Thursday, December 19, 2013

เหลียวหลังแลหน้า CSR ปี 56

ในรอบปี 2556 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป มีเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคมและเรื่องความยั่งยืน เริ่มจากการประชุมระดับโลกว่าด้วยการรายงานและความยั่งยืน (Global Conference on Sustainability and Reporting) ที่จัดโดยองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (GRI) ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อเดือนพฤษภาคม มีผู้เข้าร่วมงานถึง 1,600 คน จากเกือบ 70 ประเทศทั่วโลก

GRI ได้ใช้เวทีประชุมระดับโลกครั้งนี้ ประกาศแนวทางการรายงานแห่งความยั่งยืนฉบับใหม่ เรียกว่า ฉบับ G4 โดยหัวใจสำคัญของกรอบการรายงานในฉบับใหม่นี้ เน้นใช้กระบวนการรายงานเพื่อบูรณาการความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์องค์กร (Integrating sustainability into the corporate strategy) โดยตอกย้ำเรื่องสารัตถภาพ (Materiality) หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนที่เป็นสาระสำคัญในลักษณะ “Report on what really matters and where it matters”

กรอบการรายงานฉบับ G4 สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางการจัดทำรายงาน ทั้งในรูปแบบ Sustainability Report ที่แยกเล่ม หรือในรูปแบบ Integrated Report ที่รวมอยู่ในเล่มรายงานประจำปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความมุ่งหมายขององค์กรในการสื่อสารกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่มีความสนใจแตกต่างกัน

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และมีผลกับบริษัทจดทะเบียนทุกแห่ง คือ การประกาศหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบ 69-1) แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และรายงานประจำปี (แบบ 56-2) ของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อเดือนตุลาคม เป็นผลให้บริษัทจดทะเบียนต้องดำเนินการเปิดเผยข้อมูล CSR ตามประกาศฯ ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป

ที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนมีการเปิดเผยข้อมูล CSR โดยส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมเพื่อสังคม ในรูปของการบริจาคหรือการอาสาช่วยเหลือสังคมในลักษณะต่างๆ ที่นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจปกติ (CSR-after-process) แต่ประกาศฯ ฉบับดังกล่าว เน้นการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ (CSR-in-process) โดยให้ความสำคัญกับการเลือกเรื่องที่จะดำเนินการและนำมาเปิดเผย ซึ่งจะเป็นเครื่องกำหนดทิศทางและการเติบโตในการรายงาน CSR ของบริษัทจดทะเบียนนับจากนี้ไป

สอดรับกับเหตุการณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องรายงาน CSR อีกเช่นกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย โดย CSR Club และสถาบันไทยพัฒน์ ได้ริเริ่มโครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report Award) ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้องค์กรธุรกิจเผยแพร่ข้อมูลด้าน ESG (Environmental, Social, and Governance) เพิ่มเติมจากข้อมูลทางการเงินให้แก่กลุ่มผู้ลงทุนในแวดวงตลาดทุน และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ของกิจการ ได้ใช้ประเมินทิศทางการดำเนินงานของบริษัท ช่วยคาดการณ์ถึงผลการดำเนินงานในอนาคตของบริษัท และลดทอนข้อจำกัดของข้อมูลทางการเงินที่มักสะท้อนภาพโดยให้น้ำหนักกับผลการดำเนินงานในอดีต ด้วยการใช้ข้อมูลที่มิใช่การเงินและสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (อาทิ ทุนทางสังคม ทุนทางสิ่งแวดล้อม) ขยายภาพสะท้อนการดำเนินงานในมิติที่กว้างขึ้นจากเดิม

การประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืนครั้งแรกนี้ ได้ถูกจัดขึ้นเป็นกิจกรรมหนึ่งในงานสัมมนา CSR Thailand ประจำปี 2556 เมื่อเดือนพฤศจิกายน ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.มาการิม วิบิโซโน ผู้อำนวยการมูลนิธิอาเซียน เป็นประธานมอบรางวัล โดยมีบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัลดีเยี่ยม และมีบริษัทที่ได้รับรางวัลดีเด่นอีก 16 บริษัท

สำหรับทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคมและแนวโน้มด้านความยั่งยืนในปีหน้า นอกจากความตื่นตัวของการรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมและรายงานความยั่งยืนที่เกิดขึ้นในแวดวงตลาดทุนแล้ว ผลจากการกำหนดแนวทางการเปิดเผยข้อมูลโดยเน้นที่ข้อมูลการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ (CSR-in-process) จะทำให้กระบวนการรายงานถูกใช้เป็นเครื่องมือ (Tool) สร้างการเปลี่ยนแปลงการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ไล่เรียงตั้งแต่การผนวกเรื่อง CSR เข้ากับกลยุทธ์องค์กร การกำกับดูแล แนวการบริหารจัดการ รวมถึงตัวชี้วัดการดำเนินงานในทั้งสามด้าน (เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม) เพื่อให้ตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจภายใต้บริบทแห่งความยั่งยืนอย่างแท้จริง

เดือนมกราคมนี้ สถาบันไทยพัฒน์จะนำเสนอแนวโน้มในแนวทางดังกล่าวนี้อย่างละเอียด รวมทั้งการเปิดเผยถึงทิศทาง CSR & Sustainability ปี 2557 ท่ามกลางภาวการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับกระแสแห่งการปฏิรูปในทุกด้าน ปัจจัยความขัดแย้งทางการเมือง และปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่มีความรุนแรงในระดับชาติ อันเป็นผลพวงจากการขาดสำนึกรับผิดชอบของคนในชาติที่มีต่อสังคมส่วนรวม...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]