Tuesday, January 29, 2008

ชาวโมโซในสังคมพอประมาณ

หนึ่งในแนวคิดของการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงที่สามารถสร้างให้เกิดแรงจูงใจต่อการนำไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งได้จากการสำรวจทัศนคติของกลุ่มตัวอย่าง ที่เป็นนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ คือ การสร้างสังคมที่มีแนวปฏิบัติสอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้โดยอิสระและสะดวก มีผู้ร่วมในกลุ่มที่คอยเป็นพี่เลี้ยงหรือให้คำแนะนำ สมาชิกมีการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน พร้อมร่วมเดินไปข้างหน้าอย่างอบอุ่นใจ

สังคมพอประมาณ (Moderation Society) หรือ “โมโซไซตี้” ที่เขียนเป็นคำย่อว่า “โมโซ” (MO-SO) เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากแนวคิดข้างต้นที่มุ่งให้สมาชิกในสังคมพอประมาณมีวิถีปฏิบัติที่อยู่ในแนวทางสายกลาง ไม่สุดขั้วไปทางด้านใดด้านหนึ่งตามกลุ่มที่เรียกว่า “ไฮโซ” หรือ “โลโซ” เป็นทางเลือกท่ามกลางกระแสบริโภคนิยม สำหรับผู้ที่ต้องการปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ค่านิยมที่กำหนดโดยชาวโมโซไซตี้ คือ สังคมอันพึงปรารถนาที่สมาชิกชาวโมโซทุกคนจะร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อให้เป็นสังคมที่ประกอบไปด้วยความจริง ความดีงาม และความสุข มีการวางแนวทางขับเคลื่อนไว้ 2 ระดับ คือ ระดับที่เป็นกายภาพในเชิงสัญลักษณ์ และระดับพฤติกรรมที่เริ่มตั้งแต่จิตสำนึก

ในเชิงสัญลักษณ์ ชาวโมโซทุกคนจะมีสายข้อมือที่เป็นเอกลักษณ์ สายข้อมือแต่ละเส้นจะมีเลขประจำตัวที่ไม่ซ้ำกัน เพื่อใช้เข้าร่วมกิจกรรมในกลุ่มโมโซต่างๆ โดยความมุ่งหมายของการใส่สายข้อมือ คือ การทำให้มีสติเตือนใจผู้ใส่ว่าควรอยู่ในความพอประมาณ และให้มีความตั้งใจว่าจะเป็นคนรู้จักคิดก่อนใช้ ตามคติพจน์ของชาวโมโซว่า “เน้นสติ เหนือสตางค์”

ในเชิงของการสร้างจิตสำนึกและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ชาวโมโซจะร่วมกันคิดออกแบบกิจกรรมเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นและพื้นที่ ตลอดจนการเข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมของหน่วยงานอื่นที่ดำเนินการอยู่แล้วและมีความสอดคล้องกับหลักการของชาวโมโซ ซึ่งจะทำให้กิจกรรมต่างๆ ของชาวโมโซมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบัน โมโซไซตี้ มีโครงการนำร่องที่ดำเนินงานร่วมกับกลุ่ม YIY ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้ใช้ความคิดของตัวเองในการริเริ่มทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน โรงเรียน และครอบครัว ในแบบฉบับของตัวเองด้วยการทำงานเป็นกลุ่ม คือ โครงการ “มือใหม่หัดทำดี” (First Hand Out)

กิจกรรมในโครงการมือใหม่หัดทำดีที่ผ่านมา ได้แก่ โครงการมหาลัยขยะ โครงการน้ำใจไทยเพื่อเยาวชนใต้ร่วมพัฒนาชาติ โครงการผ้าสีขาว โครงการธุรกิจวัยเยาว์ โครงการสานฝันปันน้ำใจ โครงการหน่อกะลา โครงการละครโรงเล็ก โครงการ The story of…not handicapped heart และโครงการกลุ่มเยาวชนร่วมสร้างกำลังใจ

ตัวอย่างเสียงสะท้อนของ กลุ่มกระทิงน้อย ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 8 คน ที่ดำเนินโครงการมหาลัยขยะ ได้กล่าวถึงเหตุผลและแรงบันดาลใจว่า “กลุ่มของพวกเราได้รับการอบรมในค่ายเยาวชนต่างๆ ทำให้ตระหนักถึงปัญหาของสังคมในปัจจุบัน ไม่ว่าด้านสิ่งแวดล้อม หรือปัญหาขยะที่ล้นเมืองอันเนื่องมาจากความเห็นแก่ตัว ไร้จิตสำนึกของมนุษย์ด้วยเหตุนี้ จึงได้ตั้งเป้าไปยังกลุ่มของเด็กและเยาวชนเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกพวกเขาจะเป็นกลุ่มที่เจริญเติบโตขึ้นมาพัฒนาประเทศชาติต่อไป”

กิจกรรมที่กลุ่มอยากดำเนินการ คือ “การทำ VCD เป็นรายการการ์ตูน ภายในรายการจะมีนิทานให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ปลุกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติ และสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสังคม ส่งไปตามโรงเรียนภายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล” โดยผลลัพธ์ที่คาดหวังคือ “เมื่อพวกเราได้มาทำโครงการนี้ พวกเราก็จะได้มีโอกาสเผยแพร่ความรู้ให้เด็กและเยาวชน โดยนำสื่อที่เยาวชนสนใจมานำเสนอดีกว่าสอนโดยตรง ทำให้เด็กนำความรู้ที่ได้ นำไปช่วยเหลือสังคมในด้านไม่ทิ้งขยะ ลดปริมาณขยะอนุรักษ์ธรรมชาติ”

อีกหนึ่งตัวอย่างจากกลุ่ม Charity จำนวนสมาชิก 3 คน ที่ดำเนินโครงการสานฝันปันน้ำใจ ได้กล่าวถึงเหตุผลและแรงบันดาลใจว่า “เนื่องจากทางกลุ่มได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา แต่ยังมีเด็กจำนวนมากที่ยังขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่สามารถซื้ออุปกรณ์การเรียนได้ครบ ซึ่งจะทำให้เด็กเหล่านี้ขาดโอกาส และมีความรู้สึกที่แตกต่างจากเพื่อนๆ พวกเราจึงอยากจัดกิจกรรมนี้ขึ้น เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสทางการศึกษา ได้นำเงินไปซื้อหนังสือ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

กิจกรรมที่กลุ่มอยากดำเนินการ คือ “การจำหน่ายสินค้าทำมือ เช่น เสื้อเพนท์, สร้อย, กำไล, ต่างๆ ที่มีสัญลักษณ์สื่อถึงเด็ก เพื่อนำเงินที่ได้ไปมอบให้เด็กนักเรียน ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่สามารถซื้ออุปกรณ์การเรียนได้ตามโรงเรียนในจังหวัดลำปางที่ขาดแคลน เพื่อเป็นอนาคตที่สำคัญของชาติต่อไป” โดยผลลัพธ์ที่คาดหวังคือ “ทำให้เด็กๆ และเพื่อนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ได้มีโอกาส และทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสิ่งที่สำคัญอีกประการคือการได้ใช้เวลาว่างที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์”

แนวคิดของโมโซไซตี้นี้ มิได้มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นเจ้าของ รวมทั้งมิได้มีคณะกรรมการหรือองค์กรที่เป็นทางการในการขับเคลื่อน แต่จะคงรูปแบบที่ยืดหยุ่น มีความเป็นอิสระ คล้ายคลึงกับการเรียกบุคคลที่มีวิถีชีวิตหรือพฤติกรรมแบบหนึ่งว่า ไฮโซ ดังนั้น ผู้ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายชาวโมโซ ก็เรียกตัวเองว่าเป็นชาวโมโซและเข้าร่วมกิจกรรมในโมโซไซตี้ได้ แม้กระทั่งคนไฮโซก็เป็นชาวโมโซได้ หากมีพฤติกรรมที่รู้จักใช้จ่าย ไม่สุรุ่ยสุร่าย เน้นสติเหนือสตางค์ หรือในทางกลับกัน ผู้ที่ไม่อยากเป็นชาวโมโซในบางโอกาส ก็ทำได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องบอกเลิกการเป็นสมาชิกแต่ประการใด เพราะในบางกิจกรรมอาจไม่เหมาะกับบุคลิกของตนเอง

ถ้ายังอยู่ในวัยเรียน การทำตัวเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ ตั้งใจเรียนหนังสือ ช่วยเหลืองานบ้าน และรู้จักประหยัด ก็ถือว่าได้ปฏิบัติตัวเป็นส่วนหนึ่งของชาวโมโซแล้ว ส่วนผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน การเป็นส่วนหนึ่งของชาวโมโซ คือการมีความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน รู้จักการใช้จ่ายเงินอย่างเหมาะสม ไม่โลภ และไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น รวมไปถึงการทำตัวเป็นพลเมืองดีของสังคมช่วยเหลือและแบ่งปันกับผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า

ปัจจุบัน มีผู้สนใจทั้งในระดับองค์กรและในระดับบุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายโมโซไซตี้ โดยการรับสายข้อมือไปร่วมรณรงค์และขับเคลื่อนสังคมพอประมาณ ทั้งในเชิงสัญลักษณ์และในเชิงพฤติกรรมแล้วจำนวน 38 องค์กร และมีชาวโมโซที่ร่วมลงทะเบียนแล้วจำนวน 4,600 คน... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

Tuesday, January 22, 2008

การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

เศรษฐกิจที่พัฒนาจนมาเป็นระบบที่เราเห็นกันอยู่ในทุกวันนี้นั้น ล้วนมีพื้นฐานจากกิจกรรมหลักสองประการ ได้แก่ กิจกรรมการผลิต และกิจกรรมการบริโภค หากระบบใดมีภาวะของการผลิตเท่ากับภาวะของการบริโภคแล้ว ก็จะเป็นระบบเศรษฐกิจที่สมดุลในตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยปัจจัยแวดล้อมภายนอกใดๆ เรียกว่าเป็นระบบที่อยู่ในภาวะอุดมคติ

ในความเป็นจริง ระบบเศรษฐกิจในชุมชนหนึ่งๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค หรือระดับประเทศ จะไม่สามารถดำรงภาวะคงตัวได้อย่างสมบูรณ์ในตัวเอง จำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนหรือพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ชุมชนจึงอาจผลิตของที่มิได้ใช้เพื่อการบริโภคเองทั้งหมด หรือก็มิได้บริโภคในสิ่งที่ตัวเองผลิตได้เท่านั้น

ตราบเท่าที่ชุมชนนั้นๆ สามารถที่จะรักษาสัดส่วน หรือขนาดของการผลิตให้เท่ากับสัดส่วนหรือขนาดของการบริโภคอยู่ได้ ชุมชนนั้นก็จะไม่ประสบกับปัญหาในระบบเศรษฐกิจ แต่หากเมื่อใดก็ตามที่ชุมชนนั้นไม่สามารถรักษาระดับของการผลิตให้ใกล้เคียงกับระดับของการบริโภคเป็นระยะเวลานาน ในกรณีนี้คือ สัดส่วนการผลิตน้อยกว่าสัดส่วนการบริโภค ชุมชนก็จะประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ เกิดภาวะที่ต้องพึ่งพาปัจจัยการบริโภคจากภายนอกมาก ซึ่งหากไม่พยายามลดสัดส่วนการบริโภคของตัวเองลง ก็จะต้องกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคเหล่านั้น

การพัฒนาในยุคที่ผ่านมา ยังทำให้กิจกรรมการผลิตและการบริโภคในระบบเศรษฐกิจนั้นแยกออกต่างหากจากกันอย่างเด็ดขาด ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องบริโภคในสิ่งที่ตนเองผลิตได้ ในขณะที่ผู้บริโภคก็ไม่จำเป็นต้องผลิตในสิ่งที่ตนเองต้องการบริโภค

ผลที่ตามมาก็คือ กิจกรรมการแลกเปลี่ยนและการจัดสรรผลผลิตในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเดิมมุ่งเน้นที่การแลกเปลี่ยนและการจัดสรรผลผลิต กลายมาเป็นกิจกรรมการแลกเปลี่ยนและการจัดสรรผลผลิตที่นอกจากจะใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแล้ว ยังใช้เงินทำหน้าที่ในการรักษามูลค่า ใช้เป็นทุน และใช้เป็นสินค้าได้ด้วย ผู้ผลิตจึงมุ่งผลิตสินค้าและบริการขายแลกกับเงินเพื่อการสะสมทุนและการลงทุนสำหรับการผลิตในรอบต่อไป ในขณะที่ผู้บริโภคก็มุ่งทำงานแลกกับเงินเพื่อการเก็บออมและการใช้จ่ายในการบริโภคสินค้าและบริการ พัฒนาการของระบบเศรษฐกิจจึงเข้าสู่ยุคทุนนิยมไปโดยปริยาย

ด้วยเหตุนี้ ทุกชุมชนต่างก็พยายามแข่งขันกันเพื่อความอยู่รอด และเพื่อสะสมความมั่งคั่งไว้ในชุมชนของตัว สภาวการณ์ของการแข่งขันเช่นนี้ ก่อให้เกิดผลได้ผลเสียในระบบเศรษฐกิจของแต่ละชุมชน ชุมชนใดที่ไม่สามารถปรับตัวหรือพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันกับชุมชนอื่นๆ ได้ ก็จะถูกดึงเอาทรัพยากรและความมั่งคั่งออกไปจากชุมชน จะเกิดการเอารัดเอาเปรียบจากภายนอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนระบบเศรษฐกิจในชุมชนนั้นล่มสลายในที่สุด

การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน มักมุ่งไปที่ความพยายามในการลดการเอารัดเอาเปรียบจากภายนอก โดยใช้วิธีการชดเชยหรือมาตรการตอบโต้ในรูปแบบต่างๆ ผ่านทางหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือหรือเข้าไปแก้ไขปัญหา อาทิเช่น ขบวนการช่วยเหลือจากมูลนิธิในรูปของเงินบริจาค ทุนการศึกษา ทุนประกอบอาชีพ ฯลฯ ขบวนการอุดหนุนจากหน่วยงานรัฐในรูปของโครงการจำนำผลผลิต โครงการประกันราคาผลผลิต การจัดมหกรรมหรือนิทรรศการเพื่อระบายผลผลิต ฯลฯ และขบวนการเพิ่มอำนาจต่อรองจากองค์การพัฒนาเอกชนในรูปของการรวมกลุ่มชาวบ้าน เพื่อเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหา การเผยแพร่ปัญหาให้สังคมได้รับรู้ในวงกว้าง การสร้างกลุ่มแกนนำชุมชน ฯลฯ

แม้แต่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยการสร้างศักยภาพทางการแข่งขัน หรือการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ก็อาจจะไม่ช่วยลดภาวะความเสียเปรียบไปได้ และอาจจัดเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน จึงควรมุ่งให้ชุมชนมี "การผลิตหรือการบริโภคเพื่อแก้ทุกข์" โดยเริ่มจากสิ่งที่เป็นความจำเป็นพื้นฐาน หรือปัจจัยสี่และสิ่งที่เป็นความมั่นคงปลอดภัยในการดำรงชีวิต เป็นพื้นฐานก่อน และหากมีศักยภาพเหลือพอ จึงค่อยมี "การผลิตหรือการบริโภคเพื่อสร้างสุข" ในสิ่งที่เป็นความสะดวกสบายหรือสิ่งที่เป็นความหรูหราได้บ้าง แต่สิ่งที่ชุมชนพึงละเว้นเด็ดขาด คือ "การผลิตหรือการบริโภคเพื่อสร้างทุกข์" ในสิ่งที่เป็นอบายมุขต่างๆ อันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชุมชนโดยรวม

การพิจารณากิจกรรมการผลิตและการบริโภคข้างต้น ชี้ให้เห็นถึงทางเลือกในกระบวนการผลิตและการบริโภคที่ควรนำไปสู่ "การสิ้นไปของความทุกข์" มากกว่าการใช้ทรัพยากรไปเพื่อการสร้างสุขหรือความพึงพอใจอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เป็นการตัดสินใจเลือกเส้นทางการผลิตและการบริโภคโดยใช้เหตุผลจากการพิจารณาปัจจัยต่างๆ ตลอดจนคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากทางเลือกนั้นๆ อย่างรอบคอบ เป็นคุณลักษณะด้าน "ความมีเหตุผล" ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ส่วนการแก้ไขโดยการลดสัดส่วนการบริโภคให้มีปริมาณพอเหมาะพอดีกับสัดส่วนการผลิต เป็นคุณลักษณะด้าน "ความพอประมาณ" ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งส่งผลให้สามารถลดภาระหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมมา เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคในส่วนที่เกินกำลังการผลิตของตัวเอง

ขณะที่การแก้ไขโดยการผลิตในสิ่งที่ต้องบริโภคใช้สอยในครัวเรือนหรือในชุมชน หรือการบริโภคในสิ่งที่ชุมชนผลิตได้เอง ไม่ต้องซื้อหามาจากภายนอก เป็นความพยายามที่จะไม่ทำให้กิจกรรมการผลิตและการบริโภคในระบบเศรษฐกิจนั้นแยกออกต่างหากจากกันอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ เพื่อการสร้าง "การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว" อันเป็นอีกคุณลักษณะหนึ่งในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการส่งเสริมให้เกิดความสามารถในการพึ่งตนเอง ลดการพึ่งพาจากภายนอก

ด้วยวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะทำให้ระบบเศรษฐกิจสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ เป็นการแก้ปัญหาโดยคำนึงถึงความสมดุล ที่ถึงพร้อมด้วยคุณลักษณะทั้งสามประการ คือ ความมีเหตุผล ความพอประมาณ และการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงโดยแท้... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

เคลื่อนขบวน CSR ทางไหนดี

ในแวดวงซีเอสอาร์ของไทย แม้องค์กรธุรกิจจำนวนหนึ่งจะยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องซีเอสอาร์ในระดับที่ดีพอจนสามารถทำได้อย่างเห็นผลนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การขับเคลื่อนเรื่องซีเอสอาร์จะต้องมุ่งเน้นที่การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องซีเอสอาร์เป็นหลัก เพราะในความเป็นจริงอีกด้านหนึ่ง ก็ยังมีองค์กรธุรกิจอีกจำนวนหนึ่งที่พัฒนาจนสามารถปฏิบัติเรื่องซีเอสอาร์ได้อย่างล้ำหน้าเลยขั้นของการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจไปแล้ว

กรณีที่ถูกมองว่าซีเอสอาร์เป็นเรื่องที่จำกัดอยู่เฉพาะในวงของบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทที่เป็นเอสเอ็มอีไม่ค่อยรู้เรื่องหรือไม่สามารถทำได้ แม้จะรู้สึกได้ว่าเป็นเช่นนั้น แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ยังมีบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กอีกหลายแห่งที่ทำเรื่องซีเอสอาร์มาอย่างยาวนาน เพียงแต่ไม่ได้ใช้คำว่าซีเอสอาร์ หรือไม่ได้สื่อสารกับคนภายนอกให้เป็นที่รับรู้ ฉะนั้น การที่สังคมภายนอกไม่รู้ ไม่ได้หมายความว่า องค์กรเหล่านี้ไม่ได้ทำเรื่องซีเอสอาร์

กรณีที่สังคมเข้าใจว่าองค์กรธุรกิจทำซีเอสอาร์ไปเพื่อกลบเกลื่อนความไม่ดีของตนเอง ที่ไปสร้างความเสียหายให้แก่สังคม จึงต้องใช้การสร้างภาพลักษณ์ด้วยการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์เพื่อลดกระแสต่อต้านจากสังคม องค์กรธุรกิจจำพวกที่ว่านี้ก็มีอยู่จริง จนมีคำเรียกกิจกรรมดังกล่าวนี้ว่าเป็นซีเอสอาร์เทียม ด้วยเหตุที่กิจการเหล่านี้เอาแต่คำนึงถึงประโยชน์ของตัวแต่ฝ่ายเดียว ไม่ได้ห่วงใยในผลกระทบที่มีต่อสังคมซึ่งเกิดจากกระบวนการทางธุรกิจของตน แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่ายังมีองค์กรธุรกิจที่ดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์เพื่อยังประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างจริงจัง โดยที่มิได้คาดหวังผลตอบแทนทางธุรกิจใดๆ กิจกรรมที่เกิดจากองค์กรธุรกิจในกลุ่มนี้เอง จึงได้ถูกเรียกขานว่าเป็นซีเอสอาร์แท้

ด้วยเหตุนี้ การประเมินสถานการณ์เพื่อวางแผนในการขับเคลื่อนเรื่องซีเอสอาร์นั้น จึงต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน มิฉะนั้นแล้ว อาจจะทำให้เกิดช่องว่างหรือเกิดความล่าช้าในการพัฒนา ทั้งนี้ หนทางการขับเคลื่อนเรื่องซีเอสอาร์นั้น ควรต้องมองเป็น “ขบวน” ซึ่งมีระดับขั้นของพัฒนาการที่แตกต่างกัน... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ 20CEOs20IDEAs) External Link [Archived]

Tuesday, January 15, 2008

อย่าให้นวนิยายกลายเป็นเรื่องจริง

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผมได้มีโอกาสไปปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี เป็นระยะเวลาสั้นๆ ราวหนึ่งสัปดาห์ โดยสิ่งที่นำติดตัวกลับมาด้วย นอกเหนือจากความรู้และประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในทางโลกแล้ว ยังเป็นหนังสือธรรมะจำนวนอีกหลายเล่ม และหนึ่งในเล่มนั้นเป็นของ ดร.สุจิตรา อ่อนค้อม ผู้เขียนที่ใช้นามปากกาว่า สุทัสสา อ่อนค้อม หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า "สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม"

หนังสือเล่มนี้เป็นนวนิยายอิงธรรมะที่มีการอ้างอิงถึงตัวบุคคล เหตุการณ์ และสถานที่ซึ่งเข้าใจเองว่า มีเค้าโครงมาจากเรื่องจริง แต่บอกเล่าโดยใช้ชื่อและสถานที่ที่สมมติขึ้น ครั้นได้อ่านจบ มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งในนวนิยายที่ทำนายว่าจะเกิดขึ้นในปี 2551 โดยเนื้อหาที่ยกมานี้เป็นบทสนทนาที่เกิดขึ้นราวปลายปี 2516 ระหว่างท่านพระครูเจริญซึ่งกำลังสอนเดินจงกรมระยะที่สามให้พระบัวเฮียว และบรรดาครูที่มาจากนครสวรรค์ กับรัฐมนตรีและคุณหญิงพร้อมคณะผู้ติดตาม

"เจริญพร ท่านรัฐมนตรีไปยังไงมายังไงจึงมาถึงที่นี่ได้" ท่านพระครูทักทาย ได้ยินเขาลือกันว่า คนนี้แหละที่จะนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนต่อไป

"กระผมได้ยินกิตติศัพท์ของพระคุณเจ้ามานาน บังเอิญมาธุระแถวนี้ก็เลยแวะมากราบท่านครับ" รัฐมนตรีตอบ

"แล้วเหตุการณ์ทางกรุงเทพฯ เป็นยังไง ยังไม่เรียบร้อยไม่ใช่หรือ" ท่านพระครูหมายถึงเหตุการณ์วันมหาวิปโยคซึ่งเพิ่งผ่านมาสดๆ ร้อนๆ

"ก็เรื่องนี้แหละครับที่กระผมจะมาเรียนปรึกษาพระคุณเจ้า เอ้อ พระคุณเจ้ามีความคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น" ท่านพระครูนิ่งไปอึดใจหนึ่งจึงพูดขึ้นว่า

"ความจริงเรื่องการเมืองมันเป็นเรื่องทางโลก อาตมาเป็นพระสงฆ์ไม่อยากจะออกความเห็น แต่เอาเถอะ ไหนๆ ท่านก็ถามแล้ว อาตมาก็ขอตอบว่ามันเป็นเรื่องของกฎแห่งกรรม คราวนี้แหละคนจะได้เชื่อกันเสียทีว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ยัง ยังไม่จบเพียงนี้หรอก จำคำพูดของอาตมาไว้นะครูใหญ่นะ" ท่านหันไปพูดกับครูสฤษดิ์

"ถ้าไม่เชื่อกลับไปถึงบ้านแล้วจดบันทึกไว้เลยว่า วันที่เท่านี้ เดือนนี้ พ.ศ.นี้ อาตมาพูดว่าอย่างนี้ๆ แล้วถ้าไม่จริงตามที่อาตมาพูดให้มาปรับอาตมาได้ อาตมาจะให้ปรับสองหมื่นบาท" ท่านพูดยิ้มๆ

"นะครูใหญ่นะ"

"ครับ" ครูใหญ่รับคำด้วยไม่รู้จะพูดอะไรให้ดีไปกว่านั้น

"ดีแล้ว เอาละ อาตมาไม่ใช่หมอดู แต่ก็จะทำนายว่าอีกสามปีนับจากนี้ไปจะเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกับวันมหาวิปโยคอีก และอีกสิบห้าปีคือ ปีสองพันห้าร้อยสามสิบเอ็ดจะเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ขึ้นที่ภาคใต้ น้ำจะท่วมถึงยอดตาล วัดวาอารามจะพังพินาศ คนจะล้มตายเป็นจำนวนมาก ต่อจากนั้นอีกยี่สิบปีแผ่นดินจะถูกต่างชาติเข้ายึดครอง คนไทยจะไม่มีแผ่นดินอยู่ ทุกอย่างที่กล่าวมานี้เป็นไปตามกฎแห่งกรรม อย่าลืมไปบันทึกเอาไว้ ถ้าไม่จริงอาตมายอมให้ปรับ"

นิ่งไปครู่หนึ่งจึงถามครูบุญมีว่า

"โยมเคยเห็นทะเลน้ำไหม"

"เคยครับ" ครูบุญมีตอบ

"ทะเลทรายล่ะ"

"ไม่เคยครับ"

"ท่านรัฐมนตรีเคยเห็นทะเลทรายไหม"

"เคยครับ" รัฐมนตรีตอบ

"นั่นแหละ ปกติเราคิดว่ามีแต่ทะเลน้ำกับทะเลทราย แต่อีกสิบห้าปีจะมีทะเลซุง"

"เป็นยังไงคะทะเลซุง" คุณหญิงถามพลางนึกในใจว่า "พระองค์นี้พูดบ้าๆ" แล้วก็ต้องสะดุ้งเมื่อท่านพระครูตอบว่า

"ไม่บ้าหรอกคุณหญิง เอาเถอะ ถึงเวลานั้นคุณหญิงจะรู้เองว่าทะเลซุงมันเป็นอย่างไร"

คุณหญิงจึงแอบคิดต่อไปอีกว่า "แน่ะเสือกรู้เสียอีกว่าเราคิดยังไง"

คราวนี้ท่านพระครูถึงกับอึ้ง ถ้อยคำที่คุณหญิงใช้นั้นหยาบเกินกว่าจะยอมให้มันออกมาจากปากของท่าน เห็นท่านไม่โต้ตอบ คุณหญิงเลยคิดว่าท่านไม่รู้

"ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นครับหลวงพ่อ" ครูใหญ่ถาม

"ก็อย่างที่อาตมาบอกเมื่อตะกี้นั่นแหละว่า มันเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ครูใหญ่อย่าลืมนะว่า พระพุทธองค์ท่านสอนเรื่องกรรมไว้ว่าอย่างไร ท่านสอนว่า...กมฺมุนา วตฺตตี โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม...เอาละ แล้วทุกคนที่นั่งอยู่ ณ ที่นี้ก็จะได้ประจักษ์เมื่อเวลานั้นมาถึง"

ด้วยเหตุที่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2535 จึงทำให้เหตุการณ์ที่ทำนายไว้ระหว่างปี 2516-2531 ตามที่ปรากฏในนิยาย สอดคล้องกับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นไปแล้วทั้งสิ้น ปริศนาจึงอยู่ที่ปี 2551 ตามคำทำนายของพระคุณเจ้า (ในนิยาย) ว่าจะเป็นจริงหรือไม่

ในปี 2531 อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ประสบชะตาด้วยภัยธรรมชาติ ที่เรียกว่า "อุทกธรณีภัย" คือ น้ำท่วมและแผ่นดินถล่ม ไม้ซุงถูกพัดพามาทับถมบ้านเรือนของประชาชนที่ตำบลกระทูนทั้งหมด และตำบลอื่นอีกมากบ้างน้อยบ้าง ทำให้ประชาชนเสียชีวิต ทรัพย์สิน เป็นจำนวนมากมายมหาศาล ชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย

20 ปีต่อมา แม้การเลือกตั้งเสร็จสิ้น แต่ก็ยังไร้วี่แววของรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่มีความมั่นคง รัฐบาลรักษาการก็นับเวลาลงจากเก้าอี้ ทอดหุ่ยกับปัญหาต่างๆ อย่างน่าใจหาย ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยิ่งวันก็ยิ่งไม่น่าไว้วางใจ การเพลี่ยงพล้ำในการปฏิรูปการปกครองประเทศ ส่วนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ทั้งราคาน้ำมัน ค่าเงินที่ผันผวน กำลังซื้อที่หดหาย ประกอบกับความบอบบางของตลาดทุน ล้วนเป็นตัวแปรที่สุ่มเสี่ยงต่อการที่ไทยจะถูกครอบงำทางเศรษฐกิจ และที่มองข้ามไม่ได้ คือ ธุรกิจที่สำคัญของไทยจะถูกยึดครองโดยต่างชาติผ่านทางกองทุนประเภท Sovereign Fund โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่มีหลักประกันเป็นอสังหาริมทรัพย์บนผืนแผ่นดินไทย

ปี 2551 นี้ ขอให้คนไทยทุกคนจงหันหน้าเข้าหากัน อย่าได้สร้างเงื่อนไขและเหตุปัจจัยใดๆ ที่จะทำให้นวนิยายเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องจริง!!... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

Tuesday, January 08, 2008

กระแสบรรษัทบริบาล (CSR) ปีหนู

ในปี 2550 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนี้ เราได้เห็นกระแสความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Corporate Social Responsibility) หรือ CSR ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยด้วยความร้อนแรงที่สุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่มีการประชุมระดับโลกครั้งแรก ณ กรุงริโอเดอจาเนโร ที่มีการกล่าวถึงทิศทางใหม่ของการพัฒนาที่เรียกว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development) ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการมุ่งเน้นที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เพียงด้านเดียว

เหตุการณ์สำคัญๆ ที่เป็นเครื่องชี้ถึงกระแสซีเอสอาร์ในปี 2550 ไม่ได้มีแต่เฉพาะในภาคเอกชน แต่ยังรวมถึงภาครัฐและหน่วยราชการต่างๆ ที่เข้าร่วมปลุกกระแสความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การจัดตั้งสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มาถึงการตั้งคณะทำงานส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทจดทะเบียน โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ประกอบด้วยผู้แทนจาก 7 กระทรวง 5 สมาคม และ 12 ผู้เชี่ยวชาญ ไปจนถึงการตั้งศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม (CSR) ในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งการเป็นแม่งานของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในการจัดสัมมนาเรื่องซีเอสอาร์ในเวทีสำคัญต่างๆ

ยิ่งไปกว่านั้น กระแสนี้ยังได้รับการยืนยันจากนักวิจัยด้านซีเอสอาร์ในต่างประเทศ โดยเมื่อไม่นานนี้ ผมได้มีโอกาสพบปะกับผู้ดูแลโครงการ Responsabilite Sociale des Entreprises (RSE) ในฝรั่งเศส และอาจารย์จาก Nottingham University Business School ในอังกฤษ ได้พูดถึงว่า กระแสซีเอสอาร์ของไทยในปีที่ผ่านมา ยังคึกคักกว่าที่ยุโรปซึ่งเป็นแหล่งนวัตกรรมซีเอสอาร์ด้วยซ้ำไป ... (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link [Archived]

Monday, January 07, 2008

From 'Engaged' to 'High Performance' CSR

จาก "พันธะความรับผิดชอบ" สู่ "สมรรถนะความรับผิดชอบ"

พัฒนาการของซีเอสอาร์ในปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงจาก "กิจกรรม" รายครั้ง มาเป็น "กระบวนการ" ที่ต่อเนื่อง มีการนำเอาวิสัยทัศน์ ค่านิยม และพันธกิจขององค์กรมาพิจารณาร่วมในการกำหนดรูปแบบกิจกรรมซีเอสอาร์ผสมผสานเข้ากับกระบวนการทางธุรกิจอย่างมีกลยุทธ์ สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความจริงจังและความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนซีเอสอาร์ขององค์กร สะท้อนภาพที่ธุรกิจได้สร้างพันธะแห่งความรับผิดชอบต่อสังคมขึ้นในองค์กร เป็นซีเอสอาร์ในลักษณะ engaged CSR

สำหรับในปี 2551 พัฒนาการของซีเอสอาร์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนั้น องค์กรธุรกิจจะยกระดับจากการที่ได้แสดงให้เห็นถึงพันธะแห่งความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านทางการดำเนินกิจกรรมในลักษณะ engaged CSR แล้วระยะหนึ่ง มาสู่การสร้างสมรรถนะแห่งความรับผิดชอบ โดยใช้การขับเคลื่อนกระบวนการซีเอสอาร์ที่เป็น high performance CSR

ซีเอสอาร์ในลักษณะดังกล่าว จะเล็งผลเลิศจากตัวเนื้อกระบวนการ เริ่มกันตั้งแต่การพิจารณาประเด็นทางสังคมที่เหมาะสมกับองค์กร (selective issues) การออกแบบและพัฒนากิจกรรมเชิงกลยุทธ์ (strategic initiatives) ด้วยการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งและความสัมพันธ์ของปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ไล่เรียงมาสู่การปรับแนวองค์กรเพื่อให้เกิดการผนึกพลังร่วมกับสังคม (social synergies) จนมาถึงการเผยแพร่งบผลลัพธ์ (outcome statement) ในแบบ 3 มิติที่ครอบคลุมทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม... (อ่านรายละเอียดใน ประชาชาติธุรกิจ) External Link [Archived]

Tuesday, January 01, 2008

ลาทีสมญารัฐบาลพอเพียง

ภาพแห่งการพัฒนาประเทศในขวบปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สังคมไทยยังมีวิกฤตการณ์หลายด้านที่ยังไม่สามารถนำไปสู่การพัฒนาภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างที่หวัง แม้รัฐบาลชุดที่กำลังจะสิ้นสุดวาระการบริหารนี้ จะมีภาพลักษณ์ของการยึดเจตนารมณ์ในแนวนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงอย่างชัดเจน แต่ก็ประสบกับความล้มเหลวในการถ่ายทอดแผนงานที่นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

การอภิวัฒน์เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในปี 2550 จึงมีแต่วาทกรรม แต่ไร้ซึ่งผลเชิงประจักษ์ในทางปฏิบัติ ประเด็นวิกฤติที่สำคัญๆ ยังคงอยู่ดังเดิม ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

ด้านเศรษฐกิจ การพัฒนายังเป็นแบบแยกส่วน ขาดกลยุทธ์การดำเนินงานที่เป็นองค์รวม รวมทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยกลไกของรัฐยังมีปัญหาจากระบบงานภายในหน่วยราชการ เช่น ความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อการลงทุนของภาครัฐ ปัจเจกบุคคลจำนวนไม่น้อยในสังคมไม่สนใจประกอบสัมมาชีพ หรือไม่มีความพยายามมากพอที่จะประกอบสัมมาชีพ ขาดจิตสำนึกต่อการเรียนรู้ ใฝ่รู้ ไม่มุ่งมั่นและอดทนต่อสิ่งต่างๆ เพื่อความสำเร็จในอนาคต

ด้านสังคม สังคมไทยยังคงเป็นสังคมแห่งอบายมุข ยังถูกชักจูงให้มัวเมาอยู่กับเรื่องเหล้า หวย และการพนันขันต่อ ภูมิคุ้มกันทางกาย อารมณ์ จิตใจ และความยึดมั่นในหลักศาสนธรรมไม่ได้ดีขึ้น ทำให้การจัดบริการของภาครัฐและภาระสวัสดิการทางสังคมเพิ่มสูงขึ้น ความสัมพันธ์ของคนในสังคมลดน้อยลง ต่างคนต่างอยู่ ภายใต้สภาวะกดดันทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้น

เด็กและเยาวชนถูกคุกคามจากสื่อ อินเทอร์เน็ต และกระแสโลกาภิวัตน์ด้านลบ เนื่องจากบิดามารดาและผู้ปกครองไม่มีเวลาอบรมบุตรหลาน เพราะต่างต้องดิ้นรนในการหาเลี้ยงชีพ ขณะที่บทบาทในการอบรมเลี้ยงดูและการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมของสถาบันการศึกษาและสถาบันศาสนาต่างก็ลดน้อยถอยลง

ด้านวัฒนธรรม วิกฤติด้านค่านิยมและความคิดที่มุ่งแต่แสวงหาเงินให้ได้โดยไม่คำนึงถึงวิธีการอันชอบธรรม เห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม ขาดซึ่งจิตสำนึกต่อสาธารณะ ความดีงามและคุณค่าในวัฒนธรรมเสื่อมถอย เนื่องจากถูกรุมเร้าด้วยสื่อที่โหมกระพือความโลภ การเสริมสร้างระบบการเรียนรู้ตามอัธยาศัยจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ตลอดชีวิต มีสัดส่วนที่ไม่มากและมีอิทธิพลน้อยเมื่อเทียบกับสื่อที่รุมทำร้ายผู้คน

ขณะเดียวกัน การจัดการศึกษาบนฐานของความพอเพียง ความเป็นธรรม และความเป็นไท รวมทั้งการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่เป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ ก็มิได้รับการส่งเสริมอย่างเป็นระบบในแบบบูรณาการ

นอกจากนี้ รัฐบาลภายใต้สมัญญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็ได้รับผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัตน์ ที่สร้างให้เกิดเงื่อนไขให้ประเทศต้องมีการปรับตัว เพื่อพัฒนาศักยภาพคนในหลายประการ ทั้งเงื่อนไขด้านเศรษฐกิจ การค้า และการเมือง

เงื่อนไขในระบบเศรษฐกิจโลกมีความสลับซับซ้อนและเชื่อมโยงกันมากขึ้น การปรับระเบียบเศรษฐกิจใหม่ของโลกนำไปสู่การกำหนดข้อตกลง กติกาการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความได้เปรียบในเวทีการค้าโลก ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิตและค่านิยมของผู้คนในสังคม การปรับตัวต่อกระแสโลกาภิวัตน์ จึงจำเป็นต้องอาศัยการเรียนรู้และการยืนหยัดอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อลดความเสี่ยงจากกระแสโลกาภิวัตน์

แนวโน้มการพัฒนาสู่ "เศรษฐกิจยุคใหม่" ของสังคมโลก ได้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี ประเทศไทยจำต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถก้าวตามโลกได้อย่างรู้เท่าทัน แต่รัฐบาลไม่สามารถฉวยโอกาสนำเอาความก้าวหน้าทางวิทยาการ และภูมิปัญญามาใช้ประโยชน์ในการวางรากฐานการพัฒนาประเทศให้ก้าวเข้าสู่ยุคสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพคนให้มีความรู้ ทักษะ และความพร้อมที่จะรับรู้กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในระดับต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำความรู้และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณธรรม และจริยธรรมของคนในสังคม

กระแสของแนวคิดประชาธิปไตยในประชาคมโลกมีอิทธิพลต่อทิศทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน การพิทักษ์สิทธิมนุษยชน การคุ้มครองสิทธิเด็ก สตรี และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยจำต้องปรับตัวและทบทวนกระบวนทัศน์การพัฒนาในทิศทางแห่งการพึ่งตนเอง ที่สอดคล้องกับกระแสทางเลือก ซึ่งกำลังเกิดขึ้นหลายจุดในทุกมุมโลก

ผลงานของรัฐบาลที่ยังไม่สามารถกระทำให้ลุล่วง คือ การวางรากฐานการบริหารจัดการบ้านเมือง และแนวทางในการประสานประโยชน์ร่วมกันกับประเทศต่างๆ ในประชาคมโลกให้เกิดขึ้น ภายใต้อายุของรัฐบาลที่จำกัด

ประเด็นวิกฤติด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยประสบกับอุปสรรคในการพัฒนา อันมีมูลเหตุสำคัญมาจากการเสียเวลาไปกับการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่ฝังรากลึกในระบบการเมือง การถูกครอบงำความคิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้คนไทยมีค่านิยมและทัศนคติที่ลื่นไหลไปตามกระแสโลก ส่งผลให้ความสามารถในการพึ่งพาตนเองตกต่ำลง

ในปี 2551 ที่กำลังเริ่มต้นขึ้นนี้ สังคมไทยกำลังต้องการรัฐบาลที่สามารถปรับทิศทางการพัฒนาประเทศให้อยู่ในวิถีของความพอเพียง โดยมุ่งแก้ไขประเด็นวิกฤติต่างๆ ข้างต้น ให้สำเร็จลุล่วง ประชาชนได้เลือกท่านเข้ามาบริหารประเทศแล้ว ขอให้พวกท่านในฐานะผู้แทนราษฎรพึงได้พิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบระหว่างประโยชน์สุขของคนไทยทั้งประเทศกับส่วนแบ่งผลประโยชน์ที่กำลังต่อรองกันอยู่ในขณะนี้... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

(เรียบเรียงจากร่างรายงานการจัดทำแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียงและการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ โดยสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)