Sunday, June 24, 2018

ยุบทิ้ง Business School

จำความได้ว่า สมัยที่ผมเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย เมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว บัณฑิตที่จบสายอุดมศึกษา (ป.ตรี) ส่วนมาก มักนิยมเข้าเรียนต่อในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หรือคณะบริหารธุรกิจ ที่เป็นเจ้าของหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต หรือ MBA (Master of Business Administration) ซึ่งในปัจจุบัน มักเรียกว่า สถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจ หรือ Business School ตามสมัยนิยม เพราะเชื่อว่า จะเป็นใบเบิกทางหรือช่วยเพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในงาน สู่ตำแหน่งผู้จัดการ และผู้บริหารระดับสูงในองค์กร

เร็วๆ นี้ ได้ไปสะดุดตากับหนังสือเล่มหนึ่ง ที่เพิ่งวางจำหน่ายสดๆ ร้อนๆ เมื่อเดือนที่แล้ว ชื่อว่า “Shut Down the Business School: What's Wrong with Management Education" ซึ่งเขียนโดย ศ.มาร์ติน พาร์กเกอร์ ผู้คร่ำหวอดการสอนด้านบริหารธุรกิจมากว่า 20 ปี ในสถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยวอริก มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ มหาวิทยาลัยคีล โดยปัจจุบันสอนอยู่ที่ภาควิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยบริสตอล ในสหราชอาณาจักร

หนังสือเล่มนี้ ได้วิพากษ์หลักสูตรของบรรดาสถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก ที่มีอยู่กว่า 16,000 แห่ง จากการสำรวจของสมาคมเพื่อการพัฒนาวิทยาลัยบริหารธุรกิจ (the Association to Advance Collegiate Schools of Business: AACSB) ว่ามีเนื้อหาไม่ต่างกัน อ้างอิงมาจากตำราทุนนิยมเล่มเดียวกัน

ในวิชาการเงิน ทำอย่างไรจึงจะหาประโยชน์จากทุน (เงิน) ที่ตนเองครอบครอง การสร้างความมั่งคั่ง ทั้งจากทุนของตนเอง และที่เป็นของผู้อื่น รวมทั้งการใช้สูตรทางคณิตศาสตร์และกลไกทางกฎหมาย ที่ช่วยทวีคูณสินทรัพย์ ตลอดจนวิธีการเพิ่มขีดความสามารถในการหาผลตอบแทนสูงสุดในระยะเวลาที่สั้นสุด เป็นต้น

ในวิชาการจัดการทรัพยากรบุคคล มีการใช้ทฤษฎี “อัตนิยมเชิงความเป็นเหตุเป็นผล” (rational egoism) เพื่ออธิบายถึงการกระทำอันเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล และนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการบริหารบุคลากร เสมือนเป็นทรัพยากรจำพวกหนึ่ง (ขาดมิติความเป็นมนุษย์) รวมถึงการใช้การจัดการทรัพยากรบุคคลในทางกลยุทธ์ เพื่อสนับสนุนการเปิด-ปิดโรงงานหรือสำนักงานสาขาตามที่ฝ่ายบริหารต้องการ ตลอดจนการมีมุมมองในเรื่องของการรวมกลุ่มหรือสหภาพว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการจัดการทรัพยากรบุคคล เป็นต้น

เช่นเดียวกับเนื้อหาที่ใช้สอนในวิชาการบัญชี การตลาด ธุรกิจระหว่างประเทศ นวัตกรรม โลจิสติกส์ ฯลฯ ล้วนมุ่งเน้นที่บรรทัดสุดท้าย (bottom line) ของการประกอบการ นั่นคือ ประโยชน์หรือผลกำไรสูงสุดขององค์กร จากการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (ทำน้อย-ได้มาก)

แม้จะเพิ่มหัวข้อการสอนในเรื่องความรับผิดชอบ (ต่อสังคม) ความหลากหลาย หรือความยั่งยืน แต่ก็เป็นไปเพื่อการแต่งหน้าทาปาก หรือเพียงเสริมภาพให้หลักสูตรดูดีเลอค่า

ปัญหาของสถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจ หรือ Business School ยังเกิดจากการจัดการหลักสูตรของวิทยาลัยเอง ทั้งในเรื่องคุณภาพของการจัดการศึกษา และเรื่องธรรมาภิบาล มีการมุ่งเน้นการหารายได้จากหลักสูตร เนื่องจากเป็นสินค้าที่ทำเงินให้แก่คณะและมหาวิทยาลัย (โดยเฉพาะหลักสูตรภาคพิเศษหรือนอกเวลา) อาจารย์ตามใจผู้เรียนในฐานะลูกค้าของหลักสูตร นักศึกษาทำวิทยานิพนธ์หรือสารนิพนธ์ให้มีส่ง เพื่อให้ได้วุฒิตามหลักสูตร (จ่ายครบ-จบแน่)

ท้ายที่สุด มหาบัณฑิตส่วนใหญ่ที่จบจากหลักสูตรเหล่านี้ ก็มิได้มีคุณสมบัติที่จะสามารถพัฒนาให้เป็นผู้บริหารระดับสูงที่ดีในองค์กรได้

ด้วยความที่ปัญหาเหล่านี้ ได้หมักหมมและฝังลึกในสถาบัน และความพยายามในการแก้ปัญหาที่ผ่านมา ไม่ได้แตะที่รากเหง้าของปัญหา ยังคงยึดโยงอยู่กับการสอนเรื่องการจัดการองค์กรในรูปแบบเดียว (one form of organising คือ market managerialism) เพียงแต่กลบเกลื่อนหรือใช้คำสวยหรู เช่น จริยธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม ห่อหุ้มเป็นบรรจุภัณฑ์ โดยสินค้าที่อยู่ภายใน ไม่ได้เปลี่ยนแปลง

หนังสือเล่มนี้ จึงเสนอให้ยุบ Business School ทิ้ง หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ให้ยุติการสอนในแบบที่เป็นอยู่ และปรับรื้อแนวความคิดของการจัดการด้านธุรกิจและตลาดเสียใหม่ อาทิ ไม่มีผู้นำองค์กรประเภทพระเอกขี่ม้าขาวที่สามารถแก้ไขได้ในทุกปัญหา หรือวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้เรื่องการภาษี ไม่ได้เป็นไปเพื่อการเลี่ยงภาษี หรือการสร้างให้เกิดความอยากหรือตัณหา ไม่ใช่ความมุ่งประสงค์ของวิชาการตลาด ฯลฯ โดยมีศาสตร์แห่งการจัดการองค์กรในหลายรูปแบบ (different forms of organising)

ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจ (แนวใหม่) ดำรงบทบาทในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการจัดการธุรกิจที่ถูกต้องเหมาะสม และสามารถผลิตบัณฑิตและมหาบัณฑิตให้เป็นที่ต้องการของสังคมได้อย่างแท้จริง


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link

Monday, June 11, 2018

สังคมที่เราต้องการ

หัวหน้ารัฐบาลได้ลั่นวาจาว่า กุมภาพันธ์ ปี”62 จะมีการเลือกตั้ง ฉะนั้น จากนี้ไปอีก 9 เดือน บรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายจะต้องมีนโยบายที่ดี ๆ มานำเสนอแก่ประชาชน เพื่อเป็นทางเลือกอย่างสร้างสรรค์ แทนที่จะไปขุดคุ้ยเรื่องในอดีตของอีกฝ่าย มาดิสเครดิตอย่างไม่สร้างสรรค์

ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง อยากเห็นแต่ละพรรคใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดในการนำเสนอเส้นทางของพรรคว่าจะนำพาประเทศเดินไปข้างหน้าอย่างไร มากกว่าการใช้ทรัพยากรที่ได้มาไปกับการลบหรือกีดกันเส้นทางของพรรคอื่น

อย่าไปมัวชี้หน้าถกเถียงกันว่าใครเป็นตัวการทำให้ประเทศถอยหลังมาขนาดนี้ ถ้าเราเริ่มต้นก้าวเดินไปข้างหน้าวันนี้ แม้จะทีละก้าว ก็เชื่อแน่ว่าเรายังสามารถพัฒนาไปได้อีกไกล ทัดเทียมกับอารยประเทศในภูมิภาค และในโลก

จุดสำคัญของการเปลี่ยนแปลงคือ การชี้นิ้วมาหาตนเอง และบอกว่าเราเป็นบุคคลหนึ่งที่ต้องลงมือทำ ไม่ใช่ปัดไปเป็นภาระหน้าที่ของคนอื่น เป็นงานของรัฐ เป็นงานของเอ็นจีโอ หรือผลักเป็นงานของเจ้านาย เป็นงานของลูกน้อง โดยที่ตัวเองไม่ทำอะไร (แต่เก่ง comment คนอื่น)

ในสังคมยุคปัจจุบัน การเมืองการปกครองที่อาศัยการออกกฎหมายควบคุม หรือการกำหนดเป็นข้อปฏิบัติ โดยขาดองค์ประกอบของการกำกับติดตามตรวจสอบ และขาดผู้ที่ทำหน้าที่ดังกล่าวอย่างเพียงพอ ปรากฏให้เห็นแล้วว่าไม่สามารถดูแลสังคมให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยได้ (เช่น กรณีอาหารเสริมมีสารอันตราย ที่กระทบกับสุขภาพของผู้บริโภคจำนวนมาก หรือกรณีทุจริตเงินทอนวัด ที่ก่อให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อพระภิกษุในวงกว้าง)

ครั้นจะเพิ่มปริมาณเจ้าหน้าที่ หรือบุคลากรเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ก็จะส่งผลต่องบประมาณอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยยังไม่ได้พิจารณาถึงความขาดประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ หากอิงตามบรรทัดฐานปัจจุบัน (อันที่จริง ไม่มีทางที่จะใส่เจ้าหน้าที่ให้พอกับงาน หากพ่อค้าขาดจิตสำนึกรับผิดชอบ หรือเจ้าหน้าที่จ้องจะทุจริตกันหมด)

นโยบายการขับเคลื่อนการบริหารกิจการบ้านเมือง จึงควรได้รับการออกแบบให้เกิดเป็นความเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement) ด้วย เพื่อที่จะสร้างให้เกิดความสำนึกรับผิดชอบของทั้งผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่รัฐ รวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเป็นการบริหารทรัพยากรที่ใช้ในการตรวจตราจากการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม ในลักษณะเครือข่าย โดยรัฐไม่ต้องรับเป็นภาระอยู่ในบัญชีงบประมาณแผ่นดิน


สังคมที่ต้องการเห็น และที่ควรจะเป็น คือ การได้เห็นภาคประชาชนทำหน้าที่ (perform) ของตนเองอย่างมีประสิทธิผล ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่าน หรือแปรรูป (transform) ไปสู่การยกระดับการประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบ เป็นที่ยอมรับของสังคม และภาครัฐมีการปฏิรูป (reform) หน่วยงานอย่างจริงจัง เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง และความคาดหวังของสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ

หากภาคส่วนต่าง ๆ สามารถขับเคลื่อนไปในเส้นทางที่ว่าได้ จะก่อให้เกิดผลกระทบในลักษณะที่เป็น “collective impact” ซึ่งเกิดจากการรวมปัจจัยหรือทรัพยากรจากหุ้นส่วนความร่วมมือจากหลายฝ่าย ให้มีขนาดใหญ่พอที่จะดำเนินการพัฒนา หรือแก้ไขปัญหาสังคมในสเกลที่เป็นระดับประเทศได้อย่างสัมฤทธิผล


จากบทความ 'Social Talk' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

Sunday, June 10, 2018

มาสร้าง GDP ชุมชนกันเถอะ

อย่างที่เกริ่นไปในบทความตอนที่แล้วว่า ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ต้องอาศัยความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ที่หมายรวมถึงเศรษฐกิจนอกภาคทางการ ซึ่งมูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ มิได้ถูกบันทึกรวมอยู่ในตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ทำให้ตัวเลขการเติบโตของ GDP ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงของเศรษฐกิจฐานรากตามที่ควรจะเป็น

ชุมชน ถือเป็นทั้งหน่วยผลิตและหน่วยบริโภคที่สำคัญในเศรษฐกิจระดับฐานราก ประกอบด้วย ผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่มอาชีพ วิสาหกิจที่ไม่ได้จัดตั้งในรูปนิติบุคคล ฯลฯ ซึ่งสร้างธุรกรรมที่มิได้นับรวมเป็นมูลค่าในระบบเศรษฐกิจทางการ

เราสามารถสร้าง GDP ชุมชนขึ้น เพื่อหาวิธีการหรือตัวแปรในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในระดับฐานราก ด้วยการศึกษาการไหลเวียนของธุรกรรมในชุมชน โดยพิจารณาจากปัจจัยนำเข้า 3 ส่วนหลัก ได้แก่ เงิน ของ และ คน


กระแสการไหลเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน

เริ่มจากการพิจารณาการไหลของ “เงิน” ในฝั่งขาเข้าสู่ชุมชน ว่าไหลเวียนไปเพื่อการผลิต หรือไปเพื่อการบริโภค โดยในกรณีแรก หากเป็นเงินที่ไหลไปยังหน่วยผลิต สามารถจัดอยู่ในหมวดเงินลงทุน ที่ชุมชนนั้นไม่มีข้อกังวลมากนัก เนื่องจากเงินก้อนดังกล่าว ถูกใช้ไปในการสร้างผลผลิตที่ก่อให้เกิดรายได้แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของกระบวนการผลิตซึ่งเป็นสมาชิกของชุมชนโดยตรง และยังอาจก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้แก่แรงงานในชุมชนโดยอ้อมด้วย ในที่นี้ จะใช้ตัว I (Investment) แทนมูลค่าการลงทุนของชุมชนในกิจกรรมการผลิต

ในกรณีที่สอง หากเป็นเงินที่ไหลไปยังครัวเรือน ต้องแยกพิจารณาเป็น 2 ประเด็น คือ หากเป็นเงินที่สมาชิกในครัวเรือนนั้นส่งกลับเข้ามายังชุมชน จากก้อนรายได้หรือผลตอบแทนจากการทำงานนอกถิ่นที่อยู่ ก็จัดว่าเป็นเงินออม

แต่หากเป็นเงินที่นำเข้ามาบริโภคใช้จ่ายในครัวเรือน ก็หมายความว่ารายได้ในครัวเรือนอาจมีไม่เพียงพอต่อการบริโภคใช้สอย จึงจำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากภายนอกเข้ามาเพื่อบริโภค ในที่นี้ จะใช้ตัว C (Consumption) แทนมูลค่าการใช้จ่ายของชุมชนที่เป็นไปเพื่อการบริโภค

ส่วนการไหลของเงิน ในฝั่งขาออกจากชุมชน ที่มิใช่การซื้อของเข้าสู่ชุมชน ต้องพิจารณาว่าเกิดจากกิจกรรมใดได้บ้าง เช่น เป็นเงินที่เข้ามาสู่สถาบันการเงินในชุมชน โดยหวังดอกผลในรูปดอกเบี้ย ซึ่งไม่ก่อให้เกิดการสร้างงานหรือมูลค่าเพิ่มในชุมชน หรือเป็นเงินที่นำมาลงทุนเพื่อสร้างกระบวนการผลิต โดยบุคคลภายนอกที่มิใช่สมาชิกของชุมชนเป็นเจ้าของหน่วยการผลิต แล้วนำเงินผลกำไรแทบทั้งหมดกลับออกไป (เช่น การครอบงำของกลุ่มทุนจีนในธุรกิจท่องเที่ยว) ทั้งนี้ ผู้มีส่วนได้เสียในชุมชนจะได้ร่วมกันหามาตรการในการป้องกัน แก้ไข หรือทุเลาปัญหาที่เกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว เช่น การกำหนดเงื่อนไขการประกอบธุรกิจ การเก็บภาษีอากรท้องถิ่น การจัดตั้งกองทุนสร้างเสริมชุมชนโดยเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ประกอบการที่มิใช่สมาชิกของชุมชน เป็นต้น

ถัดมาเป็นการพิจารณาในส่วนที่เป็นทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือ “ของ” ที่นำเข้าสู่ชุมชน ว่าไหลไปยังหน่วยผลิตหรือหน่วยบริโภค ในกรณีแรก หากของส่วนใหญ่ไหลไปยังหน่วยผลิต ชุมชนก็อาจเบาใจได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากของดังกล่าวถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตที่สามารถสร้างเงินได้สุทธิให้แก่ชุมชนจากผลกำไรในการดำเนินงานของหน่วยธุรกิจซึ่งเป็นสมาชิกของชุมชน ในที่นี้ จะรวมอยู่ในตัว I (Investment) ในส่วนที่เป็นมูลค่าการใช้จ่ายลงทุนของชุมชนในการจัดหาปัจจัยการผลิต


ความเกี่ยวโยงระหว่างปัจจัยนำเข้าและปัจจัยเชิงพื้นที่กับหน่วยเศรษฐกิจในชุมชน

อย่างไรก็ดี ผู้ที่ดูแลนโยบายด้านเศรษฐกิจในชุมชน ควรต้องวิเคราะห์ต่อไปว่า ของที่นำเข้ามาเพื่อเป็นทรัพยากรการผลิตนั้น สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนทดแทนได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้จะไปเกี่ยวโยงกับการพิจารณาใช้ ฐานทรัพยากร เช่น วัตถุดิบที่หาได้เฉพาะในท้องถิ่น เพื่อสร้างให้เกิดภูมิคุ้มกันในชุมชน หากเกิดการขาดแคลนทรัพยากรอย่างกระทันหัน หรือในสภาวะปกติก็เป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในการผลิตที่สามารถอาศัยข้อได้เปรียบจากฐานวัตถุดิบที่หาได้ในชุมชน และลดภาระเรื่องค่าขนส่งไปในตัว ในที่นี้ จะใช้ตัว G (Government Spending) ในส่วนที่เป็นมูลค่าการใช้จ่ายของรัฐเพื่อการพัฒนาฐานทรัพยากรของชุมชน

หากเป็นในกรณีที่สอง ซึ่งของส่วนใหญ่ไหลไปยังหน่วยบริโภค โดยเฉพาะของใช้ที่เป็นความสะดวกสบายหรือความฟุ่มเฟือย เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ ชุมชนอาจมีสถานภาพที่น่าเป็นห่วงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเงินในชุมชนจะถูกดูดซับออกไปจากชุมชนเรื่อยๆ โดยที่หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคดังกล่าว ชุมชนก็อาจตกอยู่ในสภาพที่วกกลับไปกู้ยืมเงินจากภายนอกเข้ามาเพื่อบริโภค ในที่นี้ จะใช้ตัว M (Imports) แทนมูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการเพื่อการบริโภคในชุมชน

สุดท้าย เป็นการพิจารณาในส่วนที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ หรือ “คน” ที่เข้ามายังชุมชน ว่าไหลไปยังหน่วยผลิตหรือหน่วยบริโภคเช่นกัน โดยในกรณีแรก หากคนส่วนใหญ่ไหลไปยังหน่วยผลิต ชุมชนควรต้องวิเคราะห์ต่อไปว่า เหตุใดจึงมีแรงงานต่างถิ่นหรือแรงงานต่างด้าวเข้ามาเป็นทรัพยากรมนุษย์ของหน่วยผลิตในชุมชน ซึ่งประเด็นนี้จะไปเกี่ยวโยงกับ ฐานความรู้ เช่น การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทักษะหรือความถนัดในเชิงภูมิสังคม ผู้มีหน้าที่ดูแลนโยบายการพัฒนาชุมชน อาจจำเป็นต้องเสริมสร้างทักษะให้แก่สมาชิกในชุมชนเพื่อเป็นการทดแทนผู้เชี่ยวชาญหรือแรงงานนำเข้าในระยะยาว ในที่นี้ จะรวมอยู่ในตัว G (Government Spending) ในส่วนที่เป็นมูลค่าการใช้จ่ายของรัฐเพื่อการพัฒนาฐานความรู้ของชุมชน

ส่วนในกรณีที่สอง หากคนส่วนใหญ่ ไหลไปยังหน่วยบริโภค ก็แสดงให้เห็นถึงการมีแหล่งสินค้าซึ่งเป็นที่ต้องการจากภายนอก หรือมีแหล่งท่องเที่ยวหรือประเภทของบริการที่สามารถชักจูงให้คนนอกชุมชนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวหรือใช้บริการภายในชุมชน ซึ่งประเด็นนี้จะไปเชื่อมโยงกับ ฐานวัฒนธรรม เช่น ตำนานท้องถิ่น เทศกาล ประเพณี ที่เป็นมรดกอันทรงคุณค่าของชุมชน ฯลฯ ในที่นี้ จะใช้ตัว X (Exports) แทนมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการแก่คนนอกชุมชนหรือนักท่องเที่ยว

ในที่สุด เราจะได้สมการ GDP ชุมชน = C + I + G + (X - M) ที่ก็มิได้มีความแตกต่างจากการคำนวณ GDP ตามหลักสากล แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกัน คือ ชุมชน จะทราบว่า เราควรจะให้ความสำคัญกับตัวแปรใด (เช่น การไม่เน้นเพิ่ม GDP ด้วยการเพิ่มตัว C หรือการบริโภค) ให้ความสำคัญกับเรื่องใด (เช่น การใช้จ่ายของรัฐในตัว G ควรมุ่งไปที่การพัฒนาฐานทรัพยากรและฐานความรู้ของชุมชน) และใช้วิธีการใด (เช่น การเพิ่มมูลค่าการส่งออกในตัว X ด้วยการใช้ฐานวัฒนธรรม)


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link