ในคำถามแรก สถาบันไทยพัฒน์ได้เคยทำการสำรวจระดับของพัฒนาการ CSR โดยแยกเป็นภาคธุรกิจในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล กับในส่วนภูมิภาค เมื่อต้นปี 2552 ผลการสำรวจ พบว่า ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 27 เพิ่งเรียนรู้และทำความเข้าใจ ร้อยละ 53 ปฏิบัติได้ดีระดับหนึ่ง และร้อยละ 16 มีความก้าวหน้าดีมาก ขณะที่ในส่วนภูมิภาค ร้อยละ 45 เพิ่งเรียนรู้และทำความเข้าใจ ร้อยละ 40 ปฏิบัติได้ดีระดับหนึ่ง และร้อยละ 12 มีความก้าวหน้าดีมาก ที่เหลือตอบว่าไม่แน่ใจ
ส่วนในคำถามที่สอง สถาบันไทยพัฒน์ได้ประมวลข้อแนะนำ 4 ประการ สำหรับการขับเคลื่อน CSR ในประเทศไทย ไว้ในรายงานการศึกษาวิจัยเรื่อง “การดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบในประเทศไทย” (Responsible Business Conduct in Thailand) ที่เสนอต่อองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ CSR ที่ถูกต้องและทั่วถึง ด้านการบูรณาการเรื่อง CSR ให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร ด้านการสื่อสารเรื่อง CSR ที่สอดคล้องตรงตามความเป็นจริงและทันเวลา และด้านการส่งเสริมความริเริ่มรายสาขา (sectoral initiatives) ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีรายละเอียดของสิ่งที่ควรดำเนินการ ทั้งที่เป็นบทบาทของภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคการศึกษา และสื่อมวลชน แสดงไว้ในตาราง
1. การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ CSR ที่ถูกต้องและทั่วถึง
สิ่งที่ควรดำเนินการ: | |
• | รัฐควรส่งเสริมให้มีการเผยแพร่องค์ความรู้เรื่อง CSR ทางสื่อต่างๆ เพื่อให้เกิดการรับรู้อย่างทั่วถึง รวมทั้งสนับสนุนการจัดอบรมให้แก่ผู้ประกอบการโดนเฉพาะ SMEs |
• | เอกชนควรจะมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้าน CSR โดยมีองค์กรอย่างเช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย เป็น facilitator เนื่องจากมีเครือข่ายสมาชิกกระจายอยู่ทั่วประเทศ |
• | ส่งเสริมให้ภาคการศึกษาโดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาผลิตตำราและสื่อการเรียนรู้ด้าน CSR อย่างเป็นระบบ และสร้างให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ รวมทั้งการผลิตงานวิจัยด้าน CSR ร่วมกับนักวิชาการต่างประเทศ |
2. การบูรณาการเรื่อง CSR ให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร
สิ่งที่ควรดำเนินการ: | |
• | รัฐควรสร้างให้เกิดบรรยากาศการดำเนินงาน CSR ด้วยการสร้างสิ่งจูงใจหรือมาตรการทางการเงินการคลังที่สนับสนุนให้องค์กรธุรกิจผนวกเรื่อง CSR ไว้ในกระบวนการทางธุรกิจ ทั้งนี้ เพื่อยกระดับให้เกิดเป็นขบวนการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบอย่างกว้างขวาง |
• | กิจการควรมีการกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานด้าน CSR ที่เหมาะสมกับองค์กร รวมทั้งการเสริมสร้างสมรรถภาพการดำเนินงาน CSR อย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับศักยภาพที่มีอยู่ขององค์กร |
• | ควรมีการพัฒนาระบบจัดการและมาตรการทั้งในระดับองค์กร ระดับสายงาน และระดับบุคคลเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดการดำเนินงานด้าน CSR ให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร |
3. การสื่อสารเรื่อง CSR ที่สอดคล้องตรงตามความเป็นจริงและทันเวลา
สิ่งที่ควรดำเนินการ: | |
• | รัฐควรสร้างเครื่องมือในการเฝ้าสังเกต (monitor) และควบคุมสื่อที่เข้าข่ายการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่เกินจริง การนำเสนอกิจกรรมเพื่อสังคมที่สร้างให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยเฉพาะกิจการที่ดำเนินธุรกิจอบายมุข และที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อสังคมอย่างร้ายแรง |
• | ธุรกิจควรมีการประเมินผลการสื่อสารเรื่อง CSR ที่ไม่ก่อให้เกิดผลในทางลดทอนคุณค่าการดำเนินงาน CSR ที่แท้จริงลง และคำนึงถึงการสื่อสารที่ตอบสนองและครอบคลุมถึงความสนใจของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง |
• | สื่อมวลชนควรทำหน้าที่เป็นหน้าด่านในการเป็นผู้นำเสนอตัวอย่างที่ดีแก่สังคม และคัดกรองเนื้อหาที่ไม่ถูกต้อง โดยไม่วางเฉย รวมทั้งต้องไม่ให้อิทธิพลของธุรกิจอยู่เหนือสำนึกรับผิดชอบในทางที่รับใช้หรือให้บริการโดยคำนึงถึงเพียงเม็ดเงินโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่จะได้รับ |
4. การส่งเสริมความริเริ่มรายสาขาในกลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญ
สิ่งที่ควรดำเนินการ: | |
• | รัฐควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจส่งออก โดยเฉพาะเครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า และยานยนต์ ได้ศึกษาเตรียมความพร้อมหรือเข้าร่วมในความริเริ่มในรายสาขาดังกล่าว |
• | SMEs ในกลุ่มธุรกิจส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการด้าน CSR ของคู่ค้าในต่างประเทศ ควรจะให้ความสำคัญกับมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มอัญมณี พลาสติก และยาง |
• | หน่วยงานอย่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือหอการค้าไทย ควรทำงานเชิงรุกในการสร้างความรู้ความเข้าใจในบริบทการค้าโลกยุคใหม่ที่มีการนำเรื่อง CSR มาเป็นเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่สมาชิกอย่างทั่วถึง |
(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) [Archived]