ที่ผ่านมาข่าวคราวที่โด่งดังไปทั่วโลก เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นมปนเปื้อนสารเมลามีน ที่ขยายวงลุกลามไปยังผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ นั้น ได้ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อผู้ประกอบการ ทั้งที่เป็นผู้ผลิต ผู้ว่าจ้างให้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย ตลอดสายอุปทาน ซึ่งยังไม่นับรวมความเสียหายร้ายแรงต่อชีวิตและสุขภาพของผู้บริโภคที่ประเมินค่าไม่ได้ บทเรียนสำคัญครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า เกิดจากการขาดความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจ ที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลก
ดังนั้นการบังคับใช้มาตรฐานและข้อปฏิบัติด้าน CSR กับสินค้าส่งออกนำเข้าของประเทศต่างๆ อย่างเข้มงวด จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวและรับมือกับมาตรการเหล่านี้ให้ได้ ซึ่งธุรกิจที่ต้องพึ่งพิงอยู่กับสายอุปทาน โดยเฉพาะผู้ส่งออกนำเข้าจะต้องรับมือกับข้อกำหนดใหม่ๆ ที่มีเพิ่มมากขึ้น เรื่อง CSR จะถูกถ่ายทอดจากผู้ประกอบการหนึ่งไปสู่อีกผู้ประกอบการหนึ่งในสายอุปทานเป็นทอดๆ จนกลายเป็นบรรทัดฐาน (Norm) ของอุตสาหกรรมนั้นๆ ขณะที่แนวปฏิบัติ CSR ทั่วไปแต่เดิม จะถูกพัฒนาต่อยอดโดยสะท้อนให้เห็นลักษณะเฉพาะของแต่ละอุตสาหกรรมอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
"ธุรกิจที่ไม่ปิดกั้น หรือ Inclusive Business เป็นการดึงให้ภาคชุมชน-สังคมมาร่วมมือกัน หรือเข้ามาอยู่ในระบบซัพพลายเชนในธุรกิจ เมื่อเราทำธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งอยู่ แทนที่เราจะไปซื้อวัตถุดิบหรือสินค้ากับผู้ประกอบการด้วยกันเอง ก็เปลี่ยนไปซื้อกับชุมชนที่เขามีวัตถุดิบที่เราต้องการ ถือเป็นการสร้างรายได้และให้โอกาสกับชุมชนนั้นๆ ซึ่งมีความแตกต่างจากการบริจาคเงิน บริจาคสิ่งของอย่างสิ้นเชิง" พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ขยายความ
รูปแบบของ Inclusive Business นั้น ถือเป็นการทำธุรกิจแบบไม่ปิดกั้น ที่อาจเกี่ยวข้องกับชุมชน ผ่านแนวทางต่างๆ เช่น การจ้างงานผู้มีรายได้น้อยโดยตรง การมุ่งเน้นพัฒนาซัพพลายเออร์และผู้ให้บริการจากชุมชนที่มีรายได้ต่ำ หรือจัดหาสินค้าและบริการราคาถูกที่ชุมชนรายได้ต่ำพอมีกำลังซื้อได้ โดย
ธุรกิจแบบไม่ปิดกั้นไม่ใช่องค์กรการกุศล ซึ่งมีขอบเขตและงบประมาณอยู่จำกัด แต่เป็นการค้นหารูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืน หรืออาจบอกได้ว่าเป็นการดำเนินธุรกิจได้ดีด้วยการทำเรื่องดีๆ นั่นเอง
ในฐานะลูกจ้างและซัพพลายเออร์นั้น ภาคส่วนที่มีรายได้ต่ำจะมีโอกาสเข้าถึงระบบเศรษฐกิจแบบเป็นทางการ รวมทั้งโอกาสในการได้ฝึกอบรม ด้านการเงิน และรายได้ ส่วนในฐานะผู้บริโภคนั้น ผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำจะได้ประโยชน์จากสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของพวกเขา แต่มีราคาพอซื้อหาได้ ถ้าธุรกิจสามารถทำได้ทั้งสองอย่างนี้ ก็จะช่วยเปิดวงจรของการพัฒนาธุรกิจได้อย่างดี
ในการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม (WEF) เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระบุว่า ถึงแม้จะเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงขาลง แต่บริษัทต่างๆ ก็สามารถหาโอกาสท่ามกลางประชากรหลายพันล้านคนที่ดำรงชีวิตอย่างยากจน ด้วยการปรับใช้กลยุทธ์เชิงสร้างสรรค์ที่เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนในท้องถิ่นได้
นอกจากนี้ ยังมีการสรุปกลยุทธ์เชิงสร้างสรรค์ที่บริษัทบางแห่งได้ใช้ดำเนินธุรกิจในพื้นที่ยากจน ขณะเดียวกันก็กระตุ้นรายได้และอุปทานอาหารโดยร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น
ตัวอย่างบริษัทยูนิลีเวอร์ ไมเคิล เทรสโชว์ ประธานของบริษัท ยูนิลีเวอร์ ระบุว่า ในเวลาที่บริษัทต่างๆ กำลังมองหาวิธีรับประกันกลยุทธ์การเติบโตในระยะยาว จำเป็นต้องพัฒนาแนวทางที่ยั่งยืนทั้งในแง่ธุรกิจและสังคม ด้วยการให้อำนาจคนจนผ่านการทำงานร่วมกับเกษตรกรและนักธุรกิจรายย่อย ซึ่งวิธีการนี้ ยูนิลีเวอร์ จะช่วยปกป้องห่วงโซ่อุปทาน และนำประโยชน์ไปสู่ผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ก็พัฒนาความเป็นอยู่ไปด้วย
เช่นเดียวกับ วิตโตริโอ โคลาโอ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ โวดาโฟน ก็บอกเช่นกันว่า ด้วยการพัฒนาสินค้าและการใช้ประโยชน์ใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับผู้บริโภครายได้ต่ำ ทำให้บริษัทได้สร้างความมั่นคงในตลาดเกิดใหม่ที่แข่งขันกันมากขึ้น ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ได้จัดหาบริการที่จำเป็น ซึ่งจะช่วยพัฒนาความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของคนยากจน...จากรายงานพิเศษเรื่อง CSR ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ

ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) พิสูจน์แล้วว่ามีผลต่อการเยียวยาสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะเรื่องความรับผิดชอบต่อส่วนรวมนั้นหากแวดวงธุรกิจ ซึ่งมีความพร้อมทั้งในด้านกำลังคน กำลังทรัพย์ และช่วยกันขับเคลื่อนสิ่งที่เรียกว่า "ความรับผิดชอบต่อสาธารณะ" ก็เชื่อแน่ว่าสังคมไทยจะได้รับการเยียวยา ปัญหาทุเลาลง โดยเฉพาะในห้วงเวลาแห่งวิกฤติเศรษฐกิจ ที่เต็มไปด้วยปัญหารุมเร้ารอบด้าน " กรุงเทพธุรกิจ" นำเสนอรายงานพิเศษเกี่ยวกับเรื่องนี้ ติดต่อกัน 4 ตอน โดยคุณศรัญยู ตันติเสรี
No comments:
Post a Comment