Monday, November 26, 2018

ธุรกิจเพื่อสังคมสู่เป้าหมายโลก

เมื่อวันที่ 8-9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีงาน Global Social Business Summit 2018 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 9 ที่เมืองว็อลฟส์บวร์ค ประเทศเยอรมนี โดยปีนี้ใช้ธีมว่า “สร้างอารยธรรมใหม่” หรือ “Building A New Civili-zation” โดยมี “ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส” นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี ค.ศ. 2006 ผู้ที่เป็นต้นตำรับแนวคิด “ธุรกิจเพื่อสังคม” หรือ “Social Business” มากล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน


“ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส” ระบุว่า การจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ตามที่องค์การสหประชาชาติประกาศเป็นเป้าหมายโลกนั้น สามารถนำแนวทางธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภทมาตอบโจทย์ 3 ศูนย์ โดยศูนย์แรก คือ สิ้นความยากจน (zero poverty) ศูนย์ที่ 2 คือ ไร้การว่างงาน (zero unemployment) และศูนย์ที่ 3 คือ การปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (zero net carbon emissions)

ธุรกิจเพื่อสังคม ตามนิยามของ “ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส” ประเภทแรก เป็นธุรกิจที่ไม่สูญเงินต้น-ไม่ปันผลกำไร (nonloss, nondividend) โดยมุ่งที่จะแก้ปัญหาสังคมเป็นสำคัญ และจะนำกำไรทั้งหมดที่ได้กลับมาพัฒนาและขยายธุรกิจต่อโดยไม่มีการปันผลกำไร ซึ่งเขาเรียกว่า ธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 1 หรือ social business type I

ธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 2 หรือ social business type II เป็นธุรกิจที่แสวงหากำไร และสามารถปันผลได้ แต่อยู่บนเงื่อนไขว่าเจ้าของธุรกิจหรือผู้ถือหุ้นของกิจการจะต้องเป็นผู้ยากไร้ หรือผู้ด้อยโอกาส เพราะการปันผลกำไรถือเป็นการขจัดความยากจน เป็นการแก้ไขปัญหาสังคมสมตามจุดมุ่งหมายของธุรกิจเพื่อสังคมในตัวเอง

หากอิงตามนิยามนี้ กิจการที่เป็นมูลนิธิหรือองค์กรสาธารณกุศล เชื่อแน่ว่าเป็นการประกอบการที่มุ่งแก้ไขปัญหาสังคม แต่หากหมดเงินบริจาคหรือขาดผู้อุปถัมภ์เมื่อใด แล้วมูลนิธิอยู่ไม่ได้ แสดงว่าไม่ใช่ social business

ส่วนกิจการที่เป็นบริษัท หรือธุรกิจปกติ เชื่อแน่ว่าเป็นการประกอบการด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ แต่เป็นไปเพื่อความมุ่งหมายที่จะแสวงหากำไรและนำมาแบ่งปันกันระหว่างผู้ถือหุ้น จึงไม่ใช่ social business

ขณะที่วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ social enterprise ที่ตั้งขึ้นเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาสังคมเป็นหลักแบบมูลนิธิ แต่มีหนทางที่เลี้ยงตัวเองได้แบบบริษัท โดยยังคงสามารถแบ่งปันผลกำไรให้ผู้ถือหุ้นได้ด้วย เข้าข่ายเป็นลูกผสมระหว่างมูลนิธิกับบริษัท ในกรณีนี้จึงไม่ใช่ social business (วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่มีนโยบายปันผลกำไร ถึงจะจัดเป็น social business)

ด้วยความที่ “ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส” ต้องการสร้างโมเดลทางธุรกิจที่โฟกัสในจุดที่เน้นการแก้ไขปัญหาสังคมจริง ๆโดยไม่ให้ผู้ประกอบการวอกแวก หรือไม่เปิดช่องให้มีการชั่งใจเลือกระหว่าง “ประโยชน์ส่วนรวม” กับ “ปันผลส่วนตัว” เพราะมีฐานคิดว่าถ้าปล่อยให้เกิดขึ้น ความโน้มเอียงจะไปในทางที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนก่อน แล้วประโยชน์ส่วนรวมค่อยมาทีหลัง

รูปแบบของธุรกิจเพื่อสังคม ยังถูกนำไปเทียบกับรูปแบบของสหกรณ์ที่มีสมาชิกเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น ซึ่งมีการปันผลกำไรที่ได้ให้แก่สมาชิกตามส่วน ในกรณีนี้ “ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส” ขยายความว่า สหกรณ์จัดอยู่ในข่ายที่เรียกว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคมได้ ก็ต่อเมื่อสมาชิกที่เป็นเจ้าของสหกรณ์เป็นคนยากจนเท่านั้น เนื่องจากการปันผลกำไรจะต้องเป็นไปเพื่อช่วยเหลือคนยากไร้ให้หลุดพ้นจากความยากจน ตามนิยามของ type II social business

แต่เมื่อใดก็ตามที่สหกรณ์ถูกจัดตั้งขึ้นโดยคณะบุคคลทั่วไป หรือองค์กรที่รวมตัวกันเพื่อวัตถุประสงค์ในการปกป้องหรือรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มสมาชิก แม้เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นจะจัดอยู่ในข่ายธุรกิจเพื่อสังคม ประเภทที่ 1 แต่สหกรณ์มีการดำเนินงานเพื่อแสวงหากำไรและปันผลกำไรกันระหว่างสมาชิกที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น ซึ่งมิใช่เป็นผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสที่แท้จริง สหกรณ์ประเภทดังกล่าวนี้ไม่จัดว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคม

สำหรับธุรกิจปกติทั่วไปที่มีการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ประเภท CSR-after-process อยู่แล้ว แนวทางธุรกิจเพื่อสังคมจะเป็นทางเลือกใหม่ของการใช้งบฯ CSR ในแบบยั่งยืน ด้วยเงินตั้งต้นก้อนเดิมก้อนเดียว แทนการใช้งบฯบริจาคเพื่อการกุศล หรือ philanthropy ในรูปแบบเดิมที่ให้แล้วหมดไป และต้องตั้งงบฯใหม่เพื่อทำงานทุกปี เมื่อแนวทางธุรกิจเพื่อสังคมสามารถใช้เพื่อเป็นทางเลือกในการทำ CSR ขององค์กรธุรกิจ ก็น่าสนใจไม่น้อยที่ภาคเอกชนจะนำแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม มาใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนสำหรับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่ไปพร้อมกันในตัว


จากบทความ 'CSR Talk' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, November 25, 2018

CSR เรื่องไหนที่ควรทำ

เรื่อง CSR ที่ควรนำมาดำเนินการ ที่จะพูดถึงต่อไปนี้ ขออนุญาตทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า มุ่งเน้นหรือเพื่อให้เป็นไปในทางที่ก่อให้เกิดความยั่งยืน ทั้งองค์กรผู้ดำเนินการ และกลุ่มผู้รับผลที่เป็นเป้าหมายของการดำเนินการ มิใช่ทำไปเพื่อการประชาสัมพันธ์ หรือ PR องค์กร เป็นที่หมาย

ข้อแนะนำตามแนวทางที่เป็นสากล ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการที่นำไปสู่ความยั่งยืน จะมีประเด็นดำเนินการที่ครอบคลุมใน 3 มิติด้วยกัน คือ มิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ในมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 ขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน ระบุว่า มีอยู่ 7 หัวข้อหลักที่ควรดำเนินการ ได้แก่ เรื่องการกำกับดูแลองค์กร เรื่องสิทธิมนุษยชน (มี 8 ประเด็น) เรื่องการปฏิบัติด้านแรงงาน (มี 5 ประเด็น) เรื่องสิ่งแวดล้อม (มี 4 ประเด็น) เรื่องการปฏิบัติดำเนินงานอย่างเป็นธรรม (มี 5 ประเด็น) เรื่องประเด็นด้านผู้บริโภค (มี 7 ประเด็น) และเรื่องการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน (มี 7 ประเด็น) รวม 36 ประเด็น

ในมาตรฐานการรายงานแห่งความยั่งยืน ขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล GRI (ฉบับ 2021) มีการจำแนกประเด็นที่ควรดำเนินการออกเป็นมิติเศรษฐกิจ (มี 7 ประเด็น) สังคม (มี 17 ประเด็น) และสิ่งแวดล้อม (มี 7 ประเด็น) รวม 31 ประเด็น

ในเอกสารแนวทางและตัวชี้วัดพื้นฐาน สำหรับการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน ที่จัดทำโดยสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (WFE) ได้จำแนกประเด็นที่ควรดำเนินการออกเป็นด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ด้านสังคม (Social) และด้านธรรมาภิบาล (Governance) หรือเรียกว่า ประเด็นด้าน ESG ด้านละ 10 ประเด็นเท่ากัน รวม 30 ประเด็น

จะเห็นว่า ในมาตรฐานและแนวทางทั้ง 3 แหล่ง ซึ่งเป็นที่นิยมใช้อ้างอิงข้างต้น แนะนำให้องค์กรมีการดำเนินการรวมๆ แล้วก็ประมาณ 30 ประเด็น (ประเด็นส่วนใหญ่ของทั้ง 3 แหล่ง อ้างถึงเรื่องเดียวกันหรือคล้ายคลึงกัน แต่อาจใช้ชื่อประเด็นที่แตกต่างกันออกไปบ้าง)

คำถามต่อมา คือ แล้วองค์กรของเรา ควรที่จะต้องดำเนินการทั้งหมด 30 กว่าประเด็นนี้ หรือไม่

คำตอบ คือ ไม่ต้องทั้งหมด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าประเด็นนั้น องค์กรมีความเกี่ยวข้องหรือมีการสร้างผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียมากน้อย เพียงใด

ในมาตรฐาน ISO 26000 แนะนำให้องค์กรใช้เกณฑ์ของความเกี่ยวเนื่อง (Relevance) ความมีนัยสำคัญ (Significance) และลำดับความสำคัญ (Priorities) สำหรับการระบุประเด็นที่องค์กรควรดำเนินการในแต่ละหัวข้อหลัก

ในมาตรฐานการรายงาน GRI แนะนำให้องค์กรใช้การทดสอบสารัตถภาพ (Materiality) เพื่อระบุประเด็นสาระสำคัญที่องค์กรควรดำเนินการในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยพิจารณาจากมุมมองนัยสำคัญของผลกระทบที่เกิดจากองค์กร เปรียบเทียบกับมุมมองอิทธิพลต่อการประเมินและตัดสินใจของผู้มีส่วนได้เสีย

ส่วนในแนวทางของ WFE เนื่องจากเป็นข้อแนะนำสำหรับบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นองค์กรมหาชน ที่มีข้อกำหนดและขีดความสามารถในการเปิดเผยข้อมูล สูงกว่าบริษัททั่วไป ตัววัดที่แนะนำให้เปิดเผย เป็นตัวชี้วัดพื้นฐาน (Baseline Indicators) ที่บริษัทควรดำเนินการได้ทั้งหมด และให้เป็นไปตามหลักการ “Respond or Explain” คือ ในกรณีที่บริษัทไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลในรายการใด ต้องระบุเหตุผลที่ละเว้นการรายงานในรายการนั้นๆ ให้ทราบด้วย

สำหรับรายการข้อมูลทั้ง 30 ตัวชี้วัด ที่แนะนำให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผย ตามเอกสารแนวทางและตัวชี้วัดพื้นฐานของ WFE ได้แก่

ด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ยอดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความเข้มข้นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยอดการใช้พลังงาน ความเข้มข้นของการใช้พลังงาน สัดส่วนการใช้พลังงาน การใช้น้ำ การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม การกำกับดูแลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและประเด็นความยั่งยืนอื่นๆ การลดความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ

ด้านสังคม ประกอบด้วย อัตราส่วนค่าตอบแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อัตราส่วนค่าตอบแทนในมิติหญิงชาย ร้อยละของการออกจากงาน ความหลากหลายในมิติหญิงชาย อัตราการจ้างงานชั่วคราว การไม่เลือกปฏิบัติ อัตราการบาดเจ็บ สุขภาพในบริบทโลก แรงงานบังคับและแรงงานเด็ก นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน

ด้านธรรมาภิบาล ประกอบด้วย ความหลากหลายในโครงสร้างของคณะกรรมการบริษัท ความเป็นอิสระในคณะกรรมการบริษัท การจ่ายค่าตอบแทนแบบจูงใจ การร่วมเจรจาต่อรอง จรรยาบรรณต่อคู่ค้า จริยธรรมและการต้านทุจริต การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนและการรายงานข้อมูลตามข้อกำหนด ข้อปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูล การให้ความเชื่อมั่นต่อการเปิดเผยข้อมูลจากหน่วยงานหรือบุคคลภายนอก (ข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.world-exchanges.org/our-work/articles/wfe-esg-revised-metrics-june-2018)

หากบริษัท รู้ล่วงหน้าว่า ควรจะต้องเปิดเผยข้อมูลใดในรอบปีการดำเนินงาน ก็หมายความว่า กิจการควรจะต้องดำเนินการในเรื่องใด เพื่อให้มีข้อมูลหรือผลการดำเนินงาน สำหรับการรายงานนั่นเอง


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, November 11, 2018

ทำ CSR เมื่อไรดี

หากพิจารณาในระดับบุคคล โดยใช้เรื่องเงื่อนเวลาดำเนินการเป็นเกณฑ์ พบว่า CSR สามารถแบ่งออกเป็นสองจำพวกใหญ่ คือ CSR ในเวลางาน กับ CSR นอกเวลางาน

องค์กรควรจะปลูกฝังให้พนักงานทำ CSR ในเวลางาน คือ การทำหน้าที่ในตำแหน่งงานที่ได้รับมอบหมายอย่างรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จากการตัดสินใจ หรือการกระทำของตน รวมทั้งที่มอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการแทน อาทิ พนักงานขายให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้องเที่ยงตรง พนักงานบัญชีดูแลจัดทำบัญชีอย่างถูกต้องโปร่งใส พนักงานจัดซื้อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างโปร่งใสเป็นธรรม เป็นต้น

ส่วน CSR นอกเวลางาน มักจะเป็นงานอาสาช่วยเหลือสังคม ที่มิได้เกี่ยวข้องกับหน้าที่โดยตรง ซึ่งหลายองค์กร ใช้เป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างหมู่พนักงานด้วยกันเอง หรือใช้สานสัมพันธ์กับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง อาทิ กิจกรรมปลูกป่า สร้างฝาย ทำความสะอาดสาธารณสถาน รวมถึงงานบุญ กฐิน ผ้าป่า เป็นต้น

หากพิจารณาในระดับองค์กร โดยใช้เรื่องเงื่อนเวลาดำเนินการเป็นเกณฑ์ พบว่า CSR สามารถแบ่งออกเป็นสองรูปแบบใหญ่ คือ Responsive CSR กับ Strategic CSR

Responsive CSR เป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่ตอบสนองต่อประเด็นปัญหาหรือข้อร้องเรียน เพื่อให้สังคมเห็นว่าองค์กรของตนเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบ หรือได้ปฏิบัติตัวในฐานะขององค์กรพลเมืองที่ดี (Good Corporate Citizen) ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็นการทำ CSR ในเชิงรับ

หรืออีกนัยหนึ่ง คือ เป็น CSR ในลักษณะ “ทำก็ต่อเมื่อเกิดเรื่อง” คือ เมื่อเกิดปัญหาหรือข้อร้องเรียนขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ แล้วจึงค่อยเข้าไปดำเนินการเยียวยา ฟื้นฟูหรือแก้ไขปัญหาหรือข้อร้องเรียน เพื่อยุติหรือบรรเทาผลกระทบที่อาจติดตามมา ซึ่งเสี่ยงต่อการได้รับคำติมากกว่าคำชม หรือทำแล้วมีโอกาสเสียมากกว่าได้

วิธีการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้รูปแบบแรกนี้ องค์กรธุรกิจมักจะศึกษาข้อกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรฐานหรือข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาปฏิบัติเพื่อปรับให้เข้ากับมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป และยังคงมุ่งรักษาคุณค่าขององค์กรไม่ให้ได้รับความเสียหาย

ผลได้จากการทำ Responsive CSR องค์กรมักจะอ้างถึงคำว่า ทำให้ได้มาซึ่ง “License to Operate

ส่วน Strategic CSR เป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมเชิงรุก ในลักษณะ “ทำโดยไม่รอให้เกิดเรื่อง” ด้วยการริเริ่มโดยองค์กรเอง และมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับความต้องการหรือความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียหรือของสังคมโดยรวม

วิธีการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้รูปแบบหลังนี้ กิจการไม่เพียงแต่สามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดหรือมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับ แต่ยังมีการกำหนดจุดยืนที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากแนวปฏิบัติขององค์กรอื่นๆ มีการสร้างความแตกต่างในวิธีการ และมีอิสรภาพในการคัดเลือกประเด็นทางสังคมที่องค์กรเป็นผู้ประเมินเอง มากกว่าที่จะต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องจากภายนอกสถานเดียว

ผลได้จากการทำ Strategic CSR ผู้ที่เป็นต้นบัญญัติของเรื่องนี้ ซึ่งก็คือ ศ.ไมเคิล อี. พอเตอร์ ใช้คำว่า ทำให้ได้มาซึ่ง “License to Grow

ปัจจุบัน รูปแบบของ Strategic CSR ได้พัฒนายกระดับมาเป็นการสร้างคุณค่าร่วม (Shared Value) ระหว่างธุรกิจและสังคม ที่เอื้อต่อการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันขององค์กรในระยะยาว

CSR ในเวลางาน และ CSR นอกเวลางานของบุคคล รวมทั้ง Responsive CSR และ Strategic CSR ขององค์กร ต่างมีความสำคัญตามบริบทที่บุคคลหรือองค์กรนั้นๆ เข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่สามารถทำเรื่องหนึ่ง เพื่อทดแทนอีกเรื่องหนึ่งได้ ด้วยความที่ CSR แต่ละจำพวก แต่ละรูปแบบ มีคุณสมบัติในการให้ผลได้ (Benefit) ที่ต่างกันนั่นเอง


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]