Sunday, June 21, 2020

ธุรกิจเข้าสู่โหมด Recovery จากโควิด

นับจากที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ได้ระบาดลุกลามไปทุกทวีปทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย เป็นเวลาร่วม 16 สัปดาห์ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2563

สถานการณ์ในปัจจุบัน ได้พัฒนาจากสถานะ Response คือ ช่วงการรับมือหรือเผชิญกับการแพร่ระบาดจากจุดสูงสุด มาสู่จุดที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย จนปลอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ เข้าสู่สถานะ Recovery คือ ช่วงการฟื้นสภาพการดำเนินงานให้กลับเข้าสู่ระดับที่เป็นปกติหรือใกล้เคียงกับภาวะปกติ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีระยะเวลาสำหรับการฟื้นฟูหลังสถานการณ์คลี่คลาย ประมาณ 1 ปี นับจากนี้

ในภาคธุรกิจ องค์กรส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ จะมีบทบาทในช่วงการฟื้นฟูที่แตกต่างกันตามลักษณะและขนาดของกิจการ บริษัทหรือองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ มักมุ่งที่การดำเนินงานและปฏิบัติการในระดับมหภาค ขณะที่บริษัทท้องถิ่นซึ่งมีขนาดเล็กกว่า จะดำเนินความช่วยเหลือที่เป็นการร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับชุมชน

โดยขอบข่ายการดำเนินการให้ความช่วยเหลือขององค์กรในสถานการณ์โควิด สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบการดำเนินผ่านกระบวนงานหลักทางธุรกิจ ในสถานประกอบการ ในช่องทางการตลาด และในสายอุปทาน รูปแบบการให้และกิจกรรมเพื่อสังคม ภายในชุมชนที่ธุรกิจดำเนินงานอยู่ และรูปแบบการเข้าร่วมหารือและผลักดันในนโยบายสาธารณะต่างๆ


รูปแบบการดำเนินการให้ความช่วยเหลือขององค์กรในสถานการณ์โควิด

การใช้ธุรกิจแกนหลัก (Core Business) และทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่ ถือเป็นหัวใจหลักของการทำงาน เป็นตัวกำหนดทิศทาง และลักษณะของการเข้าให้ความช่วยเหลือร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ในสถานการณ์โควิด การพิจารณาโอกาสในสถานประกอบการ ในช่องทางการตลาด และในสายอุปทาน เช่น การบริจาค และการอาสาในหมู่พนักงาน ซึ่งมักจะเป็นกิจกรรมแรกๆ ที่เกิดขึ้นในระยะของการช่วยเหลือ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม เพื่อชักนำให้เกิดสภาพแวดล้อมในการทำงานร่วมกันและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งบทบาทหลังนี้ จะสามาถขยายผลด้วยการแสดงคำมั่นอย่างจริงจังต่อการร่วมฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ

ขณะที่สมาคมการค้า สภาอุตสาหกรรม หอการค้า และการรวมตัวในรูปแบบอื่นๆ จะมีบทบาทสำคัญจำเพาะในการรับมือกับประเด็นความท้าทายที่อยู่เกินขอบเขต อำนาจ และความสามารถในการทำงานของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง การรวมกลุ่มทำงาน สามารถเป็นได้ทั้งธุรกิจกับธุรกิจ ธุรกิจกับรัฐ ธุรกิจกับประชาสังคม หรือผสมผสานระหว่างกลุ่ม ทั้งนี้ การทำงานวิถีกลุ่ม (Collective Action) จะช่วยเพิ่มกำลังและความชอบธรรมในการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในการรับมือสถานการณ์ และการฟื้นฟูหลังสถานการณ์คลี่คลาย

อย่างไรก็ดี ความช่วยเหลือจำเพาะที่แต่ละบริษัทและแต่ละสมาคมธุรกิจในช่วงสถานการณ์ จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ

สาขาอุตสาหกรรม และชนิดของสินค้า บริการ ทรัพยากร และทักษะที่มีอยู่
รูปแบบ ขนาด และโครงสร้างผู้ถือหุ้นของธุรกิจ
ถิ่นที่ตั้ง ที่ต้องคำนึงถึงการดำเนินงานของทั้งสำนักงานใหญ่และสำนักงานในท้องถิ่น นอกเหนือจากประเด็นทางวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
จำนวนบริษัทที่เกี่ยวข้อง อาทิ การคำนึงถึงการดำเนินงานเฉพาะองค์กรในห่วงโซ่ธุรกิจของตนเอง หรือผ่านมูลนิธิที่องค์กรจัดตั้งขึ้น หรือร่วมกับบริษัทอื่น ภาคีอื่น เช่น รัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ

บทบาทของภาคธุรกิจในระยะฟื้นฟูหลังสถานการณ์คลี่คลาย มีความสำคัญยิ่ง และไม่ได้ส่งผลเฉพาะกับการทำธุรกิจตามปกติเท่านั้น แต่การดำเนินบทบาทเหล่านี้ยังสามารถนำไปสู่การสนับสนุน (และชี้นำ) การทำงานขององค์กรในหลายขั้นตอนจากนี้ไป

จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ได้ชี้ให้เห็นความจำเป็นของการวางแผนรับมือสถานการณ์ด้านสุขภาพที่คล้ายคลึงกันในอนาคต รวมไปถึงการตระเตรียมบทบาททางธุรกิจเฉพาะสาขา ที่จำเป็นต่อการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและระดับท้องถิ่น การกำหนดบทบาทของภาคธุรกิจที่มีส่วนในการฟื้นฟูและสร้างผลกระทบในวงกว้าง ตลอดจนการสนับสนุนให้ธุรกิจดำเนินไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, June 07, 2020

SDG Impact Company: บริษัทผลัดเปลี่ยนโลก

นับจากที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ได้ถูกประกาศโดยสหประชาชาติให้นานาประเทศ ได้นำไปใช้เป็นเป้าหมายในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีทุกภาคส่วนร่วมดำเนินการ ภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทจดทะเบียน ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียที่ต้องรับผิดชอบต่อการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรมนุษย์ในสัดส่วนที่สูง ต่างแสดงเจตนารมณ์และบทบาทที่จะมีส่วนในการร่วมตอบสนองต่อ SDGs ให้บรรลุผล รวมทั้งต้องการที่จะแสดงให้เห็นถึงผลกระทบและความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมและวัดผลได้

เพื่อให้สอดรับกับความเคลื่อนไหวดังกล่าว องค์การสหประชาชาติ โดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (International Standards of Accounting and Reporting: ISAR) ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) ซึ่งมีสำนักงานการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ ได้เผยแพร่ แนวทางตัวบ่งชี้การดำเนินงานหลัก (Guidance on Core Indicators: GCI) สำหรับกิจการเพื่อรายงานการดำเนินการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้มีการกำหนดตัวชี้วัดหลักสำหรับตอบสนอง SDGs จำนวน 15 รายการ ในสี่ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านธรรมาภิบาล

ความริเริ่มของ ISAR มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะทลายข้อจำกัดของการแสดงให้เห็นถึงการตอบสนองขององค์กรธุรกิจต่อ SDGs ซึ่งในหลายกรณี ไม่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งที่องค์กรดำเนินการ กับเป้าหมาย SDGs ที่เชื่อมโยงไปถึง เป็นเพียงความพยายามในการจัดให้เข้าพวก ด้วยชื่อหรือหัวข้อที่อนุมานเองว่าน่าจะมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เชื่อมโยง มิได้ตอบโจทย์เป้าหมายตามจริง

รวมทั้งการขจัดอุปสรรคสำคัญ เมื่อองค์กรธุรกิจพยายามที่จะตอบโจทย์ให้ตรงกับเป้าหมาย โดยลงไปพิจารณารายละเอียดของ SDGs ในระดับตัวชี้วัด (Indicator-level) แต่กลับพบว่า ตัวชี้วัด SDGs นั้นๆ นำมาใช้ไม่ได้ (Not applicable) กับภาคธุรกิจ อาทิ เป็นตัววัดที่กำหนดให้ดำเนินการโดยรัฐ จึงไม่สามารถอ้างอิงได้เต็มปากว่า สิ่งที่องค์กรดำเนินการและต้องการเปิดเผยข้อมูลให้มีความเชื่อมโยงไปสู่ SDGs ข้อดังกล่าว สามารถตอบสนองต่อ SDGs เป้านั้นได้จริง แม้ว่าชื่อหรือหัวข้อดูจะมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ GCI จึงได้ถูกพัฒนาขึ้น และนำมาใช้เป็นเครื่องยืนยันถึงสถานะความเป็นกิจการ ที่มีส่วนในการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรธุรกิจ และยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงการดำเนินงานขององค์กร ที่มีส่วนในการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับตัวชี้วัด (Indicator-level SDGS) ซึ่งมีความคล้องจองกับข้อมูล SDGs ที่รัฐบาลจัดเก็บในระดับประเทศ และใช้รายงานต่อสหประชาชาติด้วย

ในประเทศไทย ได้มีการนำ GCI ที่พัฒนาโดย ISAR มาใช้เป็นเกณฑ์ในการตรวจยืนยัน (Validate) การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ตามตัวชี้วัดหลัก 15 รายการ (33 ตัวชี้วัด) เพื่อให้การรับรอง (Certify) เป็นกิจการที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ SDG Impact Company โดยที่กิจการจะต้องมีคะแนนปรากฏทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านธรรมาภิบาล โดยไม่มีด้านใดด้านหนึ่งที่ปราศจากคะแนน

ตัวอย่างของกิจการในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองให้อยู่ในบัญชีรายชื่อ SDG Impact Company ได้แก่ บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) หรือ TTW ซึ่งได้รับการประเมินผลกระทบที่มีต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับ GOLD CLASS จากการตรวจยืนยันตามเกณฑ์ GCI ของ ISAR โดยได้รับคะแนนด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล เกินสองในสามของคะแนนเต็มในทุกด้าน

องค์กรธุรกิจที่สนใจนำแนวทาง GCI ของ ISAR มาดำเนินการ สามารถศึกษารายละเอียดได้จากหนังสือ “Corporate SDG Impact: From Purpose to Performance” ที่สถาบันไทยพัฒน์จัดทำขึ้น โดยอ้างอิงจากแนวทางดังกล่าว ซึ่งสามารถดาวน์โหลดทางเว็บไซต์ https://thaipat.org (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]