ำทิ้ง กลิ่นเหม็น อากาศเสีย หากโรงงานไม่ดำเนินการอะไรเลย นั่นแสดงว่า ไม่มี CSR

การที่องค์กรรับที่จะดำเนินการตามที่ชาวบ้านร้องขอ อันนี้เรียกว่า Responsive คือ React ในสิ่งที่ตนเองได้สร้างผลกระทบไว้ ซึ่งพอร์เตอร์กล่าวไว้ว่า การที่องค์กรตอบสนองต่อข้อท้วงติงหรือข้อเรียกร้องเช่นนี้ องค์กรจะได้รับการยอมรับในฐานะ Good Citizen ในสังคมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้

ทีนี้ ในมุมมองพอร์เตอร์ยังขยายความต่อว่า แม้องค์กรจะได้ทำเรื่อง Responsive CSR ครบถ้วนดีแล้ว แต่ก็อาจไม่เพียงพอต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันที่ทุกธุรกิจให้ความสำคัญ เพราะการดำเนินงาน CSR ในเชิงรับ องค์กรไม่สามารถกำหนดประเด็นการดำเนินงานทางสังคมได้เอง ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญของการสร้างความแตกต่าง (Differentiation) และเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จหนึ่งของการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน

Corporate Involvement in Society: A Strategic Approach (Porter and Kramer, 2006)

แนวคิดของ CSR เชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic CSR ซึ่งก็คือการทำ CSR ในเชิงรุก จึงถูกพอร์เตอร์หยิบยกขึ้นมานำเสนอ โดยที่องค์กรเป็นผู้หยิบยกประเด็นทางสังคมขึ้นมาวิเคราะห์และเลือกดำเนินการให้สอดรับกับกลยุทธ์ทางธุรกิจ และเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ รวมทั้งเกื้อหนุนกับพันธกิจ ตลอดจนขับเน้นค่านิยมขององค์กรอย่างผสมผสานกลมกลืน

อย่างไรก็ตาม การที่องค์กรหลายแห่งลุกขึ้นมาประกาศว่าจะเข้าไปทำงานเชิงรุกกับสังคม แต่หากผลกระทบทางลบจากกิจการที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไข หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ยังไม่ได้ทำ Responsive CSR การแสวงหาความแตกต่างหรือมุ่งเน้นพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วย Strategic CSR ก็จะไม่เป็นผล เนื่องเพราะองค์กรยังละเลยสิ่งที่เป็น Minimum Requirement ที่ควรต้องดำเนินการอยู่

ดังนั้น การทำ CSR เชิงกลยุทธ์ จึงมิได้มาทดแทน Responsive CSR แต่เป็นสิ่งที่องค์กรต้องมีพัฒนาการ ตั้งแต่การทำ CSR ในเชิงรับ (ที่เน้นแก้ไขผลกระทบทางลบ) จนมาสู่ CSR ในเชิงรุก (ที่เน้นเสริมสร้างผลกระทบทางบวก) อย่างเป็นลำดับขั้น

การสร้างคุณค่าร่วม จะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อ สังคมให้การยอมรับกิจการ ในฐานะที่เป็น Good Citizen สามารถดำเนินการดูแลผลกระทบได้ดี ไม่สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่รายรอบกิจการ จึงเรียกได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการทำ CSV อย่างถูกทาง

จากบทความ 'CSV' ในนิตยสาร MBA External Link [Archived]

Thursday, June 23, 2016

5 ระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง

ในการพัฒนาเครื่องมือสำหรับการวางแผนและการกำหนดกลยุทธ์ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (งานวิจัยในการสนับสนุนของ สกว. ปี 2551-2552) ได้มีการพัฒนาตัวแบบหนึ่งที่เรียกว่า ระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประเมินองค์กรธุรกิจที่เข้าไปศึกษาว่ามีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงมากน้อยเพียงใด และจะมีกระบวนการพัฒนาเพื่อยกระดับให้สู่ขั้น (stage) ที่สูงขึ้นไปได้อย่างไร โดยไม่จำกัดว่าองค์กรนั้นจะใช้หลักการหรือแนวทางปฏิบัติจากแหล่งใด หรือไม่อิงอยู่กับทฤษฎีที่จะพัฒนามาจากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งในอนาคต

ตัวแบบระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง เกิดจากแนวคิดที่ต่อยอดมาจากเกณฑ์การจำแนกองค์กรธุรกิจที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงออกเป็น 3 กลุ่ม คือ เข้าข่าย - เข้าใจ - เข้าถึง โดยมีการกำหนดระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง เป็น 5 ระดับ ดังนี้

ระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง 5 ระดับ

องค์กรธุรกิจที่ได้รับการประเมินในระดับที่ 1 จะแสดงให้เห็นถึงการริเริ่มนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในองค์กร มีการประกาศให้ทราบในองค์กรว่าจะยึดแนวทางการดำเนินงานที่เข้ากับคุณลักษณะใดลักษณะหนึ่งของเศรษฐกิจพอเพียงในบางส่วนงาน หรือทดลองนำมาปฏิบัติเป็นตัวอย่าง โดยอาจจะยังไม่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก็ได้

องค์กรธุรกิจที่ได้รับการประเมินในระดับที่ 2 จะแสดงให้เห็นถึงการขยายผลของการริเริ่มในระดับแรกไปสู่การปฏิบัติในหลายส่วนงาน มีการพูดคุย ศึกษา ค้นคว้า และถ่ายทอดวิธีการดำเนินงานจากส่วนงานหนึ่งไปยังอีกส่วนงานหนึ่งจนเป็นที่แพร่หลายในองค์กร อย่างไรก็ดี ผลของการดำเนินงานในแต่ละส่วนงานจะยังมีความแตกต่างกัน มีทั้งที่สัมฤทธิ์ผลบ้างและไม่สัมฤทธิ์ผลบ้าง

องค์กรธุรกิจที่ได้รับการประเมินในระดับที่ 3 จะแสดงให้เห็นถึงการที่องค์กรมีการพัฒนาตัวแบบสำหรับการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงขึ้นอย่างเป็นระบบ หรือมีการนำหลักการและแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจที่สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นที่ยอมรับมาปรับใช้ในองค์กร โดยสามารถกำหนดเป็นกลยุทธ์และมีตัวชี้วัดการดำเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรรม

องค์กรธุรกิจที่ได้รับการประเมินในระดับที่ 4 จะแสดงให้เห็นถึงการนำตัวแบบ หลักการ กลยุทธ์ และแนวปฏิบัติ รวมทั้งตัวชี้วัดการดำเนินงานมาปฏิบัติใช้ในธุรกิจ มีการบริหารจัดการและการติดตามวัดผลการดำเนินงานตามหลักการและแนวปฏิบัติที่ได้กำหนดขึ้นในระดับที่สามอย่างต่อเนื่อง จนสามารถกำกับดูแลเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่มุ่งหมาย

องค์กรธุรกิจที่ได้รับการประเมินในระดับที่ 5 จะแสดงให้เห็นถึงความสามารถขององค์กรในการบูรณาการ “วิธี” แห่งการปฏิบัติให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร จนกลายเป็น “วิถี” แห่งการดำเนินธุรกิจตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างสมบูรณ์ และถูกหยิบยกขึ้นเป็นกรณีศึกษาได้อย่างชัดแจ้ง องค์กรธุรกิจในระดับนี้ จะมีภูมิคุ้มกันต่อวิกฤตการณ์และภัยคุกคามต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งส่งผลให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ตัวแบบระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงนี้ สามารถพัฒนาไปสู่การจัดทำรายละเอียดของชุดกรรมวิธี (processes) ในแต่ละขั้น สำหรับประกอบการประเมินและใช้วัดเปรียบเทียบสมรรถนะ (Benchmarking) การดำเนินงานระหว่างองค์กรได้โดยใช้ชุดตัวชี้วัดการดำเนินงานอ้างอิงในบรรทัดฐานเดียวกัน รวมทั้งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนสามารถใช้เผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานตามเกณฑ์ระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงดังกล่าวได้อย่างเป็นระบบ

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, June 16, 2016

เข้าข่าย-เข้าใจ-เข้าถึง กับการพัฒนาที่ยั่งยืน

เศรษฐกิจพอเพียงได้ถูกหยิบยกมาเป็นปรัชญาในการวางแนวการบริหารราชการแผ่นดินในทุกรัฐบาล ในมุมหนึ่งควรถือว่าเป็นเรื่องดี ที่ทำให้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงถูกถ่ายทอดขยายวงออกไปสู่ประชาชนในทุกระดับ โดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะในวงของนักวิชาการหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามแนวทางพระราชดำริดังกล่าว แต่ในอีกทางหนึ่ง ก็ได้ทำให้เกิดการตีความหมายปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและมีความเข้าใจไปตามแบบของตนเอง จนนำไปสู่การปฏิบัติหรือการประยุกต์ใช้ที่แตกต่างกันตามที่ตนเองเข้าใจ

อุปสรรคในเรื่องของการประยุกต์ใช้ที่กล่าวไว้ข้างต้น มิได้หมายความว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่สามารถนำมาใช้กับนอกภาคเกษตรกรรมได้ แต่เป็นเพราะยังไม่มีผู้ที่วิจัย ทดลอง พิสูจน์ บันทึกผล และนำเสนอเป็นทฤษฎีได้อย่างเป็นระบบ ดังเช่นในกรณีของเกษตรทฤษฎีใหม่ ทั้งที่ในภาคส่วนอื่น อาทิ ภาคเอกชนได้มีการดำเนินงานที่อ้างอิงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และปรากฏให้เห็นว่ามีผลสัมฤทธิ์ตามจุดหมายในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเช่นกัน

ปัญหาเรื่องความเป็นไปได้ในการประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคเอกชน ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องการสืบค้นเพื่อยืนยันคำตอบ แต่เป็นการค้นหาวิธีการหรือรูปแบบของการประยุกต์ว่ามีขั้นตอนและรายละเอียดอย่างไร ที่นำไปสู่ผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย สอดคล้องตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้มากที่สุด

ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้มีการจำแนกระดับของความพอเพียงเป็นสองแบบด้วยกัน คือ เศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน ซึ่งเทียบเคียงได้กับความพอเพียงในระดับกิจการหรือบริษัท ที่เน้นถึงการดำรงอยู่ของกิจการหรือความอยู่รอดในธุรกิจ โดยให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียในองค์กรเป็นเบื้องต้น คำนึงถึงการดำเนินกิจการโดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ภายในองค์กรเป็นหลัก พร้อมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนากิจการให้เจริญเติบโตก้าวหน้า โดยยึดหลักของความถูกต้องโปร่งใส และการมีจริยธรรมที่ดี

ขณะที่เศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า เทียบเคียงได้กับความพอเพียงในระดับกลุ่มธุรกิจและเครือข่าย ที่เน้นถึงการรวมกลุ่มและการประสานความร่วมมือกัน ดำเนินกิจการเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มและส่วนรวม นอกเหนือจากประโยชน์ของกิจการ มีการแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามกำลังและความสามารถ ตลอดจนการประสานงาน และประสานประโยชน์กันบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน ด้วยเงื่อนไขของคุณธรรม และการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งในและนอกกิจการอย่างเหมาะสมเป็นธรรม

สำหรับเงื่อนไขคุณธรรมในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่เป็นเหตุให้เกิดความยั่งยืนในธุรกิจนั้น ประกอบด้วยคุณธรรมที่ประกอบอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน ได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต สำหรับรองรับสนับสนุนวิชาความรู้ เพื่อนำพาไปสู่เป้าหมายได้อย่างถูกต้องเที่ยงตรง ส่วนที่สอง คือ ความอดทน มีความเพียร ประกอบการงานด้วยความตั้งใจ ไม่ละเลย ไม่ทอดทิ้ง เป็นความเพียรที่มีลักษณะกล้าแข็งไม่ขาดสาย มีความหนักแน่นอดทน ไม่ท้อถอย ทำให้การดำเนินงานรุดหน้าเรื่อยไป และส่วนที่สาม คือ ความรอบคอบระมัดระวัง ที่จะพิจารณาเรื่องต่างๆ ให้กระจ่างแจ้งในทุกแง่ทุกมุม ก่อนที่จะจัดการให้ถูกจุดถูกขั้นตอน ส่วนคุณธรรมที่เกี่ยวกับความเมตตา การแบ่งปัน การช่วยเหลือเกื้อกูล ประสานงาน และประสานประโยชน์กัน ประกอบอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า

ในผลการศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลกลุ่ม องค์กร พื้นที่ ที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต (งานวิจัยในการสนับสนุนของ สกว. ปี 2547-2548) ได้จำแนกองค์กรธุรกิจที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มเข้าข่าย - เป็นองค์กรธุรกิจที่ดำเนินกิจกรรมเข้าในคุณลักษณะใดลักษณะหนึ่งของเศรษฐกิจพอเพียง หรือมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยธรรมชาติ และอาจไม่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาก่อน

กลุ่มเข้าใจ - เป็นองค์กรธุรกิจที่มีการดำเนินงานสอดคล้องกับคุณลักษณะในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีความรู้ความเข้าใจในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แต่อาจมิได้ปฏิบัติตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างสมบูรณ์แบบ

กลุ่มเข้าถึง - เป็นองค์กรธุรกิจที่มีการดำเนินงานสอดคล้องกับคุณลักษณะและเงื่อนไขในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างครบถ้วน มีคุณธรรมในการประกอบการและปฏิบัติตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างสมบูรณ์ จนถูกหยิบยกขึ้นเป็นกรณีศึกษาอย่างชัดเจน

บทความในตอนต่อไป จะกล่าวถึงการนำเกณฑ์การจำแนกองค์กรธุรกิจที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ‘เข้าข่าย-เข้าใจ-เข้าถึง’ ข้างต้น มาพัฒนาต่อยอดเป็นตัวแบบ Sufficiency Maturity Level หรือวุฒิระดับความพอเพียง 5 ระดับ ที่สามารถใช้สำหรับประเมินเปรียบเทียบสมรรถนะ (Benchmarking) การดำเนินงานระหว่างองค์กร และสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจที่เป็นรูปธรรมได้

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, June 09, 2016

ได้เวลาของธุรกิจเพื่อสังคมสูงวัย

ตามคำนิยามขององค์การสหประชาชาติ ประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) เมื่อสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุอยู่ราว 10.42 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 15.6 ของประชากรทั้งหมด จึงถือว่า เราได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยจะมีประชากรผู้สูงอายุจำนวน 1 ใน 5 หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะด้านกำลังแรงงาน จะมีผู้สูงอายุเข้ามามีส่วนร่วมในกำลังแรงงานเพิ่มขึ้น จากผลการสำรวจ พบว่า ในจำนวนประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด มีผู้สูงอายุที่ทำงาน 3.78 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 36.3 จำแนกเป็นเพศชาย 2.23 ล้านคน (ร้อยละ 59.0) และเพศหญิง 1.55 ล้านคน (ร้อยละ 41.0)

โดยสถานภาพการทำงานของผู้สูงอายุที่ทำงานในสี่อันดับแรก เป็นการประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้างร้อยละ 63.1 เป็นการช่วยธุรกิจครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้างร้อยละ 18.2 เป็นลูกจ้างเอกชนร้อยละ 12.8 และมีผู้สูงอายุที่ทำงานเป็นนายจ้างอยู่ร้อยละ 3.8 ตามลำดับ ซึ่งนับวันแรงงานสูงอายุเหล่านี้จะมีความสำคัญในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2558)

ภาคเอกชนสามารถดำรงบทบาทเป็นแหล่งรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ ทั้งในรูปของการจ้างงานผู้สูงวัยในตำแหน่งที่เหมาะสมกับวัยวุฒิ ประสบการณ์ และสมรรถภาพของร่างกาย และการจัดซื้อจัดหาสินค้าและบริการซึ่งมาจากกลุ่มผู้สูงอายุ ที่เป็นฝั่งอุปทาน (Supply) ขณะเดียวกัน ภาคเอกชน ยังสามารถตอบสนองความต้องการของประชากรสูงวัยที่นับวันจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น ด้วยการพัฒนาสินค้าและบริการที่ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจในตลาดผู้สูงอายุ ที่เป็นฝั่งอุปสงค์ (Demand) ด้วยเช่นกัน


ด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพและโอกาสในกลุ่มผู้สูงอายุ สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดทำแพลตฟอร์ม “ธุรกิจที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ” หรือ “Age-Friendly Business” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้องค์กรธุรกิจทั่วไปที่มีการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่ในกระบวนการทำงานหลักของกิจการ มีการพัฒนากระบวนงานทางธุรกิจให้พร้อมรองรับความต้องการของผู้สูงอายุ อาทิ การจ้างงานผู้สูงอายุ การพัฒนาสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุ ในลักษณะที่เป็น CSR-in-process และเพื่อให้องค์กรธุรกิจในกลุ่มที่มีความพร้อม พัฒนาธุรกิจใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุเป็นการเฉพาะ อาทิ การส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ก่อตั้งโดยพนักงานเกษียณอายุ การแปลงสภาพชมรมผู้สูงอายุในสังกัดของหน่วยงานให้เป็นกิจการที่เลี้ยงตัวเองได้ ในลักษณะที่เป็น Social Enterprise

แพลตฟอร์มดังกล่าว ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุที่ทำงานได้ใช้ศักยภาพ ภูมิปัญญา ความรู้และประสบการณ์ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม รวมทั้งสามารถสร้างอาชีพและรายได้ที่ต่อเนื่องหลังเกษียณอายุ โดยจะเริ่มจากการศึกษาและประมวลแนวคิดและทิศทางในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งในรูปแบบ CSR-in-process และ Social Enterprise การรับฟังความคิดเห็นต่อรูปแบบและแนวทางในการขับเคลื่อน และการนำร่ององค์กรที่มีความพร้อมในการพัฒนา ‘ธุรกิจเพื่อสังคมสูงวัย’ รวมทั้งการเผยแพร่กรณีตัวอย่าง ตลอดจนผลักดันเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยกิจกรรมแรก จะเป็นการระดมความคิดและเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่ต้องการพัฒนากระบวนงานทางธุรกิจเดิมหรือพัฒนาธุรกิจใหม่เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งในรูปแบบ CSR-in-process และ Social Enterprise เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน Focus Group: Sustainability Forum for Older Persons ซึ่งสถาบันไทยพัฒน์ ร่วมกับกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะจัดขึ้นในวันพฤหัสที่ 23 มิถุนายนนี้ เวลา 13.00 น. - 16.00 น. ณ ห้องบอลรูม ฟอร์เย่ ชั้น 2 โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก (ไม่มีค่าใช้จ่าย)

ภาคเอกชนที่ประสงค์จะเข้าร่วมเป็นเครือข่ายธุรกิจที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ (Age-Friendly Business) หรือสนใจเข้าร่วมหารือในเวที Focus Group ดังกล่าว (เฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนล่วงหน้า) สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://agefriendly.biz ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, June 02, 2016

หุ้น ESG100 เลือกอย่างไร?

การเปิดเผยรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) จำนวน 100 บริษัท หรือเรียกว่า กลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ที่ริเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2558 และดำเนินต่อเนื่องมาเป็นปีที่สอง ในปีนี้ ด้วยการคัดเลือกจาก 621 บริษัทจดทะเบียน (ไม่รวมหลักทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟู) ได้กลายเป็น Benchmark หนึ่งสำหรับบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี ในการเข้ามาอยู่ในยูนิเวอร์ส ESG100 เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นองค์กรธุรกิจวิถียั่งยืน

ข้อมูลที่ใช้สำหรับการประเมินในปี พ.ศ.2559 อ้างอิงจากเอกสารรายงานที่บริษัทเผยแพร่ไว้ต่อสาธารณะในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) รวมทั้งในรายงานประจำปี รายงานแห่งความยั่งยืน และข้อมูลผลการดำเนินงานที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาความยั่งยืนของบริษัท จากแหล่งข้อมูล 6 แหล่ง รวมจำนวนกว่า 11,500 จุดข้อมูล

ในปีที่แล้ว การประเมินมุ่งไปที่การพิจารณาประเด็นด้าน ESG ของบริษัทที่มีความโดดเด่น โดยอ้างอิงจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ อาทิ ข้อมูลการพิจารณารางวัลบริษัทจดทะเบียนด้านความรับผิดชอบต่อสังคมยอดเยี่ยม และรางวัล CSRI Recognition ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) แต่ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูล ESG แบบบูรณาการ ผนวกเข้ากับข้อมูลทางการเงิน ที่เรียกว่า Integrated ESG Assessment เพื่อให้สะท้อนผลตอบแทนการลงทุนหรือตัวเลขผลประกอบการที่สัมพันธ์กับการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัท ด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ การวิเคราะห์อุตสาหกรรม กลยุทธ์องค์กร และรายงานทางการเงิน

การประเมิน ESG แบบบูรณาการ

โดยในส่วนการวิเคราะห์อุตสาหกรรม เป็นการพิจารณาประเด็นด้าน ESG ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรม สำหรับในส่วนการวิเคราะห์กลยุทธ์องค์กร เป็นการพิจารณาวิธีการที่บริษัทใช้ระบุและจัดการกับโอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน ESG และในส่วนการวิเคราะห์รายงานทางการเงิน เป็นการพิจารณาประเด็นด้าน ESG ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการขององค์กร

ทำให้การประเมินในปีนี้ จึงเป็นการยกระดับจากการวิเคราะห์ข้อมูลด้าน ESG แบบเอกเทศ มาสู่การวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานด้าน ESG ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับผลประกอบการ ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนในมิติของการลงทุนที่ยั่งยืนว่า บริษัทที่มี ESG ดี จะสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีด้วย

ส่วนเกณฑ์เบื้องต้นที่ใช้ในการคัดเลือกหลักทรัพย์ ESG100 ปี 2559 นี้ ประกอบด้วย เกณฑ์ผลการดำเนินงานของบริษัทซึ่งต้องมีผลประกอบการที่เป็นกำไรติดต่อกันสองรอบปีบัญชีล่าสุด เกณฑ์การปลอดจากการกระทำความผิดโดยที่บริษัทหรือคณะกรรมการหรือผู้บริหารระดับสูงของบริษัทต้องไม่ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษหรือเปรียบเทียบปรับในรอบปีประเมิน และเกณฑ์การกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ของบริษัทเป็นไปตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด เป็นต้น

เนื่องจากการพิจารณาเพื่อคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนเข้าในยูนิเวอร์ส ESG100 ได้ใช้ข้อมูล ESG ที่บริษัทเผยแพร่ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในหัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เป็นสำคัญ รวมถึงข้อมูล ESG ที่มีการเปิดเผยหรือปรากฏต่อสาธารณะ ในรายงานประจำปี (แบบ 56-2) หรือในรายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) หรือในรายงานอื่น ตามแต่กรณี โดยไม่ใช้แบบสำรวจข้อมูลหรือแบบสอบถามใดๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนได้จัดทำข้อมูลเพื่อเปิดเผยในแบบ 56-1 หรือ 56-2 ตามรายการที่กำหนดไว้อย่างครบถ้วน และเป็นไปตามประกาศของสำนักงาน ก.ล.ต. อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง

นั่นหมายความว่า บริษัทจดทะเบียนควรให้ความสำคัญกับการดำเนินงาน CSR-in-process ภาคปฏิบัติ เพื่อให้ได้ผลการดำเนินงานที่เป็นภาคข้อมูล ESG สำหรับการเปิดเผยต่อสาธารณะตามช่องทางปกติที่กำหนด โดยไม่มีความจำเป็นต้องส่งข้อมูลใด ๆ เพิ่มเติม สำหรับใช้ในการประเมิน ESG100 แต่อย่างใด

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, May 12, 2016

Global Child Forum: เวทีเด็ก ที่ไม่เด็ก

สัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 5 พ.ค.) ผมมีโอกาสได้เดินทางเข้าร่วมงาน Global Child Forum ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเจดับบลิว แมริออท กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มีผู้เข้าร่วมงานจาก 26 ประเทศ รวมกว่า 250 คน

Global Child Forum เป็นแพลตฟอร์มระดับนานาชาติที่ตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นเวทีในการปรึกษาหารือ ชี้นำความคิด และผลักดันเรื่องสิทธิเด็กในทางที่สนับสนุนอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งเป็นสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้รับความเห็นชอบมากที่สุดในโลก โดยทุกประเทศในโลกได้ให้สัตยาบัน ยกเว้นสหรัฐอเมริกา

เวที Global Child Forum ทรงริเริ่มโดยสมเด็จพระราชาธิบดี คาร์ลที่ 16 กุสตาฟ และสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน เมื่อปี พ.ศ.2552 มีเวทีฟอรั่มประจำปีซึ่งจัดขึ้น ณ พระราชวัง กรุงสตอกโฮล์ม มาแล้ว 5 ครั้ง รวมทั้งได้ทรงริเริ่มจัดเวทีในระดับภูมิภาคครั้งแรก ณ นครดูไบ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในปี พ.ศ.2557 ครั้งที่สอง ณ กรุงพริทอเรีย สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ในปี พ.ศ.2558 และล่าสุด ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งทั้งสองพระองค์ได้เสด็จและทรงประทับอยู่ร่วมงานตลอดกำหนดการ

งานครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้ธีม “Mobility & Connectivity: Children’s Rights and Sustainable Business” โดยแบ่งเป็นการอภิปรายหลัก (Plenary Panels) 2 ช่วง และการหารือเชิงปฏิบัติการ (ActionLabs) 4 ห้องย่อย


ช่วงการอภิปรายหลักในหัวข้อสิทธิเด็กและธุรกิจยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน ผมได้มีโอกาสนำเสนอความเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิเด็กกับภาคธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะความริเริ่มที่สถาบันไทยพัฒน์และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้ร่วมกับภาคธุรกิจกว่า 30 องค์กร สนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับเด็ก ภายใต้หลักการแห่งสิทธิเด็กและหลักปฏิบัติทางธุรกิจ (Children’s Rights and Business Principles: CRBP) ในโครงการ Child-Friendly Business (ดูข้อมูล 30 องค์กรธุรกิจที่ร่วมให้คำมั่นได้ที่ http://childfriendly.biz)

ตัวอย่างของภาคธุรกิจในไทย ที่ผมได้มีโอกาสนำเสนอบนเวที เป็นความริเริ่มของ บมจ.แสนสิริ ที่คำนึงถึงการจัดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กสำหรับลูกหลานแรงงานในสถานที่ก่อสร้าง เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในไซต์ก่อสร้าง และเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้และเล่นอย่างสร้างสรรค์ เป็นการพัฒนาความเป็นอยู่ของเด็กที่ขับเคลื่อนด้วยกระบวนงานหลักทางธุรกิจ (Core Business) ของกิจการ (ดาวน์โหลดคู่มือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กในสถานก่อสร้างได้ที่ http://bit.ly/ChildFriendlySpace)

อีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นความริเริ่มของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค ที่คำนึงถึงการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ปลอดจากการคุกคามผ่านสื่อออนไลน์ (Cyberbullying) ผ่านทางโครงการ Safe Internet ทั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเด็กไทย โดยโครงการดังกล่าว เป็นหนึ่งในนโยบายทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของเทเลนอร์กรุ๊ปที่ดำเนินงานอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/DtacSafeInternet)

ช่วงการหารือเชิงปฏิบัติการ ผมได้เข้าร่วมห้องย่อยที่มีการพูดคุยในหัวข้อ The Children’s Rights and Business Atlas: A tool for responsible business ซึ่งได้มีการนำเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นล่าสุดสำหรับภาคธุรกิจโดยความร่วมมือระหว่างองค์การยูนิเซฟ และ Global Child Forum เพื่อใช้ในการระบุ (Identify) จัดลำดับความสำคัญ (Prioritise) และบริหารจัดการ (Manage) ความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กจำแนกตามรายอุตสาหกรรม (ข้อมูลเพิ่มเติมของเครื่องมือนี้ ศึกษาได้ที่ http://www.childrensrightsatlas.org)

ที่น่าสนใจ คือ บริษัทประเมินอย่าง RobecoSAM ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำการประเมินดัชนีความยั่งยืนให้แก่ S&P Dow Jones ได้ใช้ข้อมูลนำเข้าจาก Global Child Forum Benchmark มาช่วยในการคัดเลือกและจัดอันดับบริษัทที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านการคุ้มครองสิทธิเด็ก จำนวน 40-80 บริษัท ไว้ในพอร์ตการลงทุนที่เรียกว่า Global Child Impact Equities สำหรับผู้ลงทุนที่ให้น้ำหนักความสำคัญในเรื่องสิทธิเด็กด้วย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://bit.ly/GCI-Equities)

ทั้งนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้นำเครื่องมือดังกล่าว มาแนะนำให้ภาคธุรกิจเป้าหมายจำนวน 60 องค์กร ได้ใช้ประโยชน์ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการประเมินผลการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับเด็ก รวมทั้งการค้นหาโอกาสในการสนับสนุนสิทธิเด็กตามหลักปฏิบัติทางธุรกิจ ตลอดจนขอบเขตการปฏิบัติงานที่บริษัทสามารถนำสิทธิเด็กไปผสมผสานเข้ากับนโยบายทางธุรกิจและกระบวนการบริหารจัดการองค์กร ในโครงการ Child-Friendly Business ที่กำลังดำเนินการอยู่ระหว่างนี้ด้วย

หนึ่งในข้อสรุปจากเวทีครั้งนี้ คือ การปลุกเร้าให้ภาคธุรกิจในประชาคมอาเซียนพัฒนารูปแบบความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ที่ให้ความสำคัญต่อเด็ก ซึ่งขับเคลื่อนโดยใช้กระบวนงานหลักทางธุรกิจ

ในงานนี้ ผมจบการนำเสนอในช่วงการอภิปรายหลัก ด้วยประโยคที่ว่า “สิทธิเด็กเป็นส่วนหนึ่งของทุกธุรกิจ” (Children Rights are one element of every business)

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, May 05, 2016

ลงทุนแบบ ESG ดูอะไรกัน

การลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารทุน โดยหลักแล้ว ผู้ลงทุนพึงต้องการผลตอบแทนที่น่าพอใจ ข้อมูลตัวเลขทางการเงินที่แสดงผลประกอบการ จึงเป็นข้อมูลในส่วนแรกที่ผู้ลงทุนประเภทซึ่งมิใช่นักเก็งกำไรรายวัน นำมาวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจลงทุน โดยมีข้อมูลในส่วนถัดไปที่เป็นการประเมินปัจจัยพื้นฐานของกิจการ สภาพแวดล้อมอุตสาหกรรม โอกาสในตลาด ขีดความสามารถในการแข่งขัน ฯลฯ ตามมาเป็นลำดับ

ปัจจุบัน ข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน อีกส่วนหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาวิเคราะห์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในวิถียั่งยืน (Sustainable Investing) ได้แก่ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล หรือ Environmental, Social, and Governance (ESG)

ข้อมูล ESG ที่นำมาวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจลงทุนในยุคแรกเริ่ม จะเป็นประเด็น (Issues) ที่ใช้ได้กับบรรดาบริษัทที่เป็นเป้าหมายการลงทุนโดยไม่ได้จำกัดกลุ่มอุตสาหกรรมหรือหมวดธุรกิจ

ตัวอย่างของประเด็น ESG ที่คณะทำงานด้านความยั่งยืนแห่งสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges: WFE) ได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางการในการใช้วิเคราะห์ประเมิน มีจำนวน 33 ตัวชี้วัด

ด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ยอดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม ค่าดัชนีการเกิดคาร์บอน ยอดการใช้พลังงานทั้งทางตรงและทางอ้อม ความเข้มข้นของการใช้พลังงาน การจัดการน้ำและของเสีย นโยบายและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ด้านสังคม ประกอบด้วย อัตราส่วนค่าตอบแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อัตราส่วนค่าตอบแทนในมิติหญิงชาย อัตราการออกจากงาน ความหลากหลายในมิติหญิงชาย อัตราการจ้างงานชั่วคราว การไม่เลือกปฏิบัติ อัตราการบาดเจ็บ สุขภาพในบริบทโลก แรงงานบังคับและแรงงานเด็ก นโยบายและการละเมิดด้านสิทธิมนุษยชน ความหลากหลายในโครงสร้างของคณะกรรมการบริษัท เป็นต้น

ด้านธรรมาภิบาล ประกอบด้วย การแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท การออกเสียงลงคะแนนลับ การจ่ายค่าตอบแทนแบบจูงใจ การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม จรรยาบรรณต่อคู่ค้า ประมวลจริยธรรม หลักปฏิบัติในการต่อต้านทุจริตและการติดสินบน ความโปร่งใสทางภาษี เป็นต้น (ข้อมูลเพิ่มเติม: www.world-exchanges.org)

แต่เนื่องจากธุรกิจแต่ละประเภท จะมีระดับความเกี่ยวข้องในประเด็น ESG ที่แตกต่างกัน ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูล ESG ในยุคต่อมา จำเป็นต้องระบุชุดประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ (Material Issues) สำหรับธุรกิจนั้นๆ ให้ได้ เพื่อให้การวิเคราะห์มีความแม่นยำและสะท้อนผลกระทบที่มีนัยสำคัญจากการดำเนินงานในประเด็น ESG รายสาขาเหล่านั้น

ตัวอย่างของการจัดทำประเด็นจำเพาะรายสาขาของคณะกรรมการว่าด้วยมาตรฐานทางบัญชีความยั่งยืน (Sustainability Accounting Standards Board: SASB) ได้มีการจำแนกออกเป็น 79 อุตสาหกรรมใน 10 สาขา

สาขาสุขภาพ มี 6 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน น้ำ และการจัดการของเสีย ความปลอดภัยในตัวผลิตภัณฑ์ การทุจริตและติดสินบน เป็นต้น

สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร มี 6 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย ฟุตพริ้นท์ทางสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล พฤติกรรมการแข่งขันและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

สาขาพลังงานทางเลือกและทรัพยากรหมุนเวียน มี 6 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย การจัดการด้านพลังงานและทรัพยากรน้ำ สิทธิของชนพื้นเมือง การสรรหาวัสดุ เป็นต้น

สาขาการขนส่ง มี 8 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย ฟุตพริ้นท์สิ่งแวดล้อมของการใช้เชื้อเพลิง ความปลอดภัยในตัวผลิตภัณฑ์ อุบัติเหตุและการจัดการด้านความปลอดภัย เป็นต้น

สาขาทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป มี 8 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ชุมชนสัมพันธ์และสิทธิของชนพื้นเมือง จริยธรรมทางธุรกิจและการรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจ่ายเงินของกิจการ เป็นต้น

สาขาโครงสร้างพื้นฐาน มี 8 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย การจัดการด้านพลังงาน ผลกระทบต่อชุมชน การให้ข้อมูลอย่างโปร่งใสรวมถึงการบริหารสภาพแวดล้อมทางกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

สาขาบริการ มี 10 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย การจัดการด้านพลังงาน การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล การจัดการโซ่อุปทาน เป็นต้น

สาขาการแปรรูปทรัพยากร มี 5 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย การจัดการด้านพลังงาน ความปลอดภัยในตัวผลิตภัณฑ์ การสรรหาวัสดุ เป็นต้น

สาขาการเงิน มี 7 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย สถานะความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม การให้ข้อมูลอย่างโปร่งใสและคำแนะนำที่เป็นธรรมแก่ลูกค้า การบริหารความเสี่ยงเชิงระบบ เป็นต้น

สาขาสินค้าอุปโภคบริโภค มี 15 อุตสาหกรรม ตัวอย่างของประเด็นจำเพาะรายสาขา ประกอบด้วย การจัดการด้านพลังงาน การแสดงฉลากผลิตภัณฑ์และการสื่อสารการตลาด ผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของโซ่อุปทานส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ เป็นต้น (ข้อมูลเพิ่มเติม: www.sasb.org)

พัฒนาการล่าสุดในลำดับถัดมา เป็นการสกัดข้อมูล ESG รายสาขา ให้เหลือเฉพาะประเด็นที่มีนัยสำคัญทางการเงิน (Financially Material Issues) ต่อธุรกิจ นั่นหมายความว่า การดำเนินงาน ESG ในประเด็นดังกล่าว จะส่งผลโดยตรงต่อตัวเลขผลประกอบการของกิจการ ซึ่งจะสะท้อนมาสู่ผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับจากการลงทุนในที่สุด

ข้อมูล ESG ในส่วนนี้ เป็นที่หมายตาของผู้ลงทุน เพราะเป็นจิ๊กซอว์ที่มาเติมเต็มข้อมูลตัวเลขทางการเงินซึ่งสะท้อนผลประกอบการในอดีต ให้สามารถคาดการณ์ถึงผลประกอบการในอนาคต โดยคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมอย่างรอบด้าน ที่สมบูรณ์กว่าการพิจารณาเพียงปัจจัยพื้นฐานของกิจการ!

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, April 28, 2016

หุ้นเด่น ESG ปี 59

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (26 เม.ย.) สถาบันไทยพัฒน์ ได้ประกาศรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนติดอันดับ ESG100 ด้วยการดำเนินงานที่โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ปี 2559 ด้วยมาร์เก็ตแคปรวม 6.7 ล้านล้านบาท เป็น Universe สำหรับตอบโจทย์การลงทุนที่ยั่งยืน

หน่วยงาน ESG Rating ของสถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มพัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจ ได้เปิดเผยรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG จำนวน 100 บริษัท หรือ ที่เรียกว่ากลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 เป็นปีที่สอง ด้วยการคัดเลือกจาก 621 บริษัทจดทะเบียน (ไม่รวมหลักทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟู) ทำการประเมินโดยใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ ESG จาก 6 แหล่ง จำนวนกว่า 11,500 จุดข้อมูล ตามที่บริษัทเผยแพร่ไว้ต่อสาธารณะ

ข้อมูลที่ใช้ประเมินจาก 6 แหล่ง ประกอบด้วย ข้อมูลในหัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคมในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อมูลการลงทุนในหลักทรัพย์ของกองทุนเปิด ทิสโก้ ESG เพื่อสังคม (TISCO ESG Investment Fund for Society) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด ข้อมูลโครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืน สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ข้อมูลผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน (CG Scoring) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ข้อมูลโครงการประเมินระดับการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการ (CSR Progress Indicator และ Anti-corruption Indicator) สถาบันไทยพัฒน์ และข้อมูลการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียและสื่อ (Media and Stakeholder Analysis: MSA) บริษัท อิมเมจ พลัส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด

การจัดอันดับหลักทรัพย์กลุ่ม ESG100 เป็นข้อมูลตั้งต้นที่ผู้ลงทุนสามารถใช้คัดเลือกหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อตอบโจทย์การลงทุนที่ยั่งยืน พร้อมกับการสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป

การประเมินในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูล ESG แบบบูรณาการที่ผนวกเข้ากับข้อมูลทางการเงิน ที่เรียกว่า Integrated ESG Assessment เพื่อให้สะท้อนผลตอบแทนการลงทุนหรือตัวเลขผลประกอบการที่สัมพันธ์กับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลของบริษัท ด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ การวิเคราะห์อุตสาหกรรม กลยุทธ์องค์กร และรายงานทางการเงิน


ผลการคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนที่เข้าอยู่ใน Universe ของ ESG100 ประจำปี 2559 มีบริษัทที่ติดอันดับ กระจายอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 8 กลุ่ม มาจากกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ มากสุด คือ 19 บริษัท รองลงมาเป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง จำนวน 16 แห่ง และมีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาด mai เข้าอยู่ใน ESG100 จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ APCO, FPI, TPCH, XO

ทั้งนี้ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) รวมกันของ 100 บริษัทใน ESG100 มีมูลค่าราว 6.7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 50.7 เมื่อเทียบกับมาร์เกตแคปของทั้งตลาดฯ ที่ 13.2 ล้านล้านบาท

การจัดอันดับหลักทรัพย์กลุ่ม ESG100 ต่อเนื่องเป็นปีที่สอง นอกจากจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาระดับการเปิดเผยข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียนแล้ว ยังจะเป็นการเผยแพร่ข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินการได้ดีให้แก่ผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มโอกาสการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนจากกลุ่มผู้ลงทุนที่ใช้เกณฑ์ ESG เพื่อสร้างผลตอบแทนทางการเงินที่น่าพอใจในระยะยาว พร้อมๆ กับการสร้างผลกระทบทางสังคมในเชิงบวก

ผู้ลงทุนที่สนใจข้อมูลหลักทรัพย์จดทะเบียนในกลุ่ม ESG100 สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.esgrating.com โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, April 21, 2016

ESG แต้มต่อการลงทุน

ปัจจุบัน คำว่า ESG ที่ย่อมาจาก Environmental, Social, and Governance ถูกเริ่มนำมาใช้ในแวดวงการประเมินสถานะของกิจการในประเทศไทย โดยเฉพาะกับบริษัทจดทะเบียน ที่เป็นเป้าหมายของการลงทุนในตลาดทุน

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ลงทุนได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนที่รอบด้าน ในมิติที่มิใช่ข้อมูลตัวเลขทางการเงิน ทำให้สามารถล่วงรู้หรือคาดการณ์ถึงผลประกอบการในอนาคตของบริษัท เพิ่มเติมจากข้อมูลทางการเงิน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลประกอบการในอดีตหรือที่ผ่านมาแล้ว

การประเมินด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG ของกิจการ สำหรับนำไปใช้ในการตัดสินใจลงทุน ที่ทำได้ส่วนใหญ่ เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานด้าน ESG เป็นประเด็นแยกจากการดำเนินธุรกิจ หรือเป็นการวิเคราะห์แบบเอกเทศที่มิได้มีส่วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กับผลประกอบการเท่าใดนัก

ทำให้เกิดช่องว่างที่ไม่สามารถอธิบายกลุ่มผู้ลงทุนได้เต็มปากว่า บริษัทที่มี ESG ดี จะสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีด้วยหรือไม่ ซึ่งจากหลักฐานที่ปรากฏ จะเห็นว่า บริษัทที่ได้ระดับการประเมินด้าน ESG สูง หรือได้รับรางวัลในสาขาประเภทเดียวกันนี้ตามแต่จะตั้งชื่อเรียก มีรางวัลบรรษัทภิบาล รางวัล CSR รางวัลความยั่งยืน เป็นต้น กลับไม่ได้มีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าบริษัททั่วไปที่มิได้รับรางวัลหรือมิได้รับการประเมินด้าน ESG ที่สูงแต่อย่างใด และยังพบด้วยว่า บางบริษัทกลับมีผลประกอบการที่ขาดทุนหรือมิได้สร้างผลตอบแทนที่เป็นบวกแก่ผู้ลงทุนเลย

ด้วยเหตุนี้ กระแสของการผนวกเรื่อง ESG เข้ากับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานหรือการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจลงทุน ได้กลายเป็นหัวข้อที่มีการค้นคว้าพัฒนาอย่างขะมักเขม้นในปัจจุบัน

อันที่จริง ปรากฏการณ์ดังกล่าว คล้ายคลึงกับกระแสของการผนวกเรื่อง CSR (Corporate Social Responsibility) เข้ากับกระบวนการทางธุรกิจซึ่งเริ่มขึ้นราวช่วงปี 2549 ที่มีการยกระดับจากกิจกรรมเพื่อสังคมที่แยกต่างหากจากการดำเนินธุรกิจที่เป็นกระบวนการหลักของกิจการและมักเกิดขึ้นภายหลัง หรือเรียกกันว่า CSR-after-process มาสู่การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ในกระบวนการทำงานหลักของกิจการ หรือเป็นการทำธุรกิจที่หากำไรอย่างมีความรับผิดชอบ หรือเรียกกันว่า CSR-in-process ในปัจจุบัน

เนื่องจาก โจทย์เรื่อง CSR ก่อนหน้านั้น ธุรกิจส่วนใหญ่ตีความไปว่า ผู้เกี่ยวข้องหรือกลุ่มเป้าหมาย คือ ‘สังคม’ ทำให้การดำเนินงาน CSR จึงเน้นไปที่กิจกรรมเพื่อสังคมในรูปของการตอบแทนคืนหรือการช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าเป็นหลัก

ถัดจากนั้น ธุรกิจเริ่มตระหนักว่าโจทย์เรื่อง CSR ที่ส่งผลกับสถานะของกิจการ ผู้เกี่ยวข้องหรือกลุ่มเป้าหมาย คือ ‘ผู้มีส่วนได้เสีย’ รอบกิจการ ที่มีส่วนได้รับผลกระทบจากการประกอบการ โดยเฉพาะจากกระบวนการหลักทางธุรกิจ ทำให้การดำเนินงาน CSR จึงหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ในรูปของการดำเนินงานที่รับผิดชอบ

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่าง CSR กับ ESG อธิบายได้ว่า CSR เป็น ‘ภาคการดำเนินงาน’ ที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย ขณะที่ ESG เป็น ‘ภาคข้อมูล’ ที่คำนึงถึงผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน นั่นหมายความว่า กิจการที่สามารถดำเนินงาน CSR-in-process ได้ดี ก็ควรจะมีผลการดำเนินงานที่พร้อมต่อการเรียบเรียงเป็นข้อมูล ESG ให้แก่ผู้ลงทุนได้ทันที โดยมิต้องไปดำเนินการอะไรใหม่แต่อย่างใด

ฉะนั้น การที่องค์กรใด ออกมาประกาศว่าจะเปลี่ยนจากการมุ่ง CSR มาเป็น ESG แสดงว่า ยังขาดความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว เพราะกิจการคงไม่ได้มีความมุ่งประสงค์ว่า จะเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญกับการดูแลผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องอย่างครอบคลุมและทั่วถึง มาเป็นการดูแลเฉพาะผู้ลงทุนกลุ่มเดียวแน่นอน

ตรรกะในเรื่องนี้ ยังสามารถใช้พิเคราะห์กับที่บางองค์กรพยายามสื่อสารว่า จะยกระดับจากการทำ CSR มาเป็น SD (Sustainable Development) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า กำลังสับสนระหว่างการให้ความสำคัญกับการดูแลผู้มีส่วนได้เสียรอบกิจการในมิติ CSR กับการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มุ่งเป้าไปที่สังคมโดยรวมในมิติ SD

วกกลับมาเรื่อง ESG โดยใช้พัฒนาการของ CSR เป็นบทเรียนรู้ จะเห็นว่า CSR-after-process ที่ผลการดำเนินงานจากกิจกรรมเหล่านั้นมิได้เชื่อมโยงกับผลประกอบการทางธุรกิจ ได้พัฒนามาสู่ CSR-in-process ที่ผนวกเข้าสู่กระบวนงานทางธุรกิจและมีส่วนสัมพันธ์กับสถานะของกิจการ ฉันใด

การวิเคราะห์ข้อมูล ESG ที่แยกส่วนจากการวิเคราะห์ข้อมูลผลประกอบการ จะมีการพัฒนามาสู่การวิเคราะห์ข้อมูล ESG แบบบูรณาการที่ผนวกเข้ากับข้อมูลด้านอื่นๆ เพื่อการตัดสินใจลงทุน ฉันนั้น

สถาบันการเงินและบริษัทจัดการลงทุนทั้งไทยและเทศ กำลังเริ่มศึกษาค้นคว้าระบบการประเมิน ESG ในแบบหลังที่เป็นการวิเคราะห์เชิงบูรณาการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะหากสามารถอธิบายความสัมพันธ์เชื่อมโยงด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based) นั่นหมายความว่า จะเพิ่มแต้มต่อในการสร้างผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนที่ตนเองบริหารอยู่ได้อย่างมากมาย

ปี 2549 สังคมได้รับรู้และเข้าใจเรื่อง CSR-in-process ไปเรียบร้อยแล้ว ปี 2559 เชื่อแน่ว่า จะเป็นศักราชเริ่มต้นในเรื่อง Integrated ESG โดยไม่ต้องฟันธง!

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Wednesday, April 13, 2016

ผันธุรกิจ จาก ‘ยิ่งใหญ่’ สู่ ‘ยั่งยืน’

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลก ที่มีความผันผวนและความไม่แน่นอนสูง การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ก่อให้เกิดผลกระทบไม่เพียงแต่การเติบโตของธุรกิจ แต่ยังส่งผลถึงความยั่งยืนของกิจการ โดยเฉพาะธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มทรัพยากรและกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ พลังงาน เหล็ก เป็นต้น

การใช้กลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการเติบโตของธุรกิจ อาจไม่ใช่กลยุทธ์ที่เหมาะสมหรือสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ต่อการนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จหรือเป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ ทำให้หลายธุรกิจจำต้องมองหาทางเลือกของกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นความยั่งยืนของกิจการ เพื่อนำองค์กรให้เข้าสู่วิถีของธุรกิจที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ ธุรกิจต้องมีความเข้าใจว่า ปัจจัยแห่งการเติบโต ซึ่งหมายถึง ทรัพยากรที่ใส่เข้ามาเพื่อสนับสนุนกลยุทธ์มุ่งการเติบโตนั้น มีความแตกต่างจาก ทรัพยากรที่ใช้เพื่อสนับสนุนกลยุทธ์มุ่งความยั่งยืน กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ปัจจัยแห่งความยั่งยืน อาจไม่ใช่ทรัพยากรประเภทเดียวกันกับที่ใช้ในการสร้างกิจการให้เติบโต

กิจการที่เข้าใจบริบทของความยั่งยืน จะสามารถแสดงให้เห็นว่า กลยุทธ์มุ่งความยั่งยืน เป็นการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อมิติทางธุรกิจ มิใช่เรื่องที่แปลกแยกไปจากการดำเนินธุรกิจ โดยมีเข็มทิศการดำเนินงานในเรื่องธุรกิจกับเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน และมิได้มองว่าเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นภาระหรือค่าใช้จ่ายขององค์กร แต่กลับใช้เป็นปัจจัยหรือโอกาสในการเสริมหนุนขีดความสามารถทางการแข่งขัน และการได้มาซึ่งกำไรที่มั่นคง

ปัจจุบัน มีหลายองค์กรธุรกิจที่ได้นำปัจจัยแห่งความยั่งยืน มาออกแบบและปรับแต่งโมเดลทางธุรกิจ วางกลยุทธ์มุ่งความยั่งยืน พร้อมกับพัฒนาแนวทางในการสื่อสารเรื่องความยั่งยืน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กรได้รับทราบถึงทิศทางขององค์กร และตอบสนองต่อความจำกัดของกลยุทธ์มุ่งการเติบโตที่ไม่อาจใช้เป็นกลยุทธ์หลักเดียวของธุรกิจได้อีกต่อไป

การกำกับดูแลกิจการที่คณะกรรมการบริษัทคุ้นเคยกับการให้ความเห็นชอบในกลยุทธ์มุ่งการเติบโตของหลายกิจการ ในห้วงเวลาที่ผ่านมา กำลังเปลี่ยนจุดโฟกัสมาสู่การให้ความเห็นชอบในกลยุทธ์มุ่งความยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของกิจการและความมั่งคั่งให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยคำนึงถึงความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ที่มีส่วนสร้างทั้งแรงหนุนและแรงต้านแก่องค์กร

สิ่งที่คณะกรรมการบริษัทจะต้องปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย การรับรู้ในเรื่องความยั่งยืนของกิจการที่เป็นอยู่ในปัจจุบันความจำเป็นในทางธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนประเด็นความยั่งยืนที่มีสาระสำคัญต่อกิจการการผนวกความยั่งยืนในกลยุทธ์และตัวแบบทางธุรกิจ และแผนดำเนินงานแรกเริ่มด้านความยั่งยืน เป็นต้น

ทั้งนี้ การประเมินว่าคณะกรรมการบริษัทสามารถตอบสนองต่อเรื่องดังกล่าวได้ดีมากน้อยเพียงใด พิจารณาได้จากระดับความเข้าใจร่วมโดยตระหนักว่าความยั่งยืนมีสาระสำคัญต่อกลยุทธ์และการดำเนินงานของบริษัท ความรู้และความตระหนักของคณะกรรมการบริษัทที่มีเพิ่มขึ้นต่อประเด็นความยั่งยืนที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัท และความคาดหวังที่ถูกกำหนดและความประสงค์ที่จะบูรณาการความยั่งยืนสู่กลยุทธ์และนวัตกรรมตัวแบบทางธุรกิจ เป็นต้น

นอกจากนี้ ขอบเขตของการกำกับดูแลที่สะท้อนถึงการบูรณาการความยั่งยืนสู่กิจการ ยังครอบคลุมถึงภาวะผู้นำของคณะกรรมการในการคำนึงถึงโอกาสและความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับความยั่งยืน การกำหนดจุดยืนทางกลยุทธ์ รวมถึงแนวนโยบาย โครงสร้าง ทักษะ และเครื่องมือในการกำกับดูแล ตลอดจนแผนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมในการผนวกความยั่งยืนเข้ากับบทบาทและความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท

ธุรกิจที่สามารถผันตัวเองเข้าสู่โหมดธุรกิจยั่งยืน จะเปลี่ยนจุดโฟกัสมาเน้นใช้กลยุทธ์มุ่งความยั่งยืน เพื่อรักษาเสถียรภาพของกิจการ ด้วยการพิจารณาดำเนินงานในเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม ผสมผสานกลมกลืนเข้ากับการดำเนินธุรกิจ ปรับทิศทางจากเส้นทางการเติบโตเป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ (Great) สู่วิถีของธุรกิจที่ยั่งยืน (Last)

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, March 17, 2016

นับหนึ่ง ธุรกิจเพื่อสังคม

การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคาร (15 มี.ค.) ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบเรื่องการให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทที่ทำประโยชน์ช่วยเหลือสังคม ซึ่งจะถูกใช้เป็นกลไกในการส่งเสริมการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) จากนี้ไป อย่างมีนัยสำคัญ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ชี้แจงหลังจากที่ ครม. มีมติในเรื่องดังกล่าวว่า สิทธิประโยชน์ที่ให้ตามมาตรการนี้ แบ่งเป็น 3 กรณี คือ กรณีแรก เป็นการตั้งวิสาหกิจใหม่เพื่อดำเนินการในรูปของธุรกิจเพื่อสังคม กรณีที่สอง เป็นการลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือธุรกิจอื่นที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำประโยชน์ให้แก่สังคม และกรณีที่สาม เป็นการให้เงินสนับสนุนที่เป็นเงินให้เปล่าในกิจการหรือธุรกิจเพื่อสังคม

กรณีแรก วิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ที่ดำเนินการในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม คือ นำเงินรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 กลับมาทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม ทั้งในด้านการเกษตร การศึกษา หรือด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นการกุศลทั้งหมด วิสาหกิจเพื่อสังคมดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี โดยไม่ต้องเสียภาษีเงินได้เลย เนื่องจากเป็นกิจการที่นำรายได้ทั้งหมด (หรือส่วนใหญ่) ไปทำประโยชน์ให้แก่สังคม

กรณีที่สอง ผู้ลงทุนที่เป็นบริษัทใหญ่ซึ่งมีกำลัง ไปช่วยเหลือบริษัทเล็กที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยไปลงทุนในหุ้นของวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือการที่บริษัทต่างๆ ระดมทุนเพื่อจดจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมร่วมกัน เงินที่นำไปลงทุนก้อนนี้ สามารถนำไปใช้คำนวณเพื่อหักภาษีในบริษัทใหญ่ของตัวเองได้

กรณีที่สาม เงินสนับสนุนที่เป็นเงินให้เปล่าแก่วิสาหกิจหรือธุรกิจเพื่อสังคม ที่ไม่ใช่การลงทุน ซึ่งปกติจะไม่สามารถนำมาหักภาษีได้ เนื่องจากไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ แต่ด้วยมาตรการนี้ จะเปิดให้สามารถนำเงินสนับสนุนจำนวนดังกล่าว มาหักภาษีได้ด้วย

ทั้งสามกรณี เป็นการออกแบบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนกิจการที่ทำ CSR อย่างครบวงจร ตั้งแต่การตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมขึ้นเอง การไปร่วมถือหุ้นหรือร่วมลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคมอื่น และการสนับสนุนในรูปของเงินให้เปล่าที่มิใช่การลงทุนแก่วิสาหกิจเพื่อสังคม

ทั้งนี้ ทางกระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร จะได้ยกร่างเป็นพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ความเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้นด้วยมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมชุดนี้ จะเปิดโอกาสให้บริษัทมีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการทำ CSR ในรูปของการลงทุนและการสนับสนุนนิติบุคคลที่มิใช่มูลนิธิหรือองค์กรสาธารณกุศล และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย

แนวทางดังกล่าวนี้ สอดรับกับความเคลื่อนไหวหรือทิศทางการทำ CSR-after-process ในวิถีที่เน้นเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น เนื่องจากการจัดตั้ง หรือการลงทุน หรือการให้เงินสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม อยู่บนสมมติฐานที่วิสาหกิจนั้นจะมีการดำเนินงานต่อเนื่อง (Going Concern) ด้วยการใช้ประโยชน์จากเงินทุนตั้งต้นหรือเงินสนับสนุนแรกเริ่มที่ได้รับไปดำเนินงานในรูปของธุรกิจที่เลี้ยงตัวเองได้

แตกต่างจากองค์กรการกุศล ที่ต้องอาศัยเม็ดเงินบริจาคเป็นรายงวด เติมเพิ่มสม่ำเสมอ เพื่อให้การดำเนินงานต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก ซึ่งในความเป็นจริง บริษัทผู้ให้ความช่วยเหลืออาจทำได้เป็นครั้งคราวหรือในชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่สามารถจัดสรรงบบริจาคเพื่อให้ความช่วยเหลือแบบไม่สิ้นสุดได้

ในต่างประเทศ กลไกการส่งเสริมการช่วยเหลือสังคมในรูปแบบนี้ ก่อให้เกิดรูปแบบของกิจการพันธุ์ใหม่จำนวนมาก อาทิ Community Interest Company (CIC), Benefit Corporation (B-Corp), Low-profit Limited Liability Company (L3C), Social Purpose Corporation (SPC), Flexible Purpose Corporation (FPC) อีกทั้งยังนำไปสู่การปรับตัวขององค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่ต้องพัฒนาศักยภาพของตัวเอง และต้องยกระดับการดำเนินงานในทางที่ก่อให้เกิดผลิตภาพมากยิ่งขึ้น

จากนี้ไป คงต้องเฝ้าติดตามว่า ด้วยมาตรการนี้ การพัฒนารูปแบบการช่วยเหลือสังคมของประเทศไทย จะไปในทิศทางใด

สำหรับผมเชื่อว่า สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้น คือ เราจะได้เห็นการแก้ปัญหาสังคมด้วยนวัตกรรมที่ไม่ผูกติดกับเงื่อนไขเชิงพาณิชย์ สามารถสร้างทางเลือกให้แก่กลุ่มเป้าหมายจากผู้รอรับความช่วยเหลือเป็นผู้ที่มีกำลังซื้อในระดับราคาที่จับจ่ายได้ ด้วยการใช้ประโยชน์จากโมเดลธุรกิจในการส่งมอบผลลัพธ์ที่สืบเนื่องไม่สิ้นสุด

เป็นการเพิ่มความคุ้มค่าของเม็ดเงินช่วยเหลือสังคมที่ให้ผลยั่งยืนกว่าการทำ CSR ในรูปการบริจาคอย่างแน่นอน!

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, March 10, 2016

เปิดทิศทาง CSR ปี 59

วันนี้ (10 มี.ค.) สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดการแถลงทิศทาง CSR ปี 2559 ให้กับองค์กรธุรกิจที่สนใจ นำใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมและความยั่งยืนของกิจการประจำปี โดยในปีนี้ ธีมหลักจะเป็นการเสนอแนะให้ธุรกิจปรับโจทย์ (Re-proposition) การดำเนินงานเพื่อรองรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) และการนำโมเดล Social Business มาเป็นทางเลือกในการทำ CSR แทนรูปแบบของการบริจาค หรือ Philanthropy โดยไม่สูญเงินต้น

สำหรับกิจการที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนและความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันรวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ อาทิ กิจการในกลุ่มพลังงาน กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ในปีนี้ ต่างต้องปรับกลยุทธ์ธุรกิจกันขนานใหญ่ เพื่อรักษาหรือคงไว้ซึ่งเสถียรภาพของกิจการ และจำเป็นต้องเปลี่ยนจุดโฟกัสจากกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการเติบโต มาสู่กลยุทธ์มุ่งความยั่งยืนที่ตอบสนองต่อมิติทางธุรกิจ โดยใช้ประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยหรือโอกาสในการเสริมหนุนขีดความสามารถทางการแข่งขัน และการได้มาซึ่งกำไรที่มั่นคง

ส่วนกิจการที่ดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในรูปแบบกิจกรรมเพื่อสังคม ก็จำต้องปรับวงเงินงบประมาณให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้การทำ CSR ในแบบที่ไม่สูญเงินต้น หรือแบบที่ใช้เงินงบประมาณ CSR ก้อนเดิม แต่หมุนเวียนทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้หลายรอบ จะกลายเป็นทางเลือกที่หลายกิจการจะพิจารณานำมาใช้ในปี 2559 โดยหนึ่งในทางเลือกนั้น คือ โมเดล Social Business ตามแนวคิดของ ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส

ในงานแถลงทิศทาง CSR ปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ร่วมมือกับ Thailand Social Business Initiative (TSBI) จัดให้มีการเสวนาเรื่อง “Social Business: A Solution to achieve SDGs” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการที่จะนำ Social Business มาใช้แก้ไขปัญหาในสังคมไทย และใช้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล โดยได้รับเกียรติจาก Dr.Faiz Shah ผู้อำนวยการศูนย์ยูนุสประจำเอไอที และ ดร.สุนทร คุณชัยมัง คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงาน Social Business ของกระทรวงมหาดไทย มาเป็นวิทยากรร่วมการเสวนาในครั้งนี้

ในต่างประเทศ การประกอบธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมมีความเคลื่อนไหวที่ก่อตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการสำรวจตัวเลขการลงทุนในกิจการที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการสังคมของ Global Sustainable Investment Alliance (GSIA) เมื่อปี 2557 ระบุว่า มีเม็ดเงินที่ลงทุนในกิจการที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการสังคม กระจายอยู่ทั่วโลกราว 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 จากการสำรวจในปี 2555

ในสหภาพยุโรป มีผู้ประกอบการสังคม อยู่จำนวน 2 ล้านราย ที่สร้างให้เกิดงาน 11 ล้านตำแหน่ง และในทุกๆ 4 รายของผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่เกิดขึ้น หนึ่งในนั้นจะเป็นผู้ประกอบการสังคม โดยเมื่อปี 2554 คณะกรรมาธิการยุโรป ได้ก่อตั้ง Social Business Initiative ขึ้นเพื่อพัฒนาภาคส่วนที่เป็นผู้ประกอบการสังคม ซึ่งมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมคิดเป็นร้อยละ 10 ของจีดีพีในสหภาพยุโรป

ปัจจุบัน หลายประเทศได้มีการพัฒนารูปแบบของกิจการเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม ในหลายรูปแบบ อาทิ Community Interest Company (CIC), Benefit Corporation (B-Corp), Low-profit Limited Liability Company (L3C), Social Purpose Corporation (SPC), Flexible Purpose Corporation (FPC)

ในประเทศไทย เป็นที่คาดหมายว่า จะมีการนำแนวคิด Social Business ตามนิยามของยูนุส คือ เป็นธุรกิจที่ไม่สูญเงินต้น-ไม่ปันผลกำไร (non-loss, non-dividend) มาใช้เป็นกลไกในการช่วยเหลือผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาส รวมถึงใช้เป็นเครื่องมือในการขจัดปัญหาความยากจน การว่างงาน และก๊าซเรือนกระจก ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นับจากปีนี้เป็นต้นไป

สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดทำหนังสือชื่อ “Creating Social Business: สร้างธุรกิจเพื่อสังคม” เพื่อเป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการและองค์กรธุรกิจทำความเข้าใจรูปแบบของธุรกิจเพื่อสังคมตามแนวทางของยูนุส เจ้าของแนวคิด Social Business ฉบับต้นตำรับ พร้อมตัวอย่างของธุรกิจเพื่อสังคม จำนวน 10 กิจการ ที่เกิดขึ้นในบังกลาเทศ จากการเข้าร่วมดำเนินงานของกิจการกรามีนที่ยูนุสเป็นผู้บุกเบิกขึ้น โดยผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับได้ที่สถาบันไทยพัฒน์ (ไม่มีค่าใช้จ่าย) หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ www.thaipat.org

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, March 03, 2016

แปรทุน เปลี่ยนสังคม

ใครมีเงินเก็บ มีเงินเย็น ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ดอกเบี้ยฝากก็น้อย มาทำ Social Business กันดีกว่าจ้า

ศ.มูฮัมมัด ยูนุส ผู้บุกเบิกแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม ได้นิยาม Social Business ไว้ว่า เป็นการดำเนินธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้

ในบทความตอนนี้ จะได้มาขยายความว่า โมเดล Social Business ใช้เงินทุนให้เกิดประโยชน์แก่สังคม แตกต่างจากธุรกิจปกติอย่างไร โดยเงินต้นที่เป็นทุนยังอยู่ครบ

เมื่อเทียบกับบริษัททั่วไป การจดจัดตั้งบริษัท ต้องมีทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่ผู้เริ่มก่อการหรือผู้ที่ต้องการถือหุ้น นำมาลงขันกันโดยได้รับหุ้นตามสัดส่วนของเงินลงทุน ซึ่งสัดส่วนการถือครองหุ้นนี้จะมีนัยสำคัญต่อการใช้สิทธิออกเสียงและเงินปันผลที่จะได้รับ อันเป็นการรักษาประโยชน์ส่วนบุคคล (หรือนิติบุคคล) ที่เป็นเจ้าของกิจการ ผู้ดำเนินกิจการในภาคส่วนนี้ เรียกว่า Private Sector

ทั้งนี้ เงินลงทุนในกิจการ ถูกเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้น เมื่อใดที่ผู้ถือหุ้นต้องการเงินลงทุนคืน ก็ต้องขายหุ้นออกไป ในราคาที่ผู้ซื้อผู้ขายตกลงกัน

ในกรณีของ Social Business ธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นเป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาสังคม ซึ่งอาจมีหรือไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลก็ได้ เช่น เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ (Ordinary Partnership) เป็นกิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ (Unincorporated Joint Venture) เป็นบริษัทค้าร่วม (Consortium) หรือเป็นหน่วยธุรกิจใหม่ (Business Unit) ภายใต้นิติบุคคลเดิม

ด้วยเหตุที่การประกอบธุรกิจเพื่อสังคม ไม่มีนโยบายปันผลกำไร ทำให้โครงสร้างหรือรูปแบบการถือครองหุ้นเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนบุคคล จึงไม่มีนัยสำคัญ ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคมในภาคส่วนนี้ ยูนุสใช้คำเรียกว่าเป็น Citizen Sector อันหมายถึงกลุ่มของปัจเจกชนซึ่งทำงานอยู่ในภาคเอกชน ที่นำความเชี่ยวชาญหลัก (Core Expertise) ในธุรกิจ มาใช้แก้ไขปัญหาสังคมส่วนรวม แทนการใช้แสวงหาประโยชน์ส่วนตน

ทั้งนี้ เงินลงทุนในธุรกิจเพื่อสังคม เมื่อใดที่เจ้าของเงินลงทุนต้องการเอาเงินต้นกลับคืน ก็สามารถทำได้ภายใต้ระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ส่วนกำไรที่ทำมาหาได้ทั้งหมดระหว่างดำเนินงาน ต้องคงไว้ในกิจการ

Social Business ไม่มีการปันผลกำไร (Non-dividend) เนื่องจากไม่ได้มีเป้าหมายในการสร้างมูลค่าหรือความมั่งคั่งให้แก่เจ้าของกิจการ ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคม จึงมีอิสระที่จะเลือกเข้าถึงตลาดในส่วนที่ไม่ได้รับการตอบสนองจากธุรกิจปกติ เช่น การพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการตามกำลังซื้อของคนในระดับฐานราก เพื่อแก้ปัญหาด้านสุขภาวะหรือยกระดับคุณภาพชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องพะวงเรื่องการทำกำไรสูงสุด

ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคม ต้องแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารจัดการเงินลงทุนที่ได้รับโดยไม่ให้ขาดทุน (Non-loss) สร้างเป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิดรายได้เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงกิจการ โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินบริจาคหรือเงินอุดหนุนจากภายนอก เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่มุ่งสร้างคุณค่าสูงสุด (Maximize Value) ให้แก่สังคม ตรงกันข้ามกับธุรกิจปกติที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น

ทั้งนี้ การมีรายได้พอเลี้ยงตัวเอง มิได้เป็นเงื่อนไขในการจำกัดขนาดของ Social Business แต่อย่างใด ธุรกิจเพื่อสังคมบางแห่ง เป็นกิจการขนาดใหญ่ เช่น ธุรกิจจัดหาพลังงานสะอาดให้แก่ครัวเรือนในชนบท ที่ชื่อ กรามีน ศักติ (แปลว่า กำลัง) ซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ.1996 ในรูปองค์กรไม่แสวงหากำไร และได้แปลงสภาพเป็นธุรกิจเพื่อสังคมในปี ค.ศ.2010 ปัจจุบันมีรายได้อยู่ที่ 2,834 ล้านบาท และมีพนักงานทำงานอยู่กว่า 12,000 คน

Social Business ตามแนวคิดของยูนุส ก่อประโยชน์ทั้งในเชิงธุรกิจและในเชิงสังคม โดยประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ ได้แก่ การแก้ปัญหาสังคมด้วยนวัตกรรมที่ไม่ผูกติดกับเงื่อนไขเชิงพาณิชย์ การสร้างทางเลือกให้แก่กลุ่มเป้าหมายจากการเป็นผู้ที่รอรับความช่วยเหลือเป็นผู้ที่มีกำลังซื้อในระดับราคาที่จับจ่ายได้ การใช้ประโยชน์จากโมเดลธุรกิจในการส่งมอบผลลัพธ์ที่สืบเนื่องไม่สิ้นสุด การเสริมสร้างกรอบคิดทางธุรกิจในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน การเพิ่มความเป็นรูปธรรมในการตรวจสอบและประเมินความคุ้มค่าที่สังคมได้รับด้วยตัวเลขทางบัญชี เป็นต้น

ส่วนประโยชน์สำหรับธุรกิจที่นำโมเดล Social Business มาใช้ ได้แก่ ความคุ้มค่าของเม็ดเงินช่วยเหลือสังคมที่ให้ผลยั่งยืนกว่าการทำ CSR ในรูปการบริจาค โอกาสในการเรียนรู้และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ซึ่งอาจนำไปสู่การค้นพบตลาดหรือลูกค้ากลุ่มใหม่ ความภาคภูมิใจของพนักงานและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องซึ่งนำไปสู่ความผูกพันกับองค์กร และการรับรู้ที่น้อมไปในทางซึ่งส่งผลเชิงบวกต่อตราสินค้า เป็นต้น

ด้วยโมเดล Social Business นี้เอง เปิดโอกาสเจ้าของทุนมีทางเลือกในการแปรเงินทุนดำเนินงาน จากการทำธุรกิจที่มุ่งกำไรสูงสุด มาสู่การทำธุรกิจที่สร้างคุณค่าสูงสุดให้แก่สังคม และเลี้ยงตัวเองได้!

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, February 25, 2016

ไขความเข้าใจ Social Business

สัปดาห์ที่แล้ว (19 ก.พ.) สถาบันไทยพัฒน์ ร่วมกับ Yunus Center AIT และ บริษัท อิมเมจพลัส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ลงนามความร่วมมือในการก่อตั้ง "Thailand Social Business Initiative (TSBI)" เพื่อส่งเสริมความริเริ่มด้าน Social Business หรือ ธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย ตามแนวคิดของ ศ.มูฮัมมัด ยูนุส สำหรับใช้พัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคมด้วยรูปแบบทางธุรกิจ ในลักษณะที่ไม่สูญเงินต้น-ไม่ปันผลกำไร (non-loss, non-dividend) ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่เป็นเอกลักษณ์ของ Social Business


ความตั้งใจของทีเอสบีไอในช่วงแรก ต้องการที่จะสื่อสารและสร้างความเข้าใจในเรื่อง Social Business ในฉบับที่เป็นต้นตำรับของยูนุสให้ถูกต้องถ่องแท้ เพื่อที่จะได้นำแนวคิดดังกล่าว มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคมให้เกิดผลอย่างเต็มที่

เริ่มจากการแก้ความกำกวม ที่เชื่อว่ายังมีหลายท่านหลายหน่วยงานเข้าใจไปว่า Social Business กับ Social Enterprise คือเรื่องเดียวกัน ไม่ได้มีความแตกต่าง สามารถใช้เรียกแทนกันได้ ซึ่งอันที่จริงแล้ว มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

ถามต่อว่า แล้วทำไมถึงต้องเป็น Social Business แล้วโมเดลหรือตัวแบบอื่นไม่ตอบโจทย์หรือ ต้องเรียนว่าทุกตัวแบบที่มีการนำไปใช้และดำรงคงอยู่ แสดงว่าต้องมีจุดที่สร้างคุณค่าบางอย่างในตัวแบบนั้น และให้ประโยชน์ที่สอดคล้องกับความมุ่งประสงค์ (Purpose) ของผู้ที่นำไปใช้

Social Business เป็นการประกอบการที่ตั้งอยู่บนความมุ่งประสงค์เดียว (Sole Purpose) คือ การแก้ไขปัญหาสังคมด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้

ถ้าอิงตามนิยามนี้ กิจการที่เป็นมูลนิธิหรือองค์กรสาธารณกุศล เชื่อแน่ว่าเป็นการประกอบการที่มุ่งแก้ไขปัญหาสังคม แต่หากหมดเงินบริจาคหรือขาดผู้อุปถัมภ์เมื่อใด แล้วมูลนิธิอยู่ไม่ได้ แสดงว่า ไม่ใช่ Social Business

กิจการที่เป็นบริษัทหรือธุรกิจปกติ เชื่อแน่ว่าเป็นการประกอบการด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ แต่เป็นไปเพื่อความมุ่งหมายที่จะแสวงหากำไรและนำมาแบ่งปันกันระหว่างผู้ถือหุ้น จึงไม่ใช่ Social Business

ส่วนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่ตั้งขึ้นเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาสังคมเป็นหลักแบบมูลนิธิ แต่มีหนทางที่เลี้ยงตัวเองได้แบบบริษัท โดยยังคงสามารถแบ่งปันผลกำไรให้ผู้ถือหุ้นได้ด้วย เข้าข่ายเป็นลูกผสมระหว่างมูลนิธิกับบริษัท แสดงว่า มิได้มีความมุ่งประสงค์เดียว (Sole Purpose) ในกรณีนี้ จึงไม่ใช่ Social Business (วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่มีนโยบายปันผลกำไร ถึงจะจัดเป็น Social Business)

ด้วยความที่ยูนุสต้องการสร้างโมเดลทางธุรกิจที่โฟกัสในจุดที่เน้นการแก้ไขปัญหาสังคมจริงๆ โดยไม่ให้ผู้ประกอบการวอกแวก หรือไม่เปิดช่องให้มีการชั่งใจเลือกระหว่าง “ประโยชน์ส่วนรวม” กับ “ปันผลส่วนตัว”

เพราะมีฐานคิดว่า ถ้าปล่อยให้เกิดขึ้น ความโน้มเอียงจะไปในทางที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนก่อน แล้วประโยชน์ส่วนรวมค่อยมาทีหลัง (กรณีนี้ เกิดขึ้นแล้วกับโมเดล Community Interest Company หรือ CIC ในประเทศอังกฤษ จนถึงกับต้องแก้กฎหมายเพื่อขอขยายเพดานการปันผลกำไรให้ผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น)

มาถึงตรงนี้ ต้องขยายการอธิบายความ ไม่ใช่ว่า โมเดล Social Enterprise จะด้อยกว่า Social Business เพราะอย่างที่เรียนตอนต้นว่า แต่ละโมเดลมีจุดที่สร้างคุณค่าบางอย่างไม่เหมือนกัน มีความเหมาะสมแตกต่างกันตามจริตของผู้ที่นำไปใช้

ผู้ประกอบการที่มาจากสายธุรกิจ และต้องการขยายบทบาทมาสู่การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาสังคม อาจจะถูกจริตกับโมเดล Social Enterprise มากกว่า เพราะยังคงสามารถรับรู้กำไรผ่านปันผลที่พึงได้

ขณะที่ ผู้ประกอบการสังคม สายเอ็นจีโอ ที่ไม่ต้องการถูกครหาว่า มีประโยชน์ส่วนตัวบนการแก้ไขปัญหาชุมชนหรือการช่วยเหลือสังคมส่วนรวม อาจจะถูกจริตกับโมเดล Social Business มากกว่า

หรือกรณีที่ ภาครัฐ เชิญชวนเอกชนให้เข้าร่วมแก้ไขปัญหาสังคมในรูปแบบความร่วมมือทวิภาคี หรือรัฐร่วมเอกชน อะไรก็แล้วแต่ โดยภาคเอกชนต่างออกมาขานรับว่า ยินดีที่จะเสียสละเพื่อส่วนรวม ไม่ต้องการแสวงหาประโยชน์จากงบประมาณของรัฐ หรือคิดที่จะหาประโยชน์แอบแฝงกับโครงการช่วยเหลือชุมชนใดๆ ทั้งสิ้น ในกรณีนี้ โมเดลที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการนำไปใช้ คือ Social Business

สำหรับธุรกิจปกติทั่วไป เมื่ออ่านถึงจุดนี้ อาจจะด่วนสรุปความว่า ถ้างั้น โมเดล Social Business คงไม่เหมาะกับตนเอง และนำมาใช้ประโยชน์ไม่ได้ ก็ต้องขอเรียนว่า ผิดครับ เพราะถ้าธุรกิจท่านมีการทำ CSR-after-process ในรูปของการบริจาคหรือการกุศลอยู่ทุกปี Social Business จะเป็นทางเลือกใหม่ในการทำ CSR แบบที่ท่านเคยทำในรูป Philanthropy โดยไม่สูญเงินต้น!

ไว้จะได้ขยายความให้ฟัง ในโอกาสต่อไปครับ

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, February 18, 2016

รายงานความยั่งยืนในมิติ SDGs

แม้การประกาศใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) โดยองค์การสหประชาชาติ จะเพิ่งล่วงมาได้ยังไม่ถึงสองไตรมาส (193 ประเทศสมาชิกได้ให้การรับรองไปเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558) แต่ความเคลื่อนไหวของการดำเนินงานและการรายงานโดยใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นกรอบอ้างอิงของบรรดาองค์กรธุรกิจที่ตระหนักในความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) อยู่แล้ว ดูจะมีความคึกคักไม่น้อยเลยทีเดียว


จากการคลุกคลีและติดตามความเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจไทยต่อเรื่อง SDGs โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีการดำเนินงานโดยอ้างอิงกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่แล้ว ต่างให้การตอบรับที่จะนำ SDGs จำนวน 17 ข้อ มาใช้เป็นโจทย์ในการพิจารณาปรับวิถีการดำเนินงานให้มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับ SDGs ในข้อที่องค์กรตนเองมีความเกี่ยวข้อง

สำหรับองค์กรที่มีการตอบสนองสูง พบว่า ได้มีการปรับปรุงรูปแบบการนำเสนอข้อมูลในเล่มรายงานแห่งความยั่งยืน หรือ Sustainability Report ปี 2558 ด้วยการแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงของข้อมูลการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่เกี่ยวข้อง ในเล่มรายงานที่กำลังจะเผยแพร่ในไตรมาสแรกของปีนี้เลย

อันที่จริง การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานของภาคธุรกิจ ผ่านช่องทางที่เป็นรายงานแห่งความยั่งยืน โดยเฉพาะองค์กรที่ใช้กรอบการรายงานที่สากลยอมรับ อาทิ Global Reporting Initiative (GRI) จะมีข้อกำหนดในการเปิดเผยเนื้อหา ตั้งแต่นโยบายและการดำเนินงานในภาพรวม ประเด็นที่มีสาระสำคัญต่อองค์กรและผู้มีส่วนได้เสีย แนวการบริหารจัดการกับประเด็นที่เลือกดำเนินการ ไปจนถึงตัวบ่งชี้การดำเนินงานที่ใช้วัดความก้าวหน้าของการจัดการในประเด็นดังกล่าว โดยประเด็นและตัวบ่งชี้การดำเนินงานเหล่านั้น มีส่วนในการตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่ระบุใน SDGs ทั้ง 17 ข้อ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม และไม่มากก็น้อย เพียงแต่ยังไม่มีการเชื่อมโยงให้เห็นก่อนหน้าที่ SDGs จะประกาศใช้

ยกตัวอย่างในเรื่องการศึกษา ที่ SDGs ระบุให้หญิงชายได้รับโอกาสและความเสมอภาคในการศึกษาเรียนรู้วิชาชีพและทักษะในอาชีพ เยาวชน คนหนุ่มสาวได้รับการจ้างงาน งานที่มีคุณค่า และทักษะในการประกอบการ เป็นต้น ขณะที่ องค์กรธุรกิจที่มีการเปิดเผยข้อมูลตามกรอบ GRI ในหมวดที่เกี่ยวกับแรงงาน จะมีการรายงานเรื่องการฝึกอบรมและการให้ความรู้แก่พนักงาน จำนวนชั่วโมงโดยเฉลี่ยที่พนักงานได้รับการฝึกอบรมต่อคนต่อปี จำแนกตามเพศ และประเภทของพนักงาน เป็นต้น

เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (GRI) ได้จัดทำเอกสารเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กับตัวบ่งชี้การดำเนินงานตามกรอบการรายงานสากล GRI ที่มีชื่อว่า 'Linking the SDGs and GRI' เพื่อช่วยให้องค์กรเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานที่สอดคล้องกับ SDGs ในเล่มรายงานแห่งความยั่งยืนผ่านช่องทางที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยไม่เป็นการสร้างภาระการรายงานเพิ่มจากรายงานแห่งความยั่งยืนฉบับเดิม เผยแพร่ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร ในรูปแบบที่สถาบันไทยพัฒน์ เรียกว่า Enhanced Sustainability Report

เอกสารฉบับนี้ จะเป็นตัวช่วยชั้นดีสำหรับองค์กรที่มีการดำเนินงานสนองตอบต่อ SDGs และมีการรายงานตามกรอบ GRI อยู่แล้ว ให้สามารถจัดทำข้อมูลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดความยั่งยืนของ GRI เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ UN ได้อย่างเป็นระบบและอยู่ในบรรทัดฐานที่ยอมรับในวงกว้าง

องค์กรที่สนใจจะปรับรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบ GRI เพื่อสะท้อนความเชื่อมโยงกับ SDGs ให้ทันในรอบการรายงานปี 58 ฉบับที่กำลังจะเผยแพร่ในไตรมาสนี้ หรือเตรียมปรับสำหรับปี 59 สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ผ่านทาง http://bit.ly/SDGmapping

นอกจากนี้ GRI ยังได้เปิดให้บริการ 'SDG Mapping' สำหรับยืนยันความถูกต้องในการเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กับการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนตามกรอบ GRI เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในการสืบค้นและใช้ประโยชน์ข้อมูลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่สอดคล้องกับ SDGs ในเล่มรายงานที่ได้รับการตรวจสอบจาก GRI ด้วย

ต้นปีนี้ คาดว่าจะได้เห็นรายงานแห่งความยั่งยืนในมิติ SDGs ของไทย จากองค์กรธุรกิจที่เป็นผู้นำขบวนความยั่งยืน แน่นอนครับ

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, February 11, 2016

เรียกชื่อไหน ก็ยังเป็น CSR

หากย้อนมองพัฒนาการซีเอสอาร์ของภาคธุรกิจในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หนึ่งในเรื่องที่ควรหยิบยกมากล่าวถึง คือ ซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic CSR ที่ได้พัฒนากลายมาเป็นเรื่องการสร้างคุณค่าร่วม หรือ Creating Shared Value ในปัจจุบัน

ในการพัฒนาซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์ จะมีองค์ประกอบสองส่วนสำคัญ ประการแรก คือ การให้ความสำคัญกับความต้องการของสังคม (ฝั่งอุปสงค์) ที่เป็นการสำรวจความต้องการของสังคมหรือชุมชนในพื้นที่ที่องค์กรต้องการเข้าไปดำเนินงาน เป็นลักษณะของการวิเคราะห์ในแบบ Outside-In ที่มีการพิจารณาถึงปัญหาของชุมชนหรือประเด็นทางสังคมที่แท้จริง เพื่อให้ได้มาซึ่งประสิทธิผล (Effectiveness) ที่สูงกว่าการที่องค์กรนึกอยากจะช่วยเหลือสังคมแล้วนำอะไรต่อมิอะไรไปมอบ

ประการที่สอง คือ การคำนึงถึงความเชี่ยวชาญขององค์กรในการตอบสนองต่อประเด็นทางสังคม (ฝั่งอุปทาน) เป็นการสำรวจขีดความสามารถหรือทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่ ว่าสามารถเข้าไปดำเนินงานซีเอสอาร์นั้นได้ดีเพียงใด เป็นลักษณะของการวิเคราะห์ในแบบ Inside-Out ซึ่งคล้ายกับการวิเคราะห์ SWOT ในทางธุรกิจซึ่งจะทำให้การดำเนินงานด้านซีเอสอาร์ได้มาเกิดประสิทธิภาพ (Efficiency) ที่สูงแก่สังคม เพราะหากสำรวจแล้วพบว่ายังขาดทรัพยากรหรือความเชี่ยวชาญที่ต้องใช้องค์กรก็จำต้องแสวงหาทรัพยากรจากภายนอกด้วยการหาหุ้นส่วน (Partnership) หรือมอบหมายให้หน่วยงานภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ดำเนินงานให้ โดยไม่จำเป็นต้องลงมือทำเองโดยลำพัง

การดำเนินงานซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์ทั้งสององค์ประกอบนี้ นอกจากสังคมจะได้ทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลจากการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์แล้วยังสามารถวางตำแหน่งองค์กรและสร้างความได้เปรียบในทางธุรกิจที่เหนือกว่าองค์กรอื่นจากผลลัพธ์และอรรถประโยชน์ที่ให้แก่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เหนือกว่า

วิธีการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้รูปแบบที่เป็นซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์นี้ กิจการไม่เพียงแต่สามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดหรือมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับเท่านั้น แต่ยังมีการกำหนดจุดยืนที่เป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากแนวปฏิบัติขององค์กรอื่นๆ มีการสร้างความแตกต่าง (Differentiation) ในวิธีการ มีอิสรภาพในการคัดเลือกประเด็นทางสังคม โดยที่ปลอดจากพันธนาการหรือข้อเรียกร้องดังเช่นความรับผิดชอบต่อสังคมที่เป็นการรับมือกับผลกระทบทางลบอันเกิดจากการดำเนินงานปกติประจำวัน

ซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์ เป็นกลไกหรือเครื่องมือในการปรับทิศทางของธุรกิจและสังคมให้ไปในทิศเดียวกัน เป็นการผสานคุณค่าระหว่างองค์กรกับสังคมไปด้วยกัน เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ไม่เพียงเพื่อให้องค์กรได้รับการยอมรับเท่านั้น แต่ทำให้องค์กรสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย จากการสร้างความแตกต่างในกิจกรรม โดยไม่มองเพียงความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย แต่ยังมองว่ากิจการมี Core Value หรือ Competency อะไรบ้าง ที่สามารถส่งมอบให้แก่สังคมได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงเป็นการมองทั้งแบบ Outside-In และแบบ Inside-Out เป็นการทำซีเอสอาร์ในเชิงรุก โดยไม่ได้รอให้ปัญหาเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยไปแก้ไข หรือทำโครงการที่เป็นในลักษณะของการเยียวยา แต่เป็นการพยายามสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ในการพัฒนาซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์ จะต้องเข้าใจหลักการ (Principle) และประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับซีเอสอาร์ทั้งหมด และต้องรู้ความสัมพันธ์ของซีเอสอาร์ระหว่างองค์กร สังคม และผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ตลอดจนต้องเข้าใจว่าซีเอสอาร์ของแต่ละองค์กรนั้น มีความแตกต่างกันด้วยสามปัจจัยหลัก คือ ความเกี่ยวเนื่อง (Relevance) ความมีนัยสำคัญ (Significance) และลำดับความสำคัญ (Priorities) ของแต่ละประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคม

องค์กรที่ไม่ได้สร้างผลกระทบในเชิงสิ่งแวดล้อม อาจไม่จำเป็นต้องดำเนินการซีเอสอาร์ในด้านสิ่งแวดล้อม เหมือนกับโรงงานหรือกิจการที่มีกระบวนการที่ก่อให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมทางใดทางหนึ่ง แต่อาจเน้นหนักหรือให้ความสำคัญกับเรื่องคน/พนักงานซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ เป็นต้น

ในการวางนโยบาย (Policy) ด้านซีเอสอาร์ นอกเหนือจากการระบุผู้มีส่วนได้เสีย หรือ Stakeholder Identification ที่บอกว่ามีใคร (who) บ้างที่เกี่ยวข้องหลัก/รองแล้ว องค์กรต้องสามารถจัดกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย หรือ Stakeholder Segmentation เพื่อให้ทราบว่าความสัมพันธ์ระหว่างกิจการกับผู้มีส่วนได้เสียเหล่านั้นเป็นอย่างไร (how) ถัดจากนั้น จึงทำการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียเป้าหมาย หรือ Targeted Stakeholder Analysis เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุ (why) ที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์อย่างนั้น (ทั้งดีและไม่ดี) เพื่อนำไปสู่การกำหนดจุดยืนทางกลยุทธ์ หรือ Strategic Positioning ที่จะเป็นกรอบในการพัฒนากลยุทธ์การดำเนินงานกับผู้มีส่วนได้เสียนั้นๆ ได้อย่างตรงจุด

ในการนำไปสู่การปฏิบัติ (Practice) หลังจากที่ได้นโยบายแล้ว ผู้บริหารต้องนำนโยบายนั้นมาทำให้เกิดสามสิ่ง คือ ก่อนทำต้องสร้าง Credibility เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการดำเนินงานซีเอสอาร์ ระหว่างทำต้องได้ Performance โดยมีเครื่องมือในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานซีเอสอาร์อย่างเป็นระบบ และหลังทำต้องให้เกิด Recognition มิฉะนั้น สิ่งที่ลงทุนลงแรงทำอย่างตั้งใจและทุ่มเทก็อาจจะสูญเปล่า

ด้วยวิธีการที่แตกต่างและกิจกรรมซีเอสอาร์ที่เหมาะสม ผลลัพธ์จากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้รูปแบบที่เป็นซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์ จะทำให้เอื้อต่อการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันขององค์กรในระยะยาว

ทั้งนี้ เป้าประสงค์ของซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์ ที่ผสมผสานการริเริ่มทั้งจากภายในและการเชื่อมโยงจากภายนอกจะก่อให้เกิดคุณค่าร่วมกัน (Shared Value) ระหว่างธุรกิจและสังคมไปพร้อมกัน

จึงไม่แปลกใจที่เรื่อง Shared Value จะยังมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ทอดยาวไปในทศวรรษหน้าอีกอย่างไม่ต้องสงสัย

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]