Monday, November 24, 2008

ดึงเศรษฐกิจพอเพียงแก้วิกฤตการเงินโลก


บทสัมภาษณ์ ในรายการ สุรนันท์ วันนี้ ทางโพสต์ทีวี

สุรนันทน์ : โครงการจัดทำแผนที่เดินทาง หรือ Road Map และการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ โครงการนี้คืออะไรครับ
ดร.พิพัฒน์ : โครงการนี้เริ่มเมื่อปีที่แล้ว มีจุดมุ่งหมายหลักเกิดจากที่ผ่านมามีคนพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงค่อนข้างมาก แต่ภาพรวมในการที่จะพาหรือขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ทิศทางนั้นยังไม่เด่นชัดนัก อาจเพราะหลายหน่วยงาน ต่างคนต่างทำ ในกลุ่มนักวิชาการที่ร่วมกันดำเนินงานภายใต้กองทุนสำนักงานวิจัยฯ ก็พยายามจะรวบรวมประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง
โดยมองหาข้อมูลที่จะทำให้หลายภาคส่วนได้มีโอกาสนำ Road Map นี้ไปใช้ประโยชน์ได้ คำว่า แผนที่เดินทาง ก็เหมือนกับทิศทางที่จะสามารถนำพาตัวเองหรือองค์กรหรือประเทศไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการในบริบทของเศรษฐกิจพอเพียง

สุรนันทน์ : หน้าที่ของอาจารย์คือทำให้ แผนที่นี้ให้เกิดขึ้น หมายความว่าแผนที่นี้ต้องตกผลึกทางความคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงก่อน แล้วเศรษฐกิจพอเพียงนี้คืออะไร
ดร.พิพัฒน์ : ในระดับของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดในการที่ทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน ประเทศ นำไปใช้ในแนวปฏิบัติทั่วกัน แต่ถ้ามองในระดับย่อยลงมา ระบบเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องของการพัฒนาระบบการผลิต การบริโภค การจัดจำหน่าย การแจกจ่ายต่างๆ ให้สอดคล้องกับตัวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

สุรนันทน์ : เบื้องต้นคือมีปรัชญาในการใช้ชีวิต แล้วพัฒนาเป็นระบบเศรษฐกิจหรือครับ
ดร.พิพัฒน์ : คือเศรษฐกิจพอเพียง เราไม่สามารถจะบอกได้ว่าเป็นเพียงแค่ระบบเศรษฐกิจ แต่จะกว้างกว่านั้น การเป็นปรัชญาทำให้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลายเรื่อง ทั้ง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม มีผู้พยายามเปรียบเทียบระหว่างเศรษฐกิจพอเพียงกับทุนนิยมว่า ฝั่งหนึ่งใช้เงินเป็นตัวตั้ง อีกฝั่งใช้ความพอประมาณ แต่นี่คือเอาของ 2 สิ่งซึ่งอยู่คนละมิติมาเทียบกันมากกว่า มีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ส่วน Road Map นี้ เป็นการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศที่สำคัญเช่นกัน

สุรนันทน์ : ในต่างประเทศ เศรษฐกิจพอเพียงของเขาต่างหรือเหมือนกับเรา
ดร.พิพัฒน์ : ต้องเริ่มจากการยอมรับก่อนว่า ในวันนี้เราอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่เป็นเศรษฐศาสตร์สาขาหลักที่อาจจะเรียกว่าทุนนิยมในที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกในวันนี้มีระบบเศรษฐกิจที่เรียกว่า เศรษฐศาสตร์ทางเลือก อาจจัดได้ว่า เศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในกระแสนี้ โดยมีคนส่วนน้อยกลุ่มหนึ่งที่กำลังพยายามพัฒนาตรงนี้อยู่

ถ้ามองเพียงแค่ชื่อเศรษฐกิจพอเพียง จะสงสัยว่าทำกันอยู่แค่ในไทย จะแพร่หลายได้อย่างไร เราต้องมองถึง Content หรือเนื้อหาจะพบว่าระบบเศรษฐกิจหรือเศรษฐศาสตร์ทางเลือกอื่นทั่วโลก มีจุดร่วมที่ตรงกันหลายอย่าง เช่น Green Economics, Solidarity Economics หรือเศรษฐศาสตร์สมานฉันท์ เรื่องเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความสุข (Growth Happiness Index) ที่ประเทศภูฏานใช้ หรือแม้กระทั้งนักเศรษฐศาสตร์อย่าง อมาตยา เซน ที่พูดถึงการให้ความสำคัญของสมรรถภาพของมนุษย์

โดยเน้นการพัฒนาคนเป็นตัวตั้ง ไม่เอาเงินเป็นตัวตั้ง เหล่านี้มีความสอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงเช่นกัน จะเห็นภาพว่าสิ่งที่เรากำลังพยายามพัฒนาเครือข่ายนี้ ไม่ใช่จะเอาเศรษฐกิจพอเพียงของไทยไปจับใส่ประเทศต่างๆ เราก็ร่วมกันหาแนวทางที่ถูกต้องสำหรับบริบทที่เหมาะสมของประเทศนั้นๆ แล้วแลกเปลี่ยนในสิ่งที่เป็น Advantage ซึ่งมี Benefit ระหว่างกัน

ศ.ดร.อภิชัย : คือเราไม่ต้องการให้คนไทยนั้นเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของประเทศไทยเท่านั้น ขณะเดียวกันยังมีเศรษฐกิจทางเลือกอยู่ในประเทศอื่นๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับเศรษฐกิจพอเพียง

สุรนันทน์ : แต่บางคนบอกว่าเศรษฐกิจทางเลือกไม่ใช่ทางเลือก เป็นเพียงส่วนขยายที่มารองรับช่องโหว่ของระบบทุนนิยมเท่านั้น จริงหรือไม่ครับ
ศ.ดร.อภิชัย : มองได้ทุกรูปแบบครับ คือขณะที่ทุนนิยม เป็นร่มใหญ่อยู่ แล้วเราพยายามทะลุมันออกไป อาจเจ็บตัวได้ เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่าเป็นการขยาย หรืออุดช่องโหว่ ก็ใช่ แต่ถามว่าเนื้อแท้จริงๆ แล้ว ไปในทิศทางเดียวกันกับทุนนิยม หรือคนละทิศทาง นี่คือประเด็น ทุนนิยมมีคำจำกัดความว่า “ทุนเป็นปัจจัยการผลิตหลัก การขยายตัวต้องสะสมทุน ดังนั้นการสะสมทุนได้เร็ว ต้องมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว”

ในกระบวนการสร้างกำไรนี้ก็ไปสร้างความเดือดร้อนสร้างปัญหาด้วย ดังนั้นถ้าคิดในบริบทอย่างนี้ โลกจะไม่สามารถอยู่ได้ในระยะยาว เพราะว่าทุนนิยมนั้นก่อตัวขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนประมาณศตวรรษที่ 18 แล้ว ช่วงนั้นโลกยังมีทรัพยากรอยู่มาก

สุรนันทน์ : จะทดแทนกันได้ไหม อะไรคือปัจจัยการผลิต อะไรคือสิ่งที่อาจารย์ทั้งสองท่านต้องการให้เห็น เช่น กระบวนการผลิต กระบวนการจำหน่าย จะต่างกันไหม
ศ.ดร.อภิชัย : จริงๆ ปัจจัยการผลิตของเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้ต่างกับทุนนิยม แต่เน้นเรื่องการบริโภคแต่พอประมาณ เพราะในทางเป็นจริง มันจะมีจุดที่ดีที่สุดอยู่จุดหนึ่ง น้อยเกินไปไม่ดี มากเกินไปก็ไม่ดี แต่ปกติเรามักถูกบดบังด้วยความโลภ หรือความไม่มั่นคงในชีวิต เราเลยเน้นเรื่องการสะสม และก่อเกิดเป็นปัญหา

สุรนันทน์ : จากการไปคุยกับนักวิชาการต่างประเทศถึง 13 คนนั้น มีใคร คิดอย่างไรกันบ้าง
ดร.พิพัฒน์ : หลักๆ ก็ อมาตยา เซน ที่พูดถึงไปแล้ว มีกษัตริย์จิกมี แห่งภูฏาน มี ศาสตราจารย์ปีเตอร์ วอ อาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ที่เคยสอนในเมืองไทยอยู่หลายมหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ปีเตอร์ คอกินส์ นักเศรษฐศาสตร์จากแคนาดา ตอนนี้มาประจำในเมืองไทยด้วย มีอาจารย์จากประเทศติมอร์-เลสเต ซึ่งน่าสนใจมากเพราะเขานำเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ไปปฏิบัติในหมู่บ้าน ในชุมชนด้วย

สุรนันทน์ : แล้วแนวคิดของแต่ละท่านนั้นมีตรงกันบ้างไหม
ดร.พิพัฒน์ : ทั้ง 13 ท่าน มีโอกาสศึกษาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาแล้วพอควร มีสิ่งสะท้อนแนวทางร่วมกัน ที่จับได้คือ โลกเราในวันนี้ไม่สามารถที่จะเดินด้วยระบบทุนนิยมได้อีกต่อไป หลายท่านถึงกับบอกว่าอาจจะถึงทางตันในไม่ช้านี้ ผมไม่รู้ว่านักเศรษฐศาสตร์ในระบบทุนนิยมจะแก้อย่างไร แต่นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้มองว่า มีทางเลือกหนึ่งที่จะมาทำให้หันเหทิศทางของการพัฒนาไปสู่สิ่งที่ยั่งยืนกว่าได้ อย่าง อมาตยา เซน เน้นชัดเจนเรื่องการพัฒนาโดยคำนึงถึงความสำคัญของคน

มีหลักคิดที่เรียกว่า Capability Approach คือการพัฒนาโดยคำนึงถึงสมรรถภาพของมนุษย์ เขาบอกว่าที่ผ่านมาเวลาที่เราเน้นเรื่องของความสำเร็จ เน้นว่าแต่ละประเทศพัฒนาสำเร็จอย่างไร ไปดูที่ความมั่งคั่ง ไปดูที่รายได้ แต่ไม่ได้มองเลยว่าโอกาสของคนคนหนึ่งที่จะพัฒนาขึ้นมานั้นมีความเหมาะสมตามอัตภาพเขาหรือไม่ แล้วเศรษฐกิจพอเพียงในทัศนะของ อมาตยา เซน เอง เขาพูดว่าไม่ใช่เรื่องที่ไม่ต้องการอีกแล้ว คือพอเพียงแล้วหยุดพัฒนา แต่เขาชี้ว่า พอ คือ พอเพียงที่จะมีชีวิตอยู่และทำให้คุณภาพชีวิตของคนคนนั้นดีขึ้น

สุรนันทน์ : เป็นปัญหาเดียวกันไหม จากการคุยกันทั้ง 13 ท่าน เพราะแต่ละประเทศก็มีวิถีชีวิตแตกต่างกันไป อย่างภูฏาน หรือติมอร์ฯ อาจจะพูดเข้าใจได้ แต่ประเทศที่เจริญแล้วมีวิถีการบริโภคอีกแบบ พูดกับคนไทยในกรุงกับต่างจังหวัดยังแตกต่างกันเลย
ดร.พิพัฒน์ : กษัตริย์จิกมี เองยังพูดว่าประเทศไทยเรามีความซับซ้อน มีความท้าทายกว่าภูฏาน ถ้าเราเอาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ การจะนำไปสู่ความสำเร็จคงไม่ง่าย แต่สิ่งที่ผมคิดว่ามีความตรงกันอยู่คือ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจพอเพียง หรือแนวคิด GNH (Gross National Happiness) ของภูฏาน

หลักคิดของ GNH คำนึงถึง 4 เรื่องหลัก คือ การศึกษา เน้นมากในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีความสำนึกในเรื่องของความสุข ความอยู่ดีกินดี โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เขาให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในแถบชนบทของเขาเอง เรื่องการอนุรักษ์วัฒนธรรม เรื่องของสังคมความเป็นอยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่ในหลักเศรษฐกิจพอเพียงทั้งนั้น

สุรนันทน์ : ถ้าทำ Road Map เสร็จแล้ว จะมีการระดมสมองอะไรกันต่อไหม
ดร.พิพัฒน์ : จะทิ้งท้ายว่า Road Map ตัวนี้ ไม่ได้เป็นแค่แผน คิดแล้วจบไป เพราะมีส่วนที่เป็นจุดเชื่อมร้อยที่ว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เฉพาะเรื่องของคนไทย หลักต่างๆ ที่อยู่ในแนวทางที่เสนอแนะนั้น ต่างชาติในเวทีสากล ทั้ง UN หรือ World Bank ก็มีการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า Agenda 21 หรือ Millennium Gold เหล่านี้ สอดรับในแนวทางคล้ายกันนะครับ โลกจะไปทางนี้ อย่างที่มีการระบุว่า ต่อไปโลกเราต้องมีการพัฒนาโดยคำนึงถึงเรื่อง Sustainable Production และ Sustainable Consumption ซึ่ง 2 เรื่องนี้เราไม่ได้พูดเองนะ สากลเขาพูด ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับเรื่องความพอประมาณ ผลิตให้พอดี บริโภคให้พอดี

ดังนั้น Road Map ตัวนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องที่เรา ทำกัน แล้วมาวิพากษ์วิจารณ์กันเฉพาะในประเทศ แต่สามารถเชื่อมไปถึงแผนที่สำหรับโลกที่จะเดินไปถึง เพราะอย่างนักวิชาการที่ได้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ บอกเลยว่าถ้าเรามีองคาพยพดีๆ ประเทศไทยจะมีบทบาทในการนำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นเศรษฐกิจทางเลือกอีกแบบหนึ่ง ให้ขับเคลื่อนเข้าไปสู่เวทีโลกได้

(จากคอลัมน์ สุรนันท์วันนี้) External Link