Thursday, June 25, 2015

การให้ไม่รู้จบ

สัปดาห์ที่ผ่านมา (18 มิ.ย.) สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการเปิดแนวคิด “การลงทุนสุนทาน” หรือ “Philanthropic Investments” เพื่อใช้เป็นทางเลือกในการทำ CSR อย่างยั่งยืน โดยเป็นรูปแบบที่องค์กรผู้ให้ความช่วยเหลือที่สามารถให้ทุนโดยไม่สูญเงินต้น ขณะที่ชุมชนหรือหน่วยงานที่ได้รับความช่วยเหลือ มีทุนหรือทรัพยากรที่จะใช้ดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง ตราบจนโครงการหรือภารกิจบรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

การให้ความช่วยเหลือในบริบทของ CSR ที่ผ่านมา มักเป็นการบริจาคเพื่อการกุศลในรูปของการให้เงินหรือวัตถุสิ่งของ (Philanthropy) ซึ่งถือเป็นจุดนำเข้าในกระบวนการทำงานร่วมกับชุมชนหรือผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มเป้าหมาย แต่การให้เปล่าในรูปแบบดังกล่าว มีข้อจำกัดตรงที่ องค์กรผู้ให้ความช่วยเหลือ ทำได้เป็นครั้งคราวหรือในชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว

เมื่อเงินบริจาคก้อนดังกล่าว ถูกใช้หมดไป ชุมชนหรือหน่วยงานภาคประชาสังคมที่ได้รับความช่วยเหลือ จำต้องขวนขวายหาทุนหรือทรัพยากรมาเติมในโครงการหรือภารกิจที่ริเริ่มขึ้น เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องจนเห็นผล แต่หากการเติมทุนหรือเงินบริจาคก้อนใหม่ไม่เกิดขึ้น โครงการหรือภารกิจดังกล่าว อาจต้องระงับหรือหยุดชะงักไปโดยปริยาย

แนวคิดของการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบการลงทุนที่นำดอกผลมาใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือ “Philanthropic Investments” ที่สถาบันไทยพัฒน์ เรียกว่า “การลงทุนสุนทาน” สามารถใช้ขจัดหรือลดทอนอุปสรรคหรือข้อจำกัดดังกล่าว เพื่อให้ชุมชนหรือหน่วยงานภาคประชาสังคมสามารถได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องในระยะยาว จนโครงการหรือภารกิจบรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ที่ผ่านมา ธุรกิจโดยปกติ สามารถดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการ (CSR-in-process) และนอกกระบวนการ (CSR-after-process) ถือเป็นเรื่องของการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ ขณะที่ การลงทุนสุนทาน ไม่ใช่การดำเนินธุรกิจขององค์กรโดยตรง แต่เป็นการนำทรัพยากรที่เป็นตัวเงินมาลงทุน (โดยองค์กรยังเป็นเจ้าของเงินลงทุน) เพื่อหาดอกผลไปทำ CSR อีกต่อหนึ่ง เรียกว่าเป็น CSR-along-process คือ เป็น CSR ใน “หมวกของการลงทุน” ที่เดินเคียงคู่ไปกับ “หมวกของการทำธุรกิจ” อย่างรับผิดชอบ

การลงทุนสุนทาน ถือเป็นการลงทุนประเภทหนึ่ง ซึ่งย่อมมีความเสี่ยง แต่องค์กรธุรกิจสามารถใช้ที่ปรึกษาการเงินหรือบริษัทจัดการกองทุน ดูแลบริหารเม็ดเงินลงทุนให้ และในกรณีของการลงทุนสุนทานที่สถาบันไทยพัฒน์ริเริ่มขึ้น ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการประกาศหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) จำนวน 100 บริษัท หรือที่เรียกว่า กลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สำหรับรองรับความต้องการในรูปแบบของการลงทุนที่ยั่งยืน พร้อมกับการสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป

เพื่อให้เห็นภาพความแตกต่างระหว่างการให้ความช่วยเหลือในแบบ Philanthropy กับการลงทุนในแบบ Philanthropic Investments สมมุติว่า กิจการ ก. และ ข. มีเงินงบประมาณ 10 ล้านบาทตั้งต้นเท่ากัน กิจการ ก. ใช้จัดสรรเป็นความช่วยเหลือแบบให้เปล่า (Philanthropy) ปีละ 2 ล้านบาท กิจการ ก. สามารถดำเนินการได้ 5 ปี และสิ้นสุดความช่วยเหลือ

ส่วนกิจการ ข. ใช้รูปแบบการลงทุนสุนทาน สร้างผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 20 ต่อปี กิจการ ข. สามารถใช้ดอกผลในการจัดสรรความช่วยเหลือปีละ 2 ล้านบาท ได้ไม่จำกัดเพียง 5 ปี แต่ยังคงความช่วยเหลือได้ในปีต่อๆ ไป ไม่มีที่สิ้นสุด ในขณะที่เงินทุนตั้งต้น 10 ล้านบาทของกิจการ ข. ก็ยังคงอยู่ (ดังภาพประกอบ)


อนึ่ง การลงทุนสุนทานตามตัวอย่างข้างต้น ให้น้ำหนักกับการบริหารเงินต้นเพื่อให้คงอยู่ พร้อมกับหาดอกผลที่เพียงพอเพื่อทำสาธารณประโยชน์ ด้วยการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีการเปิดเผยข้อมูลตามข้อกำหนดของสำนักงาน ก.ล.ต. และมีการดำเนินงานที่โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (ESG) ในบริบทของ CSR-in-process มิใช่การลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) ที่ตั้งขึ้นใหม่ หรือเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ไม่มีวัตถุประสงค์หากำไร ในบริบทของ CSR-as-process

หน่วยงานภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่ต้องการยกระดับจาก Philanthropy ในรูปแบบเดิม มาสู่ Philanthropic Investments สามารถติดต่อสถาบันไทยพัฒน์ หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ http://thaipat.org ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, June 18, 2015

การลงทุนสุนทาน

การบริจาคเพื่อการกุศล หรือการทำบุญสุนทานของภาคธุรกิจ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Corporate Philanthropy นั้น เป็นกิจกรรมเพื่อสังคมชนิดหนึ่ง ซึ่งจัดอยู่ในจำพวก CSR-after-process ที่เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการในลักษณะของการดำเนินความช่วยเหลือหรือการตอบแทนคืนสังคมในรูปแบบต่างๆ เช่น การให้เงินหรือวัตถุสิ่งของ ที่เกิดขึ้นแยกต่างหากจากกระบวนการดำเนินธุรกิจปกติ และพบเห็นได้ในทุกองค์กรธุรกิจ

กิจกรรมเพื่อสังคมในลักษณะดังกล่าว นับว่าเป็นบทบาทของพลเมืองภาคองค์กร (Corporate Citizen) ที่ดี ในการให้ความช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และผู้ขาดแคลนยากไร้ ให้ได้รับปัจจัยในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี การให้ความช่วยเหลือในรูปของการให้เงินหรือวัตถุสิ่งของ (โดยเฉพาะที่เป็นไปเพื่อการใช้สอยหรือบริโภค) แม้จะช่วยแก้ปัญหาที่เป็นเฉพาะหน้าได้ แต่อาจมิใช่คำตอบสำหรับการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนหรือ สามารถทำต่อเนื่องได้ในระยะยาวหรือตลอดไป

ประเด็นความยั่งยืน ได้กลายเป็นโจทย์สำคัญ ทั้งในฝั่งผู้ให้ความช่วยเหลือ (ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือได้อย่างต่อเนื่องจนเห็นผล) และในฝั่งผู้รับความช่วยเหลือ (ที่ต้องสามารถยืนอยู่บนขาของตัวเองได้ในที่สุด)

พัฒนาการในแวดวงของการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ จึงต้องดำเนินสืบเนื่องไป เพื่อค้นหาและพัฒนาวิถีทางของการให้ความช่วยเหลือ (Philanthropy) ในกรอบของความยั่งยืน ให้เกิดเป็นผลสัมฤทธิ์

ในฝั่งของผู้รับความช่วยเหลือที่เป็นครัวเรือนหรือชุมชนเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองให้ได้นั้น แนวทางที่กิจการสามารถทำได้ คือ การเปลี่ยนผ่านจาก Philanthropy ในแบบทั่วไปที่คุ้นกับการให้ปัจจัยการบริโภค มาสู่ Strategic Philanthropy ในแบบกลยุทธ์ที่เน้นการให้ปัจจัยการผลิต โดยให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้ความถนัดความเชี่ยวชาญของธุรกิจในการเข้าให้ความช่วยเหลือ และการใช้โครงข่ายธุรกิจสนับสนุนการทำงานของครัวเรือนหรือชุมชนเป้าหมายที่เป็นผู้รับความช่วยเหลือดังกล่าว

ในฝั่งของผู้ให้ความช่วยเหลือที่เป็นตัวกิจการเอง เพื่อให้มีทุนหรือทรัพยากรสำหรับการให้ความช่วยเหลือได้อย่างต่อเนื่อง แนวทางที่กิจการควรพิจารณา คือ การเปลี่ยนผ่านจาก Philanthropy ในแบบการให้เปล่าหรือที่ต้องสูญเงินต้น มาสู่ Philanthropic Investments ในแบบการลงทุนหรือใช้ดอกผลจากเงินต้นที่นำไปลงทุนโดยไม่สูญเสียเงินต้น ทำให้กิจการสามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างต่อเนื่องจนเห็นผลหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง

การให้ความช่วยเหลือในรูปแบบ Philanthropic Investments หรือที่สถาบันไทยพัฒน์เรียกว่า “การลงทุนสุนทาน” ของกิจการหรือภาคธุรกิจในกรอบของความยั่งยืน คาดหมายว่าจะเป็นแนวโน้มที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น และเป็นพัฒนาการที่ต่อขยายจากการลงทุนที่รับผิดชอบ (Responsible Investments) ของกลุ่มผู้ถือครองสินทรัพย์และผู้ลงทุนที่ประสงค์จะใช้นโยบายการลงทุนของตนในการช่วยแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันกับการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน

การลงทุนสุนทาน เป็นการนำเงินหรือทรัพย์สินมาเป็นทุนเพื่อหาดอกผลนำไปใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือแก่สังคมในด้านต่างๆ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข การพัฒนาอาชีพ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยที่ทุนหรือเงินต้นยังคงอยู่ ซึ่งแตกต่างจากการทำบุญสุนทานหรือการบริจาคที่เป็นการมอบเงินหรือทรัพย์สินนั้นให้เป็นความช่วยเหลือแก่สังคมโดยตรง

ตัวอย่างของการลงทุนสุนทานในต่างประเทศ ได้แก่ ความช่วยเหลือในรูปแบบ Program-Related Investments (PRIs) ของมูลนิธิฟอร์ด เช่น การให้สินเชื่อต้นทุนต่ำ การค้ำประกันสินเชื่อ การลงทุนในตราสารทุน ในลักษณะเชิงกลยุทธ์ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้รับความช่วยเหลือ และเพื่อจัดหาเงินลงทุนให้แก่ความริเริ่มใหม่ๆ ที่มีความเสี่ยง โดยนับจนถึงปัจจุบัน มูลนิธิฟอร์ดได้ให้ความช่วยเหลือในรูปแบบ PRIs แล้วเป็นจำนวนกว่า 560 ล้านเหรียญ และมีการจัดสรรเม็ดเงินลงทุนใหม่โดยเฉลี่ยราว 25 ล้านเหรียญต่อปี

ผมเชื่อแน่ว่า เราคงจะได้เห็นรูปแบบของการลงทุนในลักษณะดังกล่าว จากภาคเอกชนหรือมูลนิธิในสังกัดภาคเอกชนของไทย ในไม่ช้านี้ครับ!...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, June 11, 2015

ต้านโกงภาคปฏิบัติ

เมื่อวันจันทร์ (8 มิ.ย.) ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานประกาศเจตนารมณ์ “ต่อต้านการทุจริต สร้างจิตสำนึกไทยไม่โกง” ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ โดย พล.อ.ประยุทธ์​กล่าวในตอนหนึ่งว่า “วันนี้เป็นวันสำคัญ ซึ่งจะเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เพราะเรามีความจำเป็นต้องพัฒนา เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เพื่อเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศ มีทั้งเหตุการณ์ที่ดีและไม่ดี อยากให้ทุกคนศึกษาปัญหาและร่วมกันหาทางออกตามหลักพระพุทธศาสนาอริยสัจสี่ รู้ว่าปัญหาเกิดจากอะไรและแก้ที่ตรงไหน อย่างเช่นข้าราชการก็ต้องมีคำว่า “How to do” ไม่ใช่ประกาศเจตนารมณ์วันนี้แล้วก็จบ”


ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption - UNCAC) ค.ศ.2003 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตที่เป็นสากลและมีเนื้อหาครอบคลุมทุกด้านของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ได้รับการรับรองโดยที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ ปัจจุบัน มีภาคีสมาชิกที่ร่วมลงนาม 140 ประเทศ

ในส่วนของภาคธุรกิจ สามารถพัฒนาแนวดำเนินการตามความตกลงดังกล่าวในการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของกิจการต่อการต่อต้านการทุจริตให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและการยกระดับการดำเนินการต่อต้านการทุจริตในสาขาอุตสาหกรรมที่ประกอบการอยู่ให้มีความทัดเทียมกับนานาประเทศ โดยเริ่มจากการดำเนินการต้านทุจริตในภาคปฏิบัติ (Anti-corruption in Practice) กับองค์กรของตน และเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อื่นได้ลงมือปฏิบัติตาม จนสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นบริษัทต้นแบบที่มีแนวปฏิบัติอย่างจริงจังและสร้างวัฒนธรรมการไม่ทุจริตในภาคธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับแนวทางการต้านทุจริตสำหรับองค์กรธุรกิจ สามารถจัดแบ่งกระบวนงานออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย

Commit: สิ่งที่ควรดำเนินการ ได้แก่ การเปิดเผยคำมั่นที่จะดำเนินการต่อต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ การจัดทำแนวนโยบายให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การสื่อสารและการดำเนินการให้เป็นแบบอย่างโดยผู้นำองค์กร

Establish: สิ่งที่ควรดำเนินการ ได้แก่ การกำหนดนโยบายการต่อต้านทุจริตที่ระบุระดับการดำเนินการของบริษัท การประเมินความเสี่ยงของธุรกิจ เพื่อระบุการดำเนินงานของบริษัทหรือบริษัทย่อยที่มีความเสี่ยงว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต การจัดทำนโยบายละเอียดสำหรับส่วนงานที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดทุจริต การกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อควบคุมป้องกันและติดตามความเสี่ยงจากการเกิดทุจริต การสื่อสารและฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตแก่พนักงานในทุกระดับ การสร้างช่องทางในการแจ้งเบาะแส และกลไกการติดตามสำหรับการรายงานข้อกังวลหรือขอรับคำแนะนำ การวางกระบวนการดูแลติดตามและประเมินผลการต่อต้านการทุจริต การทบทวนผลการดำเนินการและการปรับปรุงนโยบายให้มีความเหมาะสมตามสถานการณ์

Extend: สิ่งที่ควรดำเนินการ ได้แก่ การจัดทำนโยบายที่ครอบคลุมถึงหุ้นส่วนทางธุรกิจ การผลักดันให้คู่ค้าดำเนินการตามคำมั่น การเข้าเป็นแนวร่วมต้านทุจริตในสาขาอุตสาหกรรมที่ธุรกิจสังกัดอยู่หรือเรื่องที่ธุรกิจเข้าไปเกี่ยวข้อง การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานแก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการตรวจสอบเพื่อให้ความเชื่อมั่นอย่างเป็นอิสระจากหน่วยงานภายนอก

ประโยชน์ที่องค์กรธุรกิจจะได้รับจากการดำเนินแนวทางการต้านทุจริตดังกล่าว ประการแรกเป็นการเพิ่มความถูกต้องชอบธรรม (Integrity) จากการที่องค์กรสามารถยกระดับการรับรู้เรื่องการต้านทุจริตในหมู่พนักงาน และฝ่ายบริหารมีเครื่องมือและกติกาในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงาน ประการที่สองเป็นการเพิ่มความสำนึกรับผิดชอบ (Accountability) จากการดำเนินบทบาทการต้านทุจริตขององค์กรซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงธุรกิจและในวงสังคม และประการที่สามเป็นการเพิ่มความโปร่งใส (Transparency) จากการที่องค์กรมีบรรทัดฐานในการติดตามและรายงานการปฏิบัติงานและการดำเนินการต้านทุจริตในภาษาเดียวกัน

อนึ่ง แนวทางการต้านทุจริตที่กล่าวมาข้างต้น อ้างอิงจากหลักการและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตที่พัฒนาขึ้นโดยข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) และองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International)

องค์กรธุรกิจที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสนใจเข้าร่วมขับเคลื่อนการต่อต้านทุจริตในภาคปฏิบัติ สามารถศึกษาข้อมูลจากเว็บไซต์เครือข่ายหุ้นส่วนต้านทุจริตเพื่อประเทศไทย หรือ Partnership Against Corruption for Thailand (PACT) ได้ที่ http://www.pact.network ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]