Thursday, November 29, 2012

ยลออฟฟิศ ISO

หลังจากการประชุมเชิงปฏิบัติการที่องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน หรือ ISO จัดขึ้นสำหรับมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 5-9 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา คณะผู้เข้าร่วมประชุมส่วนหนึ่งได้มีโอกาสเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของ ISO ที่กรุงเจนีวานี้ด้วย


สิ่งแรกที่ทึ่งเมื่อก้าวเข้ามายังออฟฟิศของ ISO ในอาคารขนาดไม่ใหญ่นัก คือ พนักงานซึ่งมีเพียง 160 คน แต่สามารถทำงานด้านมาตรฐานที่สร้างผลกระทบไปทั่วโลก โดยทำงานร่วมกับประเทศที่เข้าเป็นสมาชิกไอเอสโอจำนวน 164 ประเทศ และประสานงานกับคณะทำงานทางเทคนิคที่ดูแลการพัฒนามาตรฐานอยู่ถึง 3,335 ชุด

ไอเอสโอได้ย้ายเข้ามาอยู่ในอาคารที่ทำการปัจจุบันได้ราว 5 ปี ใช้อาณาบริเวณ 4 ชั้น มีค่าใช้จ่ายดำเนินงานในส่วนของสำนักงานกลางนี้เฉลี่ยราว 100 ล้านบาทต่อเดือน โดยใช้เงินที่ได้จากรายได้ค่าสมาชิกร้อยละ 55 และรายได้จากการจำหน่ายมาตรฐานและบริการอื่นอีกร้อยละ 45 มาสนับสนุนการดำเนินงาน

นอกเหนือจากมาตรฐานยอดฮิตอย่าง ISO 9000 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ปัจจุบัน ไอเอสโอได้ผลิตและประกาศใช้มาตรฐานระหว่างประเทศรวมกว่า 19,000 ฉบับ นับเป็นจำนวนเกือบ 800,000 หน้า จำแนกออกได้เป็น 9 สาขาหลัก โดยสาขาที่มีสัดส่วนมากสุด 3 อันดับแรก คือ หมวดเทคโนโลยีวิศวกรรม ร้อยละ 27.6 หมวดเทคโนโลยีวัสดุ ร้อยละ 23.4 หมวดอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม ร้อยละ 16.7 ตามลำดับ

ไอเอสโอ ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดเก็บเอกสารมาตรฐานกว่า 19,000 ฉบับ และร่างมาตรฐานอีกกว่า 4,000 ฉบับ ในรูปของคลังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และสามารถเข้าถึงได้ทางเว็บไซต์ www.iso.org ทั้งหมด ทำให้ในสำนักงานแห่งนี้ ไม่มีบรรยากาศของคลังเอกสารขนาดใหญ่ให้ได้สัมผัส หรือเห็นการพิมพ์เอกสารมาตรฐานไว้รอจำหน่าย แต่จะเห็นการจัดเก็บและใช้งานข้อมูลมาตรฐานด้วยการบริหารแฟ้มข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แทน

โรเจอร์ ฟรอสต์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารและข้อมูล เล่าให้ฟังว่า เนื่องจากไอเอสโอทำงานด้านการพัฒนามาตรฐานที่มีผู้ใช้อ้างอิงทั่วโลก เอกสารแต่ละหน้า ข้อความแต่ละย่อหน้า และคำในแต่ละบรรทัด จะผิดพลาดไม่ได้ ทำให้การพิสูจน์อักษร การเรียบเรียง และการรักษาความหมายของเนื้อหามาตรฐาน (ที่มีการแปลเป็นภาษาอื่น) จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการทำงานของสำนักงานแห่งนี้ ในฐานะที่เป็นเลขานุการกลาง (Central Secretariat) ของไอเอสโอ

สิ่งที่หัวหน้าฝ่ายสื่อสารและข้อมูลท่านนี้ ได้บรรยายสรุปในหัวข้อสำคัญถัดมา คือ การให้ความสำคัญกับช่องทางการติดต่อสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันไอเอสโอได้ใช้ทั้งเฟซบุ๊ก (www.facebook.com/isostandards) และทวิตเตอร์ (@isostandards) ในการสื่อสารเพื่อเผยแพร่มาตรฐานและกิจกรรมของไอเอสโอด้วย

ในงานประชุม ISO 26000 ที่ผ่านมา ได้มีการใช้แท็ก #26000GVA สำหรับการติดตามข่าวบนทวิตเตอร์ และใช้ flickr (www.flickr.com/photos/isostandards) ในการเผยแพร่ภาพบรรยากาศทั้งการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้แทนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Developing Country Workshop) เวทีประชุมเสวนาสำหรับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและบุคคลทั่วไป (Open Forum) และการประชุมเฉพาะสมาชิกกลุ่มที่ปรึกษาทางกลยุทธ์ในองค์กรดูแลหลังการประกาศใช้มาตรฐาน (PPO’s SAG Meeting)

การเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของ ISO คราวนี้ ร็อบ สตีล เลขาธิการไอเอสโอ ได้เปิดห้องทำงานต้อนรับคณะผู้เยี่ยมชม ให้ได้พูดคุยและถ่ายภาพร่วมอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง ถือเป็นโอกาสที่มีไม่บ่อยครั้งนัก กับการบุกเข้ามายลออฟฟิศ ISO ในระยะประชิดขนาดนี้ เนื่องจากการประชุมของไอเอสโอส่วนใหญ่ มักจะเวียนจัดในประเทศสมาชิกที่เป็นผู้อาสาอุปถัมภ์ค่าใช้จ่าย ไม่ค่อยได้จัดงานในบ้านของตัวเอง เพราะค่าครองชีพแพง!...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, November 08, 2012

การประชุมนานาชาติ ว่าด้วย ISO 26000

ตลอดสัปดาห์นี้ องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน หรือ ISO ได้จัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประกอบด้วย การประชุมเชิงปฏิบัติการแบบปิด 2 วัน (5-6 พฤศจิกายน) สำหรับผู้แทนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Developing Country Workshop) เวทีประชุมเสวนาแบบเปิด 2 วัน (7-8 พฤศจิกายน) สำหรับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและบุคคลทั่วไป (Open Forum) และการประชุมเฉพาะสมาชิกกลุ่มที่ปรึกษาทางกลยุทธ์ในองค์กรดูแลหลังการประกาศใช้มาตรฐานในวันที่ 9 พฤศจิกายน (PPO’s SAG Meeting)

ผมมีโอกาสเดินทางมาเข้าร่วมประชุมในเวทีสำคัญดังกล่าวนี้ โดยได้รับการอนุมัติจาก ISO ให้เข้าร่วมในเวที Developing Country Workshop ในฐานะผู้แทนองค์กรภาคเอกชนจากประเทศไทย และถือโอกาสอยู่ร่วมประชุมต่อในเวที Open Forum ด้วย

การประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้แทนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ผ่านมา 2 วัน มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 120 คน จาก 70 ประเทศ โดยวัตถุประสงค์หลักเป็นไปเพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้มาตรฐาน ISO 26000 ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา การหารือถึงแนวทางการส่งเสริมการใช้มาตรฐาน ISO 26000 รวมถึงการรวบรวมความคิด ข้อมูล และเครื่องมือสำหรับการพัฒนาแผนการดำเนินงานในการส่งเสริมการใช้มาตรฐาน ISO 26000 ให้แก่สถาบันมาตรฐานแห่งชาติ (National Standards Bodies: NSBs) ในระยะข้างหน้า

ร็อบ สตีล เลขาธิการไอเอสโอ กล่าวว่า มาตรฐาน ISO 26000 มีอายุครบ 2 ปีเต็มหลังการประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 และนับเป็นครั้งแรกที่ไอเอสโอ ได้จัดงานนี้ขึ้นเฉพาะสำหรับมาตรฐานฉบับนี้ฉบับเดียว ซึ่งแสดงถึงการให้ความสำคัญและความเกี่ยวเนื่องในมาตรฐานฉบับดังกล่าวกับประเทศกำลังพัฒนา (มาตรฐานฉบับนี้ถูกร่างขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญจาก 99 ประเทศ และกว่าร้อยละ 40 มาจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา)

ในที่ประชุมกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ได้มีการหยิบยกกรณีศึกษาการส่งเสริมการนำมาตรฐาน ISO 26000 ไปใช้ในองค์กรธุรกิจของกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) 8 ประเทศนำร่อง ได้แก่ แอลจีเรีย อียิปต์ อิรัก จอร์แดน เลบานอน โมร็อกโก ซีเรีย และตูนิเซีย โดยมีความพยายามที่จะสร้างให้เกิดกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระดับชาติ (National Experts) ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อสนับสนุนการนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้กับกลุ่มองค์กรเป้าหมายในประเทศดังกล่าว

ส่วนเวที Open Forum มีการพูดถึงกิจกรรมและผลการสำรวจเกี่ยวกับมาตรฐาน ISO 26000 ขององค์กรที่ดูแลหลังการประกาศใช้มาตรฐาน (PPO) ในปี 2555 ประสบการณ์การใช้มาตรฐานในระดับนานาชาติ การเสวนาในหัวข้อที่เกี่ยวกับโอกาส ความท้าทาย ข้อกังวล และวิสัยทัศน์ในอนาคตของมาตรฐาน ISO 26000 รวมถึงการสรุปประเด็นและข้อแนะนำหลักจากผู้เข้าร่วมประชุม

การประชุมในคราวนี้ ได้เห็นถึงแนวโน้มของการให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน จากหน่วยงานระหว่างประเทศ อย่างเช่น ไอเอสโอนี้ เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด หลายคณะทำงานที่ยกร่างมาตรฐาน ISO ได้โยงเนื้อหาในมาตรฐานของตนเองให้เข้ากับเรื่องความยั่งยืนเพิ่มขึ้น จนกระทั่ง ไอเอสโอต้องจัดทำ ISO Guide 82: Guide for addressing sustainability in standards ขึ้น เพื่อให้การอ้างอิงเป็นไปในแนวทางเดียวกัน (เอกสารดังกล่าวยังเป็นเอกสารร่างของคณะทำงาน หรือ Committee Draft อยู่)

นอกจากนี้ ไอเอสโอ ยังได้ลงนามความตกลงร่วมกับมหาวิทยาลัยเจนีวา เปิดหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษา Master in Standardization, Social Regulation and Sustainable Development เพื่อรองรับกระแสเรื่องมาตรฐาน การกำกับดูแลทางสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยได้มีการนำประสบการณ์การจัดการศึกษาในหลักสูตรดังกล่าวมาถ่ายทอดในเวที Open Forum นี้ด้วย

ในวันพรุ่งนี้ (9 พ.ย.) ไอเอสโอ จะประกาศความริเริ่มในโครงการที่จะส่งเสริมการนำมาตรฐาน ISO 26000 ไปใช้เพิ่มเติมสำหรับกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันออก อีก 3 ประเทศ ได้แก่ เคนยา แทนซาเนีย และยูกันดา

สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเอกสารของการประชุม ISO 26000 ทั้ง 2 งาน ผมจะประมวลและนำขึ้นเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสถาบันไทยพัฒน์ และที่ www.thaicsr.com หลังกลับจากสวิตเซอร์แลนด์โดยเร็ววัน...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, November 01, 2012

รายงานเพื่อความยั่งยืน

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (อังคารที่ 30 ต.ค. 2555) สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ภายใต้การดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดงาน CSR DAY Forum ในหัวข้อ “เจาะลึก GRI Reporting v3.1”   เพื่ออัพเดทกรอบวิธีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนที่พัฒนาขึ้นโดยองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานทั้งหมด 101 คน จาก 65 องค์กร

ในห้วงเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ CSR ได้เดินอยู่ในกระแสของการผนวก CSR เข้ากับกระบวนการทางธุรกิจ ทำให้เรื่องของ CSR เป็นวาระที่ทุกส่วนงานในองค์กรต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง รูปแบบของการขับเคลื่อน CSR จึงปรับเปลี่ยนจากการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมที่จำกัดเฉพาะส่วนงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในลักษณะกิจกรรม (Event) ที่แยกต่างหากจากการดำเนินงานทางธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ ไปสู่การบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นตลอดกระบวนการ (Process) และทั่วทั้งองค์กร

เมื่อพัฒนาการของ CSR เดินอยู่ในกระแสนี้ บทบาทของการเก็บรวบรวมข้อมูลและการรายงานผลการดำเนินงานด้าน CSR จึงอยู่ในวิสัยที่กิจการทำได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากองค์กรสามารถบริหารจัดการ เฝ้าสังเกตติดตามผลการดำเนินงาน และกำกับควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ จากการที่กิจการเป็นผู้ดูแลและเป็นเจ้าของกระบวนการนั้นๆ

ขณะที่รูปแบบของการรายงานด้าน CSR ในสมัยก่อน ซึ่งมักเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมที่กิจการมอบหมายมูลนิธิหรือองค์กรเอกชนหรือผู้รับจ้างไปดำเนินงานให้ในบางส่วนหรือทั้งหมด องค์กรไม่สามารถที่จะบริหารจัดการ เฝ้าสังเกตติดตามผลการดำเนินงาน และกำกับควบคุมการดำเนินงานได้เช่นเดียวกับที่ตนเป็นผู้ดูแลและเป็นเจ้าของกระบวนการนั้นๆ เอง ทำให้การเก็บรวบรวมข้อมูลและการรายงานจึงไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ รายงานที่เกี่ยวกับ CSR จึงยังไม่ค่อยมีบทบาทในเชิงของการให้คุณค่าแก่ผู้ใช้รายงานมากนัก

จนเมื่องาน CSR ได้ถูกให้ความสำคัญในแง่ที่จะต้องบูรณาการให้เกิดขึ้นในกระบวนการและทั่วทั้งองค์กร บทบาทและคุณค่าของการรายงานจึงเป็นกระแสที่เกิดขึ้นติดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีความพยายามที่จะพัฒนากรอบการรายงานที่เป็นสากล การกำหนดเนื้อหาของรายงานที่ได้มาตรฐาน และการใช้ชุดตัวบ่งชี้การดำเนินงานสำหรับการรายงานที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการเปิดเผยแนวทางหรือกรอบการดำเนินงานด้าน CSR ที่จะชี้นำกิจการให้สามารถบรรลุซึ่งเป้าหมายขององค์กรในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรมเห็นชัดและวัดได้

การรายงานด้าน CSR ในปัจจุบัน จึงมักถูกเรียกในชื่อว่า รายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) ซึ่ง GRI ได้เป็นผู้ริเริ่มพัฒนากรอบการรายงานในลักษณะดังกล่าว และได้รับการยอมรับจากองค์กรทั้งที่เป็นภาคธุรกิจและมิใช่ธุรกิจนำไปใช้ในการจัดทำรายงานของตนเองรวมจำนวนแล้วเกือบ 5 พันแห่ง มีรายงานเผยแพร่แล้วนับหมื่นฉบับ ซึ่งกรอบการรายงานฉบับปัจจุบัน เป็นเวอร์ชั่น 3.1 ที่ปรับปรุงจากเวอร์ชั่น 3 เมื่อเดือนมีนาคม 2554 โดยมีการทบทวนตัวบ่งชี้การดำเนินงานหลักจากเดิม 49 ตัวชี้วัด เป็น 55 ตัวชี้วัด การปรับปรุงข้อกำหนดข้อมูลที่นำมารายงานและการเปิดเผยแนวการบริหารจัดการในรายงาน รวมทั้งการปรับเพิ่มประเด็นการรายงาน

สำหรับผู้สนใจที่จะศึกษาแนวทางของ GRI Reporting v3.1 ทางสถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดทำเอกสาร “รายงานเพื่อความยั่งยืน : Reporting your CSR” Updated GRI version 3.1 ความหนา 50 หน้า เนื้อหาแบ่งออกเป็น 5 บท โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการจัดทำรายงาน 5 ระยะของ GRI และกระบวนการกำหนดเนื้อหาของรายงาน พร้อมภาคผนวก ตัวบ่งชี้การดำเนินงานหลัก (GRI Core Indicators) ฉบับภาษาไทย โดยสามารถติดต่อขอรับได้ที่สถาบันไทยพัฒน์ ในวันและเวลาทำการ หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thaicsr.com...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]