Saturday, December 18, 2021

105 กิจการตัวอย่างข้อมูลความยั่งยืน

เมื่อวันศุกร์ (17 ธ.ค.) ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ปี 2564 ซึ่งจัดขึ้นโดยประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน หรือ Sustainability Disclosure Community (SDC) ในความดูแลของสถาบันไทยพัฒน์

ปัจจุบัน การจัดทำข้อมูลความยั่งยืนของกิจการเพื่อเปิดเผยต่อสาธารณะ ได้กลายเป็นบรรทัดฐานของภาคธุรกิจที่ใช้สื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียขององค์กร เทียบเท่ากับการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินของกิจการให้แก่ผู้ลงทุน

ข้อมูลความยั่งยืนที่กิจการเปิดเผยตามมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์การดำเนินงาน การกำกับดูแล แนวการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่สะท้อนทั้งในทางบวกและทางลบตามความเป็นจริง

ในรายงานการสำรวจ KPMG Survey of Sustainability Reporting 2020 ระบุว่า ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วโลก ได้มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี ค.ศ.2020 ร้อยละ 96 ของบริษัทในกลุ่ม G250 (บริษัทที่มีรายได้สูงสุด 250 แห่งในโลก จากการจัดอันดับของ Fortune 500) และร้อยละ 80 ของบริษัทในกลุ่ม N100 (บริษัทที่มีรายได้สูงสุด 100 แห่ง คัดจาก 5,200 บริษัท จาก 52 ประเทศทั่วโลก) มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนเปิดเผยต่อสาธารณะ

ทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้กำหนดมาตรฐาน รวมทั้งหน่วยงานผู้กำกับดูแล และตัวกลางซื้อขายหลักทรัพย์ ต่างมีการออกแนวทางการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน และมีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การประกาศเกียรติคุณแก่องค์กรผู้จัดทำรายงาน เป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยผลักดันให้ภาคธุรกิจมีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนดังกล่าวได้อย่างเสมอต้นเสมอปลายและกระจายตัวไปในวงกว้าง โดยสถาบันไทยพัฒน์ได้ทำหน้าที่เป็นองค์กรผู้จัดหลัก และเป็นทั้งองค์กรผู้ร่วมจัดมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 เป็นต้นมา

สำหรับโครงการประกาศรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนปีนี้ มีองค์กรสมาชิกประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนที่เข้ารับการพิจารณารางวัลจำนวน 125 ราย แบ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 95 ราย บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ 11 ราย บริษัททั่วไปที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และองค์กรอื่นๆ อีก 19 ราย

องค์กรที่ได้รับรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนมีจำนวนทั้งสิ้น 105 ราย เป็นรางวัลเกียรติคุณ (Sustainability Disclosure Award) จำนวน 40 ราย ประกาศเกียรติคุณ (Sustainability Disclosure Recognition) จำนวน 45 ราย และกิตติกรรมประกาศ (Sustainability Disclosure Acknowledgement) จำนวน 20 ราย ( ดูผลการประกาศรางวัล ได้ที่ https://thaipat.org )

การเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบรายงานความยั่งยืนในปีนี้ ราวสองในสามขององค์กรผู้จัดทำรายงานที่เข้าร่วมรับการพิจารณารางวัล มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนที่อ้างอิงจากมาตรฐาน GRI ที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการมาตรฐานความยั่งยืนสากล (GSSB) ในความอุปถัมภ์ขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative)

ทั้งนี้ แนวทางและมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนที่ได้รับการอ้างอิงมากสุด ได้แก่ GRI โดยคิดเป็นสัดส่วนราวสองในสามของบริษัทที่จัดทำรายงานในกลุ่ม N100 และราวสามในสี่ของบริษัทที่จัดทำรายงานในกลุ่ม G250

และจากการสำรวจของ GRI ณ สิ้นปี ค.ศ.2020 ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับโลกด้านการเปิดเผยรายงานความยั่งยืน ในอันดับที่เก้า และรั้งอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ตามด้วยสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และเมียนมาร์ ตามลำดับ

สำหรับการพิจารณาตัดสินรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ใช้เกณฑ์ 3 ด้าน ที่อ้างอิงจาก Ceres-ACCA* ประกอบด้วย ด้านความสมบูรณ์ (Completeness) ของเนื้อหา น้ำหนักคะแนนร้อยละ 45 ด้านความเชื่อถือได้ (Credibility) ของเนื้อหา น้ำหนักคะแนนร้อยละ 35 ด้านการสื่อสารและนำเสนอ (Communication) เนื้อหา น้ำหนักคะแนนร้อยละ 20 ตามลำดับ

ภาพรวมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนขององค์กรผู้จัดทำรายงานในปีนี้ พบว่า ได้รับคะแนนด้านการสื่อสารและการนำเสนอเนื้อหาในสัดส่วนมากสุด รองลงมาเป็นด้านความสมบูรณ์ของเนื้อหา และในด้านความเชื่อถือได้ของเนื้อหา ตามลำดับ

ในโอกาสนี้ ขอแสดงความยินดีกับองค์กรผู้จัดทำรายงานที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ทั้ง 105 ราย ที่สามารถรักษาระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ให้เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ และร่วมกันตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG Target 12.6 ที่ระบุให้มีการผลักดันกิจการ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับข้อปฏิบัติที่ยั่งยืนไปดำเนินการ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนเข้าไว้ในรอบการรายงานประจำปีของบริษัท อย่างต่อเนื่องติดต่อกันทุกปี


--------------------------------------
* CERES ย่อมาจาก Coalition for Environmentally Responsible Economies หรือแนวร่วมกลุ่มเศรษฐกิจที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และ ACCA ย่อมาจาก the Association of Chartered Certified Accountants หรือสมาคมผู้สอบบัญชีรับอนุญาต



จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, December 04, 2021

จับตา “5 ธุรกิจ” น่าลงทุนแห่งอนาคต

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การลงทุนโดยคำนึงถึงปัจจัยสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG: Environmental, Social, and Governance) มีการเติบโตทั่วโลก และกินสัดส่วนหลักของการลงทุนที่ยั่งยืน คิดเป็น 71% ของเม็ดเงินลงทุนที่ยั่งยืนทั้งหมดที่มีอยู่ราว 35.3 ล้านล้านเหรียญ (GSIA, 2020)

มอร์นิ่งสตาร์ ได้ทำการสำรวจกองทุนยั่งยืนทั่วโลก ในรอบไตรมาส 3-21 ระบุว่า มูลค่ากองทุนยั่งยืนทั่วโลกเติบโตเกือบเท่าตัวในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักมาจากเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลในภูมิภาคยุโรป โดยจำนวนกองทุนยั่งยืนทั่วโลกมีการเติบโตขึ้นถึง 51% ในไตรมาสที่ 3 หรือรวมมากกว่า 7,000 กองทุน

ทรัพย์สินรวมของกองทุนยั่งยืนทั่วโลกมีมูลค่าราว 3.9 ล้านล้านดอลลาร์ โดยการเพิ่มขึ้นของกองทุนในยุโรปทำให้มีส่วนแบ่งตลาดที่ 88% (จากช่วงก่อนมีการบังคับใช้เกณฑ์ SFDR ที่ 82%) เม็ดเงินการลงทุนยั่งยืนทั่วโลกเป็นเงินไหลเข้า 1.3 แสนล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

สำหรับมูลค่ากองทุนยั่งยืนในประเทศไทย พบว่า มีอัตราการเติบโตเกือบเท่าตัวจากสิ้นปี ค.ศ.2020 โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท แต่มูลค่าทรัพย์สินเกือบทั้งหมดเป็นการลงทุนในต่างประเทศ กว่า 97% ของมูลค่าการลงทุนที่ยั่งยืนในประเทศไทย ในขณะที่การลงทุนในประเทศมีมูลค่ารวมเพียง 1.5 พันล้านบาท

สาเหตุหนึ่ง เป็นเพราะธุรกิจที่เป็นตัวเลือกของการลงทุนธีม ESG ในตลาดทุนมีจำกัด บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าตลาดสูงส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นเศรษฐกิจเก่า (Old Economy) ขณะที่ตัวเลือกในตลาดทุนต่างประเทศมีมากกว่า จึงทำให้เม็ดเงินการลงทุนที่ยั่งยืนของไทยไหลออกไปต่างประเทศเกือบทั้งหมด

ธุรกิจที่จัดว่าเป็นดาวเด่นสำหรับการลงทุนที่ยั่งยืน และมีอัตราการเติบโตสูง จะอยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) โดยธุรกิจน่าลงทุนที่มีแนวโน้มจะสร้างมูลค่าสูงให้แก่ผู้ลงทุนในอนาคต ประกอบด้วย

ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนประกอบ (Electric Vehicles & Components) ที่สอดรับกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่ง และร่วมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ตามนโยบาย 30/30 คือการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030

ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ที่จะไปเสริมหนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy) ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาเสริมสร้างจุดแข็งของประเทศไทย อาทิ พันธุวิศวกรรม (การดัดแปลงยีน) การผลิตสารเวชภัณฑ์ (เช่น ยา วัคซีน โปรตีนเพื่อการบําบัด) การผลิตชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ การเกษตร อาหาร และสิ่งแวดล้อม การผลิตที่ใช้เซลล์จุลินทรีย์ เซลล์พืช และเซลล์สัตว์ในการผลิตสารชีวโมเลกุล สารออกฤทธิ์ชีวภาพ การผลิตวัตถุดิบและ/หรือวัสดุจําเป็นที่ใช้ในการทดลองหรือทดสอบด้านชีววิทยาระดับโมเลกุล รวมทั้งบริการตรวจวิเคราะห์และ/หรือสังเคราะห์สารชีวภาพ

ธุรกิจการเกษตรและระบบอาหารแบบเจริญทดแทน (Regenerative Agriculture & Food System) ที่เน้นการคืนสภาพของหน้าดิน การเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ การปรับปรุงวัฏจักรของน้ำ การเพิ่มพูนบริการจากระบบนิเวศ การสนับสนุนการกักเก็บคาร์บอนด้วยวิธีการทางชีวภาพ การเพิ่มภาวะพร้อมผันจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกี่ยวข้องตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การแปรรูป การขนส่ง การจัดจำหน่าย การบริโภค ไปจนถึงกระบวนการกำจัดของเสีย รวมไปถึงการสร้างนวัตกรรมการผลิตอาหารที่เป็นผลบวกต่อธรรมชาติ (Nature-Positive Production)

ธุรกิจทรัพยากรหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก (Renewable Resources & Alternative Energy) ที่สอดรับกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน เช่น การใช้เชื้อเพลิงสะอาด การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า และการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน สำหรับรองรับการยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ ตามที่ประเทศไทยประกาศในเวทีประชุม World Leaders Summit ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (UNFCCC COP26) ที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน ค.ศ. 2065

ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) ที่ยังไม่ต้องถึงขั้นแบบไร้ตัวกลาง (DeFi) แต่เป็นการเงินแบบหลากหลาย (Diversified Finance) ที่ไม่ได้มีเพียงธนาคาร เงินทุนและหลักทรัพย์ หรือธุรกิจประกัน เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างศึกษาการออกใช้สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางในระดับรายย่อย (Retail CBDC) เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนในการใช้จ่ายและชำระเงินที่ปลอดภัย ลดต้นทุนต่อหน่วยของการใช้เงินสดในระบบ เอื้อประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม อีกทั้งได้เริ่มมีผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งที่เป็นศูนย์ซื้อขาย (Exchange) นายหน้า (Broker) ผู้ค้า (Dealer) ที่ปรึกษา (Advisor) และผู้จัดการเงินทุน (Fund Manager) ดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ที่ ก.ล.ต. เพิ่มมาเป็นประเภทธุรกิจใหม่ภายใต้การกำกับดูแลในปัจจุบัน


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]