Thursday, September 24, 2015

เป้าหมายโลกต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 และการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 23 กันยายน -1 ตุลาคม 2558

สาระสำคัญในวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 สหประชาชาติกำหนดให้ภายในปี ค.ศ. 2030 จะต้องขจัดความยากจนและความหิวโหยในทุกพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ สร้างสังคมที่มีความสงบสุข ยุติธรรม และครอบคลุม ปกป้องสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ รวมทั้งเสริมพลังแก่สตรีและเด็กผู้หญิง และปกป้องโลกและทรัพยากรธรรมชาติ


เป้าหมายสำคัญในการดำเนินงาน 17 ประการ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล (Global Goals for Sustainable Development) ประกอบด้วย

เป้าหมายที่ 1ขจัดความยากจนในทุกรูปแบบ ทุกที่
เป้าหมายที่ 2ขจัดความหิวโหย บรรลุเป้าความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่ดีขึ้น และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน
เป้าหมายที่ 3ทำให้แน่ใจถึงการมีสุขภาวะในการดำรงชีวิต และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ
เป้าหมายที่ 4ทำให้แน่ใจถึงการได้รับการศึกษาที่ได้คุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน
เป้าหมายที่ 5บรรลุถึงความเท่าเทียมทางเพศ และเสริมสร้างพลังให้แก่สตรีและเด็กหญิงทุกคน
เป้าหมายที่ 6ทำให้แน่ใจว่าเรื่องน้ำและการสุขาภิบาลได้รับการจัดการอย่างยั่งยืน และมีสภาพพร้อมใช้สำหรับทุกคน
เป้าหมายที่ 7ทำให้แน่ใจว่าทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานที่ทันสมัย ยั่งยืน เชื่อถือได้ ตามกำลังซื้อของตน
เป้าหมายที่ 8ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึงให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ส่งเสริมศักยภาพการมีงานทำและการจ้างงานเต็มที่ และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน
เป้าหมายที่ 9พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและทั่วถึง และสนับสนุนนวัตกรรม
เป้าหมายที่ 10ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ
เป้าหมายที่ 11ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน
เป้าหมายที่ 12ทำให้แน่ใจถึงการมีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
เป้าหมายที่ 13ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น
เป้าหมายที่ 14อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เป็นไปอย่างยั่งยืน
เป้าหมายที่ 15พิทักษ์ บูรณะ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หยุดยั้งและฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของที่ดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
เป้าหมายที่ 16ส่งเสริมให้สังคมมีความเป็นปกติสุข ไม่แบ่งแยก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการเข้าถึงความยุติธรรมโดยถ้วนหน้า และสร้างให้เกิดสถาบันอันเป็นที่พึ่งของส่วนรวม มีประสิทธิผล และเป็นที่ยอมรับในทุกระดับ
เป้าหมายที่ 17เสริมสร้างความเข้มแข็งในวิธีการปฏิบัติให้เกิดผล และสร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

กล่าวได้ว่า การดำเนินงานของรัฐบาลภายใต้แนวทางการพัฒนาประเทศ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” มีนัยที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าว

อย่างไรก็ดี รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนเป็นเป้าหมายหลัก โดยน้อมนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและยึดหลักประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนจากทุกภาคส่วนได้ประโยชน์อย่างเท่าเทียม ต้องลดความเหลื่อมล้ำทั้งมิติทางสังคมและเศรษฐกิจ ส่งเสริมบทบาทของสตรีในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ สร้างและพัฒนาคนให้เรียนรู้จากประสบการณ์เพื่อตอบสนองต่อสิ่งท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งภายในและนอกประเทศ ทั้งภัยธรรมชาติ โรคระบาดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

ประเทศไทย มีศักยภาพและความพร้อมที่จะดำเนินการตามเป้าหมาย “วาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015” ซึ่งจะเป็นทิศทางการพัฒนาทั้งของไทยและของโลกต่อจากนี้...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, September 17, 2015

วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030

สัปดาห์หน้า คณะผู้แทนไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ จะเดินทางไปร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

หนึ่งในภารกิจที่สำคัญสำหรับการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ การรับรองร่างเอกสารผลการประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำ เพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 ที่ชื่อว่า “Transforming Our World: The 2030 Agenda for Sustainable Development

ร่างเอกสารวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ฉบับนี้ จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อมุ่งขจัดความยากจนในทุกมิติและทุกรูปแบบ สานต่อภารกิจที่ยังไม่บรรลุผลสำเร็จภายใต้เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) และเน้นการพัฒนาที่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 มิติที่เอื้อต่อกันและแบ่งแยกมิได้


สาระสำคัญของร่างเอกสารฉบับนี้ ประกอบด้วยส่วนที่เป็นอารัมภบท ปฏิญญา เป้าประสงค์การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป้าหมาย กลไกการดำเนินงาน การติดตามและทบทวนผล

ในส่วนที่เป็นอารัมภบท (Preamble) เป็นการสื่อสารวาระการพัฒนา 2030 โดยกล่าวถึงการขจัดความยากจนและการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้หลักการ 5 Ps ได้แก่ ประชาชน (People) โลก (Planet) ความมั่งคั่ง (Prosperity) สันติภาพ (Peace) และความเป็นหุ้นส่วน (Partnership)

ในส่วนที่เป็นปฏิญญา (Declaration) กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของวาระการพัฒนา 2030 และความมุ่งมั่นในการขจัดความยากจนในทุกมิติและทุกรูปแบบ บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ

ในส่วนที่เป็นเป้าประสงค์การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป้าหมาย (Sustainable Development Goals and Targets – SDGs & Targets) ประกอบด้วยเป้าประสงค์ (goals) 17 ข้อ และเป้าหมาย (targets) 169 ข้อ ครอบคลุมการพัฒนาที่ยั่งยืนในทั้ง 3 มิติ

ในส่วนที่เป็นกลไกการดำเนินงาน (Means of Implementation – Mol) และหุ้นส่วนระดับโลก (Global Partnership) กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา โดยครอบคลุมการระดมทุนจากภาครัฐภายในประเทศ การระดมทุนจากภาคเอกชนทั้งในและนอกประเทศ การให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance – ODA) การเสริมสร้างขีดความสามารถและการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นบทบาทการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วน

ในส่วนที่เป็นการติดตามและทบทวนผล (Follow-up and review) กล่าวถึงการติดตามความก้าวหน้า ความสำเร็จ ความท้าทาย และช่องว่างในการดำเนินงาน โดยมีการทบทวนความคืบหน้าอย่างสม่ำเสมอและทั่วถึงในทุกระดับ ทั้งในระดับชาติ โดยส่งเสริมให้ใช้เครื่องมือทางนโยบายที่มีอยู่ อาทิ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงการติดตามผลในระดับท้องถิ่น ในระดับภูมิภาค โดยให้ประเทศในภูมิภาคหารือร่วมกันและระบุถึงกลไกที่เหมาะสม โดยอาจใช้กลไกที่มีอยู่แล้วในภูมิภาค และในระดับโลก โดยใช้เวทีการหารือทางการเมืองระดับสูง (High-Level Political Forum – HLPF) ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมในกรอบสมัชชาสหประชาชาติเป็นเวทีหลักซึ่งมีการประชุมประจำทุกปี และจะมีการประชุมติดตามและทบทวนผลระดับโลกในระดับผู้นำครั้งแรกในปี ค.ศ. 2019

นอกจากนี้ ร่างเอกสารวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ฉบับดังกล่าว ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาขีดความสามารถของระบบการจัดเก็บสถิติในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อส่งเสริมการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย

และภายหลังจากที่ได้มีการรับรองเอกสารผลการประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำ เพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 ฉบับดังกล่าวแล้ว ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2558 ได้มอบหมายให้คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นกลไกหลักในระดับประเทศ ในการขับเคลื่อนให้หน่วยงานไทยนำวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ไปปฏิบัติ รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงาน ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้ให้กับภาคส่วนต่างๆ

อนึ่ง คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนชุดนี้ จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ.2556 โดยนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่สำคัญในการเสนอแนะนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงหรือความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

นับจากนี้ วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, September 10, 2015

ตัวชี้วัด CSR 4 ระดับ

บทความตอนนี้ จะขอเขียนเรื่องขององค์กรธุรกิจที่ทำ CSR (Corporate Social Responsibility) แล้วผู้บริหารที่รับผิดชอบเกิดสนใจใคร่รู้ว่า จะมีวิธีนำเสนอและกำหนดตัวบ่งชี้ความสำเร็จของการดำเนินงานลักษณะใดได้บ้าง ที่สามารถสื่อความให้กับทีมงานได้เข้าใจตรงกันและในแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อนยุ่งยาก เพื่อจะได้ตั้งธงการทำงานของทีมไปในทิศทางเดียวกัน ไม่เกิดอาการสะเปะสะปะ หรือไปในทำนองขี่ช้างจับตั๊กแตนจนเกินไป

ในทางปฏิบัติ แต่ละองค์กรที่ทำ CSR จะมีดีกรีของความทุ่มเท ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดสรรทรัพยากรหรือปัจจัยนำเข้า (Input) เช่น กำลังคน งบประมาณ หรือเวลาในระดับที่แตกต่างกัน ทำให้เราๆ ท่านๆ พอจะสามารถคาดเดาคำตอบได้เหมือนกันว่า ผลสัมฤทธิ์ปลายทางของการทำ CSR ในแต่ละองค์กร ก็จะมีดีกรีของความสำเร็จที่ไม่เท่ากันตามไปด้วย

ตัวบ่งชี้การดำเนินงาน ที่ผมจะขออนุญาตนำมาเรียบเรียงในบทความนี้ มีอยู่ด้วยกัน 4 ระดับ โดยจะขยายความพร้อมยกตัวอย่างประกอบในแต่ละระดับ ดังนี้

ระดับแรก คือ “ได้ภาพ” เป็นการนำเสนอข้อมูลปัจจัยนำเข้าที่ได้รับการจัดสรร หรือสื่อสารถึงแผนงานที่จะดำเนินการ หรือจัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการ หรือแสดงแบบจำลองให้เห็นถึงผลที่คาดว่าจะได้รับ ตัวอย่างที่มีให้เห็น ประมาณว่า

“…เอ่อ เพื่อนสื่อมวลชนทุกท่าน ในปีนี้ บริษัทมีความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่อง ที่จะร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ในโครงการปลูกป่า 1 ล้านต้น ด้วยการสนับสนุนงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจกได้ถึง 10,000 ตันต่อปี…”

การวัดผลของการทำ CSR ในระดับนี้ เทียบเคียงได้กับการวัดมูลค่าทางการประชาสัมพันธ์ (PR Value) โดยในความเป็นจริง เราไม่ทราบเลยว่า ผลสัมฤทธิ์ปลายทางของการทำ CSR ในกรณีนี้ ตกลงแล้วได้ปลูกป่าไปจริง 1 ล้านต้นหรือไม่ มีอัตราการอยู่รอดจริงเป็นเท่าใด และสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้จริงตามตัวเลขที่เคลมหรือไม่ แต่องค์กรได้มูลค่าสำเร็จไปแล้ว คือ ได้ภาพ (Image)

ระดับที่สอง คือ “ได้ทำ” เป็นการลงมือดำเนินการโดยใช้ปัจจัยนำเข้าที่ได้รับการจัดสรร หาพันธมิตรร่วมดำเนินงาน หรือว่าจ้างหน่วยงานภายนอกดำเนินการให้ ตามแต่วิธีที่องค์กรจะใช้แปลงแผนงานสู่การปฏิบัติ ตัวอย่างที่เห็นโดยทั่วไป คือ

“…วันนี้ ทางบริษัทมีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้เข้ามาให้การอบรมแก่สมาชิกในชุมชนของท่าน เราเชื่อมั่นว่า ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญของทีมวิทยากร จะช่วยให้สมาชิกในชุมชน สามารถสร้างผลผลิตเพิ่มขึ้น มีรายได้ที่ดีขึ้น และหวังว่าจะมีครัวเรือนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 มาร่วมรับการอบรมกับเรา...”

การวัดผลของการทำ CSR ในระดับนี้ เทียบเคียงได้กับการวัดปัจจัยส่งออกที่เกิดขึ้นจากกระบวนการดำเนินงาน โดยในความเป็นจริง แม้โครงการจะสามารถให้การอบรมแก่ครัวเรือนได้เกินร้อยละ 50 ตามเป้าหมาย แต่ก็ไม่สามารถแน่ใจได้ว่า ผลสัมฤทธิ์ปลายทางของการทำ CSR ในกรณีนี้ สมาชิกในชุมชน จะสามารถสร้างผลผลิตเพิ่มขึ้น หรือมีรายได้ที่ดีขึ้นจริงหรือไม่ แต่องค์กรได้ผลผลิตไปแล้ว คือ ได้ทำ (Output)

ระดับที่สาม คือ “ได้รับ” เป็นการดำเนินกระบวนการที่คำนึงถึงการตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน ด้วยการให้ความสำคัญกับรูปแบบการดำเนินงานที่สามารถส่งมอบผลการดำเนินงานให้ใกล้เคียงหรือเท่ากับผลที่คาดว่าจะได้รับ ตัวอย่างที่เกิดขึ้น คือ

“…ไตรมาสนี้ ทางบริษัทขอแจ้งให้ทราบว่า ยอดสั่งซื้อผลิตภันฑ์จากชุมชนของท่าน รวมกันเป็นเงินทั้งสิ้น 6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว จากการที่ชุมชนสามารถเพิ่มผลผลิต และทำให้ครัวเรือนที่ผ่านการอบรม สามารถแปรรูปผลผลิต มีรายได้เสริมจากผลิตภัณฑ์แปรรูปที่จำหน่ายได้เพิ่มขึ้น…”

การวัดผลของการทำ CSR ในระดับนี้ เป็นการวัดผลการดำเนินงานเทียบเคียงกับวัตถุประสงค์หรือผลที่คาดว่าจะได้รับของโครงการ (จากตัวอย่าง คือ ผลผลิตเพิ่มขึ้นจริง และรายได้เพิ่มขึ้นจริง) โดยในความเป็นจริง องค์กรควรต้องตั้งคำถามว่า “เขาได้รับอะไรจากเรา” มากกว่าที่จะวัดว่า “เราได้ให้อะไรกับเขา” เนื่องจากในระหว่างทาง จะมีทั้งสิ่งรบกวน (noise) และการรั่วไหล (leak) ต่างๆ เกิดขึ้น นอกเหนือจากคุณภาพของผู้ให้และผู้รับ อย่างไรก็ดี หากก้าวขึ้นมาสู่การวัดผลในระดับนี้ได้ องค์กรจะได้ผลลัพธ์จากการดำเนินงาน โดยสามารถส่งมอบผลที่คาดว่าจะได้รับให้กับผู้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการดำเนินงาน ที่ถือว่า ได้รับ (Outcome)

ระดับที่สี่ คือ “ได้ผล” เป็นการขับเคลื่อนโดยบูรณาการปัจจัยแวดล้อมกับบริบทของการดำเนินงานที่คำนึงถึงการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) เพื่อขยายผลกระทบให้เกิดขึ้นทั้งในระหว่างและหลังการดำเนินงาน หรือแม้โครงการจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม ตัวอย่างที่เกิดขึ้น คือ

“…หลังจากการดำเนินโครงการผ่านพ้นไป 3 ปี ก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของมูลค่าทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นกว่าเท่าตัว ครัวเรือนมีรายได้โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 คุณภาพชีวิตโดยรวมของคนในชุมชนดีขึ้น อัตราการเจ็บป่วยลดลงกว่าร้อยละ 70 อันเกี่ยวเนื่องกับสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น จากการลดใช้สารเคมี และการสุขาภิบาลที่สะอาดปลอดภัยจากเดิม…”

การวัดผลของการทำ CSR ในระดับนี้ เป็นการวัดผลกระทบของการดำเนินงานที่อาจอยู่นอกขอบเขตของโครงการหรือการดำเนินงานขององค์กร และมิได้เกิดขึ้นจากตัวแปรหรือปัจจัยในโครงการเพียงลำพัง แต่ยังมาจากตัวแปรหรือปัจจัยแวดล้อมอื่นทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ทำให้การวัดผล CSR ในระดับนี้ องค์กรไม่สามารถเคลมได้เต็มปาก แม้ผลสัมฤทธิ์ปลายทางจะเกิดขึ้นจริง ในทำนองเดียวกัน องค์กรก็อาจจะโบ้ยได้ หากผลสัมฤทธิ์ปลายทางไม่เกิดขึ้น แต่อย่างน้อย องค์กรก็แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทที่จะสร้างให้เกิดผลกระทบจากการดำเนินงานให้กับกลุ่มเป้าหมายไม่มากก็น้อย ถือว่า ได้ผล (Impact)

หวังว่า บทความนี้ คงจะช่วยจุดประกายให้องค์กรใช้พิจารณาตัวชี้วัด CSR ในโครงการต่างๆ ของท่าน ตั้งแต่ “ได้ภาพ” (Image) จนมาสู่ “ได้ผล” (Impact) กัน ตามแต่ศรัทธานะครับ...(หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]