Thursday, February 19, 2009

เอกชนชูแนวทาง CSR เร่งด่วน กลไกฝ่าวิกฤติระยะสั้น

ในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเช่นนี้ หลายบริษัทพยายามงัดกลยุทธ์ต่างๆ ในการฟันฝ่าอุปสรรค เพื่อสร้างความอยู่รอดให้กับองค์กร มีบริษัทหลายแห่งที่วางแนวทางหรือมาตรการระยะสั้น โดยเฉพาะการใช้ CSR (Corporate Social Responsibility) หรือ ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ (บรรษัทบริบาล) ช่วยเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้น

นินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้คือ ปัญหาแรงงานด้วยการเลย์ออฟพนักงานขององค์กรต่างๆ แต่สำหรับโตโยต้าแม้จะมีการลดพนักงานในส่วนของซับคอนแทรคบ้าง แต่ในส่วนพนักงานประจำก็ต้องรักษาไว้ ด้วยการเปิดโครงการเร่งด่วน ภายใต้ชื่อ speacial program คือ ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการจัดโครงการฝึกอบรมให้กับบัณฑิตที่กำลังจะจบการศึกษา โดยโตโยต้าได้ส่งช่างและเทรนเนอร์เข้าไปฝึกอบรมให้

สำหรับวิชาที่เข้าไปช่วยในการฝึกอบรมนี้มีทั้งหมด 4 ส่วน คือ

1. Bussiness Management by Toyota Way เป็นการให้ความรู้และอบรมเกี่ยวกับการบริหาร ซึ่งโตโยต้าไม่ได้มีความแข็งแกร่งเฉพาะด้านการผลิตเท่านั้น แต่ในด้านของบริหารจัดการ ไฟแนนซ์ และบริหารบุคคล ก็แข็งแกร่งเช่นกัน ซึ่งบริษัทจะนำสิ่งเหล่านี้ไปถ่ายทอดให้กับ

2. Productivity ให้ความรู้เกี่ยวกับการปรับระบบการผลิต โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤติเช่นนี้ โดยใช้หลักการของ Toyota System

3. Practical Problem Solving เป็นการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการแก้ปัญหาเรื่องของการบริหาร ซึ่งโตโยต้าอยู่เมืองไทยมาถึง 40 ปีฝ่าวิกฤติและแก้ไขปัญหามามาก จึงต้องการถ่ายประสบการณ์นี้

4. QC Cycle อบรมในเรื่องของคุณภาพในโรงงานต่างๆ ว่ากว่าจะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งชิ้นจะต้องมีระบบคุณภาพอย่างไรบ้าง

"เราทำเป็นไพล็อตโปรแกรมโดยจะเริ่มที่ธรรมศาสตร์เป็นแห่งแรกในวันที่ 11 มีนาคมนี้ ตามด้วยจุฬาและมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ถือเป็นหนึ่งในแนวทางซีเอสอาร์แบบเร่งด่วน ที่เราต้องการรักษาทรัพยากรบุคคล พร้อมๆ กับการช่วยเหลือสังคมนั่นคือบัณฑิตที่กำลังจะจบใหม่"

บางจากเปิดพื้นที่ขายของในปั๊มฟรี

วัฒนา โอภานนท์อมตะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บางจากปิโตรเลียม บอกว่า บางจากยึดหลักดำเนินธุรกิจว่า สังคมอยู่ได้บริษัทก็อยู่ได้ โครงการเร่งด่วนที่กำลังทำอยู่คือ สำรวจว่าขณะนี้มีแรงงานที่ตกงานแล้วกลับบ้านมากหรือไม่ และมีที่พักอาศัยอยู่ใกล้สถานีบริการน้ำมันบางจาก เพื่อดึงให้คนเหล่านี้เข้ามาทำงานในปั๊ม หรือเปิดพื้นที่ให้เข้ามาค้าขายโดยไม่คิดค่าเช่าที่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจและเจรจากับเจ้าของปั๊ม

"เรามีเน็ตเวิร์คอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งอยู่ใกล้ชุมชน จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ พร้อมๆ กับการช่วยเหลือคนเหล่านี้ อย่างน้อยให้เขาพอมีรายได้ประทังชีวิตไปได้ ถึงเวลาเมื่อเศรษฐกิจดีค่อยขยับขยายหรือว่ากันใหม่ ตอนนี้เรากำลังดูว่าจุดไหนทำได้เราก็จะเร่งทำไปก่อน นอกจากนี้ก็กำลังดูว่าชุมชนที่อยู่รอบข้างโรงกลั่นมีคนตกงานเยอะหรือไม่ และจะมีแผนกไหนที่พอจะให้คนเหล่านี้ได้เข้ามาทำงานในโรงกลั่น"

ไมเนอร์ เปิดสอนเตรียมตัวก่อนสมัครงาน

สุกิจ อุทินทุ รองประธานฝ่ายพัฒนาสังคม ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล บอกว่า ที่ผ่านมาก็ได้มีหลายโครงการเกี่ยวกับซีเอสอาร์ โดยใช้ธุรกิจของไมเนอร์ที่มีอยู่ เช่น โรงแรม ด้วยการจัดอีเวนท์ต่างๆ ล่าสุดที่จัดโครงการโปโลช้างโดยร่วมกับ ททท.ก็ได้มีการนำช้างเร่ร่อนเข้ามาร่วมโครงการนี้ และล่าสุดตนมีแนวคิดที่จะทำโครงการฝึกอบรมบัณฑิตในเรื่องของการสมัครงาน

"โครงการนี้เราเคยทำมาบ้างแล้ว และพอถึงในช่วงที่สถานการณ์ไม่ปกติ เรามองว่าช่วงนี้เหมาะสมที่จะนำโครงการนี้มาใช้ ที่ผ่านมามีบัณฑิตจบใหม่จำนวนมากที่ไม่รู้ว่าสมัครงานจะต้องทำตัวอย่างไร ทั้งบุคลิกภาพ การดำเนินการ ซึ่งเรามีโปรเจคแนะแนวนี้อยู่ ในแต่ละปีเรามีการสัมภาษณ์นักศึกษาจบใหม่เหล่านี้ที่มาสมัครงานเป็นหมื่นๆ คน เราจะนำเอาประสบการณ์เหล่านี้มาถ่ายทอด ช่วงเวลานี้น่าจะเหมาะสมอย่างยิ่ง"...จากรายงานพิเศษเรื่อง CSR ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ External Link


ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) พิสูจน์แล้วว่ามีผลต่อการเยียวยาสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะเรื่องความรับผิดชอบต่อส่วนรวมนั้นหากแวดวงธุรกิจ ซึ่งมีความพร้อมทั้งในด้านกำลังคน กำลังทรัพย์ และช่วยกันขับเคลื่อนสิ่งที่เรียกว่า "ความรับผิดชอบต่อสาธารณะ" ก็เชื่อแน่ว่าสังคมไทยจะได้รับการเยียวยา ปัญหาทุเลาลง โดยเฉพาะในห้วงเวลาแห่งวิกฤติเศรษฐกิจ ที่เต็มไปด้วยปัญหารุมเร้ารอบด้าน " กรุงเทพธุรกิจ" นำเสนอรายงานพิเศษเกี่ยวกับเรื่องนี้ ติดต่อกัน 4 ตอน โดยคุณศรัญยู ตันติเสรี

Wednesday, February 18, 2009

เปิดโมเดล "Inclusive Business" ยึดหลัก "ธุรกิจไม่ปิดกั้น"

บทพิสูจน์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นและถือว่าเป็นหนึ่งในแนวทางที่ช่วยให้องค์กรธุรกิจฟันฝ่าวิกฤติ และสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนก็คือ การทำ CSR (Corporate Social Responsibility) โดยช่วยเหลือรับผิดชอบสังคมโดยความสมัครใจ ด้วยการแสวงหาแนวทางใหม่ๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสหรือชุมชนในระดับฐานราก สามารถสร้างรายได้ด้วยการให้เข้าร่วมอยู่ในสายอุปทาน ในระบบซัพพลายเชน อาจเป็นผู้ผลิตผู้จำหน่าย (Suppliers) ในธุรกิจนั้นๆ ภายใต้รูปแบบที่เราเรียกว่า “ธุรกิจที่ไม่ปิดกั้น” หรือ Inclusive Business

ที่ผ่านมาข่าวคราวที่โด่งดังไปทั่วโลก เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นมปนเปื้อนสารเมลามีน ที่ขยายวงลุกลามไปยังผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ นั้น ได้ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อผู้ประกอบการ ทั้งที่เป็นผู้ผลิต ผู้ว่าจ้างให้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย ตลอดสายอุปทาน ซึ่งยังไม่นับรวมความเสียหายร้ายแรงต่อชีวิตและสุขภาพของผู้บริโภคที่ประเมินค่าไม่ได้ บทเรียนสำคัญครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า เกิดจากการขาดความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจ ที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลก

ดังนั้นการบังคับใช้มาตรฐานและข้อปฏิบัติด้าน CSR กับสินค้าส่งออกนำเข้าของประเทศต่างๆ อย่างเข้มงวด จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวและรับมือกับมาตรการเหล่านี้ให้ได้ ซึ่งธุรกิจที่ต้องพึ่งพิงอยู่กับสายอุปทาน โดยเฉพาะผู้ส่งออกนำเข้าจะต้องรับมือกับข้อกำหนดใหม่ๆ ที่มีเพิ่มมากขึ้น เรื่อง CSR จะถูกถ่ายทอดจากผู้ประกอบการหนึ่งไปสู่อีกผู้ประกอบการหนึ่งในสายอุปทานเป็นทอดๆ จนกลายเป็นบรรทัดฐาน (Norm) ของอุตสาหกรรมนั้นๆ ขณะที่แนวปฏิบัติ CSR ทั่วไปแต่เดิม จะถูกพัฒนาต่อยอดโดยสะท้อนให้เห็นลักษณะเฉพาะของแต่ละอุตสาหกรรมอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

"ธุรกิจที่ไม่ปิดกั้น หรือ Inclusive Business เป็นการดึงให้ภาคชุมชน-สังคมมาร่วมมือกัน หรือเข้ามาอยู่ในระบบซัพพลายเชนในธุรกิจ เมื่อเราทำธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งอยู่ แทนที่เราจะไปซื้อวัตถุดิบหรือสินค้ากับผู้ประกอบการด้วยกันเอง ก็เปลี่ยนไปซื้อกับชุมชนที่เขามีวัตถุดิบที่เราต้องการ ถือเป็นการสร้างรายได้และให้โอกาสกับชุมชนนั้นๆ ซึ่งมีความแตกต่างจากการบริจาคเงิน บริจาคสิ่งของอย่างสิ้นเชิง" พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ขยายความ

รูปแบบของ Inclusive Business นั้น ถือเป็นการทำธุรกิจแบบไม่ปิดกั้น ที่อาจเกี่ยวข้องกับชุมชน ผ่านแนวทางต่างๆ เช่น การจ้างงานผู้มีรายได้น้อยโดยตรง การมุ่งเน้นพัฒนาซัพพลายเออร์และผู้ให้บริการจากชุมชนที่มีรายได้ต่ำ หรือจัดหาสินค้าและบริการราคาถูกที่ชุมชนรายได้ต่ำพอมีกำลังซื้อได้ โดย

ธุรกิจแบบไม่ปิดกั้นไม่ใช่องค์กรการกุศล ซึ่งมีขอบเขตและงบประมาณอยู่จำกัด แต่เป็นการค้นหารูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืน หรืออาจบอกได้ว่าเป็นการดำเนินธุรกิจได้ดีด้วยการทำเรื่องดีๆ นั่นเอง

ในฐานะลูกจ้างและซัพพลายเออร์นั้น ภาคส่วนที่มีรายได้ต่ำจะมีโอกาสเข้าถึงระบบเศรษฐกิจแบบเป็นทางการ รวมทั้งโอกาสในการได้ฝึกอบรม ด้านการเงิน และรายได้ ส่วนในฐานะผู้บริโภคนั้น ผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำจะได้ประโยชน์จากสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของพวกเขา แต่มีราคาพอซื้อหาได้ ถ้าธุรกิจสามารถทำได้ทั้งสองอย่างนี้ ก็จะช่วยเปิดวงจรของการพัฒนาธุรกิจได้อย่างดี

ในการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม (WEF) เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระบุว่า ถึงแม้จะเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงขาลง แต่บริษัทต่างๆ ก็สามารถหาโอกาสท่ามกลางประชากรหลายพันล้านคนที่ดำรงชีวิตอย่างยากจน ด้วยการปรับใช้กลยุทธ์เชิงสร้างสรรค์ที่เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนในท้องถิ่นได้

นอกจากนี้ ยังมีการสรุปกลยุทธ์เชิงสร้างสรรค์ที่บริษัทบางแห่งได้ใช้ดำเนินธุรกิจในพื้นที่ยากจน ขณะเดียวกันก็กระตุ้นรายได้และอุปทานอาหารโดยร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น

ตัวอย่างบริษัทยูนิลีเวอร์ ไมเคิล เทรสโชว์ ประธานของบริษัท ยูนิลีเวอร์ ระบุว่า ในเวลาที่บริษัทต่างๆ กำลังมองหาวิธีรับประกันกลยุทธ์การเติบโตในระยะยาว จำเป็นต้องพัฒนาแนวทางที่ยั่งยืนทั้งในแง่ธุรกิจและสังคม ด้วยการให้อำนาจคนจนผ่านการทำงานร่วมกับเกษตรกรและนักธุรกิจรายย่อย ซึ่งวิธีการนี้ ยูนิลีเวอร์ จะช่วยปกป้องห่วงโซ่อุปทาน และนำประโยชน์ไปสู่ผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ก็พัฒนาความเป็นอยู่ไปด้วย

เช่นเดียวกับ วิตโตริโอ โคลาโอ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ โวดาโฟน ก็บอกเช่นกันว่า ด้วยการพัฒนาสินค้าและการใช้ประโยชน์ใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับผู้บริโภครายได้ต่ำ ทำให้บริษัทได้สร้างความมั่นคงในตลาดเกิดใหม่ที่แข่งขันกันมากขึ้น ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ได้จัดหาบริการที่จำเป็น ซึ่งจะช่วยพัฒนาความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของคนยากจน...จากรายงานพิเศษเรื่อง CSR ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ External Link


ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) พิสูจน์แล้วว่ามีผลต่อการเยียวยาสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะเรื่องความรับผิดชอบต่อส่วนรวมนั้นหากแวดวงธุรกิจ ซึ่งมีความพร้อมทั้งในด้านกำลังคน กำลังทรัพย์ และช่วยกันขับเคลื่อนสิ่งที่เรียกว่า "ความรับผิดชอบต่อสาธารณะ" ก็เชื่อแน่ว่าสังคมไทยจะได้รับการเยียวยา ปัญหาทุเลาลง โดยเฉพาะในห้วงเวลาแห่งวิกฤติเศรษฐกิจ ที่เต็มไปด้วยปัญหารุมเร้ารอบด้าน " กรุงเทพธุรกิจ" นำเสนอรายงานพิเศษเกี่ยวกับเรื่องนี้ ติดต่อกัน 4 ตอน โดยคุณศรัญยู ตันติเสรี

Tuesday, February 17, 2009

ฟื้นเศรษฐกิจ ด้วยกลไกซีเอสอาร์

มาตรการต่างๆ ที่พรั่งพรูออกมาจากรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถดถอย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการช่วยเหลือผู้ประกันตนคนละ 2,000 บาท หรือ มาตรการธงฟ้า จำหน่ายสินค้าราคาถูก ซึ่งทุกมาตรการล้วนแล้วแต่เป็นการแก้ไขที่เกิดจากภาครัฐแทบทั้งสิ้น แต่หนึ่งในแนวทางที่จะช่วยแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ได้ในยั่งยืนก็คือ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและองค์กรธุรกิจ ที่จะต้องร่วมกันส่งเสริมแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) ซึ่งถือเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบทางสังคมในระยะยาว

ทั้งนี้แนวทางใหม่ๆ ในการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจได้ร่วมรับผิดชอบต่อสังคมนั้น มีความหลากหลายมากขึ้น อาทิเช่น การเปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสหรือชุมชนในระดับฐานรากได้เข้ารับการฝึกทักษะอาชีพ การเข้าถึงแหล่งทุน และการสร้างรายได้ ด้วยการให้เข้าร่วมงานหรือเป็นผู้ส่งมอบ (Suppliers) ในธุรกิจ หรือการที่ธุรกิจผลิตสินค้าและบริการที่ตอบสนองต่อผู้มีรายได้น้อย หรือในระดับฐานรากโดยไม่เน้นผลกำไร แต่คำนึงถึงการยกระดับคุณภาพชีวิต ภายใต้รูปแบบที่เรียกว่า “ธุรกิจที่ไม่ปิดกั้น” (Inclusive Business)

พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ บอกว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่สามารถทำได้โดยลำพัง กล่าวคือ ไม่สามารถแก้ไขได้โดยภาครัฐฝ่ายเดียว หรือภาคเอกชนฝ่ายเดียว แต่จะต้องเกิดความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม และต้องเร่งกระทำอย่างเร่งด่วน ซึ่งแนวทางในการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบทางสังคมในภาวะเร่งด่วนนี้ จำเป็นต้องตั้งอยู่บนหลักการสำคัญเพื่อนำไปปฏิบัติมีอยู่ 2 ข้อด้วยกัน คือ ข้อแรก รัฐควรออกมาตรการจูงใจเฉพาะกิจที่มีกำหนดเวลา เพื่อให้ภาคเอกชนนำกลไก CSR มาใช้ในการร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังประสบปัญหาเป็นการเร่งด่วน และ ข้อสอง รัฐควรบูรณาการแผนงานของรัฐในการบรรเทาผลกระทบทางสังคมจากวิกฤติเศรษฐกิจ และผลักดันให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมระหว่าง รัฐ เอกชน และประชาสังคม โดยใช้กิจกรรม CSR เป็นแกนกลางในการผสานความร่วมมือจากทุกฝ่าย

“มาตรการต่างๆ ที่ออกมาของรัฐบาลนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดีแต่ส่วนใหญ่เป็นมาตรการระยะสั้น สิ่งที่ผมมองคือเราควรมองในระยะยาวด้วย การส่งเสริมให้องค์กรธุรกิจทำ CSR ด้วยการสนับสนุนอย่างเป็นระบบจะช่วยให้เกิดความยั่งยืน ขณะที่องค์กรธุรกิจเองต่างก็พยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการเลย์ออฟพนักงาน แต่หากมองในทางกลับกัน ช่วงเวลาแบบนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ที่แต่ละแห่งจะได้ทำการปัดกวาดบ้านของตัวเอง และได้เห็นถึงศักยภาพของบุคลากรว่าควรรักษาคนไหนไว้ ดังนั้นช่วงโอกาสแบบนี้การทำ CSR จะมีส่วนช่วยให้องค์กรนั้นอยู่รอดได้”

5 ข้อเสนอ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
พิพัฒน์ ยังได้เสนอวิธีการในการส่งเสริมการทำ CSR เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบทางสังคมในภาวะเร่งด่วน น่าจะประกอบด้วย 5 แนวทาง ได้แก่

1. จัดตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีด้านสังคม (Social Board) ซึ่งครอบคลุมกระทรวงหลักที่รับผิดชอบด้านสังคม อาทิเช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านประชาสังคมและด้านธุรกิจเพื่อสังคม อีกจำนวนหนึ่ง โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานด้านสังคมเป็นประธาน เพื่อให้เกิดบูรณาการ พร้อมผลักดันให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมระหว่างรัฐ เอกชน และประชาสังคม โดยใช้กิจกรรม CSR เป็นแกนกลางในการผสานความร่วมมือจากทุกฝ่าย

2. เร่งรัดการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา พ.ศ. 2551 เพื่อเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีให้มีหรือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา โดยเฉพาะมาตรการจูงใจ เพื่อให้เอกชนนำกลไกการดำเนินงาน CSR มาใช้ในการร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ

3. จัดหาช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้าน CSR อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะสื่อประชาสัมพันธ์ของรัฐ ในรูปแบบของสถานีโทรทัศน์หรือสถานีวิทยุเพื่อสังคม เพื่อรณรงค์ให้เกิดการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการต่างๆ ในวงกว้าง

4. ดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ทางสังคม (Social Mega-Project) ที่มิใช่เรื่องของสิ่งปลูกสร้าง แต่เป็นทุนมนุษย์ ในประเด็นที่มีความขาดแคลนเฉพาะหน้า เช่น การผลิตแพทย์และพยาบาลชุมชน แบบ Fast Track ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการดูแลปัญหาสุขภาพอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ การตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อทำงานเชิงรุกในชุมชน เพื่อรับมือกับปัญหาสังคม เช่น การลักทรัพย์ การพนัน อาชญากรรม อันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพครูทั่วประเทศ ด้วยการใส่ “ยุทธศาสตร์” ใน “ครุศาสตร์” สู่การปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว พร้อมปรับเนื้อหาหลักสูตรและการเพิ่มเติมวิชาด้าน CSR ลงไปในทุกสถาบันอุดมศึกษา

5. การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ทางสังคมตามแนวที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนด โดยมีสิ่งจูงใจทางการเงินและภาษี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนในระบบเศรษฐกิจ ในรูปแบบของ “Inclusive Business”...จากรายงานพิเศษเรื่อง CSR ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ External Link


ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) พิสูจน์แล้วว่ามีผลต่อการเยียวยาสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะเรื่องความรับผิดชอบต่อส่วนรวมนั้นหากแวดวงธุรกิจ ซึ่งมีความพร้อมทั้งในด้านกำลังคน กำลังทรัพย์ และช่วยกันขับเคลื่อนสิ่งที่เรียกว่า "ความรับผิดชอบต่อสาธารณะ" ก็เชื่อแน่ว่าสังคมไทยจะได้รับการเยียวยา ปัญหาทุเลาลง โดยเฉพาะในห้วงเวลาแห่งวิกฤติเศรษฐกิจ ที่เต็มไปด้วยปัญหารุมเร้ารอบด้าน " กรุงเทพธุรกิจ" นำเสนอรายงานพิเศษเกี่ยวกับเรื่องนี้ ติดต่อกัน 4 ตอน โดยคุณศรัญยู ตันติเสรี

Monday, February 16, 2009

CSR ขับเคลื่อนสังคมไทย แปลงวิกฤติเป็นโอกาส

การขับเคลื่อนด้าน CSR (Corporate Social Responsibility) หรือความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ (บรรษัทบริบาล) ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่ได้มีการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ รูปแบบและวิธีการทำ CSR ได้มีการพัฒนาไปตามสภาวการณ์ในจังหวะย่างก้าวที่สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมมาตลอด

อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่า แล้วองค์กรที่เพิ่งเริ่มต้นหรือยังไม่ได้เริ่มการทำ CSR ในปีนี้จะเริ่มที่จุดไหนดี ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานที่ปรึกษาสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ศูนย์พัฒนาธุรกิจตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ในงานเสวนา “ทิศทางและวิสัยทัศน์ CSR ปี 2552” ซึ่งจัดขึ้นที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์, นินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย, วัฒนา โอภานนท์อมตะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บางจากปิโตรเลียม และ พีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้อำนวยการสำนักงาน CSR ดีแทค

ไพบูลย์ บอกว่า เรื่องของความรับผิดชอบขององค์กรในบริบทสังคมไทยนั้น เป็นเรื่องทำได้ไม่ยากและไม่เพียงแต่องค์กรเท่านั้น แต่ทุกคนก็สามารถทำ CSR ได้ และหยั่งรากลึกลงสู่ครอบครัว หรืออาจเริ่มต้นจากครอบครัวที่แต่ละคนต่างก็มีความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน โดยเรื่องของความรับผิดชอบนั้น หลักง่ายๆ มีอยู่ 3 เสาหลัก ประกอบด้วย ความดี ความสามารถ และ ความสุข โดยเสาหลักแรก ความดีนั้นหมายถึงการที่คนหรือองค์กรต้องทำความดี เสาหลัก 2 ความสามารถ หมายถึง ความสามารถในการคิดและทำ รวมทั้งความสามารถในการจัดการ และเสาหลักที่ 3 ความสุข ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือองค์กร ถ้าสิ่งที่ทำนั้นไม่มีความสุขก็จะไปกัดกร่อนความสามารถและความดี

สำหรับความสุขนั้นยังประกอบไปด้วย 4 อย่าง ความสุขทางกาย ความสุขทางใจ ความสุขทางปัญญาและจิตวิญญาณ และความสุขทางสังคม "ความสุขหมายถึงการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมอย่างมีความสุข และความสุขจะนำพาไปให้เรามีความสามารถที่สูงขึ้น ส่งผลต่อมายังให้ทุกคนได้ช่วยกันสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม ขณะนี้โลกเรากำลังเจอกับวิกฤติ หากเราใช้แนวคิดของความรับผิดชอบต่อสังคมมาแปลงวิกฤติเป็นโอกาส ก็จะทำให้เราสามารถขับเคลื่อนสังคมไทยฝ่าวิกฤติไปได้"

พิพัฒน์ ให้ความเห็นว่าทุกคนสามารถทำ CSR ได้ หรือเริ่มจากครอบครัว ภายในองค์กร และขยายสู่ภายนอก ซึ่งการทำ CSR ก็คือหลักของการทำความดี โดยที่ผ่านมาองค์กรธุรกิจได้พัฒนาแนวทางของ CSR ไปสู่เชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic CSR โดยกระบวนการคิดเพื่อให้ได้มาซึ่งกิจกรรม CSR เชิงกลยุทธ์หรือการคิดเชิง “ยุทธศาสตร์” นั้น ส่วนใหญ่จะใช้พลังจากสมองซีกซ้ายในการวิเคราะห์หาเหตุผล คำนวณความคุ้มค่า ต้นทุน ประสิทธิภาพ

แต่สำหรับในปีนี้การทำกิจกรรม CSR ต่างๆ ได้ก้าวข้ามผ่านและยกระดับมาสู่ CSR เชิงสร้างสรรค์ หรือ Creative CSR ซึ่งจะถูกปลดปล่อยออกมาจากสมองซีกขวา เป็นการคิด CSR ในเชิง “ยุทธศิลป์” ที่ต้องอาศัยไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และความรู้สึกเป็นสำคัญ ทั้งนี้ Creative CSR ถือเป็นการก้าวข้ามบริบทของการรุก-รับ แต่เป็นการพัฒนากิจกรรม CSR ในเชิงร่วม (Collaborative) ที่เปิดโอกาสให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างธุรกิจและสังคมอย่างไม่แบ่งแยก

“การทำกิจกรรมรูปแบบนี้ เราจะไม่สามารถกำหนดได้อย่างชัดเจนว่า ใครเป็นผู้เริ่มทำก่อน ใครทำทีหลัง จะไม่มีคำว่าแบ่งแยก เนื่องจากเส้นแบ่งของการทำงานร่วมกันระหว่างกิจการและสังคมจะเลือนราง พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการทำงานร่วมกันอย่างผสมผสานที่ให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด และเราไม่ได้จำกัดเพียงการสร้างความแตกต่างในวิธีการที่มีอยู่ แต่เป็นการคิดค้นวิธีการขึ้นใหม่ เป็น Innovation ดังนั้น Creative CSR จึงเป็นการทำกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมที่แตกต่างจากวิธีการอื่นโดยอัตโนมัติ”

ด้าน นินนาท บอกว่า สำหรับโตโยต้าได้พยายามปลูกฝังให้พนักงานทุกคนเข้าใจถึงเรื่องของ CSR เพราะเชื่อว่าทุกคนสามารถทำได้ เพราะเป็นการทำความดี และนำสิ่งที่ทำนี้ขยายไปสู่ครอบครัว พร้อมกับชี้ให้เห็นว่าวงจรของ CSR จะต้องยั่งยืน

“เรารู้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราปฏิบัติอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษา ที่เราต้องฝึกบุคลากรในด้านนี้ เพราะสามารถทำให้เขาทำเป็นอาชีพได้ เรื่องของสิ่งแวดล้อมเราพยายามที่จะให้กระทบน้อยที่สุดโดยเฉพาะในระบบการผลิต ล่าสุดเราได้ทำโครงการปลูกป่า 1 แสนต้นที่โรงงานบ้านโพธิ์ เป้าหมาย 5 ปี ต้องปลูกให้ได้ 1 ล้านต้น ไม่ใช่เพียงแค่สภาพแวดล้อมภายในโรงงานเท่านั้น แต่ยังเพื่อชุมชนด้วย เหล่านี้เราจะทำตลอดไป ไม่ว่าเศรษฐกิจจะอยู่ในสภาพใดก็ตาม"

วัฒนา ให้ความเห็นว่า สำหรับนโยบายหลักของบางจากคือ สังคมอยู่ได้บริษัทก็อยู่ได้ โดยมุ่งให้ความสำคัญในเรื่องของสังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่าผลกำไรของบริษัท เพราะสิ่งที่บางจากต้องการเห็นมากที่สุดคือความอยู่ดีมีสุขของชุมชน แต่ในปีนี้เป็นปีที่พิเศษเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยรวมทั้งเรื่องของภัยพิบัติต่างๆ โดยบางจากกำลังดำเนินการร่วมกับเครือข่ายในการทำ CSR ระดับประเทศ เพื่อเยียวยาปัญหาสังคม

พีระพงษ์ บอกว่า การทำ CSR ของดีแทคยังคงมุ่งในเรื่องของโครงการทำดีทุกวัน เป้าหมายเพื่อให้ทุกคนทำความดี รวมทั้งความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อน CSR ระดับประเทศ ขยายจากองค์กร ไปสู่ภายนอก สู่ชุมชน และสังคมต่อไป โดยเฉพาะเรื่องการเกษตรที่ดีแทคได้เปิดโครงการ *1677 ทางด่วนข้อมูลการเกษตร โดยเริ่มต้นวางเป้าหมาย 4 เดือน มีผู้ใช้บริการ 4 หมื่นราย แต่ปรากฏว่าเป็น 4 แสนราย สำหรับในปีนี้ก็จะสานต่อโครงการต่างๆ ที่ทำอยู่ พร้อมกับใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่เพื่อช่วยฝ่าวิกฤติในปีนี้...จากรายงานพิเศษเรื่อง CSR ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ External Link


ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) พิสูจน์แล้วว่ามีผลต่อการเยียวยาสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะเรื่องความรับผิดชอบต่อส่วนรวมนั้นหากแวดวงธุรกิจ ซึ่งมีความพร้อมทั้งในด้านกำลังคน กำลังทรัพย์ และช่วยกันขับเคลื่อนสิ่งที่เรียกว่า "ความรับผิดชอบต่อสาธารณะ" ก็เชื่อแน่ว่าสังคมไทยจะได้รับการเยียวยา ปัญหาทุเลาลง โดยเฉพาะในห้วงเวลาแห่งวิกฤติเศรษฐกิจ ที่เต็มไปด้วยปัญหารุมเร้ารอบด้าน " กรุงเทพธุรกิจ" นำเสนอรายงานพิเศษเกี่ยวกับเรื่องนี้ ติดต่อกัน 4 ตอน โดยคุณศรัญยู ตันติเสรี

Sunday, February 15, 2009

รายงานพิเศษ: CSR ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ

1. CSR ขับเคลื่อนสังคมไทย แปลงวิกฤติเป็นโอกาส
2. ฟื้นเศรษฐกิจ ด้วยกลไกซีเอสอาร์
3. เปิดโมเดล "Inclusive Business" ยึดหลัก "ธุรกิจไม่ปิดกั้น"
4. เอกชนชูแนวทาง CSR เร่งด่วน กลไกฝ่าวิกฤติระยะสั้น


ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) พิสูจน์แล้วว่ามีผลต่อการเยียวยาสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะเรื่องความรับผิดชอบต่อส่วนรวมนั้นหากแวดวงธุรกิจ ซึ่งมีความพร้อมทั้งในด้านกำลังคน กำลังทรัพย์ และช่วยกันขับเคลื่อนสิ่งที่เรียกว่า "ความรับผิดชอบต่อสาธารณะ" ก็เชื่อแน่ว่าสังคมไทยจะได้รับการเยียวยา ปัญหาทุเลาลง โดยเฉพาะในห้วงเวลาแห่งวิกฤติเศรษฐกิจ ที่เต็มไปด้วยปัญหารุมเร้ารอบด้าน " กรุงเทพธุรกิจ" นำเสนอรายงานพิเศษเกี่ยวกับเรื่องนี้ ติดต่อกัน 4 ตอน โดยคุณศรัญยู ตันติเสรี