Saturday, December 28, 2024

ESG Triple Up Plan: แผนขับเคลื่อนความยั่งยืน ปี 68

เป็นที่รับรู้กันว่า กระแสเรื่องความยั่งยืนที่ส่งทอดสู่ภาคธุรกิจผ่านทางปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ได้ส่งผลให้บริษัทมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ทั้งจากการรับเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ด้าน ESG ต่าง ๆ มาดำเนินการโดยสมัครใจ และจากการถูกกำหนดเป็นข้อบังคับให้ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่ ๆ ด้าน ESG และกฎหมายต่าง ๆ ที่ออกมาใหม่อย่างต่อเนื่อง

ข้อบังคับที่กำหนดให้บริษัทต่าง ๆ ในสหภาพยุโรปมีรายงานที่ต้องเปิดเผยเพิ่มขึ้นตาม EU Sustainable Finance Disclosures Regulation (SFDR) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2566 และ Corporate Sustainability Reporting Directive (CSRD) ซึ่งได้ประกาศบังคับใช้ในปี 2567 เป็นตัวอย่างชัดเจนในทางปฏิบัติที่เพิ่งเกิดขึ้นและผ่านมาไม่นาน

ล่าสุด Corporate Sustainability Due Diligence Directive (CSDDD) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 เป็นกฎระเบียบสำหรับใช้ในการกำกับดูแลและความรับผิดชอบในการประกอบธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีเวลา 2 ปี ในการปรับกฎหมายภายในประเทศเพื่อบังคับใช้กับภาคธุรกิจตามขนาดกิจการ โดยกฎระเบียบนี้ จะส่งผลโดยตรงและโดยอ้อมต่อบริษัททั้งภายในและภายนอกสหภาพยุโรป รวมถึงให้อำนาจแก่ประเทศสมาชิกกำหนดบทลงโทษและข้อห้ามการนำเข้าสินค้าและบริการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือทำลายสิ่งแวดล้อม

ผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้อง ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมที่กำหนด และต้องเตรียมข้อมูลการตรวจสอบสถานะ (Due Diligence) ของห่วงโซ่คุณค่า โดยต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่อาจเข้มงวดขึ้น

กฎระเบียบนี้ อาจเป็นปัจจัยผลักดันให้ผู้ประกอบการไทย ต้องลงทุนในเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตที่เคารพสิทธิมนุษยชนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาความรู้แก่บุคลากรเพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามข้อกำหนดใหม่ และยังต้องมีการประเมินและจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทาน

ซึ่งหากพบว่าการดำเนินธุรกิจส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ทางบริษัทต้องเตรียมแนวทางการปรับปรุงแก้ไขหรือลดผลกระทบเชิงลบดังกล่าวให้สอดคล้องกับเกณฑ์ที่กำหนดว่าด้วยสิทธิและข้อห้ามที่รวมอยู่ในกลไกด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ตลอดจนข้อห้ามและข้อบังคับที่รวมอยู่ในกลไกด้านสิ่งแวดล้อม

ผู้ประกอบการไทย จำเป็นต้องมีแผนขับเคลื่อนความยั่งยืน ผ่านทางปัจจัยด้าน ESG ที่กิจการมีความเกี่ยวข้องและอยู่ในข่ายที่ต้องปฏิบัติตาม เพื่อรับมือกับกฎระเบียบต่าง ๆ เหล่านี้อย่างเหมาะสม

เนื่องจากแต่ละกิจการจะมีความเกี่ยวโยงกับกฎระเบียบดังกล่าวมากน้อยแตกต่างกันไป เช่น กิจการไทยที่มีรายได้สุทธิเกิดขึ้นในสหภาพยุโรปรวมมากกว่า 16,000 ล้านบาท หรือได้รับค่าสิทธิ์ (Royalties) ที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรป มูลค่าเกิน 800 ล้านบาท และมีรายได้สุทธิเกิดขึ้นในสหภาพยุโรปมากกว่า 3,000 ล้านบาท ในสองปีการเงินติดต่อกัน (หรือเป็นบริษัทแม่ในลำดับสูงสุดของกิจการดังกล่าว) จะเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎระเบียบนี้โดยตรง

ผู้ประกอบการไทยซึ่งอยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของกิจการไทยที่เข้าเกณฑ์ หรือกิจการในประเทศอื่นที่อยู่ในข่าย อาจถูกร้องขอให้มีการจัดทำรายงานการตรวจสอบสถานะในฐานะคู่ค้า เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมที่กำหนดโดยกิจการเหล่านั้น

โดยความเข้มข้นของการตรวจสอบสถานะขึ้นกับลำดับว่าเป็นคู่ค้าทางตรง/คู่ค้าลำดับแรก (Tier 1 Suppliers) หรือเป็นคู่ค้าทางอ้อม/คู่ค้าที่ผลิตหรือให้บริการแก่คู่ค้าลำดับแรกอีกทอดหนึ่ง (Non-Tier 1 Suppliers) หรือขึ้นกับความสำคัญว่าเป็นคู่ค้าที่มีมูลค่ายอดซื้อสูง หรือเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ซึ่งมีผลกระทบสูงต่อความได้เปรียบในการแข่งขัน หรือเป็นคู่ค้าที่มีน้อยรายและไม่สามารถหาทดแทนได้ เป็นต้น

แผนขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน ในระยะแรก จะเป็นการ Catch Up หรือตามกฎระเบียบให้ทัน เพื่อที่บริษัทจะได้รักษาสถานะการเป็นคู่ค้าตามลำดับในห่วงโซ่คุณค่าของกิจการที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้าน ESG ดังกล่าว ในระยะต่อมา จะเป็นการ Step Up หรือดันมูลค่าการซื้อขายให้เติบโต เพื่อที่บริษัทจะได้เลื่อนระดับขึ้นเป็นคู่ค้าสำคัญในห่วงโซ่คุณค่าของกิจการที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้าน ESG ดังกล่าว และในระยะที่สาม จะเป็นการ Value Up หรือแสดงให้เห็นคุณค่าของบริษัทต่อผู้มีส่วนได้เสียอื่น เพื่อที่บริษัทจะสามารถแสวงหาโอกาสตลาดจากห่วงโซ่คุณค่าของกิจการอื่นที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้าน ESG ดังกล่าวเพิ่มเติม

แผนขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนผ่านทางปัจจัยด้าน ESG ทั้งสามระยะ รวมเรียกว่า ESG Triple Up Plan ถูกออกแบบให้เป็นแผนงานด้าน ESG สำหรับผู้ประกอบการซึ่งมุ่งประสงค์ที่จะลดความเสี่ยง (Risks) ทางธุรกิจจากการถูกลบชื่อออกจากรายชื่อผู้ค้า (Vendor List) ของกิจการที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้าน ESG รวมทั้งเพิ่มโอกาส (Opportunities) ทางการตลาดจากการได้บรรจุเป็นผู้ค้าใหม่ในห่วงโซ่คุณค่าของกิจการอื่นที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้าน ESG อีกต่อหนึ่ง

การปฏิบัติตามแผน ESG Triple Up Plan ข้างต้น โดยเนื้องานของการดำเนินการ ยังช่วยสร้างให้เกิดผลกระทบ (Impacts) ทางบวก จากการประกอบธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วย

หวังว่า ในปี 2568 ผู้ประกอบการไทย จะได้ใช้ประโยชน์จากแผนขับเคลื่อนความยั่งยืน ESG Triple Up Plan ที่ได้นำเสนอมานี้ ไม่มากก็น้อย สวัสดีปีใหม่ครับ!


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, December 14, 2024

ไทยติดอันดับประเทศที่มีการรายงานความยั่งยืนสูงสุด

เคพีเอ็มจี หนึ่งในที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก ได้เผยแพร่ผลสำรวจการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนฉบับล่าสุด Survey of Sustainability Reporting 2024 ระบุว่า กิจการชั้นนำทั่วโลกได้มีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนในรอบการรายงานประจำปี ในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเมื่อสิบสองปีที่แล้ว บริษัทที่มีรายได้สูงสุด 100 แห่งจากแต่ละประเทศที่ทำการสำรวจ มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน คิดเป็นร้อยละ 64 มาในปีปัจจุบัน (ค.ศ.2024) บริษัทในกลุ่มดังกล่าว ที่เคพีเอ็มจีเรียกว่า บริษัทในกลุ่ม N100 ซึ่งประกอบด้วย 5,800 บริษัท จาก 58 ประเทศทั่วโลก มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน คิดเป็นร้อยละ 79 (ไม่เปลี่ยนแปลงจากปี ค.ศ.2022)

ขณะที่ ผลการสำรวจในกลุ่มบริษัทที่มีรายได้สูงสุด 250 แห่งในโลก จากการจัดอันดับของ Fortune 500 หรือที่เรียกว่า บริษัทในกลุ่ม G250 มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนเปิดเผยต่อสาธารณะ อยู่ในอัตราสูงถึงร้อยละ 96 ในปีปัจจุบัน (ไม่เปลี่ยนแปลงจากปี ค.ศ.2022)

การสำรวจดังกล่าว ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1993 และทำการสำรวจอย่างต่อเนื่องเป็นประจำในทุกๆ 2 ปี โดยในปัจจุบัน ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีการเปิดเผยรายงานความยั่งยืน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 92 รองจากอเมริกาเหนือ (ร้อยละ 97) ขณะที่ยุโรป มีการเปิดเผยฯ คิดเป็นร้อยละ 81

โดยประเทศไทย เป็นหนึ่งใน 7 ประเทศ ที่มีอัตราการรายงานข้อมูล ESG และความยั่งยืน เต็มร้อยละ 100 จากกิจการไทยที่ถูกสำรวจจำนวน 100 แห่ง โดยเพิ่มจากร้อยละ 97 ในปี ค.ศ.2022 และเป็นหนึ่งใน 2 ประเทศ (ไทยและญี่ปุ่น) ที่มีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนในรายงานประจำปี อยู่ในอัตราร้อยละ 100 เช่นกัน โดยเพิ่มจากร้อยละ 86 ในปี ค.ศ.2022
ส่วนการสำรวจมาตรฐานและแนวทางที่บริษัทใช้ในการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน พบว่า มาตรฐาน GRI ยังคงเป็นมาตรฐานที่นิยมใช้อ้างอิงมากสุดทั้งในกลุ่มบริษัท N100 และในกลุ่มบริษัท G250

โดยรายงานการสำรวจ ระบุว่า ร้อยละ 71 ของบริษัทในกลุ่ม N100 และร้อยละ 77 หรือราวสามในสี่ของบริษัทในกลุ่ม G250 มีการอ้างอิงมาตรฐาน GRI ในการจัดทำรายงานความยั่งยืนของกิจการ
GRI เป็นองค์กรอิสระ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2540 เป็นหน่วยงานที่ให้กำเนิดกรอบการรายงานด้านความยั่งยืนของกิจการฉบับแรก ที่เรียกว่า G1 ในปี พ.ศ.2543 ถัดจากนั้น GRI ได้ประกาศแนวทางการรายงานในฉบับ G2 ที่เวทีการประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่นครโจฮันเนสเบอร์ก ในปี พ.ศ.2545 และตามมาด้วยฉบับ G3 ในปี พ.ศ.2549 อันเป็นผลจากการยกร่างของบรรดาผู้เชี่ยวชาญกว่า 3,000 คน ทั้งจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมและผู้แทนภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม

กรอบการรายงานฉบับดังกล่าวได้กลายมาเป็นมาตรฐานตามความนิยม (de facto standard) สำหรับการรายงานแห่งความยั่งยืน และถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยได้มีการปรับปรุงเป็นฉบับ G3.1 ในปี พ.ศ.2554 และพัฒนามาเป็นฉบับ G4 เมื่อปี พ.ศ.2556 จนนำมาสู่การยกระดับเป็นมาตรฐานการรายงาน GRI ในปี พ.ศ.2559

จึงเป็นเหตุผลสนับสนุนว่า บริษัทจดทะเบียนไทยที่มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน ต่างมีการใช้ GRI เป็นมาตรฐานอ้างอิงในการจัดทำรายงานเป็นหลัก เพื่อที่คุณภาพการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน จะเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

อนึ่ง รายงานความยั่งยืน เป็นเอกสารที่เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่องค์กรจัดทำขึ้นเพื่อสนองความต้องการใช้ข้อมูลของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ที่ลำพังรายงานทางการเงินเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถสะท้อนข้อมูลการดำเนินงานในภาพรวมของกิจการได้อย่างครบถ้วนรอบด้าน

องค์กรที่เป็นผู้นำในการเผยแพร่รายงานความยั่งยืน ได้แก่ เหล่าบริษัทมหาชน โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ที่ออกหลักทรัพย์จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ต้องแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสผ่านการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงาน และผลกระทบจากการดำเนินงานที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในอันที่จะสะท้อนถึงความยั่งยืนในการดำเนินงานของกิจการ


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]