Sunday, March 29, 2020

โควิด 19: ESG กระทบโลก กระเทือนธุรกิจ

ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน ในการใช้เป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์และพิจารณาตัดสินใจลงทุนมาระยะหนึ่งแล้ว

ประเด็นด้าน ESG จัดเป็นข้อมูลประเภทที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน ที่สามารถบ่งชี้ถึงโอกาสและความเสี่ยง รวมทั้งขีดความสามารถขององค์กรที่มีต่อผลประกอบการในอนาคต นอกเหนือจากข้อมูลทางการเงินที่สะท้อนผลประกอบการที่ผ่านมาของบริษัท

ในประเด็นด้าน ESG ที่สมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges) แนะนำให้บริษัทจดทะเบียนมีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการ ในฐานะหนึ่งในตัวชี้วัดพื้นฐาน (Baseline Indicators) ได้แก่ ประเด็นสุขภาพโลก (Global Health) ซึ่งหมายถึง ปัญหาหรือข้อกังวลด้านสุขภาพ ที่ข้ามพรมแดน หรือผลจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนอกพรมแดน และเกินขอบเขตและความสามารถของรัฐใดรัฐหนึ่งที่จะดำเนินการได้สำเร็จ ต้องการกลไกที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก เพื่อจัดการปัญหาสุขภาพและปัจจัยกำหนดปัญหาเหล่านั้น เช่น โรคติดเชื้อข้ามพรมแดน (อาทิ MERS, SARS, COVID-19) และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ก่อให้เกิดปัญหาข้ามพรมแดน รวมถึงปัญหาจากผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ บุหรี่ เหล้า เป็นต้น

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน ได้กระจายตัวไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวางสู่หลายประเทศทั่วโลก โดยมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จัดเป็นหนึ่งในประเด็นด้าน ESG ที่บริษัทจำเป็นต้องหามาตรการเร่งด่วนในการรับมือกับสถานการณ์ เนื่องจากส่งผลกระทบในวงกว้างต่อผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ ทั้งเรื่องความปลอดภัยของพนักงาน พฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงสถานการณ์ ความไม่ต่อเนื่องในห่วงโซ่อุปทาน และการหยุดชะงักของธุรกิจที่ส่งผลต่อรายได้และบรรทัดสุดท้าย (คือ กำไร) ของกิจการ

โควิด 19 ถือเป็นประเด็น ESG ที่เป็นสาระสำคัญและมีนัยสำคัญทางการเงิน (Financially Material Topic) สำหรับองค์กร ที่สามารถส่งผลกระทบได้ในเชิงที่เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงของธุรกิจ

ตัวอย่างธุรกิจซึ่งได้รับผลกระทบในแง่ของความเสี่ยง ได้แก่ ธุรกิจการบิน โรงแรม นำเที่ยว สถานบันเทิง ร้านอาหาร (ประเภทนั่งทาน) รวมทั้งธุรกิจรับจัดงานและนิทรรศการต่างๆ เป็นต้น ตัวอย่างธุรกิจซึ่งได้รับผลกระทบในแง่ของโอกาส ได้แก่ ธุรกิจจัดส่งสินค้า (Delivery) โรงพยาบาล ประกันสุขภาพ ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อและบริการทำความสะอาดสถานที่ให้ปลอดเชื้อ รวมทั้งธุรกิจที่ใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์และผู้ให้บริการเครื่องมือสำหรับการทำธุรกรรมออนไลน์ อาทิ การประชุมทางไกล เป็นต้น


จากการวิเคราะห์ของแมคคินซี่ ร่วมกับ ออกซฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ในกรณีที่การรับมือด้านสาธารณสุขมีประสิทธิผล แต่การแพร่ระบาดยังคงขยายตัวในระดับภูมิภาค ขณะที่นโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจที่ออกมารองรับส่งผลในระดับหนึ่ง จะทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า “Muted Recovery” หรือ การฟื้นคืนทรงตัว ไม่ขยับไปไหนเป็นระยะเวลานาน ตามฉากทัศน์นี้ จะฉุดให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลก หรือ จีดีพีโลก ในปี 2563 ติดลบ 4.7% และคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นคืนกลับมาสู่ภาวะปกติได้อีกครั้ง ในไตรมาสที่สาม ของปี 2565 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า

จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่จำนวนยอดผู้ติดเชื้อยังอยู่ในอัตราที่เพิ่มขึ้น แสดงถึง ภาวะของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังมิได้ขึ้นสู่จุดสูงสุดของสถานการณ์ นั่นหมายความว่า ความชะงักงันทางเศรษฐกิจ ก็ยังมิได้ดิ่งลึกลงถึงจุดต่ำสุดเช่นกัน

ข้อกำหนดที่ออกตามหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อาทิ การห้ามหรือจำกัดการเข้าออกสถานที่ การเดินทาง การเคลื่อนย้ายข้ามเขต ข้ามพื้นที่ การควบคุมการใช้ยานพาหนะและเส้นทางจราจร เป็นมาตรการที่ส่งผลไปยังการหดตัวของปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และการลงทุนของภาคเอกชนอย่างฉับพลันทันที โดยธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ในปี 2563 จะติดลบ 5.3%

โควิด 19 ได้กลายเป็นประเด็น ESG ที่ทำให้ทั้งโลกได้รับผลกระทบทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระเทือนตามมาเป็นลูกโซ่ ทั้งธุรกิจข้ามชาติ บริษัทขนาดใหญ่ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไปจนถึงร้านค้า หาบเร่ แผงลอย โดยถ้วนทั่วทุกหัวระแหง จึงขอให้ผู้ประกอบการทุกท่าน เตรียมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างมีสติและด้วยความรอบคอบระมัดระวังนับจากนี้ไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, March 15, 2020

Checklist ธุรกิจ รับมือ COVID-19

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้กระจายตัวไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวางสู่หลายประเทศทั่วโลก โดยมีความรุนแรงและยังไม่มีวี่แววว่าจะคลี่คลายลงในระยะเวลาอันใกล้ องค์กรในภาคธุรกิจจำเป็นต้องมีแผนเผชิญเหตุไว้ดูแลกิจการของตนให้ผ่านพ้นสถานการณ์ และดูแลผลกระทบให้อยู่ในวงจำกัด


สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งเน้นงานส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ ได้จัดทำแนวทางรับมือของภาคธุรกิจต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เผยแพร่สำหรับให้องค์กรได้นำไปใช้ดูแลกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญของกิจการในช่วงสถานการณ์

เอกสาร Business Response Guidance on COVID-19 สำหรับองค์กร ประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงานซึ่งครอบคลุมกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องหลัก 6 กลุ่ม และ Checklist สิ่งที่ควรดำเนินการ 15 รายการ ที่จะช่วยให้องค์กรสามารถจัดทำแผนรองรับสถานการณ์ได้อย่างรอบด้าน ดังนี้

ด้านพนักงาน ประกอบด้วย (1) ศึกษาและดำเนินการตามคำแนะนำการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับสถานประกอบการ สถานที่ทำงาน ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (2) จัดให้มีช่องทางการติดต่อสื่อสารสองทางกับพนักงาน และมาตรการรองรับที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการในสถานประกอบการ สถานที่ทำงาน (3) จัดให้มีการตรวจคัดกรองพนักงานและผู้มาติดต่อ พิจารณาจัดตั้งทีมเผชิญเหตุในกรณีฉุกเฉิน (สำหรับองค์กรที่มีพนักงานทำงานหนาแน่น หรือมีการเดินทางไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มเสี่ยง)

ด้านลูกค้า ประกอบด้วย (4) ศึกษาและดำเนินการตามคำแนะนำการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับผู้ประกอบการ (โรงแรม ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว นวดหรือสปา) คำแนะนำ การป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับการจัดการประชุม สัมมนา หรือกิจกรรมอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งคำแนะนำของหน่วยงานผู้กำกับดูแลในกลุ่มอุตสาหกรรมหรือหมวดธุรกิจที่ตนสังกัด (ถ้ามี) (5) สื่อสารให้ข้อมูลกับลูกค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าและบริการ การรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ บริการจัดส่งสินค้าไปยังปลายทางตามที่ลูกค้าต้องการ และการทำธุรกรรมระยะไกลกับลูกค้า หรือ ณ สถานที่ที่ลูกค้าสะดวก

ด้านคู่ค้า ประกอบด้วย (6) ประเมินผลกระทบในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะผู้ส่งมอบหลักที่เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบป้อนสายการผลิตหลัก พร้อมจัดทำแนวทางและมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น (ถ้ามี) (7) ปรับปรุงข้อตกลงหรือทุเลาบางข้อสัญญากับผู้ส่งมอบ รวมทั้งการพิจารณาชำระเงินคงค้างหรือเงินล่วงหน้าที่ช่วยให้ธุรกิจของผู้ส่งมอบฟื้นตัวในระยะสั้น (8) ดำเนินการประเมินอุปสงค์ใหม่หลังสถานการณ์สิ้นสุด เพื่อใช้วางแผนการบริหารจัดการอุปทาน บนข้อสันนิษฐานสภาพตลาดและรูปแบบหรือพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ด้านหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย (9) ศึกษาและปฏิบัติตามประกาศและคำสั่งของกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค ในส่วนที่องค์กรมีความเกี่ยวข้อง (10) ติดตามรายงานสถานการณ์รายวัน รวมทั้งคำถามที่พบบ่อย (FAQs) โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

ด้านชุมชน ประกอบด้วย (11) พิจารณาโอกาสและความเป็นไปได้ในการนำ Core Business ขององค์กร มาใช้ในการช่วยเหลือในช่วงสถานการณ์ นอกเหนือจากกิจกรรมการบริจาคหรือการอาสาสมัคร (12) ใช้ประโยชน์จากระบบโลจิสติกส์ที่องค์กรมีอยู่ ในการเข้าถึงหรือกระจายสินค้าที่จำเป็นและขาดแคลนให้แก่ชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือหรือกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงสถานการณ์

ด้านผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย (13) ทบทวนแผนการใช้จ่ายเงิน โดยเฉพาะการรักษาสภาพคล่องทางการเงินในช่วงสถานการณ์ที่มีความผันแปรสูง รวมทั้งมาตรการทางการเงินต่างๆ ที่จำเป็นในระยะสั้น (14) ดำเนินการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Testing) เพื่อตรวจยืนยันความเข้มแข็งทางการเงิน และพิจารณาจัดทำแผนรองรับสถานการณ์ (Contingency Plan) ให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว (15) มีการรายงานให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบถึงแนวทางการจัดการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

องค์กรธุรกิจและหน่วยงานที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดเอกสาร “Business Response Guidance on COVID-19” (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทางเว็บไซต์ www.thaipat.org


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, March 01, 2020

6 ทิศทาง CSR ปี 63

เมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา สถาบันไทยพัฒน์ ได้ประเมินทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า 6 ทิศทาง CSR ปี 2563: The Year of Sustainpreneurship เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับหน่วยงานและองค์กรธุรกิจ ในการใช้เป็นแนวทางเสริมสร้างภาวะผู้ประกอบความยั่งยืนให้เกิดขึ้น ในอันที่จะส่งมอบคุณค่าร่วมแก่ผู้มีส่วนได้เสียทั้งผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า ผู้ส่งมอบ ชุมชนท้องถิ่น และสังคมโดยรวม

ในรอบปี 2563 การให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง ภายใต้กระแสที่เรียกว่า Stakeholder Capitalism หรือ วิถีทุนนิยมที่เอื้อต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มในระบบเศรษฐกิจ จะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจ ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น 6 ทิศทางสำคัญ ดังนี้

1.Investing in Employees
การพัฒนาบทบาทพนักงานที่เป็นมากกว่า “ทรัพยากร” (Resources) แต่เป็น “ทุน” (Capital) ของกิจการ

ปี 2563 องค์กรที่ให้ความสำคัญกับพนักงานในฐานะ “ทุน” ของกิจการ จะมีการสร้างแรงจูงใจหรือให้สิ่งจูงใจที่เหมาะสมแก่พนักงานในหลายรูปแบบ มีเส้นทางพัฒนาบทบาทของพนักงานที่ไม่จำกัดเพียงแค่สถานะลูกจ้างหรือผู้บริหาร แต่สามารถเป็นหุ้นส่วนหรือเป็นผู้ประกอบการในสังกัดของกิจการ (Intrapreneur) ที่ช่วยให้องค์กรเติบโตจากภายใน แต่มีความยืดหยุ่นเหมือนทำงานอยู่ภายนอกองค์กร โดยที่กิจการเป็นผู้ลงทุนและจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ให้กับพนักงานที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการ

2.Delivering Shared Value to Customers
การส่งมอบคุณค่าร่วมจาก “กระบวนการธุรกิจ” ในรูปแบบ CSR-in-process มาสู่ “ตัวผลิตภัณฑ์” ในรูปแบบ CSR-in-product

ภาคธุรกิจที่ต้องการได้มาซึ่ง License to Grow จะมีการพิจารณาแนวทางการส่งมอบคุณค่าร่วมในรูปแบบ CSR-in-product หรือการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในตัวผลิตภัณฑ์ ที่มาจากการปรับแกนหลักของธุรกิจ (Core Business) ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือมีความเป็นมิตรต่อสังคมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโตในตลาดใหม่ ที่สามารถเป็นแหล่งรายได้ใหม่ของกิจการในระยะยาว

3.Dealing Fairly and Ethically with Suppliers
การเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันจากการปฏิบัติต่อคู่ค้าอย่างเป็นธรรมและมีจริยธรรม

ในทศวรรษ 2020 ขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจ จะไม่ได้วัดกันที่ความสำเร็จขององค์กร (Organization) ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของกิจการอย่างเป็นเอกเทศ แต่เป็นความได้เปรียบทางการแข่งขันที่เกิดจากห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่อยู่ภายใต้การกำกับของกิจการในทิศทางที่สอดคล้องกับความมุ่งประสงค์ขององค์กร

4.Supporting the Local Communities
การสนับสนุนและพัฒนาชุมชนท้องถิ่น จากรูปแบบ CSR-after-process มาสู่ CSR-in-process

การนำกระบวนการหรือกิจกรรมทางธุรกิจมาใช้สนับสนุนและพัฒนาชุมชนท้องถิ่น จะกลายเป็นกลไกหลักในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน และตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งในแง่ของการสร้างงานแก่คนในท้องถิ่นด้วยการมอบโอกาสให้แก่สมาชิกชุมชนในการเป็นผู้ส่งมอบ ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าปลีก ผู้ให้บริการในห่วงโซ่ธุรกิจ และในแง่ของการพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการตามกำลังซื้อของผู้บริโภคในชุมชนท้องถิ่น ให้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต

5.Valuing ESG Investors for Greater Impact
การให้คุณค่ากับผู้ลงทุนที่ใช้ปัจจัยด้าน ESG ในการพิจารณาตัดสินใจลงทุน เพื่อสร้างผลกระทบที่ดีต่อโลก

เป็นที่คาดหมายว่า บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จะมีการวิจัยข้อมูลและการจัดทำบทวิเคราะห์บริษัทในประเด็นด้าน ESG รวมทั้งการแนะนำหลักทรัพย์ที่มีความโดดเด่นด้าน ESG ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ที่คำนึงถึงประเด็นด้าน ESG เพิ่มขึ้น สำหรับเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนสามารถได้รับผลตอบแทนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป และยังทำให้การลงทุนนั้น ช่วยเสริมสร้างผลกระทบเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกในทางที่ดีขึ้นด้วย

6.Collaborating with Local Government
การทำงานร่วมกับภาครัฐในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnership for Sustainable Development)

กิจการที่ต้องการความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ จำเป็นต้องแสวงหากระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ผ่านช่องทางที่รัฐมีบทบาทเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่กิจการมีแหล่งดำเนินงานหรือสถานประกอบการตั้งอยู่ ในทิศทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 17 ในแง่ของการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnership for Sustainable Development)


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]