Tuesday, November 27, 2007

เปิดประตูประเทศ แต่ปิดโอกาสประชา

หากย้อนไปดูพระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2542 ที่ได้พระราชทานไว้ โดยมีความตอนหนึ่งว่า

"...เศรษฐกิจพอเพียงนั้น เขาตีความว่าเป็นเศรษฐกิจชุมชน คือหมายความว่า ให้พอเพียงในหมู่บ้าน หรือในท้องที่ ให้สามารถที่จะมีพอกิน มันเริ่มด้วยพอกิน พอมีพอกิน ... มันเป็นเริ่มต้นของเศรษฐกิจ ... เป็นเศรษฐกิจสมัยหิน มันไม่ใช่ว่าเป็นเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเศรษฐกิจสมัยหิน สมัยหินนั้น เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน แต่ว่าค่อยๆ พัฒนาขึ้นมา ก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน มีการช่วยระหว่างหมู่บ้าน หรือระหว่างอำเภอ จังหวัด ประเทศ ก็ต้องมีการแลกเปลี่ยน ... เศรษฐกิจพอเพียงนี้ ก็มีเป็นขั้นๆ ... ที่จะมาบอกว่า ให้พอเพียงเฉพาะตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ จะต้องมีการแลกเปลี่ยน ต้องมีการช่วยกัน"

เศรษฐกิจพอเพียง จึงมิได้หมายถึงเศรษฐกิจระบบปิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับใคร ไม่ค้าขาย ไม่ส่งออก ไม่ผลิตเพื่อคนอื่น ไม่ได้สนับสนุนการปิดประเทศ หรือหันหลังให้กับกระแสโลกาภิวัตน์ แต่เน้นการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยความไม่ประมาทและไม่โลภมากจนเกินไป มีการแลกเปลี่ยนค้าขายกัน แข่งขันกันในแบบสร้างสรรค์ คือ เป็นไปเพื่อพัฒนาขีดสมรรถนะ และความเข้มแข็งของตนเอง มิใช่เพื่อการทำลายล้างคู่แข่งขัน หรือกีดกันไม่ให้เกิดการแข่งขัน แต่ยังอาจช่วยเหลือกัน หรือร่วมมือกันได้ในบางเรื่อง

ปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ผ่านมา ด้านหนึ่งคือ การขาดแคลนเงินออมภายในประเทศ ทำให้จำเป็นต้องพึ่งเงินอุดหนุนจากต่างประเทศ ทำให้ประเทศมีภูมิคุ้มกันลดลง ในอีกด้านหนึ่ง ตลาดภายในประเทศมีขนาดเล็ก ไม่สอดคล้องกับขนาดการผลิตที่มีผลิตภาพสูงและไม่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นการผลิตสินค้าประเภททุน ดังนั้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจจึงไม่สามารถพึ่งตลาดภายในประเทศเป็นหลักได้ จำเป็นต้องพึ่งตลาดต่างประเทศเป็นสำคัญ จึงทำให้ต้องมีอัตราการเปิดประเทศสูง

การมีอัตราการเปิดประเทศในระดับที่สูง ไทยต้องพึ่งสินค้าส่งออกเป็นสำคัญ เมื่อเกิดปัญหาความไม่แน่นอนจากตลาดต่างประเทศ จึงทำให้เกิดวิกฤตการณ์แล้วสองครั้ง โดยใน พ.ศ.2523-2528 ประเทศไทยเผชิญกับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้รัฐบาลต้องแก้ปัญหาด้วยการลดค่าเงินเป็นครั้งแรก

วิกฤตการณ์ครั้งต่อมา เกิดจากการนำเข้าทุนจากต่างประเทศมาก อย่างไม่มีความพอประมาณ ขาดเหตุผลรองรับทางนโยบายการเงิน มีการผูกค่าเงินบาทไว้กับค่าดอลลาร์ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศถูกตรึงไว้ให้สูง ทำให้ต้นทุนการผลิตภายในประเทศสูงจนไม่สามารถส่งออกได้ เกิดวิกฤติส่งออกใน พ.ศ.2539 จนรัฐบาลต้องประกาศลอยตัวค่าเงินในที่สุด

ปัจจุบันการผันผวนของค่าเงินบาท อันเนื่องมาจากการผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งมีปริมาณมากและมีอิทธิพลต่อระบบการเงินทั้งโลก ยังคงส่งผลต่อการส่งออกและมีผลกระทบกับการจ้างงานในประเทศ ดังนั้น การที่ไทยมีอัตราการเปิดประเทศสูง จึงเป็นความไม่พอประมาณ และทำให้ประเทศขาดภูมิคุ้มกัน เป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว

ช่องว่างทางเศรษฐกิจได้ขยายวงไปเป็นช่องว่างทางสังคม ส่งผลกระทบทางลบต่อมิติทางจริยธรรมและวัฒนธรรม การเสื่อมถอยทางจริยธรรมปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนใน พ.ศ.2548 ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารโดยใช้เงินเป็นตัวตั้ง ใช้ตัวบ่งชี้ความสำเร็จด้วยหน่วยวัดเป็นเงิน เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายประชานิยมและบริโภคนิยม ส่งผลให้คนส่วนใหญ่เกิดความคาดหวังว่า จะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขาดความยับยั้งในการใช้จ่าย จนเกิดภาระหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดผลเป็นความเสื่อมทางศีลธรรมและมีการประทุษร้ายต่อทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้น สังคมมีความตึงเครียดมากขึ้น ความตึงเครียดในสังคมก่อให้เกิดการหย่าร้างเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีความยากจน ความกดดัน ความตึงเครียด ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อรายต่อไป เป็นผู้ที่อ่อนแอที่สุดในสังคม นั่นก็คือ เด็กถูกทอดทิ้งเพิ่มมากขึ้น

เมื่อความยากจนและปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งมากขึ้น ผลที่กระทบต่อมาถึงการศึกษาก็คือ ทั้งอัตราการศึกษาต่อของนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา และจำนวนเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษาต่อประชากรวัยเรียนไม่ได้ดีขึ้น แม้ว่ารัฐจะพยายามจัดการศึกษาให้เพียงพอในแง่ของปริมาณเทียบกับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อการพัฒนาพื้นฐานและคุณภาพทางการศึกษาเสื่อมถอยลง คนส่วนใหญ่จึงหวังรวยทางลัด หวังพึ่งเจ้าที่และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หวังความช่วยเหลือจากผู้อื่นมากกว่าการใช้ความสามารถของตนเอง ทำให้ผู้มีรายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมตกเป็นเครื่องมือของธุรกิจการเมือง หรือนักการเมืองที่ใช้นโยบายแนวประชานิยมแบบประเคนสิ่งต่างๆ ให้พร้อมสรรพ โดยไม่สนใจที่จะพัฒนาศักยภาพของบุคคล นโยบายทำนองนี้จะนำไปสู่การฉ้อราษฎร์บังหลวง เพื่อการถอนทุนคืนอันเป็นสาเหตุของความไม่โปร่งใสในการบริหารจัดการของภาครัฐติดตามมาเป็นลูกโซ่

ความพยายามในการแก้ปัญหาเพื่อให้สังคมไทยมีความพอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน จะต้องมาจากพื้นฐานการเมืองที่มีความโปร่งใส ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาอย่างแท้จริง มีระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ส่งเสริมการกระจายรายได้ สร้างวัฒนธรรมการออมและสร้างวินัยในการใช้จ่าย ไม่มุ่งเน้นการเปิดประเทศเพื่อรับการลงทุนและพัฒนาจนทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ต้องดำรงขีดความสามารถในการพึ่งตนเองด้านทุนและเทคโนโลยีให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

ด้วยเหตุนี้ แนวทางในการแก้ปัญหาเพื่อสร้างสังคมที่พึงปรารถนา จึงต้องเริ่มจากการสร้างการเมืองที่ดี ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และลดช่องว่างทางเศรษฐกิจสังคม ... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

(เรียบเรียงจากรายงานการประชุมระดมสมองครั้งที่สาม โดยสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้โครงการจัดทำแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียงและการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)

Tuesday, November 20, 2007

การเมืองแบบสมานฉันท์ ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง

ปัญหาสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาไปได้ไกลเท่าที่ควร เกิดจากการบริหารจัดการที่ไม่โปร่งใสของภาครัฐและปัญหาการกระจายรายได้ ซึ่งทั้งสองปัญหานี้ส่งผลในเชิงที่เป็นปฏิกิริยาเสริมกัน กล่าวคือ ความไม่โปร่งใสทางการเมืองเป็นผลให้มีปัญหาในการกระจายรายได้ ขณะที่การมีปัญหาการกระจายรายได้ ทำให้ผู้มีรายได้น้อยในชนบทตกเป็นเครื่องมือของธุรกิจการเมือง อันเป็นสาเหตุของความไม่โปร่งใสในการบริหารจัดการของภาครัฐ เนื่องจากทั้งสองปัญหานี้มีลักษณะเสริมกัน การแก้ไขปัญหาจึงควรดำเนินการไปพร้อมกัน โดยมีจุดเน้นที่การแก้ปัญหาความไม่โปร่งใสทางการเมือง ซึ่งจะทำให้ปัญหาการกระจายรายได้จะค่อยๆ ได้รับการแก้ไขไปพร้อมกันด้วย

ในระยะยาว การแก้ปัญหาความไม่โปร่งใสของภาคการเมือง จำเป็นต้องเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ภาคประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ตลอดจนพรรคการเมืองและนักการเมือง รวมทั้งการเปิดกว้างทางการเมืองให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น การยกระดับข้อมูลความรู้ โดยเฉพาะสื่อซึ่งทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลและความรู้แก่ประชาชนจะต้องมีความเป็นกลางและเที่ยงธรรม มีพื้นที่ให้ภาคประชาชนจัดทำสื่อของตนเองได้เพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า ภาคประชาชนในพื้นที่ชนบท ประสบปัญหาในการไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของราชการส่วนท้องถิ่นได้ เนื่องจากรูปแบบการเมืองแบบตัวแทนในระดับประเทศได้ถูกนำมาใช้ในท้องถิ่น ประกอบกับการถูกครอบงำของการเมืองในท้องถิ่นจากการเมืองระดับประเทศ ทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่ได้รับการคัดเลือกจากประชาชน กลายเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นเสียเอง อีกทั้งความสัมพันธ์ที่เคยมีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นจากระบบอุปถัมภ์ที่มีคุณธรรมได้เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นระบบอุปถัมภ์แบบสามานย์ ที่ใช้อำนาจการเมือง ซึ่งเชื่อมโยงกับส่วนกลางผสมผสานกับอำนาจเงิน

การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ จึงต้องพยายามส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง ภายใต้การเมืองท้องถิ่นแบบสมานฉันท์ เพื่อให้ระบบอุปถัมภ์แบบมีคุณธรรมคืนกลับมา ซึ่งนอกจากจะช่วยให้การเมืองท้องถิ่นมีความโปร่งใสแล้ว ยังเป็นพลังสำคัญที่ทำให้การเมืองระดับประเทศมีความโปร่งใสเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้การดำเนินนโยบายในด้านต่างๆ ก็จะพิจารณาถึงผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นหลัก ช่องว่างของการกระจายรายได้ก็จะลดลง ซึ่งจะผลเป็นทอดๆ ไปสู่การลดช่องว่างทางการเมือง สังคม การศึกษา เทคโนโลยี เกิดเป็นความสัมพันธ์ในเชิงลูกโซ่แบบย้อนกลับ เพื่อพลิกฟื้นวงจรแห่งความดีจากวงจรอุบาทว์ในปัจจุบัน

หากพิจารณาถึงรากของปัญหาด้านหนึ่งคือ การพัฒนาประชาธิปไตยท้องถิ่นที่ไม่สอดคล้องกับความจริง โดยเฉพาะการพัฒนาระบบประชาธิปไตยที่มีรูปแบบเดียว คือ ประชาธิปไตยตัวแทนทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น โดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งเท่านั้น การเลือกตั้งจึงเป็นเสมือนมาตรวัดของประชาธิปไตยไทย ซึ่งถือว่าเป็นความผิดพลาดอย่างมาก

วิถีแห่งการสร้างประชาธิปไตยในท้องถิ่น จึงกลายเป็นการเลียนแบบประชาธิปไตยในระดับชาติ มีนายก อบต. มีคณะผู้บริหารท้องถิ่น มีสภาท้องถิ่น มีข้าราชการท้องถิ่น ผลพวงจากการพัฒนาประชาธิปไตยท้องถิ่นในรูปแบบดังกล่าว ได้ทำให้ชุมชนหลายพื้นที่อ่อนแอ และนำไปสู่ปัญหาของท้องถิ่นอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่ ปัญหาวัฒนธรรมขององค์กรปกครองท้องถิ่นในสภาพของระบบราชการที่แข็งกระด้าง ปัญหาของการเข้าสู่อำนาจของระบบประชาธิปไตยตัวแทนและบทบาทของนักธุรกิจการเมือง และปัญหาความแตกแยกในชุมชน

ทิศทางในการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศ จำต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ โดยการให้ความสำคัญ 2 ระดับที่แตกต่างกัน คือ แม้การพัฒนาประชาธิปไตยในระดับชาติ ยังคงยึดโยงอยู่กับระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ที่ขณะนี้ ได้นำไปสู่ปัญหาความแตกแยกในสังคม การทำลายทุนทางสังคมอย่างน่าเศร้า

แต่การพัฒนาประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น ต้องให้ความสำคัญกับการปกครองตนเอง ในลักษณะที่เป็นประชาธิปไตยแบบสมานฉันท์ในชุมชน เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคี เป็นการสร้างการเมืองแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) โดยมีพื้นที่สาธารณะหรือเวทีการเรียนรู้ที่ชุมชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย จะต้องมีบทบาทร่วมในการขับเคลื่อน กระตุ้นให้เกิดการปลุกจิตสำนึก การสร้างคุณค่า การสร้างศรัทธา และอุดมการณ์ในการขับเคลื่อนร่วมกันทั้งชุมชน

นอกจากข้อเท็จจริงของท้องถิ่นที่มีความแตกแยกเป็นกลุ่มต่างๆ แล้ว กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยแบบเดิม ยังได้ส่งผลกระทบต่อความรู้ท้องถิ่น โดยแตกออกเป็นองค์ความรู้ราชการ องค์ความรู้วิชาการ และองค์ความรู้ชุมชน ฐานขององค์ความรู้ทั้งสามนี้ ต่างฝ่ายต่างมีพื้นที่ของตนเอง การแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว จึงต้องมีกระบวนการบูรณาการความรู้ในชุมชน โดยเริ่มจากฐานขององค์ความรู้ที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดการผสมผสาน และดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน

ท้ายที่สุด กระบวนการเรียนรู้ในชุมชนของชาวบ้าน จะเป็นการเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมเพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนได้ตระหนักต่อข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ ของชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านและภาคีนำข้อสรุปของกระบวนการเรียนรู้เข้าสู่การถกเถียงในเวทีการเรียนรู้ชุมชน มีฉันทามติ (Consensus) ในชุมชนภายหลังจากที่ภาคีในท้องถิ่นได้ถกเถียงกันอย่างสันติ เป็นการสร้างสังคมท้องถิ่นแบบสมานฉันท์ บนฐานของทุนทางสังคมความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเป็นเครือญาติที่แน่นแฟ้น ซึ่งยังคงเหลืออยู่ตามชุมชนชนบทในสังคมไทย... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

(เรียบเรียงจากผลการศึกษาวิจัยโครงการจัดทำดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และโครงการจัดทำแผนที่เดินทางและการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)

CEO ในแบบ NGO

เรื่อง Corporate Social Responsibility (CSR) หรือที่ทางสถาบันไทยพัฒน์เรียกว่า "บรรษัทบริบาล" นั้น มีความสำคัญกับองค์กรไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่อง Corporate Governance (CG) หรือบรรษัทภิบาล โดยปรากฏเป็นรูปธรรมผ่านทางกิจกรรมต่างๆ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ผู้ประกอบการหรือผู้นำองค์กร ยึดถือเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมเป็นเงื่อนไขสำคัญในการดำเนินกิจการ อีกทั้งไม่จำกัดอยู่เพียงบรรษัทขนาดใหญ่ รูปธรรมของบรรษัทบริบาลนั้น ปรากฏได้ทั้งในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เจ้าของกิจการหรือผู้บริหาร ใช้แนวทางการประกอบธุรกิจอย่างมีคุณธรรม

ยิ่งไปกว่านั้น การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ก็มิได้จำกัดว่ากิจการที่กล่าวถึงจะต้องเป็นองค์กรหรือหน่วยงานที่อยู่ในภาคธุรกิจเท่านั้น ในอดีตที่ผ่านมา ภาครัฐเองก็ได้เคยตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ซึ่งทำให้ส่วนราชการต่างๆ ต้องพัฒนาการปฏิบัติราชการโดยใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน ดังนั้น ต้องถือว่าส่วนราชการต่างๆ ก็ดี มีพันธกิจหลักในการบริหารกิจการบ้านเมืองด้วยความรับผิดชอบเป็นที่ตั้งอยู่แล้ว ทั้งยังเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนโดยไม่แสวงหาผลกำไร

ซีเอสอาร์ในภาครัฐจึงมิใช่เรื่องใหม่ หรือหลักการบริหารบ้านเมืองแนวใหม่แต่ประการใด แต่เป็นเรื่องที่ข้าราชการทุกคนต้องตระหนักและสำนึกได้เองว่า ตนเองมีบทบาทและความรับผิดชอบต่อสังคมในการปฏิบัติหน้าที่อยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น หากหน่วยราชการใดออกมาประกาศว่าจะนำหลักการซีเอสอาร์มาใช้ในการปฏิบัติงาน นั่นก็แสดงว่า หน่วยงานนั้นไม่เพียงแต่ไม่เข้าใจเรื่องของซีเอสอาร์ แต่ยังไม่ตระหนักถึงบทบาทขั้นพื้นฐานของตนเองในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมที่พึงมี นับตั้งแต่วันแรกของการก่อตั้งหน่วยงานอีกด้วย... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ 20CEOs 20IDEAs) External Link [Archived]

Monday, November 19, 2007

ฟรีอีเมลภายใต้โดเมนใหม่ live.com จากไมโครซอฟต์

เมื่อวันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน ไมโครซอฟต์ได้เปิดให้บริการฟรีอีเมลภายใต้โดเมนใหม่ล่าสุด live.com ผมเผอิญเข้าไปอ่านข่าวที่ CNET (Live.com e-mail addresses up for grabs) เลยตามเข้าไปลงทะเบียนอีเมลชื่อ pipat@live.com ได้มาเรียบร้อย

สำหรับคนไทย ถ้าเข้าไปที่ http://get.live.com ปกติ จะขึ้นเป็นเมนูภาษาไทย และอนุญาตให้ลงทะเบียนเฉพาะภายใต้โดเมน windowslive.com เท่านั้น แต่หากใครอยากลงทะเบียนภายใต้โดเมน live.com ต้องเข้ามาที่ URL นี้ครับ (https://signup.live.com/signup.aspx?mkt=en-us) หรือคลิกที่รูปข้างล่างนี้ก็ได้ครับ

Windows Live ID

ใครจดได้หรือไม่ได้อย่างไร ก็เขียนเข้ามาคุยกันได้นะครับ