Saturday, May 20, 2023

คนรุ่นใหม่เลือกทำงานกับบริษัทที่ใฝ่ ESG

ดีลอยท์ ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ ในเอกสาร 2023 Gen Z and Millennial Survey ต่อค่านิยมในการทำงานกับองค์กร พบว่า 44% ของกลุ่ม Gen Z (อายุระหว่าง 19-28 ปี) และ 37% ของกลุ่ม Millennial (อายุระหว่าง 29-40 ปี) ไม่ยอมรับที่จะทำงานที่ได้รับมอบหมายจากข้อกังวลด้านจริยธรรม ขณะที่ 39% ของกลุ่ม Gen Z และ 34% ของกลุ่ม Millennial ปฏิเสธที่จะทำงานกับบริษัทที่ดำเนินงานขัดกับค่านิยมของตน

การสำรวจนี้ มาจากการสอบถามกลุ่ม Gen Z จำนวน 14,483 คน และกลุ่ม Millennial จำนวน 8,373 คน รวม 22,856 คน จาก 44 ประเทศทั่วโลก


ประเด็นที่กลุ่ม Gen Z และกลุ่ม Millennial ให้ความสำคัญสูงสุดสามอันดับแรก ได้แก่ ค่าครองชีพ (35% ในกลุ่ม Gen Z และ 42% ในกลุ่ม Millennial) การว่างงาน (22% ในกลุ่ม Gen Z และ 20% ในกลุ่ม Millennial) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (21% ในกลุ่ม Gen Z และ 23% ในกลุ่ม Millennial)

ข้อห่วงใยด้านสภาพภูมิอากาศ ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจในอาชีพ โดยมากกว่าครึ่งของผู้ถูกสำรวจทั้งในกลุ่ม Gen Z (55%) และในกลุ่ม Millennial (54%) จะมีการศึกษานโยบายและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของแบรนด์บริษัทก่อนที่จะตอบรับเข้าทำงาน ขณะที่หนึ่งในหกของกลุ่ม Gen Z (17%) และกลุ่ม Millennial (16%) ได้มีการเปลี่ยนงานหรือสาขาอาชีพแล้วจากข้อห่วงใยด้านสภาพภูมิอากาศ และอีก 25% ของกลุ่ม Gen Z กับอีก 23% ของกลุ่ม Millennial แสดงความประสงค์ที่จะทำเช่นนั้นในอนาคต

สิ่งที่ผู้ถูกสำรวจ ต้องการให้บริษัทเพิ่มน้ำหนักความสำคัญต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่

การอุดหนุนค่าใช้จ่ายพนักงานที่ใช้ตัวเลือกความยั่งยืน ประกอบด้วย รถยนต์ไฟฟ้า แผงพลังงานแสงอาทิตย์ ตัวควบคุมอุณหภูมิประหยัดพลังงาน เบี้ยจูงใจสำหรับใช้ระบบขนส่งมวลชน ฯลฯ
การให้ความรู้และฝึกอบรมพนักงานเกี่ยวกับวิถีความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน
การห้าม / ลดใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งในสำนักงาน / สถานประกอบการ
การปรับปรุงซ่อมแซมสำนักงานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ การติดตั้งระบบจัดการสำนักงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
การปรับสภาพชุมชนในถิ่นที่ตั้งของสถานประกอบการให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ผลสำรวจความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ต่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม พบว่า สี่ในห้าของผู้ถูกสำรวจต้องการให้ธุรกิจเพิ่มทางเลือกในการซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในราคาที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ มีการปรับสายอุปทานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ขณะที่ สามในสิบของกลุ่ม Gen Z (30%) และกลุ่ม Millennial (29%) มีความอ่อนไหวต่อการฟอกเขียว (Greenwashing) โดยจะดูสิ่งที่บริษัทอ้างในการทำตลาดว่ามีการรับรองจากหน่วยงานภายนอกหรือไม่ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ และอีกราวหนึ่งในสาม (34%) ของทั้งกลุ่ม Gen Z กับกลุ่ม Millennial แสดงความประสงค์ที่จะทำเช่นนั้นในอนาคต

สำหรับประเด็นด้านสังคมที่กลุ่ม Gen Z และกลุ่ม Millennial มีความกังวล ได้แก่ สุขภาพจิต (19% ในกลุ่ม Gen Z และ 14% ในกลุ่ม Millennial) การคุกคามทางเพศ (16% ในกลุ่ม Gen Z และ 8% ในกลุ่ม Millennial) และความเหลื่อมล้ำ (16% ในกลุ่ม Gen Z และ 10% ในกลุ่ม Millennial)

ผลสำรวจระบุว่า ความกดดันในการทำงาน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กลุ่ม Gen Z (52%) และกลุ่ม Millennial (49%) เกิดความเหนื่อยล้า (Burnout) โดย 36% ของกลุ่ม Gen Z และ 30% ของกลุ่ม Millennial รู้สึกหมดแรงหรือกำลังถดถอยในงาน ขณะที่ 35% ของกลุ่ม Gen Z และ 28% ของกลุ่ม Millennial รู้สึกไม่ผูกพันกับงานที่ทำ ไปจนถึงมีความรู้สึกแง่ลบหรือต่อต้านงานที่ทำ และอีก 42% ของกลุ่ม Gen Z กับอีก 40% ของกลุ่ม Millennial รู้สึกดิ้นรนที่ต้องให้งานออกมาดีสมกับความสามารถ

ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตของคนกลุ่ม Gen Z และกลุ่ม Millennial ยังเกิดจากสภาวะเดอะแบก หรือภาระที่โดนประกบแบบแซนวิช ที่ต้องดูแลรับผิดชอบทั้งลูกเล็กและพ่อแม่สูงวัย โดย 34% ของกลุ่ม Gen Z และ 39% ของกลุ่ม Millennial มีภาระประจำที่ต้องดูแลรับผิดชอบทั้งลูกเล็กและพ่อแม่หรือญาติสูงวัย ขณะที่ มากกว่าสี่ในสิบของคนกลุ่ม Gen Z และกลุ่ม Millennial ระบุว่าภาระรับผิดชอบดังกล่าวมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสุขภาพจิตของตน

ทำให้กว่า 80% ของผู้ถูกสำรวจ ระบุว่า จะมีการพิจารณานโยบายและการสนับสนุนของบริษัทในด้านสุขภาพจิต ก่อนตัดสินใจตอบรับเข้าทำงาน ซึ่งการให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาพนักงานที่มีความสามารถให้คงอยู่กับองค์กรได้อีกด้วย


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, May 06, 2023

Climate Reporting: กิจการไทย ยืนหนึ่งในอาเซียน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ถูกบรรจุเป็นวาระสำคัญ ที่ทุกประเทศในโลก รวมทั้งประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน ผลักดันให้ภาคส่วนต่าง ๆ ลุกขึ้นมาดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง รวมถึงภาคเอกชนที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนวาระดังกล่าว ด้วยการผนวกเข้ากับกลยุทธ์การดำเนินงานทางธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควบคู่ไปพร้อมกัน

องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (GRI) โดยศูนย์ภูมิภาคอาเซียน GRI ร่วมกับคณะธุรกิจมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS Business School) โดยศูนย์ธรรมาภิบาลและความยั่งยืน (CGS) ทำการศึกษากิจการในภูมิภาคอาเซียน 6 ประเทศ (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม) จำนวน 600 บริษัท โดยคัดเลือกจากบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดร้อยอันดับในตลาดหลักทรัพย์ของแต่ละประเทศ ต่อการเปิดเผยข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศของกิจการ

ผลการศึกษาได้ถูกจัดทำเป็นรายงานที่มีชื่อว่า Climate Reporting in ASEAN: State of Corporate Practices เผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2565 พบว่า ในบรรดา 600 บริษัทที่ทำการศึกษา มีบริษัท 420 แห่ง ได้มีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนที่เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วย บริษัทในประเทศอินโดนีเซีย 55 แห่ง มาเลเซีย 98 แห่ง ฟิลิปปินส์ 66 แห่ง สิงคโปร์ 98 แห่ง ไทย 63 แห่ง และเวียดนาม 40 แห่ง

การวิเคราะห์การเปิดเผยข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศของกิจการในอาเซียน พิจารณาใน 7 ด้านหลัก ได้แก่ กรอบการรายงาน (reporting framework) สารัตถภาพ (materiality) ความเสี่ยงและโอกาส (risks and opportunities) ธรรมาภิบาล (governance) กลยุทธ์ (strategy) เป้าหมาย (targets) และผลการดำเนินงาน (performance)

โดยอัตราการเปิดเผยข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศของกิจการโดยรวม (Overall Rating) ใน 6 ประเทศภูมิภาคอาเซียน อยู่ที่ 46% นำโดยประเทศไทยอยู่ในอันดับสูงสุดของกลุ่มในอัตรา 57% รองลงมาเป็นมาเลเซียและสิงคโปร์ในอัตราที่ 48% เท่ากัน ตามมาด้วยอินโดนีเซียที่ 44% ฟิลิปปินส์ที่ 42% และเวียดนามที่ 24% ตามลำดับ

ประเทศไทยมีอัตราการเปิดเผยข้อมูลสูงสุดในด้านสารัตถภาพ (74.6%) ความเสี่ยงและโอกาส (66.9%) ธรรมาภิบาล (61.2%) เป้าหมาย (69.4%) และผลการดำเนินงาน (59.4%) และยังมีการเปิดเผยข้อมูลด้านการใช้เชื้อเพลิงทดแทนสูงที่สุดในกลุ่ม (38%)

มาเลเซียมีอัตราการเปิดเผยข้อมูลสูงสุดในด้านการระบุโอกาสที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (74.5%) และข้อพิจารณาขององค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับกลยุทธ์ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในระยะยาว (41.8%)

สิงคโปร์มีความโดดเด่นในการติดตามและการเปิดเผยตัววัดที่สามารถเปรียบเทียบข้อมูลการดำเนินงานในอดีตสำหรับการวิเคราะห์แนวโน้ม (77.6%) การชี้แจงถึงที่มาของเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ (70.4%) และการแสดงถึงการผูกโยงค่าตอบแทนกับผลลัพธ์ในการจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (14.3%)

ผลการศึกษาด้านกรอบการรายงานที่ใช้ในการเปิดเผยข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศ พบว่า กิจการใน 6 ประเทศภูมิภาคอาเซียน ใช้ GRI Standards มากสุดในอัตรา 85% รองลงมาเป็น SDG Framework ที่อัตรา 76% เมื่อเทียบกับกรอบการเปิดเผยข้อมูลอื่น (ได้แก่ IIRC, SASB, TCFD) ที่ถูกใช้อ้างอิงในอัตราที่ไม่ถึง 50%

ส่วนการวิเคราะห์การเปิดเผยข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศของกิจการในอีก 6 ด้าน ที่ประกอบด้วย ด้านสารัตถภาพ ด้านความเสี่ยงและโอกาส ด้านธรรมาภิบาล ด้านกลยุทธ์ ด้านเป้าหมาย และด้านผลการดำเนินงาน พบว่า หัวข้อที่มีการเปิดเผยมากสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ ประเด็นสาระสำคัญที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การมอบหมายความรับผิดชอบที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศแก่คณะกรรมการระดับบริหาร และการเปิดเผยตัววัดที่เป็นข้อมูลผลการดำเนินงานในอดีตสำหรับการวิเคราะห์แนวโน้ม

ขณะที่ หัวข้อที่มีการเปิดเผยน้อยสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ ข้อชี้แจงถึงกลยุทธ์ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในระยะกลาง ข้ออธิบายการใช้การวิเคราะห์ฉากทัศน์ที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศเป็นข้อมูลนำเข้าสำหรับการจัดทำกลยุทธ์ และการแสดงการผูกโยงค่าตอบแทนกับผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

อนึ่ง การพัฒนากรอบการศึกษาเพื่อใช้ประเมินความครบถ้วนต่อการเปิดเผยข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศของกิจการในอาเซียนครั้งนี้ อ้างอิงกรอบการรายงานและมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ประกอบด้วย Global Reporting Initiative (GRI), Task Force on Climate-related Financial Disclosures (TCFD), Greenhouse Gas (GHG) Protocol, Science-based Target initiative (SBTi), Carbon Disclosure Project (CDP) และ United Nations Sustainable Development Goals (SDG)

แนวโน้มการดำเนินงานและการเปิดเผยข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศของกิจการ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะทวีความเข้มข้นมากขึ้น และกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้ทันต่อวิกฤตการณ์ที่เป็นภัยพิบัติในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งสภาพอากาศสุดขั้ว อุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในหลายภูมิภาค ภัยแล้ง วิกฤตไฟป่า รวมทั้งอุทกภัยที่มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งภัยทางธรรมชาติเหล่านี้ เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดจากภาคธุรกิจอุตสาหกรรม


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]