การระบาดของโควิดระลอกใหม่ ที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเราขณะนี้ มีความเป็นไปได้ว่า จะทิ้งผลกระทบทางเศรษฐกิจระลอกใหม่ที่รุนแรงกว่าครั้งก่อนหน้า
ประสบการณ์จากการรับมือกับการระบาดครั้งก่อน มิได้เป็นตัวช่วยในการเผชิญกับการระบาดรอบนี้มากเท่าใดนัก
ในการระบาดครั้งแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 การตื่นตัวของทุกภาคส่วน และการพร้อมใจกันล็อกดาวน์ตัวเองของประชาชน เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ไม่ขยายวง อยู่ในวิสัยที่ทรัพยากรและบุคลากรทางการแพทย์ดูแลรักษาได้
ส่วนการระบาดรอบใหม่ครั้งที่สองในเดือนธันวาคม 2563 มีการล็อกดาวน์พื้นที่เสี่ยงเป็นรายจังหวัด การจำกัดการเดินทางเข้าออกพื้นที่เสี่ยง ทำให้สถานการณ์ไม่ลุกลาม และสามารถดูแลควบคุมการแพร่กระจายได้
สำหรับการระบาดในรอบนี้ ไม่มีการล็อกดาวน์ จึงยากต่อการควบคุมการแพร่กระจายจากผู้ติดเชื้อซึ่งไม่มีการแสดงอาการ จนตัวเลขของผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเกิดขึ้นในวงกว้าง ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อความเพียงพอและความทั่วถึงทางทรัพยากรและบุคลากรทางการแพทย์ที่จะให้การดูแลรักษาอย่างทันท่วงที
การชั่งน้ำหนักระหว่างการล็อกดาวน์กับการเปิดให้มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับการบริหารจัดการในภาพรวม โดยทุกประเทศที่เผชิญกับการระบาด ต่างก็ต้องประเมินทางเลือกเพื่อให้ได้ผลรวมที่ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขในขณะนั้น
สิ่งที่ภาคธุรกิจ ในฐานะผู้ผลิตและผู้ให้บริการในระบบเศรษฐกิจ จำเป็นต้องมีในขณะนี้ คือ ภาวะพร้อมผัน (Resilience) หมายถึง กิจการยังมีขีดความสามารถที่จะดำเนินงานต่อไป ไม่ว่าสถานการณ์จะพัฒนาไปในทิศทางใด
ขอขยายความคำว่า ขีดความสามารถที่จะดำเนินงานต่อไป ในบริบทนี้ ครอบคลุมทั้งการดำเนินงานในรูปแบบเดิม และการที่กิจการต้องปรับตัวไปสู่การดำเนินงานในรูปแบบใหม่
ตัวอย่างแรก ในช่วงเกิดสถานการณ์ กิจการมีการประคองตัวและยังคงอยู่ได้ โดยหากสถานการณ์คืนสู่ภาวะปกติ กิจการสามารถกลับมาขายสินค้าหรือให้บริการ สร้างรายได้ ต่อเนื่องดังเดิม กรณีนี้เป็นระดับต่ำสุดของภาวะพร้อมผัน เนื่องจากกิจการไม่ได้มีการปรับตัวจากเดิมเท่าใดนัก
ตัวอย่างต่อมา แม้สถานการณ์ยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ แต่กิจการสามารถสร้างรายได้จากลูกค้ากลุ่มเดิม (และกลุ่มใหม่) ด้วยช่องทางใหม่ๆ เช่น การใช้ช่องทางออนไลน์รับคำสั่งซื้อ และบริการจัดส่งสินค้าถึงมือ กรณีนี้เป็นการปรับตัวของกิจการที่มีระดับของภาวะพร้อมผันที่ดีกว่ากรณีแรก เป็นการดำเนินธุรกิจเดิมด้วยช่องทางใหม่ โดยไม่รอให้สถานการณ์ฟื้นตัว
สำหรับกิจการที่มีโอกาสในการแสวงหารายได้จากธุรกิจใหม่ ในช่วงสถานการณ์ ถือว่ามีระดับของภาวะพร้อมผันสูงกว่าทุกกรณี เพราะแม้ธุรกิจเดิมจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ แต่กิจการสามารถปรับตัวไปสู่การดำเนินธุรกิจใหม่ที่สร้างรายได้ขึ้นมาทดแทนธุรกิจเดิมได้
ในความเป็นจริง จะมีกิจการจำนวนไม่มากที่มีสายป่านในการประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดในสถานการณ์ที่เกิดการระบาดซ้ำหลายระลอก และไม่ใช่ทุกกิจการที่สามารถปรับตัวสู่การดำเนินงานในรูปแบบใหม่ และยิ่งมีกิจการน้อยรายที่สามารถผันตัวไปสู่ธุรกิจใหม่
หมายความว่า กิจการโดยส่วนใหญ่ที่ไม่มีภาวะพร้อมผัน ก็จำต้องเตรียมรับแรงกระแทกใหญ่ จากการระบาดใหม่ในรอบนี้ ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงโดยเร็ว แม้แต่เงื่อนไขเรื่องวัคซีน ที่มีทั้งตัวแปรของการได้รับไม่ทันการณ์ และประสิทธิภาพของตัววัคซีนเอง
ทางเดียวที่ภาคธุรกิจทำได้ และไม่มีทางเลือกอื่น คือ การสร้างภาวะพร้อมผันให้เกิดขึ้นในกิจการ ไม่ว่าจะอยู่ในระดับที่มากหรือน้อย ก็จำเป็นที่จะต้องมีในเวลานี้แล้ว เพื่อที่จะรักษากิจการไว้ในวันข้างหน้า
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
Saturday, April 24, 2021
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment