Saturday, July 29, 2023

'7 เทรนด์' เปลี่ยนเกมความยั่งยืน

ปลายเดือนที่ผ่านมา (20 มิ.ย.) หน่วยงาน AccountAbility องค์กรผู้กำหนดมาตรฐานและให้คำปรึกษาด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) ระดับโลก ที่ก่อตั้งมากว่า 30 ปี ได้ออกรายงานที่มีชื่อว่า “7 Sustainability Trends 2023 Report” โดยเนื้อหาสะท้อนให้เห็นภูมิทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และการประมวลแนวโน้มที่สำคัญด้าน ESG ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดวาระทางธุรกิจนับจากนี้ไป

ข้อมูลในรายงานฉบับนี้ จะช่วยให้องค์กรใช้วางแผนเชิงกลยุทธ์ สนับสนุนการตัดสินใจ และสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งการปรับแนวกลยุทธ์ขององค์กรให้สอดคล้องและเท่าทันกับประเด็นความยั่งยืนที่เป็นปัจจุบัน ตลอดจนการรับมือกับโอกาสและความเสี่ยงในเชิงรุก รองรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า

อนึ่ง แนวโน้มความยั่งยืนในรายงานฉบับดังกล่าว ประมวลขึ้นจากการวิจัยและการทำงานร่วมกับองค์กรในหลายภาคส่วน ทั้งกิจการในภาคบริการทางการเงิน ภาคพลังงานและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ภาคสุขภาพและเภสัชภัณฑ์ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคสินค้าอุปโภคบริโภค ภาคโทรคมนาคมและเทคโนโลยี รวมทั้งหน่วยงานในภาครัฐและภาคประชาสังคม ฯลฯ ครอบคลุมในหลายภูมิภาค ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ตะวันออกกลาง และเอเชีย

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้ให้บริการงานให้ความเชื่อมั่นรับอนุญาตในประเทศไทย ที่รับรองโดย AccountAbility มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ได้เรียบเรียงเนื้อหาในส่วนที่เป็น 7 แนวโน้มความยั่งยืน โดยย่อ เพื่อนำมาเผยแพร่ ดังนี้

1. Navigating the Net Zero landscape
หาเส้นทางสู่ภูมิทัศน์ (การปล่อยก๊าซเรือนกระจก) สุทธิเป็นศูนย์
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้กลายเป็นความท้าทายที่ซับซ้อนและมีนัยสำคัญสูงสุดเรื่องหนึ่งที่สังคมต้องเผชิญ รวมถึงเป็นได้ทั้งความเสี่ยงสำคัญต่อธุรกิจที่เพิกเฉย และเป็นโอกาสชัดแจ้งต่อกิจการที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการขจัดคาร์บอนให้มีค่าสุทธิเป็นศูนย์ โดยบริษัทที่ต้องการรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันและยังคงดึงดูดกลุ่มผู้ลงทุน ต้องแสดงให้เห็นถึงแนวทางการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากภายนอก ควบคู่กับแผนงานกลยุทธ์ที่ปฏิบัติได้จริง

2. Stakeholder activism is getting louder
ขบวนเคลื่อนไหวฝั่งผู้มีส่วนได้เสีย ส่งเสียงดังขึ้น
ธุรกิจต้องเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มสูงขึ้นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม มีการผลักดันให้กิจการต้องแถลงจุดยืนและแสดงความคืบหน้าในทางปฏิบัติต่อชุดประเด็น ESG ที่เกี่ยวข้อง โดยการแสดงภาวะผู้นำของกิจการ ๆ ควรตระหนักถึงการรักษาสมดุลแห่งประโยชน์ระหว่างผู้ถือหุ้นกับพนักงานไปจนถึงลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียซึ่งผลักดันให้องค์กรดำเนินการตามบทบาทที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ กิจการพึงดำเนินการสานสัมพันธ์แต่เนิ่น ๆ และอย่างต่อเนื่องกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับแนวทางให้สอดรับกันอย่างสูงสุดทั้งในกลุ่มพนักงาน ลูกค้า ผู้ลงทุน ฯลฯ

3. Geopolitics: The new “G” in ESG
ภูมิรัฐศาสตร์ กลายเป็นประเด็นใหม่ด้านธรรมาภิบาล
ในภาวการณ์หลังยุคโลกาภิวัตน์ ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ นับเป็นองค์ประกอบสำคัญภายใต้กรอบ ESG เป็นประเด็นที่ถือเป็นความเสี่ยงและปัจจัยความไม่แน่นอนทางธุรกิจ จนกระทั่งกลายเป็นข้อพิจารณาภาคบังคับในการประเมินและในกระบวนการตัดสินใจขององค์กร ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงควรผนวกความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์เข้าไว้ในกรอบการจัดการความเสี่ยงของกิจการ เพื่อให้สามารถมอบหมายความรับผิดชอบในการจัดการตามตัวแบบแนวป้องกัน 3 ด่าน (Three lines of defense model) และหลักการหลีกเลี่ยง การบรรเทา และการจัดการความเสี่ยงของกิจการ

4. Building an effective, future-focused board
สร้างคณะกรรมการสำหรับวันหน้า ที่มีประสิทธิผล
คณะกรรมการบริษัทถูกคาดหวังให้เป็นผู้นำการปฏิบัติที่เป็นแบบอย่าง (Tone at the top) ริเริ่มให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร สร้างเป็นตัวแบบของค่านิยมบริษัท และข้อปฏิบัติที่ดีทางธุรกิจ โดยกรรมการแต่ละท่านเปรียบเสมือน “จุดเชื่อมโยง” ในสายโซ่ร้อยระหว่างค่านิยมหลักของบริษัทกับผลการดำเนินงานท้ายสุดทางธุรกิจ ที่ซึ่งองค์ประกอบของคณะกรรมการควรมีความหลากหลาย มีสมรรถนะและประสบการณ์ที่เอื้อต่อหน้าที่ทางธุรกิจและบทบาทในอุตสาหกรรม สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทั้งนี้ บริษัทจะแข็งแกร่งได้ ตราบเท่าที่มีกรรมการที่เข้มแข็ง ในการนำองค์กร

5. Next generation ESG disclosure and reporting
โฉมหน้าการรายงานและการเปิดเผยข้อมูล ESG รุ่นถัดไป
การรายงานความยั่งยืนและการเปิดเผยข้อมูล ESG เป็นกติกาทางธุรกิจที่กลายมาเป็นข้อกำหนดภาคบังคับเพิ่มเติมในตลาดการค้าขนาดใหญ่สุดของโลก การเปิดเผยข้อมูล ESG ที่ดี มิได้หมายถึงการเปิดเผยข้อมูลให้ได้ปริมาณมาก แต่ขาดซึ่งสาระสำคัญ เพราะท่ามกลางแรงกดดันที่ให้กิจการต้องรายงาน ทำให้เกิดมาตรฐานข้อแนะนำเป็นจำนวนมาก ธุรกิจจึงควรพิจารณาเลือกเปิดเผยข้อมูลตามแบบแผนที่สอดคล้องกับเป้าประสงค์ โพรไฟล์ และวุฒิภาวะ (Maturity) ด้าน ESG ขององค์กร และเป็นไปตามข้อกำหนดทางกฎหมายที่มีผลบังคับกับกิจการ

6. The road to a sustainable value chain
เส้นทางสู่สายโซ่คุณค่าที่ยั่งยืน
องค์กรจำเป็นต้องเสาะหาวิธีการแบบองค์รวมในการขับเคลื่อนสายอุปทานที่ยั่งยืน โดยผนวกหลักการด้าน ESG อันก่อให้เกิดภาวะพร้อมผันและความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ นับตั้งแต่การจัดหาที่ยั่งยืน จวบจนการส่งมอบผลิตภัณฑ์ถึงมือลูกค้า อาทิ การสรรหาวัสดุต้นทาง ข้อปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ส่งมอบ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามขอบเขตที่ 3 ทั้งนี้ กิจการควรมีการสานสัมพันธ์เชิงรุกและการทำงานร่วมกันกับคู่ค้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้รับทราบถึงความคาดหวังในด้าน ESG โดยมีเกณฑ์ชี้วัดการดำเนินงานและการให้คุณ (Reward) แก่คู่ค้าที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์อย่างเหมาะสม

7. Nature-based assets will drive valuations
สินทรัพย์ธรรมชาติ จะเป็นตัวกำหนดมูลค่ากิจการ
ปัจจัยนำเข้าที่เป็นวัตถุดิบสำคัญต่อการผลิตและเป็นการบริการทางระบบนิเวศที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ จัดเป็นสินทรัพย์ธรรมชาติที่ใช้กำหนดมูลค่ากิจการและใช้ประเมินสถานะความอยู่รอดทางธุรกิจในระยะยาว ในทำนองเดียวกัน ผลจากกิจกรรมทางธุรกิจก่อให้เกิดจุดพลิกผันของการดำรงอยู่ทางธรรมชาติ อาทิ ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว การพังทลายของพืดน้ำแข็ง การแผ้วถางป่าเขตร้อน รวมทั้งผลกระทบต่อทุนธรรมชาติอื่น ๆ เช่น ดินและน้ำ ตลอดจนผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เดิมมิได้ถูกบันทึกอยู่ในงบดุลของกิจการ จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการรายงานความยั่งยืนและการกำหนดมูลค่าของกิจการ

หน่วยงานหรือองค์กรธุรกิจที่สนใจข้อมูลแต่ละแนวโน้มความยั่งยืนอย่างละเอียด สามารถดาวน์โหลดรายงาน “7 Sustainability Trends 2023 Report” ฉบับเต็ม ได้ที่เว็บไซต์ accountability.org ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป



ฟังบทสัมภาษณ์ในรายการ CEO Vision ทาง FM 96.5 MHz (29 ก.ค. 66)



จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, July 15, 2023

7 Green Habits : สร้างอุปนิสัยสีเขียวเพื่อโลก

ภัยพิบัติและภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ หลายประเทศต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นมากกว่าสองเท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก วิกฤติไฟป่าที่สร้างความเสียหายมหาศาล น้ำท่วมใหญ่ในหลายภูมิภาค สภาพอากาศสุดขั้วและภัยแล้งในหลายทวีป ฯลฯ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นผลจากภาวะโลกร้อนซึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์

อุปนิสัยสีเขียว (Green Habits) จะช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญอยู่ และเป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคที่แสดงออกถึงความห่วงใยในความปลอดภัย สุขอนามัย และคุณภาพชีวิต ภายใต้วิถีแห่งการบริโภคที่ยั่งยืนซึ่งเป็นกระแสหลักของโลก จนเป็นเหตุให้องค์กรธุรกิจจำต้องปรับปรุงและพัฒนากระบวนการดำเนินงาน สายผลิตภัณฑ์ รวมทั้งบริการต่างๆ ให้อิงกับอุปนิสัยสีเขียวเพิ่มขึ้น


ความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อช่วยเยียวยาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มิให้เป็นภัยอันตรายต่อคนรุ่นปัจจุบัน รวมทั้งต้องพิทักษ์ระบบนิเวศให้ยืนยาวสืบต่อไปยังคนรุ่นหลัง ผ่าน 7 อุปนิสัยสีเขียว ประกอบด้วย

Rethink
ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อเรามีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง กระแสการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมจะไม่เกิดผลสำเร็จใดๆ หากทุกคนที่ได้รับฟังข้อมูลไม่ตระหนักว่าตนเองต้องเปลี่ยนแปลง การคิดใหม่ ไม่จำเป็นต้องสร้างหรือนำเสนอสิ่งใหม่ (Reinvent) ที่ต้องเริ่มจากศูนย์เสมอไป การต่อยอดขยายผลหรือปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่เดิมด้วยความคิดใหม่ อาจดีกว่า ประหยัดกว่า และทุ่นเวลากว่าการต้องเริ่มใหม่ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ เมื่อคิดได้แล้ว ต้องลงมือทำ

Reduce
โลกร้อน เมื่อเราเผาผลาญทรัพยากรเกินขีดจำกัดที่ธรรมชาติจะหมุนเวียนได้ทัน โลกบูด เพราะเราบริโภคเกินจนเกิดขยะและของเสียที่ไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ทัน ช่วยกันลดการใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น และช่วยกันลดการบริโภคเพื่อไม่ให้เกิดขยะและของเสียอย่างที่เป็นอยู่

Reuse
สำรวจของที่ซื้อมาแล้วเพิ่งใช้เพียงหนเดียวว่า สามารถใช้ประโยชน์ซ้ำได้หรือไม่ หาวิธีการใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำ หรือหลีกเลี่ยงบรรจุภัณฑ์ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง การซื้อของมีคุณภาพที่ราคาสูงกว่า แต่ใช้งานได้ทนนาน จะดีกว่าซื้อของที่ด้อยคุณภาพในราคาถูก แต่ใช้งานได้เพียงไม่กี่ครั้ง

Recycle
เป็นการนำวัสดุที่หมดสภาพหรือที่ใช้แล้วมาปรับสภาพเพื่อนำมาใช้ใหม่ เริ่มลงมือปรับแต่งของใช้แล้วในบ้านให้เกิดประโยชน์ใหม่ ช่วยกันคัดแยกขยะหรือวัสดุเหลือใช้ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้เองมอบให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดีกว่าทิ้งหรือเก็บไว้เฉยๆ โดยเปล่าประโยชน์

Recondition
ของหลายอย่างสามารถปรับแต่งซ่อมแซม (Repair) แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ดังเดิม พยายามใช้ของให้ถูกวิธีเพื่อหลีกเลี่ยงการชำรุดเสียหายก่อนเวลาอันควร และหากสิ่งของใดมีกำหนดเวลาที่ต้องบำรุงรักษา ให้หมั่นตรวจสอบและปฏิบัติตามตารางการบำรุงรักษา เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น ขณะที่อุปกรณ์บางจำพวกอาจต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนหรือทดแทน (Replace) ด้วยอุปกรณ์รุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่า เช่น เครื่องปรับอากาศ เพื่อลดการสิ้นเปลืองค่าไฟฟ้า และประหยัดพลังงาน

Refuse
การปฏิเสธเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดไม่ให้ถูกนำมาใช้หรือถูกทำลายเร็วขึ้น และเพื่อให้เวลาธรรมชาติในการฟื้นสภาพตัวเองตามระบบนิเวศ เริ่มจากสิ่งนอกตัว เช่น สินค้าฟุ่มเฟือย สิ่งที่เราต้องเติมใส่ร่างกาย เช่น อาหารนำเข้า จนถึงสิ่งที่อยู่ข้างในกาย คือ จิตใจ เพราะเมื่อจิตร้อน กายก็ร้อน สิ่งรอบข้างก็ได้รับกระแสร้อนตามไปด้วย

Return
หน้าที่หนึ่งของมนุษย์ในฐานะผู้อาศัยโลกเป็นที่พักพิง คือ การตอบแทนคืนแก่โลก ใครใช้ทรัพยากรใดจากธรรมชาติเยอะ ก็ต้องคืนทรัพยากรนั้นกลับให้มากๆ ผลกระทบใดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการดำเนินงาน ก็ต้องพยายามฟื้นฟู ทำให้คืนสภาพ หรือทำให้สมบูรณ์ (Replenish) ดังเดิม เมื่อใดที่ริเริ่มเป็นผู้ให้ได้โดยมิต้องบังคับหรือร้องขอ เมื่อนั้นเราก็จะได้รับกลับคืนอย่างไม่ต้องสงสัยเช่นกัน


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, July 01, 2023

กลยุทธ์น่านน้ำหลากสี : Colorful Ocean Strategy

เมื่อว่าด้วยเรื่องกลยุทธ์ ในแวดวงธุรกิจก็มีหลากหลายกลยุทธ์จากร้อยแปดสำนัก กลยุทธ์ที่มีอิทธิพลและได้รับการกล่าวขานกันอย่างแพร่หลายชุดหนึ่ง คือ กลยุทธ์จำพวกน่านน้ำหลากสี (colorful ocean strategy) ทั้ง red ocean, blue ocean, green ocean

กลยุทธ์น่านน้ำเหล่านี้มีทั้งความเหมือนและต่างกันในบริบทที่ตัวมันเองเป็นกลยุทธ์ประเภทหนึ่งในทางธุรกิจ ความเหมือนกัน ก็คือ ทั้งสามกลยุทธ์มุ่งให้ความสำคัญที่คุณค่า (value) ในการประกอบการ เพื่อนำมาซึ่งความสำเร็จขององค์กร

การนิยามความสำเร็จเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างทางกลยุทธ์ บางกิจการ ความสำเร็จ คือการมีชัยชนะเหนือคู่แข่งในสนามการแข่งขัน บางกิจการวัดความสำเร็จจากการพัฒนาธุรกิจให้ล้ำหน้าการแข่งขันอยู่ตลอดเวลาจนทำให้คู่แข่งหมดความหมาย ขณะที่กิจการอีกส่วนหนึ่งประเมินจากที่องค์กรมีความยั่งยืนด้วยการพัฒนาอย่างสมดุล

Red ocean strategy คือ กลยุทธ์ที่ใช้สร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยมุ่งพัฒนาและส่งมอบคุณค่าที่เหนือกว่า (Beating Value) คู่แข่งขัน

Blue ocean strategy คือ กลยุทธ์ที่ใช้สร้างและจับจองอุปสงค์ในตลาดใหม่ ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมทางคุณค่า (Innovating Value) ที่ล้ำหน้าจากสภาพการแข่งขัน

Green ocean strategy คือ กลยุทธ์ที่ใช้สร้างและผนวกคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่เน้นดำรงความยั่งยืนทางคุณค่า (Sustaining Value)

Red OceanBlue OceanGreen Ocean
Competition-based StrategyInnovation-based StrategySustainability-based Strategy
Beating ValueInnovating ValueSustaining Value

ในกลยุทธ์การแข่งขันแบบน่านน้ำสีแดง องค์กรต้องเลือกระหว่างกลยุทธ์ต้นทุนต่ำ การสร้างความแตกต่าง หรือการมุ่งเฉพาะส่วน เพราะพื้นที่ตลาดเดิมได้ถูกกำหนดไว้อย่างแจ้งชัด

สำหรับกลยุทธ์น่านน้ำสีคราม องค์กรสามารถพัฒนากลยุทธ์ที่ได้ทั้งความแตกต่างและต้นทุนต่ำ เนื่องจากพื้นที่ตลาดได้ถูกสร้างขึ้นใหม่และยังไร้ซึ่งการแข่งขัน

ส่วนกลยุทธ์สู่ความยั่งยืนแบบน่านน้ำสีเขียว องค์กรจะต้องทบทวนกิจกรรมในสายคุณค่าทั้งหมด เพื่อฝังเรื่อง ESG (Environmental, Social and Governance) เข้าไว้ในทุกกระบวนการ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาสู่ความยั่งยืน

เครื่องมือที่ไมเคิล อี พอร์เตอร์ ใช้ในการวิเคราะห์สภาวการณ์การแข่งขันในอุตสาหกรรม ภายใต้ Red Ocean คือ Five Competitive Forces หรือ แรงที่กำหนดสภาพการแข่งขันจาก 5 ทิศทาง คือ แรงผลักดันจากผู้เล่นหน้าใหม่ (New Entrants) แรงบีบจากผู้ส่งมอบ (Suppliers) แรงผูกมัดจากผู้ซื้อ (Buyers) แรงกดดันจากผู้เข้าแทนที่ (Substitutes) และแรงห้ำหั่นจากคู่แข่งขัน (Competitors)

ชาน คิม ผู้ให้กำเนิดกลยุทธ์ Blue Ocean ที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมเชิงคุณค่า (Value Innovation) ระบุว่า เครื่องมือที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับใช้ในการวิเคราะห์เพื่อสร้างสรรค์คุณค่าใหม่ในกลยุทธ์น่านน้ำสีคราม คือ Four Action Frameworks ซึ่งใช้ทลายข้อจำกัดของการต้องเลือกระหว่างการสร้างความแตกต่างและต้นทุนต่ำในสมรภูมิการแข่งขันแบบเดิม ประกอบไปด้วย 4 คำถามหลักที่มุ่งท้าทายตรรกะเชิงกลยุทธ์ในอุตสาหกรรมและแบบจำลองในธุรกิจ

มีปัจจัยใดบ้างที่อุตสาหกรรมปฏิบัติสืบเนื่องจนเคยชินและควรค่าแก่การขจัดให้หมดไป
มีปัจจัยใดบ้างที่ควรค่าแก่การลดไม่ให้เกินกว่ามาตรฐานในอุตสาหกรรม
มีปัจจัยใดบ้างที่ควรค่าแก่การยกระดับให้สูงกว่ามาตรฐานในอุตสาหกรรม
มีปัจจัยใดบ้างที่อุตสาหกรรมยังไม่เคยมีการนำเสนอและควรค่าแก่การสร้างให้เกิดขึ้น

ส่วนกลยุทธ์ Green Ocean นอกเหนือจากการวิเคราะห์คุณค่าเชิงเศรษฐกิจที่ถูกสร้างขึ้นจากกิจกรรมหลัก (Primary Activities) และกิจกรรมสนับสนุน (Support Activities) ในสายแห่งคุณค่า (Value Chain) แล้ว ยังคำนึงถึงการดำรงคุณค่าเชิงสังคมและคุณค่าเชิงสิ่งแวดล้อมด้วย

ทั้งสามกลยุทธ์น่านน้ำ มุ่งให้ความสำคัญกับการปรับทิศทางการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่เป็นเป้าหมายรวมของกิจการ มากกว่าการปรับเปลี่ยนแค่กิจกรรมที่ดำเนินอยู่เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในแต่ละแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ขององค์กร


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]