Saturday, July 31, 2021

การลงทุน ESG เติบโตต่อเนื่อง

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และกำลังส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของทุกประเทศที่มีการระบาด แต่การลงทุนในหมวดการลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Investment) โดยเฉพาะการลงทุนที่คำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) กลับมีตัวเลขการเติบโตที่ต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (Compound Annual Growth Rate: CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 25 ต่อปี ในช่วง 5 ปี (ค.ศ.2016-2020) ที่ผ่านมา

จากข้อมูลการสำรวจ 2020 Global Sustainable Investment Review ของ Global Sustainable Investment Alliance (GSIA) ระบุว่า การเติบโตของกลยุทธ์การลงทุนที่ใช้ข้อมูล ESG ผนวกในการวิเคราะห์ตัดสินใจลงทุน มีเม็ดเงินสูงถึง 25.2 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2563 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 43.6 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2561

สำหรับตัวเลขการลงทุนที่ยั่งยืนทั่วโลก มีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นจาก 30.68 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2561 มาอยู่ที่ 35.3 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2563 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ในช่วงเวลา 2 ปี โดยการลงทุนในหมวดนี้ คิดเป็นร้อยละ 35.9 ของขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ทั้งหมด จำนวน 98.42 ล้านล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของการลงทุนที่ยั่งยืน ซึ่งมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น

โดยสัดส่วนเม็ดเงินลงทุนตามกลยุทธ์การลงทุนที่ยั่งยืน 7 รูปแบบตามการจำแนกของ GSIA* พบว่า การลงทุนโดยผนวกเกณฑ์ด้าน ESG ในกระบวนการตัดสินใจลงทุน (ESG integration) มีมูลค่ามากสุด รองลงมาเป็นการลงทุนโดยใช้เกณฑ์คัดกรองด้านลบ / ตัดออกจากกลุ่ม (Negative/exclusionary screening) อยู่ที่ 15 ล้านล้านเหรียญ การลงทุนเพื่อใช้สิทธิผู้ถือหุ้นออกเสียงในกิจการ (Corporate engagement and shareholder action) อยู่ที่ 10.5 ล้านล้านเหรียญ การลงทุนโดยใช้เกณฑ์คัดกรองที่เป็นบรรทัดฐานนิยม (Norms-based screening) อยู่ที่ 4.14 ล้านล้านเหรียญ การลงทุนตามประเด็นความยั่งยืนที่สนใจ (Sustainability themed investing) อยู่ที่ 1.95 ล้านล้านเหรียญ การลงทุนโดยใช้เกณฑ์คัดกรองด้านบวก / เลือกที่ดีสุดในกลุ่ม (Positive/best-in-class screening) อยู่ที่ 1.38 ล้านล้านเหรียญ และการลงทุนเพื่อชุมชน / เป็นผลดีต่อโลก (Impact/community investing) อยู่ที่ 0.35 ล้านล้านเหรียญ ตามลำดับ

ขณะที่การลงทุนที่ยั่งยืนในประเทศไทย จากการสำรวจของมอร์นิ่งสตาร์ผ่านการลงทุนในกองทุนจำนวน 48 กองทุน ในไตรมาสที่สองของปี ค.ศ.2021 พบว่า มีมูลค่าทรัพย์สินรวมอยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 86.5 จากเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.2020

โดยในรอบครึ่งปีมีเงินไหลเข้าสุทธิ 2.4 หมื่นล้านบาท (ไตรมาสล่าสุดเป็นเงินไหลออกสุทธิ 1.5 พันล้านบาท) มีกองทุนเปิดใหม่จำนวน 5 กองทุน รวมครึ่งปีแรกมีกองทุนเปิดใหม่ 20 กองทุน ในจำนวน 48 กองทุนเป็นการลงทุนหุ้นในประเทศ 15 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินราว 1.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.7 ของมูลค่าการลงทุนที่ยั่งยืนทั้งหมด

และหากพิจารณาในแง่ผลตอบแทนของการลงทุนที่ยั่งยืน จากดัชนี Thaipat ESG Index ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบด้วยหลักทรัพย์ที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG ซึ่งคัดเลือกจากกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ที่ประเมินโดยสถาบันไทยพัฒน์ พบว่าผลตอบแทนรวม (Total Return) ย้อนหลัง 1 ปี ของ Thaipat ESG Index (THAIESGT) อยู่ที่ร้อยละ 25.85 ขณะที่ ดัชนีผลตอบแทนรวม SET TRI ซึ่งเป็นดัชนีสะท้อนภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์ ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ร้อยละ 17.65 (ข้อมูล ณ 29 ก.ค. 64)

ชี้ให้เห็นว่า การลงทุนที่ยั่งยืนโดยคำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG สามารถให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า Benchmark หรือเกณฑ์อ้างอิงที่ใช้เปรียบเทียบผลตอบแทนของตลาดโดยรวม และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผลตอบแทนจากการลงทุนในแบบ ESG ทั่วโลก จึงเป็นหลักฐานสนับสนุนหนึ่ง ที่ผลักดันให้ปริมาณการลงทุน ESG มีอัตราที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง


--------------------------------------
* 7 รูปแบบการลงทุนที่ยั่งยืน ตามการจำแนกของ GSIA ประกอบด้วย
การลงทุนโดยผนวกเกณฑ์ด้าน ESG ในกระบวนการตัดสินใจลงทุน (ESG integration): เป็นการผนวกการพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล อย่างชัดแจ้งในกระบวนการตัดสินใจลงทุน

การลงทุนโดยใช้เกณฑ์คัดกรองด้านลบ / ตัดออกจากกลุ่ม (Negative/exclusionary screening): เป็นการคัดกรองการลงทุน โดยไม่เลือกลงทุนในอุตสาหกรรม ในบริษัท หรือในโครงการ โดยใช้เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ในการคัดหลักทรัพย์ออกจากการพิจารณาลงทุน

การลงทุนเพื่อใช้สิทธิผู้ถือหุ้นออกเสียงในกิจการ (Corporate engagement and shareholder action): เป็นการใช้อำนาจของผู้ถือหุ้นในการแทรกแซงบทบาทของกิจการ ผ่านการสานสัมพันธ์กับกิจการโดยตรง (อาทิ ติดต่อสื่อสารกับผู้บริหารระดับสูง และ/หรือคณะกรรมการบริษัท) การเสนอหรือร่วมจัดทำข้อเสนอในฐานะผู้ถือหุ้น (อาทิ การเสนอวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น และ/หรือ การเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการบริษัท) รวมถึงการออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นที่เป็นไปตามแนวทาง ESG โดยรวม

การลงทุนโดยใช้เกณฑ์คัดกรองที่เป็นบรรทัดฐานนิยม (Norms-based screening): เป็นการคัดกรองการลงทุนโดยใช้เกณฑ์ด้านมาตรฐานระหว่างประเทศหรือบรรทัดฐานสากล อาทิ OECD, ILO, UN, UNICEF ฯลฯ ในการคัดสินทรัพย์ที่จะเลือกลงทุนหรือไม่เลือกลงทุน รวมถึงการเพิ่มหรือลดน้ำหนักการลงทุน

การลงทุนตามประเด็นความยั่งยืนที่สนใจ (Sustainability themed investing): เป็นการลงทุนที่ให้น้ำหนักกับประเด็นความยั่งยืนต่อสินทรัพย์ที่เข้าลงทุน อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงานทดแทน เทคโนโลยีสะอาด เกษตรกรรม น้ำ อาหาร ฯลฯ โดยอาจพิจารณาเพียงประเด็นใดประเด็นหนึ่งโดยเฉพาะหรือในหลายประเด็นร่วมกัน

การลงทุนโดยใช้เกณฑ์คัดกรองด้านบวก / เลือกที่ดีสุดในกลุ่ม (Positive/best-in-class screening): เป็นการคัดกรองการลงทุนในอุตสาหกรรม ในบริษัท หรือในโครงการ ที่เลือกจากยูนิเวอร์สของหลักทรัพย์ที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เทียบกับหลักทรัพย์อื่นในกลุ่ม

การลงทุนเพื่อชุมชน / เป็นผลดีต่อโลก (Impact/community investing): เป็นการลงทุนมุ่งผลกระทบ มักเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่อยู่นอกตลาด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลงทุนในระดับชุมชน ที่เม็ดเงินจะถูกกระจายไปยังบุคคลหรือกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุน หรือไปยังธุรกิจที่มีความมุ่งประสงค์ (Purpose) ทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน



จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, July 17, 2021

โฉมหน้าสำนักงานหลังโควิด

แม้สถานการณ์ระบาดของโควิดระลอกใหม่ ยังไม่คลี่คลาย องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ ยังอยู่ในโหมดรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า แต่ปรากฏการณ์ของโควิดได้แสดงให้เห็นถึงทิศทางและรูปแบบการทำงานในอนาคตที่จะเปลี่ยนโฉมไปจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง

สำนักวิจัยข้อมูล เอเดลแมน ดาตา แอนด์ อินเทลลิเจนซ์ (DxI) ได้เผยแพร่รายงานการสำรวจ 2021 Work Trend Index ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากแรงงานกว่า 30,000 คน จาก 31 ประเทศ พบว่า ร้อยละ 41 ของแรงงานที่ทำการสำรวจทั่วโลก กำลังพิจารณาจะออกจากงานที่ทำในปัจจุบันภายในสิ้นปีนี้ และร้อยละ 46 มีความเป็นไปได้ที่จะย้ายงาน เนื่องจาก สามารถทำงานที่บ้านได้

อิทธิพลจากโควิด ได้ก่อให้เกิดความจำเป็นในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) โดยในหลายส่วนงาน พบว่า มิได้ทำให้ผลิตภาพด้อยลงไปกว่าเดิม ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสนับสนุนการทำงาน และลูกจ้างรู้สึกว่า ต้องการทำงานที่บ้านมากขึ้น แม้สถานการณ์โควิดจะคลี่คลาย ขณะที่ นายจ้างมีความคาดหวังให้พนักงานกลับมาทำงานตามปกติยังสำนักงาน

สถานการณ์ปัจจุบัน ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า เรากำลังอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการทำงาน โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลหนุนหลัง และพฤติกรรมนี้ จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่กับระบบนิเวศการทำงานทั่วโลกในไม่ช้า

แนวโน้มของสำนักงานในอนาคต และระบบนิเวศการทำงานที่จะเปลี่ยนแปลงไป หลังสถานการณ์โควิด ได้แก่

สำนักงานในอนาคต จะไม่มีคำว่า โต๊ะหรือที่นั่งประจำ แต่จะเป็น Hot Desk ที่หมุนเวียนสลับกันใช้ทำงาน สำหรับพนักงานที่เข้าออฟฟิศ ความจำเป็นที่จะต้องมีพื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่ในสำนักงานลดน้อยลง และอาจไปไกลถึงขั้นที่ พื้นที่สำนักงาน จะมีสภาพคล้ายโรงแรม เป็น Shared Office ที่สามารถเช่าใช้เป็นรายวัน และมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันกว่าที่สำนักงานประจำเคยมี

สำนักงานในอนาคต จะมีลักษณะกระจายตัวไม่รวมศูนย์ (Decentralized) ไม่จำเป็นต้องมีฝ่ายงานต่าง ๆ อยู่ที่เดียวกัน สำหรับบรรษัทข้ามชาติ ฝ่ายงานบัญชีการเงิน อาจอยู่คนละประเทศกับฝ่ายวิจัยและพัฒนา ฝ่ายผลิตจะมีโรงงานตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบ หรือฝ่ายขายและการตลาด อาจใช้วิธีเช่าโหนดกระจายในท้องถิ่นหรือชุมชนที่สามารถเข้าถึงตัวกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

ในเมื่อองค์กรไม่จำเป็นต้องมีสำนักงานใหญ่ ซึ่งเคยเป็นที่รวมของบุคลากรจำนวนมาก ทำให้พนักงานไม่มีความจำเป็นต้องเดินทางมาสำนักงานดังแต่ก่อน อุปสงค์ในเรื่องที่พักหรือบ้านหลังที่สอง ให้อยู่ใกล้สำนักงาน เพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายเดินทาง จะหายไป

ภูมิทัศน์ในเรื่องที่พักอาศัยและอสังหาริมทรัพย์สำหรับคนทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ คอนโดมีเนียมราคาแพงในเมืองอาจมีสภาพล้นตลาด บ้านชานเมืองที่มีพื้นที่ใช้สอย อากาศดี และราคาไม่แพงอาจจะกลับมาเป็นตัวเลือกของคนรุ่นใหม่

ค่าใช้จ่ายสวัสดิการที่เป็นค่าเดินทาง ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จะได้รับการจัดสรรใหม่ไปเป็นค่าสาธารณูปโภค ค่าเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตามปริมาณรับส่งข้อมูลที่ใช้เพื่อการทำงานที่บ้าน ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต จะมีบริการบัญชีผู้ใช้รองรับการคำนวณค่าบริการตามสัดส่วนที่เป็นการใช้งานส่วนตัวและการเข้ารหัสข้อมูลใช้งานสำหรับองค์กร เพื่อแยกรายการใช้จ่าย (ลดภาระ) ให้แก่ผู้ใช้บริการ

ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและตกแต่งภายใน จะเปิดให้บริการรับก่อสร้างและตกแต่งสำนักงานที่บ้าน พร้อมติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ ระบบสำรองไฟฟ้า เครื่องใช้สำนักงาน อุปกรณ์และเครือข่ายสื่อสารแบบครบวงจร

เหล่านี้ คือ ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นสำหรับการทำงาน และสภาพแวดล้อมการทำงาน แม้สถานการณ์โควิดได้ผ่านพ้น โดยที่นายจ้างมิอาจเพิกเฉยหรือละเลยการมาถึงของแนวโน้มสำนักงานในอนาคต


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, July 03, 2021

ผลตอบแทนหุ้น ESG ครึ่งปีแรก

แม้การลงทุนโดยใช้ข้อมูลในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) เป็นปัจจัยประกอบสำหรับการตัดสินใจลงทุน จะยังมิใช่การลงทุนกระแสหลักในบ้านเรา แต่ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการส่งเสริมให้บริษัทที่ลงทุน (Investees) มีการดูแลสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี ในขณะที่ผู้ลงทุนยังคงได้รับผลตอบแทนที่ไม่ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป

มอร์นิ่งสตาร์ ได้ทำการสำรวจข้อมูลการลงทุนที่คำนึงถึง ESG ผ่านกองทุนยั่งยืนที่จดทะเบียนในประเทศไทย พบว่า ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มูลค่ากองทุนยั่งยืนในประเทศไทยรวมอยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท หรือโตเกือบเท่าตัวจากสิ้นปี 2020

อย่างไรก็ดี มูลค่าทรัพย์สินเกือบทั้งหมดเป็นการลงทุนในต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่ารวม 5.5 หมื่นล้านบาทหรือราว 97% ของมูลค่าการลงทุนอย่างยั่งยืนในประเทศไทย ในขณะที่การลงทุนในประเทศมีมูลค่ารวมเพียง 1.5 พันล้านบาท

แสดงให้เห็นว่า การลงทุนอย่างยั่งยืนในประเทศ ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก หากมีการส่งเสริมให้มีอุปทาน (Supply) คือ จำนวนบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินการด้าน ESG และมีการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ลงทุนได้มียูนิเวอร์สที่เป็นหุ้นยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้ริเริ่มพัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจในประเทศไทย ได้มีการประเมินและจัดทำรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG ที่เรียกว่า ทำเนียบหุ้น ESG100 นับตั้งแต่ปี 2558 และดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่เจ็ดในปีนี้

ในปี 2561 ได้เริ่มคัดเลือกหุ้น ESG100 มาจัดทำเป็น Thaipat ESG Index ซึ่งเป็นดัชนี ESG แรกในประเทศไทย ที่ใช้การคำนวณดัชนีด้วยวิธีถ่วงน้ำหนักหลักทรัพย์เท่ากัน (Equal Weighed Index) คือ ให้ความสำคัญกับหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของดัชนีเท่ากันทุกหลักทรัพย์ โดยไม่ขึ้นกับขนาดของหลักทรัพย์ และมี S&P Dow Jones เป็นผู้คำนวณข้อมูลดัชนีและเผยแพร่ผ่านหน้าจอ Bloomberg และ Reuters ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วโลก

โดยเมื่อพิจารณาผลตอบแทนรวม (Total Return) ในครึ่งปีแรกของปีนี้ พบว่า Thaipat ESG Index (THAIESGT) ให้อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 14.45% และหากคำนวณระหว่างช่วงต้นปี 63 ตั้งแต่ที่มีสถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้น จนถึงปัจจุบัน (1 ก.ค. 64) พบว่า อัตราผลตอบแทนของดัชนี THAIESGT อยู่ที่ 16.24%

ขณะที่ดัชนีผลตอบแทนรวม SET TRI ซึ่งเป็นดัชนีสะท้อนภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์ ให้ผลตอบแทนครึ่งปีแรกอยู่ที่ 11.89% และอัตราผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงปัจจุบัน (1 ก.ค. 64) อยู่ที่ 6.03%

เป็นเครื่องยืนยันว่า นอกจากที่การลงทุนโดยคำนึงถึงปัจจัย ESG จะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ยังสามารถให้ผลตอบแทนการลงทุนที่สูงกว่า Benchmark หรือเกณฑ์อ้างอิงที่ใช้เปรียบเทียบผลตอบแทนตลาดโดยรวมด้วย


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]