Saturday, December 19, 2020

ความยั่งยืนของกิจการในรอบปี 2563

ใกล้จะสิ้นปี 2563 ถือเป็นธรรมเนียมที่จะมีการประมวลเรื่องราวด้านความยั่งยืนที่ผ่านมาในรอบปี เพื่อเป็นการทบทวนสถานะของการดำเนินงาน อันจะนำไปสู่การวางทิศทางและตั้งเป้าหมายสำหรับการพัฒนาในปีหน้าต่อไป

ในรอบปีที่ผ่านมา สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งเน้นงานส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการร่วมกับภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง ได้ใช้เวทีประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (Sustainability Disclosure Community: SDC) จัด Webinar เรื่องกระบวนการรายงานความยั่งยืนตามข้อแนะนำของ GRI (Global Reporting Initiative) จำนวน 6 ครั้ง ให้แก่องค์กรที่เป็นสมาชิก SDC จำนวน 115 ราย เพื่อช่วยองค์กรยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามมาตรฐานสากล

และจากการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนขององค์กรสมาชิก SDC สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการประมวลและจัดทำรายงานสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ปี 2563 หรือ 'The State of Corporate Sustainability in 2020' จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้องค์กรสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ศึกษา เปรียบเทียบสถานะ และกำหนดทิศทางการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนตามบรรทัดฐานในอุตสาหกรรม

ในรายงาน แบ่งการวิเคราะห์ข้อมูลความยั่งยืนออกเป็น 3 หมวดหลัก โดยหมวดแรกเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐานการรายงานสากล GRI หมวดที่สองเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานตามประเด็นด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) ที่แนะนำโดยสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges: WFE) และหมวดที่สามเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานที่มีการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ตามแนวทาง GCI (Guidance on Core Indicators) ที่จัดทำโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (International Standards of Accounting and Reporting: ISAR)

ในหมวดของการวิเคราะห์ข้อมูลในมุมมอง GRI พบว่า กิจการราวกว่าสองในสาม (73.91%) ได้มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนโดยอ้างอิงมาตรฐานการรายงานสากล GRI โดยเป็นการเปิดเผยข้อมูลไว้ในรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) ในแบบแยกเล่ม มากสุด (73.04%) รองลงมาเป็นการเปิดเผยรวมอยู่ในรายงานประจำปี (23.48%) โดยประเด็นความยั่งยืนที่องค์กรเปิดเผยมากสุดในด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ผลเชิงเศรษฐกิจ และการต่อต้านทุจริต ในด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พลังงาน การใช้น้ำ มลอากาศ น้ำทิ้งและของเสีย และในด้านสังคม ได้แก่ ประเด็นอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และชุมชนท้องถิ่น

ในหมวดของการวิเคราะห์ข้อมูลในมุมมอง WFE พบว่า กิจการส่วนใหญ่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมีการเปิดเผยข้อมูลครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยการเปิดเผยข้อมูลในประเด็นจริยธรรมและการต้านทุจริต มีสัดส่วนสูงสุด (95.65%) รองลงมาเป็นความเป็นอิสระในคณะกรรมการบริษัท (89.57%) ความหลากหลายในโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท (88.70%) และการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม (87.83%) ตามลำดับ

ในหมวดของการวิเคราะห์ข้อมูลในมุมมอง GCI พบว่า กิจการส่วนใหญ่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมีการตอบสนองต่อ SDGs ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และด้านสถาบัน โดยมีการตอบสนองต่อ SDGs เป้าหมายที่ 4 (การศึกษาที่ได้คุณภาพ) เป้าหมายที่ 5 (ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย) เป้าหมายที่ 6 (น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล) เป้าหมายที่ 7 (พลังงานสะอาดและราคาไม่แพง) เป้าหมายที่ 8 (งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ) เป้าหมายที่ 9 (อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน) เป้าหมายที่ 10 (ลดความเหลื่อมล้ำ) เป้าหมายที่ 12 (การผลิตและการบริโภคที่รับผิดชอบ) เป้าหมายที่ 16 (ความสงบสุข ความยุติธรรม และการมีสถาบันที่เข้มแข็ง) และเป้าหมายที่ 17 (การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน)

นอกจากนี้ ในรายงานฉบับดังกล่าว ยังได้ทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการดำเนินงานของกิจการในประเด็นความยั่งยืนตามรายการเปิดเผยข้อมูล GRI เชื่อมโยงกับข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพ (Culture of Health Business Practice: COHBP) ที่เผยแพร่โดย GRI เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2563 สำหรับให้กิจการใช้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อยกระดับการดำเนินงานด้านสุขภาพ ที่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านกลยุทธ์ ด้านนโยบายและสวัสดิการ ด้านแรงงานและสถานปฏิบัติงาน และด้านชุมชน โดยมีข้อปฏิบัติทางธุรกิจที่ประกอบด้วย วัฒนธรรมสุขภาพ ข้อปฏิบัติทางการตลาดที่รับผิดชอบ การประกันสุขภาพ ความมั่นคงในตำแหน่งงาน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน เป็นต้น

ในผลการรวบรวมข้อมูลในมุมมอง COHBP พบว่า การเปิดเผยประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพ มากสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ประเด็นผลเชิงเศรษฐกิจ (88.70%) อาชีวอนามัยและความปลอดภัย (76.52%) การฝึกอบรมและการให้ความรู้ (72.17%) ตามลำดับ

องค์กรที่สนใจศึกษาข้อมูลในรายงานสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ปี 2563 เพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับดังกล่าว ที่เว็บไซต์ของสถาบันไทยพัฒน์ (https://thaipat.org) ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, December 05, 2020

6 ปี การเดินทางของหุ้น ESG100

นับตั้งแต่ที่สถาบันไทยพัฒน์บุกเบิกการพัฒนาฐานข้อมูลความยั่งยืนของธุรกิจ และเป็นผู้ริเริ่มการประเมินข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ของบริษัทจดทะเบียนในปี พ.ศ.2558 ได้ทำการประกาศรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG จำนวน 100 บริษัท หรือที่เรียกว่า กลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ซึ่งถือเป็นการจัดอันดับหลักทรัพย์ด้านการพัฒนาความยั่งยืนของธุรกิจครั้งแรกในประเทศไทย

ปัจจุบัน หน่วยงาน ESG Rating ของสถาบันไทยพัฒน์ ได้ดำเนินการประเมินข้อมูลด้านความยั่งยืนของหลักทรัพย์จดทะเบียนต่อเนื่องมาเป็นปีที่หกในปีนี้

การประเมินปีแรก เกณฑ์ที่พัฒนาขึ้น มุ่งไปที่การพิจารณาคัดเลือกบริษัทที่มีความโดดเด่นเฉพาะด้าน ESG ทำให้เกิดข้อจำกัดที่ผู้ลงทุนอาจต้องแลก (Trade-off) ระหว่างการลงทุนในบริษัทที่มี ESG ดี แต่ผลประกอบการไม่เป็นที่น่าพอใจ

ทำให้ในปีที่สอง จึงได้มีการปรับเกณฑ์การวิเคราะห์ข้อมูล ESG ผนวกเข้ากับข้อมูลทางการเงิน ที่เรียกว่า Integrated ESG Assessment เพื่อประเมินตัวเลขผลประกอบการหรือผลการดำเนินงานที่สัมพันธ์กับประเด็นด้าน ESG ของบริษัท เป็นการปรับจากการวิเคราะห์ข้อมูลด้าน ESG แบบเอกเทศ มาเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานด้าน ESG ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับผลประกอบการ เพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนในมิติของการลงทุนที่ยั่งยืนว่า บริษัทที่มี ESG ดี จะสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีด้วย

ในปี พ.ศ.2561 หลังจากที่ได้รวบรวมข้อมูลการประเมินมาสามปี ได้ขยายผลมาสู่การจัดทำดัชนีอีเอสจี ไทยพัฒน์ โดยมี S&P Dow Jones เป็นผู้คำนวณและเผยแพร่ข้อมูลดัชนี ผ่านหน้าจอ Bloomberg และ Reuters ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วโลก

Thaipat ESG Index เป็นดัชนีอีเอสจีแรกในประเทศไทย ที่ใช้การคำนวณดัชนีด้วยวิธีถ่วงน้ำหนักหลักทรัพย์เท่ากัน (Equal Weighed Index) คือ ให้ความสำคัญกับหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของดัชนีเท่ากันทุกหลักทรัพย์ โดยไม่ขึ้นกับขนาดของหลักทรัพย์ ทำให้ดัชนีสามารถสะท้อนความเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ได้อย่างเท่าเทียมกันในทุกหลักทรัพย์ และเปิดโอกาสให้หลักทรัพย์คุณภาพขนาดเล็กที่ผ่านเกณฑ์ด้าน ESG สามารถส่งผลต่อค่าของดัชนีได้ ในสัดส่วนที่เท่ากับหลักทรัพย์ขนาดใหญ่

ดัชนีอีเอสจี ไทยพัฒน์ ในรอบของการปรับหลักทรัพย์ล่าสุด (ก.ค. 63) มีจำนวน 43 หลักทรัพย์ โดย 10 อันดับหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี ประกอบด้วย DELTA HANA KBANK KCE KKP KTC SCB THANI TISCO VGI (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ย. 63)

ในฝั่งของผู้ลงทุน (Investors) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และผู้ลงทุนสถาบัน สามารถใช้ทำเนียบหุ้น ESG100 และดัชนีอีเอสจี ไทยพัฒน์ เป็นดัชนีอ้างอิงและเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนตามหลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (Investment Governance Code) ในบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยยังได้รับผลตอบแทนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป


ตัวเลขผลตอบแทนเฉลี่ยของดัชนีผลตอบแทนรวม Thaipat ESG Index TR ตั้งแต่จัดทำดัชนี (30 มิ.ย. 58) อยู่ที่ 4.12% ต่อปี โดยยังมีผลตอบแทนเป็นบวก แม้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เมื่อตอนต้นปี 63 และชนะดัชนีผลตอบแทนรวม SET TRI ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 2.07% ต่อปี ในช่วงเวลาเดียวกัน

ในฝั่งของบริษัทที่ได้รับการลงทุน (Investees) ประโยชน์ที่บริษัทได้รับจากการประเมินหลักทรัพย์ ESG100 ประการแรก ได้แก่ การที่บริษัทจะได้รับทราบสถานะการดำเนินงานด้าน ESG ในปัจจุบันของกิจการ ด้วยชุดตัวชี้วัดด้าน ESG ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเป็นการประเมินอย่างอิสระโดยหน่วยงานภายนอก โดยใช้เกณฑ์และหลักการที่อ้างอิงตามแนวทางการประเมินและมาตรฐานการรายงานสากล อาทิ WFE, GRI, SASB, UN PRI

ประการที่สอง เนื่องจากการประเมินหลักทรัพย์ ESG100 คำนึงถึงประเด็น ESG ที่มีนัยสำคัญตามบริบทของแต่ละอุตสาหกรรม และต้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กับธุรกิจแกนหลัก (Core Business) ขององค์กร นอกเหนือจากประเด็น ESG พื้นฐาน ทำให้บริษัทสามารถนำผลการประเมินในรูปแบบของรายงานวิเคราะห์เชิงลึก ไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนพัฒนาปรับปรุงเพื่อยกระดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ ESG ได้อย่างตรงจุด สอดคล้องกับบริบทเฉพาะองค์กร (Company-specific) และบริบทเฉพาะอุตสาหกรรม (Industry-specific) ควบคู่ไปพร้อมกัน

ประการที่สาม ด้วยเหตุที่การประเมินหลักทรัพย์ ESG100 ใช้ข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยต่อสาธารณะตามช่องทางที่บริษัทเผยแพร่เป็นปกติ ทำให้ไม่เป็นภาระแก่บริษัทในการจัดเตรียมข้อมูลสำหรับการประเมินเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน ก็เป็นการกระตุ้นให้บริษัทพัฒนาการเปิดเผยข้อมูล ESG ต่อสาธารณะ ในรูปแบบรายงานความยั่งยืน หรือในแบบ 56-1 เพื่อให้มีข้อมูลที่สมบูรณ์และเพียงพอต่อการประเมิน ESG100 อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียอื่นที่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูล ESG ดังกล่าวด้วย


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, November 21, 2020

หุ้น DJSI ยั่งยืนจริงหรือ?

ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) ถูกริเริ่มทำขึ้นในปี 2542 สำหรับใช้เป็นดัชนีเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน และใช้เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับการลงทุนที่สะท้อนผลตอบแทนของหลักทรัพย์ที่มีความโดดเด่นด้านความยั่งยืนทั่วโลก

ในปี 2563 มีบริษัทที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประเมินทั้งสิ้น 3,538 แห่ง มีบริษัทที่ตอบแบบสอบถามรวม 1,386 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 39 และมีบริษัทไทยที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประเมินในปีนี้ จำนวน 36 แห่ง


ที่มา: Finch & Beak

ผลการประเมินเพื่อคัดเลือกบริษัทที่โดดเด่นด้านความยั่งยืนให้เข้าอยู่ในดัชนี DJSI ประจำปี 2563 พบว่า มี 21 บริษัทจดทะเบียนไทย (ไม่รวมบริษัทนอกตลาดฯ) ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าอยู่ในดัชนี DJSI ได้แก่ ADVANC, AOT, BANPU, BTS, CPALL, CPF, CPN, EGCO, HMPRO, IRPC, IVL, KBANK, MINT, PTT, PTTEP, PTTGC, SCB, SCC, TOP, TRUE และ TU

หากย้อนกลับไปดูสถิติในอดีต พบว่า มีบริษัทไทยได้รับเชิญให้เข้าร่วมรับการประเมินและได้รับคัดเลือกให้เข้าอยู่ในดัชนี DJSI ครั้งแรกเมื่อปี 2544 และมีจำนวนเพิ่มขึ้นโดยลำดับ

ในมุมของบริษัทที่ลงทุน (Investees) ถือเป็นพัฒนาการในช่วง 19 ปีที่ผ่านมา นับจากปี 2544 ที่มีบริษัทจดทะเบียนได้รับคัดเลือกให้เข้าอยู่ในดัชนี DJSI จาก 1 บริษัท เพิ่มขึ้นมาเป็น 21 บริษัท ในปี 2563

สถิติที่สำคัญ
ปี 63 ได้รับเชิญ 36 บริษัท, ได้รับคัดเลือก 21 บริษัท (เพิ่ม EGCO)
ปี 62 ได้รับเชิญ 36 บริษัท, ได้รับคัดเลือก 20 บริษัท (ADVANC เข้า)
ปี 61 ได้รับเชิญ 32 บริษัท, ได้รับคัดเลือก 19 บริษัท (เพิ่ม BTS SCB)
ปี 60 ได้รับเชิญ 37 บริษัท, ได้รับคัดเลือก 17 บริษัท (เพิ่ม CPALL IVL HMPRO TRUE) (ADVANC ออก)
ปี 59 ได้รับเชิญ 33 บริษัท, ได้รับคัดเลือก 14 บริษัท (เพิ่ม KBANK)
ปี 58 ได้รับเชิญ 34 บริษัท, ได้รับคัดเลือก 13 บริษัท (เพิ่ม ADVANC AOT CPF)
ปี 57 ได้รับเชิญ 30 บริษัท ได้รับคัดเลือก 10 บริษัท (เพิ่ม BANPU CPN IRPC MINT PTTEP TU)
ปี 56 ได้รับเชิญ 34 บริษัท ได้รับคัดเลือก 4 บริษัท (เพิ่ม PTTGC TOP)
ปี 55 ได้รับเชิญ 22 บริษัท ได้รับคัดเลือก 2 บริษัท (เพิ่ม PTT)
ปี 47-54 คงมีบริษัทเดียวที่ได้รับคัดเลือก
ปี 44 มีบริษัทไทยที่ได้รับคัดเลือก (คือ SCC)
ปี 42 เริ่มมีดัชนี DJSI

ในมุมของผู้ลงทุน (Investors) การลงทุนในหุ้นที่ถือว่ามีความโดดเด่นด้านความยั่งยืนตามการประเมินดังกล่าว ยังไม่อาจตอบโจทย์การลงทุนที่ยั่งยืน เพราะเมื่อพิจารณาผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงปัจจุบัน (YTD) ของหุ้น DJSI ทั้ง 21 ตัว (Equal-weighted) พบว่า มีอัตราผลตอบแทนติดลบอยู่ที่ -20.71% ขณะที่ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ลดลง -14.56% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ขณะที่ในช่วงเดือนกันยายน 2563 ผลตอบแทนของดัชนี S&P 500 ESG มีตัวเลขที่ชนะดัชนี S&P 500 อยู่ที่ 2.5% สอดคล้องกับตัวเลขผลประกอบการของกองทุน ESG ที่มีความผันผวนน้อยกว่ากองทุนทั่วไป ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา

เมื่อเทียบกับดัชนี Thaipat ESG Index ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบขึ้นจากหลักทรัพย์ที่มีความโดดเด่นด้าน ESG ที่ทำการประเมินโดยสถาบันไทยพัฒน์ พบว่า มีผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีที่ลดลงในระดับที่ต่ำกว่า คือ -11.28% (ข้อมูล ณ 17 พ.ย. 63) หรือคิดเป็นส่วนต่างของผลตอบแทน 9.43% เมื่อเทียบกับผลตอบแทนหุ้นไทยที่อยู่ในดัชนี DJSI

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ใช้ในการประเมินทั้งในส่วนของหุ้นไทยในดัชนี DJSI และหลักทรัพย์ในดัชนี Thaipat ESG ใช้ข้อมูลการดำเนินงานของบริษัทในรอบปี 2562

ด้วยเหตุที่การประเมินซึ่งมุ่งไปที่การพิจารณาประเด็นด้าน ESG ของบริษัทที่มีความโดดเด่นในมิติเดียว ทำให้เกิดข้อจำกัดที่ผู้ลงทุนอาจต้องแลก (Trade-off) ระหว่างการลงทุนในบริษัทที่มี ESG ดี แต่ผลประกอบการไม่เป็นที่น่าพอใจ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ไม่ตอบโจทย์ผู้ลงทุนในมิติของการลงทุนที่ยั่งยืนว่า การลงทุนในบริษัทที่มี ESG ดี จะช่วยลดความผันผวนด้านราคาของหลักทรัพย์ และช่วยสร้างผลตอบแทนที่แข็งแกร่งให้แก่ผู้ลงทุนในระยะยาว

ผู้ลงทุน พึงวิเคราะห์ข้อมูล ESG ควบคู่กับข้อมูลทางการเงินในลักษณะบูรณาการ เพื่อให้สะท้อนผลตอบแทนที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับผลประกอบการจากการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัท โดยสามารถตอบโจทย์การลงทุนที่ยั่งยืน ในทางที่สร้างคุณค่าที่ตอบสนองต่อผู้ลงทุนและสังคมโดยรวมไปพร้อมกัน


ปรับปรุง: พ.ย. 64

จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, November 07, 2020

ชนะการลงทุนช่วงโควิด ด้วย ESG

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การลงทุนในตลาดทุนทั่วโลก นับตั้งแต่ต้นปี 63 ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 กันอย่างถ้วนทั่ว มูลค่าสินทรัพย์ของบรรดาผู้ลงทุนที่มีพอร์ตการลงทุนกระจายอยู่ในหลักทรัพย์ที่เป็นตราสารทุน ล้วนมีมูลค่าที่ลดลงอย่างน่าใจหาย

แต่ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้น คือ สำหรับผู้ลงทุนที่ใช้นโยบายการลงทุนโดยคำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในระดับที่ต่ำกว่า ซึ่งทำให้กระแสเรื่อง ESG ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนเพิ่มเติมจากเดิม

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้ทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบราคาดัชนี MSCI ระหว่างดัชนีทั่วไปกับดัชนีที่คำนึงถึง ESG ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ในรายงาน OECD Business and Finance Outlook 2020 ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยใช้ดัชนี ACWI เป็นฐานในการเปรียบเทียบ (กำหนดค่าดัชนีฐานที่ 100 จุด)

ACWI (All Country World Index) เป็นดัชนีที่จัดทำโดยบริษัท มอร์แกน สแตนเลย์ แคปปิตอล อินเตอร์เนชั่นแนล (MSCI) ประกอบด้วยหลักทรัพย์ในตลาดทุนทั่วโลกราว 3,000 หลักทรัพย์ ทั้งจากประเทศที่พัฒนาแล้ว 23 แห่ง และจากตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) 26 แห่ง สำหรับใช้เป็นดัชนีเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน (Benchmark Index) และใช้เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับการลงทุน (Investable Index) ที่สะท้อนผลตอบแทนของตลาดทุนโลก

ผลการวิเคราะห์ พบว่า ดัชนี MSCI ที่คำนึงถึง ESG ทุกดัชนี มีผลตอบแทนที่ลดลง ในอัตราที่ต่ำกว่าดัชนีมาตรฐาน ACWI

มีเพียงดัชนี ACWI Minimum Volatility ที่สามารถชนะดัชนี ESG อยู่จนถึงช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งก็เป็นเพราะผู้ลงทุนใช้เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงการลงทุน (Hedge) ในช่วงที่มีความไม่แน่นอนในผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ขยายวงจากสถานการณ์โควิด-19

ข้อมูลนี้ เป็นเครื่องยืนยันว่า การลงทุนโดยคำนึงถึง ESG ในสภาวะที่ตลาดมีความไม่แน่นอนสูง จะมีความผันผวนต่ำกว่าความผันผวนของตลาดโดยรวม ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันสำหรับตลาดทุนไทย

โดยผลกระทบที่มีต่อตลาดทุนไทย เมื่อพิจารณาด้วยดัชนีผลตอบแทนรวม SET TRI ซึ่งเป็นดัชนีสะท้อนภาพรวมของตลาดทุนไทย สถานการณ์โควิด-19 ได้ทำให้อัตราผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงปัจจุบัน (YTD) ติดลบอยู่ที่ -18.3% ขณะที่ดัชนีผลตอบแทนรวม Thaipat ESG Index TR ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบขึ้นจากหลักทรัพย์ที่มีความโดดเด่นด้าน ESG ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในระดับที่ต่ำกว่า คือ -11.48% (ข้อมูล ณ 5 พ.ย. 63) หรือมีความผันผวนที่ต่างกันอยู่ 6.82%

แต่หากดูผลตอบแทนระยะยาวของดัชนีผลตอบแทนรวม Thaipat ESG Index TR พบว่า ตัวเลขผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี จะอยู่ที่ 4.02% คือ ยังมีผลตอบแทนที่เป็นบวก แม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เมื่อตอนต้นปี 63

จะเห็นว่า การลงทุนโดยคำนึงถึง ESG ในสภาวะตลาดที่มีความไม่แน่นอนสูง นอกจากจะช่วยลดความผันผวนด้านราคา (Beta) ของหลักทรัพย์ในพอร์ตการลงทุนแล้ว ยังช่วยสร้างผลตอบแทน (Alpha) ที่แข็งแกร่งให้แก่ผู้ลงทุนในระยะยาวด้วย


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, October 24, 2020

ทำไมต้องใช้ข้อมูล ESG ในการลงทุน

ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนทั่วโลก ได้มีการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ให้แก่ผู้ลงทุน สำหรับใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุน

หนึ่งในรูปแบบการเปิดเผยข้อมูล ESG ซึ่งเป็นที่นิยม ได้แก่ การจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) ซี่งเป็นการให้ข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน เพื่อสนองความต้องการในปัจจุบันที่ลำพังรายงานทางการเงินเพียงอย่างเดียวไม่สามารถสะท้อนข้อมูลผลประกอบการโดยรวมให้แก่ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียอื่นได้อย่างครบถ้วน

เหตุที่ข้อมูล ESG มีความสำคัญต่อการพิจารณาตัดสินใจลงทุนในเวลานี้ ทั้งที่ในอดีตก็ไม่เคยมีคำนี้อยู่ในแวดวงการลงทุนมาก่อน

คำตอบข้อแรกอยู่ที่ ขนาดของสินทรัพย์ที่มีตัวตน (Tangible Asset) และสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน (Intangible Asset) ซึ่งรวมกันเข้าเป็นมูลค่าของกิจการและสะท้อนออกมาเป็นราคาตลาดยุติธรรม (Fair Market Value) นั้น มีสัดส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

ปัจจุบัน ขนาดของสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน อันได้แก่ ชื่อเสียง ทรัพย์สินทางปัญญา ธรรมาภิบาล ฯลฯ ได้กลายมาเป็นสินทรัพย์ประเภทหลักที่เป็นตัวกำหนดราคาตลาดยุติธรรมของกิจการ

จากการศึกษาราคาตลาดของหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี S&P 500 ชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนของสินทรัพย์ที่มีตัวตน เช่น อสังหาริมทรัพย์และเครื่องจักรอุปกรณ์ ในปี ค.ศ.1975 มีตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 83 ส่วนสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน มีสัดส่วนอยู่เพียงร้อยละ 17

ขณะที่ ในปี ค.ศ.2015 สัดส่วนของสินทรัพย์ที่มีตัวตน มีตัวเลขเหลืออยู่ที่ร้อยละ 16 ส่วนสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน มีสัดส่วนพุ่งสูงถึงร้อยละ 84 หรือคิดเป็น 5 เท่าของสินทรัพย์ที่มีตัวตน

จึงเป็นเหตุผลว่า ลำพังการวิเคราะห์บริษัท โดยอ้างอิงสินทรัพย์ที่มีตัวตน ซึ่งมีการบันทึกมูลค่าอยู่ในรายงานทางการเงิน ไม่เพียงพอต่อการพิจารณาตัดสินใจลงทุนอีกต่อไป หากไม่นำข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน ที่อ้างอิงสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน ซึ่งก็คือ ข้อมูล ESG ที่ปรากฏในรายงานแห่งความยั่งยืน มาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจลงทุน

คำตอบข้อที่สอง ของการใช้ข้อมูล ESG ในการตัดสินใจลงทุน คือ การขยายบทบาทการดำเนินงานของกิจการ จากเดิมที่ตอบสนองต่อผู้ถือหุ้น (Shareholder) ในรูปของผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเป็นหลัก มาสู่การคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) อย่างรอบด้าน ทำให้บริษัทต้องมีการวางกลยุทธ์การดำเนินงาน การวัดและการรายงานผลการดำเนินงานต่อผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งก็คือ การเพิ่มเติมการดำเนินงานในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม (E) และสังคม (S) นอกเหนือจากประเด็นด้านธรรมาภิบาล (G) ที่คำนึงถึงเฉพาะผู้ถือหุ้นเป็นหลัก

สำหรับนักวิเคราะห์ที่ยังมิได้เข้าใจเรื่อง ESG อาจเหมารวมว่า ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ต้องวิเคราะห์นี้ อยู่ในการวิเคราะห์เศรษฐกิจและการวิเคราะห์อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานแบบเดิมอยู่แล้ว ก็ต้องชี้แจงว่า การวิเคราะห์เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอันเดิม เป็นการวิเคราะห์ผลกระทบภายนอกที่มีต่อตัวบริษัท (Outside-in) ขณะที่การวิเคราะห์ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในเรื่อง ESG เป็นการวิเคราะห์การดำเนินงานของบริษัทที่มีผลกระทบสู่ภายนอก (Inside-out) ซึ่งจัดอยู่ในการวิเคราะห์บริษัท เพิ่มเติมจากการวิเคราะห์เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณในแบบเดิม

จะเห็นว่า นอกจากรายงานประจำปี ที่ผู้ลงทุนใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจลงทุน บทบาทของรายงานแห่งความยั่งยืน จะกลายเป็นเอกสารสำคัญที่เป็นแหล่งข้อมูล ESG สำหรับผู้ลงทุน ซึ่งนับวันจะทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในเดือนหน้า (12-13 พ.ย.) สถาบันไทยพัฒน์ จะจัดอบรมการพัฒนากระบวนการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามมาตรฐาน GRI สำหรับบริษัทจดทะเบียน ในหลักสูตร GRI Standards Certified Training Course องค์กรที่สนใจ สามารถติดตามข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ www.thaipat.org


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, October 10, 2020

การเติบโตของตลาดข้อมูล ESG

จากข้อมูลการสำรวจของมอร์นิ่งสตาร์ บ่งชี้ว่ามูลค่าของกองทุนที่เน้นการลงทุนที่ยั่งยืน ได้ทะลุตัวเลข 1 ล้านล้านเหรียญเป็นครั้งแรก หลังจากที่เกิดสถานการณ์โควิดขึ้นในไตรมาสแรกของปี ค.ศ.2020

และตัวเลขการสำรวจของออพิมัส ที่ปรึกษาด้านการจัดการลงทุนในตลาดทุนทั่วโลก ระบุว่า มูลค่าสินทรัพย์ที่ลงทุนโดยใช้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) มีตัวเลขคาดการณ์อยู่ที่ 40.5 ล้านล้านเหรียญ ในปี ค.ศ.2020

ขณะที่ขนาดของตลาดข้อมูล ESG มีมูลค่าอยู่ที่ 617 ล้านเหรียญ ในปี ค.ศ.2019 โดยอัตราเติบโตที่คาดการณ์ของข้อมูล ESG อยู่ที่ร้อยละ 20 ต่อปี และดัชนี ESG อยู่ที่ร้อยละ 35 ต่อปี ซึ่งจะทำให้ขนาดของตลาดข้อมูล ESG พุ่งถึงระดับ 1 พันล้านเหรียญ ได้ในปี ค.ศ.2021 (http://www.opimas.com/research/547/detail/)

เป็นที่แน่นอนว่า ธุรกิจที่เปิดให้บริการข้อมูล ESG ในไทย จะเติบโตขึ้น ตามแนวโน้มการเติบโตของตลาดข้อมูล ESG ในระดับโลก

หากย้อนไปสำรวจดูข้อมูล ESG ของหลักทรัพย์จดทะเบียนในไทย ที่สถาบันไทยพัฒน์ได้ทำการประเมินกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ซึ่งถือเป็นการจัดอันดับหลักทรัพย์โดยใช้เกณฑ์ ESG เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2558 จำนวน 567 หลักทรัพย์ มีชุดข้อมูล ESG ที่ถูกใช้ในการประเมินอยู่ 10,500 จุดข้อมูล เทียบกับชุดข้อมูล ESG ที่ใช้ในการประเมินในปี พ.ศ.2563 จำนวน 803 หลักทรัพย์ 14,870 จุดข้อมูล คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.6

ผู้ลงทุนที่ยึดแบบแผนการลงทุนที่ยั่งยืน โดยอาศัยเกณฑ์ ESG เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุน เชื่อว่า ยิ่งมีข้อมูล ESG ที่เพียงพอมากเท่าใด การวิเคราะห์การดำเนินงานของบริษัท เพื่อที่จะคาดการณ์ถึงผลประกอบการในอนาคตของบริษัท จากการพิจารณาปัจจัย ESG ก็จะมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

และที่สำคัญ ผู้ลงทุนจะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นในระยะยาว และมิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป นั่นก็เป็นเพราะผลประกอบการในอนาคตของบริษัท มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัท

การส่งเสริมและกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียน มีการเปิดเผยข้อมูล ESG ที่เพียงพอสำหรับการใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุน จึงเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในตลาดทุนทั่วโลก ขนาดของตลาดข้อมูล ESG จึงมีตัวเลขที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในห้วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

แลร์รี่ ฟิงก์ ซีอีโอ แบล็กร็อก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนใหญ่อันดับหนึ่งของโลก ด้วยขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) กว่า 7 ล้านล้านเหรียญ กล่าวว่า บริษัทที่มีความมุ่งประสงค์ไม่จำกัดเพียงแค่การให้ผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ถือหุ้น จะกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของการลงทุน

หลังจากสถานการณ์โควิด ยิ่งมีความชัดเจนว่า ทุนนิยมที่เอื้อต่อผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Capitalism) จะทวีความสำคัญ โดยบริษัทที่เน้นประโยชน์ให้เกิดแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ทั้งลูกค้า พนักงาน และสังคมรายรอบกิจการ จะกลายเป็นผู้ชนะแห่งอนาคต


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, September 26, 2020

ข้อมูล ESG สำคัญไฉน

ผู้ลงทุน ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือรายย่อย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในระยะยาวหรือในระยะสั้น ต่างมีเป้าหมายร่วมเดียวกัน คือ ผลตอบแทนที่น่าพอใจ ตามเงื่อนเวลาหรือข้อมูลที่มีต่อการตัดสินใจลงทุน

ข้อมูลที่มีความสำคัญต่อการพิจารณาลงทุน นอกเหนือจากข้อมูลพื้นฐานของกิจการ เป็น “ข้อมูลทางการเงิน” ที่สะท้อนให้เห็นความสามารถของกิจการในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากเม็ดเงินลงทุนที่ได้รับ ในรูปของรายได้และผลกำไร แต่ข้อจำกัดของข้อมูลทางการเงิน คือ เป็นข้อมูลที่สะท้อนการดำเนินงานในอดีตที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งมิได้เป็นเครื่องรับประกันว่า ผลการดำเนินงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะเป็นเช่นเดียวกัน เพียงแต่ให้แนวโน้มที่คาดว่าจะเป็นไปได้เช่นนั้น บนสมมุติฐานหรือปัจจัยแวดล้อมเดียวกัน

ทำให้นักลงทุนจำเป็นที่ต้องค้นหาข้อมูลอื่น ประกอบการพิจารณาลงทุน สำหรับคาดการณ์ถึงผลประกอบการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้มีความแม่นยำที่สุด และข้อมูลอื่นที่ว่า คือ “ข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน” เพราะข้อมูลดังกล่าว สามารถบ่งชี้ถึงโอกาสและความเสี่ยง รวมทั้งขีดความสามารถขององค์กรที่มีต่อผลประกอบการในอนาคตของบริษัท

ชุดข้อมูล ESG ซึ่งย่อมาจาก Environmental, Social, and Governance จึงเกิดขึ้นในแวดวงตลาดทุน เพื่ออธิบายถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทและการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุน

ESG เป็นคำที่ถูกบัญญัติขึ้นใช้ในตลาดทุน โดยผู้ลงทุน เพื่อใช้ประเมินการดำเนินงานของบริษัท และทำให้ล่วงรู้ถึงผลประกอบการในอนาคตของบริษัท

ปัจจุบัน ตลาดทุนไทย ได้เริ่มให้ความสำคัญกับชุดข้อมูล ESG เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งฝั่งผู้กำกับดูแลหลักทรัพย์ ที่มีการออกประกาศให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูล ESG ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี และฝั่งตัวกลางซื้อขายหลักทรัพย์ ที่เริ่มมีบริการด้าน ESG แก่บริษัทจดทะเบียน รวมทั้งฝั่งผู้ให้บริการอิสระและที่ปรึกษาธุรกิจ ที่มีการนำเสนอบริการที่เกี่ยวเนื่องกับ ESG สำหรับบริษัทจดทะเบียนและบริษัททั่วไป

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้บุกเบิกการพัฒนาฐานข้อมูลความยั่งยืนของธุรกิจ และเป็นผู้ริเริ่มการประเมินข้อมูลด้าน ESG ได้จัดทำรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG จำนวน 100 บริษัท หรือที่เรียกว่า กลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ถือเป็นการจัดอันดับหลักทรัพย์โดยใช้เกณฑ์ ESG เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และได้ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นปีที่หกในปีนี้

และจากกระแสเรื่อง ESG ที่ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนในวงกว้าง และมีการเสนอขายกองทุนที่ลงในหุ้น ESG เพิ่มขึ้นมาก จึงมีแนวโน้มที่การเลือกหุ้น ESG จะกระจุกตัวในกลุ่มบริษัทที่มีความโดดเด่นเรื่อง ESG อยู่แล้ว ซึ่งมักเป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมในการเปิดเผยข้อมูล สถาบันไทยพัฒน์ จึงได้ริเริ่มจัดทำรายชื่อ กลุ่มหลักทรัพย์ ESG Emerging หรือบริษัทที่มีแนวโน้มการดำเนินงานด้าน ESG ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมจากทำเนียบหุ้น ESG100 สำหรับรองรับการลงทุนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในระยะยาวให้แก่ผู้ลงทุน กระจายไปยังบริษัทใหม่ๆ ที่มีศักยภาพจากการพิจารณาปัจจัย ESG ร่วมกับผลประกอบการของบริษัท

ทั้งนี้ หลังจากที่สถาบันไทยพัฒน์ได้รวบรวมข้อมูลการประเมินมาสามปี ในปี พ.ศ.2561 ได้ขยายผลมาสู่การจัดทำดัชนีอีเอสจี ไทยพัฒน์ หรือ Thaipat ESG Index สำหรับใช้เป็นดัชนีเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน และใช้เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับการลงทุน โดยมี S&P Dow Jones เป็นผู้คำนวณและเผยแพร่ข้อมูลดัชนี ผ่านหน้าจอ Bloomberg และ Reuters ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วโลก

ปัจจุบัน มีกองทุนรวมอยู่ 6 กอง และกองทุนส่วนบุคคล 1 กอง ที่มีการใช้ดัชนี Thaipat ESG เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับการลงทุน โดยมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารอยู่ราว 838 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 18 กันยายน 2563)

โฉมหน้าของการลงทุนโดยใช้ข้อมูล ESG เพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนไทยในมิติของการลงทุนที่ยั่งยืน และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป กำลังจะกลายเป็นเส้นทางสายหลัก (Mainstream) ตามรอยตลาดทุนโลก เพื่อยืนยันคำกล่าวที่ว่า “บริษัทที่มี ESG ดี จะสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีด้วย


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, September 12, 2020

ทำธุรกิจให้รอดในภาวะปกติใหม่

เป็นเวลากว่า 6 เดือน ที่สถานการณ์โควิดได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาค และต่อธุรกิจในระดับจุลภาค โดยยังไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงในเร็ววัน จนกว่าจะมีการพัฒนาวัคซีนที่สามารถระงับการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้

หลายธุรกิจที่อดทนกัดฟันรอว่าสถานการณ์จะดีขึ้น จากการที่สามารถควบคุมการระบาดในประเทศได้ แต่ในหลายประเทศ พบว่า มีการระบาดรอบใหม่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเหตุทำให้การเดินทางระหว่างประเทศ ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ มาตรการกักกัน จึงยังคงต้องดำเนินต่อไป โดยกลุ่มที่กระทบมากสุด ได้แก่ ธุรกิจการบินและการท่องเที่ยว รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โรงแรม ที่พัก นำเที่ยว รถเช่า ของฝาก เป็นต้น


ในเมื่อจุดที่สถานการณ์สิ้นสุดไม่สามารถคาดการณ์ได้ ธุรกิจจำเป็นต้องมีการปรับองคาพยพ เพื่อความอยู่รอด และรักษาธุรกิจให้สามารถผ่านพ้นสถานการณ์ไปได้ โดยสิ่งที่ธุรกิจพึงพิจารณาดำเนินการ ประกอบด้วย

การลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ในช่วงต้นสถานการณ์ ธุรกิจยังมีเงินสดหรือสภาพคล่องในกิจการที่พอจะรับมือได้ ครั้นเวลาผ่านไป ธุรกิจมีการดึงเงินออมหรือเงินเก็บมาใช้ประคับประคองตัว แต่เมื่อรายรับไม่เข้าเพียงพอกับรายจ่ายที่ออก ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่ลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง ระดับของมาตรการอย่างอ่อน เช่น การลดค่าใช้จ่ายเดินทาง งบประมาณเลี้ยงรับรอง ค่าทำงานล่วงเวลา ฯลฯ ไปจนถึงอย่างเข้ม เช่น การลดพนักงาน การปิดสาขาบางแห่ง ฯลฯ

การปรับแพลตฟอร์มธุรกิจให้ตอบสนองต่อพฤติกรรมของลูกค้าหรือผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สถานการณ์โควิดได้สร้างแบบแผนการใช้ชีวิต หรือกิจวัตรประจำวันในรูปแบบใหม่ ทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม (Physical Distancing) การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment) พฤติกรรมดังกล่าว เป็นตัวเร่งให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติอย่างขนานใหญ่ ทั้งการทำธุรกรรมออนไลน์ การจัดส่งพัสดุจากหน้าประตูถึงหน้าประตู เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางและการสัมผัส ธุรกิจจำต้องปรับแพลตฟอร์มเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและทรัพยากรภายใต้ห่วงโซ่คุณค่าใหม่บนฐานดิจิทัล เพราะมีแนวโน้มว่า พฤติกรรมดังกล่าว จะยังคงดำเนินสืบเนื่องต่อไปจนกลายเป็นภาวะปกติใหม่ (New Normal)

การเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้มีความยืดหยุ่นและมีความยั่งยืนในระยะยาว ธุรกิจในหลายสาขาได้ประสบกับภาวะความชะงักงันในสายอุปทาน ทั้งวัตถุดิบที่ขาดแคลน แผนการส่งมอบที่ถูกเลื่อน/ยกเลิก ช่องทางการจัดส่ง/จำหน่ายถูกปิดในช่วงที่เกิดสถานการณ์ เป็นบทเรียนให้ธุรกิจ จำต้องพิจารณาดำเนินการป้องกัน/กระจายความเสี่ยง หรือเสริมสร้างกลไกที่ลดการพึ่งพิงผู้ส่งมอบหลักที่อยู่ในประเทศอื่น (Offshore) มีการย้ายฐานการผลิตกลับมาอยู่ในอาณาเขต หรือใช้ผู้ส่งมอบที่อยู่ใกล้แหล่งดำเนินงานแทน รวมไปถึงการดูแลปกป้องสุขภาพของบุคลากรในองค์กรและในห่วงโซ่ธุรกิจ มิให้ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ (Pandemic) เช่นในครั้งนี้ ทำให้เรื่องวัฒนธรรมสุขภาพ จะกลายเป็นประเด็นสาระสำคัญเพื่อการพัฒนาสู่ความยั่งยืนขององค์กรในระยะยาว

ข้อพิจารณาในการ “ลด-ปรับ-เปลี่ยน” ข้างต้น จะช่วยให้ธุรกิจเห็นแนวทางการดำเนินงาน โดยไม่ต้องรอด้วยความหวังในภาวการณ์ซึ่งยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสถานการณ์จะสิ้นสุดลงเมื่อใด


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, August 29, 2020

CSR ไม่ได้เริ่มที่บรรทัดสุดท้าย ของงบกำไรขาดทุน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ทุกองค์กรธุรกิจต้องการในปัจจุบัน นอกเหนือจากการเจริญเติบโต ก็คือ ความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งหมายถึง การที่องค์กรสามารถแสวงหากำไร หรือประกอบธุรกิจอยู่ได้ในสังคมอย่างต่อเนื่อง และ CSR (Corporate Social Responsibility) ได้กลายมาเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างให้เกิดความยั่งยืนนั้น


ปรัชญาของธุรกิจในการแสวงหากำไรสูงสุดที่กิจการยึดมั่นในการดำเนินงาน ไม่ได้เป็นเรื่องที่สวนทางกับหลักการความรับผิดชอบต่อสังคม เพียงแต่ธุรกิจที่มี CSR นั้น นอกจากจะพยายามแสวงหาหนทางในการทำกำไรสูงสุด (Maximize Profit) แล้ว ยังพยายามแสวงหาหนทางในการลดข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ให้เหลือน้อยที่สุด (Minimize Conflict) ด้วย นี่คือเหตุผลที่ CSR เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจนั่นเอง

โดยที่ขอบเขตการดำเนินงาน CSR จะครอบคลุมในทุกๆ กลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ในอันที่จะสร้างให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียเหล่านั้น

แม้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงาน คู่ค้า หรือชุมชน อาจจะไม่ส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มรายได้หรือกำไรของกิจการในทันที เหมือนกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ที่จะส่งผลโดยตรงต่อรายได้และเม็ดเงินที่ได้รับของกิจการเพิ่มขึ้น (ในทางบวก) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจเลือกที่จะละเลยการปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อพนักงาน คู่ค้า หรือชุมชน เพียงแต่ไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างทั่วถึง นี่จึงทำให้ธุรกิจมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดข้อพิพาทหรือขัดแย้งกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มดังกล่าว จนเป็นเหตุให้รายได้หรือกำไรของกิจการได้รับผลกระทบ (ในทางลบ) โดยตรง

สาเหตุสำคัญที่ CSR มักไม่ได้รับการตอบสนองจากเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นของกิจการ เกิดจากการมองว่า CSR เป็นกิจกรรมที่ทำให้ความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นลดลง เนื่องจากกิจการต้องเจียดกำไรหรือคืนผลตอบแทนส่วนหนึ่งกลับคืนสู่สังคม เพราะเข้าใจเรื่อง CSR ว่าเป็นการบริจาค (Philanthropy) และเป็นกิจกรรมที่ทำก็ต่อเมื่อมีกำไร คือ เกิดขึ้นหลังจากบรรทัดสุดท้าย (คือกำไรสุทธิ) ของการดำเนินงานเท่านั้น

อันที่จริงแล้วการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมสามารถเริ่มได้ตั้งแต่บรรทัดแรก (คือรายได้) ของการดำเนินงาน และนับตั้งแต่การพิจารณาเรื่องวัตถุดิบในการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การคำนึงถึงแหล่งวัตถุดิบในท้องถิ่น การจัดซื้อจัดหาที่มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ การปฏิบัติด้านแรงงานที่เป็นธรรม การให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ครบถ้วนถูกต้อง การขายและการตลาดที่ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค การให้บริการและการ

รับประกันที่เพียงพอ เป็นต้น การทำ CSR มุ่งที่การคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียที่ธุรกิจเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า พนักงาน ผู้ส่งมอบ คู่ค้า ฯลฯ นอกเหนือจากเรื่องชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากองค์กรดำเนินธุรกิจโดยที่ไม่มีข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทกับผู้มีส่วนได้เสียเหล่านี้ กิจการก็ย่อมจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ไม่มีปฏิปักษ์ สามารถแสวงหากำไรหรือประกอบธุรกิจอยู่ได้ในสังคมอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจนั่นเอง

ความเสียหายที่มีความชัดเจนและรุนแรง หากกิจการดำเนินไปโดยไม่คำนึงถึงเรื่อง CSR เช่น กรณีที่ธุรกิจไปมีข้อพิพาทกับผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นภาครัฐในแง่ของใบอนุญาต สัมปทาน หรือการได้รับสิทธิพิเศษบางอย่าง ตลอดจนเรื่องการเสียภาษีต่างๆ จนเป็นปัญหานำไปสู่การฟ้องร้อง ให้ระงับการดำเนินงาน ยุติกิจการ หรือ ถูกยึดทรัพย์ ฯลฯ

การทำ CSR จึงมิได้เป็นเหตุที่ทำให้ความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นลดลง ตรงกันข้ามกลับจะทำให้ธุรกิจมีภูมิคุ้มกัน และเอื้อต่อการสร้างผลตอบแทนที่ต่อเนื่องและไร้มลทินให้แก่ผู้ถือหุ้น ไม่มีเหตุที่จะกล่าวโทษหรือมาตำหนิใดๆ ได้

ผู้ถือหุ้นที่ต้องการรักษาความมั่งคั่งในระยะยาว คงไม่ได้พิจารณาเลือกลงทุนในกิจการที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องถามหา CSR ในกิจการนั้นๆ เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหากับผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่รายรอบกิจการ จนทำให้ธุรกิจสุ่มเสี่ยงต่อความอยู่รอดและการเจริญเติบโตในแบบยั่งยืน


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, August 15, 2020

CSR : สิ่งที่เห็น กับ สิ่งที่เป็น

เรื่อง CSR เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่กิจการจะต้องแน่ใจว่าได้ทำให้เกิดขึ้น หรือดำเนินอยู่ในกระบวนงาน หรือในการดำเนินธุรกิจขององค์กรจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้สังคมเห็นว่า องค์กรมีภาพของความรับผิดชอบต่อสังคม โดยผ่านรูปแบบของการทำกิจกรรมเพื่อสังคมเท่านั้น

ตัวอย่างของโรงงานที่ติดตั้งเครื่องบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ชุมชน แสดงถึงการสร้าง CSR ในส่วนที่เห็นได้ (เชิง Perception) แต่หากโรงงานไม่ได้เปิดเครื่องบำบัด เนื่องจากต้องการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย หรือด้วยเหตุอื่นใดก็ตาม แล้วปล่อยน้ำเสียสู่ชุมชนโดยไม่ได้ผ่านการบำบัด แสดงให้เห็นว่าโรงงานไม่มี CSR ในส่วนที่เป็นจริงๆ (เชิง Performance) และยังอาจละเมิดกฎหมายด้วย


   Photo Credit: Compfight

ความพยายามสร้าง CSR ในเชิง Perception อย่างเดียว ไม่อาจนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ เพราะองค์กรขาดความสำนึกรับผิดชอบที่จะปฏิบัติงานหรือประกอบการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมจริง ๆ แต่ทำเพียงเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ หรือลวงให้สังคมเข้าใจว่าตนเองมีความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว

การทำ CSR ในเชิง Performance ถือเป็นปัจจัยหลัก หรือ 'เหตุ' ที่เกื้อหนุนให้องค์กรได้มาซึ่งความยั่งยืน จากการประกอบการที่คำนึงถึงความรับผิดชอบทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการดำเนินการจริง หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า กิจการไม่สามารถดำรงไว้ซึ่งความยั่งยืน โดยปราศจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่แท้จริง

ฉะนั้น การที่องค์กรหนึ่ง ๆ จะกล่าวอ้างว่าได้ใช้กรอบ SD ในการดำเนินงาน ก็หมายความว่า องค์กรนั้นต้องมีการดำเนินเรื่อง CSR ในเชิง Performance ที่อยู่ในกระบวนงานทั่วทั้งองค์กร ครอบคลุมสาขาและแหล่งดำเนินงานทุกแห่งที่อยู่ในอำนาจกำกับดูแลของบริษัท

การสร้าง CSR ในเชิง Perception เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ช่วยให้บริษัทสามารถกล่าวอ้างถึงบทบาทการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SD ได้เลย หากปราศจากการทำ CSR ในเชิง Performance อย่างจริงจัง และไม่ใช่ว่าองค์กรจะเลียนแบบการทำ CSR ขององค์กรอื่นที่ทำได้สำเร็จ แล้วจะสำเร็จเช่นเดียวกัน กิจการจะต้องรู้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับสังคม และผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ เป็นอย่างไร ผลกระทบหลักที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจคืออะไร และองค์กรจะดำเนินการอย่างไรกับผลกระทบเหล่านั้น การนำวิธีการทำ CSR ที่ประสบความสำเร็จของบริษัทอื่นมาใช้ มิได้เป็นเครื่องรับรองว่าจะเกิดผลสำเร็จเช่นเดียวกับบริษัทนั้น ๆ เสมอไป

เพราะด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ต่างกัน มีความคาดหวังในเรื่องที่ต่างกัน และประเด็นผลกระทบที่ไม่เหมือนกัน ล้วนเป็นตัวแปรที่ทำให้ CSR ของแต่ละองค์กรมีความแตกต่างกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

หลายองค์กรพยายามค้นหากิจกรรม CSR ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และต้องการรวมทรัพยากรเพื่อทำเรื่องนั้นเรื่องเดียวให้ได้ผล จะได้ไม่สะเปะสะปะ หรือใช้ทรัพยากรอย่างกระจัดกระจาย ขณะที่บางองค์กรคิดไกลถึงขนาดที่จะสร้างตราสินค้า หรือแบรนด์ ให้กับการทำ CSR เพื่อสร้าง Perception

ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า กิจการไม่ได้มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพียงกลุ่มเดียว และแต่ละกลุ่มก็มีความคาดหวัง หรือผลกระทบที่ได้รับจากการประกอบธุรกิจที่แตกต่างกัน การดำเนินกิจกรรม CSR เพียงกิจกรรมเดียวจึงไม่อาจตอบสนองต่อผลกระทบ ความคาดหวัง หรือเฉพาะกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มเดียวได้

ในทางปฏิบัติ องค์กรจำต้องทำ CSR มากกว่าเรื่องเดียว โดยเน้นการตอบสนองต่อเรื่องที่มีนัยสำคัญ ซึ่งได้ผ่านการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อผลกระทบ (ทั้งทางบวกและทางลบ) ที่เกี่ยวข้อง

ข้อสังเกตสำหรับองค์กรที่เน้นการทำกิจกรรม CSR เพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มักจะเป็นกรณีที่องค์กรหวังผลด้านการสื่อสารกับสังคมโดยรวมในเชิงของการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้าง Perception

ความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่สินค้าที่ต้องตีตราหรือติดแบรนด์ในตัวเอง แต่เป็นคุณลักษณะ (Attribute) ที่ต้องสร้างให้มีขึ้นและผูกอยู่กับภาพลักษณ์ (Image) ในระดับองค์กร และสามารถถ่ายทอดลงมาอยู่ในระดับผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอยู่ขององค์กรจนมีอัตลักษณ์ (Identity) เป็นที่จดจำและยอมรับ

การสร้างแบรนด์ให้กับกิจกรรม CSR เป็นรายกิจกรรมหรือรายโครงการ มิใช่คำตอบที่จะนำไปสู่การวัดเป็นความสำเร็จของการดำเนินงาน หากแต่ต้องพัฒนา CSR ให้ไปเสริมหนุนภาพลักษณ์ขององค์กรและแบรนด์ทางธุรกิจ หรือตราสินค้าที่มีอยู่ให้เป็นที่ยอมรับ

เมื่อ Perception ไม่ใช่เรื่องเดียวกับ Performance การทำ CSR เพื่อให้ได้มาซึ่งความยั่งยืน จึงต้องแยกแยะและชั่งน้ำหนักระหว่าง 'สิ่งที่เห็น' กับ 'สิ่งที่เป็น' อย่างรอบคอบ เพราะเมื่อ 'ชื่อเสียง' ที่องค์กรเพียรพยายามสร้าง กลายเป็น 'ชื่อเสีย' เสียแล้ว ก็ยากที่จะกอบกู้คืนให้ดีดังเดิม


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, August 01, 2020

บริษัทวิถียั่งยืนที่น่าลงทุน

ความสำคัญของประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ที่มีต่อองค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดทุน และมีการระดมเม็ดเงินลงทุนจากผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ได้ถูกเพิ่มน้ำหนักจากสถานการณ์โควิด และคาดว่าจะทวีความเข้มข้นขึ้นจากนี้ไป

จากการสำรวจของบลูมเบิร์ก ในช่วงไตรมาสแรกของปี ที่มีสถานการณ์โควิดเกิดขึ้น พบว่า ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลงราว 30% ขณะที่มูลค่ากองทุนที่คำนึงถึงปัจจัย ESG ลดลงไปเพียง 12.2% โดยเฉลี่ยในช่วงเวลาเดียวกัน

ส่วนการสำรวจของมอร์นิ่งสตาร์ ในช่วงไตรมาสแรกของปี ระบุว่ามีเงินทุนไหลเข้าในกองทุนที่เน้นปัจจัยความยั่งยืนราว 45.7 พันล้านเหรียญทั่วโลก ขณะที่การลงทุนในกองทุนทั่วไป มีเงินทุนไหลออกราว 384.7 พันล้านเหรียญ

สำหรับความเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (29 ก.ค.) ลดลง 15.12% เมื่อเทียบกับดัชนีอีเอสจี ไทยพัฒน์ (Thaipat ESG Index) ที่ปรับลดลง 13.61%

ด้วยความน่าสนใจในหลักทรัพย์จดทะเบียนที่ให้ความสำคัญกับปัจจัย ESG มีเพิ่มขึ้น ประกอบกับผลตอบแทนที่ได้จากหลักทรัพย์ดังกล่าว มิได้ด้อยกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป ขณะที่ความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ในช่วงตลาดขาลง ก็ต่ำกว่าความผันผวนของตลาดโดยรวม

ทำให้สถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจในประเทศไทย และเป็นผู้จัดทำข้อมูลกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ได้ริเริ่มจัดทำและประกาศรายชื่อหลักทรัพย์กลุ่ม ESG Emerging เป็นครั้งแรก เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนจากปัจจัย ESG ในฐานะบริษัทวิถียั่งยืนที่น่าลงทุน (ESG Emerging List) ด้วยการคัดเลือกจาก 803 บริษัท/กองทุน/ทรัสต์เพื่อการลงทุน ทำการประเมินโดยใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ ESG จาก 6 แหล่ง จำนวนกว่า 14,870 จุดข้อมูล

การประเมินเพื่อคัดเลือกบริษัทวิถียั่งยืนที่น่าลงทุน หรือ ESG Emerging List ได้พิจารณาจากข้อมูลบริษัทที่มีแนวโน้มว่าการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ของบริษัทที่ริเริ่มขึ้น หรืออยู่ในระหว่างดำเนินงาน มีโอกาสสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในระยะยาวให้แก่ผู้ลงทุนจากปัจจัย ESG โดยมีองค์ประกอบที่ใช้ในการคัดเลือกหลักทรัพย์เข้ากลุ่ม ESG Emerging ได้แก่

มีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้าน ESG ในรอบปีการประเมิน
มีการปรับปรุงพัฒนาธุรกิจแกนหลัก (Core Business) หรือกระบวนงานทางธุรกิจ ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เพิ่มเติมจากเดิม ในรอบปีการประเมิน
มีความริเริ่มด้าน ESG หรือที่อยู่ระหว่างดำเนินงาน ซึ่งสร้างผลกระทบทางตรงต่อการเติบโตของรายได้ หรือการประหยัดต้นทุนของกิจการ และมีความสืบเนื่องต่อไปจากรอบปีการประเมินปัจจุบัน

ทั้งนี้ กิจการยังคงต้องผ่านคุณสมบัติตามเกณฑ์คัดกรองเบื้องต้นที่ใช้ในการประเมินหลักทรัพย์ ESG100 ของสถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งประกอบด้วย

ผลการดำเนินงานของบริษัทต้องมีผลประกอบการที่เป็นกำไรติดต่อกันสองรอบปีบัญชีล่าสุด
การปลอดจากการกระทำความผิดโดยที่บริษัทหรือคณะกรรมการหรือผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ต้องไม่ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษหรือเปรียบเทียบปรับในรอบปีประเมิน
การกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ของบริษัทเป็นไปตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด

โดยผลการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่เข้าอยู่ในกลุ่มบริษัทวิถียั่งยืนที่น่าลงทุน หรือ ESG Emerging List ประกอบด้วย 2S BAM BIZ BOL CRC FPT GFPT HARN INSET KIAT PDG PHOL STGT TFFIF TFG TNH TNP TPAC UTP VIH รวมทั้งสิ้นจำนวน 20 หลักทรัพย์


รายชื่อหลักทรัพย์ ESG Emerging ดังกล่าว จะถูกนำไปใช้ทบทวนรายการหลักทรัพย์ที่ใช้ในการคำนวณดัชนี อีเอสจี ไทยพัฒน์ หรือ Thaipat ESG Index ซึ่งจะมีผลในต้นเดือนสิงหาคมนี้ด้วย

สำหรับรายชื่อ 100 หลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG หรือกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ประจำปี 2563 สถาบันไทยพัฒน์จะดำเนินการแจ้งไปยังบริษัทที่ได้รับคัดเลือก โดยมิได้เปิดเผยเป็นการทั่วไป

ผู้ลงทุนที่สนใจข้อมูลหลักทรัพย์จดทะเบียนในกลุ่ม ESG Emerging และกลุ่ม ESG100 สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.esgrating.com


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, July 18, 2020

โควิดกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

สถานการณ์โควิดได้สร้างผลกระทบในหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยที่ภาคธุรกิจสามารถวางแผนการพัฒนาและควรลงมือช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบที่เป็นภยันตราย ทั้งผลทางตรงด้านสาธารณสุข ความรุนแรงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่สืบเนื่องจากการระบาดใหญ่ (Pandemic) และความไม่เสมอภาคทางสังคมที่ยิ่งถลำลึก รวมทั้งปัญหาสุขภาพจิตที่มีสาเหตุจากผลกระทบดังกล่าว

ในหลายประเทศ มีขีดจำกัดในการรับมือกับสถานการณ์ และมีความเชื่อว่า การพัฒนาตามแผนถูกทำให้หยุดชะงักเพียงช่วงเกิดสถานการณ์ และจะกลับมาดำเนินได้ใหม่ภายใต้ภาวะปกติแบบเดิม แต่ในความเป็นจริง เราจำเป็นต้องมีการประเมินแบบแผนการพัฒนาใหม่หลังสถานการณ์สิ้นสุด เนื่องจากรูปแบบหรือพฤติกรรมของผู้คน อาทิ การเว้นระยะห่างทางสังคม จะส่งผลต่อแผนการพัฒนาที่ถูกผลักดันให้รองรับการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติใหม่ (New Normal)

การผนวกหรือทำให้การจัดการความเสี่ยงจากสถานการณ์เป็นเรื่องหลักในนโยบายการพัฒนา การวางแผน และการนำไปปฏิบัติ จะต้องอาศัยการแยกแยะบทบาทที่ชัดเจน มีการกำหนดความรับผิดชอบในการจัดการและการลดความเสี่ยง มิใช่กับเพียงผู้มีอำนาจตัดสินใจหรือผู้นำเฉพาะในภาครัฐ แต่ยังรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาสังคม และชุมชนที่เป็นเป้าหมายการพัฒนา


ความเชื่อมโยงระหว่างโควิดกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในแง่ของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สถานการณ์โควิดได้ก่อให้เกิดข้อจำกัดของการพัฒนา ทั้งการทำลายทุนทางเศรษฐกิจ การสูญเสียความสามารถในการผลิต การเข้าถึงตลาด หรือ ปัจจัยวัตถุดิบ ความเสียหายทางการคมนาคม โลจิสติกส์ หรือโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่ง การดำรงชีพ เงินออม และทุนทางกายภาพถูกกัดกร่อน

สถานการณ์โควิดยังก่อให้เกิดความเสี่ยงของการพัฒนา ในมิติของการดำเนินวิถีการพัฒนาที่ขาดความยั่งยืน โดยสร้างให้เกิดความมั่งคั่งแก่คนบางกลุ่ม บนความสูญเสียของคนกลุ่มใหญ่

ในทางตรงข้าม สถานการณ์โควิดได้ก่อให้เกิดการพัฒนาในมุมบวกในหลายเรื่อง ได้แก่ การเข้าถึงที่เพียงพอในเรื่องเวชภัณฑ์ อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (PPE) ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถรับกับสภาพการเปลี่ยนแปลงได้เพิ่มขึ้น การค้าและเทคโนโลยีในรูปแบบออนไลน์ ที่สามารถลดความยากไร้ และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงตลาด การลงทุนในกลไกด้านการเงิน และการประกันสังคม ที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือลดความเปราะบาง เป็นต้น

ในแง่ของการพัฒนาทางสังคม สถานการณ์โควิดได้ก่อให้เกิดการทำลายสุขภาพ สมรรถนะของบุคลากร และความมั่นคงในตำแหน่งงาน การเสียชีวิต หรือการย้ายถิ่นฐานที่นำไปสู่การกร่อนของทุนทางสังคม การพัฒนาที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในทางบ่มเพาะบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมที่ส่งเสริมการแยกตัวจากสังคม หรือการกีดกันทางสังคม สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ปลอดภัย อาทิ การเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้าที่ส่งถึงบ้าน (กับประเด็นข้อกังวัลด้านความปลอดภัยต่อการปนเปื้อนเชื้อโควิด) ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ทำให้การทำงานในคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า และการส่งพัสดุ มีสภาพเลวร้ายลงกว่าเดิม แต่ในทางกลับกัน สถานการณ์โควิดได้ก่อให้เกิดการสร้างความปรองดองในชุมชน ด้วยการเพิ่มน้ำหนักความสำคัญกับปัจเจกหรือกลุ่มสังคมที่ถูกกีดกัน ให้ได้รับโอกาสการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การเพิ่มสมรรถภาพทางการศึกษาและอนามัยที่ช่วยให้ชุมชนมีความสามารถในการปรับตัวในระยะยาว เป็นต้น

ในแง่ของการพัฒนาทางสิ่งแวดล้อม สถานการณ์โควิดได้ก่อให้เกิดการชะลอการพัฒนาที่ตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Emergency) จากการหันเหการนำทรัพยากรมาใช้รับมือกับสถานการณ์โควิด การพัฒนาที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในทางที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง อาทิ ความต้องการเนื้อสัตว์และอาหารแปรรูปที่เพิ่มขึ้น อาจเพิ่มแรงกดดันต่อการทำลายป่าที่เกี่ยวโยงกับสายอุปทานถั่วเหลือง ปศุสัตว์ และน้ำมันปาล์ม แต่ในขณะเดียวกัน สถานการณ์โควิดได้ทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงจากภาวะปกติใหม่ การออกแบบสภาพแวดล้อมทางกายภาพ โครงสร้างพื้นฐาน อาคาร และที่พักอาศัย ที่ป้องกันหรือลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด การจัดการน้ำทิ้งและของเสียที่มีการควบคุม เพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อโควิด เป็นต้น

ทั้งนี้ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการผนวก หรือทำให้ข้อปฏิบัติด้านการจัดการความเสี่ยงกลายเป็นเรื่องหลักในแผนการพัฒนา โดยมีจุดมุ่งหมายที่ทำให้แน่ใจได้ว่าผลสำเร็จของการพัฒนาสามารถดำเนินต่อไปในมุมที่จะขยายวงของการพัฒนา มากกว่าในมุมที่จะไปลดทอนการพัฒนาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, July 04, 2020

โฉมหน้า CSR หลังโควิด

ประเด็นวิกฤติโควิด ทำให้องค์กรในภาคธุรกิจ ต่างออกมาร่วมช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การบริจาค กระทั่งถึงการปรับสายการผลิตเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยป้องกัน คัดกรอง และลดการระบาดของโรค จนทำให้ไทยเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลกที่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด

การถอดบทเรียนความช่วยเหลือขององค์กรธุรกิจในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา สามารถจำแนกออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มที่ใช้การบริจาคนำในแบบ Corporate Philanthropy ด้วยการมอบเงิน เวชภัณฑ์ วัสดุทางการแพทย์ (เป็น CSR-after-process) กับกลุ่มที่นำ Core Business ขององค์กร มาใช้ในการช่วยเหลือ (เป็น CSR-in-process)

สำหรับความช่วยเหลือในรูปของการบริจาคเงิน เวชภัณฑ์ วัสดุทางการแพทย์ ในแบบ Corporate Philanthropy ในช่วงสถานการณ์ มีให้เห็นอยู่ในทุกองค์กรธุรกิจที่ยื่นมือให้ความช่วยเหลือ

ส่วนตัวอย่างของการนำ Core Business ขององค์กร มาใช้ในการช่วยเหลือในช่วงสถานการณ์ ในกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ไทยวาโก้ และซาบีน่า มีการปรับสายการผลิตชุดชั้นในมาผลิตหน้ากากอนามัย ในกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง เอสซีจี มีการนำเทคโนโลยีการสร้างบ้าน SCG Heim มาสร้างห้องตรวจและคัดกรองโควิด-19 ในกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี จีซี มีการนำนวัตกรรมจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและพลาสติกของบริษัทมาผลิตชุด PPE และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ CSR ในช่วงสถานการณ์โควิด จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนหรือจัดลำดับความสำคัญใหม่ เนื่องจากรูปแบบกิจกรรม CSR ที่ดำเนินอยู่ในสถานการณ์ปกติ ไม่สามารถตอบโจทย์และรองรับกับสถานการณ์ได้อย่างตรงจุด โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่องค์กรต้องการช่วยเหลือ

ทำให้กิจกรรมเพื่อสังคมในรูปของการบริจาคช่วยเหลือชุมชน อาจต้องหันมาเน้นที่การดูแลปกป้องพนักงาน การช่วยเหลือดูแลผู้ส่งมอบและคู่ค้าในห่วงโซ่ธุรกิจที่ถูกกระทบ หรือการปรับตัวตามสภาพตลาดและรูปแบบหรือพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงสถานการณ์


สำหรับการขับเคลื่อน CSR หลังสถานการณ์โควิด จะมีทิศทางที่ถูกกำหนดเป็นกรอบการดำเนินงานภายใต้ 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านกลยุทธ์ ด้านนโยบายและสวัสดิการ ด้านแรงงานและสถานปฏิบัติงาน และด้านชุมชน โดยมีแนวปฏิบัติทางธุรกิจ (Business Practices) ที่ประกอบด้วย วัฒนธรรมสุขภาพ ข้อปฏิบัติทางการตลาดที่รับผิดชอบ การประกันสุขภาพ ความมั่นคงในตำแหน่งงาน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน เป็นต้น

แนวปฏิบัติทางธุรกิจดังกล่าว จะไปเกื้อหนุนปัจจัยด้านสุขภาพ (Health Determinants) โดยรวม และยังก่อให้เกิดผลลัพธ์ทั้งทางธุรกิจ (Business Outcomes) และทางสุขภาพ (Health Outcomes) ในเชิงบวก ซึ่งจะส่งผลกระทบไปสู่การตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Impact) ทั้งในระดับเป้าหมาย (Targets) และตัวชี้วัด (Indicators) อาทิ รายจ่ายด้านสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน (SDGs 3.8, 8.8) การลงทุนชุมชน (SDGs 17.17.1) ฯลฯ

สถานการณ์โควิด ได้ทำให้โฉมหน้า CSR ขององค์กรธุรกิจ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเรื่องวัฒนธรรมสุขภาพ จะเป็นประเด็นสาระสำคัญในกระบวนการวิเคราะห์สารัตถภาพเพื่อการพัฒนาสู่ความยั่งยืนขององค์กร และจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การปรับตัวสู่ภาวะปกติสืบเนื่องไปในระยะยาว (Resilience) ของกิจการ


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, June 21, 2020

ธุรกิจเข้าสู่โหมด Recovery จากโควิด

นับจากที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ได้ระบาดลุกลามไปทุกทวีปทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย เป็นเวลาร่วม 16 สัปดาห์ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2563

สถานการณ์ในปัจจุบัน ได้พัฒนาจากสถานะ Response คือ ช่วงการรับมือหรือเผชิญกับการแพร่ระบาดจากจุดสูงสุด มาสู่จุดที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย จนปลอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ เข้าสู่สถานะ Recovery คือ ช่วงการฟื้นสภาพการดำเนินงานให้กลับเข้าสู่ระดับที่เป็นปกติหรือใกล้เคียงกับภาวะปกติ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีระยะเวลาสำหรับการฟื้นฟูหลังสถานการณ์คลี่คลาย ประมาณ 1 ปี นับจากนี้

ในภาคธุรกิจ องค์กรส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ จะมีบทบาทในช่วงการฟื้นฟูที่แตกต่างกันตามลักษณะและขนาดของกิจการ บริษัทหรือองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ มักมุ่งที่การดำเนินงานและปฏิบัติการในระดับมหภาค ขณะที่บริษัทท้องถิ่นซึ่งมีขนาดเล็กกว่า จะดำเนินความช่วยเหลือที่เป็นการร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับชุมชน

โดยขอบข่ายการดำเนินการให้ความช่วยเหลือขององค์กรในสถานการณ์โควิด สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบการดำเนินผ่านกระบวนงานหลักทางธุรกิจ ในสถานประกอบการ ในช่องทางการตลาด และในสายอุปทาน รูปแบบการให้และกิจกรรมเพื่อสังคม ภายในชุมชนที่ธุรกิจดำเนินงานอยู่ และรูปแบบการเข้าร่วมหารือและผลักดันในนโยบายสาธารณะต่างๆ


รูปแบบการดำเนินการให้ความช่วยเหลือขององค์กรในสถานการณ์โควิด

การใช้ธุรกิจแกนหลัก (Core Business) และทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่ ถือเป็นหัวใจหลักของการทำงาน เป็นตัวกำหนดทิศทาง และลักษณะของการเข้าให้ความช่วยเหลือร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ในสถานการณ์โควิด การพิจารณาโอกาสในสถานประกอบการ ในช่องทางการตลาด และในสายอุปทาน เช่น การบริจาค และการอาสาในหมู่พนักงาน ซึ่งมักจะเป็นกิจกรรมแรกๆ ที่เกิดขึ้นในระยะของการช่วยเหลือ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม เพื่อชักนำให้เกิดสภาพแวดล้อมในการทำงานร่วมกันและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งบทบาทหลังนี้ จะสามาถขยายผลด้วยการแสดงคำมั่นอย่างจริงจังต่อการร่วมฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ

ขณะที่สมาคมการค้า สภาอุตสาหกรรม หอการค้า และการรวมตัวในรูปแบบอื่นๆ จะมีบทบาทสำคัญจำเพาะในการรับมือกับประเด็นความท้าทายที่อยู่เกินขอบเขต อำนาจ และความสามารถในการทำงานของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง การรวมกลุ่มทำงาน สามารถเป็นได้ทั้งธุรกิจกับธุรกิจ ธุรกิจกับรัฐ ธุรกิจกับประชาสังคม หรือผสมผสานระหว่างกลุ่ม ทั้งนี้ การทำงานวิถีกลุ่ม (Collective Action) จะช่วยเพิ่มกำลังและความชอบธรรมในการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในการรับมือสถานการณ์ และการฟื้นฟูหลังสถานการณ์คลี่คลาย

อย่างไรก็ดี ความช่วยเหลือจำเพาะที่แต่ละบริษัทและแต่ละสมาคมธุรกิจในช่วงสถานการณ์ จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ

สาขาอุตสาหกรรม และชนิดของสินค้า บริการ ทรัพยากร และทักษะที่มีอยู่
รูปแบบ ขนาด และโครงสร้างผู้ถือหุ้นของธุรกิจ
ถิ่นที่ตั้ง ที่ต้องคำนึงถึงการดำเนินงานของทั้งสำนักงานใหญ่และสำนักงานในท้องถิ่น นอกเหนือจากประเด็นทางวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
จำนวนบริษัทที่เกี่ยวข้อง อาทิ การคำนึงถึงการดำเนินงานเฉพาะองค์กรในห่วงโซ่ธุรกิจของตนเอง หรือผ่านมูลนิธิที่องค์กรจัดตั้งขึ้น หรือร่วมกับบริษัทอื่น ภาคีอื่น เช่น รัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ

บทบาทของภาคธุรกิจในระยะฟื้นฟูหลังสถานการณ์คลี่คลาย มีความสำคัญยิ่ง และไม่ได้ส่งผลเฉพาะกับการทำธุรกิจตามปกติเท่านั้น แต่การดำเนินบทบาทเหล่านี้ยังสามารถนำไปสู่การสนับสนุน (และชี้นำ) การทำงานขององค์กรในหลายขั้นตอนจากนี้ไป

จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ได้ชี้ให้เห็นความจำเป็นของการวางแผนรับมือสถานการณ์ด้านสุขภาพที่คล้ายคลึงกันในอนาคต รวมไปถึงการตระเตรียมบทบาททางธุรกิจเฉพาะสาขา ที่จำเป็นต่อการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและระดับท้องถิ่น การกำหนดบทบาทของภาคธุรกิจที่มีส่วนในการฟื้นฟูและสร้างผลกระทบในวงกว้าง ตลอดจนการสนับสนุนให้ธุรกิจดำเนินไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, June 07, 2020

SDG Impact Company: บริษัทผลัดเปลี่ยนโลก

นับจากที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ได้ถูกประกาศโดยสหประชาชาติให้นานาประเทศ ได้นำไปใช้เป็นเป้าหมายในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีทุกภาคส่วนร่วมดำเนินการ ภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทจดทะเบียน ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียที่ต้องรับผิดชอบต่อการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรมนุษย์ในสัดส่วนที่สูง ต่างแสดงเจตนารมณ์และบทบาทที่จะมีส่วนในการร่วมตอบสนองต่อ SDGs ให้บรรลุผล รวมทั้งต้องการที่จะแสดงให้เห็นถึงผลกระทบและความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมและวัดผลได้

เพื่อให้สอดรับกับความเคลื่อนไหวดังกล่าว องค์การสหประชาชาติ โดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (International Standards of Accounting and Reporting: ISAR) ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) ซึ่งมีสำนักงานการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ ได้เผยแพร่ แนวทางตัวบ่งชี้การดำเนินงานหลัก (Guidance on Core Indicators: GCI) สำหรับกิจการเพื่อรายงานการดำเนินการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้มีการกำหนดตัวชี้วัดหลักสำหรับตอบสนอง SDGs จำนวน 15 รายการ ในสี่ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านธรรมาภิบาล

ความริเริ่มของ ISAR มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะทลายข้อจำกัดของการแสดงให้เห็นถึงการตอบสนองขององค์กรธุรกิจต่อ SDGs ซึ่งในหลายกรณี ไม่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งที่องค์กรดำเนินการ กับเป้าหมาย SDGs ที่เชื่อมโยงไปถึง เป็นเพียงความพยายามในการจัดให้เข้าพวก ด้วยชื่อหรือหัวข้อที่อนุมานเองว่าน่าจะมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เชื่อมโยง มิได้ตอบโจทย์เป้าหมายตามจริง

รวมทั้งการขจัดอุปสรรคสำคัญ เมื่อองค์กรธุรกิจพยายามที่จะตอบโจทย์ให้ตรงกับเป้าหมาย โดยลงไปพิจารณารายละเอียดของ SDGs ในระดับตัวชี้วัด (Indicator-level) แต่กลับพบว่า ตัวชี้วัด SDGs นั้นๆ นำมาใช้ไม่ได้ (Not applicable) กับภาคธุรกิจ อาทิ เป็นตัววัดที่กำหนดให้ดำเนินการโดยรัฐ จึงไม่สามารถอ้างอิงได้เต็มปากว่า สิ่งที่องค์กรดำเนินการและต้องการเปิดเผยข้อมูลให้มีความเชื่อมโยงไปสู่ SDGs ข้อดังกล่าว สามารถตอบสนองต่อ SDGs เป้านั้นได้จริง แม้ว่าชื่อหรือหัวข้อดูจะมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ GCI จึงได้ถูกพัฒนาขึ้น และนำมาใช้เป็นเครื่องยืนยันถึงสถานะความเป็นกิจการ ที่มีส่วนในการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรธุรกิจ และยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงการดำเนินงานขององค์กร ที่มีส่วนในการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับตัวชี้วัด (Indicator-level SDGS) ซึ่งมีความคล้องจองกับข้อมูล SDGs ที่รัฐบาลจัดเก็บในระดับประเทศ และใช้รายงานต่อสหประชาชาติด้วย

ในประเทศไทย ได้มีการนำ GCI ที่พัฒนาโดย ISAR มาใช้เป็นเกณฑ์ในการตรวจยืนยัน (Validate) การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ตามตัวชี้วัดหลัก 15 รายการ (33 ตัวชี้วัด) เพื่อให้การรับรอง (Certify) เป็นกิจการที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ SDG Impact Company โดยที่กิจการจะต้องมีคะแนนปรากฏทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านธรรมาภิบาล โดยไม่มีด้านใดด้านหนึ่งที่ปราศจากคะแนน

ตัวอย่างของกิจการในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองให้อยู่ในบัญชีรายชื่อ SDG Impact Company ได้แก่ บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) หรือ TTW ซึ่งได้รับการประเมินผลกระทบที่มีต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับ GOLD CLASS จากการตรวจยืนยันตามเกณฑ์ GCI ของ ISAR โดยได้รับคะแนนด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล เกินสองในสามของคะแนนเต็มในทุกด้าน

องค์กรธุรกิจที่สนใจนำแนวทาง GCI ของ ISAR มาดำเนินการ สามารถศึกษารายละเอียดได้จากหนังสือ “Corporate SDG Impact: From Purpose to Performance” ที่สถาบันไทยพัฒน์จัดทำขึ้น โดยอ้างอิงจากแนวทางดังกล่าว ซึ่งสามารถดาวน์โหลดทางเว็บไซต์ https://thaipat.org (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, May 24, 2020

ธุรกิจกับการมีส่วนร่วมในสถานการณ์โควิด

ในช่วงสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ปฏิเสธไม่ได้ว่า บทบาทของภาคธุรกิจ ในฐานะหนึ่งในภาคส่วนที่สำคัญของสังคม สามารถที่จะระดมทรัพยากรเพื่อใช้ในการช่วยเหลือ ทั้งการมอบเงินบริจาค อาหาร เวชภัณฑ์ และวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับมือกับสถานการณ์ ซึ่งมีมูลค่ารวมกันเป็นหลักพันล้านบาทได้ในชั่วระยะเวลาสั้นๆ

ประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่ช่วงที่สถานการณ์โควิดกำลังคลี่คลาย จากนี้ไป บริษัทต่างๆ ทั้งที่ได้รับและไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ครั้งนี้ จะมีกิจกรรมทางธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการฟื้นฟูที่หลากหลาย แตกต่างกันไปในแต่ละกิจการ

ธุรกิจจำต้องจัดสรรการดำเนินงานให้มีความสอดคล้องลงตัวกับสถานการณ์ที่ดำเนินไปในแต่ละระยะ มีการสร้างให้เกิดความสมดุลระหว่างการดำเนินธุรกิจและการช่วยเหลือสังคม โดยมิให้สังคมเกิดความรู้สึกว่าธุรกิจกำลังแสวงหาประโยชน์จากสถานการณ์

ลักษณะการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนที่สะท้อนออกมาเป็นกิจกรรมทางธุรกิจ มีทั้งในรูปแบบที่ไม่คิดมูลค่า (Pro Bono) หรือคิดเท่าต้นทุน (At Cost) หรือแสวงหากำไร (For Profit) ในแต่ละระยะของสถานการณ์


กิจกรรมทางธุรกิจที่ไม่คิดมูลค่า หรือคิดเท่าต้นทุน หรือแสวงหากำไร ในแต่ละระยะของสถานการณ์โควิด

ในระยะก่อนเกิดโควิด ธุรกิจสามารถที่จะดำเนินกิจกรรมแสวงหากำไรเป็นปกติ ครั้นเมื่อสถานการณ์โควิดเกิดขึ้น ธุรกิจสามารถมีส่วนช่วยเหลือแก่สังคมและผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยไม่คิดมูลค่า สำหรับกิจกรรมในระยะฟื้นฟู ธุรกิจอาจมีส่วนช่วยเหลือด้วยการจำหน่ายสินค้าและบริการโดยคิดค่าใช้จ่ายเท่าต้นทุน ซึ่งการที่ธุรกิจอาสาเข้ามีส่วนร่วมช่วยเหลือในช่วงต้นๆ หลังการเกิดโควิดนั้น จะก่อให้เกิดโอกาสที่นำไปสู่กิจกรรมการสร้างรายได้ในภายหลัง

ทั้งนี้ ผลได้ของธุรกิจจากการมีส่วนร่วมในแต่ละระยะของสถานการณ์โควิด มีตั้งแต่การกระชับความสัมพันธ์ในท้องถิ่น การเสริมสร้างตราสินค้า ชื่อเสียงและคุณค่าขององค์กรให้แข็งแกร่งขึ้น รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรเจ้าหน้าที่ ไปจนถึงโอกาสโดยตรงทางธุรกิจ และการพัฒนาทางธุรกิจ

ผลได้ของธุรกิจจากการมีส่วนร่วมในแต่ละระยะของสถานการณ์โควิด
การรับมือ
(Response)
การฟื้นฟู
(Recovery)
การปรับตัว
(Resilience)
กระชับความสัมพันธ์ในท้องถิ่น
เสริมสร้างตราสินค้า ชื่อเสียง และคุณค่าขององค์กรให้แข็งแกร่งขึ้น
การพัฒนาบุคลากรเจ้าหน้าที่
กระชับความสัมพันธ์ในท้องถิ่น
เสริมสร้างตราสินค้า ชื่อเสียง และคุณค่าขององค์กรให้แข็งแกร่งขึ้น
การพัฒนาบุคลากรเจ้าหน้าที่
โอกาสโดยตรงทางธุรกิจ
กระชับความสัมพันธ์ในท้องถิ่น
เสริมสร้างตราสินค้า ชื่อเสียง และคุณค่าขององค์กรให้แข็งแกร่งขึ้น
การพัฒนาบุคลากรเจ้าหน้าที่
โอกาสโดยตรงทางธุรกิจ
การพัฒนาทางธุรกิจ

แน่นอนว่า “ธุรกิจจะอยู่รอดไม่ได้ หากไม่มีรายได้” แต่ขณะเดียวกัน “ธุรกิจก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ ในสังคมที่ล้มเหลว” การผสมผสานความสามารถในการสร้างผลได้ทางธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเหมาะสมลงตัว จึงเป็นการสร้างคุณค่าร่วมจากการเข้ามีส่วนร่วมขององค์กรธุรกิจในแต่ละระยะของการรับมือสถานการณ์โควิด


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, May 10, 2020

กลยุทธ์ภาคธุรกิจเพื่อต่อกรกับโควิด

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า สถานการณ์โควิด ได้ส่งผลต่อภาคธุรกิจในทุกสาขา และในทุกขนาดของกิจการ บางส่วนได้อานิสงส์ในเชิงบวก โดยมีโอกาสในการขยายตลาดเพิ่มขึ้น ขณะที่อีกหลายส่วนได้รับผลกระทบในเชิงลบ โดยที่มีความรุนแรงสุด คือ การปิดกิจการ

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ระบุว่า ถ้าควบคุมโควิด-19 ได้ ภายในปลายเดือนมิ.ย.นี้ จะมีคนตกงานอยู่ที่ราว 7 ล้านคน แต่ถ้ายืดเยื้อต่อไปถึงเดือนก.ย.และต.ค.ปี 2563 จะมีคนตกงานมากเป็น 10 ล้านคน และกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ จะต้องเกิดการสร้างงานก่อน ซึ่งยังต้องใช้เวลาหลายเดือน อาจถึงปี เฉพาะฟื้นฟู (ฐานเศรษฐกิจ, 8 พ.ค. 63)

นับตั้งแต่ที่โควิดเกิดขึ้น นอกจากกลยุทธ์ทางธุรกิจซึ่งใช้ในภาวะปกติ จะไม่สามารถดำเนินการต่อเนื่องได้ตามที่เคยเป็นแล้ว องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์ฉุกเฉินขึ้น เพื่อใช้ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ไม่ปกติในห้วงเวลาดังกล่าว

กลยุทธ์ภาคธุรกิจเพื่อต่อกรกับโควิด จำต้องถูกออกแบบให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ในแต่ละระยะ ซึ่งจะจำแนกออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ กลยุทธ์การรับมือสถานการณ์โดยทันทีหรือในช่วงสั้น (Response) กลยุทธ์การฟื้นฟูหลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย (Recovery) และกลยุทธ์การปรับตัวสู่ภาวะปกติสืบเนื่องไปในระยะยาว (Resilience)

กลยุทธ์การรับมือสถานการณ์ (Response) จะเกิดขึ้นโดยทันทีหลังการเกิดการแพร่ระบาดและทอดระยะเวลาไปได้หลายสัปดาห์ จุดมุ่งเน้นอยู่ที่การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคในหน่วยงาน การเพิ่มความตระหนักถึงความเสี่ยงในการปนเปื้อนเชื้อ การตรวจคัดกรองพนักงานและผู้มาติดต่อ การสำรวจผู้ร่วมงานที่อยู่ในข่ายสัมผัสโรคเพื่อกักกันและสังเกตอาการ การพิจารณาปิดบริเวณหรือสถานประกอบการชั่วคราว เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค รวมทั้งการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของสถานประกอบการ ในการโทรแจ้งและติดต่อกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อดำเนินการควบคุมโรคตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ในกรณีที่พบพนักงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องยืนยันติดเชื้อโรคโควิด 19 ในสถานประกอบการ ตลอดจนมาตรการในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home)

กลยุทธ์การฟื้นฟูหลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย (Recovery) จะมุ่งเน้นที่การฟื้นสภาพการดำเนินงานทางธุรกิจให้กลับเข้าสู่ระดับที่เป็นปกติหรือใกล้เคียงกับภาวะปกติ รวมทั้งการฟื้นตัวของยอดขาย การเข้าถึงตลาด การจัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์ ช่องทางการจัดจำหน่าย โลจิสติกส์และการจัดส่งสินค้า โดยสิ่งท้าทายสำคัญของกลยุทธ์การฟื้นฟูหลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย คือ การดำเนินต่อไปได้ของสายอุปทาน โดยเฉพาะผู้ส่งมอบหลักที่เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบป้อนสายการผลิตหลักของกิจการ การปรับปรุงข้อตกลงทางธุรกิจที่เกื้อหนุนผู้ส่งมอบและคู่ค้าในห่วงโซ่ธุรกิจที่ถูกกระทบ และการเชื่อมโยงไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเองในระยะยาวและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในห่วงโซ่ธุรกิจ

กลยุทธ์การปรับตัวสู่ภาวะปกติสืบเนื่องไปในระยะยาว (Resilience) จะมุ่งไปยังการปรับตัวทางธุรกิจให้กลับคืนสภาพ ด้วยมาตรการที่คำนึงถึงประเด็นด้านความยั่งยืน โดยหลีกเลี่ยงการสร้างกลไกที่ต้องอาศัยการพึ่งพาจากภายนอกเป็นหลัก เนื่องเพราะประเด็นความยั่งยืนถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้การปรับตัวคืนสู่สภาพปกติเกิดผลสัมฤทธิ์ การให้ความมั่นใจแก่บุคลากรในส่วนของอาชีพและรายได้ การดำเนินการประเมินอุปสงค์ใหม่หลังสถานการณ์แพร่ระบาดสิ้นสุด เนื่องจากสภาพตลาดและรูปแบบหรือพฤติกรรมของลูกค้า อาจมีการเปลี่ยนแปลงและส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานของกิจการที่มีโอกาสปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติใหม่ (New Normal) เป็นต้น


ทั้งนี้ การดำเนินกลยุทธ์ในช่วง Response และช่วง Recovery จะมีส่วนสำคัญต่อการรับมือกับสถานการณ์ เพื่อมิให้ธุรกิจที่ดำเนินอยู่เกิดความชะงักงัน โดยอาศัยแก่นธุรกิจและทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่ เป็นหัวใจหลักของการทำงาน เป็นตัวกำหนดทิศทาง และการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ส่วนการดำเนินกลยุทธ์ในช่วง Resilience จะเป็นตัวกำหนดเส้นทางการพัฒนาใหม่ๆ ทางธุรกิจ ที่จะต้องดำเนินตามในเวลาต่อมา และนำกลับเข้าสู่วิถีทางที่ประกอบด้วยเสถียรภาพ การเติบโต และการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยทั่วไป กรอบเวลาของระยะการรับมือ (Response) จะเป็นหลักสัปดาห์ ส่วนระยะการฟื้นฟู (Recovery) จะอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งปี และเปลี่ยนผ่านไปสู่ช่วงของการปรับตัว (Resilience) โดยใช้เวลาสามปีขึ้นไป สืบเนื่องจนเข้าสู่ช่วงของการพัฒนาในระยะยาว


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, April 26, 2020

15 Checklists แนวปฏิบัติผู้ลงทุนในสถานการณ์โควิด

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบไม่เพียงแต่การดำรงชีวิตและสุขภาพของผู้คนทั่วโลก วิกฤตด้านสาธารณสุข การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และยังรวมไปถึงการทำให้เกิดความผันผวนของตลาดทุนและการลงทุนทั่วโลก

หน่วยงาน PRI ซึ่งเป็นผู้จัดทำและเผยแพร่หลักการลงทุนที่รับผิดชอบในการสนับสนุนของสหประชาชาติ (United Nations-supported Principles for Responsible Investment: PRI) ได้จัดตั้งกลุ่มการร่วมทำงานระดับภาคี (Signatory Participation Group) เพื่อประสานงานและพัฒนาแนวทางการรับมือของผู้ลงทุนสถาบันต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มการรับมือสถานการณ์ต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ในระยะสั้น และกลุ่มการปรับวางระบบด้วยการให้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน


ในกลุ่มแรก เป็นการจัดทำแนวทางที่ผู้ลงทุนควรลงมือดำเนินการโดยทันที เพื่อช่วยลดผลกระทบที่เป็นภยันตราย ด้านวิกฤตสาธารณสุข การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ความไม่เสมอภาคที่เพิ่มสูงขึ้น และประเด็นด้านสุขภาพจิต

ในกลุ่มที่สอง เป็นการจัดทำแนวทางที่ผู้ลงทุนควรลงมือดำเนินการโดยทันที เพื่อช่วยเสริมสร้างระบบการเงินอนาคตที่พร้อมรับภัยคุกคามทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับประเด็น ESG และให้ลำดับความสำคัญกับการสร้างผลลัพธ์ทางสิ่งแวดล้อมและสังคมในเชิงบวก

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะภาคีที่เข้าร่วมลงนามรับรองหลักการของ PRI ได้ประมวลแนวทางรับมือของผู้ลงทุนสถาบันต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยอ้างอิงจากเอกสารของ PRI ที่มีชื่อว่า How Responsible Investors Should Respond To The COVID-19 Coronavirus Crisis สำหรับให้ผู้ลงทุนสถาบันในประเทศไทยได้นำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติเพื่อดูแลจัดการประเด็น ESG ในระยะสั้น และปรับวางแนวการฟื้นตัวที่ให้ผลลัพธ์ทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ยั่งยืนในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รายการตรวจสอบ หรือ Checklist 15 รายการ ที่เป็นแนวปฏิบัติสำหรับผู้ลงทุนสถาบันในการรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตามแนวทาง PRI ประกอบด้วย

แนวปฏิบัติที่ 1 สานสัมพันธ์กับบริษัทที่ไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยของแรงงาน และ/หรือดูแลความมั่นคงทางการเงินของกิจการ

แนวปฏิบัติที่ 2 ใช้ข้อมูล ESG จากแหล่งภายนอกที่น่าเชื่อถือ เพื่อยกเป็นข้อกังวลไปยังบริษัทซึ่งมีวิธีปฏิบัติที่ต่ำกว่าเกณฑ์

แนวปฏิบัติที่ 3 ผลักดันให้มีการจัดการด้านการเงินที่รับผิดชอบ ซึ่งเอื้อให้บริษัทดำเนินการจัดลำดับความสำคัญกับพนักงาน ผู้รับจ้าง ผู้ส่งมอบ และสุขภาวะของบริษัทในระยะยาว

แนวปฏิบัติที่ 4 สานสัมพันธ์กับบริษัทที่ใช้การปิดบังวิกฤตเพื่อเลี่ยงการถูกตรวจสอบ หรือฉวยโอกาสตัดสินใจหรือประกาศในเรื่องที่โดยปกติต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบ

แนวปฏิบัติที่ 5 ประเมินความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบอุปสงค์-อุปทานที่ไปเพิ่มความเสี่ยงในประเด็นด้านอื่นให้รุนแรงขึ้น เพื่อยกเป็นข้อกังวลไปยังบริษัทที่ลงทุนซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

แนวปฏิบัติที่ 6 ปรับลำดับความสำคัญของการสานสัมพันธ์กับบริษัทในช่วงสถานการณ์ โดยเน้นที่ประเด็นโควิด 19 เหนือประเด็นอื่นในระหว่างการจัดการวิกฤต

แนวปฏิบัติที่ 7 ปรึกษาหารือกับบริษัทและสาขาอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ต่อแนวทางการรับมือกับสถานการณ์ และเปิดโอกาสให้บริษัทได้ใช้ความสามารถที่จะจัดการตามแนวทางของกิจการ

แนวปฏิบัติที่ 8 แสดงการสนับสนุนอย่างเปิดเผยต่อความช่วยเหลือของรัฐที่ทำให้เกิดการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและเหมาะสม

แนวปฏิบัติที่ 9 ใช้สิทธิออกเสียงในฐานะผู้ถือหุ้น ผลักดันบริษัทให้ลงมือดำเนินการเพื่อส่วนรวมอย่างเหมาะสม โดยที่ไม่กระทบต่อการใช้ทรัพยากรของบริษัทสำหรับการจัดการวิกฤต

แนวปฏิบัติที่ 10 ใช้เทคโนโลยีหรือช่องทางออนไลน์ในการเข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี เพื่อควบคุมดูแล (Oversight) บริษัทที่ลงทุนได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง

แนวปฏิบัติที่ 11 เน้นย้ำประเด็นความสำคัญที่บริษัทมิอาจเพิกเฉย นอกเหนือจากเรื่องโควิด 19 ทั้งประเด็นความไม่เสมอภาคที่เพิ่มสูงขึ้น และภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ

แนวปฏิบัติที่ 12 ให้การสนับสนุนบริษัท และลูกหนี้ ด้วยการให้ความยืดหยุ่นในข้อตกลงทางการเงิน และการให้การสนับสนุนทางตรงเพิ่มเติม หากเป็นไปได้

แนวปฏิบัติที่ 13 เข้าร่วมสนับสนุนรัฐบาลในการให้ทุนสำหรับรับมือกับสถานการณ์ตามโอกาสที่เหมาะสม เพื่อช่วยสอดประสานให้เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัว

แนวปฏิบัติที่ 14 ปรับมุมมองระยะยาวในการดูแลการลงทุน (Stewardship) ให้อยู่ในแนวเดียวกับมุมมองระยะยาวในการพิจารณาตัดสินใจลงทุน

แนวปฏิบัติที่ 15 ทบทวนสถานะและการซื้อขายหลักทรัพย์ รวมทั้งที่กระทำผ่านผู้จัดการลงทุนภายนอก เพื่อให้แน่ใจว่าการลงทุนได้ถูกปรับให้ตอบโจทย์ความจำเป็นทางเศรษฐกิจโดยรวมและในระยะยาว

ผู้ลงทุนสถาบันและหน่วยงานที่สนใจ สามารถศึกษารายละเอียดแนวทางรับมือของผู้ลงทุนสถาบันต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ Investor Response Guidance on COVID-19 เพิ่มเติมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทางเว็บไซต์ www.thaipat.org


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, April 12, 2020

7 บทบาทผู้ลงทุนในยุคโควิดระบาด

สถานการณ์แพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ได้กลายเป็นภัยคุกคามร้ายแรง ไม่เฉพาะในมิติสุขภาพโลก แต่ยังส่งผลทั้งในมิติชุมชน มิติเศรษฐกิจ และมิติการลงทุน

ภายใต้หลักการดูแลรักษาทุนในระยะยาว ผู้ลงทุนสามารถและควรลงมือช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบที่เป็นภยันตราย ทั้งผลทางตรงด้านสาธารณสุข ความรุนแรงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่สืบเนื่องจากการระบาดใหญ่ (Pandemic) และความไม่เสมอภาคทางสังคมที่ยิ่งถลำลึก รวมทั้งปัญหาสุขภาพจิตที่มีสาเหตุจากผลกระทบดังกล่าว

วิกฤตโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุนและผู้รับประโยชน์อย่างถ้วนหน้า โดยไม่จำกัดรูปแบบของการถือครอง กลยุทธ์ที่ใช้ หรือบทบาทที่ดำรงอยู่ในห่วงโซ่การลงทุน การรับมือกับวิกฤตจึงต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของบูรณภาพทั้งระบบ และผลตอบแทนทั้งมวลในระยะยาว มากกว่าการให้ความสำคัญกับผลประกอบการของบริษัทที่เข้าไปเกี่ยวข้อง

การไหลออกของเงินลงทุนในช่วงสถานการณ์ อาจมีผลทำให้ผู้ลงทุนสถาบันที่จัดการแทนเจ้าของทรัพย์สิน (Asset Owners) และผู้ลงทุนสถาบันที่ให้บริการจัดการเงินลงทุน (Asset Managers) ต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านสภาพคล่อง รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลงจากการไหลออกของเงินลงทุนและการตกต่ำของมูลค่าตลาดโดยรวม

กระนั้นก็ตาม ผู้ลงทุนสถาบันที่ยึดหลักของการลงทุนที่รับผิดชอบ (Responsible Investment) สามารถและพึงใช้บทบาทของตนที่มีต่อบริษัทและรัฐบาล ผ่านกระบวนการตัดสินใจลงทุน สนับสนุนบริษัทในวิถียั่งยืนให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ ภายใต้การคำนึงถึงประโยชน์ด้านสาธารณสุข และสมรรถนะด้านเศรษฐกิจในระยะยาว แม้จะต้องถูกจำกัดผลตอบแทนในระยะสั้นก็ตาม

หน่วยงาน PRI ซึ่งเป็นผู้จัดทำและเผยแพร่หลักการลงทุนที่รับผิดชอบในการสนับสนุนของสหประชาชาติ (United Nations-supported Principles for Responsible Investment: PRI) ได้ทำการประมวลแนวทางการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ผู้ลงทุนสถาบัน สามารถลงมือดำเนินการได้ทันที ไว้เป็น 7 แนวทาง ประกอบด้วย

แนวทางที่ 1: สานสัมพันธ์กับบริษัทที่ไม่สามารถจัดการกับวิกฤตที่เกิดขึ้น ผู้ลงทุนควรสานสัมพันธ์กับบริษัทที่ไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยของแรงงาน และ/หรือความมั่นคงทางการเงินของกิจการ และบริษัทซึ่งยังคงให้ลำดับความสำคัญที่ค่าตอบแทนผู้บริหาร และ/หรือผลตอบแทนระยะสั้นแก่ผู้ถือหุ้น

แนวทางที่ 2: สานสัมพันธ์ในจุดที่ภัยอื่นถูกปกปิด ทิ้งไว้เบื้องหลัง หรือทำให้เลวร้ายลงด้วยวิกฤตที่เกิดขึ้น ผู้ลงทุนควรสานสัมพันธ์กับบริษัทและรัฐบาลที่ใช้การปิดบังวิกฤตเพื่อเลี่ยงการถูกตรวจสอบ หรือในจุดที่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของอุปทานและอุปสงค์ และห่วงโซ่อุปทาน ไปเพิ่มความเสี่ยงในประเด็นด้านอื่นให้รุนแรงขึ้น

แนวทางที่ 3: ปรับลำดับความสำคัญของการสานสัมพันธ์ในประเด็นอื่น ผู้ลงทุนควรปรับลำดับความสำคัญของการสานสัมพันธ์กับบริษัท ที่อยู่ในระหว่างการจัดการวิกฤตโดยเน้นที่ประเด็นโควิด 19 มากกว่าประเด็นอื่นในช่วงสถานการณ์

แนวทางที่ 4: สนันสนุนอย่างเปิดเผยต่อการรับมือทางเศรษฐกิจโดยรวม ผู้ลงทุนควรใช้เสียงในฐานะมหาชน ผลักดันรัฐบาลและบริษัทให้ลงมือดำเนินการเพื่อส่วนรวมอย่างเหมาะสม

แนวทางที่ 5: มีส่วนร่วมในการประชุมสามัญประจำปีเสมือนจริง (Virtual AGMs) ผู้ลงทุนควรใช้ช่องทางเสมือนจริงในการเข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี เพื่อควบคุมดูแล (Oversight) บริษัทที่ลงทุนได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง

แนวทางที่ 6: พร้อมรับคำขอความช่วยเหลือต่อการสนับสนุนทางการเงิน ผู้ลงทุนควรเปิดช่องให้การสนับสนุนบริษัท ลูกหนี้ และรัฐบาล ด้วยการให้ความยืดหยุ่นในข้อตกลงทางการเงิน และด้วยการให้การสนับสนุนทางตรงเพิ่มเติม หากเป็นไปได้

แนวทางที่ 7: คงจุดเน้นที่มุมมองระยะยาวในการพิจารณาตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรปรับมุมมองระยะยาวในการดูแลการลงทุน (Stewardship) ให้อยู่ในแนวเดียวกับมุมมองระยะยาวในการพิจารณาตัดสินใจลงทุน

สำหรับรายละเอียดการดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าว สถาบันไทยพัฒน์อยู่ในระหว่างจัดทำเอกสาร แนวทางรับมือของผู้ลงทุนต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19: Investor Response Guidance เพื่อเผยแพร่ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันได้ใช้ประโยชน์ในช่วงสถานการณ์ ภายในเร็ววันนี้


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, March 29, 2020

โควิด 19: ESG กระทบโลก กระเทือนธุรกิจ

ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน ในการใช้เป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์และพิจารณาตัดสินใจลงทุนมาระยะหนึ่งแล้ว

ประเด็นด้าน ESG จัดเป็นข้อมูลประเภทที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน ที่สามารถบ่งชี้ถึงโอกาสและความเสี่ยง รวมทั้งขีดความสามารถขององค์กรที่มีต่อผลประกอบการในอนาคต นอกเหนือจากข้อมูลทางการเงินที่สะท้อนผลประกอบการที่ผ่านมาของบริษัท

ในประเด็นด้าน ESG ที่สมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges) แนะนำให้บริษัทจดทะเบียนมีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการ ในฐานะหนึ่งในตัวชี้วัดพื้นฐาน (Baseline Indicators) ได้แก่ ประเด็นสุขภาพโลก (Global Health) ซึ่งหมายถึง ปัญหาหรือข้อกังวลด้านสุขภาพ ที่ข้ามพรมแดน หรือผลจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนอกพรมแดน และเกินขอบเขตและความสามารถของรัฐใดรัฐหนึ่งที่จะดำเนินการได้สำเร็จ ต้องการกลไกที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก เพื่อจัดการปัญหาสุขภาพและปัจจัยกำหนดปัญหาเหล่านั้น เช่น โรคติดเชื้อข้ามพรมแดน (อาทิ MERS, SARS, COVID-19) และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ก่อให้เกิดปัญหาข้ามพรมแดน รวมถึงปัญหาจากผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ บุหรี่ เหล้า เป็นต้น

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน ได้กระจายตัวไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวางสู่หลายประเทศทั่วโลก โดยมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จัดเป็นหนึ่งในประเด็นด้าน ESG ที่บริษัทจำเป็นต้องหามาตรการเร่งด่วนในการรับมือกับสถานการณ์ เนื่องจากส่งผลกระทบในวงกว้างต่อผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ ทั้งเรื่องความปลอดภัยของพนักงาน พฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงสถานการณ์ ความไม่ต่อเนื่องในห่วงโซ่อุปทาน และการหยุดชะงักของธุรกิจที่ส่งผลต่อรายได้และบรรทัดสุดท้าย (คือ กำไร) ของกิจการ

โควิด 19 ถือเป็นประเด็น ESG ที่เป็นสาระสำคัญและมีนัยสำคัญทางการเงิน (Financially Material Topic) สำหรับองค์กร ที่สามารถส่งผลกระทบได้ในเชิงที่เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงของธุรกิจ

ตัวอย่างธุรกิจซึ่งได้รับผลกระทบในแง่ของความเสี่ยง ได้แก่ ธุรกิจการบิน โรงแรม นำเที่ยว สถานบันเทิง ร้านอาหาร (ประเภทนั่งทาน) รวมทั้งธุรกิจรับจัดงานและนิทรรศการต่างๆ เป็นต้น ตัวอย่างธุรกิจซึ่งได้รับผลกระทบในแง่ของโอกาส ได้แก่ ธุรกิจจัดส่งสินค้า (Delivery) โรงพยาบาล ประกันสุขภาพ ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อและบริการทำความสะอาดสถานที่ให้ปลอดเชื้อ รวมทั้งธุรกิจที่ใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์และผู้ให้บริการเครื่องมือสำหรับการทำธุรกรรมออนไลน์ อาทิ การประชุมทางไกล เป็นต้น


จากการวิเคราะห์ของแมคคินซี่ ร่วมกับ ออกซฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ในกรณีที่การรับมือด้านสาธารณสุขมีประสิทธิผล แต่การแพร่ระบาดยังคงขยายตัวในระดับภูมิภาค ขณะที่นโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจที่ออกมารองรับส่งผลในระดับหนึ่ง จะทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า “Muted Recovery” หรือ การฟื้นคืนทรงตัว ไม่ขยับไปไหนเป็นระยะเวลานาน ตามฉากทัศน์นี้ จะฉุดให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลก หรือ จีดีพีโลก ในปี 2563 ติดลบ 4.7% และคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นคืนกลับมาสู่ภาวะปกติได้อีกครั้ง ในไตรมาสที่สาม ของปี 2565 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า

จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่จำนวนยอดผู้ติดเชื้อยังอยู่ในอัตราที่เพิ่มขึ้น แสดงถึง ภาวะของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังมิได้ขึ้นสู่จุดสูงสุดของสถานการณ์ นั่นหมายความว่า ความชะงักงันทางเศรษฐกิจ ก็ยังมิได้ดิ่งลึกลงถึงจุดต่ำสุดเช่นกัน

ข้อกำหนดที่ออกตามหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อาทิ การห้ามหรือจำกัดการเข้าออกสถานที่ การเดินทาง การเคลื่อนย้ายข้ามเขต ข้ามพื้นที่ การควบคุมการใช้ยานพาหนะและเส้นทางจราจร เป็นมาตรการที่ส่งผลไปยังการหดตัวของปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และการลงทุนของภาคเอกชนอย่างฉับพลันทันที โดยธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ในปี 2563 จะติดลบ 5.3%

โควิด 19 ได้กลายเป็นประเด็น ESG ที่ทำให้ทั้งโลกได้รับผลกระทบทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระเทือนตามมาเป็นลูกโซ่ ทั้งธุรกิจข้ามชาติ บริษัทขนาดใหญ่ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไปจนถึงร้านค้า หาบเร่ แผงลอย โดยถ้วนทั่วทุกหัวระแหง จึงขอให้ผู้ประกอบการทุกท่าน เตรียมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างมีสติและด้วยความรอบคอบระมัดระวังนับจากนี้ไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, March 15, 2020

Checklist ธุรกิจ รับมือ COVID-19

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้กระจายตัวไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวางสู่หลายประเทศทั่วโลก โดยมีความรุนแรงและยังไม่มีวี่แววว่าจะคลี่คลายลงในระยะเวลาอันใกล้ องค์กรในภาคธุรกิจจำเป็นต้องมีแผนเผชิญเหตุไว้ดูแลกิจการของตนให้ผ่านพ้นสถานการณ์ และดูแลผลกระทบให้อยู่ในวงจำกัด


สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งเน้นงานส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ ได้จัดทำแนวทางรับมือของภาคธุรกิจต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เผยแพร่สำหรับให้องค์กรได้นำไปใช้ดูแลกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญของกิจการในช่วงสถานการณ์

เอกสาร Business Response Guidance on COVID-19 สำหรับองค์กร ประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงานซึ่งครอบคลุมกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องหลัก 6 กลุ่ม และ Checklist สิ่งที่ควรดำเนินการ 15 รายการ ที่จะช่วยให้องค์กรสามารถจัดทำแผนรองรับสถานการณ์ได้อย่างรอบด้าน ดังนี้

ด้านพนักงาน ประกอบด้วย (1) ศึกษาและดำเนินการตามคำแนะนำการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับสถานประกอบการ สถานที่ทำงาน ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (2) จัดให้มีช่องทางการติดต่อสื่อสารสองทางกับพนักงาน และมาตรการรองรับที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการในสถานประกอบการ สถานที่ทำงาน (3) จัดให้มีการตรวจคัดกรองพนักงานและผู้มาติดต่อ พิจารณาจัดตั้งทีมเผชิญเหตุในกรณีฉุกเฉิน (สำหรับองค์กรที่มีพนักงานทำงานหนาแน่น หรือมีการเดินทางไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มเสี่ยง)

ด้านลูกค้า ประกอบด้วย (4) ศึกษาและดำเนินการตามคำแนะนำการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับผู้ประกอบการ (โรงแรม ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว นวดหรือสปา) คำแนะนำ การป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับการจัดการประชุม สัมมนา หรือกิจกรรมอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งคำแนะนำของหน่วยงานผู้กำกับดูแลในกลุ่มอุตสาหกรรมหรือหมวดธุรกิจที่ตนสังกัด (ถ้ามี) (5) สื่อสารให้ข้อมูลกับลูกค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าและบริการ การรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ บริการจัดส่งสินค้าไปยังปลายทางตามที่ลูกค้าต้องการ และการทำธุรกรรมระยะไกลกับลูกค้า หรือ ณ สถานที่ที่ลูกค้าสะดวก

ด้านคู่ค้า ประกอบด้วย (6) ประเมินผลกระทบในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะผู้ส่งมอบหลักที่เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบป้อนสายการผลิตหลัก พร้อมจัดทำแนวทางและมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น (ถ้ามี) (7) ปรับปรุงข้อตกลงหรือทุเลาบางข้อสัญญากับผู้ส่งมอบ รวมทั้งการพิจารณาชำระเงินคงค้างหรือเงินล่วงหน้าที่ช่วยให้ธุรกิจของผู้ส่งมอบฟื้นตัวในระยะสั้น (8) ดำเนินการประเมินอุปสงค์ใหม่หลังสถานการณ์สิ้นสุด เพื่อใช้วางแผนการบริหารจัดการอุปทาน บนข้อสันนิษฐานสภาพตลาดและรูปแบบหรือพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ด้านหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย (9) ศึกษาและปฏิบัติตามประกาศและคำสั่งของกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค ในส่วนที่องค์กรมีความเกี่ยวข้อง (10) ติดตามรายงานสถานการณ์รายวัน รวมทั้งคำถามที่พบบ่อย (FAQs) โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

ด้านชุมชน ประกอบด้วย (11) พิจารณาโอกาสและความเป็นไปได้ในการนำ Core Business ขององค์กร มาใช้ในการช่วยเหลือในช่วงสถานการณ์ นอกเหนือจากกิจกรรมการบริจาคหรือการอาสาสมัคร (12) ใช้ประโยชน์จากระบบโลจิสติกส์ที่องค์กรมีอยู่ ในการเข้าถึงหรือกระจายสินค้าที่จำเป็นและขาดแคลนให้แก่ชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือหรือกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงสถานการณ์

ด้านผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย (13) ทบทวนแผนการใช้จ่ายเงิน โดยเฉพาะการรักษาสภาพคล่องทางการเงินในช่วงสถานการณ์ที่มีความผันแปรสูง รวมทั้งมาตรการทางการเงินต่างๆ ที่จำเป็นในระยะสั้น (14) ดำเนินการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Testing) เพื่อตรวจยืนยันความเข้มแข็งทางการเงิน และพิจารณาจัดทำแผนรองรับสถานการณ์ (Contingency Plan) ให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว (15) มีการรายงานให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบถึงแนวทางการจัดการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

องค์กรธุรกิจและหน่วยงานที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดเอกสาร “Business Response Guidance on COVID-19” (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทางเว็บไซต์ www.thaipat.org


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]