Saturday, December 18, 2021

105 กิจการตัวอย่างข้อมูลความยั่งยืน

เมื่อวันศุกร์ (17 ธ.ค.) ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ปี 2564 ซึ่งจัดขึ้นโดยประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน หรือ Sustainability Disclosure Community (SDC) ในความดูแลของสถาบันไทยพัฒน์

ปัจจุบัน การจัดทำข้อมูลความยั่งยืนของกิจการเพื่อเปิดเผยต่อสาธารณะ ได้กลายเป็นบรรทัดฐานของภาคธุรกิจที่ใช้สื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียขององค์กร เทียบเท่ากับการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินของกิจการให้แก่ผู้ลงทุน

ข้อมูลความยั่งยืนที่กิจการเปิดเผยตามมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์การดำเนินงาน การกำกับดูแล แนวการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่สะท้อนทั้งในทางบวกและทางลบตามความเป็นจริง

ในรายงานการสำรวจ KPMG Survey of Sustainability Reporting 2020 ระบุว่า ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วโลก ได้มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี ค.ศ.2020 ร้อยละ 96 ของบริษัทในกลุ่ม G250 (บริษัทที่มีรายได้สูงสุด 250 แห่งในโลก จากการจัดอันดับของ Fortune 500) และร้อยละ 80 ของบริษัทในกลุ่ม N100 (บริษัทที่มีรายได้สูงสุด 100 แห่ง คัดจาก 5,200 บริษัท จาก 52 ประเทศทั่วโลก) มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนเปิดเผยต่อสาธารณะ

ทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้กำหนดมาตรฐาน รวมทั้งหน่วยงานผู้กำกับดูแล และตัวกลางซื้อขายหลักทรัพย์ ต่างมีการออกแนวทางการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน และมีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การประกาศเกียรติคุณแก่องค์กรผู้จัดทำรายงาน เป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยผลักดันให้ภาคธุรกิจมีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนดังกล่าวได้อย่างเสมอต้นเสมอปลายและกระจายตัวไปในวงกว้าง โดยสถาบันไทยพัฒน์ได้ทำหน้าที่เป็นองค์กรผู้จัดหลัก และเป็นทั้งองค์กรผู้ร่วมจัดมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 เป็นต้นมา

สำหรับโครงการประกาศรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนปีนี้ มีองค์กรสมาชิกประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนที่เข้ารับการพิจารณารางวัลจำนวน 125 ราย แบ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 95 ราย บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ 11 ราย บริษัททั่วไปที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และองค์กรอื่นๆ อีก 19 ราย

องค์กรที่ได้รับรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนมีจำนวนทั้งสิ้น 105 ราย เป็นรางวัลเกียรติคุณ (Sustainability Disclosure Award) จำนวน 40 ราย ประกาศเกียรติคุณ (Sustainability Disclosure Recognition) จำนวน 45 ราย และกิตติกรรมประกาศ (Sustainability Disclosure Acknowledgement) จำนวน 20 ราย ( ดูผลการประกาศรางวัล ได้ที่ https://thaipat.org )

การเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบรายงานความยั่งยืนในปีนี้ ราวสองในสามขององค์กรผู้จัดทำรายงานที่เข้าร่วมรับการพิจารณารางวัล มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนที่อ้างอิงจากมาตรฐาน GRI ที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการมาตรฐานความยั่งยืนสากล (GSSB) ในความอุปถัมภ์ขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative)

ทั้งนี้ แนวทางและมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนที่ได้รับการอ้างอิงมากสุด ได้แก่ GRI โดยคิดเป็นสัดส่วนราวสองในสามของบริษัทที่จัดทำรายงานในกลุ่ม N100 และราวสามในสี่ของบริษัทที่จัดทำรายงานในกลุ่ม G250

และจากการสำรวจของ GRI ณ สิ้นปี ค.ศ.2020 ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับโลกด้านการเปิดเผยรายงานความยั่งยืน ในอันดับที่เก้า และรั้งอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ตามด้วยสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และเมียนมาร์ ตามลำดับ

สำหรับการพิจารณาตัดสินรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ใช้เกณฑ์ 3 ด้าน ที่อ้างอิงจาก Ceres-ACCA* ประกอบด้วย ด้านความสมบูรณ์ (Completeness) ของเนื้อหา น้ำหนักคะแนนร้อยละ 45 ด้านความเชื่อถือได้ (Credibility) ของเนื้อหา น้ำหนักคะแนนร้อยละ 35 ด้านการสื่อสารและนำเสนอ (Communication) เนื้อหา น้ำหนักคะแนนร้อยละ 20 ตามลำดับ

ภาพรวมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนขององค์กรผู้จัดทำรายงานในปีนี้ พบว่า ได้รับคะแนนด้านการสื่อสารและการนำเสนอเนื้อหาในสัดส่วนมากสุด รองลงมาเป็นด้านความสมบูรณ์ของเนื้อหา และในด้านความเชื่อถือได้ของเนื้อหา ตามลำดับ

ในโอกาสนี้ ขอแสดงความยินดีกับองค์กรผู้จัดทำรายงานที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ทั้ง 105 ราย ที่สามารถรักษาระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ให้เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ และร่วมกันตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG Target 12.6 ที่ระบุให้มีการผลักดันกิจการ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับข้อปฏิบัติที่ยั่งยืนไปดำเนินการ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนเข้าไว้ในรอบการรายงานประจำปีของบริษัท อย่างต่อเนื่องติดต่อกันทุกปี


--------------------------------------
* CERES ย่อมาจาก Coalition for Environmentally Responsible Economies หรือแนวร่วมกลุ่มเศรษฐกิจที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และ ACCA ย่อมาจาก the Association of Chartered Certified Accountants หรือสมาคมผู้สอบบัญชีรับอนุญาต



จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, December 04, 2021

จับตา “5 ธุรกิจ” น่าลงทุนแห่งอนาคต

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การลงทุนโดยคำนึงถึงปัจจัยสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG: Environmental, Social, and Governance) มีการเติบโตทั่วโลก และกินสัดส่วนหลักของการลงทุนที่ยั่งยืน คิดเป็น 71% ของเม็ดเงินลงทุนที่ยั่งยืนทั้งหมดที่มีอยู่ราว 35.3 ล้านล้านเหรียญ (GSIA, 2020)

มอร์นิ่งสตาร์ ได้ทำการสำรวจกองทุนยั่งยืนทั่วโลก ในรอบไตรมาส 3-21 ระบุว่า มูลค่ากองทุนยั่งยืนทั่วโลกเติบโตเกือบเท่าตัวในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักมาจากเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลในภูมิภาคยุโรป โดยจำนวนกองทุนยั่งยืนทั่วโลกมีการเติบโตขึ้นถึง 51% ในไตรมาสที่ 3 หรือรวมมากกว่า 7,000 กองทุน

ทรัพย์สินรวมของกองทุนยั่งยืนทั่วโลกมีมูลค่าราว 3.9 ล้านล้านดอลลาร์ โดยการเพิ่มขึ้นของกองทุนในยุโรปทำให้มีส่วนแบ่งตลาดที่ 88% (จากช่วงก่อนมีการบังคับใช้เกณฑ์ SFDR ที่ 82%) เม็ดเงินการลงทุนยั่งยืนทั่วโลกเป็นเงินไหลเข้า 1.3 แสนล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

สำหรับมูลค่ากองทุนยั่งยืนในประเทศไทย พบว่า มีอัตราการเติบโตเกือบเท่าตัวจากสิ้นปี ค.ศ.2020 โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท แต่มูลค่าทรัพย์สินเกือบทั้งหมดเป็นการลงทุนในต่างประเทศ กว่า 97% ของมูลค่าการลงทุนที่ยั่งยืนในประเทศไทย ในขณะที่การลงทุนในประเทศมีมูลค่ารวมเพียง 1.5 พันล้านบาท

สาเหตุหนึ่ง เป็นเพราะธุรกิจที่เป็นตัวเลือกของการลงทุนธีม ESG ในตลาดทุนมีจำกัด บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าตลาดสูงส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นเศรษฐกิจเก่า (Old Economy) ขณะที่ตัวเลือกในตลาดทุนต่างประเทศมีมากกว่า จึงทำให้เม็ดเงินการลงทุนที่ยั่งยืนของไทยไหลออกไปต่างประเทศเกือบทั้งหมด

ธุรกิจที่จัดว่าเป็นดาวเด่นสำหรับการลงทุนที่ยั่งยืน และมีอัตราการเติบโตสูง จะอยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) โดยธุรกิจน่าลงทุนที่มีแนวโน้มจะสร้างมูลค่าสูงให้แก่ผู้ลงทุนในอนาคต ประกอบด้วย

ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนประกอบ (Electric Vehicles & Components) ที่สอดรับกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่ง และร่วมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ตามนโยบาย 30/30 คือการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030

ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ที่จะไปเสริมหนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy) ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาเสริมสร้างจุดแข็งของประเทศไทย อาทิ พันธุวิศวกรรม (การดัดแปลงยีน) การผลิตสารเวชภัณฑ์ (เช่น ยา วัคซีน โปรตีนเพื่อการบําบัด) การผลิตชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ การเกษตร อาหาร และสิ่งแวดล้อม การผลิตที่ใช้เซลล์จุลินทรีย์ เซลล์พืช และเซลล์สัตว์ในการผลิตสารชีวโมเลกุล สารออกฤทธิ์ชีวภาพ การผลิตวัตถุดิบและ/หรือวัสดุจําเป็นที่ใช้ในการทดลองหรือทดสอบด้านชีววิทยาระดับโมเลกุล รวมทั้งบริการตรวจวิเคราะห์และ/หรือสังเคราะห์สารชีวภาพ

ธุรกิจการเกษตรและระบบอาหารแบบเจริญทดแทน (Regenerative Agriculture & Food System) ที่เน้นการคืนสภาพของหน้าดิน การเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ การปรับปรุงวัฏจักรของน้ำ การเพิ่มพูนบริการจากระบบนิเวศ การสนับสนุนการกักเก็บคาร์บอนด้วยวิธีการทางชีวภาพ การเพิ่มภาวะพร้อมผันจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกี่ยวข้องตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การแปรรูป การขนส่ง การจัดจำหน่าย การบริโภค ไปจนถึงกระบวนการกำจัดของเสีย รวมไปถึงการสร้างนวัตกรรมการผลิตอาหารที่เป็นผลบวกต่อธรรมชาติ (Nature-Positive Production)

ธุรกิจทรัพยากรหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก (Renewable Resources & Alternative Energy) ที่สอดรับกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน เช่น การใช้เชื้อเพลิงสะอาด การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า และการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน สำหรับรองรับการยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ ตามที่ประเทศไทยประกาศในเวทีประชุม World Leaders Summit ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (UNFCCC COP26) ที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน ค.ศ. 2065

ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) ที่ยังไม่ต้องถึงขั้นแบบไร้ตัวกลาง (DeFi) แต่เป็นการเงินแบบหลากหลาย (Diversified Finance) ที่ไม่ได้มีเพียงธนาคาร เงินทุนและหลักทรัพย์ หรือธุรกิจประกัน เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างศึกษาการออกใช้สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางในระดับรายย่อย (Retail CBDC) เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนในการใช้จ่ายและชำระเงินที่ปลอดภัย ลดต้นทุนต่อหน่วยของการใช้เงินสดในระบบ เอื้อประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม อีกทั้งได้เริ่มมีผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งที่เป็นศูนย์ซื้อขาย (Exchange) นายหน้า (Broker) ผู้ค้า (Dealer) ที่ปรึกษา (Advisor) และผู้จัดการเงินทุน (Fund Manager) ดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ที่ ก.ล.ต. เพิ่มมาเป็นประเภทธุรกิจใหม่ภายใต้การกำกับดูแลในปัจจุบัน


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, November 20, 2021

การประเมินลงทุนธีม "ESG" มีความสำคัญไฉน ?

จากข้อมูลของ SustainAbility ที่เผยแพร่ในเอกสาร Rate the Raters 2020: Investor Survey and Interview Results ระบุว่า จำนวนของมาตรฐานและกรอบการดำเนินงาน ผู้ให้บริการข้อมูล ผู้ประเมินและจัดอันดับด้าน ESG (Environmental, Social, and Governance) มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยงานประเมินและจัดอันดับด้าน ESG มีอยู่มากกว่า 600 แห่งในปี ค.ศ. 2018

ในการสำรวจดังกล่าว พบว่า แหล่งข้อมูลสามอันดับแรกที่ผู้ลงทุนใช้ในการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัทที่ลงทุน ได้แก่ การใช้ข้อมูลจากผู้ประเมิน ESG มากสุด รองลงมาเป็นการใช้ข้อมูลจากการสานสัมพันธ์โดยตรงกับบริษัท และอันดับสามเป็นการใช้ข้อมูลจากการเปิดเผยรายงานแห่งความยั่งยืนของกิจการ

เมื่อเจาะลึกลงไปถึงสาเหตุที่ผู้ลงทุนใช้ข้อมูลจากผู้ประเมิน ESG มากสุด เนื่องเพราะเป็นข้อมูลที่มีสาระสำคัญต่อการสร้างผลตอบแทนการลงทุน สามารถใช้เป็นข้อมูลเสริมเพิ่มเติมจากบทวิจัยอื่นในแง่ของผลการดำเนินงานและความเสี่ยงด้าน ESG ของกิจการ อีกทั้งข้อมูลจากแหล่งดังกล่าวยังเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นจากผู้มีส่วนได้เสียหลัก รวมถึงเป็นแหล่งที่ให้ข้อมูลการดำเนินงาน ESG ของกิจการที่มีคุณภาพและเป็นที่น่าเชื่อถือ

ปัจจุบัน หน่วยงานประเมิน ESG มีวิธีการใช้ข้อมูลในการประเมินที่แตกต่างกัน โดยแบ่งออกเป็น 2 ค่ายใหญ่ ได้แก่ ค่ายที่ใช้วิธีการประเมินจากการรวบรวมข้อมูลสาธารณะ (Public Information) ที่เปิดเผยในแหล่งต่างๆ อาทิ Bloomberg, Thomson Reuters, MSCI กับค่ายที่ใช้วิธีการขอข้อมูล (Requested Information) จากกิจการ ผ่านแบบสำรวจหรือแบบสอบถามเพื่อทำการประเมิน อาทิ DJSI Index Family ของ S&P Global, CDP, JUST Capital ฯลฯ


S&P Global ในฐานะผู้จัดทำดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) และดัชนี S&P ESG ได้มีการเชิญบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกจำนวนกว่า 5,000 แห่ง ที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกของดัชนีดังกล่าว เข้าร่วมในการประเมินความยั่งยืนของกิจการ (CSA) ในรอบครึ่งปีแรกของปี 2564

สำหรับการประเมินในปีนี้ S&P Global ยังได้เปิดโอกาสให้บริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในความสนใจของชุมชนผู้ลงทุนวงกว้าง อีกจำนวนกว่า 5,000 แห่ง ได้แสดงเจตจำนงที่จะเข้าร่วมในการประเมินความยั่งยืนของกิจการ (CSA) ในรอบครึ่งปีหลัง เพิ่มเติมเป็นครั้งแรกอีกด้วย

ในจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกของดัชนี DJSI (Group A) มีบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประเมิน จำนวน 37 แห่ง โดยในปีนี้ ยังมีบริษัทจดทะเบียนไทยที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกของดัชนี S&P ESG (Group B) ให้เข้าร่วมการประเมิน CSA เพิ่มเติมอีก 25 แห่ง และอีกจำนวน 72 แห่งในรอบหลัง (ที่ไม่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกของทั้งสองดัชนี) รวมบริษัทไทยที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประเมินทั้งหมด 134 แห่ง

สำหรับในปี 2564 นี้ บริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าอยู่ในดัชนี DJSI มีจำนวน 24 แห่ง ประกอบด้วย ADVANC, AOT, BANPU, BDMS, BJC, BTS, CPALL, CPF, CPN, DELTA, EGCO, HMPRO, IRPC, IVL, KBANK, MINT, PTT, PTTEP, PTTGC, SCB, SCC, TOP, TRUE และ TU เพิ่มขึ้นเป็นลำดับในห้วงเวลา 20 ปี นับตั้งแต่ที่มีบริษัทจดทะเบียนไทยได้รับคัดเลือกให้เข้าอยู่ในดัชนี DJSI เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2544

สถิติที่สำคัญ
ปี 64 ได้รับเชิญ 37 บริษัท, ได้รับคัดเลือก 24 บริษัท (เพิ่ม BDMS BJC DELTA)
ปี 63 ได้รับเชิญ 36 บริษัท, ได้รับคัดเลือก 21 บริษัท (เพิ่ม EGCO)
ปี 62 ได้รับเชิญ 36 บริษัท, ได้รับคัดเลือก 20 บริษัท (ADVANC เข้า)
ปี 61 ได้รับเชิญ 32 บริษัท, ได้รับคัดเลือก 19 บริษัท (เพิ่ม BTS SCB)
ปี 60 ได้รับเชิญ 37 บริษัท, ได้รับคัดเลือก 17 บริษัท (เพิ่ม CPALL IVL HMPRO TRUE) (ADVANC ออก)
ปี 59 ได้รับเชิญ 33 บริษัท, ได้รับคัดเลือก 14 บริษัท (เพิ่ม KBANK)
ปี 58 ได้รับเชิญ 34 บริษัท, ได้รับคัดเลือก 13 บริษัท (เพิ่ม ADVANC AOT CPF)
ปี 57 ได้รับเชิญ 30 บริษัท ได้รับคัดเลือก 10 บริษัท (เพิ่ม BANPU CPN IRPC MINT PTTEP TU)
ปี 56 ได้รับเชิญ 34 บริษัท ได้รับคัดเลือก 4 บริษัท (เพิ่ม PTTGC TOP)
ปี 55 ได้รับเชิญ 22 บริษัท ได้รับคัดเลือก 2 บริษัท (เพิ่ม PTT)
ปี 47-54 คงมีบริษัทเดียวที่ได้รับคัดเลือก
ปี 44 มีบริษัทไทยที่ได้รับคัดเลือก (คือ SCC)
ปี 42 เริ่มมีดัชนี DJSI

ในมุมมองของผู้ลงทุนโดยใช้ธีม ESG นอกจากการพิจารณาประเด็นความยั่งยืนที่บริษัทมีการดำเนินการเป็นที่โดดเด่นแล้ว การพิจารณาผลประกอบการในบรรทัดสุดท้าย (Bottom Line) ของกิจการ ยังคงถือเป็นภาคบังคับสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนซึ่งไม่ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป

เมื่อพิจารณาอัตราผลตอบแทนราคาของดัชนี DJSI World ในรอบปี พบว่า มีตัวเลขผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 22.28% ขณะที่ผลตอบแทนราคาของดัชนี DJSI Emerging อยู่ที่ 17.58% เมื่อเทียบกับดัชนี Thaipat ESG Index ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบขึ้นจากหลักทรัพย์ ESG100 ที่ทำการประเมินโดยสถาบันไทยพัฒน์ พบว่า มีผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 25.12% โดยที่ดัชนี Thaipat ESG Index ให้ผลตอบแทนเหนือดัชนี DJSI World (ต่างกัน 2.84%) และ DJSI Emerging (ต่างกัน 7.54%)

และเมื่อพิจารณาผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี 64 จนถึงปัจจุบัน (YTD) ของหุ้น DJSI ทั้ง 24 ตัว (Equal-weighted) พบว่า มีอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 12.58% เมื่อเทียบกับผลตอบแทนราคาของดัชนี SET Index ในอัตรา 13.91% ขณะที่ดัชนี Thaipat ESG Index ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 15.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน (ข้อมูล ณ 18 พ.ย. 64)

การลงทุนในหุ้นที่ถือว่ามีความโดดเด่นด้านความยั่งยืนตามการประเมิน CSA ดังกล่าว ยังไม่อาจตอบโจทย์การลงทุนที่ยั่งยืน ในแง่ของการได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่ยังต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนของตลาดโดยรวม


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, November 06, 2021

ปรับองค์กร - เปลี่ยนโลก

“ไม่มีแผนสำรอง เพราะเราไม่มีโลกสำรอง” (There is no Plan B, because we do not have a Planet B) เป็นคำกล่าวของนายบัน คี มูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ (ค.ศ.2007-2016) ต่อสื่อมวลชนที่หน้าสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก เมื่อปี 2557

ในภาคธุรกิจ หากนำคำกล่าวนี้มาขยายความ คงจะหมายถึงว่า ถ้าธุรกิจมัวแต่สร้างความมั่งคั่งรุ่งเรือง โดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมและถูกทำลาย ไม่เพียงแต่ธุรกิจจะไม่มีความยั่งยืน เมื่อถึงเวลานั้น มนุษยชาติจะไม่มีที่ยืนที่อาศัยบนโลกใบนี้ด้วย

เหตุผลของการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคธุรกิจ จึงไม่ใช่เพื่อการทำให้กิจการมีความยั่งยืน เฉพาะองค์กร เพียงในความหมายที่แคบ แต่เป็นการทำให้ทั้งกิจการและสังคม (รวมถึงสิ่งแวดล้อม) มีความยั่งยืนดำเนินควบคู่กันไป

ที่ผ่านมา องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่มองประเด็นปัญหาทางสังคมว่าเป็นบทบาทของภาครัฐที่ต้องเป็นผู้แก้ไขดำเนินการ กิจการจึงมักแสดงออกด้วยการร่วมรับผิดชอบในรูปของความช่วยเหลือหรือการบริจาคเป็นครั้งคราวตามโอกาส

แต่กิจการที่ตระหนักว่า เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาที่องค์กรควรมีส่วนเข้าไปร่วมแก้ไข ระดับความรับผิดชอบต่อสังคมจะเพิ่มขึ้น เกิดสำนึกที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง กิจการในกลุ่มนี้จะมีการจัดสรรทรัพยากรสำหรับการแก้ไขปัญหา จัดการ ติดตาม ตรวจสอบ และรายงานผลการดำเนินการอย่างเป็นระบบ

ปัจจุบัน จะมีกิจการจำพวกหนึ่งมีมุมมองที่เปลี่ยนไปต่อประเด็นทางสังคมเหล่านั้น โดยแทนที่จะมองว่าเป็น “ปัญหา” แต่กลับมองว่าเป็น “โอกาส” ทางธุรกิจ กิจการกลุ่มนี้จึงมีการพัฒนากลยุทธ์องค์กร โดยใช้ประเด็นทางสังคมเหล่านั้น มาเป็น “โจทย์” ทางธุรกิจ

เท่ากับว่า หากกิจการตีโจทย์แตก จะมีทั้งผลได้ทางธุรกิจและผลลัพธ์ทางสังคมเกิดขึ้นควบคู่ไปพร้อมกัน เรียกว่า เป็นการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value) ให้กับทั้งธุรกิจและสังคมในคราวเดียว โดยไม่จำเป็นต้องให้ในรูปแบบความช่วยเหลือหรือการบริจาคตามหลัง

การเพิ่มความเป็นรูปธรรมในสร้างผลลัพธ์ทางสังคมที่วัดด้วยผลได้ทางธุรกิจ ก่อให้เกิดผลที่ติดตามมาหลายประการ

ประการแรก ทำให้องค์กรธุรกิจ เคลื่อนย้ายจุดสนใจที่มีต่อการสร้างผลลัพธ์ทางสังคม จากระดับโครงการนำร่องเพียงเพื่อให้ได้ภาพการดำเนินงานทางสังคม มาสู่ระดับกลยุทธ์การดำเนินงานทางธุรกิจ และจากส่วนตลาดที่ด้อยความสำคัญในสายตาของธุรกิจ กลายมาเป็นส่วนตลาดที่มีนัยสำคัญในวิถีของธุรกิจได้

ประการที่สอง ทำให้องค์กรธุรกิจ รื้อและสร้างความมุ่งประสงค์ (Purpose) ของกิจการขึ้นใหม่ จากเดิมที่มุ่งผลิตสินค้าและบริการเพียงเพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจ มาสู่การปรับสายผลิตเพื่อให้สินค้าและบริการของตนสามารถสนองตอบต่อประเด็นทางสังคมด้วย โดยท่ามกลางองค์กรที่คิดทำ เพียงเพื่อให้ได้ภาพพีอาร์ มากกว่าเรื่องเนื้อหา จะมีหลายองค์กรที่เริ่มหยั่งถึงความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับสังคม ได้รับผลบวกที่เป็นความผูกพันและแรงจูงใจให้กับบุคลากรที่ทำงานอยู่ รวมทั้งดึงดูดบุคลากรใหม่ที่มีฝีมือและศักยภาพ ให้เข้าร่วมงานกับองค์กร ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมที่เอื้อต่อการขยายขอบข่ายของธุรกิจ

ประการที่สาม ทำให้องค์กรธุรกิจ รื้อฟื้นและสร้างความสัมพันธ์ใหม่กับองค์กรไม่แสวงหากำไร หรือบรรดาเอ็นจีโอต่างๆ จากเดิมที่มองเพียงว่าเอ็นจีโอมีสถานะที่เล่นบทเป็นคู่กรณีหรือคู่ปรับกับธุรกิจ มาสู่การปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ที่เอ็นจีโอสามารถเป็นหุ้นส่วนหรือคู่หูร่วมดำเนินงาน

ประการที่สี่ ทำให้แวดวงตลาดทุนตื่นตัวหันมาให้ความสนใจลงทุนกับกิจการที่ใช้กลยุทธ์คุณค่าร่วม จากเดิมที่ผู้ลงทุนมีความกังขากับการพิจารณาจัดสรรเม็ดเงินลงทุนโดยใช้ปัจจัยทางสังคม ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องน้อยมากในการวิเคราะห์หลักทรัพย์ มาสู่การให้ความสำคัญในกิจการที่ยึดมั่นในความมุ่งประสงค์ใหม่ ที่แตกต่างจากการประชาสัมพันธ์หรือการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วไป และสามารถสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นได้โดยไม่มีสัดส่วนที่ตายตัว

ประการที่ห้า ทำให้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเรื่องผลกระทบภายนอก (Externality) ที่เป็นต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของกิจการผู้ก่อผลกระทบ ซึ่งมิได้ถูกคำนวณรวมอยู่ในธุรกรรมทางเศรษฐศาสตร์ เพราะกิจการย่อมต้องเลือกเลือกแสวงหากำไรที่เพิ่มขึ้น และผลักภาระดังกล่าวให้แก่สังคม ส่งผลให้ต้นทุนหรือราคาสินค้าและบริการ ไม่ได้สะท้อนถึงค่าใช้จ่ายตามที่ควรจะเป็น ซึ่งความจริงอีกด้านหนึ่ง อาจเป็นเพราะกิจการนั้นๆ ต่างหาก ที่ดำเนินงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพตามที่ควรจะเป็น จึงได้มีของเสียหรือมลภาวะออกมาสู่ภายนอก โดยหากกิจการพัฒนาวิธีการที่สามารถบริหารทรัพยากรและจัดการกระบวนการผลิตหรือกระบวนการอื่นๆ ในธุรกิจ จนไม่มีของเสียหรือของเหลือทิ้ง (หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้) ต้นทุนในการจัดการผลกระทบสู่ภายนอกก็เป็นศูนย์ ในระยะยาว ธุรกิจจะมีกำไรเพิ่มขึ้น จากการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และไม่จำเป็นต้องตัดสินใจในเชิง Trade-off อีกต่อไป

การสร้างคุณค่าร่วม จึงสามารถใช้เป็นแนวทางในการแก้โจทย์ความไม่เชื่อมโยงกันระหว่างความต้องการของสังคมและของธุรกิจ ซึ่งเป็นอุปสรรคและก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาในห้วงเวลาที่ผ่านมา และเป็นแนวทางที่สามารถใช้ปรับแนวการดำเนินงานขององค์กร เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโลกในทางที่ดีขึ้น


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, October 23, 2021

หลักการ ESG ในภาคการเงิน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาคการเงินในฐานะที่เป็นตัวกลางในการจัดสรรเงินทุนในระบบเศรษฐกิจ เป็นหนึ่งในภาคส่วนสำคัญที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมโลก หน่วยงานในภาคการเงินในแต่ละประเทศได้นำแนวทางการดำเนินงานที่คำนึงถึงประเด็น ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) มาผนวกในกระบวนการตัดสินใจลงทุน การพิจารณาให้สินเชื่อ การออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และการประกันภัย ฯลฯ

ในประเทศไทย หน่วยงานทางการเงินทั้งในภาครัฐและในภาคเอกชน ได้ขานรับเอาแนวทาง ESG ดังกล่าว มาใช้เป็นกรอบการดำเนินงาน ในอันที่จะตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมโลก ควบคู่ไปกับการพัฒนาความยั่งยืนขององค์กร ให้สามารถปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงและคงไว้ซึ่งขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว

นอกจากที่หน่วยงานในภาคการเงินไทยจะได้นำเอาแนวทางการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนที่ออกโดยหน่วยงานกำกับดูแลในภาคการเงินไทย มาใช้ขับเคลื่อนเพื่อสร้างให้เกิดความยั่งยืนต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในบริบทของประเทศแล้ว ก็ควรที่จะนำหลักการในภาคการเงินที่เป็นสากล มาใช้เป็นกรอบการดำเนินงานเพื่อยกระดับการพัฒนาสู่ความยั่งยืนที่ทัดเทียมกับนานาประเทศ

โดยหลักการสำคัญที่เกี่ยวกับ ESG ในภาคการเงินซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ประกอบด้วย

หลักการลงทุนที่รับผิดชอบ (Principles for Responsible Investment: PRI) ที่ได้รับการผลักดันโดยอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ โคฟี อันนัน เมื่อปี ค.ศ.2006 โดยมีหน่วยงานในสังกัดสหประชาชาติสองแห่ง คือ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน (United Nations Environmental Program Finance Initiative: UNEP-FI) และข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact: UNGC) ให้การสนับสนุน ประกอบด้วย หลัก 6 ประการ ได้แก่ 1) การผนวกประเด็น ESG เข้าไว้ในการวิเคราะห์และกระบวนการตัดสินใจลงทุน 2) การใช้สิทธ์ออกเสียงในฐานะผู้ถือครองหลักทรัพย์ และผนวกประเด็น ESG เข้าไว้ในนโยบายและข้อปฏิบัติในการถือครองหลักทรัพย์ 3) การเสาะหารายการเปิดเผยข้อมูลในประเด็น ESG อย่างเหมาะสมจากกิจการที่เข้าไปลงทุน 4) การส่งเสริมให้เกิดการรับและนำหลักการลงทุนที่รับผิดชอบไปใช้ในแวดวงการลงทุน 5) การทำงานร่วมกันเพื่อขยายประสิทธิผลของการนำหลักการลงทุนที่รับผิดชอบไปปฏิบัติ 6) การรายงานกิจกรรมและความก้าวหน้าในการนำหลักการลงทุนที่รับผิดชอบไปปฏิบัติในรายกิจการ

ปัจจุบัน มีหน่วยงานในภาคการเงินที่รับหลักการลงทุนที่รับผิดชอบ ไปใช้แล้วจำนวนกว่า 4,000 แห่ง โดยมีขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) รวมกันราว 121 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (PRI, ก.ค. 64)

หลักการประกันภัยที่ยั่งยืน (Principles for Sustainable Insurance: PSI) ที่จัดทำโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน (UNEP-FI) เมื่อปี ค.ศ.2012 ประกอบด้วย 4 หลักการสำคัญ ได้แก่ 1) การผนวกประเด็นทางสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจประกันภัย เข้าไว้ในกระบวนการตัดสินใจ 2) การทำงานร่วมกับลูกค้าและหุ้นส่วนทางธุรกิจ ในการยกระดับการรับรู้ที่มีต่อประเด็นทางสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล การจัดการความเสี่ยงภัย และการพัฒนาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน 3) การทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานกำกับดูแล และผู้มีส่วนได้เสียหลักอื่นๆ ในการส่งเสริมการดำเนินงานในประเด็นทางสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล อย่างกว้างขวาง 4) การแสดงให้เห็นถึงความสำนึกรับผิดชอบและความโปร่งใสในการเปิดเผยความคืบหน้าของการนำหลักการประกันภัยที่ยั่งยืน ไปปฏิบัติแก่สาธารณะอย่างสม่ำเสมอ

ปัจจุบัน มีหน่วยงานในภาคการเงินที่รับหลักการประกันภัยที่ยั่งยืน ไปใช้แล้วจำนวนกว่า 180 แห่ง รวมผู้รับประกันภัยที่ถือสัดส่วนเบี้ยประกันภัยอยู่เป็นจำนวนร้อยละ 25 ของเบี้ยประกันภัยรวมทั่วโลก และมีขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) รวมกันราว 14 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (PSI, ก.ค. 64)

หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ (Principles for Responsible Banking: PRB) ที่จัดทำโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน (UNEP-FI) เมื่อปี ค.ศ.2019 ประกอบด้วย 6 หลักการสำคัญที่ครอบคลุมในด้าน 1) การปรับแนวทาง (Alignment) 2) ผลกระทบและการกำหนดเป้าหมาย (Impact & Target Setting) 3) ลูกค้าประจำและผู้ใช้บริการ (Clients & Customers) 4) ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) 5) ธรรมาภิบาลและการปลูกฝังวัฒนธรรม (Governance & Culture) 6) ความโปร่งใสและการตรวจสอบได้ (Transparency & Accountability)

ปัจจุบัน มีสถาบันการเงินที่รับหลักการธนาคารที่รับผิดชอบ ไปใช้แล้วจำนวนกว่า 250 แห่ง โดยมีขนาดสินทรัพย์รวมกันราว 65 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 ของสินทรัพย์ในภาคธนาคารทั่วโลก (PRB, ก.ย. 64)

และเป็นที่น่ายินดีว่า ปัจจุบันมีสถาบันการเงินของไทย ได้เข้าร่วมรับหลักการดังกล่าวข้างต้น ไปใช้ดำเนินงานแล้ว อาทิ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารออมสิน และเนื่องจากการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ได้กลายเป็นทางหลักของการพัฒนาในยุคนี้ มิใช่เป็นทางเลือกสำหรับภาคการเงินอีกต่อไป เราคงจะได้เห็นธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น ๆ เข้าร่วมขบวนมากขึ้นนับจากนี้


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, October 09, 2021

"4 มิติ" ที่ธุรกิจต้องปรับตัว (ไปแล้ว)

วันนี้ ! หลายธุรกิจประเมินว่าสถานการณ์โควิดในประเทศไทยได้ผ่านพ้นจุดที่วิกฤติสูงสุดไปแล้ว และกำลังเตรียมสรรพกำลังและทรัพยากรในการเดินหน้า หลังจากที่ชะลอคันเร่งมาร่วม 18 เดือนก่อนหน้านี้

มิใช่ว่า การระบาดของโควิดจะหมดไป แต่ภาคธุรกิจประเมินว่า ยังไงก็ตาม จะไม่มีการล็อกดาวน์หรือปิดประเทศอีกต่อไป เพราะเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีการเคลื่อนตัว ในขณะที่การสู้รบกับโควิดก็ยังต้องดำเนินต่อไป เป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่วิถีปกติใหม่ของการดำเนินธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การปรับตัวของภาคธุรกิจต่อการดำเนินงานในวิถีปกติใหม่ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ หรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีอยู่ 4 มิติสำคัญ ได้แก่ การดูแลสุขภาพองค์กร ความต่อเนื่องในห่วงโซ่อุปทาน การตอบสนองต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

มิติการดูแลสุขภาพองค์กร ซึ่งประกอบด้วย บุคลากรและระบบงาน สถานการณ์โควิด ได้ทำให้กิจการต้องหยิบยกประเด็นด้านสุขภาพขึ้นมาให้น้ำหนักความสำคัญเป็นอันดับแรก มีการนำมาตรการดูแลพนักงาน ทั้งในเชิงป้องกันการติดเชื้อและสัมผัสโรค และในเชิงคัดกรองและแยกผู้ติดเชื้อออกจากสถานประกอบการ มีการทบทวนและปรับระบบงานทางธุรกิจให้สอดรับกับสถานการณ์ เช่น การดูแลกระแสเงินสดในกิจการให้มีเพียงพอต่อการดำเนินงานในช่วงสถานการณ์ การปรับรูปแบบการทำงานแบบผสมผสานระหว่างการทำงานในสำนักงานและการทำงานนอกสถานที่ตั้ง การเพิ่มช่องทางติดต่อสื่อสารระยะไกลในแบบที่ไม่จำเป็นต้องพบปะซึ่งหน้า ฯลฯ

มิติความต่อเนื่องในห่วงโซ่อุปทาน สถานการณ์โควิด ได้ก่อให้เกิดความชะงักงันในสายอุปทาน การขาดแคลนวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิต และเกิดความล่าช้าในการส่งมอบ เนื่องมาจากผู้ส่งมอบและผู้ขนส่งไม่สามารถดำเนินงานได้ตามปกติ ทำให้กิจการต้องมีการปรับแผนการผลิตและวางแผนการบริหารจัดการด้านอุปทานใหม่ มีการปรับปรุงข้อตกลงหรือทุเลาบางข้อสัญญากับผู้ส่งมอบ การเพิ่มทางเลือกในการสรรหาวัตถุดิบทดแทน การทบทวนแผนการบริหารสินค้าคงคลังให้มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ ฯลฯ

มิติการตอบสนองต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สถานการณ์โควิด ได้สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้กิจการต้องเรียนรู้รูปแบบหรือพฤติกรรมการดำรงชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงจากวิถีปกติเดิม และปรับช่องทางการเข้าถึงลูกค้า การขาย การบริการ และการตลาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น การเพิ่มช่องทางทำธุรกรรมระยะไกลกับลูกค้า การให้บริการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ การให้บริการจัดส่งสินค้าแบบหน้าประตูถึงหน้าประตู (Door-to-Door Delivery) ฯลฯ

มิติความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สถานการณ์โควิด ได้กลายเป็นตัวเร่งเร้าให้ภาคธุรกิจ ต้องหันมาใช้เครื่องมือดิจิทัล เป็นช่องทางในการติดต่อ ทำธุรกรรม เป็นช่องทางหลักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในแง่ของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรภายในด้วยกันเอง ระหว่างกิจการกับลูกค้าและคู่ค้าภายนอก หรือแม้กระทั่งกับหน่วยงานภาครัฐหรือผู้กำกับดูแล ต่างก็หันมาใช้เครื่องมือดิจิทัลเป็นช่องทางหลักในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน วิถีปกติใหม่ บีบรัดให้กิจการจำต้องพัฒนาขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) เพื่อให้สามารถรองรับการทำงานโดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน

ทั้ง 4 มิติสำคัญข้างต้น มิใช่เป็นทางเลือกสำหรับให้ธุรกิจพิจารณา แต่เป็นทางรอดของทุกธุรกิจที่ต้องผันตัวเองเข้าสู่วิถีปกติใหม่ และควรต้องดำเนินการไปแล้วตั้งแต่เมื่อวาน !


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, September 25, 2021

Natural Asset Companies (NAC) : บริษัทกู้โลก

ไม่เกินสิ้นปีนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์ก จะพิจารณาให้มีการซื้อขายสินทรัพย์ประเภทใหม่ เรียกว่า Natural Asset Companies (NACs) หรือบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจซึ่งเป็นไปเพื่อการสร้างเสริมและดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

ด้วยเหตุที่ NAC มีสถานภาพเป็นธุรกิจ จึงมีการแสวงหารายได้ และสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุน เหมือนธุรกิจทั่วไป

แต่ความแตกต่างที่สำคัญ คือ ธุรกิจทั่วไป มีการดำเนินงานโดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ในฐานะ “ผู้ใช้” และมักเป็นการเผาผลาญหรือทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ร่อยหรอลงหรือหมดสิ้นไป เพื่อแปรสภาพหรือผลิตเป็นสินค้าและบริการสนองตลาด

อาทิ บริษัทพลังงานมีการขุดเจาะปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ เพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงจำหน่าย บริษัทเครื่องดื่มมีการใช้น้ำดิบจากธรรมชาติในกระบวนการผลิต บริษัทเฟอร์นิเจอร์มีการนำไม้จากป่ามาเป็นวัตถุดิบในการผลิต บริษัทการเกษตรมีการเข้าครอบครองแผ้วถางพื้นที่ทางธรรมชาติเพื่อทำการเพาะปลูกหรือทำปศุสัตว์ ฯลฯ

ขณะที่ NAC จะดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ พร้อมกันกับทำหน้าที่ในฐานะ “ผู้สร้าง” หรือ “ผู้ดูแล” ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้บริการทางนิเวศ (Ecosystem Service) ที่กิจการได้รับจากธรรมชาติ สามารถดำเนินสืบต่อเรื่อยไป

อาทิ บริษัทพลังงานมีการพัฒนาเชื้อเพลิงจากแหล่งกำเนิดพลังงานหมุนเวียนที่มีไม่จำกัด (เช่น พลังแสงอาทิตย์) หรือที่มีตามวัฏจักร (เช่น ชีวมวล) บริษัทผลิตอาหารมีการเพาะปลูกหรือทำปศุสัตว์เชิงฟื้นฟู (Regenerative) ที่มีการเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของดินและฐานทางชีวภาพของดิน ฯลฯ

วิธีการวัดมูลค่ากิจการ NAC จะพิจารณาจากสินทรัพย์ธรรมชาติ (Natural Asset) ที่บริษัทถือครองหรือประเมินจากสิทธิการเข้าถึงบริการทางระบบนิเวศที่กิจการนั้นได้รับ ซึ่งต้องมีการบันทึกบัญชีในรูปแบบที่แตกต่างจากมาตรฐานบัญชีการเงินที่ใช้ในปัจจุบัน

แนวทางหนึ่งที่มีการริเริ่มนำมาใช้แล้ว ได้แก่ การบัญชีระบบนิเวศ (Ecosystem Accounting) ที่ประกอบด้วย บัญชีขอบเขต (Extent) เงื่อนไข (Condition) บริการ (Services) ทางระบบนิเวศ และการบันทึกสินทรัพย์ (Asset) ทางระบบนิเวศในรูปตัวเงิน

แนวทางดังกล่าวจัดทำขึ้นภายใต้ระบบบัญชีเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม (System of Environmental-Economic Accounting: SEEA) โดยคณะกรรมาธิการสถิติของสหประชาชาติได้ให้การรับรองเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ หน่วยงาน Intrinsic Exchange Group (IEG) ที่กำลังทำงานร่วมกับตลาดหุ้นนิวยอร์ก เพื่อพิจารณากิจการประเภท NAC ได้มีการประเมินยอดตัวเลขบริการทางระบบนิเวศ อาทิ การกักเก็บคาร์บอน ความหลากหลายทางชีวภาพ น้ำสะอาด ฯลฯ ว่าอาจมีมูลค่าสูงถึง 125 ล้านล้านเหรียญต่อปี มากกว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมทั้งหมด ที่มีตัวเลขราว 90 ล้านล้านเหรียญต่อปี

ในอนาคต จะมีกิจการ NAC จำนวนไม่น้อย ที่มีโอกาสสร้างมูลค่ากิจการจากตัวเลขบริการทางระบบนิเวศ ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน

และเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนสาย ESG (Environmental, Social, and Governance) สามารถจัดสรรเม็ดเงินลงทุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดธุรกิจที่เรียกว่า Regenerative Business อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, September 11, 2021

โควิด-19 !! พลิกโฉม ภาพ CSR แบบถาวร...

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นานเกือบสองปี ทำให้การดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ตามแผนปกติประจำปีของทุกกิจการ จำต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ โดยรูปแบบการดำเนินงานสามารถแบ่งตามสถานการณ์ออกเป็น 3 ช่วงหลัก คือ ช่วงการรับมือ (Response) ช่วงการฟื้นสภาพ (Recovery) และช่วงการผันตัว (Resilience)

ช่วงการผันตัว ที่เรียกว่าภาวะพร้อมผัน (Resilience) หมายถึง สถานะของกิจการในการคงขีดความสามารถที่จะดำเนินงานต่อไปในอนาคต ไม่ว่าสถานการณ์จะพัฒนาไปในทิศทางใด ซึ่งขีดความสามารถ ในที่นี้ ครอบคลุมทั้งการดำเนินงานในรูปแบบเดิม และการที่กิจการต้องปรับตัวไปสู่การดำเนินงานในรูปแบบใหม่

จากการสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์ ต่อการผันตัว (Resilience) ของกิจการหลังสถานการณ์โควิด จำนวน 43 แห่ง ในปี 2564 พบว่า 3 ใน 4 ขององค์กรที่สำรวจ (74.4%) มีแผนเรื่อง Resilience แล้ว และกำลังดำเนินการในปีนี้ ที่เหลือราว 1 ใน 4 (25.6%) ยังไม่มีแผนในเรื่องดังกล่าว

ซึ่งในบรรดาองค์กรที่มีแผน Resilience และกำลังดำเนินการ ได้มุ่งเน้นความสำคัญไปยังด้านพนักงานมากสุด (90.7%) รองลงมาคือ ด้านลูกค้า (58.1%) และด้านสิ่งแวดล้อม (53.5%) ตามลำดับ โดยองค์กรที่ตอบแบบสำรวจกว่าสองในสาม (69.8%) ระบุว่า การมีแผน Resilience จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อองค์กรในการปรับตัวสู่การดำเนินธุรกิจในวิถีปกติใหม่ ขณะที่ ไม่ถึงหนึ่งในสามขององค์กรที่สำรวจ (30.2%) ระบุว่าเป็นประโยชน์ และไม่มีองค์กรใดจากการสำรวจที่ไม่เห็นประโยชน์จากการมีแผนในเรื่องดังกล่าว

การดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์หลังสถานการณ์โควิดระลอกนี้ ยังคงให้น้ำหนักความสำคัญกับประเด็นสุขภาพสืบเนื่องต่อไป เนื่องจากโรคโควิดจะมีสภาพกลายเป็นโรคประจำถิ่น และอาจมีการติดต่อหรือแพร่ระบาดจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในอนาคต การดูแลสุขภาพองค์กร (บุคลากรและระบบงาน) จึงกลายเป็นเรื่องพื้นฐานที่กิจการจำเป็นต้องดำเนินการในวิถีปกติใหม่ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานต่อไปได้อย่างราบรื่น ไม่หยุดชะงักจากการระบาดระลอกใหม่ หากเกิดขึ้น

การสร้างวัฒนธรรมสุขภาพ (Culture of Health) เป็นหนทางที่จะนำไปสู่การปลูกฝังภูมิคุ้มกันให้เกิดขึ้นกับองค์กรในระยะยาว ด้วยการนำประเด็นความยั่งยืนด้านสุขภาพองค์กร มาทบทวนให้เข้ากับสถานการณ์ทางธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ในกระบวนการวิเคราะห์สารัตถภาพ (Materiality Analysis) เพื่อกำหนดปัจจัยนำเข้าด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) สู่การปรับแต่งกลยุทธ์องค์กร (Corporate Strategy) สำหรับรองรับการขับเคลื่อนธุรกิจวิถีปกติใหม่ ที่กิจการจะต้องดำเนินสืบเนื่องต่อไปหลังสถานการณ์โควิด

โฉมหน้าการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ ในกลุ่มองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ หรือกลุ่มบิ๊กคอร์ป จะมีการกำหนดแนวทางความรับผิดชอบหมู่ หรือ ‘Herd CSR’ ขึ้นในกลุ่มบริษัท สำหรับให้กิจการในเครือดำเนินการร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อกำกับการใช้ทรัพยากรในเครือให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสร้างให้เกิดผลกระทบสูงกับสังคมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายอย่างตรงจุดและชัดเจน โดยการใช้แนวทางความรับผิดชอบหมู่ในกลุ่มบิ๊กคอร์ป จะขยายผลไปสู่ผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chains) และอาจยกระดับไปสู่การใช้ Herd CSR ภายในกลุ่มความร่วมมือ (Cluster) ในบางอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงจากสถานการณ์โควิด

และในเวลานี้ หลายองค์กรกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงการผันตัว (Resilience) ของกิจการเพื่อให้พร้อมดำเนินงานต่อในระยะยาวแล้ว


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, August 28, 2021

ทำ CSR ที่ไหนดี

แม้เรื่องการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ จะไม่ใช่เรื่องใหม่แล้วสำหรับองค์กรธุรกิจในยุคปัจจุบัน แต่ก็ยังเกิดข้อคำถามอยู่เป็นระยะๆ จากองค์กรหน้าใหม่ที่อยากเห็นผลของการทำ CSR อย่างจริงจัง และกระทั่งจากองค์กรเดิมที่ผู้บริหารหรือผู้ดูแล CSR เก่าเกษียณ และมีผู้เข้ามารับช่วงต่อหรือดูแลแทน ที่ปะติดปะต่อเรื่องได้ไม่แตกฉาน สงสัยว่า จะทำ CSR ที่ไหนดี

บ่อยครั้ง ผู้รับผิดชอบเรื่อง CSR ที่มิได้ศึกษาเนื้อหาถ่องแท้ พอหยิบคำว่า CSR มาพิจารณา เห็นมีคำว่า ‘สังคม’ อยู่ในศัพท์ เลยพลันชี้นิ้วออกไปข้างนอกองค์กร ตามความคุ้นชินว่า สังคม คือ ชุมชน คือ ชาวบ้าน ที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็เลยกลายเป็นกับดักขององค์กรหน้าใหม่หรือผู้ดูแลคนใหม่ ในการตั้งโจทย์ให้ CSR เท่ากับการออกไปช่วยเหลือชุมชน หรือไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน

อันที่จริง การมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวของเรื่อง CSR ถ้าเอาตามมาตรฐาน ISO26000 ที่ว่าด้วยเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม การมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน เป็นเพียงหนึ่งในเจ็ดหัวเรื่องหลัก (Core Subjects) ที่ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ แสดงว่า ยังมีอีกถึงหกเรื่องหลักที่องค์กรควรดำเนินการเช่นกัน

ต้องเข้าใจว่า สังคม ในบริบทของ CSR ประกอบด้วย สังคมภายในองค์กร (ผู้ถือหุ้น คณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ฯ) และสังคมภายนอกองค์กร ซึ่งยังแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ ได้แก่ สังคมใกล้ หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรโดยตรง (ลูกค้า คู่ค้า ชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบการ หน่วยงานรัฐหรือองค์กรอิสระที่เป็นผู้กำกับดูแล ฯ) และสังคมไกล หรือผู้ที่มิได้เกี่ยวข้องกับองค์กรโดยตรง (คู่แข่งขันทางธุรกิจ หน่วยราชการในท้องที่ ชุมชนและสิ่งแวดล้อมโดยรวม ฯ)

ฉะนั้น หากผู้ที่ดูแล CSR ยังยืนยันว่าเรื่อง CSR ต้องทำที่ สังคม ก็ต้องเรียนว่า ขอบเขตของการดำเนินการ จำเป็นต้องหยิบยกผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งที่เป็นสังคมภายในองค์กรและสังคมภายนอกองค์กร หรือเรียกว่าเป็น ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ของกิจการมาพิจารณาอย่างครอบคลุมรอบด้าน

นี่จึงเป็นที่มาว่า CSR ตามมาตรฐาน ISO26000 ในอีกหกเรื่องหลัก ได้แก่ การกำกับดูแลองค์กร สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม การปฏิบัติดำเนินงานอย่างเป็นธรรม และประเด็นด้านผู้บริโภค เกี่ยวข้องกับการพิจารณาดำเนินการกับเหล่าผู้มีส่วนได้เสียของกิจการนั่นเอง

ในทางปฏิบัติ ผู้ดูแลงาน CSR หลายองค์กร มักถูกกำหนดบทบาทการทำงานให้จำกัดอยู่ที่การมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน เนื่องเพราะเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารระดับสูง เข้าใจผิดว่า โจทย์งาน CSR เท่ากับการออกไปช่วยเหลือชุมชน ทำให้การดำเนินงาน CSR ขององค์กรไปไม่ถึงไหน หรือหาความยั่งยืนไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ การสร้างความเข้าใจให้กับเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารระดับสูงในเรื่องขอบเขตงาน CSR จึงเป็นเรื่องสำคัญต่อการมอบหมายงานและขับเคลื่อนเรื่อง CSR ให้ประสบผลสำเร็จ

เมื่อองค์กรทราบขอบเขตของงาน CSR ตามที่ควรจะเป็นแล้ว ข้อคำถามที่ว่า จะทำ CSR ที่ไหนดี ผู้ดูแลงาน CSR จะพบกับคำตอบว่า ก็ควรเริ่มจากที่ซึ่งมีผลกระทบเกิดขึ้นจากการประกอบการ (หรือที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการประกอบการ)

ผลกระทบ ในที่นี้ เป็นได้ทั้ง ด้านบวก-ด้านลบ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน-ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ทางตรง-ทางอ้อม ระยะสั้น-ระยะยาว โดยเจตนา-โดยไม่เจตนา และสามารถเกิดขึ้นทั้งในองค์กรและนอกองค์กรหรือทั้งสองกรณี

ความสามารถในการระบุพิกัด (Where) หรือบริเวณที่ผลกระทบเกิดขึ้น (หรือคาดว่าจะเกิดขึ้น) เพื่อนำมาจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการ เป็นกลไกที่ทำให้การขับเคลื่อนเรื่อง CSR สัมฤทธิ์ผล ภายใต้เงื่อนไขของงบประมาณ ข้อจำกัดทางทรัพยากร และระยะเวลาที่ใช้สำหรับดำเนินการ เพราะองค์กรไม่สามารถทำได้ทุกเรื่อง แต่สามารถทำให้ถูกเรื่องได้

เมื่อองค์กรรู้ชัดว่า ควรทำ CSR ที่ไหน ได้อย่างตรงจุด ก็หมายความว่า ขอบเขตการดำเนินงานทางสังคมได้รับการพิจารณาอย่างรอบด้าน ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องได้รับการตอบสนอง ผลกระทบจากการประกอบการที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียได้รับการจัดการหรือดูแลแก้ไข ปัญหาเรื่องความยั่งยืนที่องค์กรเพรียกหา ก็จะหมดไปโดยปริยาย


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, August 14, 2021

ค้าขายออนไลน์ ต้องใช้แบรนด์แข่งขัน

สถานการณ์โควิด บีบบังคับให้ธุรกิจต้องปรับตัวไปจากเดิม เพื่อรักษาขีดความสามารถในการเข้าถึงลูกค้า ความจำเป็นที่จะต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือการจำกัดวิธีพบปะซึ่งหน้า ทำให้ช่องทางออนไลน์ กลายเป็นเครื่องมือกำหนดความสำเร็จต่อการปรับตัวของธุรกิจในยุคโควิด

แต่ใช่ว่า ทุกกิจการจะประสบความสำเร็จจากการย้ายธุรกิจจากการพึ่งหน้าร้าน มาสู่ออนไลน์ เพราะในแต่ละเซกเมนต์ของตลาด ไม่ว่าจะขายอาหาร เครื่องสำอาง หรือบริการต่าง ๆ ผู้บริโภคไม่สามารถจดจำสินค้าหรือร้านค้าได้ทั้งหมดในแต่ละส่วนตลาดนั้น จะมีเพียงร้านค้าที่นึกถึงในอันดับต้นๆ และสิ่งที่ทำให้ลูกค้าจดจำในลักษณะนั้นได้ ก็คือ การสร้างแบรนด์ หรือตราสินค้า

หากตัวสินค้า หมายถึง สิ่งที่เราสร้างขึ้นเพื่อใช้งาน โดยมีตัวตนอยู่ในเชิงกายภาพ แบรนด์สินค้าจะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภครับรู้ต่อคุณลักษณะหรือคุณประโยชน์ของสินค้านั้น โดยมีตัวตนอยู่ในจิตใจ

แบรนด์ หรือตราสินค้าที่ดี ควรจะต้องมีองค์ประกอบเบื้องต้น 4 ประการ ได้แก่

1. จุดต่างที่โดดเด่น ซึ่งไม่ใช่เพียงจุดที่ดีกว่าคู่แข่ง ธุรกิจที่เข้าสู่โลกออนไลน์ส่วนใหญ่ที่ล้มเหลว เพราะใช้กลยุทธ์ “Me, too.” หรือสร้างตามธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ถ้าโชคดี ธุรกิจเหล่านี้อยู่รอด ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น ก็จะไม่สามารถมีได้มากไปกว่าผู้นำที่เราเอาอย่าง นี่ยังไม่ได้หักลบปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากการแข่งขันกับธุรกิจรายอื่น ๆ ที่ใช้กลยุทธ์ "Me, too." ในการเข้าตลาดเหมือนกัน เมื่อแก่นของธุรกิจที่สร้างนั้นเป็นการเอาอย่าง การสร้างแบรนด์จากแก่นธุรกิจจึงยากที่จะหาความแตกต่างที่ชัดเจนได้ ทำให้จำเป็นที่จะต้องใช้คุณลักษณะ (Attribute) ข้างเคียงอื่นๆ ในการสร้างความแตกต่างแทน

2. อัตลักษณ์ที่พัฒนามาจากจุดต่างที่โดดเด่นในองค์ประกอบแรก การสร้างอัตลักษณ์จะกระทำได้ง่ายในตลาดเกิดใหม่ เป็นสินค้าใหม่ หรือบริการใหม่ที่ยังไม่มีผู้ใดทำมาก่อน แต่สำหรับตลาดที่มีผู้เล่นเดิมอยู่เป็นจำนวนมากรายแล้ว ต้องค้นหาตำแหน่งของแบรนด์จากจุดแข็งของสินค้า และบริการ ที่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นจุดอ่อนสำคัญของสินค้าและบริการของคู่แข่งขัน แล้วนำมาพัฒนาเป็น Proposition ที่สั้น กระชับ และอย่างตรงจุด เพื่อใช้ในกระบวนการสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวสินค้ากับลูกค้า

3. ความสัมพันธ์ของตราสินค้า เป็นการผูกโยงแบรนด์เข้ากับสิ่งรอบข้างทั้งหลาย ทั้งความสัมพันธ์ในแง่ของชื่อสินค้า ชื่อบริการ หรือชื่อบริษัท ที่จะนำมาเป็นแบรนด์ ความสัมพันธ์ในแง่ขององค์กร ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เครื่องแบบของพนักงาน รถบริษัท เอกสารเผยแพร่สินค้าของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพนักงานของบริษัท ที่ต้องทำหน้าที่เป็นสื่อหรือตัวแทนในการประชาสัมพันธ์กับบุคคลภายนอก

4. การสื่อสารตราสินค้า เป็นการประชาสัมพันธ์แบรนด์สู่สาธารณชน การสื่อสารนี้มิได้มีจุดประสงค์เพียงเพื่อสร้างการรับทราบ (Awareness) ในแบรนด์เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องรวมถึงความรู้สึก ความทรงจำ หรือความประทับใจ ที่รวมกันเป็นการระลึกได้ (Recognition) ถึงสิ่งต่าง ๆ ภายใต้แบรนด์นั้น ๆ ด้วย ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าการสร้างแบรนด์ มิใช่การโฆษณา การโฆษณาเป็นเพียงเครื่องมือหรือช่องทางหนึ่งในการสร้างแบรนด์

การสร้างแบรนด์เพื่อขยับขยายธุรกิจเข้าสู่โลกออนไลน์ ไม่สามารถทำได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่หากกิจการไม่เริ่มสร้างแบรนด์เพื่อให้เป็นที่จดจำในใจของผู้บริโภคได้ในอันดับต้น ๆ เราก็ไม่สามารถเป็นหนึ่งในกิจการที่ประสบความสำเร็จในการเข้าถึงลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และก็จะกลายเป็นข้ออ้างว่า ช่องทางออนไลน์ไม่เหมาะกับธุรกิจที่ตนดำเนินอยู่


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, July 31, 2021

การลงทุน ESG เติบโตต่อเนื่อง

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และกำลังส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของทุกประเทศที่มีการระบาด แต่การลงทุนในหมวดการลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Investment) โดยเฉพาะการลงทุนที่คำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) กลับมีตัวเลขการเติบโตที่ต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (Compound Annual Growth Rate: CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 25 ต่อปี ในช่วง 5 ปี (ค.ศ.2016-2020) ที่ผ่านมา

จากข้อมูลการสำรวจ 2020 Global Sustainable Investment Review ของ Global Sustainable Investment Alliance (GSIA) ระบุว่า การเติบโตของกลยุทธ์การลงทุนที่ใช้ข้อมูล ESG ผนวกในการวิเคราะห์ตัดสินใจลงทุน มีเม็ดเงินสูงถึง 25.2 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2563 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 43.6 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2561

สำหรับตัวเลขการลงทุนที่ยั่งยืนทั่วโลก มีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นจาก 30.68 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2561 มาอยู่ที่ 35.3 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2563 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ในช่วงเวลา 2 ปี โดยการลงทุนในหมวดนี้ คิดเป็นร้อยละ 35.9 ของขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ทั้งหมด จำนวน 98.42 ล้านล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของการลงทุนที่ยั่งยืน ซึ่งมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น

โดยสัดส่วนเม็ดเงินลงทุนตามกลยุทธ์การลงทุนที่ยั่งยืน 7 รูปแบบตามการจำแนกของ GSIA* พบว่า การลงทุนโดยผนวกเกณฑ์ด้าน ESG ในกระบวนการตัดสินใจลงทุน (ESG integration) มีมูลค่ามากสุด รองลงมาเป็นการลงทุนโดยใช้เกณฑ์คัดกรองด้านลบ / ตัดออกจากกลุ่ม (Negative/exclusionary screening) อยู่ที่ 15 ล้านล้านเหรียญ การลงทุนเพื่อใช้สิทธิผู้ถือหุ้นออกเสียงในกิจการ (Corporate engagement and shareholder action) อยู่ที่ 10.5 ล้านล้านเหรียญ การลงทุนโดยใช้เกณฑ์คัดกรองที่เป็นบรรทัดฐานนิยม (Norms-based screening) อยู่ที่ 4.14 ล้านล้านเหรียญ การลงทุนตามประเด็นความยั่งยืนที่สนใจ (Sustainability themed investing) อยู่ที่ 1.95 ล้านล้านเหรียญ การลงทุนโดยใช้เกณฑ์คัดกรองด้านบวก / เลือกที่ดีสุดในกลุ่ม (Positive/best-in-class screening) อยู่ที่ 1.38 ล้านล้านเหรียญ และการลงทุนเพื่อชุมชน / เป็นผลดีต่อโลก (Impact/community investing) อยู่ที่ 0.35 ล้านล้านเหรียญ ตามลำดับ

ขณะที่การลงทุนที่ยั่งยืนในประเทศไทย จากการสำรวจของมอร์นิ่งสตาร์ผ่านการลงทุนในกองทุนจำนวน 48 กองทุน ในไตรมาสที่สองของปี ค.ศ.2021 พบว่า มีมูลค่าทรัพย์สินรวมอยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 86.5 จากเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.2020

โดยในรอบครึ่งปีมีเงินไหลเข้าสุทธิ 2.4 หมื่นล้านบาท (ไตรมาสล่าสุดเป็นเงินไหลออกสุทธิ 1.5 พันล้านบาท) มีกองทุนเปิดใหม่จำนวน 5 กองทุน รวมครึ่งปีแรกมีกองทุนเปิดใหม่ 20 กองทุน ในจำนวน 48 กองทุนเป็นการลงทุนหุ้นในประเทศ 15 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินราว 1.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.7 ของมูลค่าการลงทุนที่ยั่งยืนทั้งหมด

และหากพิจารณาในแง่ผลตอบแทนของการลงทุนที่ยั่งยืน จากดัชนี Thaipat ESG Index ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบด้วยหลักทรัพย์ที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG ซึ่งคัดเลือกจากกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ที่ประเมินโดยสถาบันไทยพัฒน์ พบว่าผลตอบแทนรวม (Total Return) ย้อนหลัง 1 ปี ของ Thaipat ESG Index (THAIESGT) อยู่ที่ร้อยละ 25.85 ขณะที่ ดัชนีผลตอบแทนรวม SET TRI ซึ่งเป็นดัชนีสะท้อนภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์ ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ร้อยละ 17.65 (ข้อมูล ณ 29 ก.ค. 64)

ชี้ให้เห็นว่า การลงทุนที่ยั่งยืนโดยคำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG สามารถให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า Benchmark หรือเกณฑ์อ้างอิงที่ใช้เปรียบเทียบผลตอบแทนของตลาดโดยรวม และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผลตอบแทนจากการลงทุนในแบบ ESG ทั่วโลก จึงเป็นหลักฐานสนับสนุนหนึ่ง ที่ผลักดันให้ปริมาณการลงทุน ESG มีอัตราที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง


--------------------------------------
* 7 รูปแบบการลงทุนที่ยั่งยืน ตามการจำแนกของ GSIA ประกอบด้วย
การลงทุนโดยผนวกเกณฑ์ด้าน ESG ในกระบวนการตัดสินใจลงทุน (ESG integration): เป็นการผนวกการพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล อย่างชัดแจ้งในกระบวนการตัดสินใจลงทุน

การลงทุนโดยใช้เกณฑ์คัดกรองด้านลบ / ตัดออกจากกลุ่ม (Negative/exclusionary screening): เป็นการคัดกรองการลงทุน โดยไม่เลือกลงทุนในอุตสาหกรรม ในบริษัท หรือในโครงการ โดยใช้เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ในการคัดหลักทรัพย์ออกจากการพิจารณาลงทุน

การลงทุนเพื่อใช้สิทธิผู้ถือหุ้นออกเสียงในกิจการ (Corporate engagement and shareholder action): เป็นการใช้อำนาจของผู้ถือหุ้นในการแทรกแซงบทบาทของกิจการ ผ่านการสานสัมพันธ์กับกิจการโดยตรง (อาทิ ติดต่อสื่อสารกับผู้บริหารระดับสูง และ/หรือคณะกรรมการบริษัท) การเสนอหรือร่วมจัดทำข้อเสนอในฐานะผู้ถือหุ้น (อาทิ การเสนอวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น และ/หรือ การเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการบริษัท) รวมถึงการออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นที่เป็นไปตามแนวทาง ESG โดยรวม

การลงทุนโดยใช้เกณฑ์คัดกรองที่เป็นบรรทัดฐานนิยม (Norms-based screening): เป็นการคัดกรองการลงทุนโดยใช้เกณฑ์ด้านมาตรฐานระหว่างประเทศหรือบรรทัดฐานสากล อาทิ OECD, ILO, UN, UNICEF ฯลฯ ในการคัดสินทรัพย์ที่จะเลือกลงทุนหรือไม่เลือกลงทุน รวมถึงการเพิ่มหรือลดน้ำหนักการลงทุน

การลงทุนตามประเด็นความยั่งยืนที่สนใจ (Sustainability themed investing): เป็นการลงทุนที่ให้น้ำหนักกับประเด็นความยั่งยืนต่อสินทรัพย์ที่เข้าลงทุน อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงานทดแทน เทคโนโลยีสะอาด เกษตรกรรม น้ำ อาหาร ฯลฯ โดยอาจพิจารณาเพียงประเด็นใดประเด็นหนึ่งโดยเฉพาะหรือในหลายประเด็นร่วมกัน

การลงทุนโดยใช้เกณฑ์คัดกรองด้านบวก / เลือกที่ดีสุดในกลุ่ม (Positive/best-in-class screening): เป็นการคัดกรองการลงทุนในอุตสาหกรรม ในบริษัท หรือในโครงการ ที่เลือกจากยูนิเวอร์สของหลักทรัพย์ที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เทียบกับหลักทรัพย์อื่นในกลุ่ม

การลงทุนเพื่อชุมชน / เป็นผลดีต่อโลก (Impact/community investing): เป็นการลงทุนมุ่งผลกระทบ มักเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่อยู่นอกตลาด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลงทุนในระดับชุมชน ที่เม็ดเงินจะถูกกระจายไปยังบุคคลหรือกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุน หรือไปยังธุรกิจที่มีความมุ่งประสงค์ (Purpose) ทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน



จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, July 17, 2021

โฉมหน้าสำนักงานหลังโควิด

แม้สถานการณ์ระบาดของโควิดระลอกใหม่ ยังไม่คลี่คลาย องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ ยังอยู่ในโหมดรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า แต่ปรากฏการณ์ของโควิดได้แสดงให้เห็นถึงทิศทางและรูปแบบการทำงานในอนาคตที่จะเปลี่ยนโฉมไปจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง

สำนักวิจัยข้อมูล เอเดลแมน ดาตา แอนด์ อินเทลลิเจนซ์ (DxI) ได้เผยแพร่รายงานการสำรวจ 2021 Work Trend Index ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากแรงงานกว่า 30,000 คน จาก 31 ประเทศ พบว่า ร้อยละ 41 ของแรงงานที่ทำการสำรวจทั่วโลก กำลังพิจารณาจะออกจากงานที่ทำในปัจจุบันภายในสิ้นปีนี้ และร้อยละ 46 มีความเป็นไปได้ที่จะย้ายงาน เนื่องจาก สามารถทำงานที่บ้านได้

อิทธิพลจากโควิด ได้ก่อให้เกิดความจำเป็นในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) โดยในหลายส่วนงาน พบว่า มิได้ทำให้ผลิตภาพด้อยลงไปกว่าเดิม ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสนับสนุนการทำงาน และลูกจ้างรู้สึกว่า ต้องการทำงานที่บ้านมากขึ้น แม้สถานการณ์โควิดจะคลี่คลาย ขณะที่ นายจ้างมีความคาดหวังให้พนักงานกลับมาทำงานตามปกติยังสำนักงาน

สถานการณ์ปัจจุบัน ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า เรากำลังอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการทำงาน โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลหนุนหลัง และพฤติกรรมนี้ จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่กับระบบนิเวศการทำงานทั่วโลกในไม่ช้า

แนวโน้มของสำนักงานในอนาคต และระบบนิเวศการทำงานที่จะเปลี่ยนแปลงไป หลังสถานการณ์โควิด ได้แก่

สำนักงานในอนาคต จะไม่มีคำว่า โต๊ะหรือที่นั่งประจำ แต่จะเป็น Hot Desk ที่หมุนเวียนสลับกันใช้ทำงาน สำหรับพนักงานที่เข้าออฟฟิศ ความจำเป็นที่จะต้องมีพื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่ในสำนักงานลดน้อยลง และอาจไปไกลถึงขั้นที่ พื้นที่สำนักงาน จะมีสภาพคล้ายโรงแรม เป็น Shared Office ที่สามารถเช่าใช้เป็นรายวัน และมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันกว่าที่สำนักงานประจำเคยมี

สำนักงานในอนาคต จะมีลักษณะกระจายตัวไม่รวมศูนย์ (Decentralized) ไม่จำเป็นต้องมีฝ่ายงานต่าง ๆ อยู่ที่เดียวกัน สำหรับบรรษัทข้ามชาติ ฝ่ายงานบัญชีการเงิน อาจอยู่คนละประเทศกับฝ่ายวิจัยและพัฒนา ฝ่ายผลิตจะมีโรงงานตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบ หรือฝ่ายขายและการตลาด อาจใช้วิธีเช่าโหนดกระจายในท้องถิ่นหรือชุมชนที่สามารถเข้าถึงตัวกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

ในเมื่อองค์กรไม่จำเป็นต้องมีสำนักงานใหญ่ ซึ่งเคยเป็นที่รวมของบุคลากรจำนวนมาก ทำให้พนักงานไม่มีความจำเป็นต้องเดินทางมาสำนักงานดังแต่ก่อน อุปสงค์ในเรื่องที่พักหรือบ้านหลังที่สอง ให้อยู่ใกล้สำนักงาน เพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายเดินทาง จะหายไป

ภูมิทัศน์ในเรื่องที่พักอาศัยและอสังหาริมทรัพย์สำหรับคนทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ คอนโดมีเนียมราคาแพงในเมืองอาจมีสภาพล้นตลาด บ้านชานเมืองที่มีพื้นที่ใช้สอย อากาศดี และราคาไม่แพงอาจจะกลับมาเป็นตัวเลือกของคนรุ่นใหม่

ค่าใช้จ่ายสวัสดิการที่เป็นค่าเดินทาง ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จะได้รับการจัดสรรใหม่ไปเป็นค่าสาธารณูปโภค ค่าเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตามปริมาณรับส่งข้อมูลที่ใช้เพื่อการทำงานที่บ้าน ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต จะมีบริการบัญชีผู้ใช้รองรับการคำนวณค่าบริการตามสัดส่วนที่เป็นการใช้งานส่วนตัวและการเข้ารหัสข้อมูลใช้งานสำหรับองค์กร เพื่อแยกรายการใช้จ่าย (ลดภาระ) ให้แก่ผู้ใช้บริการ

ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและตกแต่งภายใน จะเปิดให้บริการรับก่อสร้างและตกแต่งสำนักงานที่บ้าน พร้อมติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ ระบบสำรองไฟฟ้า เครื่องใช้สำนักงาน อุปกรณ์และเครือข่ายสื่อสารแบบครบวงจร

เหล่านี้ คือ ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นสำหรับการทำงาน และสภาพแวดล้อมการทำงาน แม้สถานการณ์โควิดได้ผ่านพ้น โดยที่นายจ้างมิอาจเพิกเฉยหรือละเลยการมาถึงของแนวโน้มสำนักงานในอนาคต


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, July 03, 2021

ผลตอบแทนหุ้น ESG ครึ่งปีแรก

แม้การลงทุนโดยใช้ข้อมูลในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) เป็นปัจจัยประกอบสำหรับการตัดสินใจลงทุน จะยังมิใช่การลงทุนกระแสหลักในบ้านเรา แต่ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการส่งเสริมให้บริษัทที่ลงทุน (Investees) มีการดูแลสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี ในขณะที่ผู้ลงทุนยังคงได้รับผลตอบแทนที่ไม่ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป

มอร์นิ่งสตาร์ ได้ทำการสำรวจข้อมูลการลงทุนที่คำนึงถึง ESG ผ่านกองทุนยั่งยืนที่จดทะเบียนในประเทศไทย พบว่า ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มูลค่ากองทุนยั่งยืนในประเทศไทยรวมอยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท หรือโตเกือบเท่าตัวจากสิ้นปี 2020

อย่างไรก็ดี มูลค่าทรัพย์สินเกือบทั้งหมดเป็นการลงทุนในต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่ารวม 5.5 หมื่นล้านบาทหรือราว 97% ของมูลค่าการลงทุนอย่างยั่งยืนในประเทศไทย ในขณะที่การลงทุนในประเทศมีมูลค่ารวมเพียง 1.5 พันล้านบาท

แสดงให้เห็นว่า การลงทุนอย่างยั่งยืนในประเทศ ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก หากมีการส่งเสริมให้มีอุปทาน (Supply) คือ จำนวนบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินการด้าน ESG และมีการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ลงทุนได้มียูนิเวอร์สที่เป็นหุ้นยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้ริเริ่มพัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจในประเทศไทย ได้มีการประเมินและจัดทำรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG ที่เรียกว่า ทำเนียบหุ้น ESG100 นับตั้งแต่ปี 2558 และดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่เจ็ดในปีนี้

ในปี 2561 ได้เริ่มคัดเลือกหุ้น ESG100 มาจัดทำเป็น Thaipat ESG Index ซึ่งเป็นดัชนี ESG แรกในประเทศไทย ที่ใช้การคำนวณดัชนีด้วยวิธีถ่วงน้ำหนักหลักทรัพย์เท่ากัน (Equal Weighed Index) คือ ให้ความสำคัญกับหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของดัชนีเท่ากันทุกหลักทรัพย์ โดยไม่ขึ้นกับขนาดของหลักทรัพย์ และมี S&P Dow Jones เป็นผู้คำนวณข้อมูลดัชนีและเผยแพร่ผ่านหน้าจอ Bloomberg และ Reuters ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วโลก

โดยเมื่อพิจารณาผลตอบแทนรวม (Total Return) ในครึ่งปีแรกของปีนี้ พบว่า Thaipat ESG Index (THAIESGT) ให้อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 14.45% และหากคำนวณระหว่างช่วงต้นปี 63 ตั้งแต่ที่มีสถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้น จนถึงปัจจุบัน (1 ก.ค. 64) พบว่า อัตราผลตอบแทนของดัชนี THAIESGT อยู่ที่ 16.24%

ขณะที่ดัชนีผลตอบแทนรวม SET TRI ซึ่งเป็นดัชนีสะท้อนภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์ ให้ผลตอบแทนครึ่งปีแรกอยู่ที่ 11.89% และอัตราผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงปัจจุบัน (1 ก.ค. 64) อยู่ที่ 6.03%

เป็นเครื่องยืนยันว่า นอกจากที่การลงทุนโดยคำนึงถึงปัจจัย ESG จะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ยังสามารถให้ผลตอบแทนการลงทุนที่สูงกว่า Benchmark หรือเกณฑ์อ้างอิงที่ใช้เปรียบเทียบผลตอบแทนตลาดโดยรวมด้วย


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, June 19, 2021

120 วัน ธุรกิจต้องเตรียมอะไร

เป้าหมาย 120 วันในการเปิดประเทศ ได้ถูกประกาศโดย พล อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันพุธ (16 มิ.ย.) ที่ผ่านมา จากความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ที่ต้องเปิดเมืองให้พี่น้องประชาชนสามารถกลับออกมาทำมาหากินกันได้อีกครั้ง โดยไม่สามารถรอให้ทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสกันถ้วนหน้าก่อน แล้วจึงค่อยเปิดประเทศ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์ในปัจจุบัน มาถึงจุดที่ประชาชนคนไทยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิดให้ได้เหมือนกับโรคภัยอื่นๆ โดยหวังพึ่งมาตรการจัดการให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เพราะทั่วโลกรวมทั้งไทย จะต้องอยู่กับไวรัสนี้ต่อไปอีก โดยยังไม่มีท่าทีว่าจะหมดสิ้นไปในเร็ววัน

แม้ความน่าจะเป็นของการเปิดประเทศภายใต้เป้าหมายดังกล่าว จะไม่เต็มร้อย เนื่องด้วยข้อจำกัดของอัตราการกระจายวัคซีน ประสิทธิภาพของวัคซีนเอง และธรรมชาติของการแพร่ระบาดที่ควบคุมได้ยาก แต่ก็ถือเป็นหลักไมล์ที่ทุกภาคส่วนต้องการบรรลุ มิฉะนั้น ไทยก็จะอาจจะตกขบวนเศรษฐกิจโลก ที่หลายชาติขณะนี้ เริ่มกำหนดแผนในการเปิดประเทศแล้วเช่นกัน

สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องเตรียมการในห้วงเวลา 120 วัน เริ่มจากการสำรวจหน้าตักของตนเอง ว่ามีวัตถุดิบ มีทุน มีทรัพยากรเหลือพอ ที่พร้อมรองรับการกลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้งหรือไม่ เพียงใด และหากมีไม่เพียงพอ จะมีช่องทางในการเสาะหาทุนที่ขาดเหล่านั้น เข้ามาเติมได้อย่างไร

ทั้งนี้ องค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก จะมีความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งทุน หรือมีความสามารถในการเติมทุนที่จำกัด สิ่งที่ทำได้ในทางปฏิบัติ คือ การแสวงหาหุ้นส่วนร่วมดำเนินงานจาก 3 แหล่ง ได้แก่

แหล่งแรก คือ หุ้นส่วนความร่วมมือในห่วงโซ่คุณค่า เป็นการแสวงหาความร่วมมือระหว่างคู่ค้าภายในห่วงโซ่คุณค่า เพื่อเติมทักษะ เทคโนโลยี แพลตฟอร์มออนไลน์ และทรัพยากรอื่นๆ ที่จำเป็น สำหรับนำไปสู่การกลับมาดำเนินธุรกิจในตลาดได้อีกครั้งหนึ่ง

แหล่งที่สอง คือ โครงการความร่วมมือในอุตสาหกรรม ที่ริเริ่มขึ้นโดยสมาคมการค้าในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม การรวมซื้อวัตถุดิบเพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำ ระบบโลจิสติกส์ร่วม การจัดหาแหล่งสินเชื่อเร่งด่วน ดอกเบี้ยต่ำ การซื้อขายลูกหนี้ทางการค้า (Factoring) ฯลฯ สำหรับเป็นตัวช่วยในการฟันฝ่าอุปสรรคความท้าทายที่มีร่วมกัน

แหล่งที่สาม คือ หุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย ที่ซึ่งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งสถาบันการเงิน ร่วมกันเสริมแรงในการฟื้นคืนปัจจัยทางเศรษฐกิจ ด้วยการทำงานแบบข้ามภาคส่วน ในลักษณะที่เป็นเครือข่ายความร่วมมือ (Cluster) เพื่อให้ได้ระบบนิเวศที่กลับมาใช้บริการได้ดังเดิม

ทั้งนี้ องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งมีทรัพยากรและสายป่านยาว ควรลุกขึ้นมาดำรงบทบาทเป็นองค์กรนำ ทำหน้าที่ประสานและรวบรวมองค์กรขนาดเล็ก ให้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือ โดยใช้ประโยชน์จากขีดความสามารถหลักที่ตนเองมีอยู่ แยกโครงการที่ทำออกจากประเด็นทางการเมือง วางโครงสร้างการกำกับดูแลที่ชัดเจน สร้างกรอบการติดตามงานเดียว มุ่งเน้นที่ผลกระทบและประโยชน์ที่จะตกกับภาคีความร่วมมือเป็นสำคัญ

เป้าหมาย 120 วัน จะเป็นบทพิสูจน์การทำงานของทุกภาคส่วนที่ต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นประโยชน์เพื่อบ้านเมืองของผู้คนทุกกลุ่ม

หากเรายังมีทัศนคติในแบบที่ต่างคนต่างเดิน หรือต่างคนต่างเอาตัวรอด เราจะไม่มี 120 วัน รอบใหม่ สำหรับเปิดประเทศในคำรบสอง


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, June 05, 2021

จะ ‘หยุด’ หรือ ‘อยู่’ กับโควิด

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในประเทศไทย ดูจะยังไม่มีแนวโน้มในทางที่ลดลงในเร็ววัน การติดเชื้อในคลัสเตอร์ใหม่ๆ โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรม ได้สร้างความกังวลในทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เพราะจะส่งผลกระทบเป็นทอดๆ ในห่วงโซ่ธุรกิจ ตั้งแต่การหยุดหรือย้ายสายการผลิต ความชะงักงันในสายอุปทาน ความล่าช้าในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการส่งออก

แผนหลักที่ทุกฝ่ายกำลังทำงานหนักในเวลานี้ คือ การระดมฉีดวัคซีนให้กว้างขวางที่สุด เพื่อที่จะระงับการระบาด และสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

อย่างไรก็ดี การวางแผนที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการคาดการณ์ฉากทัศน์ (Scenario) ทั้งในด้านที่เป็นไปตามแผน และที่อาจไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้

การตั้งโจทย์ที่แตกต่างออกไป จะทำให้เห็นทางออกหรือทางแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่ครอบคลุมรอบด้าน รวมทั้งใช้เป็นแผนสำรองในกรณีที่การดำเนินงานตามแผนหลักไม่เป็นผล

มาตรการที่เรากำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ เป็นไปเพื่อตอบโจทย์ 'จะหยุดโควิดได้อย่างไร' ขณะเดียวกัน ทีมงานผู้จัดทำแผน ก็ควรจะต้องคำนึงถึงโจทย์ที่ว่า 'จะอยู่กับโควิดได้อย่างไร' เพื่อรองรับฉากทัศน์ในด้านที่ไม่เป็นไปตามแผนหลัก

มาตรการ 'หยุด' เชื้อ คือ การใช้วิธีกำจัดหรือยับยั้งมิให้เชื้อแพร่กระจาย โดยมีเครื่องมือที่จำเป็น คือ การใช้วัคซีน การล็อกดาวน์พื้นที่ เป็นต้น

ในความเป็นจริง เราอาจไม่สามารถขจัดเชื้อให้หมดไปจนเป็นศูนย์ ทำให้ต้อง 'อยู่' กับโควิด ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในกรณีนี้ เครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ จะแตกต่างจากกรณีการหยุดเชื้อมิให้ระบาด เช่น การจัดเขต (Zoning) การจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพ การกำหนดกะการทำงาน (สำหรับบุคลากรหรืองานที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค) การสร้างวัฒนธรรมสุขภาพ ฯลฯ

ในภาคธุรกิจ การอยู่กับโควิด มีสิ่งที่องค์กรต้องพิจารณาดำเนินการใน 4 ระดับที่เชื่อมโยงกับกระบวนงาน-โครงสร้าง-ความสัมพันธ์-โมเดลทางธุรกิจ ตามลำดับ

ระดับที่หนึ่ง เริ่มจากการที่ธุรกิจ ดำเนินการพิจารณาทบทวนกระบวนงานของกิจการ ในทางที่เอื้อให้เกิดความต่อเนื่องทางธุรกิจ การลดผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นจากการคงอยู่ของโควิด เป็นการจัดกระบวนงานในธุรกิจ (Business Process) ใหม่ ให้ตอบสนองต่อสถานการณ์และให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้

ระดับที่สอง เป็นการนำเอาประเด็นด้านสุขภาพที่ต้องเฝ้าระวังจากโควิด มาใช้เป็นแนวในการกำหนดเป้าประสงค์ และกลยุทธ์เชิงรุก เพื่อพัฒนาความริเริ่มใหม่ ๆ ในอันที่จะสร้างคุณค่าร่วม หรือสร้างผลกระทบทางบวกแก่ธุรกิจ เป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจ (Business Structure) ให้ตอบสนองต่อสถานการณ์และสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ

ระดับสาม เป็นการขยายการทำงานร่วมกันกับผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย หรือเป็นการพัฒนาหุ้นส่วนร่วมดำเนินงานรัฐ-เอกชน เพื่อเพิ่มผลลัพธ์หรือผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง เป็นการสานสัมพันธ์ทางธุรกิจ (Business Engagement) ในการขยายบทบาทหรืออิทธิพลไปสู่หน่วยงานที่อยู่รายรอบ ให้ตอบสนองต่อสถานการณ์และขยายผลสู่วงกว้าง

ระดับที่สี่ เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบทางธุรกิจ ที่ส่งผลต่อตัวผลิตภัณฑ์หรือบริการในปัจจุบัน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ธุรกิจมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ที่สอดคล้องกับการคงอยู่ของโควิด เป็นการพัฒนาโมเดลทางธุรกิจ (Business Model) ใหม่ ให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ในระยะยาว

การขับเคลื่อนของภาคธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อการคงอยู่ของโควิด มิได้จำกัดอยู่เพียงการดำเนินงานที่จะดูแลผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้น แต่ยังรวมถึงการแสวงหาโอกาสที่จะสร้างให้เกิดผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคมโดยรวม นอกจากองค์กรตนเอง ด้วยการปรับเปลี่ยนกระบวนงาน-โครงสร้าง-ความสัมพันธ์-โมเดลทางธุรกิจข้างต้น


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, May 22, 2021

24 หุ้นน่าลงทุนกลุ่ม ESG Emerging

ความสำคัญของประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ที่มีต่อองค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียน ถูกยกระดับเพิ่มมากขึ้น จากความต้องการของผู้ลงทุนในกลุ่มที่คาดหวังจะใช้การลงทุนเป็นเครื่องมือผลักดันให้บริษัทมีการดำเนินงานในทางที่ส่งผลดีต่อโลกและสังคมรอบข้าง ไปพร้อมกับการได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ไม่ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป

จากข้อมูลสำรวจของแมคคินซี่และกลุ่มพันธมิตรการลงทุนที่ยั่งยืนระดับสากล (Global Sustainable Investment Alliance: GSIA) ระบุว่า ตัวเลขการลงทุนในสินทรัพย์โดยใช้ปัจจัย ESG ทั่วโลก มีอัตราเพิ่มขึ้นจาก 22.8 ล้านล้านเหรียญ ในปี ค.ศ.2016 ขยับขึ้นมาเป็น 30.6 ล้านล้านเหรียญ ในปี ค.ศ.2018 และมาอยู่ที่ 37.8 ล้านล้านเหรียญ ในปี ค.ศ.2020 โดยคาดการณ์ว่า จะมีมูลค่าสูงถึง 53 ล้านล้านเหรียญ ในปี ค.ศ.2025 คิดเป็นร้อยละ 37.72 หรือมากกว่าหนึ่งในสามของสินทรัพย์การลงทุนทั้งหมดที่ 140.5 ล้านล้านเหรียญ

ในประเทศไทย จากการสำรวจของมอร์นิ่งสตาร์ บ่งชี้ว่าการลงทุนอย่างยั่งยืนมีการเติบโตอย่างชัดเจนในปีนี้ โดยมูลค่าสินทรัพย์รวมเฉพาะในไตรมาสแรกของปี อยู่ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 81 จากสิ้นปี 2563 โดยเมื่อ 31 ธันวาคม 2563 มูลค่าสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตมากกว่า 4 เท่าจากปี 2562 ที่มีมูลค่ารวมราว 5 พันกว่าล้านบาท

ด้วยความสนใจของผู้ลงทุนที่ต้องการใช้ปัจจัย ESG ในการพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ สถาบันไทยพัฒน์ โดยหน่วยงาน ESG Rating ซึ่งเป็นผู้พัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจในประเทศไทย และเป็นผู้จัดทำข้อมูลกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 นับตั้งแต่ปี 2558 ได้จัดทำรายชื่อหลักทรัพย์ที่น่าลงทุนกลุ่ม ESG Emerging ขึ้นเป็นปีที่สอง ในปีนี้ ด้วยการคัดเลือกจาก 824 บริษัท/กองทุน/ทรัสต์เพื่อการลงทุน ทำการประเมินโดยใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ ESG จาก 6 แหล่ง จำนวนกว่า 15,260 จุดข้อมูล

โดยผลการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่เข้าอยู่ในกลุ่ม ESG Emerging ปี 2564 ประกอบด้วย AF AIMIRT AP ASIAN COTTO ETC LEO NRF PAP PCSGH SA SCGP SELIC SENA SFLEX SKR SONIC SSP STARK STI TM WICE WINMED ZIGA รวมทั้งสิ้นจำนวน 24 หลักทรัพย์*

การพิจารณาคัดเลือกหลักทรัพย์ที่น่าลงทุนกลุ่ม ESG Emerging ใช้ข้อมูล ESG ที่ปรากฏในการเปิดเผยข้อมูล การดำเนินงานที่สะท้อนปัจจัยด้าน ESG และความริเริ่มหรือลักษณะธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับประเด็นด้าน ESG ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของรายได้ หรือการประหยัดต้นทุนของกิจการ ในรอบปีการประเมิน

สำหรับหลักทรัพย์กลุ่ม ESG Emerging ที่คัดเลือกนี้ จะใช้เป็นข้อมูลนำเข้าในการคำนวณดัชนี อีเอสจี ไทยพัฒน์ หรือ Thaipat ESG Index สำหรับใช้เป็นดัชนีเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน (Benchmark Index) และใช้เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับการลงทุนแก่บริษัทจัดการลงทุนที่มีการให้บริการผลิตภัณฑ์การลงทุนในธีม ESG โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ S&P Dow Jones' Custom Indices

ทั้งนี้ การลงทุนในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด หรือในสภาวะที่ตลาดมีความไม่แน่นอนสูง หลักทรัพย์ที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลกระทบจากผลตอบแทนการลงทุนที่ลดลง จะอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าการลดลงของผลตอบแทนของตลาดโดยรวม

โดยเมื่อพิจารณาดัชนีผลตอบแทนรวม SET TRI ซึ่งเป็นดัชนีสะท้อนภาพรวมของตลาดทุนไทย ในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 อัตราผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงปัจจุบัน (17 พ.ค. 64) อยู่ที่ร้อยละ 2.97 ขณะที่ดัชนีผลตอบแทนรวม Thaipat ESG Index TR ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบขึ้นจากหลักทรัพย์ที่มีความโดดเด่นด้าน ESG ให้อัตราผลตอบแทนในช่วงเดียวกัน อยู่ที่ร้อยละ 10.5 หรือต่างกันอยู่ร้อยละ 7.53

ผู้ลงทุนที่สนใจข้อมูลหลักทรัพย์จดทะเบียนในกลุ่ม ESG Emerging และกลุ่ม ESG100 สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.esgrating.com


* หมายเหตุ: การนำเสนอข้อมูลกลุ่มหลักทรัพย์จดทะเบียน ESG Emerging รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่สถาบันไทยพัฒน์เป็นผู้ประเมิน เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้เป็นข้อมูลเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นคำแนะนำในการลงทุน หรือการเสนอซื้อเสนอขายใดๆ


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, May 08, 2021

สร้างภาวะพร้อมผันให้องค์กร

ปี 2564 ไทยต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ในด้านเศรษฐกิจ ผลพวงจากการระบาดของโควิดระลอกสามในประเทศ ทำให้ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ จะขยายตัวในกรอบร้อยละ 1.0-2.0 จากที่หดตัวร้อยละ -6.1 ในปีที่ผ่านมา (กนง., พ.ค. 64)

ในด้านสังคม หน่วยงาน Social Progress Imperative ผู้จัดทำดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมใน 163 ประเทศทั่วโลก นับตั้งแต่ปี 2557 ได้ระบุว่า ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีคะแนนต่ำสุดด้านความทั่วถึง (Inclusiveness) ที่แสดงถึงความทัดเทียมในด้านเพศสภาพ การไม่เลือกปฎิบัติ อำนาจทางการเมือง และที่ได้คะแนนต่ำรองลงมาเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล (socialprogress.org, 2021)

ในด้านสิ่งแวดล้อม การปล่อย CO2 ของประเทศไทย ลดลงร้อยละ 9.2 จากการปล่อย CO2 ที่ลดลงในเกือบทุกสาขา ยกเว้นภาคอุตสาหกรรมที่มีการปล่อย CO2 เพิ่มขึ้น 6.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (สนพ., ม.ค. 64)

ปรากฏการณ์โควิด (COVID Effect) ได้ส่งผลกระทบไปยังทุกวงการ รวมทั้งภาคธุรกิจที่จำเป็นต้องมีการปรับการดำเนินธุรกิจให้รองรับกับวิถีปกติใหม่ ที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่อยู่ในปลายทางของห่วงโซ่ธุรกิจ และปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ส่งมอบวัตถุดิบหรือคู่ค้าที่เป็นต้นทางของห่วงโซ่ธุรกิจ

นอกจากเรื่องสุขภาพของบุคลากรที่จะต้องได้รับการดูแลป้องกันจากโรคโควิด-19 เรื่องสุขภาพองค์กร (Corporate Health) ได้กลายเป็นประเด็นสาระสำคัญที่ทุกองค์กรจะต้องคำนึงถึงนับจากนี้ และจะถูกใช้เป็นปัจจัยนำเข้าสำหรับการจัดวางกลยุทธ์องค์กรให้สอดรับกับการดำเนินธุรกิจในวิถีปกติใหม่ ซึ่งจะหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การปรับตัวสู่ภาวะปกติสืบเนื่องไปในระยะยาว (Resilience) ของกิจการ

จากการสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์ ต่อประเด็นกลยุทธ์หลังโควิด: จาก ‘ฟื้นฟู’ สู่ ‘พร้อมผัน’ (Post-COVID Strategies: From ‘Recovery’ to ‘Resilience’) กับองค์กรจำนวน 43 แห่ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า สามในสี่ขององค์กรที่สำรวจ (74.4%) มีแผนเรื่อง Resilience แล้ว และกำลังดำเนินการในปีนี้ ที่เหลือราวหนึ่งในสี่ (25.6%) ยังไม่มีแผนในเรื่องดังกล่าว

ในบรรดาองค์กรที่มีแผน Resilience และกำลังดำเนินการ ได้มุ่งเน้นความสำคัญไปยังด้านพนักงานมากสุด (90.7%) รองลงมาคือ ด้านลูกค้า (58.1%) และด้านสิ่งแวดล้อม (53.5%) ตามลำดับ

ทั้งนี้ องค์กรที่ตอบแบบสำรวจกว่าสองในสาม (69.8%) ระบุว่า การมีแผน Resilience จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อองค์กรในการปรับตัวสู่การดำเนินธุรกิจในวิถีปกติใหม่ ขณะที่ ไม่ถึงหนึ่งในสามขององค์กรที่สำรวจ (30.2%) ระบุว่าเป็นประโยชน์ และไม่มีองค์กรใดจากการสำรวจที่ไม่เห็นประโยชน์จากการมีแผนในเรื่องดังกล่าว

องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล หรือ Global Reporting Initiative (GRI) ในฐานะผู้จัดทำมาตรฐานระดับโลกด้านความยั่งยืนสำหรับการเปิดเผยข้อมูล ได้เผยแพร่เอกสาร ข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพ (Culture of Health Business Practices: COHBP) สำหรับให้กิจการผนวกประเด็นด้านสุขภาพ เข้ากับกลยุทธ์องค์กร เพื่อใช้ดำเนินงานหลังสถานการณ์โควิด

ข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพ (COHBP) ฉบับดังกล่าว จำแนกออกเป็น 16 ข้อปฏิบัติ ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่

ด้านกลยุทธ์ ประกอบด้วย วัฒนธรรมสุขภาพ กิจกรรมทางการเมืองขององค์กรที่ต้องรับผิดชอบ ข้อปฏิบัติทางการตลาดที่ต้องรับผิดชอบ

ด้านนโยบายและสวัสดิการ ประกอบด้วย การส่งเสริมสุขภาพและความเปี่ยมสุข (Wellness) สิทธิลาป่วยและเพื่อดูแลครอบครัวโดยได้รับค่าจ้าง การประกันสุขภาพ ความเสมอภาค ความหลากหลายและความเป็นกลาง พื้นความรู้ทางการเงิน

ด้านแรงงานและสถานประกอบการ ประกอบด้วย เวลาทำงาน ความมั่นคงในตำแหน่งงาน การจ่ายค่าจ้าง อาชีวอนามัยและความปลอดภัย สภาพแวดล้อมทางกายภาพ

ด้านชุมชน ประกอบด้วย ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมชุมชน ทุนทางสังคมและความสมานฉันท์ การมีส่วนร่วมในชุมชน

ข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพดังกล่าว สามารถใช้เป็นปัจจัยนำเข้าในการวิเคราะห์สารัตถภาพ (Materiality Analysis) เพื่อใช้กำหนดประเด็นสาระสำคัญด้านวัฒนธรรมสุขภาพที่องค์กรควรดำเนินการ ผนวกไว้ในกลยุทธ์องค์กร สำหรับรองรับการขับเคลื่อนธุรกิจวิถีปกติใหม่ และการเป็นองค์กรพร้อมผันในทุกสถานการณ์


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, April 24, 2021

ธุรกิจเตรียมรับแรงกระแทกใหญ่ !

การระบาดของโควิดระลอกใหม่ ที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเราขณะนี้ มีความเป็นไปได้ว่า จะทิ้งผลกระทบทางเศรษฐกิจระลอกใหม่ที่รุนแรงกว่าครั้งก่อนหน้า

ประสบการณ์จากการรับมือกับการระบาดครั้งก่อน มิได้เป็นตัวช่วยในการเผชิญกับการระบาดรอบนี้มากเท่าใดนัก

ในการระบาดครั้งแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 การตื่นตัวของทุกภาคส่วน และการพร้อมใจกันล็อกดาวน์ตัวเองของประชาชน เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ไม่ขยายวง อยู่ในวิสัยที่ทรัพยากรและบุคลากรทางการแพทย์ดูแลรักษาได้

ส่วนการระบาดรอบใหม่ครั้งที่สองในเดือนธันวาคม 2563 มีการล็อกดาวน์พื้นที่เสี่ยงเป็นรายจังหวัด การจำกัดการเดินทางเข้าออกพื้นที่เสี่ยง ทำให้สถานการณ์ไม่ลุกลาม และสามารถดูแลควบคุมการแพร่กระจายได้

สำหรับการระบาดในรอบนี้ ไม่มีการล็อกดาวน์ จึงยากต่อการควบคุมการแพร่กระจายจากผู้ติดเชื้อซึ่งไม่มีการแสดงอาการ จนตัวเลขของผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเกิดขึ้นในวงกว้าง ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อความเพียงพอและความทั่วถึงทางทรัพยากรและบุคลากรทางการแพทย์ที่จะให้การดูแลรักษาอย่างทันท่วงที

การชั่งน้ำหนักระหว่างการล็อกดาวน์กับการเปิดให้มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับการบริหารจัดการในภาพรวม โดยทุกประเทศที่เผชิญกับการระบาด ต่างก็ต้องประเมินทางเลือกเพื่อให้ได้ผลรวมที่ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขในขณะนั้น

สิ่งที่ภาคธุรกิจ ในฐานะผู้ผลิตและผู้ให้บริการในระบบเศรษฐกิจ จำเป็นต้องมีในขณะนี้ คือ ภาวะพร้อมผัน (Resilience) หมายถึง กิจการยังมีขีดความสามารถที่จะดำเนินงานต่อไป ไม่ว่าสถานการณ์จะพัฒนาไปในทิศทางใด

ขอขยายความคำว่า ขีดความสามารถที่จะดำเนินงานต่อไป ในบริบทนี้ ครอบคลุมทั้งการดำเนินงานในรูปแบบเดิม และการที่กิจการต้องปรับตัวไปสู่การดำเนินงานในรูปแบบใหม่

ตัวอย่างแรก ในช่วงเกิดสถานการณ์ กิจการมีการประคองตัวและยังคงอยู่ได้ โดยหากสถานการณ์คืนสู่ภาวะปกติ กิจการสามารถกลับมาขายสินค้าหรือให้บริการ สร้างรายได้ ต่อเนื่องดังเดิม กรณีนี้เป็นระดับต่ำสุดของภาวะพร้อมผัน เนื่องจากกิจการไม่ได้มีการปรับตัวจากเดิมเท่าใดนัก

ตัวอย่างต่อมา แม้สถานการณ์ยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ แต่กิจการสามารถสร้างรายได้จากลูกค้ากลุ่มเดิม (และกลุ่มใหม่) ด้วยช่องทางใหม่ๆ เช่น การใช้ช่องทางออนไลน์รับคำสั่งซื้อ และบริการจัดส่งสินค้าถึงมือ กรณีนี้เป็นการปรับตัวของกิจการที่มีระดับของภาวะพร้อมผันที่ดีกว่ากรณีแรก เป็นการดำเนินธุรกิจเดิมด้วยช่องทางใหม่ โดยไม่รอให้สถานการณ์ฟื้นตัว

สำหรับกิจการที่มีโอกาสในการแสวงหารายได้จากธุรกิจใหม่ ในช่วงสถานการณ์ ถือว่ามีระดับของภาวะพร้อมผันสูงกว่าทุกกรณี เพราะแม้ธุรกิจเดิมจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ แต่กิจการสามารถปรับตัวไปสู่การดำเนินธุรกิจใหม่ที่สร้างรายได้ขึ้นมาทดแทนธุรกิจเดิมได้

ในความเป็นจริง จะมีกิจการจำนวนไม่มากที่มีสายป่านในการประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดในสถานการณ์ที่เกิดการระบาดซ้ำหลายระลอก และไม่ใช่ทุกกิจการที่สามารถปรับตัวสู่การดำเนินงานในรูปแบบใหม่ และยิ่งมีกิจการน้อยรายที่สามารถผันตัวไปสู่ธุรกิจใหม่

หมายความว่า กิจการโดยส่วนใหญ่ที่ไม่มีภาวะพร้อมผัน ก็จำต้องเตรียมรับแรงกระแทกใหญ่ จากการระบาดใหม่ในรอบนี้ ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงโดยเร็ว แม้แต่เงื่อนไขเรื่องวัคซีน ที่มีทั้งตัวแปรของการได้รับไม่ทันการณ์ และประสิทธิภาพของตัววัคซีนเอง

ทางเดียวที่ภาคธุรกิจทำได้ และไม่มีทางเลือกอื่น คือ การสร้างภาวะพร้อมผันให้เกิดขึ้นในกิจการ ไม่ว่าจะอยู่ในระดับที่มากหรือน้อย ก็จำเป็นที่จะต้องมีในเวลานี้แล้ว เพื่อที่จะรักษากิจการไว้ในวันข้างหน้า


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, April 10, 2021

โควิดมาใหม่ ธุรกิจจะไปทางไหน

ผลพวงจากสถานการณ์โควิดในประเทศไทย ที่กลับมาระบาดระลอกใหม่ ทำให้ธุรกิจจำต้องมีการปรับองคาพยพเพื่อความอยู่รอด โดยไม่สามารถนั่งรอให้สถานการณ์คลี่คลายไปตามธรรมชาติ

การระบาดในครั้งนี้ ยิ่งเป็นตัวเร่งเร้าให้ภาคธุรกิจ ต้องหันมาใช้เครื่องมือดิจิทัล เป็นช่องทางในการติดต่อ ทำธุรกรรม นำเสนอสินค้าและบริการ มากยิ่งขึ้นไปอีก

จากการสำรวจบทบาทของคณะกรรมการบริษัท โดยการ์ตเนอร์ กรุ๊ป พบว่าเจ็ดในสิบของคณะกรรมการบริษัท เร่งให้มีการดำเนินความริเริ่มทางธุรกิจดิจิทัลจากความตื่นตัวต่อภาวะชะงักงันที่เกิดจากสถานการณ์โควิด

ดิจิทัลจะช่วยสร้างเสถียรภาพพิสัยไกล (Remote-stabilize) ให้องค์กรได้มีความผสมผสานลงตัวระหว่างธุรกิจในแบบที่ต้องพบปะบุคคล (In-person) และแบบที่ไม่จำเป็นต้องพบปะซึ่งหน้า (Remote) ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งในช่วงแรกเริ่มของการระบาด ทำให้องค์กรมีความสามารถในการจัดวางทรัพยากรที่ตอบสนองต่อความจำเป็นฉุกเฉินทางสังคม และยังสามารถใช้เป็นแบบแผนในการขยายผลเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันในอนาคต

การปรับธุรกิจให้รองรับดิจิทัล เพื่อรับมือกับสถานการณ์อย่างทันท่วงที ประกอบด้วย 5 ช่องทาง เริ่มจากช่องทางเร่งด่วน (Fast Lane) ด้วยการทำเรื่องดิจิทัลที่ริเริ่มไว้ช่วงล็อกดาวน์ให้เสร็จสิ้นหรือนำไปต่อยอดขยายผล เช่น พื้นที่ทำงานระยะไกล/ผสมผสาน การปฏิบัติงานระยะไกล ช่องทางการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าทางดิจิทัล ช่องทางเติบโต (Growth Lane) ด้วยการคว้าโอกาสที่มากับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือกฎระเบียบ เช่น การคิดค่าบริการลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล การพัฒนาสินค้าและบริการทางดิจิทัลที่กฎหมายรองรับ ช่องทางแก้ไข (Fix-it Lane) จากการเห็นข้อพกพร่องที่ปรากฏในช่วงสถานการณ์ เช่น ระบบงานที่อุ้ยอ้ายเทอะทะ ความไม่สอดคล้องในสายอุปทานที่ไม่สามารถตอบสนองต่ออุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในช่วงสถานการณ์ ช่องทางเดินเบา (Slow Lane) ด้วยการชะลอหรือทยอยดำเนินงานดิจิทัลบางเรื่องที่ได้ให้น้ำหนักความสำคัญไว้ก่อนเกิดสถานการณ์ เพื่อเปิดทางสำหรับการดำเนินงานที่มีความจำเป็นมากกว่า และทางออก (Exit) สำหรับยุติหรือยกเลิกการดำเนินงานทางดิจิทัลบางเรื่อง เพื่อดึงงบประมาณและทรัพยากรกลับมาใช้ในความริเริ่มอื่น
ขณะที่การปรับธุรกิจให้รองรับดิจิทัล ด้วยการสร้างสมรรถภาพระยะยาว ประกอบด้วย ลูกค้าสารพัน (Everything customer) ที่คาดหวังการปฏิสัมพันธ์ทั้งในช่องทางดิจิทัลที่สะดวกรวดเร็วและในช่องทางที่เห็นหน้าไปลามาไหว้แบบเดิม แรงงานที่ปรับตัวได้ (Adaptable workforce) ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะทีมงานดิจิทัลหรือไอที แต่เป็นแรงงานที่ใฝ่รู้ปรับฝีไม้ลายมือให้เข้ากับทุกความต้องการได้อย่างคล่องแคล่ว สามารถทำงานผสานเวลาทั้งในสำนักงานและจากระยะไกลได้ สถานประกอบการไม่อิงขนาด (Any-scale operations) สามารถปรับขนาดหรือเปลี่ยนแนวโดยไม่กระทบจำนวนหัวพนักงาน สัดส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงาน หรือการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง รวมถึงกระบวนงานที่สามารถทำได้ในหลายสถานที่ตั้ง ทั้งในระยะไกล หรือโดยหุ้นส่วนดำเนินการ รากฐานเทคโนโลยีที่ถอดประกอบได้ (Composable technology foundation) เป็นแกนเทคโนโลยีและข้อมูลสมัยใหม่ ที่ไม่เพียงแต่ลดต้นทุนทั่วทั้งกิจการ แต่ยังคงไว้ซึ่งความปราดเปรียว (Agility) ในการตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงเร็ว หรือรับมือกับความท้าทายในระดับภัยพิบัติได้ การเติบโตตรงวิสัย (Right-scoped growth) กิจการควรมีความพร้อมต่อการซักถามและปรับขอบเขตการดำเนินงานหรือให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ภาครัฐในอนาคต ทั้งการเติบโตในแบบค่อยเป็นค่อยไปและการเปลี่ยนในแบบพลิกผันคุณค่าที่ส่งมอบให้แก่ลูกค้าโดยรวม

ธุรกิจที่รอดพ้นจากวิกฤตการณ์โควิด จำต้องดำเนินการปรับองค์กรเพื่อให้มีความเป็นดิจิทัลธรรมชาติ (Digital Nature) สามารถรองรับธุรกรรมที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน รวมถึงเพิ่มเติมขีดสมรรถภาพในการดูแลลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล ตลอดจนการพัฒนาพนักงานให้มีทักษะและความรู้ด้านดิจิทัลให้สามารถทำงานในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้อย่างราบรื่น


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, April 01, 2021

รายการ CEO Vision +

17 กันยายน 2567 | ท่องเที่ยวไทย เพิ่มยอดของฝาก-บริการ ด้วยโมเดล Subscription
10 กันยายน 2567 | ผลกระทบจากแรงซื้อต่างชาติที่มีต่อตลาดอาคารชุด
3 กันยายน 2567 | โจทย์ของไทยกับการใช้ AI เพื่อให้ทันโลก และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

27 สิงหาคม 2567 | Temu ใช้กลยุทธ์ C2M ครองตลาด eCommerce โลก (2)
20 สิงหาคม 2567 | Temu ใช้กลยุทธ์ C2M ครองตลาด eCommerce โลก (1)
13 สิงหาคม 2567 | ถึงเวลาต้องทำฟุตพรินต์ผลิตภัณฑ์จีน เพื่อสงวน Local Content?
6 สิงหาคม 2567 | แฟรนไชส์จีนบุกไทย นอกจากพึ่งรัฐตั้งกำแพงภาษี ผู้ประกอบการไทยทำอะไรได้บ้าง

30 กรกฏาคม 2567 | ความยั่งยืนของธุรกิจ...บนโลกคู่ขนาน
23 กรกฏาคม 2567 | Productivity หรือ ผลิตภาพ มาจากอะไร
16 กรกฏาคม 2567 | ปลาหมอสีคางดำระบาด กรณีธุรกิจกับผลกระทบทางระบบนิเวศ
9 กรกฏาคม 2567 | การปรับตัวของสตรีตฟูด ในยุคเศรษฐกิจฝีดเคือง
2 กรกฏาคม 2567 | ผลิตภัณฑ์ยาดมกับมูลค่าตลาดที่ไม่ธรรมดา

25 มิถุนายน 2567 | SMEs ที่แข่งขันได้ มีบุคลิกอย่างไร
18 มิถุนายน 2567 | AI เป็นผู้ช่วยมนุษย์ได้ แต่มาแทนมนุษย์ไม่ได้
11 มิถุนายน 2567 | กระตุ้นอุปสงค์ตลาดอสังหาฯ ด้วย RWA Tokenization
4 มิถุนายน 2567 | สถานีชาร์จรถ EV ไทย โตตามตลาดรถ EV
1 มิถุนายน 2567 (วันเสาร์) | ผู้บริโภคยินดีจ่ายเพิ่มกับประเด็น ESG มากน้อยแค่ไหน

28 พฤษภาคม 2567 | ร้านอาหาร "เนื้อแท้" จำเป็นต้อง "โต"
25 พฤษภาคม 2567 (วันเสาร์) | ร่าง พรบ. Climate Change: ธุรกิจต้องปรับตัวแค่ไหน
21 พฤษภาคม 2567 | ผลพวงการเมือง ทำให้กัญชา ไม่ได้ไปต่อ?
18 พฤษภาคม 2567 (วันเสาร์) | ความเปราะบางของ SMEs ไทย และการ Pivot หาทางออก
14 พฤษภาคม 2567 | ความมั่นคงด้านพลังงานกับการเพิ่มปริมาณพลังงานหมุนเวียน
7 พฤษภาคม 2567 | เศรษฐกิจตก-ตลาดรถมือสองโต

30 เมษายน 2567 | สถานการณ์ปะทะ กับผลกระทบทางการค้าระหว่างไทย–เมียนมา
23 เมษายน 2567 | อุดหนุนราคาน้ำมัน ผลพวงจากประชานิยม สะสมปัญหาเรื้อรัง
16 เมษายน 2567 | ธุรกิจประกาศเป้า Net Zero อย่างไร ...ไม่ให้ปลอม
9 เมษายน 2567 | จากการตลาด 1.0 ถึง 6.0 มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง
2 เมษายน 2567 | โอกาสทางการค้ากับศรีลังกาในช่วงฟื้นตัว

26 มีนาคม 2567 | ปั้นธุรกิจ จับตลาดคนโสด-คนเนือย
19 มีนาคม 2567 | 3 คำถาม เมื่อ SMEs ต้องใช้โมเดล BCG ทำธุรกิจ
16 มีนาคม 2567 (วันเสาร์) | ทิศทางความยั่งยืนในภาคธุรกิจ
12 มีนาคม 2567 | พลิกอุตสาหกรรมแฟชั่นให้ยั่งยืน ด้วยแนวคิด "Fairshion"
5 มีนาคม 2567 | ธุรกิจเครื่องดื่มโปรตีนทางเลือกจากไข่ขาว.. ยากหรือง่าย

27 กุมภาพันธ์ 2567 | ธุรกิจรับสร้างบ้าน ปรับทัพ แบ่งเค้ก 2 แสนล้าน
20 กุมภาพันธ์ 2567 | Pet Economy: เศรษฐกิจของคนรักสัตว์เลี้ยง เติบโตต่อเนื่อง
13 กุมภาพันธ์ 2567 | ร้านซูชิจะโตอย่างไร เมื่ออัตราการปิดร้านมีมากกว่าการเปิดใหม่ (ผลสำรวจร้านอาหารญี่ปุ่นในไทย โดย Jetro)
6 กุมภาพันธ์ 2567 | กางเกงลายช้างไทย มองให้ไกลกว่าเรื่องลิขสิทธิ์

30 มกราคม 2567 | ตลาดปลูกผมกำลังเติบโต
23 มกราคม 2567 | จัดงานไมซ์ให้แตกต่างอย่างยั่งยืน
16 มกราคม 2567 | ดึงดูดการลงทุนเข้าไทยด้วย 3ท. และ 3M
9 มกราคม 2567 | โอกาสธุรกิจในตลาดที่อยู่อาศัย ปีมังกร
2 มกราคม 2567 | เทรนด์สินค้ายุคใหม่: จากคุณภาพและสุขภาพ สู่ผลิตภาพ (ที่ดีต่อโลก)

26 ธันวาคม 2566 | SME สร้างความต่าง+วางตำแหน่งอย่างไร ให้เติบโตในปี 2024
19 ธันวาคม 2566 | จับตามองแนวโน้มตลาดชาในจีน
12 ธันวาคม 2566 | SME ต้องเผชิญอะไรบ้าง นับจากปี 2024 เป็นต้นไป
9 ธันวาคม 2566 (วันเสาร์) | ซอฟต์พาวเวอร์: ที่มา องค์ประกอบ และวิธีการขับเคลื่อน
5 ธันวาคม 2566 | พอเพียงในโลกใหม่...พลวัตทางเศรษฐกิจที่จำเป็นในปี 2024

28 พฤศจิกายน 2566 | การอยู่แบบย้อนวัย ช่วยลดอายุร่างกาย (Metabolic Age)
21 พฤศจิกายน 2566 | ขจัด-ลด-งด-ถอน: มาตรการช่วยลดโลกร้อน
14 พฤศจิกายน 2566 | โลกโซเชียลคอมเมิร์ซ ทำให้ผู้ซื้อผันตัวเป็นผู้ขายได้
7 พฤศจิกายน 2566 | จากต้นสู่ปลายของวงจรการแก้หนี้

31 ตุลาคม 2566 | มองเศรษฐกิจอู่ฮั่น-จีน ยุคหลังโควิด
24 ตุลาคม 2566 | ราคาทองคำขยับขึ้นกับอะไร - ไทยสำรองทองคำไว้แค่ไหน
17 ตุลาคม 2566 | ร้านสมุนไพรจีน: ใช้ออนไลน์ค้ำจุนยอดขาย-ชดเชยลูกค้าหน้าร้าน
10 ตุลาคม 2566 | ความไม่สงบในอิสราเอลกับความปลอดภัยของแรงงานไทย
3 ตุลาคม 2566 | ปลาคาร์ป: สินทรัพย์ทางเลือกกลุ่มงานศิลปะที่มีชีวิต

30 กันยายน 2566 (วันเสาร์) | ต้องนึกถึงอะไรบ้าง เมื่อต้องการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์
26 กันยายน 2566 | โครงการแลนด์บริดจ์เชื่อมโยงระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน
19 กันยายน 2566 | จ้างงานผู้สูงวัยอย่างไร ให้สมศักดิ์ศรี และมีประสิทธิผล
12 กันยายน 2566 | 5.6 แสนล้าน ผ่าน Digital Wallet: หามาคืนได้? ไม่ว้าวุ่น
5 กันยายน 2566 | กรณี..ปังชา: บทเรียนสำหรับธุรกิจกับการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา

29 สิงหาคม 2566 | เงินดิจิทัล 10,000 บาท ใบเบิกทางการสร้างบล็อกเชนแห่งชาติ
22 สิงหาคม 2566 | สำรวจเทรนด์ความยั่งยืนกับพฤติกรรมผู้บริโภค ฉบับอาลีบาบา
15 สิงหาคม 2566 | การเปลี่ยนกระบวนทัศน์รับมือธุรกิจยุคดิจิทัล
8 สิงหาคม 2566 | Nuttybox: บรรจุภัณฑ์...สร้างเงินล้าน

25 กรกฎาคม 2566 | สร้างนิเวศรถยนต์ไฟฟ้าต้องคำนึงถึงไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค
18 กรกฎาคม 2566 | ตลาดแรงงานกับการจ่ายค่าตอบแทน 3 รูปแบบ
11 กรกฎาคม 2566 | TikTok: แพลตฟอร์มเขย่าโลกออนไลน์
4 กรกฎาคม 2566 | ท่องเที่ยวไทย ยังไปต่อได้หรือไม่

27 มิถุนายน 2566 | ออกแบบกลยุทธ์เศรษฐกิจเมืองโคราช: Tech-Touch-Trade
20 มิถุนายน 2566 | สมุนไพรไทย: เพชรเม็ดงามที่รอการเจียระไน
13 มิถุนายน 2566 | ปม ITV กับความพยายามรื้อฟื้นสถานะสื่อ เพื่อผลทางการเมือง
6 มิถุนายน 2566 | SME ต้องปรับตัวในยุคสังคมแห่งการชี้นำ

30 พฤษภาคม 2566 | เปิดแนวคิดขับรถยนต์ไฟฟ้า ได้เงินคืนจากคาร์บอนเครดิต
23 พฤษภาคม 2566 | เข้าใจเศรษฐกิจ BCG ในแบบ SMEs
16 พฤษภาคม 2566 | ส่องนโยบาย SME พรรคก้าวไกล
9 พฤษภาคม 2566 (ECON PLUS) | ESG: เทรนด์การลงทุนเปลี่ยนโลก ทางเลือกหรือทางรอด
9 พฤษภาคม 2566 | ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมมือกับ Nasdaq พัฒนาระบบเทรดใหม่
2 พฤษภาคม 2566 | Climate Change: โลกรวน เพราะเรารวนโลก

25 เมษายน 2566 | โซลาร์รูฟ: ทางเลือกหรือทางแก้ค่าไฟแพง
18 เมษายน 2566 | ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก: ใครรับผิดชอบ
11 เมษายน 2566 | Start-up สำเร็จ แต่ทำไม Scale-up ไม่ได้
4 เมษายน 2566 | TikTok สร้างรายได้บนโมเดลธุรกิจแบบ C2C (Consumer-to-Consumer)

29 มีนาคม 2566 | ปลุกกระแสท่องเที่ยวด้วยแนวคิด Vibe และการเดินทางแบบ Mixed Trip
21 มีนาคม 2566 | การปรับตัวของโรงพยาบาลต่อการให้บริการทางการแพทย์
14 มีนาคม 2566 | การจัดการโรงแรม โดยใส่มูลค่า Soft Power
7 มีนาคม 2566 | รับมือก๊าซหุงต้มแพง แก้ที่นโยบายหรือผู้บริโภค

28 กุมภาพันธ์ 2566 | พัฒนาการด้าน HR ใน 3 ยุค
21 กุมภาพันธ์ 2566 | ไม่ต้องรู้ VUCA หรือ BANI ก็พาธุรกิจให้รอดและโตได้
14 กุมภาพันธ์ 2566 | วาเลนไทน์ปีนี้ คึกคักแค่ไหน
7 กุมภาพันธ์ 2566 | ไขปมเมนูแกงส้มจากการจัดอันดับของ TasteAtlas

31 มกราคม 2566 | ปลูกต้นไม้เพื่อสะสมคาร์บอนเครดิตไว้ขาย
24 มกราคม 2566 | ปัญหาการครอบงำธุรกิจท้องถิ่นของทุนต่างด้าว
10 มกราคม 2566 | การ Bundle ธุรกิจ Wellness: รพ. + ห้าง + ห้อง(พัก)
3 มกราคม 2566 | ESG เวอร์ชัน สำหรับ SME รับปี 66

27 ธันวาคม 2565 | SME เตรียมปรับตัว รับ Pent-up Demand ในปีหน้า
20 ธันวาคม 2565 | สร้างกิจการ SME ให้พร้อมผันตัวรับความเปลี่ยนแปลง
13 ธันวาคม 2565 | อนาตตข้าวไทย กับหลายปัจจัยรุมเร้า
6 ธันวาคม 2565 | อัปเดตการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพงาน Specialised Expo 2028

29 พฤศจิกายน 2565 | 4 เทรนด์ การตลาดคอนโดมิเนียม
22 พฤศจิกายน 2565 | ไขโจทย์ SME ก่อนขึ้นปี 2023
15 พฤศจิกายน 2565 | CSR ระหว่างสิ่งที่ต้องทำ กับสิ่งที่ควรทำ
8 พฤศจิกายน 2565 | เช็กสถานการณ์สตาร์ตอัปไทย จะไปต่อแบบไหน
1 พฤศจิกายน 2565 | ภูเก็ต เสนอตัวเป็นเจ้าภาพงานระดับโลก ปี ค.ศ.2028

25 ตุลาคม 2565 | Petriarchy: ทาสหมา ทาสแมว ดันมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงโต
18 ตุลาคม 2565 | ความน่าสนใจของตลาดจักรยาน
11 ตุลาคม 2565 | ปลูกพืชบำรุงผัก ด้วยชีวภัณฑ์ แทนเคมีภัณฑ์
4 ตุลาคม 2565 | ขายอะไรได้บ้าง ในตู้กดสินค้าอัตโนมัติ

27 กันยายน 2565 | Lithium ผู้กุมชะตาอนาคต รถ EV
20 กันยายน 2565 | ตลาดสินค้าแม่และเด็ก เข้าให้ถึงและให้ถูกกลุ่มเป้าหมาย
13 กันยายน 2565 | จีนเร่งเกมข้อริเริ่มว่าด้วยการพัฒนาระดับโลก (GDI)
6 กันยายน 2565 | สุขทุกคำ: เมนูอินทรีย์ ดีต่อสุขภาพ

30 สิงหาคม 2565 | คิกออฟการพัฒนาภาคการเงินให้ตอบโจทย์ ESG ประเทศ
23 สิงหาคม 2565 | การรุกคืบของยักษ์ค้าปลีกที่จะมาแปลงโฉมร้านโชห่วยชุมชน
16 สิงหาคม 2565 | ตลาดโปรตีนทางเลือกจากดักแด้ไหม อนาคตไกล
9 สิงหาคม 2565 | ธุรกิจแปรรูป ปลาสลิดส่งออก สดใส
2 สิงหาคม 2565 | ธุรกิจ Hair Care ขนาดตลาดใหญ่และเติบโตสูง

26 กรกฎาคม 2565 | กลยุทธ์ Product-Market Fit รับมือ สู้เศรษฐกิจถดถอย
19 กรกฎาคม 2565 | สปป.ลาว ยังเป็นตลาดที่น่าสนใจของธุรกิจไทย
12 กรกฎาคม 2565 | อุตสาหกรรมกาแฟกับตัวคูณทางเศรษฐกิจ
5 กรกฎาคม 2565 | เปิดเสรีกัญชา: เศรษฐกิจได้ - สังคมจะได้ด้วยหรือไม่

28 มิถุนายน 2565 | ธุรกิจเตรียมรับและรุกอย่างไร ในภาวะเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง
21 มิถุนายน 2565 | เศรษฐกิจจะไปทางไหน แล้วเราจะทำอย่างไร
14 มิถุนายน 2565 | เมื่อจีนใช้ ZERO COVID เป็นมาตรการดูแลเศรษฐกิจ
7 มิถุนายน 2565 | อนาคตโรงเรือนปลูกพืชในระบบปิด (Plant Factory) กำลังมา

31 พฤษภาคม 2565 | One Kitchen One Road (OKOR): วิกฤติอาหารโลก โอกาสส่งออกสินค้าไทย
24 พฤษภาคม 2565 | FOOD PROTECTION: นัยต่อการส่งออกการลงทุนของไทย
17 พฤษภาคม 2565 | ความท้าทายของสตาร์ตอัปจักรยานยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทย
10 พฤษภาคม 2565 | แนวคิดบริษัทพัฒนาเมือง: เอกชนนำ-รัฐหนุน
3 พฤษภาคม 2565 | กลยุทธ์ทางรอด SME ยุคข้าวยากหมากแพง

26 เมษายน 2565 | นวัตกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าใต้น้ำของคนไทย
19 เมษายน 2565 | ถอดบทเรียน เฉาก๊วย เต็งหนึ่ง ที่ทุก SMEs ต้องรู้
12 เมษายน 2565 | ผลกระทบจากราคาปุ๋ย สู่จานข้าว
5 เมษายน 2565 | ภาครัฐกับบทบาทการดูแลนโยบายเศรษฐกิจ

29 มีนาคม 2565 | จังหวะเวลา ตัวกำหนดโอกาสกัญชา
22 มีนาคม 2565 | ขาย "ทรายแมว" เข้าถึงลูกค้าอย่างไรดี
15 มีนาคม 2565 | ยานยนต์ไฟฟ้า: เมื่ออนาคตไล่ล่าเรา
8 มีนาคม 2565 | อ่านให้ขาด เรื่องวัฎจักรธุรกิจ-แนวโน้มสังคม-จุดสำเร็จในอาชีพ
1 มีนาคม 2565 | สงครามมาแล้ว จะถือทองคำหรืออะไรดี

22 กุมภาพันธ์ 2565 | โควิดยังไม่ไป สงครามก็จะมาแล้ว SME จะอยู่อย่างไร ให้รอด
15 กุมภาพันธ์ 2565 | อนาคตอีกไกลของรถยนต์ไฟฟ้า EV ในประเทศไทย
8 กุมภาพันธ์ 2565 | โอกาสการลงทุนกับโลกเมตาเวิร์ส: 'รอ' หรือ 'เริ่ม'
2 กุมภาพันธ์ 2565 | 2565 ปีทอง ESG เทรนด์ธุรกิจยั่งยืน SMEs ได้ประโยชน์อะไร? (Thinking Network)
1 กุมภาพันธ์ 2565 | Mantra กับโอกาสเจาะตลาด Local Community ในต่างประเทศ

25 มกราคม 2565 | แนวคิดกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย 'คนละครึ่ง' ภาคเอกชน
18 มกราคม 2565 | มุมมองการลงทุนและขนาดธุรกิจในธีม 'กัญชานิยม'
11 มกราคม 2565 | ธุรกิจยุคใหม่กับวิธีคิดแบบ Nature-based Solution
4 มกราคม 2565 | ฝ่าโควิดระลอกใหม่ ด้วยการวิเคราะห์ Resilience Matrix

28 ธันวาคม 2564 | กลยุทธ์ SMEs ปีหน้า: Location->Attention, Brand->Bond
21 ธันวาคม 2564 | บทวิเคราะห์: พิมรี่พาย ควรไปต่อด้วยจิกซอว์ Startup
14 ธันวาคม 2564 | ธุรกิจ Air Care โควิดหนุน เติบโตสูง
7 ธันวาคม 2564 | มาตรการปีหน้า: เยียวยาตามก็อก (ผู้ประกอบการ) - กระตุ้นตามเก๊ะ (ผู้บริโภค)

30 พฤศจิกายน 2564 | รับมือการค้ายุค "กำแพงคาร์บอน"
23 พฤศจิกายน 2564 | Metaverse: จากการเชื่อมเครื่อง สู่เชื่อมคน ไปถึงการเชื่อมชุมชน
16 พฤศจิกายน 2564 | ท่องเที่ยวไทย จะไปต่ออย่างไร
9 พฤศจิกายน 2564 | ปัญหาราคาข้าวตกต่ำในมุมผู้บริโภค
2 พฤศจิกายน 2564 | Metaverse ยังไม่เกิด เพราะสองสิ่งนี้

26 ตุลาคม 2564 | กระตุ้นท่องเที่ยวด้วย 'รัสเซล โครว์' โมเดล
19 ตุลาคม 2564 | เปิดประเทศแล้ว ท่องเที่ยวจะกลับมาหรือไม่
12 ตุลาคม 2564 | 3 ดู (เพื่อให้กู้) กับ 3 อยู่ (ในโมเดลธุรกิจไหน)
5 ตุลาคม 2564 | การปรับตัวของธุรกิจสิ่งทอ: จาก Fashion สู่ Function

28 กันยายน 2564 | กรณีเดนทิสเต้ คว้า ลิซ่า Blackpink เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์
21 กันยายน 2564 | เมื่อ 'Hospital' จะขยับขยายเป็น 'Health Cafe'
14 กันยายน 2564 | เมื่อบรรจุภัณฑ์ ไม่ได้มีไว้แค่ 'ใส่' แต่ยังเป็น 'สื่อ' กับผู้บริโภค
7 กันยายน 2564 | WFH Effect: เมื่อเวลางานทับเวลาส่วนตัว

31 สิงหาคม 2564 | Freshket บนทางแพร่ง ระหว่าง B2B กับ B2C
24 สิงหาคม 2564 | จุดเปลี่ยนธุรกิจแฟชั่น-สิ่งทอ หลังโควิด
17 สิงหาคม 2564 | เข้าสู่ยุค ดิจิทัล 4.0
10 สิงหาคม 2564 | หมูทอดเจ๊จง โตได้ในแบบ Cloud Kitchen
3 สิงหาคม 2564 | ฮาวทู-รอด: ไปต่อ-ปรับตัว-เปลี่ยนตั๋ว

27 กรกฎาคม 2564 | Market Need หรือ Product Push ถึงจะอยู่รอด
20 กรกฎาคม 2564 | ส่องทิศทางการส่งออกไทย ฟื้นตัวหรือถูกแช่แข็ง
13 กรกฎาคม 2564 | ถอดบทเรียนซีอีโอ Washbox24: จากความล้มเหลวทางธุรกิจ สู่โอกาสใหม่
6 กรกฎาคม 2564 | บีไฮฟ์ ภูเก็ต โอลด์ทาวน์ โฮสเทล: พลิกวิกฤต จนกลายเป็น “ผู้รอด”

29 มิถุนายน 2564 | Hostel สู่ Locall: บริการเดลิเวอรี่ ส่งทุกสิ่งจากชุมชน
22 มิถุนายน 2564 | PDPA ข้อมูลส่วนบุคคลสำคัญยังไง - SMEs ไม่รู้ไม่ได้
15 มิถุนายน 2564 | แนวทางช่วยร้านอาหารรายย่อยทั้งระบบ และตัวอย่างในย่านประตูผี
8 มิถุนายน 2564 | ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เปิดเพื่อเตรียมรองรับไฮซีซั่น
1 มิถุนายน 2564 | บ้านที่ตอบโจทย์ WFH กับโทเคนอสังหาฯ ฝ่าโควิด

25 พฤษภาคม 2564 | ไม้สอง-ไม้สาม ต้องมี หลังวัคซีน
18 พฤษภาคม 2564 | ทางออก วิกฤตราคาเหล็ก
11 พฤษภาคม 2564 | ต่อยอดแนวคิดจาก "ศิริวัฒน์แซนด์วิช" สู่ "ศิริวัฒน์แซนด์บ็อกซ์"
4 พฤษภาคม 2564 | ฟู้ดเดลิเวอรีสัญชาติไทย แพลตฟอร์มช่วยคนตัวเล็ก

27 เมษายน 2564 | การสร้างบุคลิกภาพด้วยการปลูกผม
20 เมษายน 2564 | เปิดแผนกระจายวัคซีน หนุนรัฐสกัดโควิด ฟื้นฟูเศรษฐกิจ
13 เมษายน 2564 | ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ ภายใต้วิกฤติโควิดระลอกใหม่
6 เมษายน 2564 | ถอดรหัสธุรกิจสื่อ-สิ่งพิมพ์ให้รอดในยุคดิสรัปชั่น

30 มีนาคม 2564 | ธุรกิจไทยลงทุนในเมียนมา
23 มีนาคม 2564 | ภาษีดิจิทัล
16 มีนาคม 2564 | กัญชงกัญชาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์
9 มีนาคม 2564 | ไอติมเย็นๆในหลอดใส ใช้ชื่อแบรนด์ “ฟรีซช็อต”
2 มีนาคม 2564 | โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว

23 กุมภาพันธ์ 2564 | คลายล็อกกัญชาสู่ตำรับยาและอาหาร สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
16 กุมภาพันธ์ 2564 | เปลือกมะม่วงเหลือทิ้งสู่เครื่องดื่มเงินล้าน
9 กุมภาพันธ์ 2564 | ธุรกิจน้ำดื่ม
2 กุมภาพันธ์ 2564 | ค้าปลีกไทยกับผลกระทบจากโควิดระลอกสอง

26 มกราคม 2564 | ตู้น้ำมันหยอดเหรียญ: โมเดลสร้างอาชีพให้ผู้ว่างงาน
19 มกราคม 2564 | เปิดร้านท่ามกลางโควิด ยังไงให้รอด: ไอเดียฝ่าวิกฤตโควิด
12 มกราคม 2564 | E-Market Place: ฝ่าวิกฤติโควิดยังไงให้รอด
5 มกราคม 2564 | สร้างภูมิคุ้มกันให้กับ SMEs

29 ธันวาคม 2563 | วิเคราะห์ SMEs ปี63-ฝากถึงคนทำธุรกิจ ปี64 (เต็มรายการ)
22 ธันวาคม 2563 | Reo’s Deli: จากขายอาหารมาสู่การขายเทคโนโลยีอุ่นอาหาร
15 ธันวาคม 2563 | เกษตรกรรุ่นใหม่: ฟาร์มจันทร์เรือง (JR Farm)
8 ธันวาคม 2563 | เฮียเอี่ยม รูดม่าน: ทรานส์ฟอร์มข้ามขั้วธุรกิจ
1 ธันวาคม 2563 | จิวเวลรี่ จังสุ่ยศิลป์: ใช้ Social Media สร้างการรับรู้และต่อยอดธุรกิจ

24 พฤศจิกายน 2563 | THAI LGBT CONNECT: แพลตฟอร์มท่องเที่ยวสำหรับชาว LGBT
17 พฤศจิกายน 2563 | สถานการณ์โควิดที่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการ
10 พฤศจิกายน 2563 | การปรับโมเดลธุรกิจใหม่ของแฟรนไชส์ระดับโลว์คอสต์
3 พฤศจิกายน 2563 | พริกค่ะ สไปซี่ คอฟฟี่

27 ตุลาคม 2563 | พรรัตภูมิ: จากฟาร์มไก่ไข่มาสู่การสร้างโรงงานเลี้ยงไก่ไข่อัตโนมัติ โดยใช้ AI
20 ตุลาคม 2563 | ชานมไข่มุก AMTEA: จากทำทัวร์ รุกตลาดเครื่องสำอางใน CLMV แล้วต่อยอดที่ธุรกิจชานม วิกฤตินี้ต้องรอด!!!
13 ตุลาคม 2563 | Laundry Bar: แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก 24 ชั่วโมง จากมาเลเซีย
6 ตุลาคม 2563 | Mantra: ลูกชิ้นกุ้งจากพืช

29 กันยายน 2563 | ก้าวสู่ New Era กลยุทธ์พลิกโฉมตลาดสี่มุมเมือง สู้ศึกออนไลน์-โมเดิร์นเทรด
22 กันยายน 2563 | จับทิศพิชิตตลาด CLMV การปรับตัวของผู้ส่งออกไทยหลังยุคโควิด
15 กันยายน 2563 | Happy Grocers แพลตฟอร์มร้านขายของชำออนไลน์
8 กันยายน 2563 | SuitCube (สูทคิวบ์): พลิกผันกลยุทธ์ (มาขายหมูย่าง) ช่วงโควิด
1 กันยายน 2563 | บ้านไร่ปอนด์หวาน: เปลี่ยนสวนผลไม้เป็นธุรกิจท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

25 สิงหาคม 2563 | Next Normal: การผจญภัยที่ไม่ธรรมดาของทายาทรุ่น 3 อ้วยอันโอสถ
18 สิงหาคม 2563 | เคล็ดลับ โมเดลธุรกิจ Aggie Home โตสวนกระแส สร้างยอดขายพุ่งหลักล้านช่วงโควิด
11 สิงหาคม 2563 | 75 ปี จิระพันธ์ไก่ย่าง...ตำนานเตาถ่านที่ไม่เคยดับ
4 สิงหาคม 2563 | ชีวิตวิถีใหม่ทำธุรกิจอย่างไรให้รอด...กับวิธีการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด สไตล์ไทเชฟ

รับฟังคลิปย้อนหลังอื่น ๆ ได้ที่ ช่องยูทูป Thinkingradio