Saturday, September 23, 2023

ครึ่งทาง SDG : โลกทำได้ตามเป้า 12%

องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG) เมื่อปี ค.ศ.2015 อันประกอบด้วย 17 เป้าประสงค์ (Goals) 169 เป้าหมาย (Targets) และ 231 ตัวชี้วัด (Indicators) โดยมีอายุการใช้งาน 15 ปี จวบจนถึงปี ค.ศ.2030

ในเอกสาร Sustainable Development Report 2023 ฉบับพิเศษ ได้เปิดเผยตัวเลขความคืบหน้าครึ่งทางการใช้ SDG จากการประมวลข้อมูลราว 140 เป้าหมาย พบว่า สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายเพียง 12% โดยเป้าหมายกว่าครึ่งมีความคืบหน้าเล็กน้อยหรือหลุดเป้า ขณะที่เป้าหมายอีกเกือบหนึ่งในสาม ไม่มีความเคลื่อนไหวหรือถดถอยลงต่ำกว่าเส้นฐานในปี ค.ศ.2015

สาเหตุมาจากผลพวงของความไม่ยุติธรรมในระดับโลกที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ประกอบกับผลกระทบจากสภาพภูมิกาศ โรคโควิด-19 และความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจที่ไปจำกัดประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกให้เหลือทางเลือกน้อยลง หรือทำให้ไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอต่อการทำให้เป้าหมายเป็นจริงขึ้นได้

ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ได้มีการคำนวณต้นทุนที่จะต้องใส่เพิ่มเพื่อเร่งการบรรลุเป้าหมาย SDG สำหรับเป็นแนวทางการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลในแต่ละประเทศทั่วโลก ไว้ที่จำนวน 2.35 ล้านล้านเหรียญ ใน 7 วิถี (Pathway) ได้แก่ การแปลงเป็นดิจิทัล ความเสมอภาคทางเพศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบบอาหาร การคุ้มครองทางสังคม การเปลี่ยนผ่านพลังงาน และการปฏิรูปการศึกษา ตามลำดับ

สำหรับความคืบหน้าการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของกิจการในประเทศไทย สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการสำรวจข้อมูลสถานภาพความยั่งยืนของกิจการทุกปี โดยเริ่มดำเนินการในปี ค.ศ.2018 เป็นปีแรก และเผยแพร่เป็นเอกสาร รายงานสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ เป็นประจำทุก ๆ 2 ปี

การสำรวจข้อมูลในปี ค.ศ.2022 ครอบคลุมทุกบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และกิจการที่อยู่นอกตลาดฯ รวมทั้งสิ้น 854 กิจการ โดยทำการประมวลข้อมูลการดำเนินงานของกิจการที่มีการตอบสนองต่อ SDG ตามแนวทาง GCI (Guidance on Core Indicators) ที่จัดทำโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (ISAR) พบว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่กิจการมีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ เป้าหมายที่ 8 เศรษฐกิจและการจ้างงาน และเป้าหมายที่ 16 สังคมและความยุติธรรม ตามลำดับ

โดย 10 ตัวชี้วัดหลัก GCI ซึ่งใช้ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีการเปิดเผยสูงสุด ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ยอดรายได้ และภาษีและเงินอื่นที่จ่ายแก่รัฐ ด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ประสิทธิภาพการใช้น้ำ ด้านสังคม ได้แก่ ชั่วโมงเฉลี่ยการฝึกอบรมต่อปีต่อคน และสัดส่วนค่าจ้างและสวัสดิการพนักงานต่อรายได้จำแนกตามชนิดการจ้างและมิติหญิงชาย และด้านสถาบัน ได้แก่ จำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการและอัตราการเข้าร่วมประชุม จำนวนและร้อยละของกรรมการหญิง ช่วงอายุของกรรมการ จำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบและอัตราการเข้าร่วมประชุม และค่าตอบแทนรวมต่อกรรมการ

ภาพรวมการตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของกิจการไทยที่ทำการสำรวจ 854 ราย พบว่า มีความคืบหน้าในการดำเนินงานอยู่ที่ 28.2% อ้างอิงจากการเปิดเผยข้อมูลตามรายการและตัวชี้วัดหลัก GCI โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ดำเนินการได้สูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ กลุ่มทรัพยากร (33.7%) กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (33%) และกลุ่มธุรกิจการเงิน (30%) ตามลำดับ

ทั้งนี้ ชุดตัวชี้วัดหลัก GCI ที่ ISAR จัดทำขึ้นภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) ซึ่งมีอังค์ถัดทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นจุดตั้งต้นหรือจุดนำเข้าในการรายงานผลการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อ SDG และถือเป็นการเปิดเผยข้อมูลขั้นต่ำ (Minimum Disclosures) ของกิจการ ที่แสดงถึงการมีส่วนในการตอบสนองต่อ SDG และเป็นตัวชี้วัดที่กิจการจำเป็นต้องใช้ในการประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล ซึ่งหาพบได้ในรายงานของกิจการ และในกรอบการรายงานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

การอ้างอิงชุดตัวชี้วัด GCI จะช่วยให้ภาคธุรกิจแสดงความเชื่อมโยงของการดำเนินงานในการตอบสนองต่อ SDG ในระดับตัวชี้วัด (Indicator-level) ตามแนวทางที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา และสามารถใช้เป็นข้อมูลแสดงความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามตัวชี้วัด SDG ที่ 12.6.1 ในส่วนของกิจการได้อีกด้วย

องค์กรธุรกิจที่สนใจเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานที่มีการตอบสนองต่อ SDG ตามแนวทาง GCI สามารถศึกษารายละเอียดได้จากเอกสาร Guidance on Core Indicators for Sustainability and SDG Impact Reporting ฉบับปรับปรุงใหม่ ปี ค.ศ.2022 โดยดาวน์โหลดได้ที่ https://unctad.org/isar


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, September 09, 2023

นโยบายรัฐบาลในมุมมอง ESG

ในวันจันทร์นี้ (11 ก.ย.) นายกรัฐมนตรีจะมีการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ซึ่งมีเนื้อหารายละเอียดเป็นเอกสารที่เผยแพร่ออกมา 43 หน้า (ฉบับไม่เป็นทางการ) ที่ประกอบด้วย กรอบระยะสั้น กรอบระยะกลางและระยะยาว รวมถึงการแสดงตารางความสอดคล้องระหว่างนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีกับหน้าที่ของรัฐและแนวนโยบายแห่งรัฐของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และยุทธศาสตร์ชาติ


จึงถือโอกาสนี้ ทำการสรุปคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี โดยจำแนกออกเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และด้านธรรมาภิบาล รวมทั้งสิ้น 23 นโยบาย ในมุมมองของ ESG (Environmental, Social and Governance) ดังนี้

10 นโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยในกรอบระยะสั้น รัฐบาลจะกระตุ้นการใช้จ่าย ด้วยการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายรอบ รัฐบาลก็จะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี และการดำเนินนโยบายนี้ จะใช้เป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใสให้กับกลไกการชำระเงินของระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน โดยจะลดภาระพี่น้องเกษตรกรด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคประชาชนที่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน โดยจะสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในทันที พร้อมกันกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ โดยวางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ด้วยการอำนวยความสะดวก ปรับปรุงขั้นตอนการขอวีซ่า และการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเป้าหมาย ผลักดันการพัฒนาการบริหารจัดการทุกขั้นตอนการบริการที่เป็นประตูสู่ประเทศไทย และเพิ่มปริมาณเที่ยวบินให้สามารถนำนักท่องเที่ยวมาได้มากขึ้น

ในกรอบระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลจะเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชน ผ่านการสร้างรายได้ด้วยการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก เพื่อเปิดประตูการค้าสู่ตลาดใหม่ ๆ โดยการออกไปพบผู้นำประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มสหภาพยุโรป กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง อินเดีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ รวมทั้งการเร่งการเจรจากรอบความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ (FTA) การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ด้วยการจัดทำ Matching Fund ระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพื่อลงทุนพัฒนา Start-up ที่มีศักยภาพให้เติบโตและแข่งขันได้ในระดับโลก รวมทั้งการพัฒนาต่อยอดเขตเศรษฐกิจพิเศษและระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาค ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่และเมืองให้เกิดการกระจายความเจริญและกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาค การพัฒนาเศรษฐกิจการค้าที่ถูกกฎหมายตามแนวชายแดน เพื่อสร้างเงิน สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชน และเป็นการบริหารสถานการณ์ภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ สนับสนุนให้เกิดเสถียรภาพและผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเหมาะสม การสร้างรายได้ในภาคการเกษตร โดยใช้หลักการ ตลาดนำ-นวัตกรรมเสริม-เพิ่มรายได้ ใช้การบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยนวัตกรรมเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) การวิจัยพัฒนาพันธุ์ เพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มมูลค่าผลตอบแทนต่อไร่ให้สูงขึ้น ตลอดจนการหาตลาดให้สินค้าเกษตรได้ขายในราคาที่เหมาะสม การฟื้นชีวิตอุตสาหกรรมประมง ให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประชาชน ด้วยการแก้ไขข้อกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสม อันเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลให้อยู่กับประเทศอย่างยั่งยืน การเปิดรับแรงงานต่างด้าวและกลุ่มผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการทรัพยากรบุคคลและแรงงานทั้งภาคการผลิต ภาคการบริการ ภาคการพัฒนาเทคโนโลยี ที่แรงงานกลุ่มดังกล่าวยังมีความจำเป็นในการสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

7 นโยบายด้านสังคม ประกอบด้วย การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ ทั้งทางถนน ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ เพื่อเปิดประตูค้าขายและเปิดโอกาสของประเทศไทยให้เพิ่มขึ้น และเป็นการสร้างประโยชน์จากสินทรัพย์ของประเทศและของประชาชน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ของโลก การให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ เพื่อสร้างโอกาสในการมีอาชีพ รายได้ และความมั่นคงในชีวิต โดยจะเร่งดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดิน มีชีวิตที่มั่นคง พิจารณาเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ให้เป็นโฉนด เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ นำมาพัฒนาที่ดินเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว การสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ของประเทศ ให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้ ผ่านการส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ทักษะ Soft Power รวมทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาต่อยอดศิลปวัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนการส่งเสริมและพัฒนาด้านกีฬาอย่างเป็นระบบ การปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาทั้งในด้านสังคม ด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และการวิจัยขั้นแนวหน้า ให้ความสำคัญต่อความมีคุณภาพของครูทั้งประเทศ รวมไปถึงการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของนักเรียน และเน้นดำเนินการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การสร้างความมั่นคงปลอดภัยทั้งภายในและภายนอกที่สอดคล้องกับสภาวะของโลก โดยสนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้างของหน่วยงานความมั่นคงให้มีความทันสมัยและสามารถตอบสนองต่อการคุกคามและภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ และการพัฒนากองทัพให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของประเทศพร้อมกับประชาชน การสร้างและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งสร้างความมั่นคงทางวัคซีนของประเทศในระยะยาว ตลอดจนการเข้าถึงบริการสาธารณสุขผ่านบัตรประชาชนใบเดียว สามารถเข้ารับบริการได้ทุกที่ทั่วประเทศไทย การสร้างความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มเปราะบาง คนพิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วย ‘สวัสดิการโดยรัฐ’ โดยการผลักดันให้มีกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ การสนับสนุนให้มีความร่วมมือระหว่างประชาชนที่มีความแตกต่างทางความคิด ศาสนา และอุดมการณ์ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข

3 นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย การส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นให้เหมาะสมกับประเภทและลักษณะของพื้นที่ และส่งเสริมให้เจ้าของที่ดินหรือชุมชนโดยรอบได้รับประโยชน์จากการเพิ่มพูนของระบบนิเวศ การขายคาร์บอนเครดิตอย่างยุติธรรม และได้รับการยอมรับจากระดับสากล การส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดสำหรับทุกคน โดยการส่งเสริมและเร่งฟื้นฟูความสมบูรณ์ของดินและน้ำ การรักษาความสมดุลของระบบนิเวศและอนุรักษ์ความหลากหลายพันธุ์สัตว์ป่า การแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมและมลภาวะ โดยเฉพาะเรื่องฝุ่นควัน PM2.5 รวมทั้งวางแผนรับมือและป้องกันวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality ที่เป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ และใช้การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเปิดประตูบานใหญ่สู่การค้าโลก ภายใต้กฎกติกาใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

3 นโยบายด้านธรรมาภิบาล ประกอบด้วย นโยบายเร่งด่วนในการแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ โดยจะหารือแนวทางในการทำประชามติที่ให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงการหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา เพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง การเปลี่ยนบทบาทของรัฐจากผู้กำกับดูแลเป็นผู้สนับสนุน จากเดิมที่เต็มไปด้วยกฎ ระเบียบ และข้อบังคับ มาเป็นการปลดล็อกข้อจำกัด เช่น การปลดล็อกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสุราพื้นบ้าน เพื่อสร้างโอกาสในการสร้างรายได้และเจริญเติบโตให้กับประชาชน การบริหารในรูปแบบของการกระจายอำนาจ (ผู้ว่า CEO) เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการบริหารงานในแต่ละจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการให้บริการมาเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใส ขจัดช่องโหว่ในการทุจริต ลดค่าใช้จ่าย และปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น

เมื่อพอจัดหมวดหมู่นโยบายในลักษณะนี้ได้ ไว้อีก 6 เดือนหลังจากการทำงานไประยะหนึ่งแล้ว จะถือโอกาสติดตามการดำเนินงาน โดยนำการประเมินตามเกณฑ์ ESG หรือ ESG Rating มาใช้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนไม่มากก็น้อย


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, August 26, 2023

ระบบ IT: จิกซอว์สำคัญของ 'ความยั่งยืน'

Paessler AG ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบเครือข่ายและโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ให้บริการนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1997 ซึ่งมีผู้ใช้มากกว่า 5 แสนรายในกว่า 170 ประเทศ ได้เผยแพร่รายงานวิจัยที่มีชื่อว่า ทิศทางที่ต้องจับตา: การมอนิเตอร์ระบบ คือ เส้นทางสู่ระบบ IT ที่ยั่งยืน เพื่อทำความเข้าใจแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนในปัจจุบันของธุรกิจต่าง ๆ โดยเจาะลึกไปถึงปัจจัยขับเคลื่อนและอุปสรรคต่อการดำเนินแผนด้าน IT ที่ยั่งยืน

งานวิจัยชิ้นนี้ เป็นผลจากการสำรวจผู้มีอำนาจตัดสินใจระดับอาวุโสกว่า 200 คน ในธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีรายได้ระหว่าง 50 ล้าน ถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม ปี 2565 ถึงเดือนมีนาคม ปี 2566 ครอบคลุมธุรกิจในภาคการผลิต ภาคบริการที่สำคัญต่อสาธารณะ และภาคเทคโนโลยี/โทรคมนาคม/ศูนย์ข้อมูล ใน 6 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ผลสำรวจพบว่า การแปลงเป็นดิจิทัล (Digital Transformation) หรือการเปลี่ยนวิธีปฏิบัติงานจากระบบที่ใช้แรงงานคนไปสู่การใช้ระบบดิจิทัลหรือระบบอัตโนมัติ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรและต้นทุน เป็นเรื่องที่ผู้ถูกสำรวจในตลาดอาเซียนให้ความสำคัญในลำดับแรกของธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้า (โดยมีสัดส่วน 66%) รองลงมาเป็นเรื่องความยั่งยืน (61%) และการเพิ่มประสิทธิภาพ/ผลิตผล (56%)

แม้ความยั่งยืนจะเป็นเรื่องที่ธุรกิจในทุกตลาดให้ความสำคัญในลำดับต้น ๆ แต่ธุรกิจในอาเซียนที่วางกลยุทธ์และมีแผนดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจนกลับมีไม่ถึงครึ่ง โดยกว่า 52% ยังคงอยู่ในขั้นตอนการจัดทำกรอบการทำงานด้านความยั่งยืน

ทั้งนี้ ผลสำรวจในไทยพบว่า มีธุรกิจที่กำลังจัดทำกรอบการทำงานด้านความยั่งยืน และธุรกิจที่มีกลยุทธ์และแนวทางการเดินหน้าที่ชัดเจน อยู่ในอัตราเท่ากันที่ 48% ที่เหลือเป็นธุรกิจซึ่งระบุว่าไม่ต้องมีกลยุทธ์เพราะใช้ตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน (2%) และเป็นธุรกิจที่ไม่เคยมีและยังไม่มีแผนกลยุทธ์ความยั่งยืน (2%)

เมื่อเจาะลึกเฉพาะเรื่องความยั่งยืน พบว่า กลยุทธ์ระบบ IT ที่ยั่งยืนอยู่ในแผนงานของบริษัทต่าง ๆ กว่า 90% แต่แม้จะอยู่ในแผนงานแล้วก็ตาม ธุรกิจส่วนใหญ่เชื่อว่า ยังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการอีกมากในเรื่องกลยุทธ์ระบบ IT ที่ยั่งยืน โดยบริษัทราว 96% มองว่า ผู้บริหารระดับสูงยังขาดการรับรู้และความเข้าใจในเรื่องนี้

“เมื่อไม่เห็นความสำคัญและไม่เข้าใจ ผู้บริหารระดับสูงก็มองไม่ออกว่า กลยุทธ์ระบบ IT ที่ยั่งยืน จะช่วยให้เป้าหมายความยั่งยืนในภาพรวม ตลอดจนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) บรรลุผลได้อย่างไร” ผู้มีอำนาจตัดสินใจในธุรกิจศูนย์ข้อมูลแห่งหนึ่งกล่าว

ในแง่ของการมอนิเตอร์โครงสร้างระบบ IT แบบเรียลไทม์ มากกว่า 90% ของธุรกิจทั้งหมดในทุกตลาด เห็นถึงประโยชน์ โดยผู้ถูกสำรวจในไทย ระบุว่า การมอนิเตอร์โครงสร้างระบบ IT แบบเรียลไทม์ จะช่วยตรวจสอบปัจจัยสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น คาร์บอน (100%) ช่วยปรับปรุงการใช้พลังงาน (95%) ช่วยให้เห็นตัวเลขการประหยัดทรัพยากรที่วัดผลได้ (92%) ช่วยวิเคราะห์ความต้องการอุปกรณ์ IT ในอนาคตได้อย่างแท้จริง (86%) และช่วยลดการปล่อยคาร์บอน (78%) ตามลำดับ

ในงานสำรวจชิ้นนี้ ยังพบว่า อุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินงานเรื่องความยั่งยืน เกิดจากการที่ธุรกิจส่วนใหญ่ (72%) มีองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวปฏิบัติและกรอบการทำงานด้านความยั่งยืนอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง โดยธุรกิจในไทยที่ไม่มีหรือมีองค์ความรู้ระดับต่ำ มีสัดส่วนอยู่ที่ 37% มีองค์ความรู้ระดับปานกลางอยู่ที่ 48% และมีองค์ความรู้ระดับสูงอยู่ที่ 15%

ทำให้แทนที่บริษัทต่าง ๆ จะเดินหน้าตามกรอบการทำงานด้านความยั่งยืนในภาพรวม แต่กลับเลือกใช้วิธีดำเนินการตามเป้าหมายและตัวชี้วัดก้าวเล็ก ๆ ซึ่งทำได้ไม่ยากในหมวดที่เกี่ยวกับความปลอดภัยและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ (72%) การรีไซเคิล (60%) การประหยัดน้ำและพลังงาน (58%) และการรายงานงบการเงินที่โปร่งใส (59%) เป็นต้น

นอกจากการขาดความรู้ความสามารถภายในองค์กร อุปสรรคสำคัญด้านอื่น ๆ ประกอบด้วย สมดุลตัวชี้วัด ESG กับเป้าหมายการเติบโต (58%) ต้นทุนการดำเนินแผนงาน (48%) หน่วยงานรัฐขาดความชัดเจนเรื่องมาตรฐานการรายงาน (48%) และการขาดตัวชี้วัด ROI ของแผนงานด้านความยั่งยืน (38%)

“นักลงทุนต้องการให้เรามีเครื่องมือวัดผลด้านความยั่งยืน (ESG) แต่ก็อยากให้ธุรกิจทำผลกำไรให้ได้มากขึ้นในเวลาเดียวกันด้วย เรียกว่า อยากได้ความยั่งยืนโดยไม่กระทบกับกำไรบริษัท” คำกล่าวจากธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายหนึ่งในประเทศไทย

อย่างไรก็ดี ธุรกิจจำนวนมากมองว่า ความยั่งยืนและผลกำไรไปด้วยกันไม่ได้ แต่ในความเป็นจริง หากมีการมอนิเตอร์ระบบและวัดผลด้วยค่าที่ถูกต้อง จะทำให้ทราบว่า การประหยัดค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นได้จริง เช่น ศูนย์ข้อมูลที่ใช้พลังงานลดลง เพราะการปรับปรุงด้านระบบความร้อน ความเย็น และการระบายอากาศ

การจัดทำกลยุทธ์ด้าน IT และการแปลงเป็นดิจิทัล ตลอดจนการจัดทำกรอบการทำงานด้านความยั่งยืน ล้วนเชื่อมโยงและสัมพันธ์เสมือนเป็นจิกซอว์ของภาพเดียวกัน แต่ธุรกิจบางส่วนมองเป็นคนละส่วนกัน ทำให้การจัดทำกรอบการทำงานด้านความยั่งยืนและกลยุทธ์การแปลงเป็นดิจิทัลแยกจากกัน ทั้งที่กลยุทธ์ระบบ IT ที่ยั่งยืน ถือเป็นจิกซอว์สำคัญในการช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์ เดินหน้าสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยรวม


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, August 12, 2023

สร้างแต้มต่อให้ SME ด้วย ESG Profile

ในธุรกิจไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือเป็นเอสเอ็มอี เอกสารสำคัญสองชิ้นที่ทุกองค์กรต้องมี คือ Product Catalogue กับ Company Profile เอาไว้สำหรับนำเสนอลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างให้เกิดธุรกรรมตามที่องค์กรได้ตั้งเป้าหมายไว้


หน้าที่ของ Product Catalogue มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้คนรู้ว่า เราขายอะไร (what) ผลิตภัณฑ์ของเราช่วยแก้ปัญหาอะไรให้ท่าน หรือใช้แล้วจะได้ประโยชน์อะไร พร้อมสรรพคุณกำกับว่า สินค้าและบริการของเรามีดีและโดดเด่นกว่าเจ้าอื่นอย่างไร

ส่วนหน้าที่ของ Company Profile มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้คนเชื่อมั่นว่า ทำไม (why) ต้องซื้อจากเรา องค์กรของเราน่าเชื่อถือและมั่นคงอย่างไร มีขอบข่ายการให้บริการกว้างขวางขนาดไหน และเมื่อเป็นลูกค้าแล้ว ย่อมไว้วางใจได้อย่างแน่นอน

แต่ในวันนี้ ลูกค้าและกลุ่มเป้าหมาย มิได้คำนึงถึงเพียงคุณค่าของผลิตภัณฑ์หรือที่องค์กรมอบให้ตนเองอย่างไรเท่านั้น แต่ยังพิจารณาเพิ่มต่อว่าผลิตภัณฑ์ที่ตนใช้หรือองค์กรที่ตนเป็นลูกค้าอยู่นั้น สร้างผลกระทบต่อผู้อื่นอย่างไรด้วย

ความต้องการในเอกสารหรือข้อมูลที่ทำให้คนเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์และองค์กรในมุมมองของการแสดงถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการกำกับดูแลที่ดีของกิจการ ที่เรียกรวมว่าข้อมูล ESG (Environmental, Social and Governance) จึงเกิดขึ้น ข้อมูลเหล่านี้มักจัดทำในรูปของรายงานที่เรียกกันว่า Sustainability Report หรือ ESG Report และมักจะมีให้เห็นแต่เฉพาะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ โดยในปัจจุบันมีกิจการอยู่นับหมื่นแห่งทั่วโลกที่ดำเนินการจัดทำรายงานเผยแพร่ดังกล่าว

แต่ก็ใช่ว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีจะมีข้อมูลหรือจัดทำเอกสารประเภทนี้ไม่ได้ เพียงแต่เรายังไม่ค่อยเห็นเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ให้ความสนใจมากนัก สาเหตุหลักก็คงเป็นเพราะขาดแรงจูงใจหรือไม่เห็น Benefits มากเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับเวลาและทรัพยากรที่ต้องใช้และมีอยู่ค่อนข้างจำกัดอยู่แล้ว

ทว่าก็มีเอสเอ็มอีหลายแห่งที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงประโยชน์ทางธุรกิจต่อการเผยแพร่ข้อมูล ESG ดังกล่าว เพียงแต่ไม่ได้ทำในรูปแบบที่เป็นทางการ เหมือนอย่างรายงานแห่งความยั่งยืนในองค์กรขนาดใหญ่ แต่เราสามารถเรียกได้ว่าเป็นการเผยแพร่ “ข้อมูลเด่นด้าน ESG” หรือ ESG Profile เพื่อตอบโจทย์ทั้งทางธุรกิจที่สะท้อนในรูปของกำไร (Profit) และผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (People and Planet) ควบคู่ไปพร้อมกัน

ESG Profile จึงมีหน้าที่ในการทำให้คนรู้ว่า ผลิตภัณฑ์และองค์กรที่เขาเหล่านั้นใช้บริการอยู่นั้น ไม่สร้างผลลบ และ/หรือ สร้างผลบวกให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง (how good)

เมื่อพิจารณาเทียบกับ Product Catalogue ซึ่งมีข้อมูลที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ (สินค้าและบริการ) เป็นหลัก หรือใน Company Profile ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทและสายผลิตภัณฑ์ในภาพรวม เนื้อหาในเอกสารประเภท ESG Profile จะให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับผลดีหรือผลกระทบในเชิงบวกของผลิตภัณฑ์และองค์กรที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการแก้ไข (หรือคำมั่นว่าจะแก้ไข) ผลเสียหรือผลกระทบในเชิงลบที่ผ่านมาของกิจการ

ในทางปฏิบัติ เราอาจรวมข้อมูลใน ESG Profile ไว้ในเอกสาร Product Catalogue หรือ Company Profile ด้วยได้ แต่เนื่องจากเรื่องความยั่งยืนในทุกวันนี้ ได้รับความสนใจจากสังคม และผู้บริโภคก็มีความตื่นตัวมาก การเน้นให้ความสำคัญกับข้อมูลนี้ ด้วยการแยกเป็นเอกสาร ESG Profile จึงเป็นเรื่องที่หลายองค์กรดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อกระแส ESG ดังกล่าว

ESG Profile จึงสามารถพัฒนามาเป็นแค็ตตาล็อกทางธุรกิจอันทรงคุณค่าของกิจการ ที่ทำให้คู่ค้า/ลูกค้า รู้ว่าองค์กรของเรามีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี สามารถสร้างเป็นจุดขาย และการต่อยอดธุรกิจ ด้วยการค้นหาจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ในเชิง ESG การแปลงจุดด้อยของผลิตภัณฑ์ให้เป็นโอกาสทาง ESG และการค้นหาตลาดใหม่จากการสำรวจความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ของกิจการ


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, July 29, 2023

'7 เทรนด์' เปลี่ยนเกมความยั่งยืน

ปลายเดือนที่ผ่านมา (20 มิ.ย.) หน่วยงาน AccountAbility องค์กรผู้กำหนดมาตรฐานและให้คำปรึกษาด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) ระดับโลก ที่ก่อตั้งมากว่า 30 ปี ได้ออกรายงานที่มีชื่อว่า “7 Sustainability Trends 2023 Report” โดยเนื้อหาสะท้อนให้เห็นภูมิทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และการประมวลแนวโน้มที่สำคัญด้าน ESG ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดวาระทางธุรกิจนับจากนี้ไป

ข้อมูลในรายงานฉบับนี้ จะช่วยให้องค์กรใช้วางแผนเชิงกลยุทธ์ สนับสนุนการตัดสินใจ และสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งการปรับแนวกลยุทธ์ขององค์กรให้สอดคล้องและเท่าทันกับประเด็นความยั่งยืนที่เป็นปัจจุบัน ตลอดจนการรับมือกับโอกาสและความเสี่ยงในเชิงรุก รองรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า

อนึ่ง แนวโน้มความยั่งยืนในรายงานฉบับดังกล่าว ประมวลขึ้นจากการวิจัยและการทำงานร่วมกับองค์กรในหลายภาคส่วน ทั้งกิจการในภาคบริการทางการเงิน ภาคพลังงานและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ภาคสุขภาพและเภสัชภัณฑ์ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคสินค้าอุปโภคบริโภค ภาคโทรคมนาคมและเทคโนโลยี รวมทั้งหน่วยงานในภาครัฐและภาคประชาสังคม ฯลฯ ครอบคลุมในหลายภูมิภาค ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ตะวันออกกลาง และเอเชีย

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้ให้บริการงานให้ความเชื่อมั่นรับอนุญาตในประเทศไทย ที่รับรองโดย AccountAbility มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ได้เรียบเรียงเนื้อหาในส่วนที่เป็น 7 แนวโน้มความยั่งยืน โดยย่อ เพื่อนำมาเผยแพร่ ดังนี้

1. Navigating the Net Zero landscape
หาเส้นทางสู่ภูมิทัศน์ (การปล่อยก๊าซเรือนกระจก) สุทธิเป็นศูนย์
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้กลายเป็นความท้าทายที่ซับซ้อนและมีนัยสำคัญสูงสุดเรื่องหนึ่งที่สังคมต้องเผชิญ รวมถึงเป็นได้ทั้งความเสี่ยงสำคัญต่อธุรกิจที่เพิกเฉย และเป็นโอกาสชัดแจ้งต่อกิจการที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการขจัดคาร์บอนให้มีค่าสุทธิเป็นศูนย์ โดยบริษัทที่ต้องการรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันและยังคงดึงดูดกลุ่มผู้ลงทุน ต้องแสดงให้เห็นถึงแนวทางการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากภายนอก ควบคู่กับแผนงานกลยุทธ์ที่ปฏิบัติได้จริง

2. Stakeholder activism is getting louder
ขบวนเคลื่อนไหวฝั่งผู้มีส่วนได้เสีย ส่งเสียงดังขึ้น
ธุรกิจต้องเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มสูงขึ้นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม มีการผลักดันให้กิจการต้องแถลงจุดยืนและแสดงความคืบหน้าในทางปฏิบัติต่อชุดประเด็น ESG ที่เกี่ยวข้อง โดยการแสดงภาวะผู้นำของกิจการ ๆ ควรตระหนักถึงการรักษาสมดุลแห่งประโยชน์ระหว่างผู้ถือหุ้นกับพนักงานไปจนถึงลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียซึ่งผลักดันให้องค์กรดำเนินการตามบทบาทที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ กิจการพึงดำเนินการสานสัมพันธ์แต่เนิ่น ๆ และอย่างต่อเนื่องกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับแนวทางให้สอดรับกันอย่างสูงสุดทั้งในกลุ่มพนักงาน ลูกค้า ผู้ลงทุน ฯลฯ

3. Geopolitics: The new “G” in ESG
ภูมิรัฐศาสตร์ กลายเป็นประเด็นใหม่ด้านธรรมาภิบาล
ในภาวการณ์หลังยุคโลกาภิวัตน์ ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ นับเป็นองค์ประกอบสำคัญภายใต้กรอบ ESG เป็นประเด็นที่ถือเป็นความเสี่ยงและปัจจัยความไม่แน่นอนทางธุรกิจ จนกระทั่งกลายเป็นข้อพิจารณาภาคบังคับในการประเมินและในกระบวนการตัดสินใจขององค์กร ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงควรผนวกความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์เข้าไว้ในกรอบการจัดการความเสี่ยงของกิจการ เพื่อให้สามารถมอบหมายความรับผิดชอบในการจัดการตามตัวแบบแนวป้องกัน 3 ด่าน (Three lines of defense model) และหลักการหลีกเลี่ยง การบรรเทา และการจัดการความเสี่ยงของกิจการ

4. Building an effective, future-focused board
สร้างคณะกรรมการสำหรับวันหน้า ที่มีประสิทธิผล
คณะกรรมการบริษัทถูกคาดหวังให้เป็นผู้นำการปฏิบัติที่เป็นแบบอย่าง (Tone at the top) ริเริ่มให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร สร้างเป็นตัวแบบของค่านิยมบริษัท และข้อปฏิบัติที่ดีทางธุรกิจ โดยกรรมการแต่ละท่านเปรียบเสมือน “จุดเชื่อมโยง” ในสายโซ่ร้อยระหว่างค่านิยมหลักของบริษัทกับผลการดำเนินงานท้ายสุดทางธุรกิจ ที่ซึ่งองค์ประกอบของคณะกรรมการควรมีความหลากหลาย มีสมรรถนะและประสบการณ์ที่เอื้อต่อหน้าที่ทางธุรกิจและบทบาทในอุตสาหกรรม สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทั้งนี้ บริษัทจะแข็งแกร่งได้ ตราบเท่าที่มีกรรมการที่เข้มแข็ง ในการนำองค์กร

5. Next generation ESG disclosure and reporting
โฉมหน้าการรายงานและการเปิดเผยข้อมูล ESG รุ่นถัดไป
การรายงานความยั่งยืนและการเปิดเผยข้อมูล ESG เป็นกติกาทางธุรกิจที่กลายมาเป็นข้อกำหนดภาคบังคับเพิ่มเติมในตลาดการค้าขนาดใหญ่สุดของโลก การเปิดเผยข้อมูล ESG ที่ดี มิได้หมายถึงการเปิดเผยข้อมูลให้ได้ปริมาณมาก แต่ขาดซึ่งสาระสำคัญ เพราะท่ามกลางแรงกดดันที่ให้กิจการต้องรายงาน ทำให้เกิดมาตรฐานข้อแนะนำเป็นจำนวนมาก ธุรกิจจึงควรพิจารณาเลือกเปิดเผยข้อมูลตามแบบแผนที่สอดคล้องกับเป้าประสงค์ โพรไฟล์ และวุฒิภาวะ (Maturity) ด้าน ESG ขององค์กร และเป็นไปตามข้อกำหนดทางกฎหมายที่มีผลบังคับกับกิจการ

6. The road to a sustainable value chain
เส้นทางสู่สายโซ่คุณค่าที่ยั่งยืน
องค์กรจำเป็นต้องเสาะหาวิธีการแบบองค์รวมในการขับเคลื่อนสายอุปทานที่ยั่งยืน โดยผนวกหลักการด้าน ESG อันก่อให้เกิดภาวะพร้อมผันและความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ นับตั้งแต่การจัดหาที่ยั่งยืน จวบจนการส่งมอบผลิตภัณฑ์ถึงมือลูกค้า อาทิ การสรรหาวัสดุต้นทาง ข้อปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ส่งมอบ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามขอบเขตที่ 3 ทั้งนี้ กิจการควรมีการสานสัมพันธ์เชิงรุกและการทำงานร่วมกันกับคู่ค้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้รับทราบถึงความคาดหวังในด้าน ESG โดยมีเกณฑ์ชี้วัดการดำเนินงานและการให้คุณ (Reward) แก่คู่ค้าที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์อย่างเหมาะสม

7. Nature-based assets will drive valuations
สินทรัพย์ธรรมชาติ จะเป็นตัวกำหนดมูลค่ากิจการ
ปัจจัยนำเข้าที่เป็นวัตถุดิบสำคัญต่อการผลิตและเป็นการบริการทางระบบนิเวศที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ จัดเป็นสินทรัพย์ธรรมชาติที่ใช้กำหนดมูลค่ากิจการและใช้ประเมินสถานะความอยู่รอดทางธุรกิจในระยะยาว ในทำนองเดียวกัน ผลจากกิจกรรมทางธุรกิจก่อให้เกิดจุดพลิกผันของการดำรงอยู่ทางธรรมชาติ อาทิ ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว การพังทลายของพืดน้ำแข็ง การแผ้วถางป่าเขตร้อน รวมทั้งผลกระทบต่อทุนธรรมชาติอื่น ๆ เช่น ดินและน้ำ ตลอดจนผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เดิมมิได้ถูกบันทึกอยู่ในงบดุลของกิจการ จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการรายงานความยั่งยืนและการกำหนดมูลค่าของกิจการ

หน่วยงานหรือองค์กรธุรกิจที่สนใจข้อมูลแต่ละแนวโน้มความยั่งยืนอย่างละเอียด สามารถดาวน์โหลดรายงาน “7 Sustainability Trends 2023 Report” ฉบับเต็ม ได้ที่เว็บไซต์ accountability.org ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป



ฟังบทสัมภาษณ์ในรายการ CEO Vision ทาง FM 96.5 MHz (29 ก.ค. 66)



จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, July 15, 2023

7 Green Habits : สร้างอุปนิสัยสีเขียวเพื่อโลก

ภัยพิบัติและภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ หลายประเทศต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นมากกว่าสองเท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก วิกฤติไฟป่าที่สร้างความเสียหายมหาศาล น้ำท่วมใหญ่ในหลายภูมิภาค สภาพอากาศสุดขั้วและภัยแล้งในหลายทวีป ฯลฯ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นผลจากภาวะโลกร้อนซึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์

อุปนิสัยสีเขียว (Green Habits) จะช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญอยู่ และเป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคที่แสดงออกถึงความห่วงใยในความปลอดภัย สุขอนามัย และคุณภาพชีวิต ภายใต้วิถีแห่งการบริโภคที่ยั่งยืนซึ่งเป็นกระแสหลักของโลก จนเป็นเหตุให้องค์กรธุรกิจจำต้องปรับปรุงและพัฒนากระบวนการดำเนินงาน สายผลิตภัณฑ์ รวมทั้งบริการต่างๆ ให้อิงกับอุปนิสัยสีเขียวเพิ่มขึ้น


ความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อช่วยเยียวยาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มิให้เป็นภัยอันตรายต่อคนรุ่นปัจจุบัน รวมทั้งต้องพิทักษ์ระบบนิเวศให้ยืนยาวสืบต่อไปยังคนรุ่นหลัง ผ่าน 7 อุปนิสัยสีเขียว ประกอบด้วย

Rethink
ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อเรามีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง กระแสการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมจะไม่เกิดผลสำเร็จใดๆ หากทุกคนที่ได้รับฟังข้อมูลไม่ตระหนักว่าตนเองต้องเปลี่ยนแปลง การคิดใหม่ ไม่จำเป็นต้องสร้างหรือนำเสนอสิ่งใหม่ (Reinvent) ที่ต้องเริ่มจากศูนย์เสมอไป การต่อยอดขยายผลหรือปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่เดิมด้วยความคิดใหม่ อาจดีกว่า ประหยัดกว่า และทุ่นเวลากว่าการต้องเริ่มใหม่ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ เมื่อคิดได้แล้ว ต้องลงมือทำ

Reduce
โลกร้อน เมื่อเราเผาผลาญทรัพยากรเกินขีดจำกัดที่ธรรมชาติจะหมุนเวียนได้ทัน โลกบูด เพราะเราบริโภคเกินจนเกิดขยะและของเสียที่ไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ทัน ช่วยกันลดการใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น และช่วยกันลดการบริโภคเพื่อไม่ให้เกิดขยะและของเสียอย่างที่เป็นอยู่

Reuse
สำรวจของที่ซื้อมาแล้วเพิ่งใช้เพียงหนเดียวว่า สามารถใช้ประโยชน์ซ้ำได้หรือไม่ หาวิธีการใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำ หรือหลีกเลี่ยงบรรจุภัณฑ์ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง การซื้อของมีคุณภาพที่ราคาสูงกว่า แต่ใช้งานได้ทนนาน จะดีกว่าซื้อของที่ด้อยคุณภาพในราคาถูก แต่ใช้งานได้เพียงไม่กี่ครั้ง

Recycle
เป็นการนำวัสดุที่หมดสภาพหรือที่ใช้แล้วมาปรับสภาพเพื่อนำมาใช้ใหม่ เริ่มลงมือปรับแต่งของใช้แล้วในบ้านให้เกิดประโยชน์ใหม่ ช่วยกันคัดแยกขยะหรือวัสดุเหลือใช้ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้เองมอบให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดีกว่าทิ้งหรือเก็บไว้เฉยๆ โดยเปล่าประโยชน์

Recondition
ของหลายอย่างสามารถปรับแต่งซ่อมแซม (Repair) แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ดังเดิม พยายามใช้ของให้ถูกวิธีเพื่อหลีกเลี่ยงการชำรุดเสียหายก่อนเวลาอันควร และหากสิ่งของใดมีกำหนดเวลาที่ต้องบำรุงรักษา ให้หมั่นตรวจสอบและปฏิบัติตามตารางการบำรุงรักษา เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น ขณะที่อุปกรณ์บางจำพวกอาจต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนหรือทดแทน (Replace) ด้วยอุปกรณ์รุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่า เช่น เครื่องปรับอากาศ เพื่อลดการสิ้นเปลืองค่าไฟฟ้า และประหยัดพลังงาน

Refuse
การปฏิเสธเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดไม่ให้ถูกนำมาใช้หรือถูกทำลายเร็วขึ้น และเพื่อให้เวลาธรรมชาติในการฟื้นสภาพตัวเองตามระบบนิเวศ เริ่มจากสิ่งนอกตัว เช่น สินค้าฟุ่มเฟือย สิ่งที่เราต้องเติมใส่ร่างกาย เช่น อาหารนำเข้า จนถึงสิ่งที่อยู่ข้างในกาย คือ จิตใจ เพราะเมื่อจิตร้อน กายก็ร้อน สิ่งรอบข้างก็ได้รับกระแสร้อนตามไปด้วย

Return
หน้าที่หนึ่งของมนุษย์ในฐานะผู้อาศัยโลกเป็นที่พักพิง คือ การตอบแทนคืนแก่โลก ใครใช้ทรัพยากรใดจากธรรมชาติเยอะ ก็ต้องคืนทรัพยากรนั้นกลับให้มากๆ ผลกระทบใดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการดำเนินงาน ก็ต้องพยายามฟื้นฟู ทำให้คืนสภาพ หรือทำให้สมบูรณ์ (Replenish) ดังเดิม เมื่อใดที่ริเริ่มเป็นผู้ให้ได้โดยมิต้องบังคับหรือร้องขอ เมื่อนั้นเราก็จะได้รับกลับคืนอย่างไม่ต้องสงสัยเช่นกัน


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, July 01, 2023

กลยุทธ์น่านน้ำหลากสี : Colorful Ocean Strategy

เมื่อว่าด้วยเรื่องกลยุทธ์ ในแวดวงธุรกิจก็มีหลากหลายกลยุทธ์จากร้อยแปดสำนัก กลยุทธ์ที่มีอิทธิพลและได้รับการกล่าวขานกันอย่างแพร่หลายชุดหนึ่ง คือ กลยุทธ์จำพวกน่านน้ำหลากสี (colorful ocean strategy) ทั้ง red ocean, blue ocean, green ocean

กลยุทธ์น่านน้ำเหล่านี้มีทั้งความเหมือนและต่างกันในบริบทที่ตัวมันเองเป็นกลยุทธ์ประเภทหนึ่งในทางธุรกิจ ความเหมือนกัน ก็คือ ทั้งสามกลยุทธ์มุ่งให้ความสำคัญที่คุณค่า (value) ในการประกอบการ เพื่อนำมาซึ่งความสำเร็จขององค์กร

การนิยามความสำเร็จเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างทางกลยุทธ์ บางกิจการ ความสำเร็จ คือการมีชัยชนะเหนือคู่แข่งในสนามการแข่งขัน บางกิจการวัดความสำเร็จจากการพัฒนาธุรกิจให้ล้ำหน้าการแข่งขันอยู่ตลอดเวลาจนทำให้คู่แข่งหมดความหมาย ขณะที่กิจการอีกส่วนหนึ่งประเมินจากที่องค์กรมีความยั่งยืนด้วยการพัฒนาอย่างสมดุล

Red ocean strategy คือ กลยุทธ์ที่ใช้สร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยมุ่งพัฒนาและส่งมอบคุณค่าที่เหนือกว่า (Beating Value) คู่แข่งขัน

Blue ocean strategy คือ กลยุทธ์ที่ใช้สร้างและจับจองอุปสงค์ในตลาดใหม่ ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมทางคุณค่า (Innovating Value) ที่ล้ำหน้าจากสภาพการแข่งขัน

Green ocean strategy คือ กลยุทธ์ที่ใช้สร้างและผนวกคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่เน้นดำรงความยั่งยืนทางคุณค่า (Sustaining Value)

Red OceanBlue OceanGreen Ocean
Competition-based StrategyInnovation-based StrategySustainability-based Strategy
Beating ValueInnovating ValueSustaining Value

ในกลยุทธ์การแข่งขันแบบน่านน้ำสีแดง องค์กรต้องเลือกระหว่างกลยุทธ์ต้นทุนต่ำ การสร้างความแตกต่าง หรือการมุ่งเฉพาะส่วน เพราะพื้นที่ตลาดเดิมได้ถูกกำหนดไว้อย่างแจ้งชัด

สำหรับกลยุทธ์น่านน้ำสีคราม องค์กรสามารถพัฒนากลยุทธ์ที่ได้ทั้งความแตกต่างและต้นทุนต่ำ เนื่องจากพื้นที่ตลาดได้ถูกสร้างขึ้นใหม่และยังไร้ซึ่งการแข่งขัน

ส่วนกลยุทธ์สู่ความยั่งยืนแบบน่านน้ำสีเขียว องค์กรจะต้องทบทวนกิจกรรมในสายคุณค่าทั้งหมด เพื่อฝังเรื่อง ESG (Environmental, Social and Governance) เข้าไว้ในทุกกระบวนการ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาสู่ความยั่งยืน

เครื่องมือที่ไมเคิล อี พอร์เตอร์ ใช้ในการวิเคราะห์สภาวการณ์การแข่งขันในอุตสาหกรรม ภายใต้ Red Ocean คือ Five Competitive Forces หรือ แรงที่กำหนดสภาพการแข่งขันจาก 5 ทิศทาง คือ แรงผลักดันจากผู้เล่นหน้าใหม่ (New Entrants) แรงบีบจากผู้ส่งมอบ (Suppliers) แรงผูกมัดจากผู้ซื้อ (Buyers) แรงกดดันจากผู้เข้าแทนที่ (Substitutes) และแรงห้ำหั่นจากคู่แข่งขัน (Competitors)

ชาน คิม ผู้ให้กำเนิดกลยุทธ์ Blue Ocean ที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมเชิงคุณค่า (Value Innovation) ระบุว่า เครื่องมือที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับใช้ในการวิเคราะห์เพื่อสร้างสรรค์คุณค่าใหม่ในกลยุทธ์น่านน้ำสีคราม คือ Four Action Frameworks ซึ่งใช้ทลายข้อจำกัดของการต้องเลือกระหว่างการสร้างความแตกต่างและต้นทุนต่ำในสมรภูมิการแข่งขันแบบเดิม ประกอบไปด้วย 4 คำถามหลักที่มุ่งท้าทายตรรกะเชิงกลยุทธ์ในอุตสาหกรรมและแบบจำลองในธุรกิจ

มีปัจจัยใดบ้างที่อุตสาหกรรมปฏิบัติสืบเนื่องจนเคยชินและควรค่าแก่การขจัดให้หมดไป
มีปัจจัยใดบ้างที่ควรค่าแก่การลดไม่ให้เกินกว่ามาตรฐานในอุตสาหกรรม
มีปัจจัยใดบ้างที่ควรค่าแก่การยกระดับให้สูงกว่ามาตรฐานในอุตสาหกรรม
มีปัจจัยใดบ้างที่อุตสาหกรรมยังไม่เคยมีการนำเสนอและควรค่าแก่การสร้างให้เกิดขึ้น

ส่วนกลยุทธ์ Green Ocean นอกเหนือจากการวิเคราะห์คุณค่าเชิงเศรษฐกิจที่ถูกสร้างขึ้นจากกิจกรรมหลัก (Primary Activities) และกิจกรรมสนับสนุน (Support Activities) ในสายแห่งคุณค่า (Value Chain) แล้ว ยังคำนึงถึงการดำรงคุณค่าเชิงสังคมและคุณค่าเชิงสิ่งแวดล้อมด้วย

ทั้งสามกลยุทธ์น่านน้ำ มุ่งให้ความสำคัญกับการปรับทิศทางการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่เป็นเป้าหมายรวมของกิจการ มากกว่าการปรับเปลี่ยนแค่กิจกรรมที่ดำเนินอยู่เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในแต่ละแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ขององค์กร


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, June 17, 2023

นับหนึ่งการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนภาครัฐ

เมื่อพูดถึงการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของกิจการ เราเข้าใจเป็นอื่นไปไม่ได้ว่า นั่นเป็นบทบาทของกิจการในภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจ พึงจะต้องรายงานให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบ ไม่ว่าจะเป็นไปโดยสมัครใจ หรือมีกฎระเบียบบังคับให้ดำเนินการก็ตาม

ในภาคสมัครใจ มาตรฐานการรายงานขัอมูลความยั่งยืนซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลและใช้อ้างอิงอย่างแพร่หลายในวงกว้าง คือ มาตรฐาน GRI (Global Reporting Initiative) โดยจากการสำรวจของเคพีเอ็มจี ในปี ค.ศ.2022 ระบุว่า ร้อยละ 68 หรือราวสองในสามของบริษัทในกลุ่ม N100 ซึ่งประกอบด้วยบริษัทที่มีรายได้สูงสุด 100 แห่ง จากประเทศที่ทำการสำรวจ 58 ประเทศทั่วโลก รวม 5,800 บริษัท ใช้มาตรฐาน GRI อ้างอิงในการจัดทำรายงานความยั่งยืนของกิจการ

ในประเทศไทย จากการสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์กับกิจการในประเทศจำนวน 854 แห่ง ในปี พ.ศ.2565 พบว่า ร้อยละ 88.89 ของกิจการที่มีการเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบรายงานความยั่งยืน จำนวน 153 แห่ง ใช้การอ้างอิงมาตรฐาน GRI เช่นเดียวกัน

ในภาคบังคับ ปัจจุบัน ทุกบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถูกกำหนดให้บริษัทต้องมีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนตามแบบ 56-1 One Report ในหัวข้อ “การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน” เพื่อให้สะท้อนการดำเนินการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจเพื่อความยั่งยืน และการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่รวมอยู่ในกระบวนการทางธุรกิจ (ESG-in-process) ที่เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการตลาดทุน (ก.ต.ท.)

สำหรับความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของกิจการภาครัฐ คณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีภาครัฐระหว่างประเทศ (IPSASB) ได้ออกแนวทางการปฏิบัติที่แนะนำ (RPG) ว่าด้วยการรายงานข้อมูลชุดโครงการความยั่งยืน หรือ Reporting Sustainability Program Information แก้ไขเพิ่มเติมการรายงานความยั่งยืนทางการเงินของกิจการในระยะยาว (RPG 1) และการรายงานข้อมูลผลการให้บริการสาธารณะ (RPG 3) เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

สาระสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติม คือ การรายงานผลกระทบของชุดโครงการความยั่งยืนที่มีต่อฐานะทางการเงินของกิจการในระยะยาวทั้งในมิติการให้บริการ รายได้ และหนี้สิน ตลอดจนการให้รายละเอียดและข้อมูลตัวชี้วัดของชุดโครงการความยั่งยืนที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกรีนบอนด์ จากภาษีคาร์บอน และเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการลงทุนเพื่อความยั่งยืน เป็นต้น

ปัจจุบัน IPSASB กำลังผลักดันการออกเอกสารที่มีความเร่งด่วนใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1) ข้อกำหนดทั่วไปสำหรับการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับความยั่งยืน 2) การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ และ 3) การเปิดเผยข้อมูลที่มิใช่ตัวเงิน: ทรัพยากรธรรมชาติ

โดยในเดือนมิถุนายนนี้ IPSASB ได้มีการนำเสนอโครงการฉบับย่อในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ที่จะพัฒนาขึ้นโดยอาศัยมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (IFRS) และมาตรฐานการรายงานความยั่งยืนสากล (GRI) โดยมีกำหนดออกเป็นร่าง (Exposure Draft) ที่ผ่านการอนุมัติ ในเดือนมิถุนายน ปีหน้า และประกาศใช้เป็นมาตรฐาน ภายในครึ่งปีหลังของปี พ.ศ.2568

จะเห็นว่า กระแสการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนที่มีมาอย่างต่อเนื่อง มิได้จำกัดอยู่เพียงกิจการในภาคเอกชนแล้วเท่านั้น แต่กำลังขยายวง ครอบคลุมไปถึงกิจการในภาครัฐ ซึ่งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่หน่วยงานภาครัฐในประเทศ จำเป็นต้องเฝ้าติดตามและเตรียมรับมือกับความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอย่างไม่ชักช้า

ซึ่งก็น่าจะเหมาะเจาะกับจังหวะเวลาที่เรากำลังจะมีรัฐบาลใหม่ ที่มีศักยภาพนำการเปลี่ยนแปลงในระบบราชการและหน่วยงานภาครัฐ ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, June 03, 2023

'หุ้นเข้าใหม่' ในทำเนียบ ESG100 ปี 2566

จากการสำรวจของมอร์นิ่งสตาร์ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่าการลงทุนยั่งยืนทั่วโลกมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิน้อยลง ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ประเด็นเงินเฟ้อ และแนวโน้มของสภาวะเศรษฐกิจถดถอย

แต่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิยังคงเพิ่มขึ้นมาที่ 2.74 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเติบโต 7.5% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าภาพรวมกองทุนทั่วโลกที่ 4%

กองทุนในยุโรปยังคงเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สุดของการลงทุนอย่างยั่งยืน คิดเป็น 84% ของมูลค่ากองทุนยั่งยืนทั่วโลก รองลงมาเป็นประเทศสหรัฐอเมริกาในสัดส่วน 11% ตามมาด้วยกลุ่มประเทศในเอเชีย (ไม่นับรวมญี่ปุ่น) เป็นอันดับสามของโลก

โดยในภูมิภาคเอเชีย เม็ดเงินลงทุนในกองทุนยั่งยืน มีมูลค่ารวม 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 3.1% ในจำนวนนี้เป็นมูลค่าการลงทุนในประเทศจีนถึง 68% ตามมาด้วยไต้หวันและเกาหลีใต้ที่ 17% และ 11.6% ตามลำดับ

สำหรับในประเทศไทย เนื่องจากกองทุนยั่งยืนส่วนใหญ่ เป็นการลงทุนต่างประเทศ ทำให้การฟื้นตัวของตลาดหุ้นต่างประเทศโดยเฉพาะทางฝั่งสหรัฐฯ ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนยั่งยืนในประเทศไทยขึ้นมาอยู่ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% จากสิ้นปีที่แล้ว โดยมีเงินไหลออกสุทธิ ราว 2 ร้อยล้านบาท

อย่างไรก็ดี หากมองย้อนกลับไปในช่วงสองปีที่ผ่านมา พบว่ากองทุนยั่งยืนมีเม็ดเงินไหลเข้า-ออกอย่างจำกัด โดยเฉพาะหลังจากปี ค.ศ.2021 เป็นต้นมา ซึ่งอาจมีส่วนมาจากสภาวะการลงทุนที่มีปัจจัยลบค่อนข้างมากในช่วงปี ค.ศ.2022

ในส่วนของสถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจในประเทศไทย และเป็นผู้จัดทำข้อมูลกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2015 ได้จัดทำรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่น่าลงทุนในกลุ่ม ESG Emerging ปี ค.ศ.2023 ด้วยการคัดเลือกจาก 888 บริษัท/กองทุน/ทรัสต์เพื่อการลงทุน ทำการประเมินโดยใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ ESG จาก 6 แหล่ง จำนวนกว่า 16,445 จุดข้อมูล

โดยการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่น่าลงทุนกลุ่ม ESG Emerging ในปีนี้ นับเป็นปีที่สี่ของการประเมิน ซึ่งพิจารณาจากข้อมูลการดำเนินงานที่สะท้อนปัจจัยด้าน ESG ตามที่บริษัทเปิดเผยต่อสาธารณะ และผ่านเกณฑ์คัดกรองเบื้องต้นที่ใช้ในการประเมินหลักทรัพย์ ESG100 ของสถาบันไทยพัฒน์ ตามหลักการ CORE Framework เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวแก่ผู้ลงทุน

สำหรับหลักทรัพย์ที่ติดกลุ่ม ESG Emerging ปี ค.ศ.2023 ซึ่งได้เข้าอยู่ในทำเนียบ ESG100 เป็นครั้งแรก มีจำนวน 15 หลักทรัพย์ ประกอบด้วย AAI AWC BRR BVG DEXON ITC PLANB POLY PRI PRIME SICT SISB TLI WHA WHAIR

ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ยังได้คัดเลือกและจัดทำรายชื่อหลักทรัพย์ที่มีผลประกอบการพลิกฟื้นกลุ่ม ESG Turnaround เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับการลงทุนที่คำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ด้วยโอกาสการสร้างผลตอบแทนจากหลักทรัพย์ที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวและมีปัจจัย ESG สนับสนุน

สำหรับหลักทรัพย์กลุ่ม ESG Turnaround ประกอบด้วย AOT BA BAFS CENTEL ERW MINT SEAFCO SHR SPA THRE รวมจำนวน 10 หลักทรัพย์

โดยการพิจารณาคัดเลือกหลักทรัพย์ที่มีผลประกอบการพลิกฟื้นกลุ่ม ESG Turnaround ในปีนี้ นับเป็นปีแรกของการจัดทำรายชื่อบริษัทที่มี ESG ซึ่งได้ตามเกณฑ์ในรอบปีการประเมิน แต่ยังมีผลประกอบการติดลบหรือต่ำกว่าตลาด (Underperform) โดยมีสัญญาณการพลิกฟื้นและโอกาสในการไต่ระดับขึ้น (Upside) ของราคาหลักทรัพย์ จากการฟื้นตัวของตลาด และศักยภาพในธุรกิจแกนหลัก (Core Business) ของกิจการที่มี ESG เป็นปัจจัยสนับสนุน

ผู้ลงทุนที่สนใจศึกษาข้อมูลกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://thaipat.esgrating.com


* หมายเหตุ: การนำเสนอข้อมูลกลุ่มหลักทรัพย์จดทะเบียน ESG100, ESG Emerging, ESG Turnaround รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่สถาบันไทยพัฒน์เป็นผู้ประเมิน เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้เป็นข้อมูลเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นคำแนะนำในการลงทุน หรือการเสนอซื้อเสนอขายใดๆ


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, May 20, 2023

คนรุ่นใหม่เลือกทำงานกับบริษัทที่ใฝ่ ESG

ดีลอยท์ ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ ในเอกสาร 2023 Gen Z and Millennial Survey ต่อค่านิยมในการทำงานกับองค์กร พบว่า 44% ของกลุ่ม Gen Z (อายุระหว่าง 19-28 ปี) และ 37% ของกลุ่ม Millennial (อายุระหว่าง 29-40 ปี) ไม่ยอมรับที่จะทำงานที่ได้รับมอบหมายจากข้อกังวลด้านจริยธรรม ขณะที่ 39% ของกลุ่ม Gen Z และ 34% ของกลุ่ม Millennial ปฏิเสธที่จะทำงานกับบริษัทที่ดำเนินงานขัดกับค่านิยมของตน

การสำรวจนี้ มาจากการสอบถามกลุ่ม Gen Z จำนวน 14,483 คน และกลุ่ม Millennial จำนวน 8,373 คน รวม 22,856 คน จาก 44 ประเทศทั่วโลก


ประเด็นที่กลุ่ม Gen Z และกลุ่ม Millennial ให้ความสำคัญสูงสุดสามอันดับแรก ได้แก่ ค่าครองชีพ (35% ในกลุ่ม Gen Z และ 42% ในกลุ่ม Millennial) การว่างงาน (22% ในกลุ่ม Gen Z และ 20% ในกลุ่ม Millennial) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (21% ในกลุ่ม Gen Z และ 23% ในกลุ่ม Millennial)

ข้อห่วงใยด้านสภาพภูมิอากาศ ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจในอาชีพ โดยมากกว่าครึ่งของผู้ถูกสำรวจทั้งในกลุ่ม Gen Z (55%) และในกลุ่ม Millennial (54%) จะมีการศึกษานโยบายและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของแบรนด์บริษัทก่อนที่จะตอบรับเข้าทำงาน ขณะที่หนึ่งในหกของกลุ่ม Gen Z (17%) และกลุ่ม Millennial (16%) ได้มีการเปลี่ยนงานหรือสาขาอาชีพแล้วจากข้อห่วงใยด้านสภาพภูมิอากาศ และอีก 25% ของกลุ่ม Gen Z กับอีก 23% ของกลุ่ม Millennial แสดงความประสงค์ที่จะทำเช่นนั้นในอนาคต

สิ่งที่ผู้ถูกสำรวจ ต้องการให้บริษัทเพิ่มน้ำหนักความสำคัญต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่

การอุดหนุนค่าใช้จ่ายพนักงานที่ใช้ตัวเลือกความยั่งยืน ประกอบด้วย รถยนต์ไฟฟ้า แผงพลังงานแสงอาทิตย์ ตัวควบคุมอุณหภูมิประหยัดพลังงาน เบี้ยจูงใจสำหรับใช้ระบบขนส่งมวลชน ฯลฯ
การให้ความรู้และฝึกอบรมพนักงานเกี่ยวกับวิถีความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน
การห้าม / ลดใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งในสำนักงาน / สถานประกอบการ
การปรับปรุงซ่อมแซมสำนักงานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ การติดตั้งระบบจัดการสำนักงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
การปรับสภาพชุมชนในถิ่นที่ตั้งของสถานประกอบการให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ผลสำรวจความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ต่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม พบว่า สี่ในห้าของผู้ถูกสำรวจต้องการให้ธุรกิจเพิ่มทางเลือกในการซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในราคาที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ มีการปรับสายอุปทานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ขณะที่ สามในสิบของกลุ่ม Gen Z (30%) และกลุ่ม Millennial (29%) มีความอ่อนไหวต่อการฟอกเขียว (Greenwashing) โดยจะดูสิ่งที่บริษัทอ้างในการทำตลาดว่ามีการรับรองจากหน่วยงานภายนอกหรือไม่ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ และอีกราวหนึ่งในสาม (34%) ของทั้งกลุ่ม Gen Z กับกลุ่ม Millennial แสดงความประสงค์ที่จะทำเช่นนั้นในอนาคต

สำหรับประเด็นด้านสังคมที่กลุ่ม Gen Z และกลุ่ม Millennial มีความกังวล ได้แก่ สุขภาพจิต (19% ในกลุ่ม Gen Z และ 14% ในกลุ่ม Millennial) การคุกคามทางเพศ (16% ในกลุ่ม Gen Z และ 8% ในกลุ่ม Millennial) และความเหลื่อมล้ำ (16% ในกลุ่ม Gen Z และ 10% ในกลุ่ม Millennial)

ผลสำรวจระบุว่า ความกดดันในการทำงาน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กลุ่ม Gen Z (52%) และกลุ่ม Millennial (49%) เกิดความเหนื่อยล้า (Burnout) โดย 36% ของกลุ่ม Gen Z และ 30% ของกลุ่ม Millennial รู้สึกหมดแรงหรือกำลังถดถอยในงาน ขณะที่ 35% ของกลุ่ม Gen Z และ 28% ของกลุ่ม Millennial รู้สึกไม่ผูกพันกับงานที่ทำ ไปจนถึงมีความรู้สึกแง่ลบหรือต่อต้านงานที่ทำ และอีก 42% ของกลุ่ม Gen Z กับอีก 40% ของกลุ่ม Millennial รู้สึกดิ้นรนที่ต้องให้งานออกมาดีสมกับความสามารถ

ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตของคนกลุ่ม Gen Z และกลุ่ม Millennial ยังเกิดจากสภาวะเดอะแบก หรือภาระที่โดนประกบแบบแซนวิช ที่ต้องดูแลรับผิดชอบทั้งลูกเล็กและพ่อแม่สูงวัย โดย 34% ของกลุ่ม Gen Z และ 39% ของกลุ่ม Millennial มีภาระประจำที่ต้องดูแลรับผิดชอบทั้งลูกเล็กและพ่อแม่หรือญาติสูงวัย ขณะที่ มากกว่าสี่ในสิบของคนกลุ่ม Gen Z และกลุ่ม Millennial ระบุว่าภาระรับผิดชอบดังกล่าวมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสุขภาพจิตของตน

ทำให้กว่า 80% ของผู้ถูกสำรวจ ระบุว่า จะมีการพิจารณานโยบายและการสนับสนุนของบริษัทในด้านสุขภาพจิต ก่อนตัดสินใจตอบรับเข้าทำงาน ซึ่งการให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาพนักงานที่มีความสามารถให้คงอยู่กับองค์กรได้อีกด้วย


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, May 06, 2023

Climate Reporting: กิจการไทย ยืนหนึ่งในอาเซียน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ถูกบรรจุเป็นวาระสำคัญ ที่ทุกประเทศในโลก รวมทั้งประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน ผลักดันให้ภาคส่วนต่าง ๆ ลุกขึ้นมาดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง รวมถึงภาคเอกชนที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนวาระดังกล่าว ด้วยการผนวกเข้ากับกลยุทธ์การดำเนินงานทางธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควบคู่ไปพร้อมกัน

องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (GRI) โดยศูนย์ภูมิภาคอาเซียน GRI ร่วมกับคณะธุรกิจมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS Business School) โดยศูนย์ธรรมาภิบาลและความยั่งยืน (CGS) ทำการศึกษากิจการในภูมิภาคอาเซียน 6 ประเทศ (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม) จำนวน 600 บริษัท โดยคัดเลือกจากบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดร้อยอันดับในตลาดหลักทรัพย์ของแต่ละประเทศ ต่อการเปิดเผยข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศของกิจการ

ผลการศึกษาได้ถูกจัดทำเป็นรายงานที่มีชื่อว่า Climate Reporting in ASEAN: State of Corporate Practices เผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2565 พบว่า ในบรรดา 600 บริษัทที่ทำการศึกษา มีบริษัท 420 แห่ง ได้มีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนที่เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วย บริษัทในประเทศอินโดนีเซีย 55 แห่ง มาเลเซีย 98 แห่ง ฟิลิปปินส์ 66 แห่ง สิงคโปร์ 98 แห่ง ไทย 63 แห่ง และเวียดนาม 40 แห่ง

การวิเคราะห์การเปิดเผยข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศของกิจการในอาเซียน พิจารณาใน 7 ด้านหลัก ได้แก่ กรอบการรายงาน (reporting framework) สารัตถภาพ (materiality) ความเสี่ยงและโอกาส (risks and opportunities) ธรรมาภิบาล (governance) กลยุทธ์ (strategy) เป้าหมาย (targets) และผลการดำเนินงาน (performance)

โดยอัตราการเปิดเผยข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศของกิจการโดยรวม (Overall Rating) ใน 6 ประเทศภูมิภาคอาเซียน อยู่ที่ 46% นำโดยประเทศไทยอยู่ในอันดับสูงสุดของกลุ่มในอัตรา 57% รองลงมาเป็นมาเลเซียและสิงคโปร์ในอัตราที่ 48% เท่ากัน ตามมาด้วยอินโดนีเซียที่ 44% ฟิลิปปินส์ที่ 42% และเวียดนามที่ 24% ตามลำดับ

ประเทศไทยมีอัตราการเปิดเผยข้อมูลสูงสุดในด้านสารัตถภาพ (74.6%) ความเสี่ยงและโอกาส (66.9%) ธรรมาภิบาล (61.2%) เป้าหมาย (69.4%) และผลการดำเนินงาน (59.4%) และยังมีการเปิดเผยข้อมูลด้านการใช้เชื้อเพลิงทดแทนสูงที่สุดในกลุ่ม (38%)

มาเลเซียมีอัตราการเปิดเผยข้อมูลสูงสุดในด้านการระบุโอกาสที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (74.5%) และข้อพิจารณาขององค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับกลยุทธ์ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในระยะยาว (41.8%)

สิงคโปร์มีความโดดเด่นในการติดตามและการเปิดเผยตัววัดที่สามารถเปรียบเทียบข้อมูลการดำเนินงานในอดีตสำหรับการวิเคราะห์แนวโน้ม (77.6%) การชี้แจงถึงที่มาของเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ (70.4%) และการแสดงถึงการผูกโยงค่าตอบแทนกับผลลัพธ์ในการจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (14.3%)

ผลการศึกษาด้านกรอบการรายงานที่ใช้ในการเปิดเผยข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศ พบว่า กิจการใน 6 ประเทศภูมิภาคอาเซียน ใช้ GRI Standards มากสุดในอัตรา 85% รองลงมาเป็น SDG Framework ที่อัตรา 76% เมื่อเทียบกับกรอบการเปิดเผยข้อมูลอื่น (ได้แก่ IIRC, SASB, TCFD) ที่ถูกใช้อ้างอิงในอัตราที่ไม่ถึง 50%

ส่วนการวิเคราะห์การเปิดเผยข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศของกิจการในอีก 6 ด้าน ที่ประกอบด้วย ด้านสารัตถภาพ ด้านความเสี่ยงและโอกาส ด้านธรรมาภิบาล ด้านกลยุทธ์ ด้านเป้าหมาย และด้านผลการดำเนินงาน พบว่า หัวข้อที่มีการเปิดเผยมากสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ ประเด็นสาระสำคัญที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การมอบหมายความรับผิดชอบที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศแก่คณะกรรมการระดับบริหาร และการเปิดเผยตัววัดที่เป็นข้อมูลผลการดำเนินงานในอดีตสำหรับการวิเคราะห์แนวโน้ม

ขณะที่ หัวข้อที่มีการเปิดเผยน้อยสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ ข้อชี้แจงถึงกลยุทธ์ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในระยะกลาง ข้ออธิบายการใช้การวิเคราะห์ฉากทัศน์ที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศเป็นข้อมูลนำเข้าสำหรับการจัดทำกลยุทธ์ และการแสดงการผูกโยงค่าตอบแทนกับผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

อนึ่ง การพัฒนากรอบการศึกษาเพื่อใช้ประเมินความครบถ้วนต่อการเปิดเผยข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศของกิจการในอาเซียนครั้งนี้ อ้างอิงกรอบการรายงานและมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ประกอบด้วย Global Reporting Initiative (GRI), Task Force on Climate-related Financial Disclosures (TCFD), Greenhouse Gas (GHG) Protocol, Science-based Target initiative (SBTi), Carbon Disclosure Project (CDP) และ United Nations Sustainable Development Goals (SDG)

แนวโน้มการดำเนินงานและการเปิดเผยข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศของกิจการ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะทวีความเข้มข้นมากขึ้น และกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้ทันต่อวิกฤตการณ์ที่เป็นภัยพิบัติในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งสภาพอากาศสุดขั้ว อุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในหลายภูมิภาค ภัยแล้ง วิกฤตไฟป่า รวมทั้งอุทกภัยที่มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งภัยทางธรรมชาติเหล่านี้ เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดจากภาคธุรกิจอุตสาหกรรม


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, April 22, 2023

7 กลวิธี การฟอกเขียว

จากการเติบโตของธุรกิจสีเขียว ทั้งทางด้านพลังงานทางเลือก ผลิตภัณฑ์และบริการเชิงสุขภาพ สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ได้กลายเป็นตัวแปรที่ธุรกิจต้องคำนึงถึงในการดำเนินกิจกรรมทางการตลาด ที่ต้องมีส่วนประสมของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดภาวะโลกร้อน ซึ่งถือเป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ที่ได้กลายเป็นกระแสหลักของการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน


สำหรับธุรกิจที่ต้องการเกาะกระแสสีเขียวหรือไม่อยากตกเทรนด์ แต่มิได้ทำจริงหรือมีกระบวนการธุรกิจที่ไม่เขียวจริง จะใช้วิธีการฟอกเขียว (Green Washing) เพื่อทำให้ผู้บริโภคหรือสังคมเข้าใจไปว่าผลิตภัณฑ์ของตนหรือกระบวนการธุรกิจของตน มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพียงเพื่อวัตถุประสงค์ในการตลาดหรือการขาย

ผมได้เคยนำเสนอวิธีการฟอกเขียวของธุรกิจไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว โดยไม่ได้แปลจากต้นฉบับเมืองนอก แต่เป็นฉบับตะวันออกหรือเวอร์ชันไทย ที่ก็มีการฟอกเขียวตามกระแสโลก และเห็นว่าเนื้อหายังไม่ล้าสมัยแม้เวลาจะผ่านมาร่วมกว่าทศวรรษ จึงได้นำมาเรียบเรียงให้เป็นปัจจุบัน จำแนกออกเป็น 7 กลวิธีการฟอกเขียว ดังนี้

1. แบบโป้ปดมดเท็จ เป็นการปฏิเสธความจริงที่ปรากฏ หรือสื่อสารไม่ตรงตามข้อเท็จจริง เช่น การติดฉลากรับรองคุณภาพทั้งที่มิได้มีคุณภาพตามสมอ้างหรือโดยปราศจากการตรวจสอบรับรองใดๆ การอ้างกฎหมายเพื่อปฏิเสธความรับผิดเนื่องจากขาดหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ ทั้งที่มีมูลเหตุมาจากองค์กร หรือการยกเมฆตัวเลขการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

2. แบบพูดอย่างทำอย่าง เป็นการให้คำมั่นสัญญาที่มิได้มีเจตนาจะดำเนินการจริง เช่น การลงนามในบันทึกข้อตกลง หรือให้สัตยาบัน หรือร่วมประกาศปฏิญญา แต่ไม่มีการดำเนินงานตามที่กล่าวไว้ เข้าในลักษณะดีแต่พูด หรือ วจีบรม (Lip Service)

3. แบบเจ้าเล่ห์เพทุบาย เป็นการอวดอ้างประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลการดำเนินงานด้าน ESG ทั้งที่มิได้มีคุณสมบัติตามที่กล่าวอ้างจริง เช่น การเลือกตัวชี้วัดที่อ่อนกว่าเกณฑ์ การใช้วิธีกำหนดเป้าหมายที่จะบรรลุต่ำเกินจริง การเลือกบันทึกข้อมูลเฉพาะครั้งที่ได้ค่าตามต้องการ

4. แบบมารยาสาไถย เป็นการเจตนาลวงให้เข้าใจผิดไปจากความเป็นจริง เพื่อแสดงให้เห็นว่าสินค้าและบริการของตน ได้ตามมาตรฐานหรือดีกว่าองค์กรอื่นๆ เช่น ประกาศว่าได้รับการรับรองตามมาตรฐานโลก ทั้งที่มาตรฐานดังกล่าว มิได้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เคลม หรือการอ้างถึงรางวัลที่ได้รับ จากเวทีหรือหน่วยงานที่ตนเองเป็นสปอนเซอร์ให้การสนับสนุนหรือชี้นำ

5. แบบเล่นสำนวนโวหาร เป็นความตั้งใจที่จะสื่อสารอย่างคลุมเครือ เพื่อให้เข้าใจไขว้เขวไปตามจุดมุ่งหมาย หรือทำให้หลงประเด็น เช่น ผลิตภัณฑ์นี้ประกอบด้วยสารจากธรรมชาติล้วนๆ ซึ่งในความเป็นจริง สารมีพิษ อาทิ สารหนู สารปรอท สารกันเสียฟอร์มาลดีไฮด์ (ที่มักใช้ผสมในเครื่องสำอาง แชมพู น้ำยาเคลือบเล็บ น้ำยาบ้วนปาก ยาระงับกลิ่นผ้า) ก็เป็นสารที่พบได้ตามธรรมชาติทั้งสิ้น

6. แบบต่อเติมเสริมแต่ง เป็นการขยายความหรืออวดอ้างสรรพคุณเกินจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่เพียงบางส่วน เพื่อให้เข้าใจว่ากระบวนการผลิตในธุรกิจหรือตัวผลิตภัณฑ์มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสูง หรือมีประโยชน์ต่อสุขภาพสูง เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มบำรุงสมอง เครื่องดื่มลดความอ้วน ที่อ้างส่วนประกอบของสารอาหารซึ่งสามารถได้รับจากการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มทั่วไปในปริมาณที่ไม่แตกต่างกัน

7. แบบปิดบังอำพราง เป็นการปกปิดข้อมูลหรือข้อเท็จจริงซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย หรือแสดงความจริงเพียงส่วนเดียว เพื่อจุดมุ่งหมายในการปกป้องผลประโยชน์หรือเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายขององค์กร เช่น องค์กรแสดงให้เห็นถึงการลงทุนในเทคโนโลยีระบบบำบัดของเสียที่เหนือกว่ามาตรฐาน แต่กลับมิได้บำบัดให้ได้ดีกว่าดังที่ประกาศ หรือการบิดเบือนข้อมูลในรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตลอดจนรายงานแห่งความยั่งยืนให้ปรากฏเฉพาะส่วนที่ส่งผลบวกต่อองค์กร

เราในฐานะผู้บริโภคจึงควรตรวจสอบและศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์และข้อมูลองค์กรอย่างรอบคอบ ก่อนตัดสินใจซื้อ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอาจมีราคาที่ไม่ได้ถูกกว่าผลิตภัณฑ์แบบปกติทั่วไป การยอมจ่ายเงินสูงขึ้น แต่กลับได้ผลิตภัณฑ์ย้อม (แมว) สีเขียว จึงเป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะการบริโภคข่าวสารอย่างระมัดระวังกับธุรกิจฟอกเขียว ที่ใช้วิธีโฆษณาชวนเชื่ออย่างแยบยล


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, April 08, 2023

9 ปี การเดินทางของหุ้น ESG100

นับตั้งแต่ที่สถาบันไทยพัฒน์บุกเบิกการพัฒนาฐานข้อมูลความยั่งยืนของธุรกิจ และเป็นผู้ริเริ่มการประเมินข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ของบริษัทจดทะเบียนในปี พ.ศ.2558 ได้ทำการประกาศรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG จำนวน 100 บริษัท หรือที่เรียกว่า กลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ซึ่งถือเป็นการจัดอันดับหลักทรัพย์ด้านการพัฒนาความยั่งยืนของธุรกิจครั้งแรกในประเทศไทย

ปัจจุบัน หน่วยงาน ESG Rating ของสถาบันไทยพัฒน์ ได้ดำเนินการประเมินข้อมูลด้านความยั่งยืนของหลักทรัพย์จดทะเบียนต่อเนื่องมาเป็นปีที่เก้าในปีนี้ ด้วยการคัดเลือกจาก 567 หลักทรัพย์ในปีแรก เพิ่มจำนวนมาเป็น 851 หลักทรัพย์ในปี 2565 โดยใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ ESG จาก 6 แหล่ง จำนวนกว่า 15,760 จุดข้อมูล ตามที่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์เผยแพร่ไว้ต่อสาธารณะ

เกณฑ์ในการประเมินหลักทรัพย์ ESG100 ใช้การวิเคราะห์ข้อมูล ESG ผนวกเข้ากับข้อมูลทางการเงิน ที่เรียกว่า Integrated ESG Assessment เพื่อประเมินตัวเลขผลประกอบการหรือผลการดำเนินงานที่สัมพันธ์กับประเด็นด้าน ESG ของบริษัท สำหรับตอบโจทย์ผู้ลงทุนในมิติของการลงทุนที่ยั่งยืนว่า บริษัทที่มี ESG ดี จะสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีด้วย

โดยในปี พ.ศ.2561 หลังจากที่ได้รวบรวมข้อมูลการประเมินมาสามปี ได้ขยายผลมาสู่การจัดทำดัชนีอีเอสจี ไทยพัฒน์ โดยมี S&P Dow Jones เป็นผู้คำนวณและเผยแพร่ข้อมูลดัชนี ผ่านหน้าจอ Bloomberg และ Reuters ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วโลก


Thaipat ESG Index เป็นดัชนีอีเอสจีแรกในประเทศไทย ที่ใช้การคำนวณดัชนีด้วยวิธีถ่วงน้ำหนักหลักทรัพย์เท่ากัน (Equal Weighed Index) คือ ให้ความสำคัญกับหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของดัชนีเท่ากันทุกหลักทรัพย์ โดยไม่ขึ้นกับขนาดของหลักทรัพย์ ทำให้ดัชนีสามารถสะท้อนความเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ได้อย่างเท่าเทียมกันในทุกหลักทรัพย์ และเปิดโอกาสให้หลักทรัพย์คุณภาพขนาดเล็กที่ผ่านเกณฑ์ด้าน ESG สามารถส่งผลต่อค่าของดัชนีได้ ในสัดส่วนที่เท่ากับหลักทรัพย์ขนาดใหญ่

ดัชนีอีเอสจี ไทยพัฒน์ ในรอบปีล่าสุด ประกอบด้วยหลักทรัพย์จำนวน 37 หลักทรัพย์ โดย 10 อันดับหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี ได้แก่ ADVANC AP BCPG BDMS CPN DELTA HMPRO INTUCH STGT TISCO คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.8 ของดัชนี (ข้อมูล ณ วันที่ 5 เม.ย. 66)

ประโยชน์ของการจัดทำดัชนีในฝั่งของผู้ลงทุน (Investors) จะช่วยให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และผู้ลงทุนสถาบัน สามารถใช้ทำเนียบหุ้น ESG100 และดัชนีอีเอสจี ไทยพัฒน์ เป็นดัชนีอ้างอิงและเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนตามหลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (Investment Governance Code) ในบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยยังได้รับผลตอบแทนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป

ตัวเลขผลตอบแทนเฉลี่ยของดัชนีผลตอบแทนรวม Thaipat ESG Index TR ตั้งแต่จัดทำดัชนี (30 มิ.ย. 58) อยู่ที่ 4.27% ต่อปี โดยยังมีผลตอบแทนเป็นบวก และชนะดัชนีผลตอบแทนรวม SET TRI ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 3.69% ต่อปี ในช่วงเวลาเดียวกัน (ข้อมูล ณ วันที่ 5 เม.ย. 66)

ส่วนในฝั่งของบริษัทที่ได้รับการลงทุน (Investees) ประโยชน์ที่บริษัทได้รับจากการประเมินหลักทรัพย์ ESG100 ประการแรก ได้แก่ การที่บริษัทจะได้รับทราบสถานะการดำเนินงานด้าน ESG ในปัจจุบันของกิจการ ด้วยชุดตัวชี้วัดด้าน ESG ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเป็นการประเมินอย่างอิสระโดยหน่วยงานภายนอก โดยใช้เกณฑ์และหลักการที่อ้างอิงตามแนวทางการประเมินและมาตรฐานการรายงานสากล อาทิ WFE, GRI, SASB, UN PRI

ประการที่สอง เนื่องจากการประเมินหลักทรัพย์ ESG100 คำนึงถึงประเด็น ESG ที่มีนัยสำคัญตามบริบทของแต่ละอุตสาหกรรม และต้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กับธุรกิจแกนหลัก (Core Business) ขององค์กร นอกเหนือจากประเด็น ESG พื้นฐาน ทำให้บริษัทสามารถนำผลการประเมินในรูปแบบของรายงานวิเคราะห์เชิงลึก ไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนพัฒนาปรับปรุงเพื่อยกระดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ ESG ได้อย่างตรงจุด สอดคล้องกับบริบทเฉพาะองค์กร (Company-specific) และบริบทเฉพาะอุตสาหกรรม (Industry-specific) ควบคู่ไปพร้อมกัน

ประการที่สาม ด้วยเหตุที่การประเมินหลักทรัพย์ ESG100 ใช้ข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยต่อสาธารณะตามช่องทางที่บริษัทเผยแพร่เป็นปกติ ทำให้ไม่เป็นภาระแก่บริษัทในการจัดเตรียมข้อมูลสำหรับการประเมินเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน ก็เป็นการกระตุ้นให้บริษัทพัฒนาการเปิดเผยข้อมูล ESG ต่อสาธารณะ ในรูปแบบรายงานความยั่งยืน หรือในแบบ 56-1 (One Report) เพื่อให้มีข้อมูลที่สมบูรณ์และเพียงพอต่อการประเมิน ESG100 อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียอื่นที่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูล ESG ดังกล่าวด้วย

สำหรับการประเมินหลักทรัพย์ ESG100 ประจำปี 2566 จะเสร็จสิ้นในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม และจะถูกนำไปใช้ทบทวนรายการหลักทรัพย์ที่ใช้ในการคำนวณดัชนี อีเอสจี ไทยพัฒน์ หรือ Thaipat ESG Index ในเดือนกรกฎาคม ต่อไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, March 25, 2023

ESG Meter: มาตรวัดความยั่งยืนของกิจการไทย

จากตัวเลขการสำรวจของออพิมัส ที่ปรึกษาด้านการจัดการลงทุนในตลาดทุนทั่วโลก ระบุว่า การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ในกระบวนการลงทุนได้กลายเป็นกระแสหลัก (Mainstream) โดยมีมูลค่าตลาดบริการข้อมูลด้าน ESG อยู่ที่ 1.28 พันล้านเหรียญ ในปี พ.ศ. 2565 และคาดว่าจะมีขนาดตลาดเพิ่มเป็น 1.59 พันล้านเหรียญในปี พ.ศ. 2566 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ในช่วงห้าปี (พ.ศ. 2564-2568) คาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 23 ต่อปี


ขนาดตลาดบริการข้อมูล ESG (ปี พ.ศ.2564-2568)

แม้ขนาดตลาดข้อมูล ESG ของบริษัทนอกตลาด (Private Markets) หรือบริษัทเอกชนที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะยังมีขนาดเล็ก โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 45 ล้านเหรียญ ในปี พ.ศ. 2565 แต่ออพิมัสคาดการณ์ว่า จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ในช่วงห้าปี (พ.ศ. 2564-2568) สูงถึงร้อยละ 42 ต่อปี

ด้วยเหตุที่ผู้ลงทุนและผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ESG ไม่สามารถนั่งวิเคราะห์ข้อมูล ESG เป็นรายบริษัทได้ด้วยตัวเองทั้งหมด เนื่องจากข้อมูล ESG มีปริมาณมากและการเปิดเผยข้อมูล ESG ของแต่ละบริษัทยังมีรูปแบบที่มีความแตกต่างหลากหลาย มิได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ยากต่อการเปรียบเทียบ จำเป็นต้องอาศัยหน่วยงานผู้ให้บริการประเมิน (Rating) หรือจัดอันดับ (Ranking) ที่มีความเชี่ยวชาญ ทำหน้าที่ในการสังเคราะห์ข้อมูลให้ จึงเกิดเป็นตลาดบริการข้อมูล ESG ที่มีการเติบโตสูง ตามอุปสงค์ของผู้ลงทุนและผู้ใช้ข้อมูล ESG ที่เพิ่มขึ้น

ในประเทศไทย ตลาดบริการข้อมูล ESG แทบทั้งหมดในปัจจุบัน เป็นการให้บริการข้อมูล ESG ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Public Markets) โดยจากการสำรวจ พบว่า หน่วยงาน ESG Rating ในสังกัดสถาบันไทยพัฒน์ มีการเผยแพร่ข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียนที่ทำการประเมิน อยู่จำนวน 763 ราย ขณะที่หน่วยงาน Sustainalytics ในสังกัดมอร์นิ่งสตาร์ มีการเผยแพร่อยู่ 140 กว่าราย และหน่วยงาน ESG Research ในสังกัด MSCI มีการเผยแพร่อยู่ 42 ราย ตามลำดับ (ข้อมูล ณ สิ้นปี พ.ศ. 2565)

ทั้งนี้ รูปแบบในการประเมินและการเผยแพร่ข้อมูลของแต่ละหน่วยงานผู้ประเมินจะมีระเบียบวิธีประเมินและการแสดงผลประเมินที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อมูลที่หน่วยงานจะหาได้ และลักษณะของกลุ่มลูกค้าผู้ใช้ข้อมูลของหน่วยงาน

หน่วยงาน ESG Research ในสังกัด MSCI ใช้วิธีแสดงผลการประเมินเป็นตัวอักษร โดยมีระดับ AAA-AA สำหรับกลุ่มบริษัทที่เป็นผู้นำ (Leader) ในกลุ่มอุตสาหกรรม ระดับ A-BBB-BB สำหรับกลุ่มบริษัทที่ตกอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย (Average) ของกลุ่มอุตสาหกรรม และระดับ B-CCC สำหรับกลุ่มบริษัทที่อยู่ล้าหลัง (Laggard) ในกลุ่มอุตสาหกรรม โดยระเบียบวิธีที่ MSCI ใช้ ถูกออกแบบให้คำนึงถึงนัยสำคัญทางการเงิน (Financial Significance) ของประเด็น ESG

หน่วยงาน Sustainalytics ในสังกัดมอร์นิ่งสตาร์ ใช้วิธีแสดงผลการประเมินจำแนกเป็น 5 ระดับขั้นความเสี่ยงของ ESG ได้แก่ ขั้นรุนแรง (Severe) มีระดับความเสี่ยง 40 คะแนนขึ้นไป ขั้นสูง (High) มีความเสี่ยงอยู่ในช่วง 30-40 คะแนน ขั้นกลาง (Medium) มีความเสี่ยงอยู่ในช่วง 20-30 คะแนน ขั้นต่ำ (Low) มีความเสี่ยงอยู่ในช่วง 10-20 คะแนน และขั้นที่ละได้ (Negligible) มีความเสี่ยงอยู่ในช่วง 0-10 คะแนน โดยระเบียบวิธีที่ Sustainalytics ใช้ประเมิน ESG จะพิจารณาในสองมิติ คือ โอกาสเสี่ยง (Exposure) ในประเด็น ESG ที่เป็นสาระสำคัญในอุตสาหกรรม และความสามารถในการจัดการความเสี่ยงดังกล่าว

หน่วยงาน ESG Rating ในสังกัดสถาบันไทยพัฒน์ มีการจำแนกผลประเมินภายในเป็น 5 ระดับ ใช้วิธีแสดงผลในลักษณะ Meter โดยมีมาตรา 100 ส่วน คำนวณตามคะแนน ESG ที่ได้รับในแต่ละด้าน โดยกลุ่มบริษัทที่มีคะแนนในแต่ละด้านเกินสองในสามของคะแนนเต็มในทุกด้านจัดอยู่ในระดับ Gold Class กลุ่มบริษัทที่มีคะแนนในแต่ละด้านเกินหนึ่งในสามของคะแนนเต็มในทุกด้านจัดอยู่ในระดับ Silver Class และกลุ่มบริษัทที่มีคะแนนปรากฏในทุกด้าน ไม่มีด้านใดด้านหนึ่งที่ปราศจากคะแนนจัดอยู่ในระดับ Bronze Class โดยระเบียบวิธีที่สถาบันไทยพัฒน์ใช้จะเป็นการประเมินปัจจัยด้าน ESG ในสามมิติ คือ มิติ Topic-specific มิติ Industry-specific และมิติ Company-specific ในกรณีที่บริษัทมีการเปิดเผยข้อมูล ESG ต่อสาธารณะที่เพียงพอต่อการประเมิน และจะใช้การประเมินตามชุดตัวชี้วัดพื้นฐาน WFE ESG Metrics ในกรณีที่บริษัทมีการเปิดเผยข้อมูล ESG ขั้นต่ำตามแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1 One Report)

จะเห็นว่าวิธีประเมินของ MSCI ให้ความสำคัญที่ประเด็น ESG ซึ่งส่งผลต่อบรรทัดสุดท้ายของกิจการ (คือ กำไร) ส่วน Sustainalytics ประเมินโดยมองประเด็น ESG ว่าเป็นความเสี่ยง (Risks) ที่กิจการต้องบริหารจัดการ ขณะที่การประเมินของสถาบันไทยพัฒน์ ให้น้ำหนักต่อประเด็น ESG ว่าเป็นตัวขับคุณค่า (Value Driver) ตามแนวทางของ UN PRI ที่คำนึงถึงปัจจัย ESG ทั้งในแง่ของการสร้างการเติบโต (Growth) การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และการจัดการความเสี่ยง (Risk Management)

ปัจจุบัน ข้อมูลผลประเมิน ESG ของกิจการในไทย ที่สถาบันไทยพัฒน์รวบรวมไว้ มีจำนวนทั้งสิ้น 854 กิจการ ครอบคลุมบริษัทจดทะเบียนในตลาด 763 แห่ง กองทุนและบริษัทที่อยู่นอกตลาด 91 ราย และคาดว่า ในสิ้นปีนี้ จะมีจำนวนกิจการที่ได้รับการประเมินเพิ่มเป็น 1,000 ราย โดยจะเป็นการเติบโตจาก Private Markets แซงหน้า Public Markets เป็นปีแรกนับตั้งแต่ที่เริ่มการประเมินในปี พ.ศ.2558

ทั้งนี้ การออกแบบการแสดงผลประเมินในรูปของมาตรวัดความยั่งยืน หรือ ESG Meter ของกิจการไทย ให้มีความคล้ายคลึงกับมาตรวัดน้ำ มาตรวัดไฟฟ้า ก็เพื่อให้ง่ายต่อการอ่านผล องค์กรสามารถรับรู้สถานะด้าน ESG ที่เป็นปัจจุบัน ถึงสิ่งที่ได้ดำเนินการดีแล้ว และสิ่งที่ควรดำเนินการ (Gap) สำหรับนำไปพัฒนายกระดับการดำเนินงานด้าน ESG ในรอบปีถัดไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, March 11, 2023

ESG Footprint: รอยเท้าความยั่งยืนในสายอุปทาน

หลายท่านคงได้ยินคำว่า คาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร ซึ่งเป็นการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร โดยคำนวณในหน่วยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เพื่อที่กิจการจะได้ทราบแหล่งและสถานะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีนัยสําคัญและหาแนวทางในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา อันเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
ที่จริงยังมีการใช้เรื่องฟุตพรินต์ที่เกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอีกหลายคำ เช่น วอเตอร์ฟุตพรินต์ขององค์กร (การประเมินปริมาณน้ำที่ใช้ในกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร) พลาสติกฟุตพรินต์ขององค์กร (การประเมินปริมาณพลาสติกที่ใช้ในกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร)

ขณะที่ คณะกรรมาธิการยุโรป ได้มีการใช้เรื่องฟุตพรินต์ในการจัดการกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้เป็นคำรวม เรียกว่า Environmental Footprint ในเอกสารข้อเสนอแนะ (EU) 2021/2279 การใช้วิธีรอยเท้าสิ่งแวดล้อมเพื่อวัดและสื่อสารสมรรถนะทางสิ่งแวดล้อมในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์และองค์กร เพื่อนำไปสู่การลดผลกระทบใน 11 หมวด ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) การร่อยหรอของชั้นโอโซน (ozone depletion) ความเป็นพิษต่อมนุษย์ (human toxicity) อณูมลสาร/สารอนินทรีย์ที่มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ (particulate matter/respiratory inorganics) การแผ่รังสีชนิดก่อไอออน (ionising radiation) การก่อโอโซนแบบโฟโตเคมี (photochemical ozone formation) การเกิดกรด (acidification) สภาวะเกินปกติของสารประกอบ (eutrophication) ในดินและน้ำ ความเป็นพิษต่อนิเวศ (ecotoxicity) การใช้ที่ดิน (land use) และการร่อยหรอของทรัพยากร (resource depletion) น้ำ แร่ธาตุ และเชื้อเพลิงฟอสซิล

ทั้งนี้ การนำคำว่าฟุตพรินต์ มาใช้กับเรื่อง ESG (Environmental, Social and Governance) จะมีขอบเขตที่กว้างกว่าการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากครอบคลุมในด้านสังคม และธรรมาภิบาลด้วย

โดยในแง่ของฟุตพรินต์ผลิตภัณฑ์ หลักสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน คือ การประเมินวัฎจักรชีวิต หรือ Life Cycle Assessment (LCA) ส่วนในแง่ของฟุตพรินต์องค์กร หลักสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน คือ การประเมินสายคุณค่า หรือ Value Chain Assessment (VCA) ซึ่งประกอบด้วยฝั่งต้นน้ำ (upstream) ที่เกี่ยวข้องกับผู้ส่งมอบ กับฝั่งปลายน้ำ (downstream) ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค

ในปัจจุบัน องค์กรธุรกิจได้ให้ความสำคัญกับการประเมินผู้ส่งมอบทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคม ซึ่งเป็นการขยายบทบาทด้าน ESG ของกิจการ จากที่ทำได้สมบูรณ์แล้วภายในองค์กร ไปสู่คู่ค้าในสายอุปทานเพื่อสนับสนุนให้คู่ค้ามีการดำเนินงานโดยคำนึงถึง ESG ในทิศทางที่กิจการคาดหวัง

ในบรรดาบริษัทที่มีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานความยั่งยืนตามมาตรฐานการรายงานสากล GRI (Global Reporting Initiative) ได้มีการนำรายการข้อมูล GRI 308 (Supplier Environmental Assessment) และ GRI 414 (Supplier Social Assessment) มาใช้ในการแสดง ESG Footprint ของกิจการในสายอุปทาน โดยเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบ ผ่านรายงานความยั่งยืนของกิจการ

โดยในรายการข้อมูล GRI 308 ประกอบด้วย Disclosure 308-1 จำนวนผู้ส่งมอบรายใหม่ที่ถูกคัดกรองโดยใช้เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม แสดงตัวเลขเป็นร้อยละของผู้ส่งมอบทั้งหมด และ Disclosure 308-2 ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางลบในสายอุปทานและสิ่งที่ได้ดำเนินการ โดยแสดงข้อมูลใน 5 รายการย่อย ได้แก่ จำนวนผู้ส่งมอบที่ได้รับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวนผู้ส่งมอบที่ได้รับการระบุว่ามีและคาดว่าจะมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางลบอย่างมีนัยสำคัญ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางลบที่มีนัยสำคัญที่เกิดขึ้นและคาดว่าจะเกิดขึ้นในสายอุปทาน ร้อยละของผู้ส่งมอบที่ได้รับการระบุว่ามีและคาดว่าจะมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางลบอย่างมีนัยสำคัญซึ่งตกลงที่จะปรับปรุงในผลการประเมิน และร้อยละของผู้ส่งมอบที่ได้รับการระบุว่ามีและคาดว่าจะมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางลบอย่างมีนัยสำคัญซึ่งถูกบอกเลิกความสัมพันธ์ในผลการประเมินพร้อมระบุเหตุผล

และในรายการข้อมูล GRI 414 ประกอบด้วย Disclosure 414-1 จำนวนผู้ส่งมอบรายใหม่ที่ถูกคัดกรองโดยใช้เกณฑ์ด้านสังคม แสดงตัวเลขเป็นร้อยละของผู้ส่งมอบทั้งหมด และ Disclosure 414-2 ผลกระทบสังคมทางลบในสายอุปทานและสิ่งที่ได้ดำเนินการ โดยแสดงข้อมูลใน 5 รายการย่อย ได้แก่ จำนวนผู้ส่งมอบที่ได้รับการประเมินผลกระทบสังคม จำนวนผู้ส่งมอบที่ได้รับการระบุว่ามีและคาดว่าจะมีผลกระทบสังคมทางลบอย่างมีนัยสำคัญ ผลกระทบสังคมทางลบที่มีนัยสำคัญที่เกิดขึ้นและคาดว่าจะเกิดขึ้นในสายอุปทาน ร้อยละของผู้ส่งมอบที่ได้รับการระบุว่ามีและคาดว่าจะมีผลกระทบสังคมทางลบอย่างมีนัยสำคัญซึ่งตกลงที่จะปรับปรุงในผลการประเมิน และร้อยละของผู้ส่งมอบที่ได้รับการระบุว่ามีและคาดว่าจะมีผลกระทบสังคมทางลบอย่างมีนัยสำคัญซึ่งถูกบอกเลิกความสัมพันธ์ในผลการประเมินพร้อมระบุเหตุผล

นอกจากนี้ การแสดง ESG Footprint ของกิจการในสายอุปทาน ยังสามารถใช้เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ พลังงาน (GRI 302) น้ำและน้ำทิ้ง (GRI 303) มลอากาศ (GRI 305) และเกณฑ์ด้านสังคม อาทิ การจ้างงาน (GRI 401) อาชีวอนามัยและความปลอดภัย (GRI 403) แรงงานเด็ก (GRI 408) แรงงานเกณฑ์และแรงงานบังคับ (GRI 409) มาใช้กับคู่ค้า เพื่อรับทราบสถานะความยั่งยืนในสายอุปทานตามประเด็น ESG ที่องค์กรได้ดำเนินการและที่ควรดำเนินการ (gap) ได้ด้วย

จากการสำรวจข้อมูลความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนไทยและกิจการอื่น ๆ จำนวน 854 ราย ในปี 2565 โดยสถาบันไทยพัฒน์ พบว่า มีกิจการที่เปิดเผยข้อมูลการประเมินผู้ส่งมอบด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ที่ร้อยละ 9.37 ของกิจการที่ได้สำรวจทั้งหมด และมีกิจการที่เปิดเผยข้อมูลการประเมินผู้ส่งมอบด้านสังคมอยู่ที่ร้อยละ 6.09 ของกิจการที่ได้สำรวจทั้งหมด

แสดงให้เห็นว่า กิจการที่ได้ทำการสำรวจซึ่งประกอบด้วยบริษัทจดทะเบียน 763 แห่ง กองทุนและองค์กรอื่นๆ อีก 91 ราย รวมทั้งสิ้น 854 ราย ยังมิได้ให้ความสำคัญกับการประเมินผู้ส่งมอบในประเด็นด้าน ESG อย่างทั่วถึง และเป็นโอกาสที่กิจการส่วนใหญ่สามารถขับเคลื่อนเพื่อยกระดับเรื่อง ESG ให้กับคู่ค้าในสายอุปทานได้อีกมาก


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, February 25, 2023

6 ทิศทางความยั่งยืน ปี 66

วานนี้ (24 ก.พ.) สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการแถลงทิศทางความยั่งยืน ปี 2566 สำหรับให้หน่วยงานและองค์กรธุรกิจสามารถนำไปเป็นข้อมูลนำเข้าและใช้พัฒนากลยุทธ์การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ของกิจการให้มีความครอบคลุมอย่างรอบด้าน

ทิศทางความยั่งยืนในปีนี้ ยังคงได้รับอิทธิพลจากกระแส ESG ที่ถูกยกระดับความสำคัญขึ้นอย่างมาก จนเป็นเงื่อนไขหลักสำหรับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ทั้งที่ถูกบรรจุเป็นหลักเกณฑ์ในการขอสินเชื่อของธนาคาร พัฒนาเป็นหลักการลงทุนที่รับผิดชอบของผู้ลงทุนสถาบัน เป็นปัจจัยใหม่ในการตัดสินใจจับจ่ายของลูกค้า และกลายมาเป็นข้อพิจารณาในการสมัครเข้าทำงานของบุคลากร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ ฯลฯ

ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ประมวลแนวโน้มการขับเคลื่อน ESG ของภาคธุรกิจไทย ไว้เป็น 3 ธีมสำคัญ ได้แก่ LEAN รับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย CLEAN เพื่อสังคมที่มีสุขภาวะ และ GREEN ที่มากกว่าคำมั่นสัญญา พร้อมกับการประเมินทิศทางความยั่งยืน ปี 2566 ใน 6 ทิศทางสำคัญ ประกอบด้วย

1. ESG as an Enabler
From ‘Risk Management’ to ‘Opportunity Identification’
ธุรกิจที่ต้องการสร้างความยั่งยืนให้แก่กิจการ จะนำเรื่อง ESG มาใช้เป็นโจทย์ทางธุรกิจ เพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองต่อตลาดตามทิศทางและกระแสโลกที่คำนึงถึงการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นความหลากหลาย ความเสมอภาค และการไม่ปิดกั้น (Diversity, Equity, and Inclusion: DEI) บนพื้นฐานการดำเนินงานที่โปร่งใสและตรวจสอบได้

2. Industry-specific Taxonomy
From ‘ESG in General’ to ‘ESG in Sectoral’
หน่วยงานกำกับดูแลในประเทศไทย จะริเริ่มจัดทำแนวทาง (Guideline) และการแบ่งหมวดหมู่ (Taxonomy) ประเด็นด้าน ESG จำเพาะรายอุตสาหกรรมที่ตนเองกำกับดูแล ทั้งในภาคธนาคาร ภาคตลาดทุน ภาคประกันภัย ภาคพลังงาน ภาคโทรคมนาคม ฯลฯ ตามความพร้อมของหน่วยงาน และแรงผลักดันจากตลาดที่มีความต้องการนำเรื่อง ESG มาขับเคลื่อนในอุตสาหกรรมนั้น ๆ

3. Double Materiality
From ‘Outside-in’ to ‘Inside-out’ Approach
กิจการที่ต้องการภาพลักษณ์ด้านความยั่งยืนให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ต้องแสดงให้เห็นถึงความตระหนักในความคาดหวังของผู้ลงทุนที่มีต่อการสร้างคุณค่ากิจการ ด้วยสารัตถภาพเชิงการเงิน (Financial Materiality) รวมทั้งความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียที่มีต่อการสร้างผลบวกทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยสารัตถภาพเชิงผลกระทบ (Impact Materiality) ควบคู่กัน

4. Climate Action
From ‘Voluntary Practices’ to ‘Mandatory Requirements’
จำนวนของบริษัทไทยที่ทำการประกาศเป้าหมาย Carbon Neutrality และเป้าหมาย Net Zero จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น สอดรับกับความเคลื่อนไหวในเรื่องการออกกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานจากภาคสมัครใจมาสู่ภาคบังคับ รวมทั้งการส่งเสริมกลไกทางตลาดในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรูปของการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

5. Lean Operation
From ‘Doing more with best’ to ‘Doing more with less’
ธุรกิจที่เดิมยึดหลัก “Doing more with best” ด้วยการแสวงหาความเป็นเลิศในทุกด้าน จะหันมาเตรียมรับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นสูงในปีนี้ พร้อมกับประเมินความเสี่ยงต่อการถูกดิสรัปชันจากเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ด้วยการกระชับต้นทุนและขนาดของกิจการ สู่การเป็น Lean Operation ภายใต้หลัก “Doing more with less” ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรอีกทางหนึ่ง

6. Proof of Governance
From ‘Responsibility at the Workplace’ to ‘Accountability at the Board Level’
ธุรกิจที่ประกาศแนวทางการดำเนินงานโดยยึดกรอบ ESG นอกจากการแสดงความรับผิดชอบต่อการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมแล้ว ยังต้องมีการพิสูจน์ธรรมาภิบาล (Proof of Governance) ด้วยการแสดงให้เห็นถึงภาระรับผิดชอบในระดับคณะกรรมการ ที่เหนือกว่าความรับผิดชอบในระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ตามบทบาทฐานะของผู้นำหรือผู้รับผิดชอบสูงสุดขององค์กร

หน่วยงานหรือองค์กรธุรกิจที่สนใจข้อมูลแต่ละทิศทางในรายละเอียด สามารถดาวน์โหลดรายงาน "6 ทิศทาง CSR ปี 2566: LEAN • CLEAN • GREEN" ฉบับเต็ม ได้ที่เว็บไซต์ thaipat.org ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, February 11, 2023

จะขับเคลื่อน ESG แบบ ‘ห่วงเรา’ หรือ ‘ห่วงโลก’

ไม่ต้องเป็นที่ถกเถียงกันแล้วว่า ภาคธุรกิจจะต้องมีการขับเคลื่อนดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ในกระบวนการทางธุรกิจหรือไม่ เพราะในปี พ.ศ. นี้ หน่วยงานกำกับดูแลต่างออกกฎเกณฑ์และแนวทางให้กิจการที่อยู่ในกำกับ ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้าน ESG ตามข้อกำหนด ที่มิใช่ภาคสมัครใจอีกต่อไป


แต่ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงในวงกว้าง คือ การขับเคลื่อน ESG ของภาคธุรกิจนั้น ควรจะต้องตอบโจทย์ที่เป็นความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม หรือเป็นความยั่งยืนของกำไรและองค์กรกันแน่

เราคงเคยได้ยินวลีที่ว่า “ธุรกิจไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ ในสังคมที่ล้มเหลว” ซึ่งสื่อความถึง หากธุรกิจประกอบการโดยไม่คำนึงถึงการร่วมดูแลสังคมจนปล่อยให้สังคมที่ตนเองประกอบการอยู่ล่มสลาย แม้ธุรกิจจะมีความสามารถในการประกอบการเพียงใด ก็ไม่มีทางจะประสบผลสำเร็จได้ลำพังโดยที่ผู้คนและสิ่งแวดล้อมรอบข้างเดือดร้อนเสียหาย

แน่นอนว่า ในกรณีนี้ ภาคธุรกิจ จำต้องขับเคลื่อนประเด็นด้าน ESG โดยคำนึงถึงความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม

ทั้งนี้ เรายังคงต้องไม่ละเลยวลีที่ว่า “ธุรกิจไม่สามารถอยู่รอดได้ หากไม่มีกำไร” ซึ่งสื่อความถึง หากธุรกิจยังอ่อนแอหรือไม่เข้มแข็งพอในตัวเอง ก็ไม่สามารถที่จะไปช่วยเหลือผู้อื่นหรือสังคมรอบข้างได้ แม้ธุรกิจจะมีความประสงค์อย่างแรงกล้าในการร่วมดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ตนเองประกอบการอยู่ก็ตาม

แน่นอนว่า ในกรณีนี้ ภาคธุรกิจ จำต้องดำเนินงานให้อยู่รอด โดยคำนึงถึงความยั่งยืนของกำไรและองค์กรก่อน โดยอาจจะมีหรือไม่มีการขับเคลื่อนประเด็นด้าน ESG (แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเป็นขั้นพื้นฐาน)

นั่นหมายความว่า หากกิจการใด สามารถดำเนินงานจนอยู่รอดและมีความเข้มแข็งในระดับหนึ่งแล้ว ควรจะต้องมีการขับเคลื่อนประเด็นด้าน ESG โดยคำนึงถึงความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวมบ้างไม่มากก็น้อย

เหตุผลของการขับเคลื่อน ESG ในวันนี้ จึงไม่ใช่เพียงเพื่อทำให้กิจการของเรามีความยั่งยืน (หรือห่วงเฉพาะเรา) แต่เป็นการทำให้สังคม (ซึ่งรวมกิจการในฐานะสมาชิกหนึ่งในสังคม) และสิ่งแวดล้อมมีความยั่งยืนไปพร้อมกัน (ห่วงทั้งผู้คนและผืนโลก) ซึ่งการขับเคลื่อน ESG แบบหลังนี้ จะมีวิธีที่แตกต่างกับแบบแรก

ตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้าที่มุ่งความยั่งยืนเฉพาะตน อาจเลือกใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เพราะเหตุผลเรื่องเสถียรภาพและราคา แต่สำหรับโรงไฟฟ้าที่พิจารณาความยั่งยืนองค์รวม จะเลือกใช้พลังงานทดแทนหรือที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

บริษัทส่งออกแห่งหนึ่ง จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการส่งออกสินค้า เนื่องจากมาตรการเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ของประเทศผู้นำเข้า ที่ก่อให้เกิดภาระต้นทุนและกระทบกับขีดความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลต่อความยั่งยืนของกำไรและองค์กรในระยะยาว

ขณะที่บริษัทส่งออกอีกแห่งหนึ่ง มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตตามเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อช่วยจำกัดมิให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลต่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมโดยรวม อีกทั้งยังสามารถขายคาร์บอนเครดิตซึ่งเป็นผลพลอยได้จากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ด้วย

บริษัทที่มีการดูแลบุคลากรโดยมุ่งความยั่งยืนขององค์กร จะคำนึงถึงประสิทธิภาพและต้นทุนการจ้างพนักงานในแต่ละตำแหน่งงาน ตามนโยบายด้าน HR ที่มองบุคลากรในฐานะที่เป็นทรัพยากรหนึ่งของกิจการ

ขณะที่บริษัทที่มีการดูแลบุคลากรโดยมุ่งความยั่งยืนของสังคม (พนักงาน) โดยรวม จะคำนึงถึงประเด็นความหลากหลาย ความเสมอภาค และการไม่ปิดกั้น (Diversity, Equity, and Inclusion: DEI) ที่ตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งได้กลายเป็นกลุ่มคนทำงานที่มีสัดส่วนมากที่สุดในโลก อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นปัจจัยจูงใจและรักษาบุคลากรที่มีฝีมือและเป็นที่ต้องการให้เข้ามาร่วมงานและอยู่กับองค์กรได้นาน

หวังว่าบทความนี้ จะช่วยให้ภาคธุรกิจเข้าใจภาพการขับเคลื่อน ESG โดยเฉพาะกิจการขนาดใหญ่ที่มีความเข้มแข็งและสามารถสร้างกำไรอย่างสม่ำเสมอแล้ว จะไม่มัวแต่ให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืนที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ ในแบบ ‘ห่วงเรา’ เรื่อยไป แต่ควรต้องให้น้ำหนักกับการดำเนินงานทางธุรกิจที่มีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในแบบ ‘ห่วงโลก’ อย่างจริงจัง เพราะ เราไม่มีโลกสำรอง สำหรับใช้แผนสำรอง (There is no Planet B for our Plan B)


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]